Inside News

เปิดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี พัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รับ Industry 4.0

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 4 (Industry 4.0) คือ การเชื่อมโยงทุกภาคส่วน เช่น สายการผลิตในโรงงาน การจัดจำหน่าย และตัวผลิตภัณฑ์เอง ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทำให้สินค้ามีความหลากหลายและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งในการขับเคลื่อนจะต้องให้เกิดความสมดุลทั้งเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) จะทำหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม รวมทั้งสร้างความเข้าใจและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับทุกภาคส่วน และร่วมผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยสามารถปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่ Industry 4.0

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวพร้อมกับบอกว่า สอจ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงที่อยู่ทุกจังหวัดในส่วนภูมิภาค จึงเป็นกลไกแรกที่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาท เพราะใกล้ชิดกับผู้ประกอบการมากที่สุด แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1.การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรม (Promoter) เน้นทำให้ธุรกิจเกิดขึ้นและอยู่รอด ปัจจุบันขับเคลื่อนผ่านโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการปรับแผนธุรกิจ ต้องเป็นหูเป็นตาติดตามด้วย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจังหวัด 2.การกำกับดูแลโรงงานและเหมืองแร่ตามกฎหมาย (Regulator) ขอให้เอาใจใส่ ในเรื่องที่เป็นข่าวไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงต้องตรวจสอบ ติดตามอย่างต่อเนื่อง และทันเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังต้องเชื่อมโยงทำความเข้าใจกับกลุ่มต่าง ๆ, 3.การบริหารจัดการองค์กร (Organizer) ที่พบปัญหาการขาดช่วงของบุคลากร จะต้องมีการจัดระบบพี่สอนน้องเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างระบบบริหารระบบรายงานแบบออนไลน์ขึ้น และ 4.การช่วยขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล เช่น การผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต คลัสเตอร์และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่

 

          ทั้งนี้แนวทางที่ สอจ. ควรเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงาน เช่น การบริหารจัดการแบบบูรณาการให้สอดรับกับคน งบประมาณ วิธีทำงาน เทคโนโลยี เวลา และการมีส่วนร่วม เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่าง Smart และปฏิรูปสู่ Smart Office ในที่สุด การเกิดขึ้นของ Thailand Digital Gateway จะเกี่ยวข้อง ในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ที่ได้รับการชมเชยจากหลายฝ่ายว่ามีความรวดเร็วเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ เพราะได้ปรับระยะเวลาการพิจารณาออกใบอนุญาต ร.ง.4 เหลือ 30 วันไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

ยุทธศาสตร์ 20 ปีพัฒนา คลัสเตอร์แห่งอนาคต

 ;

          ขณะเดียวกัน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้เปิดเผยถึงแผนงานในภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งได้ส่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวบรวมนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยแผนงานของกระทรวงฯ ที่เสนอไปแบ่งเป็น 4 ช่วง แต่ละช่วงมีระยะเวลา 5 ปี และได้ระบุระดับความสำเร็จของแต่ละช่วงเป็นลำดับขั้น เช่น แผนงานที่มีจำนวนโครงการและงบประมาณมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50 คือ แผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

         เป้าหมายในระยะที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) คือ พัฒนาขีดความสามารถและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมศักยภาพให้ลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565-2569) ขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศและเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการผลิตในภูมิภาค ระยะที่ 3 (พ.ศ.2570-2574) อุตสาหกรรมศักยภาพเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค ระยะที่ 4 (พ.ศ.2575-2579) อุตสาหกรรมศักยภาพก้าวสู่การผลิตชั้นนำของโลกและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายของอุตสาหกรรมศักยภาพฯ ที่ภาครัฐส่งเสริมเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของไทย จำนวน 12 สาขา ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (2) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (3) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (4) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (5) อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (6) อุตสาหกรรมเหล็กและโลหการ (7) อุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ (8) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (9) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม (10) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (11) อุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ (12) อุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งทั้ง 12 สาขาดังกล่าวจะมีโครงการและงบประมาณสนับสนุน

 

          สำหรับแผนงานส่วนใหญ่ร้อยละ 82 (จำนวน 42 โครงการ) จะตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถการแข่งขัน โดยมี 6 แผนงานหลัก ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในเรื่องแผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รองลงมาคือ แผนงานยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก เป้าหมายในช่วงระยะ 5 ปีแรก คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม

 

          แผนงานการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม มีการตั้งเป้าหมายผลิตภาพการผลิตรวม/ผลิตภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่ต้องสูงขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี และร้อยละ 5 ต่อปีตามลำดับ และความสำเร็จของการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่จะช่วย ลดต้นทุน/สร้างมูลค่าเพิ่มได้

 

          แผนงาน ยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางมาตรฐานในอาเซียน เป้าหมายในช่วงแรกเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการตรวจสอบรับรองอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เพียงพอต่อความต้องการ และระบบการรับรองมาตรฐานของไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล

 

          แผนงานการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เป้าหมายช่วงแรกคือมีพื้นที่รองรับจำนวน 5 แห่ง และแผนงานการยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม เป้าหมายลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลค่าไม่น้อยกว่า 12,500 ล้านบาท

 

          ส่วนโครงการของกระทรวงฯ ต่อจากนี้ ได้มีการบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งคำนึงถึงความเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ระดับภูมิภาค จังหวัด และลงสู่ท้องถิ่น โดยมีการทบทวนแผนงานเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

 

          นอกจากนี้ แผนงานพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ส่งไปตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้าน การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (จำนวน 3 โครงการ) คือแผนงานพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ (จำนวน 6 โครงการ) คือแผนงานการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ที่ต้องพัฒนาบุคลากรของกระทรวงฯ และปรับโครงสร้างหน่วยงานในสังกัดให้มีประสิทธิภาพ

 

ออกกฎหมายให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นลงทุน คลัสเตอร์เป้าหมาย

  

          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีความพยายามในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าจากนวัตกรรมมากกว่าการใช้ทรัพยากรเป็นปัจจัยการผลิตดังเช่นในอดีต ซึ่งจะต้องสนับสนุนให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจเทคโนโลยีมักจะประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงกว่าบริษัทที่เน้นการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจึงทำได้ยาก เพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน อีกทั้งเทคโนโลยีที่เป็นแหล่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจนั้นประเมินมูลค่าได้ยาก

 

          ดังนั้น การร่วมลงทุนจากกิจการเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่ประเทศอื่น ๆ ใช้ในการสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 597 และฉบับที่ 602 พ.ศ.2559 เพื่อยกเว้นภาษีให้แก่กิจการเงินร่วมลงทุนรวมถึงนักลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน และผู้ประกอบการรายใหม่ การสนับสนุนดังกล่าวครอบคลุม 10 คลัสเตอร์เป้าหมายที่เป็น S-Curve ของประเทศ เพราะรัฐบาลต้องการให้แรงจูงใจแก่ธุรกิจ VC ในการเข้าไปมีส่วนสำคัญในการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน ตามแนวคิดประชารัฐ หรือ Public-Private Partnership ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างและขยายขนาดของธุรกิจเงินร่วมลงทุนให้เกิดขึ้นและเป็นเครื่องมือสนับสนุนธุรกิจฐานเทคโนโลยีเกิดขึ้นและให้เติบโตในประเทศไทยอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

          ด้าน นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย กลไกธุรกิจเงินร่วมลงทุนได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ตั้งแต่ปี 2545 โดยการออกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 396) พ.ศ.2545 เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ VC ที่ลงทุนใน SMEs

ภายหลังจากมาตรการสนับสนุนทางภาษีสำหรับ VC ได้สิ้นสุดลงในปี 2554 กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปรับปรุงรูปแบบการสนับสนุนธุรกิจ VC จากการสนับสนุนและเน้นการเติบโต SMEs เป็นการสร้างธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อเป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ โดยได้กำหนดขอบเขตของธุรกิจฐาน วทน. ที่ต้องการสนับสนุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีหลักตามที่ สวทช. ประกาศกำหนดเป็นฐานในการประกอบกิจการ

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่นักลงทุน ธุรกิจ VC และผู้ประกอบการรายใหม่ สำหรับการลงทุนและประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการผลิตและการให้บริการ ในพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ

 

          ขณะที่ นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในยุคปัจจุบัน ธุรกิจเทคโนโลยีเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทันสมัย ภาครัฐเห็นความสำคัญจึงช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการที่ธุรกิจอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่ง ก.ล.ต. พร้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเทคโนโลยีสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีคุณภาพ สร้างความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ เพราะธุรกิจเทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตและให้บริการ สามารถสร้างและเพิ่มมูลค่าจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจอื่นได้ และในขณะเดียวกัน จะเป็นโอกาสให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพอีกด้วย

 

          ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า สวทช. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับรองกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตและให้บริการ โดย สวทช. จะประกาศรายชื่อเทคโนโลยีหลัก และจะแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้การรับรองกิจการเหล่านี้ โดยเชื่อว่าสิทธิประโยชน์ทั้ง 2 มาตรการนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากประเทศไทยสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเกิดธุรกิจเทคโนโลยีจำนวนมากขึ้น จะทำให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจฐานใหม่ของประเทศ

 

ญี่ปุ่น เชื่อมั่นลงทุนไทย พอใจสิทธิภาษีคลัสเตอร์

 

          นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบคลัสเตอร์ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน, คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม, คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, คลัสเตอร์ดิจิทัล, คลัสเตอร์อากาศยาน, คลัสเตอร์อุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์, คลัสเตอร์นวัตกรรมอาการ และคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร ให้สิทธิประโยชน์พื้นฐานตามประเภทกิจการ เป็นการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด ทั้งในรูปแบบภาษี และไม่ใช่ภาษี

 

          นอกจากนี้กระทรวงการคลัง เตรียมพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่ม คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2-3 เดือน โดยจะประกาศช่วงไตรมาส 3 สำหรับกิจการเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญสูง โดยจะพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 ปี การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

           สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

 

          ส่วนสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ของบีโอไอ ทั้งในส่วนของการลงทุนในซูเปอร์คลัสเตอร์ ที่มีการกำหนดมาตรการด้านภาษี คือ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อน 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ส่วนการลงทุนในคลัสเตอร์อื่น ๆ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี ตามเกณฑ์ปกติ และลดหย่อน 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรเช่นกัน

ด้านมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการได้ 100% ตลอดระยะเวลาที่ทำธุรกิจ และอนุญาตให้นำเข้าช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการ มาทำงานในกิจการที่ได้รับส่งเสริม ทั้งนี้ บีโอไอ ยังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ กำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุนในคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สุดท้ายที่ยังไม่กำหนดสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจน โดยจะสามารถประกาศใช้อย่างเป็นทางการภายใน 2-3 เดือน สำหรับโครงการที่ขอรับการส่งเสริมตามนโยบายคลัสเตอร์ ปี 2558-เม.ย.2559 มีจำนวน 11 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1.78 หมื่นล้านบาท มาจากนักลงทุนญี่ปุ่น 3 โครงการ

 

          นางเอกอนงค์ จางบัว ผู้จัดการงานกลยุทธ์และความร่วมมืออุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวในหัวข้อ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ว่า อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมให้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหาร เพื่อจูงใจเข้ามาในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการในคลัสเตอร์ ซึ่งนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาสินค้า ที่จำเป็นต่อการแข่งขันในอนาคต และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก

 

          นายชินโกะ ซาโตะ ประธาน เจซีซี กล่าวว่า แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกจะถดถอย เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของบริษัทญี่ปุ่นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แต่จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือน เม.ย.2558-มี.ค.2559 มีบริษัทจดทะเบียนเป็นสมาชิกของ เจซีซี 92 บริษัท จากสมาชิกทั้งหมด 1,707 บริษัท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีศักยภาพด้านการเติบโต ที่สำคัญมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ที่ทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาในไทย การเปิดเออีซี ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระของการลงทุนมากขึ้น เรามองเห็นโอกาสเป็นผู้นำในภูมิภาค นโยบายคลัสเตอร์ เป็นคำตอบของนักลงทุนญี่ปุ่น ที่จะนำนโยบายไปพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในอนาคต

 

          ทั้งนี้เห็นว่านโยบายคลัสเตอร์ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ และในระยะต่อไปจะเห็นการลงทุนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามเป้าหมาย และมองว่า การขยายตัวของจีดีพีไทยในไตรมาสแรก 3.2% สูงสุดในรอบ 3 ปี เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

 

          นายมาซายาสุ โฮซูมิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า รัฐบาลไทยพร้อมยืดหยุ่นเงื่อนไขการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์ที่จะสิ้นสุดในปลายปีนี้ เพราะปกตินักลงทุนญี่ปุ่นจะใช้เวลาการพิจารณาข้อมูลสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน 6-12 เดือน แต่นโยบายส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์ เพิ่งจะประกาศเมื่อต้นปี 2558 หากอนาคตจะขยายระยะเวลาเพิ่มก็จะเอื้อต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน

 

เดินหน้าขับเคลื่อนเทคโนโลยีสีเขียว ผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

 

          สำหรับโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตและใช้จักรยานไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย เป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สนับสนุนโดยโครงการร่วมสนับสนุนวิจัยและพัฒนา กฟผ. และ สวทช. มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 18 เดือน (ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2557 – พฤษภาคม 2559) ล่าสุด ได้มีการจัดประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการฯ ขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจำรัส ฉายะพงศ์ มจธ.

 

          รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มจธ. ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ "KMUTT Sustainability Strategic Plan 2010–2020" ซึ่งในด้านการคมนาคมขนส่งมีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นการลดการปลดปล่อยมลพิษภายในมหาวิทยาลัย ดังนั้น โครงการนี้ถือเป็นโครงการฯ ที่มีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย สังคมและต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ในการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีการปลดปล่อยมลพิษ และยังเป็นต้นแบบให้เห็นถึงประโยชน์ในการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

 

          ขณะที่ คุณภัทรพงศ์ เทพา ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารงานวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตและใช้จักรยานไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทยนี้ จะมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานที่เป็นสาเหตุของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาสำคัญของโลกและโครงการฯ ยังได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ กฟผ.จะต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เมื่อมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น การผลิตไฟฟ้าจะเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ และการไฟฟ้าฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง

ดังนั้น ผลการศึกษาโครงการนี้ จะเป็นหนึ่งในคำตอบที่ให้กับ กฟผ. ในการวางแผนการจัดการการใช้ไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงมากขึ้น และหวังว่าผลการศึกษาจะช่วยให้หันมาตระหนักถึงสิ่งสำคัญด้านปัญหามลพิษและความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงหันมาใช้จักรยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น

 

          ด้าน รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนมุ่งเป้าด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ พร้อมกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการผลิต ประกอบ และพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2564 เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยแผนฯ ดังกล่าวมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและทดลองใช้จริงให้ได้ แบ่งเป็น 4 แผนงานวิจัย คือ 1.ด้านแบตเตอรี่และระบบจัดการพลังงาน 2.ด้านมอเตอร์และระบบขับเคลื่อน 3.ด้านโครงสร้างน้ำหนักเบาและการประกอบ ซึ่งจะทำให้น้ำหนักรถเบาลง และ 4.ด้านการพัฒนานโยบาย มาตรฐาน และบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผลการศึกษาโครงการนี้ ก็จะสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล และถือว่าเป็นการระดมสมองช่วยกันคิด ช่วยกันปรับปรุงพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปรู้จักและหันมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและมีการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักให้แพร่หลายเพิ่มมากขึ้น

 

           นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก คุณวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึง "สถานการณ์อุตสาหกรรมจักรยานยนต์ไทยและแนวโน้มการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า" ว่า ประเทศในเอเชีย นิยมใช้รถจักรยานยนต์ถึงกว่าร้อยละ 90 ของการใช้รถจักรยานยนต์ของโลก และประเทศที่มีการผลิตจักรยานยนต์มากที่สุดในเอเชีย คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทยตามลำดับ โดยเฉพาะจีนแม้จะมีปริมาณความต้องการใช้ในประเทศค่อนข้างมาก แต่การผลิตส่วนใหญ่เน้นการส่งออกเป็นหลัก

 

          แต่ล่าสุดจีนมีนโยบายที่จะลดปริมาณการใช้จักรยานยนต์ที่ไม่ใช้ไฟฟ้าลง เพราะจีนมีปัญหาเรื่องของมลภาวะ และหันมาสนับสนุนมาตรการที่เกี่ยวกับจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น กลับกันประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ทุกค่ายทั้งจากค่ายญี่ปุ่นและค่ายยุโรป สามารถผลิตรถจักรยานยนต์ได้ปีละ 2 ล้านคัน ส่วนใหญ่ใช้เองในประเทศกว่า 1.6 ล้านคันต่อปี

ขณะที่ส่งออกรถจักรยานยนต์เพียง 4-5 แสนคันต่อปี แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไทยเริ่มมีการส่งออกรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเริ่มเป็นที่นิยมและไทยยังเป็นฐานในการส่งออกบิ๊กไบค์ในภูมิภาค จึงมองว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตจักรยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แม้ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทยขณะนี้จะมีปริมาณลดลง แต่แนวโน้มการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้ามาแน่

ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมมาตรการที่จะให้เกิดการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น เรื่องของนโยบายสนับสนุน มาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรฐานของชิ้นส่วนต่าง ๆ

 

          ด้าน ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ จาก มจธ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์ 20 ล้านคัน แต่มีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไม่ถึง 10,000 คัน อีกทั้งยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กยังไม่มีการใช้งานในประเทศไทย และไม่มีนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐที่ชัดเจน ซึ่งทีมวิจัยได้มองเห็นข้อดีในการส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าด้วยรูปแบบการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำถามที่สำคัญของทีมวิจัยคือทำไมเทคโนโลยีใหม่ที่ดีเช่นนี้จึงไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย โครงการนี้ จึงเป็นการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากการทดสอบจริงโดยผู้บริโภค และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย พร้อมมาตรการต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

 

          ทั้งนี้จากการประเมินภาพรวมเทคโนโลยีของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ นักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า จากผลการทดสอบตามมาตรฐานจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีขายอยู่ในปัจจุบัน มีระยะทางการวิ่งและความเร็วต่ำกว่าค่าที่ผู้ผลิตกำหนดค่อนข้างมากด้วยข้อจำกัดตัวแบตเตอรี่และการออกแบบตัวรถเป็นหลัก จึงได้เสนอแนวทางการออกแบบโครงสร้างใหม่เพื่อให้ได้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้บริโภค

               

          ด้านการประเมินพฤติกรรมการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ดร.ปิยธิดา ไตรนุรักษ์ นักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า มุมมองของผู้ใช้รถจักรยานยนต์เห็นว่าการออกตัว ระยะเวลาการประจุไฟ และระยะทางที่วิ่งได้ต่อการประจุไฟหนึ่งครั้ง ยังเป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เห็นว่าหากมีการพัฒนาในเรื่องอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ให้นานขึ้น การทำให้สามารถวิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้นต่อการประจุไฟแต่ละครั้ง รวมถึงการพัฒนาระบบประจุไฟฟ้าเร็ว (Quick Charging) ที่ทำให้ระยะเวลาประจุไฟสั้นลง จะทำให้เกิดการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากข้อได้เปรียบในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อระยะทางของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่น้อยกว่า 20 สตางค์ต่อกิโลเมตร เมื่อคำนวณจากอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน

 

          ขณะที่การประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐศาสตร์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมนั้น ดร.นุวงศ์ ชลคุป นักวิจัยโครงการฯ จากศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. กล่าวว่า เมื่อมีการคาดการณ์การขยายตัวของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ารถโดยสารไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต พบว่า ภายในปี 2579 สามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลสะสมได้ถึง 4 แสนล้านบาทและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้กว่า 90 ล้านตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าโดยมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในกรณีที่ไม่มียานยนต์ไฟฟ้าเพียง 2% เท่านั้น

 

          ทั้งนี้ ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการ ยังได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า การจัดงานในครั้งนี้จะทำให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดการใช้และการผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่สมบูรณ์มากขึ้นและภาครัฐที่เกี่ยวข้องและเอกชนที่สนใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

 

ดึงสวีเดนลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใช้ไทยเป็นฐานเจาะอาเซียน

 

          ขณะเดียวกัน นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย โดยได้ใช้โอกาสนี้เชิญชวนนักลงทุนสวีเดนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์และซูเปอร์คลัสเตอร์ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสะอาด เทคโนโลยีดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยีนวัตกรรม และให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์อยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และยังมีศักยภาพทางเศรษฐกิจทั้งในอาเซียนและเอเชีย

 ;

          ทั้งนี้ ไทยและสวีเดน มีความสนใจที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและการออกแบบ และการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเป็นสาขาที่สวีเดนมีความโดดเด่นร่วมกัน ซึ่งในส่วนของไทยทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) สนใจที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปะและหัตถกรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งจะเชิญนักออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงชาวสวีเดนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทักษะด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับสมัยใหม่ อีกทั้งในโอกาสนี้ได้เชิญคณะผู้แทนการค้าสวีเดนเข้าร่วมงาน Thailand Innovation and Design Expo 2016 และถ่ายทอดความรู้เรื่องนวัตกรรมในงานสัมมนาThai-Europe Innotech Links 2016 ในช่วงเดือนกันยายน 2559 นี้ด้วย

 

          นางอภิรดี กล่าวว่า สวีเดนยืนยัน พร้อมที่จะทำการค้ากับไทยต่อไปโดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากไทยที่มีความมั่นใจในคุณภาพโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ที่สวีเดนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง และยังแจ้งว่านักลงทุนของสวีเดนมีความต้องการที่จะขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

 

          สำหรับสวีเดน เป็นคู่ค้าอันดับที่ 47 ของไทย และเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 28 ประเทศ โดย 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2558) การค้ารวมไทย-สวีเดน มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,403.53 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 1,267.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปยังสวีเดนมีมูลค่า 474.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเสียเปรียบดุลการค้า 318.68 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญไปสวีเดน ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องรับส่งวิทยุ โทรทัศน์ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เครื่องแต่งกาย เครื่องซักผ้า เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญจากสวีเดน ได้แก่ เครื่องจักรกลไฟฟ้า กระดาษ อุปกรณ์ยานยนต์ เหล็กยา โลหะ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

 

ปั้นไทยฮับดิจิตอลอาเซียน วางรากฐาน ศก.ระยะยาว

 

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในงานเปิดงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 16 (Money Expo 2016) ภายใต้แนวคิด Digital Life Digital Money ชีวิตดิจิตอล การเงินดิจิตอล ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยหวังที่จะเป็นฮับของดิจิตอลในภูมิภาคอาเซียนอย่างสมบูรณ์ จึงได้มีการเดินหน้าการพัฒนาด้านดิจิตอลอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผลักดันให้มีอินเทอร์เน็ตครอบคลุมในทุกพื้นที่ สร้างคลัสเตอร์ด้วยการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจ สร้างเอสเอ็มอีและกลุ่มสตาร์ตอัพที่เน้นการใช้นวัตกรรม เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะมีการใช้โปรแกรมสมาร์ทไทยแลนด์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี เปลี่ยนแปลงระบบซับพลายเชน และสร้างบุคลากรเพื่อรองรับระบบดิจิตอล

 

          ทั้งนี้ถือเป็นข่าวดีที่บริษัท หัวเหว่ย เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในไทย เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองในไทย และทางบริษัทยังเห็นว่าไทยเป็นเกตเวย์ของอาเซียนเนื่องจากนโยบายดิจิตอลอีโคโนมีของรัฐบาลมีความชัดเจน โดยปีนี้จะใช้งบประมาณ15,000 ล้านบาท และในปีหน้าจะใช้งบประมาณอีก 5,000 ล้านบาทเพื่อเชื่อมต่อ National Gateway ในประเทศไทย มั่นใจว่าไทยจะเป็นดิจิตอลฮับในภูมิภาคนี้ได้

 ;

          นายสมคิด กล่าวอีกว่า มั่นใจว่า การเข้ามาทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ไม่มีผิดพลาด มีกำลังใจมากกว่าครั้งก่อน เพราะมีคนเข้ามาช่วยทำงาน ทั้งรัฐมนตรีในทีมงานและภาคเอกชนจากทุกส่วน ทุกคนอยากให้ไทยเดินไปข้างหน้า ผ่านการดำเนินนโยบายประชารัฐ แต่อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ แรงกดดันทางการเมือง ที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย แต่ในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีในการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นรูปธรรมจากการที่รัฐบาลวางรากฐานไว้ และเป็นจุดวัดตามที่นายกฯ เคยบอกไว้ว่า 2 ปีนี้จะรู้เลยว่าทิศทางประเทศจะหมู่หรือจ่า

 

           "รัฐบาลชุดนี้มีเวลาอยู่อีก 1 ปี ถึงปีครึ่ง ซึ่งจะเน้นการวางรากฐานเศรษฐกิจเติบโตในระยะยาว แตกต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเมืองที่เน้นมองระยะสั้น หวังผลทางคะแนนเสียง ส่วนใหญ่จะมีปัญหา เช่นเรื่องจีดีพีถ้าจะทำให้โต ง่ายนิดเดียวแค่ใส่เงินเข้าไป เช่น สั่งสร้างส้วมทั่วประเทศแค่นี้ก็โตแล้ว แต่ถามว่าเงินนั้นจะได้ประโยชน์และช่วยเศรษฐกิจในระยะยาวก็ไม่ใช่ ความจริงแล้ว คนที่จะมาผลักดันจีดีพีที่แท้จริงคือภาคธุรกิจเอกชน"

 

ปั้น 2 คลัสเตอร์ท่องเที่ยว ดันรายได้เข้าประเทศ

 

          ด้าน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงเตรียมเพิ่มเขตพัฒนาการท่องเที่ยว หรือคลัสเตอร์ท่องเที่ยวอีก 2 เขต จากที่ประกาศไปแล้ว 8 เขต คือ คลัสเตอร์การท่องเที่ยวฝั่งตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี, ประจวบคีรี ขันธ์, ชุมพร และระนอง เนื่องจากมีจำนวน นักท่องเที่ยวเติบโต เฉพาะนักท่องเที่ยวไทย ที่ในปี 58 เดินทางมาในคลัสเตอร์ดังกล่าว ถึง 11.36 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.6 ล้านคน สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 64,900 ล้านบาท จึงเตรียมพัฒนาให้เป็นคลัสเตอร์ที่มีจุดเด่นเรื่องแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียง

 

          ส่วนอีก 1 คลัสเตอร์ คือ เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ครอบคลุมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นนทบุรี, ปทุมธานี, อ่างทอง และสิงห์บุรี โดย กระทรวงจะตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม จัดทำผังแม่บทฟื้นฟูริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้คนในพื้นที่เห็นความสำคัญของวิถีชีวิตในพื้นที่ ทั้งประเพณีและสถานที่เก่าแก่ เห็นได้จากที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ได้ลงบทความกล่าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นเวนิสแห่งตะวันออก เพราะมีวิถีชีวิตมีชุมชน บ้านเรือนและตลาดน้ำ ร้านอาหารเก่าแก่แต่ตกแต่งร่วมสมัย ไว้ให้โลกพูดถึงแล้ว และยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากมาย

 

          รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว หรือคลัสเตอร์ท่องเที่ยว 3 พื้นที่ หลังจากที่ได้ประกาศไปแล้ว 5 พื้นที่ คือ เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง และเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลาง เป็นที่เรียบร้อย เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการท่องเที่ยวแห่งชาติ ปี 55-59 ที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นกลุ่มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดต่าง ๆ และช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

 

          สำหรับเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 3 พื้นที่นั้น เริ่มจากเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ประกอบด้วย เขตท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย โดยมีจังหวัดสุโขทัยเป็นศูนย์ปฏิบัติการของเขตการท่องเที่ยว, เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วยเขตท้องที่จังหวัดนครพนม จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดเลย และจังหวัดหนองคาย โดยมีจังหวัดหนองคายเป็นศูนย์ปฏิบัติการของเขตการท่องเที่ยว และเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ประกอบด้วย เขตท้องที่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง โดยมีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นศูนย์ปฏิบัติการของเขตการท่องเที่ยว

 

แผนพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปฏิรูปโครงสร้างสอดคล้องคลัสเตอร์

 

          ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น พ.ศ.2560-2575 โดยเตรียมจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งยุทธศาสตร์ใหม่จะกำหนดให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอุตสาหกรรมนำร่องการปฏิรูปโครงสร้าง ทั้งภาคการผลิต และทำการตลาด ตลอดทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เน้นปรับเปลี่ยนจากการผลักดันการผลิตสินค้าป้อนตลาด ไปสู่การสร้างความต้องการให้ตลาดจำเป็นต้องหันมาสั่งสินค้ามากขึ้น

 

          ทั้งนี้การกำหนดแผนตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะดำเนินการให้สอดคล้องกับคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตามนโยบายของรัฐบาล และจะส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงฐานการผลิตในเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม มากขึ้น เพื่อสร้างศักยภาพในพื้นที่เดิม และต่อยอดสู่ภูมิภาค รวมถึงจะสนับสนุนให้มีการลงทุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งจากไทยและต่างประเทศ เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น

 

          ที่ผ่านมารัฐบาลมีการแก้ปัญหาเร่งด่วนให้กับผู้ประกอบการภายใต้การดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เช่น การปลดล็อกกิจการเกี่ยวกับการฟอกย้อม จากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2550 ซึ่งเป็นคอขวดในการที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถสามารถตั้งและขยายโรงงานได้ การปรับปรุงระเบียบการรับรองวุฒิการศึกษาด้านวิชาชีพการปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีมูลค่าเพิ่มให้สอดคล้องกับการฝากขาย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จากการได้รับผลกระทบจากการค้าที่เป็นการขายฝากในห้างสรรพสินค้าโดยผู้ประกอบการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของสินค้าขายฝาก เป็นต้น

นางอรรชกา กล่าวว่าการปรับปรุงการขายฝาก ที่ผ่านมาได้ให้คณะอนุกรรมการนัดประชุมภาครัฐในเรื่องการปรับปรุงด้านภาษีมูลค่าเพิ่มให้สอดคล้องกับการขายฝาก ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการได้เสนอแนวทาง 2 ระยะ คือระยะสั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎหมาย และระยะยาวผู้ประกอบการขอให้มีการออกกฎหมายใหม่ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กำลังพิจารณาเพื่อผลักดันกฎหมาย”

 

         นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้มีการนำแผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ.2559-2564 มาปรับใช้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่น 3 สาขา ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณี รองเท้าและเครื่องหนัง ไปสู่การผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 คือ เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต

 

ยอดตั้งโรงงานใหม่ 4 เดือนแรกหดตัว เชื่อครึ่งปีหลังดีขึ้นลงทุนคลัสเตอร์ชัด

 

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และขยายกิจการช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม-เมษายน) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตัวเลขการขออนุญาตอยู่ที่ 1.3 พันโรงงาน จากปีก่อน 1.35 พันโรงงาน หรือลดลง 3.61% มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 9.96 หมื่นล้านบาท ลดลง 23.91% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 1.31 แสนล้านบาท ส่วนการขอขยายกิจการอยู่ที่ 238 ราย ลดลงเล็กน้อย จาก 239 โรงงาน หรือลดลง 0.41% ขณะที่มูลค่าการลงทุนรวม 5.89 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.4% จากมูลค่าการลงทุน 3.89 หมื่นล้านบาท

 

          ทั้งนี้เฉพาะเดือนเมษายน 2559 การขอ ร.ง.4 ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย จากเมษายน 2558 ที่ 355 โรงงาน เพิ่มเป็น 369 โรงงาน คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.94% ขณะที่จำนวนเงินลงทุนกลับลดลงจากเดือนเมษายน 2558 ที่มีมูลค่า 7.14 หมื่นล้านบาท อยู่ที่ 3.13 หมื่นล้านบาท ลดลง 56.08% ส่วนการขยายกิจการ เดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ 42 โรงงาน ขณะที่ ปี 2558 อยู่ที่ 48 โรงงาน ติดลบ 12.5%

 

          ขณะที่มูลค่ากลับเพิ่มขึ้นจาก 4.67 พันล้านบาท เป็น 8.2 พันล้านบาท ขยายตัว 75.4% ทั้งนี้ การขออนุญาต ร.ง.4 เดือนเมษายนขยายตัวเล็กน้อย แต่มูลค่าลงทุนลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก และมีวันหยุดจำนวนมาก โดยเชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น เพราะการลงทุนในคลัสเตอร์เป้าหมายของรัฐบาล จะเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น อาทิ ในคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

 

คลัสเตอร์ปิโตรเคมี เร่งแก้อุปสรรคลงทุน 4 ข้อ

 

          ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ มี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการติดตามการดำเนินงานของอนุกรรมการฯ ทั้ง 9 คณะ และได้มีการพิจารณาปัญหาที่เป็นอุปสรรคด้านการลงทุน

 

          โดยเฉพาะในส่วนของคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ที่มีความพร้อมด้านการลงทุนมากที่สุด มีการกำหนดประเภทกิจการ นักลงทุนเป้าหมายแล้ว อีกทั้งทางผู้ประกอบการที่จะลงทุนก็ได้มีการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอไปแล้ว ว่ามีโครงการใดหรือประเภทกิจการใดที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในรูปแบบคลัสเตอร์

แต่ทั้งนี้ ทางนักลงทุนยังเป็นห่วงการประกาศผังเมืองในพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อรองรับการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุด ทางจังหวัดระยองยังไม่สามารถประกาศผังเมืองรวมของจังหวัด รวมถึงผังเมืองมาบตาพุดออกมาได้ หากมีความล่าช้า จะทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลที่จะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอให้ทันภายในปีนี้ ที่ประชุมจึงได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองไปเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนนี้ ซึ่งหากผังเมืองรวมจังหวัดระยองประกาศออกมาได้ภายใน 2 เดือนนี้ จะทำให้มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงกลางปีนี้ได้ราว 2 แสนล้านบาท ตามที่บีโอไอเคยให้ข้อมูลไว้ โดยผังเมืองใหม่จะมีพื้นที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมได้เกือบ 3 หมื่นไร่ โดยหักพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นที่ดินราชการและป่าไม้ออกไปแล้ว

 

          นอกจากนี้ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้มีการขอขยายพื้นที่เป้าหมายจากจังหวัดชลบุรี และระยอง ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง เพื่อให้การลงทุนเกิดใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งที่ประชุมได้รับพิจารณาที่จะเพิ่มพื้นที่ให้ เช่น ในจังหวัด ภาคกลางตอนบนหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่เป็นแหล่งปลูกอ้อยและมันสำปะหลังจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็เห็นด้วย เพราะหากขยายพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนออกไปได้ ไม่ได้มีเพียงคลัสเตอร์ปิโตรเคมีจะลงทุนเท่านั้น แต่ยังมีคลัสเตอร์อื่น ๆ ที่พร้อมจะไปลงทุนด้วย ซึ่งที่ประชุมก็มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น บีโอไอ รับไปพิจารณา พร้อมทั้งเร่งรัดมาตรการในการสร้างตลาดของอุตสาหกรรมชีวภาพให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมใช้ไบโอพลาสติก ที่จะนำมาตรการด้านภาษีมาใช้

 

          สำหรับผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์มาหักลดค่าใช้จ่ายได้ 300% ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมสรรพากร ได้แจ้งว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด และจะต้องหาหน่วยงานกำกับดูแลสินค้า เพื่อมาพิสูจน์ว่าเป็นไบโอพลาสติกหรือไม่ ก่อนที่จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง

               

          ส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ให้มีการทบทวนกฎระเบียบในการปล่อยมลพิษนั้น ได้มีการมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดจะได้ข้อยุติในเร็ว ๆ นี้

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด