เนื้อหาวันที่ : 2016-07-25 11:33:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1959 views

ผศ.ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน หรือ Performance Indicator เป็นองค์ประกอบพื้นฐานแต่มีความสำคัญยิ่งในการบริหารจัดการในทุกระดับในขั้นตอนการตรวจสอบหรือ Check ในวงจรการบริหารจัดการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) ที่จะช่วยให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

          ในระดับบุคคล การวัดผลการปฏิบัติงานอาจทำได้ในช่วงการประเมินผลงานประจำปีของพนักงานในองค์กร ในระดับธุรกิจก็มีการประยุกต์ใช้ระบบวัดผลการปฏิบัติงานหรือผลประกอบการขององค์กรอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการด้านการเงิน (Financial Performance) หรือด้านที่ไม่ใช่การเงิน (Non-Financial Performance) โดยระบบการประเมินและจัดการผลการปฏิบัติงานที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้แก่ Balanced Scorecard ซึ่งวัดและบริหารจัดการผลการปฏิบัติงานขององค์กรอย่างสมดุลใน 4 มิติ ได้แก่ มุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนา ด้านกระบวนการภายใน ด้านลูกค้า และด้านการเงิน ตามลำดับ เพื่อให้สามารถประเมินผลการปฏิบัติงานขององค์กรโดยภาพรวมแบบบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิผล

 

          ในระดับชาติก็มีการวัดผลการปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ เช่น อาจจะเป็นผลการปฏิบัติงานด้านเศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ฯลฯ ส่วนผลการปฏิบัติงานด้านสังคมก็อาจวัดได้จากอัตราการเกิดอาชญากรรม ดัชนีความสุขของประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้การวัดผลการปฏิบัติงานในระดับชาติยังเป็นการวัดผลการปฏิบัติงานแบบแยกส่วน ขาดการบูรณาการในทุกมิติที่เกี่ยวข้องทำให้สามารถไม่เห็นภาพรวมของประเทศและความสัมพันธ์ของภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศได้อย่างชัดเจน

 

เท่ อินเด็กซ์ (Thailand Effectiveness Index: TE Index)

 

          สภาปัญญาสมาพันธ์ หรือ Wisdom Council ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักวิชาการชั้นนำของประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งสาขารัฐกิจ ธุรกิจ และสังคม จึงได้พัฒนา ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย หรือ Thailand Effectiveness Index หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เท่ อินเด็กซ์ (TE Index) ซึ่งประกอบด้วยการดัชนีวัดผลการปฏิบัติงานครบทั้งใน 3 ภาคส่วนหลักของประเทศแบบบูรณาการ ได้แก่

  1. ดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (Public Sector Effectiveness Index: PBE Index)
  2. ดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน (Private Sector Effectiveness Index: PVE Index)
  3. ดัชนีประสิทธิผลภาคสังคม (People Sector Effectiveness Index: PPE Index)

          ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ เท่ อินเด็กซ์ เป็นดัชนีที่สำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาประเทศในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Country) ไปสูงประเทศที่มีรายได้สูง

 

          ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส Harvard University และประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ ได้แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อประสิทธิผลประเทศไทยหรือ TE Index ซึ่งสำรวจเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2559 เปรียบเทียบภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนพบว่าองค์กรภาคประชาชนมีประสิทธิผลในการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนาสูงสุด ภาคเอกชนรองลงมา ส่วนภาครัฐน้อยที่สุด

 

          ทั้งนี้ การเปรียบเทียบระหว่าง 3 ดัชนีในภาพรวมพบว่า ประชาชนให้คะแนนความเชื่อถือต่อองค์กรภาคประชาชนหรือภาคสังคมในภาพรวมสูงกว่าภาคส่วนอื่น คิดเป็นร้อยละ 66.4 ภาคเอกชนรองลงมาร้อยละ 61ในขณะที่ภาครัฐ ได้คะแนนน้อยที่สุด ร้อยละ 51.2 หรือน้อยกว่าภาคประชาชนถึงกว่าร้อยละ 14 ซึ่งการที่ประชาชนให้คะแนนความเชื่อถือต่อภาครัฐน้อยสุด เนื่องจากประชาชนคาดหวังกับภาครัฐสูง ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และการทำงานอย่างโปร่งใสแต่ยังไม่เห็นความก้าวหน้าเท่าที่ควร

 

          เมื่อเทียบปัจจัยต่าง ๆ พบว่า ภาคประชาชนได้คะแนนนำในหลายเรื่อง อาทิ ปัจจัยประสิทธิภาพการทำงาน ภาคประชาชน (67.6%) ภาคเอกชน (59.5%) ภาครัฐ (51.8%) สะท้อนว่า ประชาชนเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และฉับไวทันการณ์มากกว่าภาคส่วนอื่น

 

          ปัจจัยการทำงานที่ปลอดจากการคอรัปชั่น ภาคประชาชน (67.4%) ภาคเอกชน (58.6%) ภาครัฐ (48.3%) เห็นได้ชัดว่า ประชาชนเชื่อมั่นการปลอดคอร์รัปชั่นของภาคประชาชนสูงกว่าภาครัฐถึงร้อยละ 19 สะท้อนว่า วาระการปราบปรามการคอร์รัปชั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องพิจารณาเป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อถือจากเช่นเดียวกับ ปัจจัยความโปร่งใส ประชาชนให้คะแนนภาคประชาชนและภาคเอกชนทิ้งห่างจากภาครัฐ มากกว่าร้อยละ 12 (ภาคประชาชน (67.4%) ภาครัฐ (50.4%) ภาคเอกชน (62.5%)) สะท้อนว่า ประชาชนเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนทำงานอย่างเปิดเผย ไม่เจตนาปิดบัง ซ่อนเร้น อำพราง และยินดีได้รับการตรวจสอบจากผู้รับบริการมากกว่าจากหน่วยงานภาครัฐ

 

          เมื่อเทียบ ปัจจัยการทำงานอย่างมืออาชีพ ประชาชนเห็นว่าภาคประชาชนมีการทำงานอย่างมืออาชีพสูงกว่าองค์กรในภาคส่วนอื่น โดยได้คะแนน ร้อยละ 65.7 สูงกว่าภาคเอกชนซึ่งได้คะแนนในระดับกลาง (58.6%) อยู่ถึงร้อยละ 7 และสูงกว่าภาครัฐ (51%) ถึงร้อยละ 14 สอดคล้องกับ ปัจจัยการสร้างพันธมิตรและทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยอื่น ประชาชนเห็นว่าภาคประชาชนสามารถสร้างพันธมิตรและทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้ดีใกล้เคียงกับภาคเอกชน ส่วนภาครัฐได้คะแนนน้อยสุด (ภาคประชาชน (65.2%) ภาคเอกชน (62.6%) หน่วยงานภาครัฐ (54.9%))

 

          จากผล เท่ อินเด็กซ์ ทั้งสามภาคส่วน หากสามารถนำจุดแข็งของแต่ละภาคส่วนมาช่วยสนับสนุนและประสานงานกัน ย่อมช่วยให้การพัฒนาประเทศในภาพรวมเกิดประสิทธิผลมากขึ้น เช่น เมื่อประชาชนให้ความเชื่อมั่นภาคประชาชนสูงสุด ภาครัฐจึงควรสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนให้มีบทบาทมากขึ้นในการช่วยพัฒนาประเทศในกิจการต่าง ๆ ที่ภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณมาให้ภาคประชาชนดำเนินการแทน และภาครัฐทำหน้าที่กำกับดูแล

 

          ขณะเดียวกัน องค์กรภาครัฐซึ่งได้คะแนนอยู่ในระดับต่ำที่สุดในด้านความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ ความเข้าใจในงาน และมีหลักจรรยาบรรณในวิชาชีพ จึงควรเร่งพัฒนาความเป็นมืออาชีพของข้าราชการ และต้องสร้างเสริมจรรยาบรรณให้กับผู้ปฏิบัติงานเปิดกว้างในกระบวนการตรวจสอบมากขึ้น

 

          สำหรับองค์กรภาคเอกชนควรมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความเป็นมืออาชีพ ควรมุ่งเน้นการลงทุนกับงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ทันต่อความต้องการของสังคม อาจสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิชาการเพื่องานวิจัยเชิงพาณิชย์และนำเทคโนโลยีความรู้จากที่ได้จากงานวิจัยหรือต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และต้องหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือธุรกิจซื้อมาขายไปในสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตาม

 

          นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมองค์กรภาคเอกชนในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการทำงานร่วมกับหน่วยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในฐานะของซับพลายเออร์ คู่ค้า หรือพันธมิตรธุรกิจ โดยต้องสร้างระบบการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม เพื่อให้ภาคเอกชนดำเนินงานได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น และควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ รวมทั้งประสบการณ์ให้กับองค์กรภาคเอกชน

 

          การสำรวจดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย ใช้การสำรวจการรับรู้ของประชาชน (Perception Survey) เก็บข้อมูลจากคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตเมือง นอกเมือง ทุกระดับการศึกษา อาชีพ อายุ รายได้ กระจายเพื่อให้ได้ความเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยดำเนินการสำรวจเดือนละดัชนี เมื่อครบในหนึ่งไตรมาส จะทำการสำรวจทวนซ้ำตามลำดับเพื่อเทียบเคียงความเปลี่ยนแปลงระหว่างไตรมาส

 

          ผลสำรวจสะท้อนความรู้สึกนึกคิดและความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อภาคส่วนสำคัญของประเทศทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และการสำรวจอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เห็นมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา และเป็นข้อมูลให้ทั้งสามภาคส่วน ได้รับรู้ถึงความต้องการและความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการดำเนินภารกิจของตน

 

          ทั้งนี้ การสำรวจในระยะต่อไปจะมีการเพิ่มข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลสถิติอื่น ๆ ที่มีการสำรวจหรือวิจัยไว้โดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมาใช้ร่วมกับข้อมูลการรับรู้ของประชาชนเพื่อให้ได้ภาพประสิทธิผลการทำงานที่มีความสมดุลระหว่างมุมมองจากประชาชนและข้อมูลจากการสำรวจวิจัยอันจะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาการทำงานของแต่ละภาคส่วนให้มีประสิทธิผลตามตัวชี้วัดต่อไป

 

 

เปรียบเทียบผลเท่ อินเด็กซ์ ระหว่าง 3 ดัชนี

  

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด