Logistic & Supply Chain

มองรอบทิศ คิดอย่างซัพพลายเชน การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (ตอนที่ 3) กรณี Sathorn Model/สาทรนำร่อง จราจรคล่องตัว

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

 

เมื่อพูดถึงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการผสมผสานการขนส่งสินค้า จากที่หนึ่งที่ใด (One Point) หรือจากประเทศหนึ่งประเทศใด ไปสู่อีกที่หนึ่งหรืออีกประเทศหนึ่งซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่เป็นจุดพบสุดท้าย (Interface Final Point) โดยใช้รูปแบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป ภายใต้การบริหารจัดการของผู้ขนส่งรายเดียว ซึ่งการเดินทางของเรา (Physical Flow) ในชีวิตประจำวันทั้งในกรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัด ก็มี Multimodal Transportation ที่ผสมผสานกันอยู่แล้ว

 

     ใในการเลือกรูปแบบการขนส่งทั้งที่จะเป็นส่วนตัวหรือสาธารณะ เราจะต้องเข้าใจถึงคุณสมบัติของรูปแบบการขนส่งแต่ละรูปแบบ ซึ่งมีคุณลักษณะหลัก ๆ ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในข้อดี และข้อเสียของแต่ละรูปแบบการขนส่ง เช่น ถ้าเราจะเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ เราสามารถใช้ประเภทของการเดินทางได้หลายรูปแบบ แต่แบบไหนดีที่สุด ประหยัดที่สุด และเร็วที่สุด ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของ Physical Flow ใน Logistics Management ที่สำคัญ อันต้องก่อให้เกิด Right Time, Right Cost, Right Place, Right Position, Right Value, Right Person, Right Condition ซึ่งผมขอเพิ่มอีก 1G 1R และ 1S นั่นก็คือ Green Logistics, Right Regulation และ Safety

 

          ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ที่มีประชากรอาศัยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น เป็นเมืองหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ ได้ส่งผลต่อการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทําให้ปัจจุบันมีการหลั่งไหลของประชากรจากต่างจังหวัดเข้ามาสู่กรุงเทพฯ อย่างมาก ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ เข้ามาเพื่อศึกษาต่อ เพื่อทํางาน ทําให้เกิดการกระจุกตัวของประชากรในชุมชนเมือง ซึ่งการกระจุกตัวดังกล่าว ก่อให้เกิดสภาพปัญหาหลายอย่าง เช่น ปัญหาสาธารณูปโภคที่มีความจําเป็นแทบทุกด้าน ปัญหามลพิษทั้งทาง น้ำ เสียง อากาศ ปัญหาความยากจน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาชุมชนแออัด เป็นต้น แต่เห็นได้ชัดว่า “ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด” เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

          ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด มักจะเกิดขึ้นในประเทศกําลังพัฒนา ซึ่งกรุงเทพฯ ก็เช่นกัน จากการศึกษา พบว่ามีสาเหตุหลายประการ ดังนี้

 

สาเหตุของการจราจรติดขัด

 

          1. ปัญหาการใช้ที่ดินและการขยายตัวของชุมชนที่ไม่เป็นระเบียบ การขยายตัวของชุมชน ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการก่อสร้างถนนสายหลักและสายรอง เพื่อขยายเส้นทางให้ไกลออกจากศูนย์กลางเมือง ส่งผลต่อการขยายตัวของชุมชนเป็นไปในแนวราบตามถนนสายหลัก แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาถนนสายรองเพื่อเชื่อมโยงกับถนนสายหลักให้เป็นไปอย่างมีระบบนั้น กลับยังไม่สามารถทําให้เกิดประสิทธิภาพมากเท่าใดนัก

 

          2. ปัญหาโครงข่ายถนนและปริมาณการจราจร จากปัญหาการวางผังเมือง การขยายตัวของชุมชนที่เป็นไปในแนวราบตามถนนสายหลัก และการพัฒนาถนนสายรองให้เชื่อมต่อกับถนนสายหลัก ที่ยังไม่เป็นระบบดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงทําให้ระบบโครงข่ายถนนยังไม่สมบูรณ์ เกิดการแออัดบนถนนสายหลักโดยทั่วไป

 

          3. ปัญหาจุดตัดสี่แยกและจุดตัดรถไฟกับถนนสายหลัก ปัญหานี้ส่งผลต่อการจราจรเป็นอย่างมาก เพราะถนนสายหลักที่สําคัญ มักมีปริมาณรถยนต์และขบวนรถไฟวิ่งผ่านเป็นจํานวนมาก

 

          4. ปัญหาการขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อกับชานเมือง โดยประชากรพื้นที่ชานเมืองรอบนอกที่มีความจําเป็นต้องเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมือง นิยมใช้การขับขี่รถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากสะดวกและการบริการในเรื่องการขนส่ง เช่น รถประจําทาง รถแท็กซี่ ยังไม่ทั่วถึง

 

          5. ปัญหาเรื่องความรู้ ความเข้าใจระเบียบวินัยจราจรและมารยาทในการขับขี่ ปัญหาการจราจรส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ขับขี่ไม่เคารพกฎหมาย ขาดสามัญสํานึกในเรื่องระเบียบวินัยจราจรและมารยาทในการขับขี่ อาทิ มีการจอดรถในบริเวณห้ามจอด การฝ่าไฟแดง การเบียดเลนบริเวณเชิงสะพาน การเบียดเลนอย่างกะทันหันจนเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลก่อให้เกิดปัญหาการจราจรที่ติดขัดอย่างมาก

 

แนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร

 

          1. ควรปรับปรุงยกระดับคุณภาพบริการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถโดยสารประจําทางให้มีผู้นิยมใช้มากขึ้น โดยเพิ่มรถใหม่ทดแทนของเดิม จัดทางวิ่งโดยเฉพาะสําหรับรถโดยสารสาธารณะในรูปแบบบัสเลน ในเส้นทางสายหลัก พิจารณาลดขนาดของ ขสมก. ลง และเพิ่มบทบาทให้สัมปทานเอกชนมาร่วมประกอบกิจการขนส่งสาธารณะให้เกิดมีการแข่งขันกันขึ้น

 

          2. ปรับปรุงขยายโครงข่ายถนนสายหลักและสายรองเพิ่มขึ้นในแถบชานเมือง ให้เชื่อมโยงกับถนนสายประธานและถนนท้องถิ่นและระบบขนส่งมวลชนเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาใช้ที่ดินแถบชานเมือง ให้แผ่กระจายในพื้นที่ว่างเปล่า และเป็นการยับยั้งการพัฒนาชุมชนตามแนวของถนนสายประธานยาวออกไปด้วย

 

          3. ศึกษาความเป็นไปได้เพื่อวางแผนขยายการจัดเก็บค่าผ่านเข้าไปในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกับค่าผ่านทางด่วน เพื่อนํารายได้มาเสริมแผนการปรับปรุงระบบจราจรและระบบขนส่ง และจะเป็นการเร่งเสริมให้มีการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาในเขตชั้นในมากขึ้น ซึ่งจะเป็น การลดปริมาณความคับคั่งของการจราจรลงไปได้และเพิ่มอัตราความเร็วของพาหนะได้มากขึ้น

 

          4. ลงทุนก่อสร้างถนนท้องถิ่นบริเวณชานเมืองกรุงเทพมหานครให้มากขึ้น เพื่อชักนําการพัฒนาไปยังพื้นที่ที่มีแววการพัฒนาในอนาคต

 

          5. ควรพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบอื่นแบบบูรณาการ ที่สามารถเกิดการเชื่อมโยงระหว่างระบบหลักและระบบรอง และการเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพมหานครกับปริมณฑล โดยมีเป้าหมายให้ระบบขนส่งสาธารณะบนรางเป็นระบบการเดินทางหลัก และมีระบบล้อยางทําหน้าที่เป็นระบบรองและพัฒนา ให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างระบบหลักกับระบบรองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมาเสริมระบบรถโดยสารประจําทางภายใต้ข้อจํากัดทางการเงินของประเทศ

 

          จากปัญหาการจราจรดังที่กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนระบบรางขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก ลดเวลาในการเดินทาง ส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

                  

          การกําหนดให้มีโครงการพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางขึ้น อาทิ โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ซึ่งเป็นโครงการ ที่มีความสําคัญในการสนับสนุนการเดินทางของประชาชนจากชานเมืองเข้าสู่ศูนย์กลางเมืองโดยใช้ระบบรางแทนการใช้รถยนต์ ประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการที่เปิดประมูลได้ ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว โครงการที่เพิ่งจะเปิดประมูลและอยู่ในระหว่างพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมา และโครงการที่จะเปิดประมูล ซึ่งเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จก็จะช่วยลดปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดเวลาในการเดินทาง ลดปริมาณการใช้พลังงาน ลดมลภาวะที่เป็นพิษทั้งทางเสียงและอากาศ

               

          แม้ว่านโยบายของภาครัฐในการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้าจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์แต่ละยุคสมัย ซึ่งทุกรัฐบาลล้วนต้องการจะสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน เพราะหากรัฐบาลใดสามารถผลักดันโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์และส่งผลกระทบในด้านบวกต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ทําให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร รวมทั้งลดการนําเข้าน้ำมันตลอดจนสินค้าพลังงานอื่น ๆ โอกาสที่จะได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนก็มีมากขึ้น อีกทั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลในอีกทางหนึ่ง

 

 

(http://www.thaibusiness.in.th/wp-content/uploads/2013/07/10/FEA0BE919BE94A4F94FCF1D81BB90C2E.jpg)

  

          หากเรายังจำได้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 คณะกรรมการโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 กรุงเทพมหานคร (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) ได้แถลงข่าวเปิดโครงการ สาทรโมเดล (Sathorn Model) โครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนบนถนนสาทร

                  

          ซึ่งโครงการนี้ เกิดจากการรวมตัวกันของบริษัทเอกชนชั้นนำกว่า 200 แห่งทั่วโลก ทั้งธุรกิจรถยนต์ พลังงาน ยาง และเคมีภัณฑ์ ตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์บรรเทาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิเช่น ผังเมือง สิ่งแวดล้อม และการจราจรในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก

                  

          โครงการได้เลือกเมืองใหญ่ 6 แห่ง ทั่วโลก ได้แก่ Indore-India, Chengdu-China, Campinas-Brazil, Lisbon-Portugal, Hamburg-Germany และกรุงเทพมหานคร ทาง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับมอบหมายจาก WBCSD ให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาชิก WBCSD อีก 6 บริษัท ได้แก่ Honda, Nissan, Ford, Shell, Fujitsu และ Bridgestone โดยเริ่มจากถนนสาทรเป็นถนนต้นแบบ ใช้ชื่อ “Sathorn Model”–สาทรนำร่อง จราจรคล่องตัว/Making Sathorn Flow

                  

          โดยโครงการนี้ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น จอดรถแล้วเดินทางต่อด้วยระบบขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ที่จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ปีข้างหน้า โดย Sathorn Model มีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งหมด 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556–2558 และมีแผนการที่จะขยายผลไปสู่ถนนเส้นอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

 

          ในโครงการฯ นี้ Toyota ได้นำประสบการณ์ที่ทำสำเร็จใน Toyota City มาใช้ 4 มาตรการด้วยกันได้แก่

  

          1. รถโรงเรียน เป็นการรับ-ส่งนักเรียน ณ จุดจอดรับไปโรงเรียน (Station to Station) ด้วยรถโรงเรียนที่ทันสมัย มีระบบ IT เพื่อดูแลความปลอดภัย โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จำนวน 4 เส้นทางในวันนี้ ได้แก่ The Mall บางแค, Central พระราม 2, Central บางนา และ Lotus พระราม 3 โดยรถโรงเรียน 1 คัน จะสามารถลดปริมาณรถยนต์ที่ผู้ปกครองมารับ-ส่งนักเรียนได้ถึง 12 คัน

          

 

(http://www.sathornmodel.com/home)

 

          2. PARK & RIDE จอดแล้วจร รณรงค์ให้พนักงานที่ใช้รถส่วนตัวเข้ามาทำงานบริเวณถนนสาทร-สีลม จอดรถส่วนตัวไว้ที่จุดจอดหรือห้างสรรพสินค้าชานเมืองแล้วใช้บริการ Shuttle Bus เพื่อเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถลดปริมาณรถยนต์บนถนนสาทรในชั่วโมงเร่งด่วน ได้ 7% หรือประมาณ 10,000 คันต่อวัน

 

 

(http://www.sathornmodel.com/parkandride)

  

 

(http://www.sathornmodel.com/assets/images/news/thumbnail/762d0aa62a1fac1f4915da02ec9256a8f1a730fe)

 

          3. การเหลื่อมเวลาทำงาน เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน

 

          4. TRAFFIC FLOW MANAGEMENT การจัดการจราจรให้เกิดความคล่องตัว โดยการลดอุปสรรคที่กีดขวางการจราจร และปรับระบบควบคุมจราจร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อควบคุมการจราจรบริเวณแยกสาทร-สุรศักดิ์ แยกนรินทร และแยกวิทยุ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

 

          4.1 การปรับสัญญาณไฟจราจรให้สั้นลง ตามปริมาณจราจร และสอดคล้องกับสัญญาณไฟจราจรของแยกข้างเคียง โดยทดสอบด้วยแบบจำลองการจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Traffic Simulation) ก่อนนำไปปฏิบัติจริง

          4.2 Kiss & Go การหยุดรถยนต์เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารทันที แนวทางนี้จะทำให้ช่องทางเดินรถมีการไหลต่อเนื่องไม่ติดขัด โครงการได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โรงเรียน และผู้ปกครองโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ให้หยุดรถรับ-ส่ง เพียง 1 เลนจราจร แทนของเดิมที่จอด 3 เลน ทำให้ความเร็วในการเดินทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 30

          4.3 ตีเส้นทึบที่ต้นสะพานตากสินขาออก เพื่อบังคับไม่ให้มีการเปลี่ยนเลน ซึ่งกีดขวางการจราจร และอบรมอาสาจราจรโบกรถลงมาจากตึกต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสัญญาณจราจรในแยกถัดไป

          4.4 ติดกล้องวงจรปิด 4 ทิศทาง ที่สี่แยกนรินทร เพื่อให้เห็นสภาพการจราจร โดยจะเชื่อมต่อภาพไปยังกองบังคับการตำรวจจราจร และป้อมตำรวจจราจร ตามสี่แยกจราจรบนถนนสาทร เพื่อควบคุมสัญญาณไฟจราจร ให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ติดกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจดูสภาพจราจร บนถนน สาทร–พระราม 4

 

 

บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ

(http://www.sathornmodel.com/linkflow)

 

 

(http://www.sathornmodel.com/linkflow)

 

 

(https://drive.google.com/file/d/0B9D_cbPbEtz6dWI5dFpOUU5aakE/view)

 

          วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อสร้างสรรค์ความสุขในการเดินทาง (Make You Happy Journey) และล่าสุดก็ได้มีการทดลองเชิงสังคมครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 6-17 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา (The 3rd Social Experiment) ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ เพราะโครงการนี้จะต้องมีการเชื่อมต่อและมีการบริหารจัดการที่ต้องบูรณาการระบบขนส่งทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร ทั้งการใช้เรือโดยสาร จุดจอดจักรยาน (PUN PUN) รถไฟฟ้า การบริหารจัดการจุดจอดรถประจำทาง การบริหารจัดการรถเลี้ยวซ้าย ระบบตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญานจราจร การบริหารจัดการรถเข้าออกอาคารสำนักงาน การเพิ่มประสิทธิภาพด่านเก็บค่าผ่านทางพระราม 4 การห้ามจอดรถริมถนนพระราม 4 (ช่วงเย็น) มาตรการเปิดช่องจราจรพิเศษ การจัดจุดจอดรถรับส่งนักเรียน บริการรถรับส่งพนักงานบริษัท (นอกเวลาเร่งด่วน) การตัดขอบเกาะกลางถนนให้มนขึ้น โครงการจอดแล้วจร และที่สำคัญมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน ก็ต้องขอบอกครับว่า ไม่ง่ายแต่ก็ต้องขอชื่นชมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนผู้เกี่ยวข้องในการร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรสาทร

 

 

(http://www.sathornmodel.com/assets/images/news/thumbnail/b2f6936188e0f91a151eb0664ea2b478f0e60048)

 

เอกสารอ้างอิง
• กองบัญชาการตํารวจนครบาล. (2557). แผนงานการพัฒนาและแก้ไขปัญหาระบบการจราจรใน กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2557 สืบค้น 22 สิงหาคม 2557 จาก http://www.trafficpolice.go.th/ download/plantraffic.pdf.
• วิรียา วิชา. (มกราคม 2542). ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร : สภาพปัญหา สาเหตุ การแก้ไขและ อนาคต. สืบคน้ 22 สิงหาคม 2557 จาก http://library1.nida.ac.th/ejourndf/fcjn/fcjnv04n01/fcjn-v04n01_c05.pdf.
• สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร. (2553ก). โครงการศึกษาปรับแผนแม่บทระบบขนส่ง มวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. สืบค้น 22 สิงหาคม 2557 จาก http://km.mrta.co.th/MRTA_KM/public/statFile.do?ts=1408680225081.
https://drive.google.com/file/d/0B9D_cbPbEtz6dWI5dFpOUU5aakE/view.
http://www.sathornmodel.com/assets/images/news/thumbnail/762d0aa62a1fac1f4915da02ec9256a8f1a730fe.
http://www.sathornmodel.com/assets/images/news/thumbnail/b2f6936188e0f91a151eb0664ea2b478f0e60048.
http://www.sathornmodel.com/home.
http://www.sathornmodel.com/linkflow.
http://www.sathornmodel.com/parkandride.
http://www.thaibusiness.in.th/wp-content/uploads/2013/07/10/FEA0BE919BE94A4F94FCF1D81BB90C2E.jpg.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด