R&D Show Update

วิศวกรรมโยธา มจธ. ชี้ ผลวิจัย ‘เศษยางเก่า และยางพารา’ ทำถนนได้จริง ช่วยให้การใช้งานนานขึ้น ลดการพังของถนน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 

 

กรณีที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและสนับสนุนการนำยางพารามาใช้ทำผิวถนนมากขึ้นนั้น แต่กว่าจะนำมาใช้ได้จริงต้องผ่านขั้นตอนการทดสอบศึกษาวิจัยและพัฒนาสูตรที่เหมาะสมและมีมาตรฐานรองรับ การวิจัยการทำถนนจากเศษยางล้อรถยนต์ หรือ Crumb Rubber Asphalt จึงเป็นวิธีการช่วยลัดขั้นตอนดังกล่าว แต่ได้ผลการทดสอบที่น่าพึงพอใจ จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการรีไซเคิลยางเก่า และช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในประเทศอีกทาง

 

 

ผศ.ดร.สมโพธิ อยู่ไว หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเทคนิคธรณี

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 

     ผศ.ดร.สมโพธิ อยู่ไว หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเทคนิคธรณี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ถนนส่วนใหญ่ที่สร้างจากยางมะตอย โดยเฉพาะยางมะตอยเหลวนิยมนำมาสร้างผิวถนน แต่ปัญหาของยางมะตอย หรือ แอสฟัลต์ (Asphalt) จะละลายเยิ้มเมื่อเจอกับความร้อนสูงโดยเฉพาะบนผิวถนนในช่วงหน้าร้อนของประเทศไทย โดยสามารถวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 50-60 องศาเซลเซียส เมื่อรถวิ่งอาจเกิดเป็นรอยร่องล้อลึกทำให้ผิวถนนชำรุดเสียหายจนบางครั้งยังอาจส่งผลต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมทางหลวงชนบทที่ต้องการนำยางพารามาทำถนนให้ได้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของ งานวิจัยพัฒนาสูตรยางพารา หรือ Natural Rubber เพื่อใช้ในการทำถนน ซึ่งเป็นความร่วมมือในการทำวิจัยร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยฮ่องกงโพลีเทคนิค นอกจากนี้ยังมี การวิจัยการทำถนนจากเศษยางล้อรถยนต์ หรือ Crumb Rubber Asphalt อีกด้วย ซึ่งวิธีการนำเศษยางเก่ามาตัดเฉพาะส่วนของดอกยางมาผสมลงในยางมะตอยเพื่อใช้ทำผิวถนนนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่ดี และมีมาตรฐานรองรับ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกานิยมใช้กันมาก

 

 

ตัวอย่างลักษณะของยางมะตอย

 

 

ตัวอย่างยางมะตอยผสมเศษยางรถยนต์เก่า

 

          สำหรับการวิจัยกรณียางพารานั้นเพื่อเป็นการศึกษาวิจัยว่าสัดส่วนการใช้น้ำยางพาราสำหรับทำถนนที่เหมาะสมควรใช้กี่เปอร์เซ็นต์ และถ้าน้อยหรือมากเกินจากกำหนดจะเกิดผลอย่างไรบ้าง เนื่องจากโจทย์ที่ได้รับมาเบื้องต้นคือทำอย่างไรที่จะใช้ยางพาราให้ได้มากที่สุด หรือ สามารถนำยางพารามาใช้ทำถนนแทนยางมะตอยได้เลยหรือไม่ แต่จากผลการศึกษาวิจัยแล้ว พบว่า ปริมาณน้ำยางพาราที่ใช้จะต้องไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณยางมะตอยทั้งหมด ซึ่งจากการทดสอบทั้งในประเทศและที่ฮ่องกงต่างก็ได้ผลที่ตรงกันว่าถนนที่มีการนำน้ำยางพาราเข้าไปเป็นส่วนผสมในสัดส่วนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์จะมีคุณสมบัติทางวิศวกรรมหรือมีพฤติกรรมดีกว่าถนนที่ลาดด้วยยางมะตอยอย่างเดียว แต่ถ้าใช้เกิน 5 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้นจะมีปัญหา เนื่องจากส่วนผสมระหว่างน้ำยางพารากับยางมะตอยจะไม่เข้ากัน ตัวยางพาราจะไม่ยึดเกาะหินหรือไม่เกาะตัวกันเมื่อเทลงบนถนนจะเกิดการร่อน

 

 

แบบจำลองพื้นถนน

 

          ในการสร้างผิวทางหนา 5 ซม. ยาว 1 กม. จะใช้ปริมาณยางพาราในการก่อสร้างประมาณ 1 ตันต่อหนึ่งเลน ซึ่งในปัจจุบันถึงแม้ว่าการใส่ยางลงในส่วนผสมจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาของยางมะตอยถูกกว่ายางพารา แต่ข้อดี คือ ช่วยให้ถนนมีอายุการใช้งานนานขึ้นกว่าเดิมถึง 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับยางมะตอยที่ใช้กันอยู่ เช่น จากเดิมถนนยางมะตอยมีอายุใช้งานเพียง 2 ปีก็พัง หากผสมยางพาราเข้าไป 5 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยให้ถนนมีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 3 ปีภายใต้การจราจรที่เท่ากันและนอกจากนี้ผิวถนนผสมยางพาราจะได้ถนนที่ฝืดทำให้การเกาะถนนดี เป็นต้น แต่ปัญหาของการใช้ยางพาราอยู่ที่กระบวนการผลิต โดยเฉพาะขั้นตอนในการผสมระหว่างน้ำยางพารากับยางมะตอยที่ค่อนข้างลำบากและควบคุมยาก ตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก ปัจจุบันจึงมีผู้ที่สามารถผสมได้เพียงไม่กี่รายทำให้ราคาแพง

 

 

ระหว่างทำการทดสอบ

 

          ส่วนการศึกษาวิจัยกรณีการนำเศษยางเก่า หรือ Crumb Rubber มาใช้ทำถนนนั้น ผศ.ดร.สมโพธิ กล่าวว่า Crumb Rubber มีความน่าสนใจมากกว่า เพราะขั้นตอนไม่ยุ่งยากมากนัก โดยการนำยางล้อรถยนต์เก่ามาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ และบดจนเป็นผง นำมาผสมกับยางมะตอย นอกจากช่วยให้ตัวยางมะตอยมีพฤติกรรมดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำถนนจากวัสดุรีไซเคิลเป็นการช่วยลดขยะและลดมลภาวะจากการเผายางเก่าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของภาคอุตสาหกรรม แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีใครทำ โดยผลการทดสอบ พบว่า เมื่อนำเศษยางเก่ามาเป็นส่วนผสมในสัดส่วน 11 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณยางมะตอย ถือเป็นอัตราส่วนผสมที่เหมาะสมสำหรับการทำถนน ซึ่งข้อดีของการนำ Crumb Rubber มาใช้ผสมกับยางมะตอย ทำให้พื้นผิวถนนทนความร้อนได้ดีขึ้น เวลารถวิ่งผ่านเกิดรอยล้อรถน้อยลง สามารถรับน้ำหนักได้ดีกว่าการใช้ยางมะตอยเพียงอย่างเดียว

 

          “ตามความเห็นผมจึงอยากให้มีการนำยางเก่ามาใช้ทำถนนมากกว่าจากเหตุผลของเรื่อง Green การรีไซเคิลขยะ จากล้อยางเก่านำมารีไซเคิลกลับไปสู่ถนนใหม่ และเมื่อเปรียบเทียบในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วดีกว่ายางพาราเพราะมีต้นทุนถูกกว่าเพียงกิโลกรัมละ 20-30 บาทและในประเทศเองมีโรงงานรีไซเคิลยางเก่าอยู่ค่อนข้างมาก และในแง่คุณสมบัติทางวิศวกรรมระหว่างการใช้ยางพารากับเศษยางเก่าในการทำถนนก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก”

 

          สำหรับข้อดีของ Crumb Rubber Asphalt คือ ทำให้พื้นผิวถนนฝืดขึ้น หนึบขึ้น เกิดแรงเสียดทานมากขึ้น ช่วยให้ระยะเบรกของรถสั้นขึ้นดีกว่าการใช้ยางมะตอยเพียงอย่างเดียว โดยได้ทำการทดสอบพิสูจน์แล้ว ด้วยเครื่องทดสอบการวัดความลื่นของถนนที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมทางหลวงชนบทให้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ทดสอบภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลการทดสอบพบว่า Crumb Rubber Asphalt ใช้ได้ดีกว่ายางมะตอย ทั้งนี้เครื่องดังกล่าวยังไม่เคยมีหน่วยงานหรือสถาบันใดในประเทศทำขึ้น มีเพียงแห่งเดียวที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เท่านั้น

 

จากงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้เห็นวัสดุที่ใช้ทำถนนนอกยางมะตอยแล้ว ยังสามารถนำยางพารา และยางล้อรถยนต์เก่า มารีไซเคิลใช้ทำถนนได้ทั้งประโยชน์และยังเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในประเทศ

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด