ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ก่อนเริ่มต้นซีรีส์ฟิลิปปินส์ ตอนที่ 6 ผู้เขียนขอแสดงความยินดีกับชาวฟิลิปปินส์ที่ได้ผู้นำคนใหม่เข้ามาบริหารประเทศต่อจาก นายเบนิกโน อาคิโน เดอะเทิร์ด (Benigno Aquino) หรือ “นอยนอย” ประธานาธิบดีท่านนี้ คือ นายโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ในวัย 71 ปี ซึ่งเป็นผู้นำที่ชาวปินอยส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาจะเป็นผู้นำพารัฐนาวาฟิลิปปินส์ให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นานาจากนี้ต่อไปอีก 6 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2016-2022)
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเท่าที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งใหญ่ในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ต้นปี ชื่อของดูเตร์เตไม่ได้อยู่ในรายชื่อตัวเต็งเลยแม้แต่น้อย เมื่อเทียบกับผู้สมัครรายอื่นอย่างนายมาร์ โรฮาส (Manuel Roxas) นายเจโจมาร์ บิเนย์ (Jejomar Binay) หรือ นางเกรซ โพล (Grace Pole)
อย่างไรก็ดี นายดูเตร์เต กลายเป็น “ม้ามืด” ในช่วงท้ายที่แซงตัวเต็งเข้าวินสู่ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 16
โรดริโก ดูเตร์เต หรือ Rody ประธานาธิบดีคนล่าสุดของฟิลิปปินส์
ภาพจาก http://66.media.tumblr.com/fad3b2b31dcae0a75cbe55b8a0794b44/tumblr_o9k9zp04Pq1smjftuo1_500.jpg
ประวัติชีวิตของประธานาธิบดีคนใหม่ถอดด้ามรายนี้ นับว่าน่าสนใจไม่น้อย เจ้าของฉายา Donald Trump แห่งฟิลิปปินส์ สะท้อนภาพความเป็นนักการเมืองที่มีบุคลิกดุดัน แข็งกร้าว นักเลง และนิยมความเด็ดขาด
บุคลิกแบบนี้กลายเป็น “โลโก้” ของดูเตร์เตตั้งแต่เข้ามาเล่นการเมืองและประสบความสำเร็จมาโดยตลอดด้วยการใช้สไตล์แบบนี้ จนกระทั่งการเลือกตั้งใหญ่ ดูเตร์เต ก็ถูกตาต้องใจคนส่วนใหญ่ของประเทศและเลือกให้เขาเป็นผู้นำประเทศในที่สุด
ดูเตร์เต ในวัย 71 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองมามากมาย พื้นเพเป็นคนจากเกาะมินดาเนา นับเป็นผู้นำคนแรกที่มาจากเกาะนี้ (โดยส่วนใหญ่ผู้นำฟิลิปปินส์มีพื้นเพมาจากเกาะลูซอน) ตระกูลดูเตร์เต จัดเป็นตระกูลการเมือง (Political Family) ที่สำคัญของเกาะมินดาเนา
บิดาของเขา บิเซนเต้ ตี ดูเตร์เต เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดดาเวาและนายกเทศมนตรีเมืองดาเนาบนเกาะเซบู
ในวัยเด็ก ดูเตร์เตจัดเป็นพวกเกเรและแสบมาตั้งแต่เล็ก เขาเคยมีเรื่องชกต่อย มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายอย่างจนถูกไล่ออกจากโรงเรียนถึง 2 ครั้ง แต่ด้วยความรักเรียน ดูเตร์เตขวนขวายเรียนจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์และได้รับปริญญาตรีด้านกฎหมายอีกใบจากมหาวิทยาลัยในมะนิลา หลังจากนั้นสอบได้เป็นเนติบัณฑิต และได้รับใบอนุญาตทนายความซึ่งเป็นอาชีพแรกก่อนที่เขาจะเข้าสู่วงการเมือง
ดูเตร์เต ผันตัวเองเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นในปี 1986 หลังเกิดเหตุการณ์ People Revolution โค่นล้มระบอบมาร์กอส ได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการรองนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา จากนั้นสองปีต่อมา เขาลงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและชนะเลือกตั้ง โดยบริหารเทศบาลเมืองดาเวายาวนานถึง 10 ปี (ตั้งแต่ปี 1988-1998)
ด้วยความเป็นคนเด็ดขาด ดูเตร์เตบริหารเมืองดาเวาด้วยความเข้มงวดกวดขัน โดยเฉพาะการกวาดล้างกลุ่มอาชญากรแบบไม่ประนีประนอม พูดง่าย ๆ คือ เหล่าอันธพาลแก๊งต่าง ๆ ไม่สามารถเผยอได้ในเมืองดาเวาที่ดูเตร์เตดูแล
ผลงานเหล่านี้สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะ The Punisher หรือ ผู้ลงทัณฑ์ กิตติศัพท์ของเขาเป็นที่เลื่องลือ และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาต่ออีกตั้งแต่ปี 2001-2007 ความมุ่งมั่นในการทำงานโดยเฉพาะปราบอันธพาลและอาชญากรรมทำให้ดูเตร์เตได้รับการจับตาจากการเมืองระดับชาติ
เกียรติคุณระหว่างเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา ทำให้ดูเตร์เตได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนเมืองที่มีอาชญากรรมสูงสุดกลายเป็นเมืองที่สงบและปลอดภัยที่สุดในเอเชีย
ดูเตร์เตจัดเป็นผู้นำสายเหยี่ยวที่นิยมความเด็ดขาด ไม่ประนีประนอม พร้อมลุยเสมอ อย่างไรก็ดีชื่อเสียงด้านลบของเขาก็มีไม่น้อย ดูเตร์เต เคยก่อวีรกรรมแบบไม่รู้จักกาลเทศะหลายครั้ง เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อโป๊ปเสด็จเยือนมะนิลา ทำให้รถติดหลายชั่วโมง เพราะต้องกั้นขบวนเสด็จ ดูเตร์เต “ปากไว” วิจารณ์ไล่โป๊ปกลับบ้านไปจนกลายเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งภายหลังเขาได้เขียนจดหมายขอโทษโป๊ป หรือ กรณีที่เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวแล้วผิวปากแซวนักข่าวหญิงทำนองเกี้ยวพาราสี และที่ถูกตำหนิมากที่สุด คือ การให้สัมภาษณ์แบบติดตลก แต่ไร้รสนิยม กรณีที่มิชชันนารีสาวออสเตรเลียถูกข่มขืน แต่ดูเตร์เตกลับบอกว่าด้วยความที่หล่อนเป็นคนสวย จึงสมควรแล้วที่ถูกข่มขืน หนำซ้ำยังพูดว่า ในฐานะนายกเทศมนตรี เขาควรลงมือเป็นคนแรก
ด้วยเหตุนี้ “ความห่าม” ของดูเตร์เต คงกลายเป็นเรื่องหนักอกหนักใจต่อไปในอนาคต เพราะความเป็นคนแปลก เป็นทางเลือกใหม่ อาจจะมีสีสันในช่วงแรก แต่ในระยะยาว หากเขาไม่ปรับบุคลิกให้สมกับเป็นผู้นำสูงสุด ดูเตร์เตอาจจะเจอ “โอษฐภัย”เข้าสักวัน
สำหรับซีรีส์ตอนนี้ ผู้เขียนจะเล่าเรื่องเหตุการณ์ People Revolution ในปี 1986 ซึ่งเป็นการโค่นล้มเผด็จการมาร์กอส เหตุการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติฟิลิปปินส์อีกครั้ง หลังจากถูกมาร์กอสและพวกปู้ยี่ปู้ยำมากว่า 20 ปี
จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ People Revolution หรือ EDSA เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1986 นั้น มาจากกระแสความไม่พอใจของชาวฟิลิปปินส์ที่สั่งสมมาเรื่อย ๆ จนระเบิดออกมาผ่านการลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลมาร์กอส
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี 1986 ได้กลายเป็นชนวนการเดินขบวนประท้วง เมื่อผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า มาร์กอสชนะการเลือกตั้งแบบค้านสายตาประชาชน ต่อมาฝ่ายทหารสายประชาธิปไตยซึ่งนำโดย พลเอกฟิเดล รามอส (Fidel Ramos) ก็เริ่มนำกองกำลังทหารกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมกับฝั่งประชาชนผู้ประท้วง
เหตุการณ์ประท้วงเริ่มวุ่นวายและนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างทหารสองกลุ่ม ฝั่งรัฐบาลและฝั่งผู้สนับสนุน ผู้ประท้วงซึ่งฝั่งหลังมีเพียงอาวุธเบาและมีกำลังเพียง 500 นาย เท่านั้น นายทหารกลุ่มนี้พยายามก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลมาร์กอส แต่แผนเกิดรั่วเสียก่อน ทำให้ต้องหนีไปกบดานยังค่ายทหารเครมและค่ายอากินัลโด
นายพลฟิเดล รามอส (Fidel Ramos) (คนซ้าย) นายทหารประชาธิปไตยกลุ่มแรกที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการมาร์กอส
ภาพจาก http://ffemagazine.com/wp-content/uploads/2014/02/People-Power-Revolution-6-Enrile-and-Ramos.jpg
เมื่อกองกำลังรัฐบาลมาร์กอสได้ที จึงเริ่มรุกไล่และส่งทหารปิดล้อมค่ายทั้งสองพร้อมเตรียมปืนใหญ่ยิงเข้าใส่ อย่างไรก็ดีฝ่ายคริสตจักรซึ่งนำโดย พระคาร์ดินัล ไฆเม่ ชิน ได้ประกาศออกอากาศผ่านทางวิทยุเรียกร้องให้ประชาชนมาช่วยปกป้องนายทหารฝ่ายประชาชน คำประกาศของท่านคาร์ดินัลทรงพลังและกลายเป็นตัวจุดขนวนให้ชาวฟิลิปปินส์ผู้รักความเป็นธรรม พร้อมใจกันออกจากบ้านเดินไปตามถนนมุ่งสู่ค่ายทหารทั้งสองแห่ง เพื่อยืนเป็นโล่มนุษย์ช่วยกันปกป้องนายทหารกลุ่มนี้
ครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ People Revolution หรือ EDSA เมื่อปี 1986
ภาพจาก http://www.newsflash.org/2004/02/00001/0001023183.jpg
เหตุการณ์นี้กลายเป็นประวัติศาสตร์และนำไปสู่การเคลื่อนไหวของผู้คนเรือนล้านออกมาประท้วงไล่ทรราชย์มาร์กอส สงครามกลางเมืองย่อม ๆ ได้เกิดขึ้นเมื่อนายทหารฝั่งรัฐบาลเริ่มเตรียมใช้กำลังกับประชาชน
ความโกลาหลในมะนิลาทำให้เกิดกระแสกดดันตีกลับไปสู่มาร์กอสที่ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ และกองทัพเริ่มเห็นแล้วว่า หากฝืนต่อไปมีแต่จะพังกันหมด ทุกฝ่ายเสนอให้มาร์กอสสมควรลงจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้สูญเสียมากกว่านี้ ขณะที่สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เสนอให้มาร์กอสลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน
ดูเหมือนว่า ฝ่ายประชาชนจะรุกกลับมาร์กอสภายในระยะเวลาอันสั้น พวกเขาสอดประสานกันทั้งมวลชนที่เกลียดชังมาร์กอส คนที่นิยมตระกูลอาคิโน คริสตจักรที่มีทั้งบาทหลวงและแม่ชี นายทหารที่กลับลำมาช่วยประชาชน รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะตัดหางปล่อยวัดมาร์กอสเสียแล้ว
เหตุการณ์ EDSA เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่สอนให้รู้ว่า เมื่อทหารเปลี่ยนข้างมาอยู่ฝั่งประชาชนแล้ว
อาณาจักรของมาร์กอสได้พังพินาศลงทันที
ภาพจาก http://www.newsflash.org/2004/02/00001/000087405.jpg
มาร์กอสจึงเหลือทางเลือกเดียว คือ “หนี” ออกนอกประเทศ โดยเมื่อวันที่ 25 ก.พ.1986 เขาและครอบครัวพร้อมผู้ติดตามลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ฮาวาย มาร์กอสใช้เวลาช่วงสุดท้ายที่ฮาวายเป็นเวลา 3 ปี และเสียชีวิตที่นั่น ปิดฉากเผด็จการที่ถูกจารึกชื่อไว้ว่าเป็นหนึ่งในทรราชย์ (Tyrant) คนสำคัญของโลกในศตวรรษที่ 20
พระคาร์ดินัลซิน คือ ผู้มีบทบาทสำคัญในคริสตจักรที่ช่วยเรียกปลุกระดมประชาชนมาขับไล่มาร์กอส
ภาพจาก http://www.thedailytrends.net/
หลังเหตุการณ์ People Revolution ในปี 1986 นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์การล่มสลายของระบอบมาร์กอสไว้ว่ามาจากปัจจัยหลายประการ ซึ่ง ผศ.ดร.วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ได้สรุปไว้น่าสนใจว่า ปัจจัยที่ทำให้เผด็จการมาร์กอสล้มลง ได้แก่ (1) ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (2) ความอยุติธรรมที่ประชาชนไม่สามารถทนรับได้อีกต่อไป (3) การโกงเลือกตั้งอย่างชัดเจน และ (4) พลังคริสตจักรที่ไม่ไว้วางใจเผด็จการมาร์กอสอีกแล้ว
ปัจจัยทั้ง 4 นี้ค่อย ๆ สะสมจนกระทั่งเป็นระเบิดเวลาและเมื่อถึงจุดสุกงอมจึงระเบิดออกมาทำให้ระบอบมาร์กอสพังลง และเป็นอีกบทพิสูจน์อีกบทที่ว่า ไม่มีเผด็จการคนไหนต้านทานพลังประชาชนได้
หลังพ้นยุคมาร์กอส ฟิลิปปินส์ได้สานต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยด้วยความเข้มแข็งโดยเฉพาะการยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง แม้จะมีการสะดุดบ้างในบางครั้ง แต่พวกเขาก็เลือกที่จะเล่นกันอยู่บนกติกา ไม่ออกนอกลู่นอกทาง
นางคอราซอน อาคิโน (Corazon Aquino) ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 11 ต่อจากมาร์กอส นางอาควิโนต้องทำหน้าที่ปฎิรูปประเทศใหม่ทั้งหมด และด้วยความที่เธอเองไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองหรือการบริหารใด ๆ เลยทำให้อาควิโนต้องเรียนรู้อย่างหนัก แต่โชคดีที่เธอมีทีมงานที่ดีโดยเฉพาะเพื่อนฝูงของสามีนาง “นีนอย” ที่ช่วยประคองรัฐบาลอาควิโนให้อยู่จนครบเทอม
นางคอราซอน อาคิโน และพลเอกฟิเดล รามอส สองบุคคลสำคัญที่ช่วยกันโค่นอาณาจักรมาร์กอสลง
ในเวลาต่อมาทั้งคู่กลายเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
ภาพจาก http://media.philstar.com/images/the-philippine-star/News-Feature/20150216/cory-ramos-edsa.jpg
หลังจากนั้น พลเอกฟิเดล รามอส นายทหารประชาธิปไตยและวีรบุรุษใน People Revolution ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อจากนางอาคิโน
กล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ถูกเขียนโดยประชาชนฟิลิปปินส์ ประชาชนมีบทบาทเสมอในการเลือกและไล่ผู้นำ ยกตัวอย่างในปี 2001 ที่มีการขับไล่ นายโจเซฟ เอสตราดา (Joseph Estrada) ลงจากตำแหน่ง จนเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า EDSA ครั้งที่ 2 โดยนายเอสตราดาเผชิญกับข้อหาพัวพันทุจริตคอร์รัปชันหลายเรื่อง
ในตอนหน้า จะเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์ชุดนี้แล้วนะครับ เราจะมาดูกันว่าฟิลิปปินส์ในวันข้างหน้า พวกเขาจะก้าวเดินไปอย่างไร ภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่
......พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ.....
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด