จุรีรัตน์ ทิมากูร
รัฐบาล มีความมุ่งมั่นพัฒนาจังหวัดที่มีชายแดนเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นใน 6 จังหวัด ซึ่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มีพื้นที่ครอบคลุม 4 ตำบล 2 อำเภอ รวมพื้นที่ 207,500 ไร่ ถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญที่ภาครัฐมุ่งหวังให้เป็นเขตเศรษฐกิจเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาคอินโดจีน โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจังหวัดสระแก้วมีศักยภาพในการเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปสู่ตลาดอินโดจีนได้
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวในงานสัมมนา การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว พร้อมกับระบุว่า รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เป็นโมเดลเพื่อดึงนักลงทุนจากภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จึงให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีแก่กิจการเป้าหมายสำหรับการลงทุน ได้แก่ กิจการแปรรูปสินค้าเกษตร กิจการสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม กิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมา จังหวัดสระแก้วมีมูลค่าการค้าเพิ่มเป็น 82,000 ล้านบาทและเชื่อว่านับจากนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าให้สูงขึ้นต่อเนื่องได้ทุกปี
อย่างไรก็ดีกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดเตรียมงบประมาณสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดให้มีความพร้อมรองรับเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว พร้อมมอบสิทธิพิเศษทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีที่เอื้อต่อการลงทุนและเปิดให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จในการนำเข้าส่งออกไปยังตลาดอินโดจีน ช่วยให้ผู้ส่งออกได้รับความสะดวกและเพิ่มมูลค่าการการค้าตามชายแดนให้สูงขึ้นด้วย และทำเลที่ตั้งของจังหวัดสระแก้วถือว่ามีความได้เปรียบ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ด้านชายแดนอรัญประเทศซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับจังหวัดบันเตียเมียนเตย ประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นจุดผ่านแดนที่มีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาสูงที่สุดของประเทศ ขณะเดียวกันยังมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทางเพียง 250 กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพฯ 260 กิโลเมตร จึงทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มีศักยภาพที่ดีและเอื้อต่อภาคเอกชนในการเข้ามาลงทุนเพื่อใช้เป็นประตูส่งออกสู่ตลาดอินโดจีนรวมถึงประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย
นอกจากนี้ทางจังหวัดสระแก้ว ยังได้เตรียมความพร้อมรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว โดยลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับคมนาคมและโลจิสติกส์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างถนนจำนวน 5 สาย การคมนาคมทางรางที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟแก่งคอย-คลองสิบเก้า สิ้นสุดสะพานคลองลึก นอกจากนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีแผนสร้างสถานีไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 สถานี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 และการประปาส่วนภูมิภาคมีแผนพัฒนาระบบประปา กำลังการผลิต 19,200 ลบ.ม./วัน ซึ่งมีปริมาณการผลิตที่เพียงพอใช้ได้ถึงปี 2561 ก่อนขยายกำลังการผลิตประปาเพิ่มเติมเป็น 43,200 ลบ.ม./วัน ในอนาคต
และยังเปิดให้บริการด่านศุลกากรแห่งใหม่ พื้นที่กว่า 525 ไร่ ในอำเภออรัญประเทศและยังได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่พื้นที่กว่า 660 ไร่ ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานต่าง ๆ ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งผ่อนปรนเงื่อนไขการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนและการจัดสินเชื่อเพื่อการลงทุนในการสนับสนุนภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นี้อีกด้วย
ซึ่งการการเตรียมความพร้อมดังกล่าว เพื่อรองรับการเติบโตของการค้าการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งไทยถือว่ามีความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน และสร้างรายได้ตลอดจนคุณภาพชีวิตให้คนในท้องถิ่นที่จะดีขึ้นต่อไป
ด้าน นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ กระทรวงฯ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก สระแก้ว มุกดาหาร หนองคาย สงขลา และตราด เน้นการบูรณาการความร่วมมือร่วมกับ หอการค้าไทย และหน่วยงานทางด้านการค้าและอุตสาหกรรม ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการขยายการค้า การลงทุนและการขนส่งระหว่างกันเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน
ส่วนของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัด นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี เน้นการให้ความรู้ โดยดำเนินการจัดการสัมมนาเกี่ยวกับการขยายการค้าชายแดนและการลงทุนไทยผ่านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าชายแดน และการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชัดเจนยิ่งขึ้น
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศจะเปิดให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ MOC Single Point ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้ประกอบการได้มากยิ่งขึ้น โดยบริการต่าง ๆ ประกอบด้วย การให้คำปรึกษา การรับเรื่องร้องเรียนและรับคำขอจดทะเบียน จดแจ้งและขออนุญาตของหน่วยงานต่าง ๆ ขณะนี้ได้เปิดบริการนำร่อง ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นแห่งแรก และจะขยายไปยังสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้ครบทั่วประเทศภายในเดือนกันยายนนี้
โดยการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวในช่วงแรก เริ่มจากบริการที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตและหนังสือรับรองต่าง ๆ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ การขอรับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ขอหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หนังสืออนุญาตขนย้ายสินค้า ขออนุญาตประกอบการค้าข้าว ขอคืนหลักประกันสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตร ขอมีบัตรประจำตัวผู้ส่งออก และนำเข้าสินค้า รวมถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจะขยายสู่การบริการด้านอื่น ๆ ในช่วงระยะเวลาต่อไป
สำหรับการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่ผ่านมา ได้มีการจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ไปเจรจาและส่งเสริมการค้า ณ ประเทศเพื่อนบ้านในเดือนพ.ค.นี้ เช่น การจัดคณะไปเยือนแขวงคำม่วนเมื่อวันที่ 24 พ.ค.เพื่อติดตามการดำเนินงานความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน ตาม MOU ซึ่งมีการลงนามร่วมกันแล้วเมื่อกันยายน 2557 เช่น ข้อเสนอการให้เปิดด่านผ่านแดนถาวร ระหว่างไทยกับลาว ณ ด่านนครพนม ตลอด 24 ชั่วโมง การตั้งจุดผ่านแดนร่วมกันที่ด่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3
นอกจากนั้น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสระแก้ว มีกำหนดจัดคณะไปหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณด่านจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย และพระตะบอง และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคายมีกำหนดจัดคณะไปหารือร่วมกับนครเวียงจันทร์ เพื่อความร่วมมือการสร้างเครือข่ายธุรกิจ การจัดงานแสดงสินค้า การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลทางเศรษฐกิจ
สำหรับความคืบหน้าการเปิดให้ภาคเอกชน ยื่นซองประมูลพัฒนาพื้นที่ เพื่อทำนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัด คือ หนองคาย ตราด มุกดาหารนั้น โดยกรมธนารักษ์ ได้เปิดให้เอกชนเข้าซื้อเอกสาร ธนารักษ์ใช้เวลาพิจารณา 30 วัน การประมูลตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และ พิจารณาการประมูลเสร็จเดือนสิงหาคมเสนอบอร์ดเขตเศรษฐกิจพิจารณาสิ้นสุดซื้อซองประมูลในวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดี กรมธนารักษ์ เผยว่า มีผู้สนใจเข้าซื้อซองเข้าร่วมประมูลจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลถึง 19 ราย คิดเป็นจำนวน 31 ซอง
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ กรมธนารักษ์ จะให้เวลาประมาณ 60 วัน เพื่อให้ผู้สนใจ เข้ายื่นซองประมูล โดยจะต้องจัดทำแผน การพัฒนาพื้นที่ ซึ่งรวมถึงแผนการไฟแนนซ์เงิน และการเสนอมูลค่าการประมูล จากนั้น จะใช้เวลา 30 วันในการพิจารณาข้อเสนอ คาดในกระบวนการพิจารณาประมูลทั้งหมดของกรมธนารักษ์ จะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ จากนั้น จึงจะเสนอคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษและคณะรัฐมนตรี คาดว่า ภายในปี 2559 การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะเกิดขึ้น
สำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้ประมูลด้านการเสนอแผนพัฒนาพื้นที่มากกว่าเรื่องอื่น เพราะแผนพัฒนาพื้นที่เป็นเป้าหมายที่ธนารักษ์ต้องการให้พื้นที่ดังกล่าว มีการพัฒนาเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม โดยผู้ชนะการประมูลจะต้อง กำหนดแผนการพัฒนานิคมให้ชัดเจนว่า ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ และสำหรับสิทธิประโยชน์ ในพื้นที่นิคมในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด นอกจากนี้ สิ่งปลูกสร้างในเขตนิคมดังกล่าว ไม่ต้องโอน เป็นที่ราชพัสดุ และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารได้
ทั้งนี้ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายมีพื้นที่ 718 ไร่ เป็นช่องทางการค้าชายแดนไทย-ลาว ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนที่สูง ที่สุด เมื่อเทียบกับชายแดนอื่น ๆ และอยู่ใกล้สนามบินอุดร เพียง 60 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนมุกดาหารมีพื้นที่ 1,080 ไร่ สามารถเชื่อมต่อกับแขวงสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว และมีมูลค่าค่าชายแดนสูงเป็นอันดับที่สอง และตราดมีพื้นที่ 895 ไร่ สามารถเชื่อมต่อกับ เกาะกง กัมพูชา มีศักยภาพเพราะอยู่บนระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เชื่อมถึงท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสีหนุวิลล์
สำหรับสัญญาเช่าที่ดินในเขต 3 จังหวัดดังกล่าว จะมีอายุ 50 ปี โดยกำหนดราคาค่าเช่า และค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ คือ ราคาค่าเช่ากำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 24,000 บาทต่อไร่ต่อปี ส่วนค่าธรรมเนียม กำหนดไว้ที่ 160,000 บาทต่อไร่ต่อปี โดยอัตราดังกล่าว ยังถือว่าค่อนข้างอยู่ในระดับที่ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการที่รัฐจะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า ประปา ในสามพื้นที่ดังกล่าว รวมกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากค่าเช่าและค่าธรรมเนียมตลอด 50 ปี จะอยู่ประมาณกว่า 500 ล้านบาท แต่สิ่งที่ภาครัฐจะได้รับกลับคืน การลงทุนในพื้นที่ชายแดนใน 3 จังหวัดดังกล่าว ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่
ในปัจจุบัน กรมธนารักษ์ ได้มอบที่ดิน ราชพัสดุ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในจังหวัดสระแก้วให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเช่าแล้ว เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมานี้ ส่วนในอีก 6 จังหวัดที่เหลือ จะดำเนินการทยอยเปิดประมูลต่อไป คือ จังหวัดสงขลา เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส
นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่า กพร. ได้ทำ “โครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ซึ่งจะใช้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค (สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อฝึกอบรมใช้งบประมาณ 41,645,600 บาท ตั้งเป้าฝึกอบรมให้ได้จำนวน 19,800 คน ซึ่งจะฝึกอบรมตรงกับความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ เช่น จ.ตาก มีการค้าชายแดนไทย-พม่า ต้องพัฒนาแรงงานอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จังหวัดสงขลา ใกล้ท่าเรือปีนังและท่าเรือกลางของมาเลเซีย จะเน้นผลิตแรงงานที่เกี่ยวกับการขนส่งและบริการ อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ยางพารา อาหารทะเลและที่สำคัญการฝึกอบรมสอดคล้องกับกิจการ 23 ประเภท ที่มีการส่งเสริมด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุน โดยแบ่งเป็นหลักสูตรฝึกเตรียมเข้าทำงาน (ระยะเวลาการฝึกอบรม 35-280 ชั่วโมง) หลักสูตรฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน (ระยะเวลาการฝึกอบรม 12-60 ชั่วโมง) และหลักสูตรฝึกอาชีพเสริม (ระยะเวลาการฝึกอบรม 18-30 ชั่วโมง)
ทั้งนี้ในช่วงตุลาคม 2558-มีนาคม 2559 กพร.ได้อบรมทักษะฝีมือแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้วจำนวน 11,449 คน ซึ่งสาขาที่มีการฝึกอบรมมากที่สุด ได้แก่ ภาคบริการและท่องเที่ยว เช่น พนักงานนวดไทย การประกอบอาหารไทย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น การปูกระเบื้อง การก่ออิฐ/อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างเครื่องปรับอากาศ/ภาคสิ่งทอและแฟชั่น และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
นอกจากจะฝึกอบรมภาษาอังกฤษแล้ว ยังให้แต่ละพื้นที่ฝึกอบรมภาษาของประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันเพื่อใช้ในการยกระดับการสื่อสารและทำงานร่วมกันยกเว้นภาษาลาวเนื่องจากพื้นฐานของภาษาและวัฒนธรรมมีความใกล้เคียงกันทำให้สามารถสื่อสารกันได้ อีกทั้งได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ตาก แห่งที่สอง (แม่สอด) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.สระแก้ว แห่งที่สอง (อรัญประเทศ) มีการฝึกอบรมให้ทั้งแรงงานไทยและเพื่อนบ้านในสาขาการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร เทคนิคการสอนงานสำหรับหัวหน้างาน เป็นต้น โดยศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ในศูนย์ปฏิบัติงานร่วมด้านแรงงาน (วันสต็อปเซอร์วิส)
ด้าน นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดสระแก้ว ส่งผลให้การขนส่งสินค้า วัสดุอุปกรณ์ ด้านการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมีการพัฒนามากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเป็นประตูผ่านเข้าออกของสินค้าต่าง ๆ เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการจราจรที่หนาแน่นและเกิดปัญหาด้านการคมนาคมและการขนส่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
ดังนั้น กรมทางหลวงชนบท จึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 33-ด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ระยะทาง 15.425 กิโลเมตร เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดในเขตชุมชน และกระจายการจราจรเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าระหว่างชายแดนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยรถที่มาจากอำเภอวัฒนานคร สามารถใช้เส้นทางของโครงการฯ เข้าสู่อำเภออรัญประเทศ เพื่อไปยังด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก และรถจากบริเวณด่านผ่านแดนฯ สามารถกระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาคโดยใช้เส้นทางของโครงการเป็นทางเลี่ยงชุมชนที่มีการจราจรคับคั่ง จึงเป็นเส้นทางที่สามารถแก้ปัญหาจราจรติดขัดในชุมชน ลดระยะเวลาในการเดินทาง พร้อมทั้งเป็นการกระจายความเจริญของชุมชนไปสู่รอบนอกได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และสนับสนุนการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นโครงการถนนตัดใหม่ตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นโครงการกิโลเมตรที่ 0+000 โดยแยกจากถนนทางหลวงหมายเลข 33 (กิโลเมตรที่ 293+500) สิ้นสุดโครงการกิโลเมตรที่ 15+425 ซึ่งบรรจบถนนทางหลวงหมายเลข 33 (กิโลเมตรที่ 304+019) บริเวณด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก ลักษณะการก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร เป็นแบบทางคู่ขนาน พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กยกระดับข้ามทางรถไฟและสะพานข้ามคลอง รวม 3 แห่ง ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบริเวณสะพานจุดกลับรถและทางแยก เครื่องหมายจราจรและสิ่งอำนวยความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้เส้นทาง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 935 ล้านบาท แบ่งเป็นงบผูกพัน ปี 2558-2560
ขณะเดียวกัน นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าการดำเนินโครง การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางถนนว่าจะเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่นกรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย โดยได้รับทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบการบริหารสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งระบุตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า รองรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จำนวน 17 แห่งไว้แล้ว
ทั้งนี้ผลการศึกษาได้แบ่งระยะเวลาการพัฒนาสถานีฯออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2561-2563 ประกอบด้วยสถานีขนส่งสินค้าที่จังหวัดหนองคาย , สงขลา, สระแก้ว, ตาก และมุกดาหาร ส่วนระยะที่ 2 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2562-2564 ประกอบด้วย ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี, เชียงราย ระยะที่ 3 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2563-2565 ประกอบด้วย อุบลราชธานี, นครราชสีมา, เชียงใหม่, นครสวรรค์ และระยะที่ 4 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2565-2578 ประกอบด้วย พิษณุโลก, นราธิวาส, กาญจนบุรี, ปราจีนบุรี, ตราด รวมวงเงินงบประมาณดำเนินการทั้ง 4 ระยะกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าทั้ง 17 จังหวัดที่กล่าวมา จากผลการศึกษาได้คัดเลือกพื้นที่ของราชพัสดุ 10 แห่ง ได้แก่ สงขลา หนองคาย มุกดาหาร สระแก้ว ตาก ตราด เชียงราย กาญจนบุรี ขอนแก่น และนครสวรรค์ แต่ขณะนี้ปรากฏว่าทางราชพัสดุปฏิเสธการขอใช้ใน 7 จังหวัด มี สงขลา ตาก ตราด เชียงราย ขอนแก่น มุกดาหาร และหนองคาย ประชาชนเช่าใช้พื้นที่ 1 แห่ง และอยู่ระหว่างการพิจารณา 2 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่เป็นเอกชน 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ พิษณุโลก และปราจีนบุรี
นายดรุณ กล่าวต่อว่าได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินโครงการ รวมทั้งพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันของหน่วยงานภายในกระทรวง โดยคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญ เช่น อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า คลังสินค้า และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบกับระบบราง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางถนนด้วยรถบรรทุก รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
ขณะที่ ดร.จารุวิสข์ ปราบณศักดิ์ รองคณบดี วิทยาลัยนานาชาติ สจล. กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีสถานีขนส่งสินค้าเปิดให้บริการแล้วจำนวน 3 แห่งคือ ร่มเกล้า (ลาดกระบัง) พุทธมณฑล (จ.นครปฐม) และที่คลองหลวง (จ.ปทุมธานี) โดยรัฐจัดหาที่ดินทั้งหมดและเปิดโอกาสให้เอกชนเสนอสิทธิ์เข้าไปรับบริหารจัดการ ส่วนอีก 2 แห่งที่ไม่ได้จัดเอาไว้ในการศึกษาของ สจล. ในครั้งนี้ คือที่ อำเภอเชียงของ (รองบประมาณก่อสร้าง) และนครพนม (อยู่ระหว่างจัดหาที่ดิน) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2561-2562 นี้ ส่วนระยะต่อไปพบว่าขอนแก่นและสุราษฎร์ธานีมีความเหมาะสมที่จะเร่งผลักดัน
ทั้งนี้เบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลาไว้ 30 ปี ซึ่งเอกชนบางรายสนใจเสนอขายที่ดินส่วนหนึ่งให้ภาครัฐ หรือถ้าเวนคืนต้องได้ราคาที่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ต้องรอดูว่านโยบายภาครัฐท้ายที่สุดแล้วจะเอาอย่างไร อาจต้องใช้รูปแบบการลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐจะลงทุนด้วยการจัดหาที่ดินและติดตั้งระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ส่วนเอกชนลงทุนเข้าไปรับบริหารจัดการโครงการ เพราะโครงการนี้ยังมีอีกหลายส่วนที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะสถานีตามชายแดนที่สามารถโควตากับรถของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านให้จำกัดอยู่ในพื้นที่ไว้ได้ จึงไม่ต้องเข้ามาวิ่งในประเทศไทยและรถของไทยก็ไม่ต้องเข้าไปวิ่งในเส้นทางของประเทศต่าง ๆ ให้แลกสินค้าและยกขนกันในพื้นที่ที่จำกัดไว้ได้ทันทีจึงสามารถป้องกันปัญหาหลายอย่างเอาไว้ได้
อย่างไรก็ดีขณะนี้ทั้ง 17 สถานีมีสถานที่ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งในอนาคตจะเป็นทำเลทองที่สามารถนำพาความเจริญมาสู่พื้นที่ดังกล่าวได้ทันที แต่พบว่ามีที่ดินเอกชนหลายแปลงน่าสนใจดังนี้คือ พื้นที่นราธิวาส วงเงินลงทุน 546 ล้านบาท ติดถนนทางหลวงหมายเลข ทล.42 ใกล้ตลาดเกษตรกลาง 53 ไร่ สุราษฎร์ธานี อ.พุนพิน วงเงินลงทุน 1,339 ล้านบาท ติดลานกองตู้สินค้าสถานีรถไฟทุ่งโพธิ์ 134 ไร่ อุบลราชธานี อ.วารินชำราบ วงเงินลงทุน 1,145 ล้านบาท ใกล้ถนน ทล. 226 ห่างจากสถานีบุ่งหวาย 1 กิโลเมตร ขนาด 109 ไร่ นครราชสีมา วงเงินลงทุน 1,372 ล้านบาท ติดถนน ทล. 2 และวงแหวนรอบนอกด้านทิศเหนือ ขนาด 141 ไร่ เชียงใหม่ ต.หนองผึ้ง อ.สารภี วงเงินลงทุน 1,769 ล้านบาท ติดถนน ทล. 11 ใกล้สถานีรถไฟสารภี ขนาด 95 ไร่ พิษณุโลก ต.บึงพระ อ.เมือง วงเงินลงทุน 1,767 ล้านบาท ใกล้ถนน ทล.126 ติดสถานีรถไฟบึงพระ ขนาด 61 ไร่ ปราจีนบุรี ต.บ้านนา อ.กบินทร์บุรี วงเงินลงทุน 852 ล้านบาทใกล้ถนน ทล.33 และสถานีรถไฟหนองสัง ขนาด 60 ไร่ รวมทั้งสิ้นกว่า 8,790 ล้านบาท
สำหรับราคาที่ดินในจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายนั้น จากรายงานของบริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด เกี่ยวกับราคาที่ดิน ณ สิ้นปี 2558 สุราษฎร์ธานี ราคาที่ดินติดถนนสายหลักไร่ละ 10-21 ล้านบาท ส่วนที่ขอนแก่น ราคาที่ดินต่ำสุดไร่ละ 4 ล้านบาท และสูงสุดไร่ละ 80 ล้านบาท หรือที่หนองคาย ต่ำสุดไร่ละเกือบ 5 ล้านบาท และสูงสุดไร่ละ 15 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่เชียงใหม่ ถ้าเป็นย่านธุรกิจ อย่างถนนนิมมานเหมินทร์ ราคาไร่ละ 42-80 ล้านบาท ขณะที่ย่านถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ราคาอยู่ระหว่างไร่ละ 21-32 ล้านบาท และที่เชียงราย ย่านไนท์บาซาร์ ไร่ละ 36-42 ล้านบาท ส่วนถนนวงแหวน ต่ำสุดไร่ละ 13 ล้านบาทสูงสุด ไร่ละ 16 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้โดยสรุปราคาที่ดินในต่างจังหวัดมีการขยับปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่มาก ต่ำสุดประมาณ 3% และสูงสุดไม่เกิน 10% รอโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ
หลังจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี มาแล้วกว่า 3 เดือน แนวโน้มการส่งออกสินค้าเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปีงบประมาณ 2559 ช่วงไตรมาสแรกมีมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งสิ้น 16,041 ล้านบาท สินค้านำเข้ามูลค่า 3,682 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 12,359 ล้านบาท
โดยในช่วงไตรมาส 2 สินค้าส่งออกมีมูลค่า 15,843 ล้านบาท สินค้านำเข้ามูลค่า 6,741 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 9,102 ล้านบาท และมูลค่าส่งออกโดยรวม 2 ไตรมาสแล้วประมาณ 42,309 ล้านบาท ได้ดุลการค้าประมาณ 21,461 ล้านบาท และเมื่อสิ้นไตรมาส 3 คาดว่าจะมีมูลค่าการ ส่งออกไม่น้อยกว่า 6 หมื่นล้านบาท และสิ้นปีนี้จะทะลุกว่า 7 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบปี 2558 มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท
นายสาธิต ภู่หอมเจริญ นายด่านศุลกากรอรัญประเทศ จ.สระแก้ว บอกว่า การค้าตามแนวชายแดนด้าน จ.สระแก้ว โดยรวมแล้วดีขึ้น จะเห็นได้จากมีกลุ่มนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาสร้างห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง อีกทั้งยังมีการสร้างสวนน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นที่ด่านชายแดนอีกหนึ่งแห่ง นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเกิดภายในสิ้นปีนี้ ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจเมืองสระแก้วคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสินค้าประเภทผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าวสาร ผักผลไม้ ตลอดจนสินค้าภายในครัวเรือน
ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดจากชายแดนไทยไปยังกัมพูชาผ่านทางสระแก้วในปี 2559 จะอยู่ที่ 61,200–63,000 ล้านบาท ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2–3.2 จากปี 2558 ที่เติบโตร้อยละ 2.6
สำหรับธุรกิจที่เหมาะจะเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และธุรกิจคลังสินค้า/ศูนย์กระจายสินค้า ทั้งนี้ ในกลุ่มเกษตรแปรรูปจะได้เปรียบตรงที่สระแก้วตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบในกัมพูชา ขณะที่ กลุ่มเครื่องดื่มจะได้รับอานิสงส์จากที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตใกล้กับกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดส่งออกเครื่องดื่มอันดับต้นๆของไทย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้ระบุว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว หรือ SEZ สระแก้ว นับเป็นโครงการนำร่องของภาครัฐในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่เป็นที่แรก ในจำนวนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 ทั้งหมด โดยน่าจะดำเนินการเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 และจากที่สระแก้วมีจุดผ่านแดนติดกับกัมพูชาถึง 4 แห่ง อีกทั้ง ในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า ภาครัฐกำลังจะเพิ่มจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยนอีก 1 แห่ง รวมถึงการที่ภาครัฐพยายามเร่งขยายโครงข่ายถนนจากสระแก้วมายังส่วนกลาง (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) และเส้นทางจากสระแก้วไปยังท่าเรือแหลมฉบังที่ช่วยส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ให้สามารถเชื่อมโยงการค้าชายแดนที่สระแก้วเข้ากับโครงข่ายการขนส่งสินค้าของประเทศได้ดีขึ้น ก็น่าจะช่วยให้กิจกรรมการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาที่สระแก้วคึกคักมากขึ้น
และเมื่อพิจารณากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสระแก้ว พบว่าเป็นจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาสูงที่สุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นที่มีชายแดนไทยติดกับกัมพูชา (ตราด จันทบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ) โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดระหว่างไทยกับกัมพูชา เนื่องจากสระแก้วอยู่ใกล้กับเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของกัมพูชาอย่างบันเตียเมียนเจย อีกทั้งยังสามารถขนส่งสินค้าต่อไปยังพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังเติบโตได้อย่างสะดวก
จากสถิติการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาผ่านทางสระแก้ว เห็นได้ว่าในช่วงปี 2553-2558 การนำเข้าของไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 25.7 ต่อปี โดยมีสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น มันสำปะหลัง ขณะที่ มูลค่าการส่งออกจากชายแดนไทย จ.สระแก้วไปยังกัมพูชา โดยเฉลี่ยเติบโตร้อยละ 17.6 ต่อปี และมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องยนต์และอะไหล่สำหรับรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตได้ว่ามูลค่าการส่งออกจากสระแก้วไปยังกัมพูชาดังกล่าวขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงกว่ามูลค่าการส่งออกชายแดนรวมจากไทยไปยังกัมพูชาซึ่งเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15.4 ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องมาจากสินค้าที่ส่งออกผ่านทางสระแก้วเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงและกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดกัมพูชามากขึ้น ได้แก่ รถยนต์และจักรยานยนต์
อย่างไรก็ดี ในปี 2558 การส่งออกสินค้าทั้งหมดจากสระแก้วไปยังกัมพูชากลับเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเพียงร้อยละ 2.6 คิดเป็นมูลค่า 61,061.4 ล้าน โดยมีสาเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากทางการกัมพูชาเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการนำเข้ารถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ โดยห้ามนำเข้ารถจักรยานยนต์มือสองที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ส่งผลให้กัมพูชานำเข้ารถจักรยานยนต์มือสองลดลง
สำหรับมูลค่าการส่งออกชายแดนไทยกับกัมพูชาผ่านทางสระแก้วในปี 2559 พบว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 หดตัวลงร้อยละ 5.8 (Y-o-Y) เนื่องจากเศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มชะลอลง อีกทั้ง สินค้าบางประเภทเช่น รถแทรกเตอร์ เริ่มมีการผลิตในกัมพูชา ส่งผลให้ทางกัมพูชาลดการนำเข้า อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจกัมพูชาปรับตัวดีขึ้น ก็น่าจะช่วยประคองให้มูลค่าการส่งออกชายแดนไทยกับกัมพูชากลับมาฟื้นตัว
ขณะเดียวกัน ทางด้านผู้บริโภคชาวกัมพูชาก็นิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของไทยอยู่แล้ว เช่น เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ก็น่าจะช่วยทำให้ทางกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยในช่วงที่เหลืออยู่ของปี 2559 เพิ่มขึ้น ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดจากชายแดนไทย จ.สระแก้ว ไปยังกัมพูชาในปี 2559 จะอยู่ที่ 61,200–63,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.2-3.2 (จากปี 2558 ที่เติบโตร้อยละ 2.6) ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ในปีนี้อาจจะเติบโตเล็กน้อย แต่นับว่าสระแก้วเป็นฐานการส่งออกสินค้าไปยังกัมพูชาที่มีความสำคัญที่สุดและมีศักยภาพสูงในระยะข้างหน้า
อนึ่ง นอกจากการลงทุนใน SEZ สระแก้ว จะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาแล้ว ผู้ประกอบการยังมีโอกาสที่จะเจาะตลาดเวียดนามอีกประเทศหนึ่ง เนื่องจากภูมิประเทศของสระแก้วตั้งอยู่บน เส้นทาง R1 (ช่วงกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ (ไทย)-บันเตียเมียนเจยและพนมเปญ (กัมพูชา)-หวุงเต่า (เวียดนาม) และช่วงกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ (ไทย)-เสียมเรียบและสตึงเตร็ง (กัมพูชา) กวีเญิน (เวียดนาม)) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor) ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ทำให้สามารถขนส่งสินค้าข้ามแดนจากไทยผ่านกัมพูชาไปเวียดนามได้อีกทางหนึ่งด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้ระบุอีกว่า นอกจากทางภาครัฐจะเร่งเตรียมความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ใน SEZ สระแก้วแล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ (The Board of Investment of Thailand: BOI) ก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่กิจการเป้าหมาย สูงถึง 8 ปี และลดหย่อนฯ ร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี จึงน่าจะยิ่งชักจูงให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนใน SEZ สระแก้วมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดในกิจการเป้าหมายขอรับส่งเสริมการลงทุนใน SEZ สระแก้วจากทางบีโอไอ แต่กลับมีผู้ประกอบการในกิจการทั่วไปรุกเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในสระแก้วมากขึ้น เห็นได้จาก ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของปี 2559 โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในสระแก้วมีจำนวน 61 โรง (เติบโตสูงถึง 7.6 เท่า Y-o-Y) มีมูลค่า 18,060 ล้านบาท (ขยายตัวสูงถึง 429 เท่า Y-o-Y) โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในกลุ่มโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตฯมากถึง 50 โรง มูลค่าการลงทุนรวม 17,862 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในคลังสินค้าเกษตร โรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น แอลฟัลต์คอนกรีต โรงงานทำน้ำดื่ม โรงงานอบเมล็ดพืช และอู่ซ่อมแซมรถยนต์
จึงสะท้อนได้ว่า สระแก้วเป็นจังหวัดชายแดนหนึ่งที่นักลงทุนเริ่มสนใจเข้าไปลงทุน ซึ่งจากที่สระแก้วมีจุดเด่นตรงที่มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบทางธรรมชาติในกัมพูชา และสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังกัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว ได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าธุรกิจที่เหมาะจะเข้าไปลงทุนใน SEZ สระแก้ว น่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป นอกจากนี้ จากที่การค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ก็น่าจะเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจคลังสินค้า/ศูนย์กระจายสินค้า เข้ามามีบทบาทบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ให้แก่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ดังนี้
กัมพูชาเป็นตลาดส่งออกเครื่องดื่มของไทยที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากเมียนมาและเวียดนาม มีสัดส่วนราวร้อยละ 17 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มทั้งหมดของไทย หรือมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 7,500 ล้านบาทต่อปี ประเภทเครื่องดื่มส่วนใหญ่ที่ทางกัมพูชานำเข้าจากไทยเป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง นมถั่วเหลือง น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำชาเขียวพร้อมดื่ม ซึ่งจากที่จำนวนนักลงทุนและนักท่องเที่ยวในกัมพูชาขยายตัว บวกกับผู้บริโภคในกัมพูชานิยมบริโภคสินค้าไทยและเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น ขณะที่ กำลังการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในกัมพูชายังมีไม่เพียงพอและใช้เทคโนโลยีการผลิตไม่สูงนัก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยสามารถเข้าไปรุกตลาดกัมพูชามากขึ้น โดยในปัจจุบัน สินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยที่ส่งออกไปกัมพูชามีทั้งแบรนด์ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลาง
เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์จากด่านศุลกากรอรัญประเทศ จ.สระแก้วไปยังกัมพูชาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 พบว่าขยายตัวถึงร้อยละ 63.2 (Y-o-Y) หรือมีมูลค่า 527.4 ล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ากลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์น่าจะเข้าไปลงทุนใน SEZ สระแก้ว ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่มีที่ตั้งโรงงานอยู่ติดกับชายแดนกัมพูชา อันเป็นตลาดส่งออกเครื่องดื่มที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนาดกลางก็มีโอกาสเข้าไปลงทุน นอกเหนือจากรายใหญ่ โดยสามารถเลือกรับจ้างผลิตเพื่อป้อนให้กับแบรนด์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือเลือกผลิตและใช้แบรนด์ของตนเอง
จากที่จังหวัดบันเตียเมียนเจยในกัมพูชาอยู่ติดกับชายแดนไทยที่อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มและสภาพดินยังอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทางการกัมพูชาจึงส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ มันสำปะหลัง และข้าวโพด ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปน่าจะเข้าไปลงทุนใน SEZ สระแก้ว ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากที่โรงงานผลิตตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ และจากที่สินค้าเกษตรที่เพาะปลูกในกัมพูชายังสมบูรณ์และมีราคาถูกกว่าในไทย เช่น เมล็ดข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ผู้ประกอบการจึงสามารถนำเข้ามาแปรรูปสินค้าเกษตรที่ SEZ สระแก้ว เช่น อาหารสัตว์ และเครื่องปรุงรส (อาทิ ซอสพริกและซอสมะเขือเทศ) ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากทางบีโอไอด้วย สำหรับสินค้าเกษตรแปรรูปส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากสระแก้วไปยังกัมพูชา คือ อาหารสัตว์และเครื่องปรุงรส รองลงมาคือ ผงชูรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำมันพืช ซึ่งหากพิจารณาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 พบว่ามูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์หดตัวลง 60.3 (Y-o-Y) ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงปศุสัตว์ในกัมพูชาชะลอตัวลง
ศูนย์กสิกรไทยยังได้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปกลุ่มที่ผลิตเพื่อใช้ในการบริโภคจากชายแดนไทยไปยังกัมพูชายังคงขยายตัว เช่น เครื่องปรุงรส เนื่องจากผู้บริโภคในกัมพูชามีความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรแปรรูปมากขึ้น แต่ปริมาณการผลิตในกัมพูชากลับยังมีจำนวนไม่เพียงพอ ขณะที่ กลุ่มอาหารสัตว์ที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป แม้ว่ามูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 จะชะลอลง แต่น่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในอนาคต หากยอดการส่งออกอาหารแปรรูปของกัมพูชาฟื้นตัว ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการเลี้ยงปศุสัตว์ตามมา
สำหรับรูปแบบการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปใน SEZ สระแก้ว ควรจะมีลักษณะที่เป็นห่วงโซ่ธุรกิจที่เกื้อหนุนกันและกันระหว่างกิจการในฝั่งไทยและกัมพูชา เนื่องจากในบันเตียเมียนเจยก็มีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต-โอเนียงเพื่อส่งเสริมการลงทุนในฝั่งกัมพูชาเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนจะได้ประโยชน์ตรงที่ค่าจ้างแรงงานในกัมพูชาต่ำกว่าในไทย ขณะที่ ใน SEZ สระแก้วก็มีความพร้อมทางด้านสิ่งจำเป็นพื้นฐานมากกว่า บวกกับผู้ประกอบการยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไอ ทั้งนี้ ธุรกิจเกษตรแปรรูปที่จะลงทุนในปอยเปตอาจอยู่ในรูปของการเพาะปลูกเกษตรกรรมขั้นต้นหรือการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นกลาง เช่น โรงงานสีข้าวโพด ส่วนธุรกิจเกษตรแปรรูปในสระแก้วน่าจะเป็นโรงงานผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นกลางหรือปลายน้ำ เช่น การนำมันสำปะหลังหรือเมล็ดข้าวโพดมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์
จากที่เศรษฐกิจกัมพูชาและเวียดนามขยายตัว เนื่องจากภาคการลงทุนภายในประเทศเติบโต ทำให้มีความต้องการสินค้าที่จำเป็นต่าง ๆ ตามมา แต่ปริมาณการผลิตสินค้าในประเทศยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ทั้งสองประเทศดังกล่าวสั่งซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงสินค้าที่นำเข้าข้ามผ่านชายแดนไทย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในกัมพูชาและเวียดนามนิยมใช้ผลิตภัณฑ์ของไทย เช่น สินค้าอุปโภค/บริโภค และวัสดุก่อสร้าง เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าจากด่านฯอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปยังกัมพูชาและเวียดนามในปี 2558 เติบโตร้อยละ 2.6 และ 110.7 มีมูลค่า 61,061.4 ล้านบาท และ 990.9 ล้านบาท ตามลำดับ
สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากด่านฯอรัญประเทศ นอกจากกลุ่มยานยนต์แล้ว ยังมีกลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภค/บริโภค กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร โดยในปี 2558 กลุ่มสินค้าทั้งสามดังกล่าวถูกส่งออกทางด่านฯอรัญประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 มีมูลค่า 20,453 ล้านบาท จากปี 2557 มีมูลค่า 19,267 ล้านบาท
ทั้งนี้จากที่การค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาและการค้าข้ามแดนไทยกับเวียดนามผ่านทางสระแก้ว มีแนวโน้มขยายตัว จึงเปิดโอกาสให้ธุรกิจคลังสินค้า/ศูนย์กระจายสินค้าน่าจะเข้าไปลงทุนใน SEZ สระแก้ว ซึ่งนอกจากจะได้รับอานิสงส์จากที่กิจกรรมการค้าชายแดน/ข้ามแดนเติบโตแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากที่จะมีการขยายจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยนเพิ่มอีก 1 แห่ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกัมพูชามีความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ หากจุดผ่านแดน อรัญประเทศ-ปอยเปต เพิ่มโควตาจำนวนรถที่ข้ามจากฝั่งไทยไปยังกัมพูชาเป็น 400 คัน (ตามแผนที่อยู่ในระหว่างการเจรจา) จากเดิมในปัจจุบันจำกัดอยู่ที่ 40 คัน ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าจากสระแก้วไปยังกัมพูชาปรับตัวสูงขึ้นในระยะข้างหน้า
สำหรับรูปแบบของธุรกิจคลังสินค้า/ศูนย์กระจายสินค้าที่จะเข้าไปลงทุนใน SEZ สระแก้วอาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ กลุ่มที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมสินค้าและกระจายสินค้าไปยังจุดหมายต่าง ๆ ตามคำสั่งของกลุ่มลูกค้าหรือผู้ผลิต และกลุ่มที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมสินค้า กระจายสินค้า พร้อมทั้งหาช่องทางจำหน่ายในตลาดกัมพูชาและเวียดนามให้แก่กลุ่มลูกค้า/ผู้ผลิต ซึ่งลักษณะธุรกิจเช่นนี้จะเหมาะกับผู้ผลิตในไทยที่เพิ่งรุกเข้าไปเจาะตลาดใหม่ในกัมพูชาและเวียดนาม
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า กิจกรรมการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาผ่านทาง จ.สระแก้ว ยังเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญของไทยและมีแนวโน้มเติบโต จึงเป็นโอกาสที่น่าจะมีการจัดตั้ง SEZ สระแก้ว และนิคมอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนและส่งเสริมการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาให้ขยายตัวยิ่งขึ้น โดยธุรกิจที่เหมาะจะเข้าไปลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเกษตร แปรรูป และธุรกิจคลังสินค้า/ศูนย์กระจายสินค้า
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด