Environmental

“ปะการังฟอกขาว” การสูญเสียที่ต้องใช้เวลาเยียวยา

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

"วันสิ่งแวดล้อมโลก" หวนกลับมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมหรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มักมีการทบทวน นำเสนอและเผยแพร่สถานการณ์ในด้านต่าง ๆ ออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านพืช สัตว์ แหล่งน้ำ สภาพอากาศ ขยะ การใช้ทรัพยากรและแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา

 

          ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ “ปะการัง” ทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนสมุทรเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากเหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นำสถานการณ์ต่าง ๆ มาเผยแพร่ โดยเฉพาะกรณีเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "ปะการังฟอกขาว” ขยายเป็นวงกว้างขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเรา ซึ่งจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูไม่ให้ตายไป เพื่อลดผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตที่มีแนวปะการังเป็นวิมานแสนสุขและยังเป็นการทำลายแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมีค่า ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสสร้างรายได้มหาศาลสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไปอย่างน่าเสียดาย

 

“แนวปะการัง” สวรรค์ใต้สมุทรวิกฤต ปรากฏการณ์ฟอกขาว

 

          ทั้งนี้ในยามเดินทางท่องเที่ยว ต้องยอมรับว่า แหล่งท่องเที่ยวตากอากาศ มีชายหาดสวยงาม มักเป็นที่โปรดปรานของหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำเพื่อชมความงามของแนวปะการังที่อยู่ใต้ท้องทะเล เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนได้เป็นอย่างดี

 

          สำหรับ  "ปะการัง" นั้นเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า ถือกำเนิดมานานแล้วกว่า  250 ล้านปีก่อน โดยเป็นสายพันธุ์ในตระกูลเดียวกับดอกไม้ทะเลและแมงกะพรุน บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า สิ่งที่เราเห็นเป็นโครงสร้างหินปูน คือ ปะการัง ความจริงไม่ใช่ แต่เป็นสิ่งที่ตัวปะการังสร้างขึ้นมาโดยอาศัยแคลเซียมจากน้ำทะเล ตัวปะการังมีรูปเป็นทรงกระบอกมีขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร ภายในเนื้อเยื่อของปะการัง มีสาหร่ายเซลล์เดียวอาศัยอยู่ ซึ่งสาหร่ายเหล่านี้จะทำหน้าที่สังเคราะห์แสงและส่งพลังงาน รวมถึงอาหารเผื่อแผ่มายังปะการังและยังช่วยสร้างหินปูนให้ด้วย นอกเหนือจากนี้ปะการังได้อาหารจากสาหร่ายแล้ว มันยังกินแพลงตอนเป็นอาหารด้วย

 

          การแผ่ขยายโครงสร้างหินปูนกลายเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ขึ้น จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากชนิด เปรียบเสมือนชุมชนขนาดใหญ่ของสิ่งมีชีวิตใต้สมุทรก็ว่าได้  โดย Sustainable Oceans International องค์กรนานาชาติเพื่อความยั่งยืนมหาสมุทรโลกในออสเตรเลียเคยระบุว่า ทั่วโลกมีแนวปะการังอยู่ไม่มาก เพียงประมาณ 0.1% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมดของโลกเท่านั้น แต่เป็นที่สิงสถิตของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ในทะเลมากถึง 25% เลยทีเดียว จากเหตุดังกล่าวทำให้แนวปะการังไม่ต่างจากสวรรค์ใต้ท้องทะเลสำหรับเหล่านักท่องเที่ยว ได้ดำน้ำชมสิ่งมีชีวิตหลากหลาย หรือสัตว์แปลกใหม่ที่ไม่สามารถหาชมได้ในเขตน้ำทั่วไป

 

          แม้ในประเทศไทยเองก็มีแหล่งดำน้ำชมปะการังที่ขึ้นชื่อหลายแห่ง อาทิ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นแหล่งดำน้ำยอดนิยมมีความงามติดอันดับ 1 ใน 10 แหล่งดำน้ำลึกยอดนิยมของโลก นอกจากนี้ยังมีที่หินม่วง หินแดง หมู่เกาะลันตา จ.กระบี่และหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา หมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล และ หมู่เกาะราชา จ.ภูเก็ต และที่อื่น ๆ อีกมากมาย

 

          อย่างไรก็ตามสวรรค์ใต้น้ำทั้งของไทยและทั่วโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย สีสันของปะการังหายไป กลายสภาพเป็นปะการังเป็นสีขาว บ้างก็เป็นสีดำดูเสื่อมโทรม เพราะมันกำลังจะตาย

 

          ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เรียกกันว่า “ปะการังฟอกขาว” ซึ่งเป็นภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อของมันออกไป จึงทำให้ปะการังอ่อนแอ เพราะสารอาหารที่เคยได้รับจากสาหร่ายไม่เพียงพอและต้องตายไปในที่สุดหากไม่สามารถทนทานได้ ที่น่ากังวลคือ เวลานี้สถานการณ์ดังกล่าวกำลังแผ่ขยายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก

 

 

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว

 

 

ปะการังตายหลังจากเกิดการฟอกขาว

 

 

 

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว

 

 

ปะการังตายหลังจากเกิดการฟอกขาว

 

อุณหภูมิน้ำร้อนขึ้น-ปัจจัยสำคัญ

 

          “ปะการังฟอกขาว” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลง, ความเข้มแสงที่มากเกินไป, ผลร่วมของความเข้มแสงและอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น, ความเค็มของน้ำลดต่ำและการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากแบคทีเรีย ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง สารไซยาไนด์ที่ใช้ในการประมง ตะกอนในน้ำเพิ่ม แต่สาเหตุหลักมักเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและความเข้มของแสง หรือทั้ง 2 ปัจจัยนี้ร่วมกัน

 

          ที่ผ่านมากล่าวได้ว่า โลกเราเริ่มรับรู้ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1979 และเชื่อกันว่าเกิดจากอุณหภูมิที่ปรับสูงขึ้นเป็นระยะสั้น ซึ่งเกิดพร้อมกับปรากฏการณ์เอลนีโญ อันเป็นภาวะกระแสน้ำอุ่นไหลมาแทนที่กระแสน้ำเย็นในบริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก หลังจากนั้นเริ่มตระหนักได้ว่า ปะการังสามารถเสียหายได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องใช้เวลาเยียวยาฟื้นฟูกันยาวนาน ปรากฏการณ์เห็นชัดเจนขึ้นในแถบหมู่เกาะกาลาปากอส เป็นที่แรก ๆ ราวปี 1982 ที่พบว่า แนวปะการังสูญเสียไปมากกว่า 95%

 

          การฟอกขาวเริ่มขยายเป็นวงกว้างทั่วโลกครั้งแรกในปี 1998 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงทำลายแนวปะการังทั่วโลกไป 16% ขณะที่การฟอกขาวทั่วโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2010 ก็มีสาเหตุมาจากเอลนีโญเช่นกัน และคาดว่าจะขยายไปเรื่อย ๆ ซึ่งสำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ออกประกาศเรื่องแนวปะการังทั่วโลกกำลังเผชิญกับการฟอกขาวเป็นวงกว้างอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2015 โดยเปิดเผยว่า เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ก่อนขยายไปยังเขตแปซิฟิกใต้ และมหาสมุทรอินเดียในปี 2015 ขณะที่ปะการัง 95% ของสหรัฐฯ เองก็มีความเสี่ยงเกิดการฟอกขาวจากน้ำทะเลเช่นกัน

 

          นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า การฟอกขาวในปี 2015 ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังทั่วโลกประมาณ 38% และทำลายแนวปะการังกินพื้นที่มากกว่า 12,000 ตารางกิโลเมตร

 

เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ปะการังฟอกขาวรุนแรง

 

          สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่หนึ่งของโลกได้แก่ แนวปะการัง เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ซึ่งเป็นแนวปะการังที่มีแนวยาวประมาณ 1,000 กิโลเมตร ตั้งอยู่ตลอดแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก เพราะประกอบด้วยแนวปะการังมากกว่า 3,000 แห่ง และเป็นที่อยู่ของปลามากกว่า 1,500 สายพันธุ์

 

          แนวปะการังแห่งนี้ต้องผจญกับสถานการณ์ฟอกขาวมาหลายครั้ง เช่นในปี 1998 และปี 2002 จนปะการังได้รับผลกระทบถึง 50% และ 60% มีปะการังตายประมาณ 10% นอกจากนี้ยังเจอครั้งรุนแรงอีกในปี 2006 ที่หมู่เกาะเคปเปล ตอนใต้สุดของแนวปะการัง เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ที่ทำให้มีปะการังตายประมาณ 30%-40%

 

          ส่วนข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2016 ศูนย์อาร์คเพื่อความเป็นเลิศด้านการศึกษาแนวปะการัง (ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies) แห่งมหาวิทยาลัยเจมส์คุกในออสเตรเลีย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจทางอากาศและทางน้ำของแนวหินปะการังเกรต แบร์ริเออร์ รีฟนอกชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ที่ครอบคลุมแนวปะการัง 84 แห่งพบว่า ปรากฏการณ์ฟอกขาวปะการังได้ทำลายแนวปะการังไปราวร้อยละ 35 ในพื้นที่ทางเหนือและตอนกลางของเกรตแบร์ริเออร์ รีฟ

 

          สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาว ได้แก่ แถบหมู่เกาะมัลดีฟส์ หมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดีย ศรีลังกา เคนยา แทนซาเนียและประเทศเซเชลส์ หมู่เกาะ ประกอบด้วยเกาะ 115 ในมหาสมุทรอินเดียที่สูญเสียแนวปะการังไปมากถึง 90%

 

 

 

แนวปะการังเกรต แบร์ริเออร์ รีฟและการฟอกขาวของปะการัง

 

สถานการณ์ “ปะการังฟอกขาวในไทย” วิกฤตไม่แพ้กัน

 

          ในส่วนของประเทศไทยที่ผ่านมามีการศึกษา ติดตามสถานการณ์ ทางด้านสมุทรศาสตร์โดยหน่วยงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและองค์กรการศึกษาอี่น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ในน่านน้ำไทยประสบปัญหาปะการังฟอกขาวมาแล้วหลายครั้งเช่นกัน ได้แก่ ในปี พ.ศ.2534(2000), 2538(1995), 2541(1998), 2546(2003), 2548(2005) และ 2550(2007)

 

          โดยปี 2000 และ 1995 แนวปะการังทางฝั่งทะเลอันดามันได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก มีปะการังตายไปประมาณ 10-20% ส่วนในปี 1998 ทำให้เกิดความเสียหายมากทางฝั่งอ่าวไทย แต่ในปีต่อ ๆ มาเกิดทางฝั่งอันดามันแต่ไม่รุนแรงเพราะปะการังสามารถฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพปกติได้เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งหอบฝนมาเร็วในช่วงต้นฤดูช่วยทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลเย็นลงไป

ปี 2010 นับเป็นปีที่แนวปะการังเสียหายมากที่สุด เนื่องจากเป็นปีที่อุณหภูมิน้ำทะเลขึ้นไปสูงถึง 30 องศาเซลเซียสช่วงปลายเดือนมีนาคม จากปกติอยู่ที่ระดับประมาณ 29 องศาเซลเซียส ทำให้ปะการังฟอกขาวแผ่เป็นวงกว้างคลุมทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย 

 

          สำหรับสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ปี 2016 นี้ ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า มีถึง 81 จุด ใน 12 จังหวัด แยกย่อยเป็น 58 เกาะ 3 แหลม 2 อ่าว 1 หาด โดยมีการฟอกขาวในระดับวิกฤติ (สีแดง) 33 จุด ในระดับรุนแรง (สีเหลือง) 48 จุด โดยแยกเป็นภาคตะวันออก 7 จุด อ่าวไทยตอนกลาง 36 จุด อ่าวไทยตอนล่าง 3 จุด และทะเลอันดามัน 35 จุด นอกจากนั้น ยังพบว่าการเกิดปะการังฟอกขาวเป็นพื้นที่นอกเขตอุทยาน จำนวน 36 จุด และพื้นที่ในเขตอุทยาน 45 จุด ขณะที่อุณหภูมิของน้ำทะเล พบว่ามีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมอยู่ที่ประมาณ  28-33 องศาเซลเซียส

 

          ทั้งนี้พื้นที่น่าห่วงที่สุด ด้วยมีปะการังฟอกขาวอยู่ในระดับวิกฤติ มีอยู่ 33 จุดได้แก่ ใน จ.ชุมพร มีเกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ เกาะไข่ เกาะรางบรรทัด เกาะมะพร้าว เกาะกุลา แหลมคอกวาง หินละแม หินแต้, จ.สุราษฎร์ธานี มีเกาะแตน เกาะมัดหลัง เกาะเต่า อ่าวม่วง อ่าวแหลมเทียน เกาะนางญวน อ่าวสอง, จ.นครศรีธรรมราช มีอ่าวท้องหยี, จ.ภูเก็ต มีเกาะราชาใหญ่ อ่าวทือ อ่าวขอนแค แหลมพันวา เกาะไม้ท่อน-ทิศตะวันออก เกาะราชาน้อย-ทิศตะวันออก เกาะเฮ-ทิศเหนือ อ่าวตังเข็น เกาะโหลน-ทิศเหนือ, จ.กระบี่ เกาะพีพีเล อ่าวมาหยา เกาะบิดะนอก เกาะบิดะใน อ่าวปิเละ และ จ.สตูล ได้แก่ บริเวณเกาะมุก-ทิศเหนือ หน้าถ้ำมรกต เกาะเชือก เกาะกระดาน เกาะแหวนและ เกาะอาดัง

 

          พื้นที่ปะการรังฟอกขาวระดับรุนแรง พบที่เกาะมันในและหมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง มีการฟอกขาว 30-40% ส่วนชนิดของปะการัง ที่มีการฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด ปะการังกาแล็กซี่ ปะการังลายดอกไม้ ปะการังรังผึ้ง ปะการังรังผึ้งเล็ก ปะการังหนามขนุน ปะการังสมองร่องยาว ปะการังสมองร่องใหญ่ ปะการังวงแหวน ปะการังผิวยู่ยี่และปะการังเขากวาง

 

 

สภาพความสมบูรณ์ของใต้ท้องทะเลหมู่เกาะสิมิลัน

 

 

ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นภายใต้ท้องทะเลไทย

 

ตื่นรีบป้องกัน-ฟื้นฟูเร่งด่วน

 

          สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้องเร่งรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน และต่อมา นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเล 10 แห่งอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์เกิดปะการังฟอกขาวจะเข้าสู่ภาวะปกติช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2559 

 

          ทั้งนี้ได้ปิดการท่องเที่ยวบริเวณจุดดำน้ำ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ได้แก่ เกาะยูง อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา เกาะมะพร้าว เกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย เกาะกุลา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จ.ชุมพร เกาะแหลมหญ้า เกาะทะลุ เกาะกุฎี อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง เกาะอายัม เกาะรัง เกาะบุโหลนไม้ไผ่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ จนกว่าสถานการณ์ฟอกขาวจะเข้าสู่ภาวะปกติ

 

          นอกจากนี้ยังมีมาตรการอย่างเข้มงวดไม่ให้เรืออวนลาก-อวนรุน ทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการ จัดที่เก็บของเสียบนเรือ ห้ามปล่อยทิ้งลงทะเล ห้ามเข้าพื้นที่อุทยานฯ เด็ดขาด ห้ามนักท่องเที่ยวให้อาหารปลา และห้ามดักจับสัตว์น้ำทุกชนิดในแนวปะการัง โดยมีแผนติดตามสถานภาพและการฟื้นตัวของแนวปะการัง ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นักวิจัย และกลุ่มอนุรักษ์ปะการังต่าง ๆ ต่อไป

               

          โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งใช้มาตรการเร่งด่วน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 มาตรา 17 ในการลดผลกระทบและภัยคุกคามจากมนุษย์ที่มีต่อแนวปะการัง

 

          นอกเหนือจากนี้ยังมีการติดตามจับตาดูการเปลี่ยนแปลงของปะการังอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานหน่วยงานพันธมิตรร่วมสำรวจปะการังฟอกขาวเขต จ.ระยอง เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่มกราคม 2559และได้พัฒนาเว็บ http://ww.thaicoralbleaching.com/, http://ww.thaicoralbleaching.com/ เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสาร

 

“ฟื้นปะการัง” สำคัญต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

 

          การเร่งรีบเยียวยาฟื้นฟูปะการัง นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไปตั้งแต่สิ่งมีชีวิตในทะเลได้ประโยชน์ รวมไปถึงประชาชนในท้องถิ่น ประเทศชาติ ไปจนถึงภาพรวมระดับโลก โดยในเบื้องต้น สิ่งมีชีวิตนานาชนิดจะได้มีแหล่งที่อยู่อาศัยในอาณาจักรปะการังกลับคืนมาหรือเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ปะการังเป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชนิดพันธุ์ต่าง ๆ มากถึง 25% 

 

          เมื่อมีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์กลายเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูงสำหรับประชาชนในท้องถิ่นได้ตามมา เพราะสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จำนวนมากในแนวปะการังนั้นสามารถใช้บริโภคเป็นอาหารได้ เช่น ปลิงทะเล หอยสองฝา กุ้ง และปลาหมึก เป็นต้น รวมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ท้องถิ่นจากการประมงรายย่อย ๆ

 

          ขณะเดียวกันยังได้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากระบบนิเวศปะการัง เป็นระบบนิเวศที่สวยงาม จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนได้จำนวนไม่น้อย ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพเกี่ยวเนื่องตามมา เช่น เกิดการจ้างงานด้านการท่องเที่ยว การสร้างรายได้จากงานหัตถกรรมหรือภูมิปัญญาของท้องถิ่นเพื่อเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน ชุมชน หนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่นได้

 

          ทั้งนี้การท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งนับว่า ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปทั่วโลก ซึ่งมีการประเมินว่า ในปี 2020 จะเติบโตเป็นตัวเลขถึง 1.56 พันล้านคน ประเทศไทยก็คาดว่า จะได้อานิสงส์จากตัวเลขนี้เช่นกัน ซึ่งในปี 2016 นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวมาไทยประมาณ 32 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8%

 

 

          อย่างไรก็ตามทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดำเนินการภายใต้การท่องเที่ยวและการทำประมงอย่างควบคุม ซึ่งทางการต้องส่งเสริมให้ความรู้ถึงแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยว การดำน้ำดูปะการังอย่างถูกวิธี การทำประมงอย่างถูกวิธีโดยไม่ทำลายปะการัง ช่วยกันดูแลไม่ทิ้งขยะของเสียลงในทะเล

 

          นอกจากนี้แนวปะการัง ยังสามารถทำหน้าที่เป็น “ป้อมปราการธรรมชาติ” อย่างดีที่จะช่วยป้องกันพายุตามแนวชายฝั่ง ป้องกันชายฝั่งจากคลื่นขนาดใหญ่ในทะเลหรือช่วยสลายกำลังคลื่นขนาดใหญ่ให้เล็กลงก่อนซัดเข้าฝั่ง ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ 

 

          ประโยชน์สำคัญที่จะได้จากการรักษาปะการังไว้คือ การได้ห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ เพื่อศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในแนวปะการัง

 

โดยภาพรวมแล้ว ต้องยอมรับว่า “ปัญหาปะการังฟอกขาว” เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกอย่างหนึ่งที่ทุกคน ประชากรโลกต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกัน เพื่อสงวนถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อมที่สวยงามให้อยู่คู่กับท้องทะเลไปตราบนานเท่านาน

 

 

ขอบคุณข้อมูล
• โลกร้อนเป็นเหตุ ทำปะการังฟอกขาวทั่วโลก
http://www.winnews.tv/
• ข้อมูลจาก นสพ.ไทยรัฐออนไลน์ 1 มิ.ย.2559
http://www.neutron.rmutphysics.com/
• ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.mkh.in.th/
• เว็บไซต์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
• ภาพประกอบจาก XL Catlin Seaview Survey
http://www.globalcoralbleaching.org/
http://www.vcharkarn.com/
http://www.painaidii.com/

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด