เนื้อหาวันที่ : 2016-05-25 09:38:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3413 views

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

 

 

ท่ามกลางหลายพื้นที่ของไทยต้องประสบกับภัยแล้ง แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทำให้ต้องละทิ้งบ้านเรือน อพยพไปอยู่ที่อื่น ดังเมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมผู้ประสบภัยบ้านเรือนถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่จังหวัดนราธิวาส ทำให้ต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ทางการจัดสรรให้ นับเป็นภัยธรรมชาติที่จำเป็นต้องเร่งรีบแก้ไขอย่างหนึ่ง

 

 

          เพื่อยับยั้งการสูญเสียพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งมักมีการทำเขื่อนกั้นน้ำปกป้องผืนดินไว้ สำหรับแนวทางหนึ่งที่ใช้ได้ผลได้แก่ “ขุนสมุทรจีน 49A2” เขื่อนสลายกำลังคลื่น ผลงานของทีมนักวิจัยที่มี ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหัวหน้าโครงการ

 

          ทั้งนี้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดของประเทศไทย ตลอดความยาวของแนวชายฝั่งทะเลรวมประมาณ 2,667 กิโลเมตร ทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามัน ด้านแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่ภาคตะวันออกจากจังหวัดตราดจนถึงชายแดนภาคใต้จังหวัดนราธิวาส ประสบปัญหาถูกกัดเซาะรุนแรงที่อัตรามากกว่า 10 เมตรต่อปี กินพื้นที่ประมาณ 56,531 ไร่ ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนพื้นที่ถูกกัดเซาะปานกลางอยู่ที่อัตรามากกว่า 5 เมตรต่อปี มีพื้นที่ประมาณ 38,012 ไร่

 

          ด้านชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีพื้นที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งทะเลขั้นรุนแรงอัตรามากกว่า 10 เมตรต่อปี เป็นพื้นที่ประมาณ 7,187 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะปานกลางอัตรามากกว่า 5 เมตรต่อปี มีพื้นที่ประมาณ 11,312 ไร่ โดยรวมทั้งประเทศมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะไปแล้วประมาณ 113,042 ไร่ มีระยะทางยาว 599 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 21% ของความยาวตลอดแนวชายฝั่งทะเลทั้งหมดของประเทศ

 

 

 

 

          พื้นที่ชายฝั่งทะเลช่วงอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงจนถึงปากแม่น้ำเพชรบุรีเป็นพื้นที่อ่อนไหวและมีอัตรากัดเซาะชายฝั่งรุนแรงที่สุดของประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากถึง 30 เมตรต่อปี กินระยะทางยาว 82 กิโลเมตร รวมพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้วประมาณ 18,594 ไร่ เชื่อว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าบางพื้นที่อาจรุนแรงถึง 65-85 เมตรต่อปี ผลจากภาวะแผ่นดินทรุดตัวบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบนแถบกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นผลจากภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายลง

 

          ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจึงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างที่ต้องรับมือในอนาคต 50-100 ปีข้างหน้าหากยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเวลานั้นมาถึงย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ชุมชนและสังคมตามมา การใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการรักษาสภาพธรรมชาติและระบบนิเวศ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน

 

 

ฝั่งอ่าวไทย "สมุทรปราการ"เจอปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งหนักสุด

 

          ในฝั่งอ่าวไทย "จังหวัดสมุทรปราการ" ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มเป็นดินเลน เป็นจังหวัดที่มีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากที่สุดของประเทศ รุกกินความยาวชายฝั่งทะเลรวม 47 กิโลเมตร ในพื้นที่ 6 ตําบล พื้นที่ชายฝั่งใต้ ถูกกัดเซาะไปประมาณ 11,104 ไร่ ในช่วงปี 2510-2548 เชื่อว่าใน 20 ปีข้างหน้าจะถูกกัดเซาะอีกประมาณ 37,657 ไร่ (ข้อมูลจากการศึกษาของหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

          บริเวณชายฝั่งบ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ เป็น 1 ใน 800 กว่าตําบลที่ประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทั่วประเทศ โดยมีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 25 เมตรต่อปี ระยะทางที่ถูกกัดเซาะกิน 12.5 กิโลเมตร พื้นดินหายไปแล้ว 1 กิโลเมตร น้ำท่วมจมบ้านเรือนจนอยู่อาศัยไม่ได้ ต้องอพยพโยกย้ายออกไป จนมีผู้อยู่อาศัยร่อยหรอลงจากเดิมมีอยู่มากกว่า 200 หลังคาเรือน เหลืออยู่เพียงประมาณ 70 กว่าหลังคาเรือน ชาวบ้านย้ายบ้านกันอย่างน้อย 4-5 ครั้ง สร้างความเดือดร้อนตามมาเนื่องจากไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง โฉนดที่ดินที่มีอยู่กลายไปอยู่ในทะเลเสียแล้ว

 

          นอกจากบ้านเรือนของประชาชนจะได้รับผลกระทบแล้ว สถานที่ราชการในหมู่บ้านหลายแห่ง รวมโรงเรียน และสถานีอนามัยของชุมชน ก็ได้รับผลกระทบให้ต้องโยกย้ายด้วยเช่นกัน

ส่วน "วัดขุนสมุทราวาส" หรือ "วัดขุนสมุทรจีน" ต้องกลายสภาพเป็นเกาะกลางทะเล น้ำทะเลกัดเซาะที่ดินจากที่เคยมี 70 ไร่ขณะนี้เหลือประมาณ 5 ไร่อีกทั้งโบสถ์ของวัดจมอยู่ใต้ทะเลต้องยกพื้นโบสถ์สูงประมาณกว่า 1 เมตร เพื่อป้องกันน้ำทะเลท่วมสูงขึ้น ขณะที่ต้นไม้ป่าชายเลนล้มตาย

 

 

สาเหตุสำคัญเกิดจากธรรมชาติ-ฝีมือมนุษย์

 

          การกัดเซาะชายฝั่งสามารถเกิดขึ้นได้โดยกระบวนการตามธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นการกัดเซาะของคลื่นและลม วาตภัย อุทกภัย กระแสน้ำ และภาวะน้ำขึ้น-น้ำลง หรือจากกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้น โดยคลื่นเป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงลักษณะของตะกอนและทรายบริเวณชายฝั่ง

 

          นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการทำกิจกรรมของมนุษย์เรานั่นเอง ผลจากการมุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้ทรัพยากรเป็นฐานการผลิต แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรมากนัก ทำให้ทรัพยากรที่มีความสำคัญถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ

 

          กิจกรรมที่เร่งกระบวนการกัดเซาะชายฝั่งให้รุนแรงมากขึ้น เช่น การพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึก ถนนเลียบชายฝั่ง และถมทะเลเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเน้นการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น สร้างโรงแรม ที่พัก เส้นทางคมนาคม เกิดการรุกล้ำเข้าไปแนวสันทรายชายฝั่ง ซึ่งเป็นปราการที่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติ

 

          ขณะเดียวกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากป่าชายเลนมีความสำคัญหลายอย่าง ทั้งการช่วยดักและตกตะกอนโคลนทำให้เกิดดินงอกตามแนวชายฝั่ง และยังเป็นกำแพงป้องกันกระแสคลื่นและลมป้องกันการพังทลายของแนวชายฝั่งได้ การสูบน้ำบาดาล ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน และมีส่วนให้การกัดเซาะชายฝั่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ส่งผลกระทบระบบนิเวศชายฝั่งและปะการัง สภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่ช่วยเพิ่มพลังในการกัดเซาะได้มากขึ้น เป็นต้น

 

 

"สร้างเขื่อน" แนวทางพื้นฐาน เพื่อแก้ปัญหาทะเลกัดเซาะชายฝั่งทั่วโลก

 

          ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนกันน้ำ ถือเป็นมาตรการต้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาและป้องกันน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ป้องกันคลื่นชายฝั่งที่รุนแรงและเป็นที่จอดเรือในพื้นที่ริมฝั่งทะเล โดยมีการพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา เลขที่ 4,503,649 ออกให้แก่ นายโจเซฟ ชิโอติโน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2528 ได้เปิดเผยวิธีสร้างเขื่อนกันน้ำและท่าจอดเรือโดยใช้แท่งคอนกรีตซึ่งหล่อให้เป็นรูปร่างที่วางต่อและยึดติดกับพื้นจนพ้นน้ำใช้เป็นเขื่อนกันคลื่นและท่าจอดเรือ ไม่ได้ตอกเสาเข็ม นอกจากนี้ยังมีผู้พัฒนายางหรือเขื่อนที่ทำด้วยวัสดุอื่น ๆ ที่ขยายและหดตัวได้ อีกเป็นจำนวนมาก 

 

 

บ้านบาเฆะ จ.นราธิวาส สร้างเขื่อนกันแผ่นดินหาย 15 เมตรต่อปี

 

          การสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันกระแสน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งได้ถูกนำมาใช้ที่หมู่บ้านบาเฆะ อ.เมือง จ.นราธิวาส เช่นกัน แม้จะมาช้าไปหน่อย แต่เชื่อว่าจะช่วยป้องกันการกัดเซาะเพิ่มเติมได้

 

          นายอาแว ตาเยะ ประธานหมู่บ้านประชารัฐร่วมใจและ นายอาแซ อาแว รองประธานหมู่บ้านและหมอพื้นบ้านเปิดเผยว่า หมู่บ้านบาเฆะเดิมตั้งอยู่ในเขตที่เป็นทะเลในปัจจุบันไกลไปอีกราว 10 กิโลเมตร แต่ถูกคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งมาทุกปี โดยคลื่นทะเลที่ยกตัวสูงเฉลี่ย 3-4 เมตร ทำชายฝั่งสูญหายไปประมาณ 15 เมตรต่อปี กระทั่งในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 เกิดเหตุการณ์รุนแรงเมื่อมีคลื่นทะเลยกตัวสูงกัดเซาะชายฝั่งและเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรพังเสียหายไปจำนวน 50 ราย ทางจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย กองทัพภาคที่ 4 สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือทั้งการจัดหาที่อยู่ใหม่ และมีการสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำ

 

          ทั้งนี้ ส.ป.ก. ร่วมกับกองทัพภาคที่ 4 จ.นราธิวาส และสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการจัดซื้อที่ดินตามโครงการพิเศษด้านความความมั่นคงที่ จ.นราธิวาส เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่งและน้ำทะเลท่วมบ้านเรือนเสียหาย โดยสร้างบ้านพักอาศัย ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านประชารัฐร่วมใจ” ซึ่งที่ดินแปลงที่หนึ่ง ณ บ้านบาเฆะ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้จัดสรรที่ดินและสร้างบ้านเสร็จแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานส่งมอบสำเนาทะเบียนบ้านและหนังสือรับรองที่ดินให้แก่ผู้ประสบภัยเพื่อเข้าอยู่อาศัยอย่างสมบูรณ์แล้ว

 

          ม.ล.ปนัดดา กล่าวระหว่างเป็นประธานโครงการ “สำนักนายกรัฐมนตรี จับมือ ส.ป.ก.จัดที่ดินสร้างบ้านให้ผู้ประสบภัยนราธิวาสเสริมความมั่นคงชายแดนใต้” ว่า โดยข้อเท็จจริงประเทศไทยที่ผ่านมาไม่มีความแบ่งแยกหรือแตกแยกเลย แต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราหลงทาง นำแนวคิด “แบ่งแยกและปกครอง” มาใช้ ทำให้เกิดความแบ่งแยก เกิดภาคนิยม จังหวัดนิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เราไม่ควรนำนโยบายการแบ่งแยกมาใช้ “เรารักจังหวัดได้ แต่เราต้องรักประเทศชาติมากกว่า” ทั้งนี้อยากให้ผู้นำหมู่บ้านมีความภาคภูมิใจในการเกิดเป็นคนไทย สิ่งนี้ควรอยู่ในใจตลอดไป

 

          สำหรับบ้านประชารัฐร่วมใจ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เนื่องจากเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งตรงใจของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเกิดจากงบประมาณของประเทศชาติที่เป็นของทุกคน ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ย้ำเสมอว่า การใช้เงินจะต้องใช้อย่างโปร่งใสและคุ้มค่า ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงอยากให้เจ้าของบ้านหวงแหนรักษาบ้านเอาไว้เพราะเงินที่นำมาใช้นั้นเป็นเงินงบประมาณของประชาชนทุกคน”

 

 

 

 

พิธีมอบบ้านแก้ผู้ประสบภัยคลื่นกัดเซาะ

 

 

          ด้าน นางเปรมจิต สังขพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า “การที่ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดที่ดินตามโครงการพิเศษด้านความมั่นคงที่ จ.นราธิวาส โดยร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 4 จ.นราธิวาส และสำนักนายกรัฐมนตรีในการจัดซื้อที่ดิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้น้ำทะเลท่วมบ้านเรือนประชาชนที่บ้านบาเฆะ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยใช้งบประมาณ 19,311,275 ล้านบาทในการจัดซื้อที่ดิน 2 แปลง สำหรับที่ดินแปลงที่ 1 ที่บ้านบาเฆะ มีเนื้อที่ 5-2-33 ไร่ จัดสรรให้กับผู้ประสบภัย จำนวน 22 ราย รายละ 80 ตารางวา ที่ดินแปลงที่ 2 เนื้อที่ 2 เนื้อที่ 93-0-03 ไร่ ตั้งอยู่บ้านบือราเปะ จะจัดสรรให้ผู้ประสบภัย 28 ราย รายละ 1 ไร่ ในแปลงที่ 1 ได้ก่อสร้างบ้านเรือนและสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยได้แล้ว ตั้งชื่อว่า “บ้านประชารัฐร่วมใจ”

 

          เนื่องจากที่ดินที่นำมาจัดสรรให้กับผู้ประสบภัยนั้นเป็นที่ดินเอกชนที่ ส.ป.ก. ใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจัดซื้อมา ดังนั้นการจัดให้เกษตรกรหรือการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ จะเป็นการให้เช่า หรือเช่าซื้อ ซึ่งจะคิดอัตราค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอิงตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ในที่ดินแปลงที่ 1 ที่บ้านบาเฆะ ราคาประเมินอยู่ที่ไร่ละ 310,000 บาท ต้องเสียค่าเช่า 60 บาทต่อปี (ต่อพื้นที่ 80 ตารางวา) ส่วนที่บ้านบือราเปะ ราคาประเมินอยู่ที่ไร่ละ 220,000บาทต่อไร่ จะต้องเสียค่าเช่า 300 บาทต่อไร่ต่อปี อย่างไรก็ดีในเบื้องต้น ผู้ประสบภัยมีมติขอเช่าที่ดินไปก่อนเป็นเวลา 3-4 ปี หากมีความพร้อมมีรายได้เพียงพอจึงเปลี่ยนเป็นเช่าซื้อต่อไป”

 

          นายอาแว กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนหมู่บ้านประชารัฐดีใจที่ทาง ส.ป.ก. และคณะทำงานและหน่วยงานอื่น ๆ มาช่วยดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งได้ร้องขอไปว่า ขอให้อยู่ใกล้ที่อยู่เดิมที่เคยทำมาหากินและอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลช่วยประชาชนอย่างดีที่สุด นอกจากแก้ปัญหาเรื่องคลื่นทะเลแล้ว ยังต้องการให้ช่วยเหลือด้านการศึกษาของเด็ก ๆ อีกทางหนึ่ง

 

          ทั้งนี้การดำเนินการก่อสร้างบ้านประชารัฐร่วมใจ เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานมาช่วยกัน ได้แก่ ทหารช่าง หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสและกองร้อยรักษาดินแดนจังหวัดนราธิวาสมาช่วยงานด้านก่อสร้างบ้าน

 

          นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในจังหวัดนราธิวาสมาร่วมด้วยช่วยกัน อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเคียน, องค์กรบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส, สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนราธิวาส, สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองนราธิวาส, สำนักงานกรมเจ้าท่านราธิวาส, การประปาส่วนภูมิภาค สาขานราธิวาส, อำเภอเมืองนราธิวาส และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาสร่วมกันจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างถนน ระบบไฟฟ้า ประปาและอื่น ๆ ให้

 

          ขณะที่หน่วยงานในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนราธิวาส หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่น ๆ ในจังหวัดนราธิวาสร่วมดำเนินการบูรณาการพัฒนาการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ให้กับผู้ประสบภัย เช่น การผลิตน้ำบูดู การผลิตปลาเค็มตากแห้ง การเลี้ยงไก่ เป็ดและเพาะเห็ด การปลูกผักตามฤดูกาลและปลูกผักสวนครัว การร่วมดำเนินงานรูปแบบรวมกลุ่มและการเป็นหมู่บ้านสีขาว

 

 

"เขื่อนสลายกำลังคลื่น" ที่บ้านขุนสมุทร ผลงานนักวิจัยไทย

 

          การแก้ปัญหาที่นราธิวาสเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถบริหารจัดการได้ง่าย เนื่องจากเป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่มากนัก เมื่อเทียบกับชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ประกอบกับสภาพชายหาดเป็นโคลน ไม่ใช่หาดทราย นักวิจัยจึงต้องศึกษาเพื่อหาวิธีแก้วิกฤตที่เหมาะสมกับพื้นที่แทน ในโครงการชื่อว่า "โครงการการศึกษาบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสมุทรปราการ: กรณีศึกษานำร่องเพื่อการออกแบบ ณ บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ ของ คณะผู้วิจัยที่มี ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหัวหน้าโครงการ ระยะเวลาโครงการ: 2549–2555 ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเป็น 1 ใน 16 งานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2555

 

 

 

.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล

หัวหน้าโครงการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

          งานวิจัยดังกล่าวนี้เป็นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรปราการ กรณีศึกษา ณ บ้านขุนสมุทรจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพร้อมทั้งทดสอบแนวทางแก้ไขปัญหาในบริเวณพื้นที่นำร่อง และเพื่อเสนอมาตรการเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของจังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่อ่าวไทยตอนบน

 

          โดยบูรณาการศาสตร์หลายแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งด้านธรณีวิทยา สมุทรศาสตร์ วิศวกรรมชายฝั่ง อุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา นิเวศวิทยาชายฝั่ง เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม สังคมวิทยา ภูมิสถาปัตยกรรม กฎหมายที่ดิน ควบคู่ไปกับกิจกรรมการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่ต้นจนจบ มีการเก็บข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้กระบวนการธรรมชาติร่วมกับชุมชนจนนำมาสู่การออกแบบโครงสร้างเขื่อนสลายกำลังคลื่นบริเวณหาดโคลน และได้จดสิทธิบัตรในชื่อว่า “ขุนสมุทรจีน 49A2”

 

 

โครงสร้าง “ขุนสมุทรจีน 49A2” ช่วยลดทะเลกัดเซาะ-ชายฝั่งงอก

 

          ทั้งนี้เขื่อน "ขุนสมุทรจีน 49A2” อาศัยข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบโดยทำความเข้าใจกับปัจจัยและกลไกทางธรรมชาติ ซึ่งการศึกษาพบว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งหาดโคลนอ่าวไทยตอนบน เป็นผลมาจากอิทธิพลของลมประจำถิ่นของพื้นที่ตลอดทั้งปี ช่วงแรกประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายนจะมีลมพัดมาทางทิศใต้หรือที่เรารู้จักโดยทั่วไปว่า ลมว่าวและต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

 

 

บริเวณวัดขุนสมุทรจีนที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะและวิธีการแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีทำแนวเขื่อนสลายกำลังคลื่น

 

 

          การออกแบบ “ขุนสมุทรจีน 49A2” มีหลักการออกแบบโดยใช้โครงสร้างให้น้อยที่สุดและมีความโปร่งมากที่สุดเพื่อรับแรงปะทะคลื่นให้น้อยที่สุด เพื่อให้คลื่นที่ซัดมาอ่อนกำลังลง จนไม่มีพลังพอที่จะกัดเซาะแนวชายหาดโคลนได้อีกและทำให้ตะกอนตะกอนในน้ำทะเลสามารถตกตะกอนหลังแนวโครงสร้างเขื่อนได้

 

          นักวิจัยออกแบบโครงสร้างเขื่อนเป็น 2 ส่วนคือ

 

 

          1. ส่วนที่ช่วยสลายกำลังคลื่น มีลักษณะโครงสร้างเป็นเสาคอนกรีตสามเหลี่ยมด้านเท่าขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร มีความยาว 10 เมตร เพื่อใช้ปักนอกชายฝั่งทะเลออกไปประมาณ 500 เมตร โดยให้เสาแต่ละต้นปักลงพื้นทะเลและโผล่พ้นผิวดินประมาณ 2.6 เมตร มีการจัดวางให้เสาแต่ละต้นหันด้านปลายมุมแหลมเข้าหาหน้าคลื่น โดยปักเป็น 3 แถว ในลักษณะสลับฟันปลา ระยะห่างระหว่างเสาแต่ละต้นและแต่ละแถวมีการออกแบบไว้ที่ 1.5 เมตร (3D) หลักการทำงานของโครงสร้างสลายกำลังคลื่นนั้น เมื่อคลื่นที่พัดเข้ามาทางทิศใต้ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน จะถูกลักษณะเสาคอนกรีตสามเหลี่ยมเฉือนออกเป็น 2 ทิศทางและสะท้อนออกไป เมื่อคลื่นลูกต่อไปผ่านเข้ามาจึงมีการหักล้างของพลังงานคลื่นลง คลื่นบางส่วนที่สามารถผ่านโครงสร้างสลายกำลังคลื่นในแถวแรกได้ก็จะไปถูกโครงสร้างในแถวต่อ ๆ ไปสลายกำลังคลื่นลงไปเรื่อย ๆ

 

          2. เป็นส่วนที่ช่วยกักตะกอน มีลักษณะเป็นเสาคอนกรีตรูปตัวแอล (L) ขนาด 50 x 50 x 43 เซนติเมตร ความยาว 6 เมตร ออกแบบเพื่อปิดผนังด้านข้าง โดยใช้ปักตามแนวปากคลองทั้ง 2 ด้าน ตามแนวร่องน้ำธรรมชาติโดยให้เสาแต่ละต้นปักลงพื้นท้องทะเลและโผล่พ้นผิวดินประมาณ 2 เมตร และจัดวางให้เสาแต่ละต้นหันปลายแหลมสามเหลี่ยมเข้าหาลำคลอง ระยะห่างระหว่างเสา แต่ละต้นออกแบบไว้ที่ 0.5 เมตร (1D)โครงสร้างส่วนที่สองนี้ออกแบบไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ตะกอนเคลื่อนตัวสู่แนวคลองเร็วเกินไปและสามารถป้องกันคลื่นที่เกิดในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเอาตะกอนบริเวณริมชายฝั่งออกสู่นอกชายฝั่งต่อไป จึงเป็นการช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งและยังสามารถช่วยกักเก็บตะกอนไว้ได้ด้วย

 

          "เมื่อตะกอนพอกพูนมากขึ้น จะปลูกป่าชายเลน เช่น ต้นแสมและลำพู เพื่อช่วยยึดตะกอนเอาไว้ ให้งอกกลายเป็นแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง"

 

          ภายหลังจากการติดตั้ง “ขุนสมุทรจีน 49A2” ในพื้นที่นำร่อง ได้มีงานวิจัยในระยะที่สอง เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเขื่อนสลายกำลังคลื่น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นก่อนขยายผลไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ผลจากการศึกษาประสิทธิภาพของเขื่อนสลายกำลังคลื่นในช่วงเวลา 5 ปีหลังการติดตั้งพบว่า “ขุนสมุทรจีน 49A2” สามารถช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณบ้านขุนสมุทรจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการสะสมตัวของตะกอนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีรายได้จากการทำประมงพื้นบ้านดีขึ้น ฟื้นเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นตามมา

 

 

งานวิจัยฟื้นคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

 

          โครงการวิจัยนี้นับว่า ได้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจหลายอย่าง อาทิ ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวเขื่อน ชาวบ้านมีรายได้จากบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ การนำผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำมาขาย อีกทั้งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ขึ้นทำให้มีสัตว์น้ำมากขึ้น ชาวบ้านหันมาทำอาชีพจับหอยแครงทำให้มีรายได้อย่างน้อย 300 บาทต่อวัน

 

          เมื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการลงทุนก่อสร้างเขื่อนความยาว 250 เมตร มูลค่า 10 ล้านบาท และการปลูกป่าหลังแนวเขื่อนเป็นพื้นที่ 78.125 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 0.625 ล้านบาท รวม 10.625 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในอีก 20 ปีข้างหน้า หยุดความเสียหายจากการกัดเซาะชายฝั่งคิดเป็นมูลค่าราว 151.22 ล้านบาท ได้พื้นที่และการปลูกป่าคืน คิดเป็นมูลค่า 8.02 ล้านบาท รวมได้ประโยชน์สูงกว่าทุนที่ลงไปหลายเท่าตัว หรือมีมูลค่ามากถึง 148.625 ล้านบาท

 

          ที่สำคัญ โครงการนี้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนดีขึ้น การมีส่วนร่วมทำให้ชุมชนได้ร่วมกระบวนการเรียนรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ทำให้เกิดความสามัคคีเพิ่มขึ้น ความต้องการย้ายออกลดลง ความเครียดและปัญหาการลักทรัพย์ลดลง เกิดความร่วมมือกับเครือข่ายจากภายนอก การศึกษาดูงานและการปลูกจิตสำนึกรักแผ่นดินเกิดของเยาวชน และในด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีทำให้ช่วยกันดูแลท้องถิ่น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์ทะเลและป่าชายเลน กลายเป็นท้องถิ่นที่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืนสืบไป

 

          โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า ปัญหาทะเลกัดเซาะชายฝั่งสามารถแก้ไขได้ โดยอาศัยการศึกษาและมีการบูรณาการทั้งในแง่ของการดึงสหวิชามาใช้ ตลอดจนความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

• หนังสือ “ขุนสมุทรจีน 49A2” ต้นแบบการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะหาดโคลน โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุลและคณะ พิมพ์โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

• สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (www.trf.or.th)
• ภาพแผนที่แสดงการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ที่มา: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด