เนื้อหาวันที่ : 2016-07-26 15:16:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3372 views

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

ในยามนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยประสบวิกฤติปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างให้ต้องเร่งแก้ไข ทั้งปัญหาภัยแล้ง ไฟป่า หมอกควัน การประท้วงเหมืองแร่ทองคำที่รัฐบาลเพิ่งแก้ปัญหาด้วยการยุติการอนุญาตการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดทั่วประเทศ และให้เหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่บริเวณรอยต่อของจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ประกอบกิจการได้ถึงสิ้นปี 2559 นี้เท่านั้น

 

          สำหรับอีกหนึ่งปัญหาที่ทางการกำลังเดินหน้าแก้ไขได้แก่ ปัญหา “กากอุตสาหกรรม” โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามผลักดัน คุมเข้มการบำบัด-กำจัด การจัดพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม ตลอดจนนำระบบ GPS มาใช้คุมระบบการขนส่งเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย ไปทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างปัญหาสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ดีปัญหานี้จะสำเร็จไปไม่ได้ในเร็ววัน หากมีความพยายามแต่ฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว

 

          ทั้งนี้ “กากอุตสาหกรรม” ในความหมายของ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หมายถึง สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หรือสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียทั้งหมดที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงของเสียจากวัตถุดิบ ของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ของเสียที่เป็นผลิตภัณฑ์เสื่อมคุณภาพและน้ำทิ้ง

 

 

ที่มา: www.mcot.net

               

          กากอุตสาหกรรมมีทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ จำเป็นต้องได้รับการบำบัด กำจัดอย่างเหมาะสมทั้งสองประเภท ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือรับผิดชอบร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าของกิจการโรงงานและผู้ทำหน้าที่กำจัดบำบัด

 

          โดยวิธีการบำบัดและกำจัดหลัก ๆ คือ 1.ฝังกลบ 2.เผาในเตาปูนซีเมนต์ และ 3.การสนับสนุนวิธี 3R ซึ่งหมายถึง Reduce คือ การลดการใช้ การบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลง ลดการก่อให้เกิดขยะ, Reuse การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำสิ่งของเครื่องใช้มาใช้ซ้ำ และ Recycle คือ การนำสิ่งของที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบเดิมไม่ได้แล้วหรือขยะ นำไปจัดการด้วยกระบวนการต่าง ๆ แล้วแปรรูปเป็นสิ่งใหม่ เพื่อนำมาใช้ใหม่

 

 

“กากอุตสาหกรรม” ไทยมหาศาล กว่า 50 ล้านตัน/ปี

 

          ในแต่ละปีภาคอุตสาหกรรมของไทยสร้างขยะหรือกากอุตสาหกรรมเป็นปริมาณมหาศาล เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจากข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า จำนวนโรงงาน ณ สิ้นปี พ.ศ.2557 มีโรงงานจำพวกที่ 3 (หมายถึง โรงงานที่ต้องมีใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ทั่วประเทศ จำนวน 69,955 โรงงาน จาก 107 ประเภทโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 โดยแยกเป็นโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม 68,261 โรงงาน และโรงงานผู้บำบัด/กำจัด/รีไซเคิล ได้แก่ ลำดับที่ 101 ลำดับที่ 105 และลำดับที่ 106 จำนวน 1,694 โรงงาน

 

          จากการคำนวณปริมาณกากอุตสาหกรรม โดยใช้ “ปริมาณกากอันตรายและกากไม่อันตรายที่โรงงานแต่ละประเภท มีการแจ้งขนส่งออกไปกำจัดทั้งหมด ในปี พ.ศ.2557 เทียบกับจำนวนแรงม้ารวมของโรงงานแต่ละประเภท”   พบว่า ประเทศไทยควรมีกากอุตสาหกรรมมากกว่า 53 ล้านตันเลยทีเดียว โดยมีกากอันตรายปีละ 3.35 ล้านตัน และมีกากไม่อันตรายปีละ 50.30 ล้านตัน

 

          แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณกากอุตสาหกรรมที่โรงงานได้ขออนุญาตออกไปบำบัด/กำจัด/รีไซเคิล และแจ้งขนส่งแล้วจริงในปี พ.ศ.2557 พบว่า มีน้อยมาก โดยมีการแจ้งขออนุญาตไปบำบัดกำจัดเพียงจำนวน 1.03 ล้านตัน (หรือร้อยละ 31) เท่านั้นสำหรับกากที่อันตราย และมีเพียงจำนวน 12.24 ล้านตัน (หรือร้อยละ 24) สำหรับกากไม่อันตราย

 

          ในขณะที่จำนวนโรงงานที่ทำหน้าที่บำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมมีอยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับโรงงานที่สร้างกากอุตสาหกรรม โดยสัดส่วนโรงงานที่สร้างกากอุตสาหกรรมและผู้กำจัดบำบัดทั่วประเทศมีค่าเฉลี่ยที่ ประมาณ 1 : 40 เท่านั้น ซึ่งผู้รับบำบัด กำจัดไปกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเสียมาก โดยมีสัดส่วนประมาณ 1 : 12, ภาคกลาง 1 : 44, ภาคตะวันตก 1 : 65, ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีสัดส่วนน้อยมากเทียบได้ 1 : 101 และ 1 : 102 ส่วนภาคใต้มีโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมน้อยที่สุด มีสัดส่วนประมาณ 1 : 121  

 

 

ที่มา: www.greenpeace.org3

 

 

ที่มา: สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น

 

 

ความไม่สมดุลของผู้สร้างกับผู้กำจัดขยะ ที่มาของปัญหาลักลอบทิ้ง

 

          ความไม่สมดุลดังข้างต้น จึงเป็นที่มาของการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งให้เป็นอันตรายในชุมชนต่าง ๆ ดังที่มีข่าวคราวเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งก่อนหน้านี้ราวปลายเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา นายสุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดสถิติการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมว่า ตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งปัจจุบัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 63 ครั้ง เป็นการลักลอบทิ้งกากของเสียจำพวกสารเคมีจำนวน 22 ครั้ง กากของเสียรวมจากโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 21 ครั้ง น้ำเสียปนเปื้อนสารเคมี 11 ครั้ง กากตะกอนและน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว 9 ครั้ง และเฉพาะในปี 2558 เกิดเหตุการณ์ลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมจำนวน 4 ครั้ง

 

          สาเหตุที่ทำให้เกิดการลักลอบทิ้งกากสารเคมีและของเสียอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย ส่วนหนึ่งมาจาก ค่าใช้จ่ายในการบำบัดและกำจัดกากของเสียค่อนข้างสูง ปัญหาสถานที่รับกำจัดกากของเสียที่ถูกต้องตามกฎหมายมีไม่เพียงพอ ทำให้มีการหลีกเลี่ยงและส่งกากของเสียอุตสาหกรรมไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง

 

          การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมสามารถทำให้เกิดผลกระทบตามมาได้มากมาย เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้ง เช่น หากทิ้งไปบนดินจะก่อให้เกิดมลพิษทางดิน ทำให้พื้นดินปนเปื้อนด้วยสารอันตราย ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ แต่หากทิ้งลงน้ำนอกจากทำให้น้ำเสีย ยังรั่วไหลของสารอันตรายไปยังผิวดินหรือซึมผ่านดินลงไปแหล่งน้ำใต้ดินซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้น้ำได้ นอกจากนี้หากมีการจัดการที่ไม่ถูกต้องยังทำให้สารที่ระเหยง่าย ระเหยไปในอากาศและเป็นอันตรายต่อผู้สูดดมเข้าไป

 

          ขณะเดียวกันกากอุตสาหกรรมที่ถูกนำมาทิ้งยังมีผลทำลายระบบนิเวศได้ เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่สิ่งมีชีวิตในพื้นที่ทั้งหมด สัตว์ พืชและมนุษย์ สารพิษอาจสะสมในพืช สัตว์ ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ที่อยู่บนห่วงโซ่อาหารชั้นบนสุดและส่งผลต่อสุขภาพตามมาได้ หรือกล่าวได้ว่า การสะสมสารพิษเกิดได้จากการสัมผัส สูด หรือกินเข้าไป และทำให้เกิดปัญหาตามมาได้อีก นั่นคือ ผลกระทบต่อการอยู่ร่วมกันในชุมชน ทำให้เกิดความขัดแย้ง คัดค้าน ต่อต้านสถานประกอบการต้นปัญหา เพื่อชุมนุมขับไล่ให้ออกไปจากชุมชน

 

 

ที่มา: www.greenpeace.org

 

 

ที่มา: www.greenpeace.org2

 

แผนการจัดการกากอุตสาหกรรม ปี 2558 -2562 คุมเข้มโรงงานบำบัดกำจัด

 

          ปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นได้ว่า ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบจัดการกากอุตสาหกรรมยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปทิ้งตามที่สาธารณะหรือที่ดินส่วนบุคคล ทำให้เกิดความเดือดร้อน มีปัญหาร้องเรียนตามมา ประกอบกับการที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 5 แสนล้านบาท ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่าจะทำเกิดกากอุตสาหกรรมเพิ่มตามมาอีก โดยกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 4.7 แสนตัน และ 8 ล้านตันสำหรับกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย ตามลำดับ 

 

          ทั้งนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยศึกษาและจัดหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในไทยในระยะ 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กำหนดระยะการศึกษาไว้ 10 ปี ใน 3 ระยะ  

 

          ในระหว่างนี้ได้มีมาตรการเพื่อจัดระเบียบดึงให้โรงงานทยอยเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% และให้มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% ภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2562 ด้วย ที่เรียกว่า “แผนการจัดการกากอุตสาหกรรมพ.ศ. 2558-2562” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลายอย่างดังนี้คือ

 

          เพื่อให้เหล่า โรงงาน ที่แจ้งประกอบกิจการแล้ว เข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม มีการแจ้งการขนส่งกากอุตสาหกรรมออกไปบำบัด กำจัดและรีไซเคิล เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี พร้อมควบคุม การกำกับ ดูแล ยานพาหนะขนส่งกากอันตรายทุกคันโดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานราชการเครือข่าย และระบบการติดตามยานพาหนะโดยใช้เทคโนโลยีผ่านสัญญาณดาวเทียม (GPS)  มีการตรวจสอบโรงงานรับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ทั้งทางตรง และทางอ้อม เพื่อให้ประกอบกิจการโรงงานถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ ในขณะที่บรรดาพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้มีวิธีการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานและมีการถ่ายโอนอำนาจให้แก่ หน่วยงานระดับจังหวัด รวมทั้งมีเอกชน (Third Party) ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐได้

 

          ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้มีโรงงานเข้าสู่ระบบจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นให้ดีอย่างน้อย 12,000 โรงงานต่อปีต่อเนื่องเป็นเวลา 5ปี โดยกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายจะได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและตามหลักวิชาการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี ปีละประมาณ 0.473 และ 8.01 ล้านตันตามลำดับ

 

งัดหลายยุทธศาสตร์ใช้ เพื่อให้แผนฯ บรรลุเป้าหมาย

 

          กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้นำหลากกลยุทธ์มาใช้เพื่อหวังให้แผนฯประสบความสำเร็จ อาทิ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเป็นขั้นตอน และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสงค์จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง การสร้างความร่วมมือและแรงจูงใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้มีความตระหนัก มีความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม และมีระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับปริมาณงานและใช้งานได้โดยสะดวก รวมทั้งเพิ่มรางวัลสินบนนำจับสำหรับประชาชนผู้แจ้งเบาะแส การสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุน ด้านวิชาการ เทคโนโลยี การจัดหาพื้นที่รองรับการจัดการกากอุตสาหกรรมในอนาคต และตรวจสอบการขนส่งกากอุตสาหกรรม และมีการแก้ไข/ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพิ่อเพิ่มบทลงโทษ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฎิบัติตามกฎหมาย และออกระเบียบให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีวิธีปฏิบัติงานที่ชัดเจน

 

เล็ง 15 จังหวัด พื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมอนาคต

 

          นอกจากนี้เพื่อให้กากอุตสาหกรรมได้มีการจัดการกากฯ เข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีการศึกษาพื้นที่รองรับกากฯ สำหรับการพัฒนาเป็นศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมแบบบูรณาการในอนาคตอีก 20–30 ปีข้างหน้า ภายใต้แผนการจัดการกากอุตสาหกรรมปี พ.ศ.2558-2562 โดยกระทรวงฯ ร่วมกับองค์การพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและพลังงานใหม่ (NEDO) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม แห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม

 

          ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ (IWMCs) มีจำนวน 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ลําปาง ลําพูน ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ราชบุรี ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมาขอนแก่น ภาคตะวันออก ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว ภาคกลาง สมุทรสาคร สระบุรี ภาคใต้ นครศรีธรรมราช สงขลา มีความเหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์ฯ

 

          กรมฯ ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา และได้ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำผลการศึกษาเพื่อเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุนพัฒนาศูนย์จัดการฯ หรือลงทุนร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้มีเอกชนแสดงความสนใจเพื่อศึกษาจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมแล้ว ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมของประเทศ

 

“ผาแดง” สนใจลงทุนพัฒนาศูนย์จัดการกากฯจ.ตาก-โรงงานรีไซเคิล จ.ระยอง

 

          เวลานี้มีเอกชนแสดงความจำนงเพื่อร่วมแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมชาติแล้ว ซึ่งได้แก่ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด(พีดีไอ) โดยได้จับมือกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้จัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม ได้แก่ โครงการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร จ.ตาก เพื่อรองรับการจัดการกากอุตสาหกรรมเขตภาคตะวันตก ภาคเหนือ และเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และ โครงการรีไซเคิลโลหะและวัสดุในกากอุตสาหกรรม จ.ระยอง ซึ่งจะรองรับฝุ่นจากโรงหลอมเหล็ก ที่มีโลหะและพลาสติกเป็นส่วนประกอบ คาดทั้ง 2 ศูนย์ฯช่วยรองรับกากอุตสาหกรรมได้ประมาณ 80,000 ตันต่อปีในระยะ 5 ปีข้างหน้า

 

 

          ดร.พสุ  โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรม ได้นำร่องลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี ในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจรที่ตาก ซึ่งจะรองรับกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทยได้ประมาณ 30,000–50,000 ตันต่อปี

 

          และโครงการรีไซเคิลวัสดุโลหะที่อยู่ในกากอุตสาหกรรมที่ระยอง ซึ่งถือเป็นโรงแรกในไทยเพราะปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีการจัดการที่เหมาะสมในประเทศไทย อาทิ ฝุ่นจากโรงหลอมเหล็ก (ฝุ่นแดง) และของเสียที่มีโลหะและพลาสติกเป็นองค์ประกอบ  โดยจะนำมาผ่านกระบวนการที่ใช้อุณหภูมิสูงมากเป็นพิเศษ ซึ่งรองรับกากอุตสาหกรรมได้ประมาณ 50,000 ตันต่อปี โดยขั้นตอนการดำเนินงาน กรมโรงงานฯจะจัดตั้งคณะทํางานร่วมกับบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จํากัด (มหาชน)ศึกษาความเป็นไปได้โดยละเอียดต่อไป หากโครงการทั้งสองสำเร็จจะเพิ่มความสามารถในการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศได้

 

          ด้าน นายอาสา สารสิน ประธานกรรมการบริษัท ผาแดงอินดัสทรี กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากดังกล่าว พีดีไอ ได้ร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศด้านการรีไซเคิลและจัดการกากอุตสาหกรรม ในสัดส่วน 51: 49 รวมมูลค่าโครงการทั้งสองอยู่ที่ 1,000-1,500 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ทั้งเงินลงทุนของตัวเองและเงินกู้  ถือเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่มาลงทุนทำทั้ง 2 โครงการ โดยโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ตาก มีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 840 ไร่

 

          นายอาสา เปิดเผยด้วยว่า จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้กับโครงการฯ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของยุโรปและญี่ปุ่น เพื่อให้การจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้มีความคล่องตัวในการดำเนินโครงการมากขึ้น ซึ่งทำให้พีดีไอมีความมั่นใจในการลงทุนและสามารถดำเนินโครงการให้บรรลุผลสำเร็จได้ “คาดว่า การศึกษาความเป็นไปได้เพื่อดำเนินโครงการทั้ง 2 แห่งใช้เวลาไม่นาน โดยอาจศึกษาแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2559 นี้และโรงงานสามารถดำเนินการได้ราวปี 2562 และในระหว่างที่มีการศึกษานี้จะมีการทำประชาพิจารณ์ควบคู่กันไปด้วย”

 

กรมโรงงานฯ ยกระดับมาตรการควบคุมลักลอบทิ้งกากอุตฯ ดีเดย์ ก.ค.59 ติดระบบ GPS ทุกคัน

 

 

          ในอนาคตเป็นไปได้ว่าจะมีเอกชนรายอื่น ๆ แสดงความสนใจเพื่อจัดตั้งศูนย์ฯตามมาอีกก็เป็นได้ ขณะเดียวกันทางกรมโรงงานฯ ยังเดินหน้าลุยงานคุมเข้มการขนส่งกากอุตสาหกรรมด้วย โดยได้เปิดตัว ๆ ว่า ระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) ซึ่งจะมีการรายงานตำแหน่งของรถขนส่งด้วยระบบ GPS (Global Positioning System) ผ่านแอพฯ “GPSHZW DIW” บนสมาร์ทโฟน และเว็บไซต์ http://gisapp.diw.go.th ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมได้  

 

          ระบบแอพพลิเคชั่น “GPSHZW DIW” กรมโรงงานอุตสาหกรรมพัฒนาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ช่วยเสริมศักยภาพในการควบคุมการกำกับดูแลการขนส่งของเสียและป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม โดยจะสามารถช่วยให้เช็คตำแหน่งของรถขนส่งได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง รวมถึงข้อมูลในการขนส่งต่าง ๆ เช่น หมายเลขประจำตัวเครื่องบันทึกข้อมูล (GPS ID) วันเวลาที่ส่งข้อมูล ข้อมูลของเสียที่จะขนถ่าย ละติจูด ลองจิจูด ความเร็ว สถานะเครื่องยนต์ ทิศทางการเดินทาง เป็นต้น ชั่วโมง และรายงานข้อมูลทุก ๆ 1 นาที ตั้งแต่เริ่มมีการแจ้งนำของเสียออกนอกโรงงานจนกระทั่งเข้าสู่แหล่งกำจัดกาก ซึ่งหากเกิดปัญหาการทิ้งกากระหว่างการขนส่งหรือนอกพื้นที่ กรมโรงงานฯ จะสามารถตรวจสอบได้ทันที นอกจากนี้ยังเป็นการตรวจสอบถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

 

          ขณะนี้ กรมโรงงานฯ อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อกำหนดให้รถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายติดตั้งระบบ GPS ทุกคัน และเตรียมบังคับใช้เป็นกฎหมายลงโทษกับผู้ประกอบการขนส่งกากฯ ที่ลักลอบทิ้งกากอันตราย โดยจะเริ่มบังคับใช้จริงในเดือนกรกฎาคม 2559

 

          แนวทางของกฎหมายคือ หากรถขนส่งกากฯ ไม่ดำเนินการติดตั้งระบบ GPS และไม่ส่งข้อมูล GPS ให้กับกรมโรงงานฯ กรมโรงงานฯจะไม่พิจารณาออกใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายเพื่อการขนส่งได้ ซึ่งระหว่างร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้เปิดทดสอบระบบควบคู่ไปด้วย

 

          โดยภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อหวังให้มีโรงงานเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดีการร่วมด้วยช่วยกันระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชนที่คอยเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่เท่านั้นที่จะช่วยให้เป้าหมายจัดระเบียบโรงงานต่าง ๆ เข้าระบบจัดการกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายจะบรรลุผลได้ ซึ่งตัวเลขใหม่ล่าสุดที่ดร.พสุ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยพบว่า มีโรงงานเพียงประมาณ 28,000 โรงงานที่ดำเนินการถูกต้อง แม้มีตัวเลข 48,000 โรงงานที่ลงทะเบียนไว้ในระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม คิดเป็นเพียง 40% เท่านั้นที่มีการปฏิบัติจริง ถูกต้อง

 

          ที่เหลืออีกประมาณ 60% หายไปไหน คงต้องกลับไปขบคิดและพยายามกันต่อไป เพื่อผลักดันให้ทะลุเป้าที่ 90% โรงงานและ 90% ปริมาณกากฯได้รับการบำบัด กำจัด ได้สำเร็จใน 5 ปี

 

 

ที่มา: www.learnprtr.net

 

ขอบคุณข้อมูล
• กระทรวงอุตสาหกรรมแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.2558-2562
• คู่มือการจัดการกากอุตสาหกรรม สำหรับ โรงงานอุตสาหกรรม ผู้รวบรวมและขนส่งกากอุตสาหกรรม
• โรงงานบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรม หน่วยงานผู้ก ากับดูแลการจัดการกากอุตสาหกรรม
• องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนในการเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม
• กรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด