สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ สำหรับเราในฐานะของคนในประเทศ การติดตามข่าวสารบ้านเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน หากใครได้ติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวมอบนโยบายและปาฐกถาพิเศษในโอกาสวาระสำคัญ จะมีคำพูดใหม่ออกมาว่า ท่านจะนำพาประเทศก้าวสู่โมเดล ประเทศไทย 4.0 หรือ ไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้กรอบระยะเวลา 3-5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งวาทะดังกล่าวคงจะสร้างความสงสัยและสร้างความหวังให้กับผู้ฟังไปพร้อมกันครับ
ประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมามีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โมเดลประเทศไทย 1.0 ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ ประเทศไทย 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่โมเดลปัจจุบันคือ ประเทศไทย 3.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก แต่ทว่า ภายใต้โมเดลปัจจุบันที่เป็นอยู่กันตอนนี้ต้องเผชิญกับดักสำคัญที่ไม่อาจนำพาประเทศพัฒนาไปมากกว่านี้ จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องสร้างโมเดลใหม่ขึ้นมาเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศและนำพาประชาชนทั้งประเทศไปสู่โมเดล ประเทศไทย 4.0 ซึ่ง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายถึงแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยผ่านกลไกประชารัฐ โดยภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อแก้ไขปัญหาที่ถูกหมักหมมมาอย่างยาวนานและเพื่อให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้ง ตลอดจนการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
ประเทศไทย 4.0 เป็นความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ Value–Based Economy หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม กล่าวคือ ในปัจจุบัน เรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” เราจึงต้องการปรับเปลี่ยนเป็น “ทำน้อย ได้มาก” นั่นหมายถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติสำคัญ คือ 1.เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม 3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทย 4.0 จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) 2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง 3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง โดยมีกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่มด้วยกันคือ 1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) 4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)
แนวนโยบายสู่ความเป็น ประเทศไทย 4.0 ดังกล่าว หากพิจารณาดูแล้วคงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไรครับ แต่ที่ดูเหมือนยังไม่คืบหน้าเนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงาน ดำเนินการแบบตัวใครตัวมัน หากรัฐบาลต้องการผลสัมฤทธิ์ในระดับประเทศ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานหรือองค์กรสถาบันต่าง ๆ ที่จะพร้อมใจกันรวมพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า และที่สำคัญต้องมีหน่วยงานหลักที่จะเฝ้าติดตามความคืบหน้าดังกล่าวครับ
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด