จุรีรัตน์ ทิมากูร
"จากกระแสการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีการเตรียมตัวเพื่อรับโอกาสจากการขยายตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยการเข้าไปให้บริการด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศ CLMV และมีแผนการเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง" |
อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงเล็กน้อยจะส่งผลบวกต่อธุรกิจขนส่ง แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูง และจากการเข้ามาในตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างชาติซึ่งมีความพร้อมในด้านเงินทุนและเทคโนโลยีที่เล็งเห็นโอกาสที่สดใสจาก AEC เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้คาดว่า ในปี 2558 นี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในภาคขนส่งและโลจิสติกส์ทางถนนเฉพาะการขนส่งสินค้า (ณ ราคาปีปัจจุบัน) จะมีมูลค่า 105,300-106,600 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 3.2-4.4 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโตร้อยละ 0.4
ธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยในปี 2557 ที่ผ่านมา นับว่าไม่เติบโตนัก สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่ขยายตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และแม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีสถานการณ์ทางการเมืองจะมีความชัดเจนขึ้น แต่การบริโภคภาคครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร รวมทั้งการเติบโตของภาคการส่งออกไม่เป็นไปตามคาด จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลง จึงส่งผลให้ธุรกิจขนส่งซึ่งเป็นกิจกรรมสนับสนุนภาคธุรกิจอื่น ๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
สำหรับในปี 2558 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยน่าจะมีความคึกคักขึ้นกว่าปี 2557 ที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงระยะข้างหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐ และโครงการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนเริ่มทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดีเซลที่ลดต่ำลงมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนด้านพลังงานของภาคการขนส่ง รวมถึงทิศทางการลดลงของราคาพลังงานโดยรวมที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคลงไปได้บางส่วน ก็น่าจะเป็นผลดีต่อภาวะการบริโภค แนวโน้มธุรกิจขนส่ง ปี 58 ผู้ประกอบการเล็งเห็นโอกาสจาก AEC ขยายการลงทุนไป CLMV
สำหรับทิศทางของผู้ประกอบการขนส่งทางถนนของไทยในปี 2558 นี้ นับว่าได้มีการปรับตัวและปรับกลยุทธ์โดยการมุ่งการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต และบริการของไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศแถบอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย หรือสามารถเดินทางผ่านแดนโดยการคมนาคมทางถนนได้ จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจขนส่งสินค้า ทั้งนี้ การให้บริการของธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศของผู้ประกอบการไทยไปยัง CLMV ในปัจจุบัน มีการดำเนินการแบ่งได้หลายรูปแบบ อาทิ
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีการเตรียมตัวเพื่อรับโอกาสจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศ CLMV ซึ่งโอกาสทางการตลาดที่ยังเติบโตได้อีกมากนี้ ทำให้ CLMV เป็นตลาดที่น่าดึงดูดสำหรับผู้ประกอบการไทยโดยจะเห็นได้จากการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV ในปี 2557 มีมูลค่าถึง 151,063.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือเติบโตกว่าร้อยละ 28.4 (และการลงทุนโดยตรงของไทยในกลุ่มประเทศ CLMV ใน 9 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่ากว่า 4,629.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตกว่าร้อยละ 18.4
ธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามแดน คลังสินค้า-ห้องเย็นขยายตัวดี
สำหรับทิศทางของการขยายการลงทุนของธุรกิจขนส่งไปยังประเทศ CLMV ในระยะข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามแดน ธุรกิจคลังสินค้า คลังสินค้าห้องเย็น และรถขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้บริการธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร เครื่องดื่มและเวชภัณฑ์ เป็นตลาดที่น่าจะขยายตัวได้อีกมาก
เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นรายการสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว จากความนิยมจากประชาชนในประเทศเหล่านั้นที่มีต่อเนื่องมายาวนาน นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าไปขยายการลงทุนของธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะเชนร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ตลอดจนการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ CLMV อีกด้วย
ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศ CLMV มีโครงสร้างด้านเกษตรกรรมที่คล้ายคลึงกันกับประเทศไทย จึงส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านธุรกิจการเกษตรของไทยในกลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในลักษณะ Contract Farming เพื่อรับซื้อผลผลิตกลับมาแปรรูปยังประเทศไทย และการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ การผลิตน้ำตาล การแปรรูปอาหารสัตว์ เป็นต้น ดังนั้น จึงส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าเกษตร และศูนย์กระจายสินค้าเกษตร เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตามอง
เผยปัจจัยท้าทายธุรกิจ ขนส่งสินค้าทางถนน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2558 แม้ว่าธุรกิจขนส่งน่าจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม และมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะได้รับโอกาสจากการเปิด AEC อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนการดำเนินงานที่สูง และการเข้ามาในตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศที่เล็งเห็นโอกาสที่สดใสใน AEC เช่นเดียวกัน
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูง
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในขณะนี้มีแนวโน้มทรงตัว หลังจากมีการปรับระดับราคาลงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ควบคู่กับการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบัน (ณ 20 กุมภาพันธ์ 2558) อยู่ที่ 26.79 บาท/ลิตรโดยต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของต้นทุนการขนส่งสินค้าในแต่ละเที่ยว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในปี 2558 ลดลงจากปี 2557 ประมาณร้อยละ 15 (ในขณะที่ปัจจัยต้นทุนด้านอื่นคงที่) จะส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่อเที่ยวลดลงร้อยละ 4.4 (จากเที่ยวละ 34.15 บาท ต่อกิโลเมตร เหลือเที่ยวละ 32.66 บาท/กิโลเมตร) หรือราคาน้ำมันดีเซลที่เปลี่ยนแปลงไปทุกร้อยละ 10 จะส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งต่อเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 2.9
ทั้งนี้ แม้ว่ารถบรรทุกขนส่งสินค้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 76 จะใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในการขนส่ง แต่บางส่วนก็ยังมีการใช้ก๊าซ NGV อยู่บ้าง ซึ่งรถบรรทุกที่ใช้ก๊าซ NGV จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการที่ภาครัฐได้มีการปรับโครงสร้างราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ล่าสุดปรับขึ้นไปที่ 13.00 บาท /กิโลกรัม
อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงจะส่งผลบวกต่อธุรกิจขนส่ง แต่คาดว่าในระยะข้างหน้าอัตราค่าขนส่งจะไม่ได้ปรับตัวลงมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัว และนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐที่ลดการนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันและเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องเผชิญต้นทุนด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะต้นทุนด้านค่าตอบแทนแรงงานซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 39 ของต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของต้นทุนทั้งหมดอีกด้วย
ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างชาติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกจากผู้ประกอบการขนส่งชาวไทยจะเล็งเห็นโอกาสจากขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอาเซียนภายหลังการเปิด AEC แล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างชาติยังได้สนใจเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจขนส่งในไทยและอาเซียนอีกด้วย ซึ่งนับเป็นประเด็นท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากต่างประเทศหลากหลายกลุ่มซึ่งมีจุดแข็งและตลาดเป้าหมายที่แตกต่างกัน อาทิ
โดยการเข้ามาแข่งขันดังกล่าวนั้นบริษัทคู่แข่งจากต่างชาติล้วนแล้วแต่มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการบริการที่ครบวงจร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทโลจิสติกส์ของไทยได้ เนื่องจากหากผู้ประกอบการไทยยังไม่หาจุดแข็งในการประกอบธุรกิจแล้วก็อาจจะทำให้สูญเสียโอกาสในการแข่งขันได้
ประสบการณ์การทำธุรกิจ จุดแข็งผู้ประกอบการไทย
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการไทยนั้น นับว่ามีจุดแข็งจากการเป็นเจ้าถิ่นที่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจในพื้นที่มานาน จึงมีความเชี่ยวชาญด้านเส้นทางและมีเครือข่ายพันธมิตรในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีสายสัมพันธ์อันดีในการเป็นคู่ค้ากับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศ รวมทั้งการมีความรู้ความชำนาญด้านกฎระเบียบ และพิธีการด้านการประกอบการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ดีในปี 2558 นี้ นับว่าจะเป็นปีที่ธุรกิจขนส่งของไทยมีการเติบโตที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจภายในประเทศ และจากโอกาสที่ท้าทายจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ และมีโอกาสเติบโตอีกมากโดยเฉพาะตลาดประเทศ CLMV ซึ่งมีพรมแดนติดกับไทย และสามารถเชื่อมต่อกับไทยได้ทางถนน โดยเฉพาะโอกาสของธุรกิจการขนส่งผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารด้วยการควบคุมอุณหภูมิหรือ Food Cold Chain ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถเติบโตได้อีกมาก
ทั้งนี้ยังคงมีประเด็นท้าทายสำหรับธุรกิจอยู่อีกมาก เนื่องจากไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการไทยเท่านั้นที่มองเห็นโอกาสที่สดใสจาก AEC หากแต่ผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่จากต่างประเทศก็เล็งเห็นเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันผู้ประกอบการขนส่งไทยรายใหญ่ได้เข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป ในขณะที่ผู้ประกอบการรายกลางก็ได้มีการจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมในการขนถ่ายสินค้าระหว่างกัน
ส่วนในระยะข้างหน้าการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น อาจจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยรายกลางและรายเล็กจำเป็นต้องเร่งพัฒนาตนเอง เพื่อประสิทธิภาพในการบริการขนส่งที่ครบวงจรและเป็นมาตรฐานสากลขึ้น รวมถึงอาจต้องพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะความรู้ด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพอีกด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐควรให้การสนับสนุนภาคการขนส่ง โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทั้งการตั้งนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การตั้งจุดพักรถบรรทุก และศูนย์กระจายสินค้าในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบศุลกากรในกระบวนการขนส่งข้ามแดนและผ่านแดนให้มีความทันสมัยและรวดเร็วเพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย
รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่เป้าหมายที่จะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งที่เชื่อมปัจจัยการผลิต ระบบการผลิต ห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและผู้ประกอบการขนส่งที่เข้าไปให้บริการอุตสาหกรรมนั้น ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน และท้ายที่สุดจะสามารถผลักดันให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคได้
กรมพัฒน์ ผลักดันธุรกิจ โลจิสติกส์ สู่ ISO9001
น.ส.วรัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่า กรมมีนโยบายที่จะผลักดันธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ สู่มาตรฐานไอเอสโอ 9001 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานระดับสากล เพราะธุรกิจที่มีมาตรฐานคุณภาพจะสามารถต่อยอดในด้านต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะมาตรฐานไอเอสโอ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ผ่านมาตรฐานไอเอสโอแล้ว 260 ราย จากผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่จดทะเบียนไว้กับกรม 19,922 ราย และในปี 2559 กรมตั้งเป้า เพิ่มผู้ประกอบการอีก 100 ราย ให้ผ่านมาตรฐานไอเอสโอ แต่ทั้งนี้กรมได้มีการ ส่งเสริมผ่านการอบรมหลักสูตรบริหารจัดการให้เป็นมาตรฐานระดับสากลแล้ว 6,700 ราย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยส่วนมากเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและการแข่งขันที่สูงขึ้นนั้น การเป็นธุรกิจที่มีมาตรฐานระดับสากล จึงเป็นแต้มต่อทางธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 นี้อีกด้วย ซึ่งจะช่วย ให้การเชื่อมโยงธุรกิจไปยังพื้นที่ต่าง ๆ สะดวกยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการคมนาคม การค้า และเป็นการยกระดับธุรกิจโลจิสติกส์ไทยให้ได้เปรียบต่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ อาเซียน ตามที่ไทยมีภูมิภาคที่ได้เปรียบที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ได้" น.ส.วรัตนา กล่าว
ทั้งนี้ในปี 2559 กรมจะมีการส่งเสริม มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการกับธุรกิจ ด้านก่อสร้างและวิศวกรรม ตามที่สภาหอการค้า แห่งประเทศไทย ร้องขอ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาออกหลักเกณฑ์ให้เป็นสากล ทั้งนี้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กรมส่งเสริมจะเน้นบริหาร 7 ด้าน คือ จัดการองค์กร วางแผนเชิงกลยุทธ์ คุณภาพบริการและปฏิบัติการ ลูกค้าและการตลาด ทรัพยากรมนุษย์ ความรู้เกี่ยวกับองค์กร และผลลัพธ์ตามเป้าหมาย
ด้าน นายวิสาร ฉันท์เศรษฐ์ ประธาน สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว ซึ่งแน่นอนว่าได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโลจิสติกส์โดยตรง แต่ก็ยังไม่มากนัก เพราะไทยยังมีการท่องเที่ยว การค้า มีการขนส่งขนย้ายสินค้าอยู่ โดยเฉพาะการค้าชายแดนที่ช่วยพยุงได้ แต่อาจชะลอตัวตามเศรษฐกิจบ้าง โดยช่วงครึ่งปีแรก 2558 ธุรกิจโลจิสติกส์หดตัว 2% แต่ก็เชื่อว่าการฟื้นตัวของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์จะไปในทิศทางเดียวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวและการบริโภค
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนเห็นด้วยที่รัฐบาลจะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เร่งลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ต้องยอมรับว่าการลงทุนของภาครัฐต้องใช้เวลาและกว่าจะมีผลต่อธุรกิจและเกิดประโยชน์ต่อประเทศเต็มที่ คงใช้เวลาอีก 2-3 ปี เพราะตอนนี้เหมือนเป็นช่วงรีสตาร์ทประเทศ
สร้างมาตรฐานคุณภาพ บริการขนส่งด้วยรถบรรทุก
โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนนรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมการขนส่งทางบกได้จัดสัมมนามาเป็นปีที่ 2 เพื่อพัฒนาและยกระดับการขนส่งสินค้าทางถนนด้วยรถบรรทุกของประเทศไทยให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ ทั้งภายในประเทศและขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้
ล่าสุด ได้จัดสัมมนา "พัฒนาแนวร่วมขนส่งอาเซียน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพขนส่งไทย" เป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับการขนส่งสินค้าทางถนนด้วยรถบรรทุกของประเทศไทย และเป็นการสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการขนส่งไทยอย่างต่อเนื่องนั้น
นายวัฒนา พัทรชนม์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ประเด็นที่มีความสำคัญต่อระบบการขนส่งสินค้าทางถนนของไทย คือ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้ นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการลงทุน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก และเมื่อพิจารณาแล้วอาจจะเกิดผลกระทบจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น และในอีกด้านหนึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไทย ได้มีโอกาสในการขยายและสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนส่งฯ อย่ามองแต่เรื่องการขนส่งสินค้าเพียงเท่านั้น ควรที่จะมองอย่างคู่ขนานไปด้วย คือ เรื่องการขายของที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าและศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการและประเทศด้วย อย่างไรก็ดี อย่ามอง AEC เป็นวิกฤติ เพราะ AEC จะสามารถต่อยอดและเป็นโอกาสให้ธุรกิจเติบโตได้ และแน่นอนว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าไทยมีศักยภาพมากเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ จึงให้การขนส่งสินค้าไทยเป็นต้นแบบการขนส่งในประเทศ ที่สำคัญผู้ประกอบการขนส่งไทย เป็นชาติเดียวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก หรือ Q Mark ด้วย
ไปรษณีย์ไทยปรับทัพ รุกธุรกิจโลจิสติกส์
ไปรษณีย์ไทย ได้ประกาศขานรับนโยบาย Digital Economy เปิดบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น (ปณท.ดบ.) ด้วยทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท โดย ปณท. ถือหุ้น 100% เพิ่มศักยภาพให้บริการขนส่งและกระจายสินค้า รวมทั้งบริหารจัดการคลังสินค้าครบวงจรตามมาตรฐานสากล ด้วยความพร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมต่อโครงการด้านโลจิสติกส์ เป็นบริษัทขนส่งและกระจายสินค้าของไทย
นายปิยะวัตร์ มหาเปารยะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส รักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวถึงนโยบายในการจัดตั้งบริษัทในเครือว่า ด้วยประสบการณ์ในการบริการไปรษณีย์แก่คนไทยมายาวนานกว่า 130 ปี ซึ่งจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และพฤติกรรมการซื้อขายผ่าน e-Commerce ส่งผลให้มีปริมาณความต้องการใช้บริการในกลุ่มธุรกิจขนส่งเพิ่มมากขึ้น ไปรษณีย์ไทยจึงนโยบายในการจัดตั้งบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรเพื่อคนไทย
ไปรษณีย์ไทยมุ่งหวังให้ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของไปรษณีย์ไทยครบวงจรมากขึ้น และสามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการและนโยบายรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นจะต้องพัฒนาคุณภาพบริการให้มีมาตรฐาน พัฒนาระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ ยกระดับความสามารถของระบบให้บริการขนส่งทางถนนเพื่อขยายสู่การขนส่งข้ามประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องเพิ่มความสามารถในการทำกำไร สร้างรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ขณะที่ นางสาวอานุสรา จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด กล่าวถึงภารกิจของบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ว่า การเข้ามาดำเนินธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้าของไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นนั้น เชื่อว่าจะมีโอกาสเติบโตได้เป็นอย่างดี และยังทำให้การให้บริการของบริษัทแม่คือไปรษณีย์ไทยเองครบวงจรมากยิ่งขึ้น ด้วยการให้บริการแบบหน่วยงานรัฐต่อหน่วยงานรัฐ (G2G) ธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) และธุรกิจต่อลูกค้า (B2C) โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์และไอที และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน กลุ่ม e-Commerce และ Mail order
นอกจากนี้ยังมีการให้บริการลูกค้าผ่านหน่วยไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ในลักษณะการขนส่งสินค้าแบบเหมาคัน การขนส่งสินค้าในรูปแบบ Milk Run, Consolidate สินค้า วัตถุดิบจากแหล่งผลิต เช่น การรับเส้นหมี่จากจันทบุรี น้ำผัดจากโคราช ไปส่งโรงงานผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป และกระจายไปยังร้านค้า หรือตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ และยังจะเน้นการบริหารจัดการขนส่งที่สัมพันธ์กันระหว่างเที่ยวไปและเที่ยวกลับ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น และสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ไปรษณีย์ไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นายวรการ ศรีนวลนัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท.ดบ.) กล่าวว่า เพื่อก้าวสู่การให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจร ตามนโยบายดิจิตอล อีโคโนมี และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ทำให้ความต้องการในกลุ่มธุรกิจขนส่งเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
ซึ่ง ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จะเป็นผู้ให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าแบบครบวงจร ด้วยการให้บริการแบบหน่วยงานรัฐต่อหน่วยงานรัฐ (จีทูจี) ธุรกิจต่อธุรกิจ (บีทูบี) และธุรกิจต่อลูกค้า (บีทูซี) โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์และไอที และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน กลุ่มอีคอมเมิร์ซและเมลออร์เดอร์ เป็นต้น ได้เปิดตัวบริษัทลูกด้วยทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท โดย ปณท. ถือหุ้น 100%
ในส่วนของการให้บริการลูกค้าผ่านหน่วยไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จะเป็นลักษณะการขนส่งสินค้าแบบเหมาคัน เช่น การรับเส้นหมี่จากจันทบุรี น้ำผัดจากโคราช ไปส่งโรงงานผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป และกระจายไปยังร้านค้า หรือตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ และจะเน้นการบริหารจัดการขนส่งที่สัมพันธ์กันระหว่างเที่ยวไปและเที่ยวกลับ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น และสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ไปรษณีย์ไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการให้บริการต่อจากนี้ จะไม่ใช่แค่ให้บริการคนไทยกว่า 65 ล้านคนเท่านั้น แต่จะขยายไปสู่เศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคอินโดจีนมากกว่า 400 ล้านคน ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของไทยด้วย
เผย 5 ยุทธศาสตร์พัฒนา อุตสาหกรรมไทยชายฝั่งอันดามัน
ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน อาจารย์นักวิจัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันตกหรือฝั่งอันดามัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและแสวงหาประโยชน์ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ทั้งนี้ได้มีการศึกษาวิจัยโดยเลือกประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เพื่อศึกษาจัดอันดับความสำคัญในการระบุประเภทอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง และมีความเหมาะสมสำหรับการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมภายในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน
ทั้งนี้ผลจากการศึกษาวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าต้องเร่งส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถ 5 ด้าน เพื่อสนับสนุนซึ่งกัน ได้แก่ 1.เสริมศักยภาพ (Function Base) การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ให้ตรงเชื่อมโยงกับความต้องการกับประเทศเพื่อนบ้าน 2. สร้างจุดเด่น (Area Base) โดยพัฒนาพื้นที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศและพื้นที่เชื่อมโยงชายแดน 3.เน้นการเชื่อมโยง (Connection Base) การพัฒนาระบบคมนาคม ขนส่ง โลจิสติกส์ และเครือข่ายการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 4.พัฒนาองค์ความรู้ (Knowledge Base) คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณค่าแก่อุตสาหกรรม (Value added & Value Creation) และ 5.การสร้างความสมดุล (Green Growth Base) โดยการสร้างความสมดุลระหว่างสังคม สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม
ทั้งนี้การที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ต้องนำแนวทาง 5 ยุทธศาสตร์ ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ซึ่งคือ 1.เรื่องของกลไกการบริหารจัดการ ต้องร่วมกันทั้งส่วนกลางและพื้นที่เป้าหมายให้มีการกระจายอำนาจการบริหารและจัดการสู่องค์กรในระดับพื้นที่ปฏิบัติการให้มากที่สุด ให้เป็น o=One Stop Serviceให้ได้ และ 2.การแปลงแนวทางสู่การปฏิบัติ โดยต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ การให้ความรู้ผู้ที่เกี่ยวข้อง สร้างระบบการติดตามและประเมินผล
แนะภาครัฐเร่งเสริม ศักยภาพโลจิสติกส์
ดร.บุญทรัพย์ พาณิชการ ผอ.วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ม.นเรศวร นักวิจัย สกว. กล่าวว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดทำนโยบายการเสริมสร้างศักยภาพในการขนส่งทางบกของไทย คือ 1.เสริมสร้างประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและการเชื่อมต่อไปสู่ต่างประเทศ โดยจัดให้มีศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าที่ภูมิภาคต่าง ๆ หรือบริเวณแนวชายแดนที่มีศักยภาพ 2.ใช้มาตรการส่งเสริมดุลยภาพการขนส่งที่สะท้อนต้น ทุนการขนส่งทางบก โดยบริหารจัดการต้นทุนการขนส่งสินค้าทางถนนและทางราง (รถไฟ) ไปพร้อม ๆ กัน 3.เพิ่มประสิทธิ ภาพการขนส่งทางบกในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากทางถนน เช่น รถไฟ โดยการพัฒนาโครงข่ายจุดรวบรวมและกระจายสินค้า พร้อมส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการบริการขนส่งช่องทางนี้ 4.เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่งของภาคเอกชน โดยปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่ง เพื่อลดต้นทุนประกอบการที่สะท้อนอยู่ในค่าบริการขนส่ง พร้อม เปิดโอกาสในการลงทุนและจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นและ 5.พัฒนามาตรฐานและเสริมสร้างเสถียรภาพการขนส่งทางถนนเพื่อรองรับเออีซี โดยเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่ง พร้อมหาแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม สำหรับการขนส่งข้ามแดน
กทท.ชูฮับขนส่งทางน้ำเออีซี ดันท่าเรือบกเชื่อมโยงขนส่ง
ร.ต.ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ ท่าเรือกรุงเทพ รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เผยว่า กทท.มีแผนพัฒนาท่าเรือ สู่การเป็นฮับด้านการขนส่งทางน้ำรับเปิดเออีซี โดยการรวมตัวสู่เออีซี จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงาน มีฝีมืออย่างเสรี เพื่อมุ่งให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวร่วมกันภายในปี 2558 ดังนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ AEC
รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงโอกาสและความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งในด้านการเปิดเสรี และการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนในอาเซียนซึ่งจะช่วยเพิ่มขีด ความสามารถของไทยในตลาดโลก
สำหรับการเข้าสู่เออีซีของไทย เป็นการเพิ่มบทบาทการขนส่งทางน้ำและการขนส่ง ต่อเนื่องหลายรูปแบบของประเทศมากขึ้น การท่าเรือฯ ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ซึ่งดำเนินภารกิจหลักด้านการขนส่งทางน้ำและเป็นเสมือนประตูหลักทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ ได้มุ่งมั่นดำเนินการพัฒนาปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการเพื่อพร้อมรองรับและให้สอดรับกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อนำพาองค์กรและประเทศชาติ ให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้การท่าเรือฯ ได้กำหนดกลยุทธ์ นโยบาย และโครงการในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของท่าเรือ ทั้งทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านเทคโนโลยี ด้านการให้บริการ ด้านการปฏิบัติงาน รวมทั้งด้านการอำนวย ความสะดวกและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางน้ำของประเทศและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของAEC ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือเดิม การพัฒนาบริการใหม่ รวมทั้งการพัฒนาในการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการ ในการบริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการพัฒนาเสริมการส่งเสริมศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก ด้วยการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ e-Customs ของกรมศุลกากร และด้านข้อมูลการผ่านท่าและน้ำหนักของตู้สินค้าขาออก (e-Export) ดำเนินการร่วมกับศุลกากรในการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูล ระหว่างหน่วยงานผ่านระบบ National Single Window (NSW) ตลอดจนได้พัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานด้านต่าง ๆ
ทั้งในส่วนของโครงสร้างองค์กรและระบบปฏิบัติงาน และการให้บริการ เพื่อให้การท่าเรือฯ เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานท่าเรือสากล และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลังในการนำระบบบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Management : EVM) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้สามมารถวัดผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และได้นำระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Performance Appraisal: SEPA) มาใช้เพื่อผลักดันให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาและยกระดับระบบการบริหารจัดการให้เข้าสู่สากล ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่สนับสนุนรัฐวิสาหกิจไทยในการ ยกระดับความสามารถการให้บริการด้านการขนส่ง
ร.ต.ทรงธรรม กล่าวว่า กทท.ยังมีแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry PortหรือInland Container Deport: ICD) เนื่องจากในปัจจุบันการขนส่งสินค้า ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำเนินธุรกิจในแขนงต่าง ๆ และรายได้ หลักของประเทศไทยประมาณ 70% พึ่งพา การส่งออกสินค้าของประเทศ รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ
ดังนั้น เพื่อตอบรับนโยบายรัฐบาลนั้นการสร้างท่าเรือบก ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดความคล่องตัวของการขนส่ง และช่วยส่งเสริมการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ของประเทศอีกทางหนึ่ง โดยจะคำนึงถึงความสามารถกระจายสินค้าไปสู่แหล่งอื่น ๆ ได้ในลักษณะ Port To Door หรือ Door To Port ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้า ที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ มายังท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยให้เกิดความรวดเร็วในการกระจายสินค้าและขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ปลายทาง และยังเป็นแผนหนึ่งที่จะเป็นการสนับสนุนธุรกิจท่าเรือ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของการท่าเรือฯให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันนั้นได้จัดทำ ทีโออาร์ เรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการรอเสนอเรื่องของบประมาณที่ใช้สำหรับปี 2559-2560 เพื่อดำเนินการ จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาพื้นที่ที่มี ความเหมาะจะพัฒนาเป็นท่าเรือบกภายหลังจากการศึกษาถึงจะทราบว่าจะมีการสร้างท่าเรือบกในพื้นที่ใดบ้างของแต่ละภูมิภาค และจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการสร้างก่อสร้าง แต่การสำรวจศึกษาจะกำหนดในพื้นที่สามารถเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟได้สะดวกทั้งเส้นทางรถไฟในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตรวมถึงคำนึงถึงการเชื่อมโยงทางบก และท่าอากาศด้วย
ทั้งนี้การเลือกพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นท่าเรือบกนั้นจะดำเนินการศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงกับท่าอากาศยาน ท่าเรือทางรถยนต์ และเส้นทางรถไฟที่รัฐบาลจะมีการลงทุนพัฒนาในอนาคต เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการเชื่อมโยงขนส่งสินค้า ช่วยลดต้นทุน ด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากในท่าเรือบกบางที่ มีการขนส่งทางรถไฟไปยังสถานที่กระจายสินค้าหรือท่าเรือทำให้มีการขนส่งสินค้า ปริมาณที่มากขึ้นในคราวเดียว ซึ่งปัจจุบัน สถานีกระตู้สินค้านั้นส่วนมากจะตั้งอยู่ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งทำให้ เกิดการกระจุกตัวก่อให้เกิดปัญหาการจราจร ติดขัดในพื้นที่ดังกล่าว จะเห็นได้จาก สถานีกระตู้สินค้าที่ลาดกระบัง เริ่มมีปริมาณ การบรรจุสินค้าเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิด ความแออัดในการให้บริการ
ที่ผ่านมา การท่าเรือฯ ได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับท่าเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การท่าเรือนาโกยา ท่าเรือโยโกฮามา และเมืองฟูโกโอกะ และท่าเรือฮากาตะ ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการท่าเรือพม่า ในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี การพัฒนากิจการท่าเรือและบุคลากรระหว่างกัน รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสในการแสวงหาตลาดใหม่และเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการขนส่งทางทะเล และเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันทางการค้าของประเทศอีกทางหนึ่ง
ขณะที่แผนวิสาหกิจปีงบประมาณ 2558-2562 ของการท่าเรือฯ มีโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่สำคัญทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง ได้แก่ โครงการปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ที่ท่าเรือกรุงเทพ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออกที่ท่าเรือกรุงเทพ โครงการศูนย์บริการแบบครบวงจรที่ท่าเรือกรุงเทพ
โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น ภายใต้วงเงิน 31,088 ล้านบาท โดยโครงการทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุนการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ของประเทศ ประหยัดพลังงาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่การท่าเรือฯ รวมทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ และลดปัญหาด้านการจราจรอีกด้วย
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด