มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์ ระดับ ป.ตรี มุ่งผลิตวิศวกรหุ่นยนต์ รองรับการขยายตัวความต้องการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรเฉพาะทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติครบทั้งระดับปริญญาตรี-โท และเอก
ปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) ได้เข้ามามีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อรองรับต่อความต้องการในอนาคตและเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางด้านวิทยาการเหล่านี้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นสถาบันอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่ได้ริเริ่มเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่มีการเรียนการสอนแบบโมดูลขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้บุคลากรเทคโนโลยีด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)
รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) กล่าวว่า ฟีโบ้จัดตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Robotics และ Automation เริ่มต้นจากการเน้นทำวิจัย และงานบริการวิชาการ กระทั่งเปิดสอนหลักสูตร FIBO Robotics and Automation (FRA) ในระดับปริญญาโทและเอก ตั้งแต่ปี 2546 จนล่าสุดฟีโบ้ได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้น ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยที่เปิดหลักสูตรให้ปริญญาเฉพาะทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติครบทั้งระดับปริญญาตรี-โท และเอก เพื่อสร้างกำลังคนด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม บริการ และสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นสอดรับกับยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ของประเทศ
“ผลสำรวจระดับประเทศจากภาคอุตสาหกรรม 4 กลุ่มหลัก ยานยนต์ การแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์และอาหาร พบว่าจากปัจจัยค่าแรงงานที่สูงขึ้น ปัญหาแรงงานต่างชาติ ฯลฯ ทำให้หลายแห่งต้องการสร้างระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าไปใช้งานในภาคการผลิต โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความรู้พื้นฐานทั้งด้านไฟฟ้า เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญสามารถทำงานข้ามสายได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากหากต้องการออกแบบระบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองทันต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรม จึงชัดเจนว่าแนวโน้มความต้องการบุคลากรด้านวิศวหุ่นยนต์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะนอกจากวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับการเพิ่มผลผลิตหรือ Robotics for Productivity แล้ว ยังมีหุ่นยนต์อีกกลุ่มที่มีแนวโน้มจะสร้างมูลค่าสูงได้ คือวิทยาการหุ่นยนต์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น หรือ Robotics for Life ที่เราเริ่มเห็นกันมากขึ้น อาทิ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัตโนมัติ หุ่นยนต์ต้อนรับ หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์สำรวจ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิง และการศึกษา เป็นต้น” ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่สามารถบูรณาการสหวิทยาการด้านไฟฟ้า เครื่องกลและคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ หรือเป็น Innovative System Integrator in Robotics and Automation Engineering ซึ่งทางฟีโบ้มีความพร้อมในเรื่องบุคลากรและสถานที่ที่จะเป็นที่บ่มเพาะความรู้และประสบการณ์ด้านนี้แก่นักศึกษาของหลักสูตร
ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ รองผู้อำนวยฝ่ายการศึกษา
ด้าน ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ รองผู้อำนวยฝ่ายการศึกษา กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของฟีโบ้เป็นหลักสูตรใหม่ที่เพิ่งเปิดมาได้ 2 ปี เริ่มขึ้นเมื่อปี 2557 มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning โดยบูรณาการความรู้ ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ในรูปแบบโมดูล (เป็นการแบ่งรายวิชาออกเป็นโมดูลต่าง ๆ) มีทั้งหมด 10 โมดูล ใน 8 ภาคการศึกษา (ตั้งแต่ปีที่ 1-4) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นกลไกให้นักศึกษาได้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่เรียนในแต่ละภาคการศึกษา โดยในการวางแผนและพัฒนาแต่ละโมดูล อาจารย์ในแต่ละรายวิชาภายใต้โมดูลเดียวกันจะได้ออกแบบโมดูลร่วมกัน ทำให้เกิดความสอดคล้องและการเชื่อมโยงของเนื้อหาในแต่ละรายวิชาซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะโมดูล โดยในแต่ละโมดูลจะประกอบไปด้วย 2-3 รายวิชาในภาคการศึกษาเดียวกัน และนักศึกษาจะได้ทำโครงงานอย่างน้อย 1 โครงงานในแต่ละโมดูลเพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการนำความรู้ที่เรียนในแต่ละวิชามาบูรณาการทำความเข้าใจเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่เรียนในแต่ละเทอมเพื่อไปประยุกต์ใช้จริงผ่านการทำโครงงานในโมดูล
ดร.อาบทิพย์ กล่าวเสริมว่า ข้อดีของการจัดการเรียนการสอนแบบโมดูลทำให้เด็กได้เห็นภาพการเรียงร้อยความสัมพันธ์และความเกี่ยวเนื่องกันของแต่ละวิชา เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง การสำรวจโลกของวิทยาการหุ่นยนต์ ไล่มาถึงการออกแบบและสร้างแผงวงจรไฟฟ้าประยุกต์ร่วมกับการอ่านแบบและเขียนแบบทางวิศวกรรม การใช้อุปกรณ์เครื่องมือทางกลและทางอิเล็กทรอนิกส์ และการเขียนโปรแกรม เพื่อสร้างหุ่นยนต์ตัวแรก หรือ My First Robot ในชั้นปีที่ 1 การเขียนซอฟต์แวร์ การประยุกต์ใช้ Sensors และ Actuators ประยุกต์เข้ากับการออกแบบทางกลที่ซับซ้อน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีกระบวนการออกแบบโดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลางในชั้นปีที่ 2 การสร้างชิ้นงานที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยประยุกต์รวมกับเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ ปัญญาประดิษฐ์ และทฤษฎีขั้นสูงด้านวิทยาการหุ่นยนต์ผลิตออกมาเป็นแผนธุรกิจ รวมถึงการเตรียมศักยภาพของนักศึกษาเพื่อทำงาน R&D ในระดับโรงงานอุตสาหกรรมได้ ซึ่งเป็นระบบกลไกที่ซับซ้อนมากขึ้นในชั้นปีที่ 3 และ 4 โดยในแต่ละโมดูลจะมีกิจกรรมที่ให้นักศึกษาทำโครงงานร่วมกันในทุกเทอม จึงเหมือนเป็นการขมวดปมวิชาที่เรียนมาตลอดทั้งเทอมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งโครงงานที่สามารถประเมินผลร่วมกันได้ในหลายวิชา ทำให้เด็กมีเวลาทุ่มเทในการทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ทำให้เด็กเกิดความเครียดหรืออ่อนล้าจากการทำงานหนักที่ต้องทำโครงงานหลาย ๆ วิชาเหมือนการเรียนแบบเดิม ๆ และในช่วงปิดเทอมใหญ่หลังจบชั้นปีที่ 3 ทางฟีโบ้มีแผนจัดส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
“หลักสูตรนี้ถูกออกแบบโดยแนวคิด Outcome-based Education ที่เน้นการสร้างความมีส่วนร่วมของนักศึกษาในชั้นเรียนเป็นสำคัญและเทคนิคการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเปลี่ยนจากการเน้นการป้อนเนื้อหาวิชาความรู้ให้นักศึกษาอย่างเดียว เป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ที่นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนรู้มากขึ้น ฟีโบ้จึงมีหลักในการจัดการเรียนการสอน 3 อย่าง ได้แก่ 1.การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ (The will to learn) 2.การบูรณาการการเรียนรู้ (Integrative Learning) และ 3.การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing)”
นายนัศรุน หะยียามา หรือน้องนัด อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1
ด้าน นายนัศรุน หะยียามา หรือน้องนัด อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ตนเองนั้นอยากลองทำหุ่นยนต์มานานแล้ว เพราะชอบดูสารคดี ทำให้มีความฝันว่าอยากจะสร้างหุ่นยนต์สำรวจมาตั้งแต่เด็ก พอจบมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต จากโรงเรียนสาธิต มอ.ปัตตานี ก็อยากเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ พอรู้ว่าฟีโบ้มีเปิดหลักสูตรเฉพาะทางด้านหุ่นยนต์ จึงตัดสินใจสมัครสอบเข้ามาเรียนที่ฟีโบ้ทันทีโดยไม่ได้เลือกที่อื่นเลย”
“จากที่ได้เรียนมาตลอด 1 ปี รู้สึกดีใจและคิดไม่ผิดที่ได้มาเรียนที่นี่ เพราะการเรียนที่จัดแบบโมดูลนี้ ทำให้เราได้ทำอะไรหลายอย่าง ได้ลงมือทำ ได้ลองออกแบบเอง ทำให้รู้ว่าการต่อวงจรแบบนี้ผลที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร รู้ขั้นตอนและระบบทุกอย่างของหุ่นยนต์ตัวนั้น ผลจากที่ได้นำความรู้จากที่เรียนมาประยุกต์ทดลองใช้ ทำให้เรามีประสบการณ์ทำจริง มีการจัดระบบความคิดได้ดีขึ้น ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราไม่วางแผนไม่วางระบบความคิดแล้วออกแบบผิดก็จะผิดทั้งหมดเพราะอิเล็กทรอนิกส์มีรายละเอียดมากถ้าพลาดเพียงนิดเดียวก็จะผิดพลาดไปทั้งหมด ต่างจากเดิมที่เคยเรียนแต่ทฤษฎีในห้องเรียนซึ่งเราก็คิดแค่ว่าท่องจำไปสอบเท่านั้น แต่พอเราได้ลงมือทำเองแล้ว ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าในโลกของความเป็นจริงมีหลาย ๆ อย่างที่ไม่ตรงกับสิ่งที่คิดไว้ ก็ต้องมานั่งแก้ไขอย่างพวกวงจรก็เหมือนกัน กับเพื่อน ๆ ที่นี่เก่งกันทุกคนและทุกคนก็คอยช่วยเหลือกันดี ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดเวลา อย่างตอนทำหุ่นยนต์ตัวแรก หรือ My First Robot เพื่อน ๆ ในกลุ่มก็ช่วยเหลือกันดี มีการเสนอความคิดกันว่าอันนี้ดีกว่าไหม พอสุดท้ายก็นำมารวมกันจนสามารถสร้างหุ่นยนต์ขึ้นได้สำเร็จ ซึ่งก็ยังได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมด้วย”
My First Robot หุ่นยนต์เสิร์ฟน้ำ ของ นศ.ชั้นปีที่ 1
ผลงาน นศ.ชั้นปีที่ 2 จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เด็ก ศูนย์การเรียนรู้ครอบครัว เขตทุ่งครุ
ผลงาน นศ.ชั้นปีที่ 2 จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เด็ก ศูนย์การเรียนรู้ครอบครัว เขตทุ่งครุ
สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นี้ FIBO เปิดรับสมัครนักศึกษามาแล้ว 2 รุ่น โดยได้รับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2557 และในปีการศึกษา 2559 ถือเป็นรุ่นที่สาม ซึ่งจะเปิดภาคการศึกษาแรกในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ พร้อมกับเตรียมเปิดรับสมัครนักศึกษาที่จะเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษา 2560 ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ โครงการเรียนดี เปิดรับสมัครเดือน ต.ค.-ธ.ค., โครงการ Active Recruitment เปิดรับสมัครเดือน ต.ค.-เม.ย., โครงการคัดเลือกตรง (GAT/PAT) เปิดรับสมัคร เดือน ธ.ค.-ก.พ. และระบบกลาง (Admission) เปิดรับสมัครเดือน พ.ค.-ก.ค. โดยจะเปิดรับสมัครเพียงปีละ 80 คน นักเรียนที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: FIBO หรือเว็บไซต์ http://fibokmutt.wix.com/fiboedu โทรศัพท์ 0-2470-9715-6
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด