เดวิด แซนชู และนอร์แมนน์ ฮัก (นักวิจัยอาวุโสด้านภัยคุกคาม)
ข้อมูลจาก TrendLabs Security Intelligence Blog
เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) นอกจากจะต้องเผชิญกับคนร้ายที่พยายามงัดแงะตัวเครื่องแล้ว ยังต้องรับมือกับการโจมตีทางคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า ‘มัลแวร์เอทีเอ็ม’ ที่วงการอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยและผู้รักษากฎหมายเริ่มค้นพบว่า ‘มัลแวร์เอทีเอ็ม’ เป็นภยันตรายรูปแบบใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อมุ่งโจมตีระบบตู้เอทีเอ็มโดยเฉพาะ ซึ่งถูกตรวจจับได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาและเป็นการโจมตีที่ประสบความสำเร็จ
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการโจมตีไปสู่ช่องทางดิจิตอลนี้ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนร้ายรู้วิธีในการใช้มัลแวร์เพื่อขโมยเงินและข้อมูลบัตรจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเหล่าคนร้ายพบว่าเป็นวิธีการที่ง่ายและปลอดภัยสำหรับพวกเขามากกว่า การโจมตีผ่านช่องทางดิจิตอลมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรตระหนักถึงช่องทางการโจมตีในรูปแบบต่าง ๆ ที่คนร้ายสร้างขึ้นเพื่อก่ออาชญากรรม
รูปที่ 1 สถิติการโจมตีเครื่องเอทีเอ็มในยุโรปตั้งแต่ปี 2554-2558
สถิติข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของการโจมตีเครื่องเอทีเอ็มด้วยวิธีการปลอมแปลงบัตรในช่วงปีที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2557-2558) นอกจากนี้ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการโจมตีด้วยซอฟต์แวร์ในทุกส่วนยังชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนร้ายที่มีความเชี่ยวชาญสูงได้มองเห็นโอกาสแฝงในชุดเครื่องมือสำหรับการโจมตีซึ่งสามารถนำมาใช้กับระบบเอทีเอ็มได้ สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของการใช้มัลแวร์เพื่อเจาะระบบเอทีเอ็ม แต่แน่นอนว่าแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต
ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีสถิติการโจมตีของมัลแวร์เอทีเอ็มในสหรัฐฯ แต่ ทีมงานฝ่ายรักษาความปลอดภัยระบบเอทีเอ็มของยุโรป ระบุว่า “มีการรายงานความสูญเสียที่เกิดขึ้นใน 53 ประเทศนอกเขตพื้นที่ที่ใช้ระบบ Single Euro Payments Area (SEPA) และใน 10 ประเทศที่ใช้ระบบ SEPA ประเทศที่เกิดความสูญเสียดังกล่าวมากที่สุด 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์”
เทรนด์ ไมโคร และศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์แห่งยุโรป (European Cybercrime Center - EC3) ของยูโรโพล (Europol) ได้ทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบภัยคุกคามที่มุ่งโจมตีระบบเอทีเอ็ม ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่ามีปัจจัยมากมายที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ชุดเครื่องมือแฮ็กระบบเครื่องเอทีเอ็มเป้าหมายไว้ควบคู่ไปกับวิธีการโจมตีแบบเดิม ๆ มากขึ้น
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ การใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) ที่ล้าสมัย เช่น Windows XP® ซึ่งไม่สามารถติดตั้งแพตช์ด้านความปลอดภัยได้อีกต่อไป อีกเหตุผลหนึ่งคือ กลุ่มอาชญากรมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นและเริ่มรู้แล้วว่าช่องทางดิจิตอลมีความเสี่ยงน้อยกว่า ทั้งยังเปิดโอกาสให้สามารถเคลื่อนย้ายเงินและปกปิดซ่อนเร้นเพื่อหลบหลีกการจับกุมได้ง่ายกว่า ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้จำหน่ายเครื่องเอทีเอ็มตัดสินใจที่จะใช้มิดเดิลแวร์ที่มี Application Programming Interface (API) เพื่อสื่อสารกับอุปกรณ์ต่อพ่วงของเครื่อง (เช่น แป้นกดรหัส เครื่องจ่ายเงินสด ฯลฯ) โดยไม่สนใจว่าจะเป็นรุ่นใด มิดเดิลแวร์ที่ว่านี้คือ มิดเดิลแวร์ eXtensions for Financial Services (XFS) วิธีการง่าย ๆ ก็คือ ให้ลองจินตนาการว่าเครื่องเอทีเอ็มที่ทันสมัยก็เป็นเหมือนเครื่องพีซีที่ใช้ระบบ MS Windows® ที่มีกล่องเก็บเงินติดอยู่กับเครื่องและถูกควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ จะทำให้เข้าใจได้ง่ายว่าเครื่องเอทีเอ็มตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของผู้สร้างมัลแวร์ได้อย่างไร
รูปที่ 2 สถาปัตยกรรมระบบ XFS
งานวิจัยร่วมกันระหว่างเทรนด์ ไมโครกับศูนย์ European Cybercrime Center (EC3) ของ Europol ยังสำรวจตรวจสอบประเภทหลัก ๆ ของมัลแวร์ที่แพร่กระจายในปัจจุบัน แผนผังข้างต้นเผยให้เห็นรูปแบบที่น่าสนใจเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของโค้ด ธนาคารพาณิชย์ในละตินอเมริกาและยุโรปตะวันออกไม่ได้ดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ จึงเปิดโอกาสให้อาชญากรเข้าโจมตีเครื่องเอทีเอ็มในภูมิภาคดังกล่าว แม้ว่าการโจมตีจะเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่เราก็พบว่ามีการส่งต่อเทคนิคเหล่านี้ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ถึงแม้เรายังไม่พบว่ามีการซื้อขายมัลแวร์เอทีเอ็มในตลาดมืดแต่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน
มัลแวร์แต่ละตระกูลที่ระบุไว้ข้างต้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน 2 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.ประเภทของผู้ผลิตเครื่องเอทีเอ็ม และ 2.ความสามารถที่เฉพาะเจาะจงของมัลแวร์ เช่น ใช้สำหรับขโมยข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนเข้าเครื่อง เช่น หมายเลขบัตรและรหัส PIN หรือใช้สำหรับจ่ายเงินสดออกจากตู้ สิ่งที่มัลแวร์เหล่านี้มีเหมือนกันก็คือ จะต้องทำการติดตั้งผ่านทาง USB หรือซีดีไดรฟ์
รูปที่ 3 มัลแวร์เอทีเอ็มในตระกูลต่าง ๆ และแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์
ข้อมูลที่พบนี้อ้างอิงการตรวจสอบที่ เทรนด์ ไมโคร และ ศูนย์ European Cybercrime Center (EC3) ของ Europol ได้ทำงานร่วมกัน ในการตรวจสอบสถานะปัจจุบันของมัลแวร์เอทีเอ็ม ผลลัพธ์ที่ได้คือ เอกสารรายงานที่เน้นให้เห็นถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยพุ่งเป้าไปที่เครื่องเอทีเอ็มนอกจากนี้ยังมีข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับวิธีการใหม่ ๆ ที่แฮ็กเกอร์ใช้ รวมถึงแนวทางป้องกันที่สำคัญ ๆ ให้กับองค์กรที่ต้องการปกป้องธุรกิจและลูกค้า รายงานที่จัดทำร่วมกันนี้นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับภาคอุตสาหกรรมในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด