สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ ปกติการตรวจสอบเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมต้องอาศัยพนักงานเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการเป็นผู้ตรวจสอบ แต่ปัจจุบัน ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดให้ภาคเอกชน (Third Party) เข้ามาช่วยตรวจสอบเครื่องจักรแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยได้เพิ่มบทบัญญัติในพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 เกี่ยวกับการกำหนดให้เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดทำร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการในร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป โดยสาระสำคัญของร่างกระทรวง 2 ฉบับได้แก่
1. ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับบุคคลหรือนิติบุคคลใดที่ประสงค์จะเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน เพื่อให้ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องชัดเจน โดยมีรายละเอียด อาทิ กำหนดหน้าที่ของผู้ตรวจเครื่องจักรเอกชน เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรระดับ 1 มูลค่าเครื่องจักรไม่เกิน 50 ล้านบาท ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรระดับ 2 มูลค่าเครื่องจักรไม่เกิน 100 ล้านบาท และผู้ตรวจสอบเครื่องจักรระดับ 3 ไม่จำกัดมูลค่าเครื่องจักร กำหนดวิธีการขอใบอนุญาต กำหนดคุณสมบัติของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จะขอเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน กำหนดขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต รวมทั้งการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบเครื่องจักร หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเครื่องจักร และการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเครื่องจักร ของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน เป็นการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบเครื่องจักร อาทิ กำหนดให้ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์พร้อม กำหนดให้ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนต้องตรวจสอบเครื่องจักรตามระดับที่ได้รับอนุญาต กำหนดวิธีการจัดทำรายงานและรับรองผลการตรวจสอบ
โดยกรมโรงงานฯ ได้กำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนนั้น จะต้องมีคุณสมบัติ อาทิ ต้องเป็นบุคคลธรรมดา อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ฯลฯ โดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนได้นั้นจะต้องมายื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดก่อน และจะต้องผ่านการฝึกอบรม ผ่านการทดสอบเพื่อให้ได้ใบรับรอง จากนั้นจะต้องนำเอกสารมายื่นเพื่อให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาตให้เป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนตามกฎหมาย โดยผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนจะสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว อย่างไรก็ตามการใช้บริการผ่านช่องทางการให้บริการของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และประมาณ 37 วัน สำหรับต่างจังหวัด จากปกติ 45–60 วัน
จากการลดระยะเวลาในการจดทะเบียนฯ ดังกล่าว จะช่วยประหยัดเวลาได้มากถึง 37% ทำให้ราชการมีความสามารถในการให้บริการออกทะเบียนในช่องทางปกติของทางราชการจากเดิม 800 ฉบับต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ฉบับต่อปี ในส่วนของเอกชนคาดว่าจะให้บริการได้กว่า 500 ฉบับต่อปี หากรวมกันทั้ง 2 ช่องทางแล้วสามารถออกทะเบียนได้เพิ่มมากขึ้นถึง 1,800 ฉบับต่อปี อีกทั้งคาดว่า จะมีผู้ประกอบการนำเล่มทะเบียนเครื่องจักรมาจดจำนองประมาณ 1,200 ฉบับต่อปี มูลค่าเฉลี่ยต่อฉบับกว่า 680 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ที่จะเป็นเงินทุนหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรได้ที่ สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2202-4062 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th ครับ
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com