Editor Talk

6 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ สู่เศรษฐกิจดิจิทัล

          สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ สืบเนื่องมาจากแผนงานรัฐบาลที่ได้วางเป้าหมายปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศและนำพาประชาชนทั้งประเทศไปสู่โมเดล ประเทศไทย 4.0 นั้น ซึ่งปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแนวนโยบายดังกล่าว เห็นจะหนีไม่พ้นในเรื่องของ เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทุกภาคส่วนจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ เรียนรู้และพึ่งพา เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศต่อไป

 

          สำหรับหน่วยงานหลักในประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ก็คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการดำเนินการตามแนวนโยบายดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ในประเทศไทย และอีกไม่นาน กระทรวงดังกล่าวก็จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี ต่อไป

 

          สำหรับเจ้ากระทรวงอย่าง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในตอนนี้ ที่จะขับเคลื่อนแนวนโยบายประเทศสู่ความเป็น Digital Thailand ได้กล่าวถึงแนวทางในการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยให้คนในชาติสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายรูปแบบได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วย 6 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อไปนี้คือ

 

          ยุทธศาสตร์ที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สามารถรองรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างที่ผ่านมาของการประมูลคลื่นความถี่จากภาคเอกชนที่ได้ลงทุนมหาศาล สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นและศักยภาพของดิจิทัล ยุทธศาสตร์จากภาครัฐก็จะต้องมีบทบาทในการประสานกับเอกชนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็ต้องให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ประชาชนชาวไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้

 

          ยุทธศาสตร์ที่ 2 ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมดิจิทัล ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคบริการ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถค้าขายแข่งขันและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เน้นเป็นพิเศษคือกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสูงในเศรษฐกิจไทยและก็สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมาก รวมทั้งความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ด้วยดิจิทัล

 

          ยุทธศาสตร์ที่ 3 เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสังคมที่เท่าเทียม หมายถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยในการรักษาพยาบาล เรื่องการศึกษา เราต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร เทคโนโลยีสามารถลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสที่สมควรจะได้ให้ได้

 

          ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ รัฐบาลไทยจะต้องมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลด้วยวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อคือ 1.เพื่อบริการประชาชนให้รวดเร็ว แล้วมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี และ 2.เปิดข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนให้พวกเราได้รับทราบให้ได้มากที่สุด ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการภาคประชาชน สามารถนำไปต่อยอดที่สร้างสรรค์ได้อีกหลายอย่างและในขณะเดียวกันรัฐบาลดิจิทัลก็จะเป็นรัฐบาลซึ่งสามารถเชื่อมโยงระหว่างองค์กร หน่วยงานในภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแชร์ใช้ข้อมูลได้ก็จะทำให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

 

          ยุทธศาสตร์ที่ 5 ทุนมนุษย์ เราต้องร่วมกันพัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมและก็รู้เท่าทัน

 

          ยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างสภาพแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นในการใช้ระบบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ต้องมีกฎเกณฑ์ กติกา ตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมในเรื่องของมาตรฐานการค้าขายออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะแข่งขันในเวทีอีคอมเมิร์ซโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

          ทั้งหมดนี่คือพื้นฐานบางส่วนของยุทธศาสตร์ที่จะเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่แค่ภารกิจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกคนในสังคม สามารถที่จะร่วมผลักดันในการก้าวสู่ดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และพร้อมก้าวสู่การแข่งขันทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยครับ

 

 

 

เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์

sedthakarn@se-ed.com

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด