Management

“ใจบริหาร” สุขภาพจิตแข็งแรง มีสมาธิ...ก่อประสิทธิภาพการทำงาน

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

 

 

คนเราพอเริ่มรู้สึกว่าป่วยง่ายหรือต้องการหนีจากงานที่น่าปวดหัวไปเที่ยวป่าเที่ยวเขา คราวนี้ก็จะเป็นที่จะต้องทำกายบริหารกัน โดยมากก็มักจะไปออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกายด้วยการวิ่งบ้าง ว่ายน้ำบ้าง แล้วกับสภาพจิตใจล่ะ จะทำอย่างไรให้จิตใจมีความแข็งแรงพร้อมลุยงานและมีกับปัญหาสารพัน คงต้องถึงเวลาบริหารใจกันแล้ว

 

     พอถึงเวลาที่ร่างกายส่งสัญญาณเตือนว่าไม่ไหวแล้วนะ ต้องพักแล้วนะ ทุกคนก็มักจะยอมรับสภาพและพาตัวเองเข้าสู่กระบวนการพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นการนอน การไปดูหนังฟังเพลง แล้วแต่ว่าใครจะถนัดหรือชอบแบบไหน ร่างกายคนเรามีความมหัศจรรย์เป็นอย่างมาก มันสามารถทำงานได้อย่างหนักเมื่อร่างกายและจิตใจเข้มแข็ง แต่ถ้าเมื่อไรจิตใจอ่อนแอเมื่อนั้นละร่างกายก็มักจะหมดแรงหรือไร้คุณภาพในการทำงานทันที เรียกว่า “ใจเป็นนายกายเป็นบ่าวก็คงไม่ผิด”

 

          ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้จิตใจมีความเข้มแข็งและพร้อมจะลุยกับงานได้อย่างต่อเนื่อง? แน่ละเราต้องนึกถึงการฝึก เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราขาดทักษะหรือขาดการทำงานเรื่องใดเราก็มักจะใช้วิธีการฝึก หรือการเทรนนิ่งเรื่องนั้น ๆ แน่ละงานนี้คงต้องอาศัยเทรนเนอร์ที่ชำนาญงานเรื่องของการบริหารใจเข้ามาช่วยแล้ว

 

กำหนดลมหายใจเพื่อเตือนสติตัวเอง

 

          อาจจะดูเป็นการเข้าเรื่องธรรมะที่ช่วยให้จิตใจสงบ แต่มันเป็นวิธีการที่ช่วยได้จริง ๆ เพราะเมื่อไรก็ตามที่งานมากมายรวมถึงปัญหาส่วนตัวเข้ามารุมเร้าพนักงาน เป็นงานยากเหลือเกินสำหรับการเข้าไปช่วยเหลือบำบัดอาการ เพราะพนักงานหลายคนไม่อยากเปิดเผยปัญหาส่วนตัว อายที่จะเล่าเรื่องบางอย่างที่เป็นปัญหาของตัวเอง แต่ลืมไปว่าปัญหานี้กำลังลุกลามเข้ามาทำลายงานขององค์กร

               

          พนักงานหลายคนเช่นกันที่หันมาใช้บริการของสำนักปฏิบัติธรรม เรียกว่าไปเที่ยวกันเหมือนไปตากอากาศเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่และกิจกรรม นั้นคือไปฝึกนั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ เข้า ออก พุทโธ เป็นเหมือนการทำสมาธิ จัดระบบข้อมูลในสมองเสียใหม่ ค่อย ๆ คิด ปัญหาบางเรื่องมันเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ แต่เมื่อใดที่เราเหนื่อยมาก ๆ คิดหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน เราก็เข้าใจว่านี่คือปัญหาใหญ่ ยากต่อการแก้ไข ทว่าเมื่อไรที่เรารู้สึกสบายใจขึ้น ได้พักผ่อน ได้กำหนดสติตัวเอง มีสมาธิก่อให้เกิดปัญญา ปัญหาที่ว่ายากก็จะสามารถใช้สมาธิและปัญญาเข้าแก้ไขได้

               

          การฝึกสมาธิไม่จำเป็นต้องไปสถานปฏิบัติธรรม วัด หรือสำนักสงฆ์ แต่สามารถทำได้กับห้องพักส่วนตัว ห้องประชุม หรือแม้แต่ที่โต๊ะทำงาน โดยเพียงเราให้เวลากับตัวเอง สูดลมหายใจเข้าปอดอย่างถูกวิธีนั้นคือลมต้องดันท้องให้ป่องขึ้น เมื่อร่างกายมีออกซิเจนเต็มที่ก็ค่อย ๆ บริหารมันให้ไปเติมส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการ เช่น สมอง เลือด กล้ามเนื้อ แล้วก็ค่อย ๆ ปล่อยอากาศเสียออกทีละน้อย ๆ ท้องก็ค่อย ๆ แฟบลงทีละน้อย ๆ  ฝึกทุกวัน วันละ 2-3 นาที หรือถ้ามีวันว่างก็ไปหาที่สงบบริหารจิตใจตัวเอง แล้วจะรู้ว่าเราเองทำเรื่องยาก ๆ ได้ด้วยการเริ่มทำสิ่งที่ง่าย ๆ ก่อน

 

ตริตรองปัญหาแต่ไม่จมอยู่กับปัญหา

 

          สมองของคนเรามีความมหัศจรรย์ตามที่กล่าวมา มันสามารถเก็บข้อมูลและเรียบเรียงความรู้ต่าง ๆ ไว้ได้อย่างมากมายมหาศาล ทว่าเมื่อไรก็ตามที่เราคิดวกวนกับปัญหาที่หาทางแก้ไม่ได้ และยังคิดอยู่อย่างนั้นไม่ไปไหน กลายเป็นเรื่องปวดหัว เครียด พอหนักเข้าเรื่อย ๆ คราวนี้เลยกลายเป็นงานยากเพราะสมองไม่อยากจะรับรู้อะไรแล้ว ทางออกของปัญหามีเสมอ และมันก็สามารถแก้ไขได้ เพียงแค่เราอย่าปล่อยปัญหาให้มันทับถมหรือยาวนานเกินไป เราก็จะเข้าไปล้วงลึกต้นตอหรือคลายปมปัญหาทีละข้อ นั้นก็คือการตริตรอง นำปัญหามาเรียบเรียงให้รู้ว่าตรงไหนที่มันก่อปัญหา แก้ให้ตรงจุดก็จบแล้ว แต่ถ้ามันเป็นงานยากเกินกำลังก็ให้หาตัวช่วย หาที่ปรึกษา เพียงแค่อย่ากลัวว่าใครจะว่าเราโง่ หรืออย่ากลัวว่าใครจะทราบว่าเรามีปัญหา เพราะทุกปัญหามีทางแก้ไขอีกทั้งยังช่วยให้ทุกคนที่แก้ไขปัญหาฉลาดขึ้น เก่งขึ้น

               

          บ่อยครั้งที่เราเจอปัญหาเมื่อไรเพื่อน ๆ มักจะเข้ามาช่วยเหลือ ช่วยกันวิเคราะห์แก้ไขปัญหา นั้นเป็นการบ่งบอกถึงปัญหานั้น ๆ เป็นเรื่องที่ช่วยให้ทุกคนเก่งขึ้น เป็นเรื่องท้าทาย คนทำงานทุกคนย่อมต้องเจอปัญหา หรือสร้างปัญหา แต่มันก็จะผ่านไปได้ถ้าเราคิดก้าวหน้าคิดที่จะจัดการมันอย่างมีขั้นตอน การทำงานที่เป็นขั้นตอนชัดเจน คิดแก้ไขอย่างมีเหตุผลก็จะเป็นการช่วยบริหารจิตใจให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาได้อย่างต่อเนื่องและขนาดของปัญหาที่มันจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

 

การบริหารใจ ยิ่งทำยิ่งแข็งแรง

 

          คำว่า “บริหาร” เป็นการบ่งบอกถึงการจัดสรร สร้างเสริม ปรับแต่ง ให้สิ่งนั้น ๆ มีการพัฒนาขึ้น คำว่า “ใจบริหาร” จึงหมายความถึงการฝึก การสร้างเสริม ให้สภาพจิตใจของพนักงานมีความแข็งแรง เข้มแข็ง พร้อมสำหรับการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในการทำงานและยังรวมถึงสมาธิและใจที่สู้กับงาน องค์กรที่มีพนักงานเข้มแข็งทั้งคุณภาพการทำงานและสภาพจิตใจย่อมได้เปรียบองค์กรที่เป็นคู่แข่งขัน และยังสามารถขับเคลื่อนนโยบายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การฝึกใจบริหาร ก็คล้ายกับกายบริหาร ตรงที่ว่าต้องทำสม่ำเสมอ ใช้เวลาที่เหมาะสม ไม่หนักไป ไม่เบาไป มีการฝึกที่ถูกต้อง สภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการฝึก และที่สำคัญคือ ใจบริหารเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของพนักงานว่าพวกเขากำลังต้องการอะไร ต้องการแรงจูงใจที่เป็นโบนัส สวัสดิการ หรือการเอาใจใส่ดูแลของผู้บริหาร การฝึกบริหารใจของพนักงานหรือการสร้างกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้กับพนักงานจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะใจบริหารที่ดีจะนำมาสู่พนักงานที่ใจที่พร้อมจะสู้กับงานทุกสถานการณ์

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด