บรรยากาศภายในบูธของโนเกียที่ได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก
กระแสการใช้งานเครือข่าย 5G ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลกกำลังจะเริ่มทดลองให้บริการ 5G ในปี 2561 คาดว่าจะมีการเปิดตัวเครือข่ายเต็มรูปแบบในปี 2562 โนเกียได้แสดงความพร้อมสำหรับเครือข่าย 5G ด้วยการนำนวัตกรรมไปแสดงใน Mobile World Congress (MWC) 2018 ซึ่งมีส่วนที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่
ชิปเซต ReefShark ที่ให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงมากในเครือข่าย 5G โดยการเพิ่มปริมาณงาน (Throughput) ของเซลล์ไซต์ได้ถึง 1 ใน 3 ลดขนาดเสาอากาศ MIMO ที่เดิมมีขนาดใหญ่และใช้พลังงานมาก ชิปเซตดังกล่าวฝังขีดความสามารถของ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรคลื่นวิทยุ รองรับเครือข่ายแยกส่วน (Network Slicing) รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม AirScale ระดับเทราบิต ซึ่ง Airscale เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G แบบครบวงจรของโนเกีย ปัจจุบันโนเกียกำลังทดสอบชิปเซต ReefShark กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำนวน 30 ราย
สถาปัตยกรรมเครือข่าย Future X สำหรับ 5G ที่ให้ประสิทธิภาพเครือข่ายที่ล้ำยุคและช่วยลดต้นทุน
‑ Future X ผสาน 5G New Radio ความจุสูงเข้ากับ Core และตัวนำสัญญาณ 'Anyhaul' ที่ควบคุมด้วย SDN (Software-Defined Networking) เพื่อให้บริการเครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์ที่สมบูรณ์แบบ
‑ สถาปัตยกรรมเครือข่ายและชิปเซต ReefShark ให้ขีดความสามารถในการปรับขนาดและประสิทธิภาพที่เหนือชั้นกว่า โดยเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของเทคโนโลยี RAN ปัจจุบันของโนเกียซึ่งเป็นเทคโนโลยีผู้นำตลาดในขณะนี้
‑ ระบบอัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) แบบเปิดของโนเกียช่วยประหยัดต้นทุนในการเป็นเจ้าของ (TCO) ได้ถึง 30%
ปัจจุบันโนเกียทำงานร่วมกับผู้ให้บริการหลายรายเพื่อทำให้ 5G เป็นจริงได้ในเชิงพาณิชย์ เพียง 2 เดือนแรกของปี 2018 โนเกียได้ประกาศโครงการความร่วมมือในด้าน 5G กว่า 10 โครงการร่วมกับผู้ให้บริการ อาทิ ข้อตกลงในการจัดหาอุปกรณ์ 5G ให้กับ NTT DOCOMO เพื่อรองรับการเปิดตัวบริการ 5G เชิงพาณิชย์ (คลิกที่นี่เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
บริการรักษาความปลอดภัยสำหรับเครือข่ายยุคดิจิทัล ช่วยให้เครือข่ายการสื่อสารได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามทั้งหมดอย่างเพียงพอ มีการป้องกัน การตรวจหา และการตอบสนองต่อการโจมตี รวมถึงการกู้คืนระบบ ผู้ให้บริการสามารถให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยแบบ Managed Security แก่ลูกค้าองค์กรภายใต้แบรนด์ของตนเอง เป็นการร่นระยะพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ในตลาดการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายสำหรับองค์กร ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
บริการและเทคโนโลยีที่ช่วยผู้ให้บริการโทรคมนาคมตอบสนองความต้องการของเมืองดิจิทัล ได้แก่
‑ IoT สำหรับ Smart Cities ของโนเกียเป็นเฟรมเวิร์กแบบโมดูล ปรับขนาดได้และครบวงจรเพื่อให้บริการและจัดการบริการต่าง ๆ ของเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบกล้องวงจรปิด แสงสว่าง ที่จอดรถ การจัดการขยะ และการตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อม
‑ Sensing as a Service ซึ่งขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี Blockchain เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล ให้ขีดความสามารถในการวิเคราะห์อัจฉริยะเกี่ยวกับข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ให้บริการสามารถเสนอขายให้กับเมืองหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบได้
‑ S-MVNO (Secure Mobile Virtual Network Operator) เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย LTE ด้วยบริการบรอดแบนด์สำหรับหน่วยงานความปลอดภัยสาธารณะ สร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้แก่ผู้ให้บริการ
การเพิ่มประสิทธิภาพของโซลูชัน Wi-Fi แบบใช้ได้ในบ้านทั้งหลัง (Whole-home) สำหรับผู้ให้บริการเพื่อสร้างประสบการณ์การใช้บริการเครือข่ายที่ชาญฉลาดและรวดเร็วยิ่งขึ้น โนเกียเพิ่มประสิทธิภาพหลายด้านของโซลูชัน Wi-Fi สำหรับใช้งานในบ้าน ช่วยลดความยุ่งยากในการจัดการเครือข่าย โซลูชัน Wi-Fi ใหม่นี้ได้เพิ่ม Wi-Fi เกตเวย์ที่เชื่อมต่อแบบเมช (Mesh) และบีคอน ทำให้ผู้ให้บริการมี Wi-Fi Home Portal ใหม่ไว้ให้บริการ นำเสนอแอปพลิเคชันบนมือถือสำหรับผู้ใช้ มีฟังก์ชันของซอฟต์แวร์และเครื่องมือวิเคราะห์ใหม่ ๆ ที่ช่วยยกระดับระบบเครือข่ายอัจฉริยะ
การทำงานร่วมกันกับเฟซบุ๊กเพื่อขยายระบบนิเวศสำหรับ Fixed Wireless Access บนย่านความถี่ 60 GHz โนเกียและเฟซบุ๊กกำลังเร่งนำเทคโนโลยีไร้สายความเร็วสูง 60 GHz แบบ Fixed Wireless Access เพื่อนำเสนอบริการสื่อสารระดับกิกะบิตเพื่อเชื่อมต่อผู้คนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ย่านความถี่ 60 GHz ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อบรอดแบนด์ความเร็วสูงในเขตเมืองหรือชานเมืองได้ โดยโนเกียจะผสานความสามารถในการนำเสนอบริการที่ครอบคลุมทั่วโลกและเครือข่าย Wireless Passive Optical Network (WPON) กับเทคโนโลยี Terragraph ของเฟซบุ๊กเพื่อเริ่มทดลองให้บริการบรอดแบนด์ระดับกิกะบิตในปี 2018 (เริ่มที่ลูกค้าบางราย)
ความร่วมมือกับเครือข่ายโวดาโฟน (Vodaphone) เพื่อนำ 4G ไปยังดวงจันทร์ โวดาโฟน เยอรมนี ได้แต่งตั้งให้โนเกียเป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเครือข่ายมาตรฐานบนยานอวกาศขนาดกะทัดรัด (Ultra Compact Network) ซึ่งมีน้ำหนักเทียบเท่ากับถุงใส่น้ำตาล (น้อยกว่า 1 กิโลกรัม) เพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดสดวิดีโอคุณภาพระดับเอชดีสำหรับภารกิจ Mission to the Moon ในปี 2562
แนวคิด “Conscious Factory in a Box” ให้โซลูชันที่ตอบสนองต่อความต้องการของ Industry 4.0 โนเกียและอีก 12 องค์กรในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เปิดเผย “Conscious Factory in a Box” โดยนำแนวคิดที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสายการผลิตอิเล็กทรอนิกส์สายเดี่ยวโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ผลิตสินค้าที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดที่ต้องการได้ ความร่วมมือนี้ได้ถูกขับเคลื่อนโดยความเปลี่ยนแปลงที่คาดการณ์ไว้ในอุตสาหกรรมสายการผลิตที่ถูกกระตุ้นโดย Industry 4.0 ประกอบด้วยโซลูชันที่มีระบบคลาวด์เป็นพื้นฐาน หุ่นยนต์ และโซลูชันไอโอทีเพื่อการผลิตอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการความคล่องตัวสูงและความยืดหยุ่นจากผู้ผลิต
นายเซบาสเตียน โลรองท์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและกัมพูชา โนเกีย กล่าวว่า “ภายในงาน Mobile World Congress 2018 บูธของโนเกียได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้ร่วมงานชาวไทย ซึ่งได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโซลูชันที่เหมาะสมต่อการพัฒนาให้เกิดสมาร์ท ซิตี้ (Smart City) สมาร์ท เฮลธ์ (Smart Health) และสมาร์ท อินดัสทรี่ (Smart Industry) ขึ้นในประเทศไทย สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศไทย 4.0 โดยโนเกียได้นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) มาใช้ในหลาย ๆ โซลูชัน โนเกียเป็นผู้นำระดับโลกเพียงรายเดียวที่นำเสนอระบบเครือข่ายและบริการแบบครบวงจร เป็นเหตุผลที่ทำให้เรามีความพร้อมที่สุดในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0"