เนื้อหาวันที่ : 2016-05-18 11:04:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3045 views

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

 

 

ความคืบหน้าในการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ใน 10 อุตสาหกรรม คาดว่าจะสามารถสรุปและเห็นความชัดเจนของกฎหมายภายในเร็ว ๆ นี้ โดยกองทุนดังกล่าวจะเป็นปัจจัยเสริมในการส่งเสริมและจูงใจให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

 

          หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ประกอบด้วย การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ มี 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิต โดยการลงทุนชนิดนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มอาหารแห่งอนาคต หรือการแปรรูปอาหาร

 

          ขณะที่อีก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นรูปแบบของการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่มหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

 

          โดยอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมจะสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรได้ประมาณ 70% จากเป้าหมาย ส่วนอีก 30% จะมาจากอุตสาหกรรมใหม่ นั้น

 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของภาคเอกชนไทยเติบโตน้อยมาก โดยช่วงปี 2549-57 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยปีละ 2% จึงเป็นผลว่าทำไมการขยายตัวของจีดีพีจึงขยายตัวในอัตราต่ำเฉลี่ยที่ 3.4% จากก่อนหน้านั้นช่วงปี 2543-48 การลงทุนขยายตัวเฉลี่ยปีละ 9% จีดีพี ช่วงนั้นขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.3%

 

          และยังพบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอที่เข้ามายังอาเซียน โดยสัดส่วนที่ประเทศไทยได้รับลดลงเฉลี่ยปีละ 6% ดังนั้น จำเป็นที่ไทยต้องเร่งรัดให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยถ้ามีเป้าที่จะเพิ่มการลงทุนของเอกชน 10% ทุกปี จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นปีละ 5-6% ได้

 

          อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมทั้ง 10 กลุ่ม การจะใช้แค่สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ดังนั้น ต้องปรับวิธีการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมที่ไฮเทคมากที่ไทยต้องการมาสู่การเจรจากับนักลงทุนรายสำคัญ เหมือนที่ประเทศเพื่อนบ้านดำเนินการ โดยส่วนหนึ่งที่ไทยชักจูงนักลงทุนมาได้น้อยในช่วงที่ผ่านมา เพราะประเทศเพื่อนบ้านใช้วิธีการที่หากนักลงทุนต้องการสิ่งใดก็ยินดีที่จะสนอง ขณะที่ของไทยที่ผ่านมามีแต่สิทธิประโยชน์บีโอไอตายตัวอยู่แค่นั้น

 

          นางอรรชกา กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะทำงานเจรจาโดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วย รมว.อุตสาหกรรม, รมว.คลัง และเลขาธิการบีโอไอ เป็นต้น เพื่อไปเจาะเจรจาเรื่องสิทธิประโยชน์กับนักลงทุนเป้าหมาย ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกเป็นราย ๆ ไป โดยเบื้องต้นจะเพิ่มสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากบีโอไอให้นักลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การตั้งกองทุนสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งมาตรการทางการคลัง เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 ปี ซึ่งมากกว่าบีโอไอที่ให้สิทธิสูงสุด 8 ปี หรือลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ให้เสียภาษี 15% เป็นต้น

 

          นอกจากนี้ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ต้องมีมาตรการสนับสนุนพิเศษเพิ่มที่เหมาะสมแต่ละเรื่อง โดยแต่ละกระทรวงต้องเสนอมาตรการให้ ครม.พิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรม แม้จะเป็นการมองอนาคตในระยะยาวแต่จะเน้นการลงทุนช่วง 1-2 ปีนี้ออกมาก่อน

 

 

จัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

          ด้านความคืบหน้าในการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปและเห็นความชัดเจนของกฎหมายภายในเร็ว ๆ นี้ โดยกองทุนดังกล่าวจะเป็นปัจจัยเสริมในการส่งเสริมและจูงใจให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

          ทั้งนี้ วงเงินที่จะใช้ดำเนินการเบื้องต้นจะมาจากงบกลาง หรืองบประมาณ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม โดยกระทรวงการคลังจะทยอยใส่เงินลงไปในกองทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเหมาะสมในการดำเนินการด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถจูงใจให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่อง

 

          นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการดำเนินการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชน โดยจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 3 เท่าของรายจ่ายภาษีที่เกิดขึ้นจริง หรือคิดเป็น 300% โดยกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์จำนวน 5 ปี ซึ่งจะเริ่มมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558–31 ธ.ค.2562

 

          สำหรับมาตรการภาษีดังกล่าว มีการกำหนดวงเงินการใช้สิทธิในการหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า หากผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะใช้สิทธิหักรายจ่ายได้ในวงเงินสูงสุด 60% ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายได้ 9% และผู้ประกอบการที่มีรายได้ตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไป หักรายจ่ายได้เพิ่มเติมอีก 6%

 

 

BOI เผยนักลงทุนตอบรับนโยบายส่งเสริมการลงทุน

 

          ด้าน นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า หลังจากบีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการเป้าหมาย และการส่งเสริมลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ประกอบกับการเดินหน้าจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการแก่นักลงทุนโดยตรงทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีนักลงทุนแสดงความสนใจยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนภายใต้มาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่า ภายในครึ่งปีแรกของปีนี้ จะมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท โดยจำนวนนี้จะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

 

          ทั้งนี้ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มั่นใจว่า การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตลอดทั้งปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่ 450,000 ล้านบาท โดยในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 187 โครงการ เงินลงทุนรวม 32,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 96 จากช่วงเดียวกันปี 2558 ที่มีมูลค่าเงินลงทุน 16,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) จำนวน 120 โครงการ เงินลงทุน 12,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าลงทุน 1,918 ล้านบาท

 

          นอกจากนี้ โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68.45 เป็นกิจการใน 10 อุตสาหกรรมตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมกลุ่มดิจิทัล รองมาเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

 

 

เล็ง 4 ประเทศตลาดใหม่เซ็น MOU เอื้อนักลงทุนไทย

 

         นอกจากนั้น นางหิรัญญา ยังได้กล่าวถึงทิศทางการส่งเสริมการลงทุนไทย ในต่างประเทศ ปี 2559 ว่า บีโอไอจะเร่งเดินหน้าดำเนินตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านการให้ความช่วยเหลือนักลงทุน การให้ข้อมูลเชิงลึกในรายอุตสาหกรรมทุกด้านที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ การจัดฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักลงทุนไทย และการจัดบริการให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาให้กับนักลงทุนโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในระดับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศเป้าหมาย

 

          ทั้งนี้ บีโอไอได้กำหนดประเทศและกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยมีศักยภาพสำหรับนักลงทุนในการเข้าไปดำเนินธุรกิจ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) จะเน้นให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุน ในอุตสาหกรรมเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ อาหารทะเลแปรรูป วัสดุก่อสร้าง 2.กลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน เน้นไปที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จักรยานยนต์ อาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปิโตรเคมี และ 3.ประเทศตลาดใหม่ ได้แก่ ยูกันดา ศรีลังกา มองโกเลีย อุซเบกิสถาน เน้นไปที่อุตสาหกรรมประมง สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เหมืองแร่พลังงานทดแทน เกษตรและเกษตรแปรรูป

 

 

นายกฯ ชวนค่ายรถญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม หนุนไทยฐานผลิตยานยนต์สมัยใหม่

 

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โตโยต้า อีซูซุ นิสสัน และฮอนด้า เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามกำหนดการ “Prime Ministermeet CEOs” ครั้งที่ 2 การพบหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าการลงทุน การส่งออกและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

 

          พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ไม่เคยทอดทิ้งประเทศไทยโดยที่รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการลงทุนในไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและขอให้ยังคงรักษาฐานการผลิตในไทยต่อไปหากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ขอให้แจ้งเพื่อจะนำไปพิจารณาแก้ไข

 

          พร้อมย้ำนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานแบบอีโคคาร์รถยนต์ไฮบริด ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ รวมถึงรถยนต์ไฮโดรเจนที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับรถยนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเอทานอลและไบโอดีเซล ช่วยเพิ่มจำนวนความต้องการใช้พืชพลังงานชนิดอื่น ๆ อาทิ ปาล์มและอ้อยในประเทศ ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง

 

          ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นกล่าวถึงการดำเนินการของบริษัทในประเทศไทย รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลนำมาปรับปรุงแก้ไขโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ต่างกล่าวถึงแผนการและเป้าหมายในอนาคตที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย เพราะไทยถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดรองจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นและพร้อมที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยีระดับสูง อาทิ โตโยต้า มีแผนที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฮบริดซึ่งจะใช้เทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับการพัฒนายานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงในอนาคตที่จะขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าและเซลล์พลังงาน

 

          อีซูซุ มีแผนที่จะต่อยอดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรถกระบะไฮบริดรวมทั้งจะใช้ผลิตผลทางการเกษตรส่วนเกินที่มีอยู่ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ขณะที่บริษัท นิสสัน มีเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อการส่งออก

 

          ในขณะที่ ฮอนด้า ต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการวิจัยและพัฒนารถยนต์ในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนารถยนต์ พร้อมทั้งขอบคุณรัฐบาลที่ปรับแก้กฎหมาย ช่วยให้การนำเข้าส่งออกรถต้นแบบไม่ต้องเสียภาษี ส่งผลให้ต้นทุนการวิจัยและพัฒนาต่ำลงและมีการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย

 

          พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตโดยกำหนดให้มีการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ซึ่งข้อเสนอแนวทางการพัฒนายานยนต์ของค่ายรถยนต์ทุกค่ายสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและสามารถพัฒนาไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

 

          อย่างไรก็ดี อยากจะเห็นการลงทุนเพิ่มเติมของกลุ่มยานยนต์ในประเทศไทย ทั้งการเปิดโรงงาน การเปิดศูนย์ทดสอบ แต่ขอให้กลุ่มขยายการผลิตโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสูง และถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทยและธุรกิจเอสเอ็มอีไทยมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เป็นพี่เลี้ยงให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐของไทย อาทิ โรงงานผลิตแบตเตอรี่

 

 

 

 

อุตสาหกรรม เล็ง “ศรีลังกา” ขยายฐานลงทุน อัญมณี-ชา

 

          ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศศรีลังกา มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ไทยกำลังมองหาประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เพื่อขยายฐานตลาดในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ดีมาโดยตลอด มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 548.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ) และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศรีลังกา เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียกับตะวันออกกลางและยุโรป จึงเป็นโอกาสของไทยในการมาเปิดตลาดในภูมิภาคนี้ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปศรีลังกา อาทิ ปูนซีเมนต์ ผ้าผืน ปลาแห้ง เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้า อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณฑ์โลหะผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากศรีลังกา

 

          ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development Board) ของศรีลังกา จึงได้หารือเพื่อยกระดับความร่วมมือการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจระหว่างกัน โดยจะเริ่มต้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมโดดเด่นของทั้งสองประเทศ ได้แก่

         

          1. อุตสาหกรรมอัญมณี ศรีลังกามีเหมืองพลอยที่สำคัญและมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านอัญมณี ในขณะที่ไทยมีนักออกแบบเครื่องประดับและนักธุรกิจอัญมณี แฟชั่นที่สามารถเสริมกันได้รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการพบปะระหว่างนักลงทุนของทั้งสองประเทศ

 

          2. อุตสาหกรรมชา ศรีลังกาเป็นแหล่งผลิตชาที่สำคัญและมีชื่อเสียง สามารถผลิตชาได้เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย มีองค์ความรู้ในด้านการหมักชา ในขณะที่ไทยเริ่มมีการปลูกชาในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย มีการ

 

          ส่งเสริมการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ชาเชียงราย อีกทั้งประเทศไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการแปรรูป ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมวางแผนในการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชาต่อไป

 

          3. อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ศรีลังกาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต สินค้าที่สำคัญคือผัก ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่ม และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งยังมีโอกาสที่ธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยจะสามารถเข้ามาทำการค้าการลงทุนได้ เนื่องจากศรีลังกามีผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยไทยจะเสนอให้มีโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการแปรรูปอาหารการผลักดันการร่วมลงทุนในด้านเครื่องจักรแปรรูปอาหาร การสร้างความร่วมมือเพื่อขยายฐานการผลิตสินค้าประเภทอาหารไทยในศรีลังกาต่อไป

 

 

ตั้ง สนง.เขตเศรษฐกิจ พร้อมออกแบบสิทธิประโยชน์ “ซูเปอร์คลัสเตอร์”

 

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กบพ.) ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าการประชุมนี้ถือเป็นนัดแรกนับแต่มีการเปลี่ยนจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมาเป็น กบพ. หลังจากมีความพร้อมทั้งเรื่องกฎหมาย ระเบียบ และสิทธิประโยชน์ในการบริหารที่เป็นระบบมากขึ้น

 

          สำหรับการประชุมครั้งนี้ ยังได้อนุมัติให้มีการตั้งสำนักงานนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้เป็นหน่วยงานที่จะอยู่ใต้พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการออกกฎหมาย โดยมอบให้ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทำหน้าที่หัวหน้าบริหาร โดย กนอ.จะมีบทบาทสูงมากในการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

          ขณะเดียวกัน ยังตั้งคณะทำงานเพื่อออกแบบสิทธิพิเศษที่ให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในซูเปอร์คลัสเตอร์ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับแหลมฉบัง มาบตาพุดซึ่งคณะทำงานชุดนี้ประกอบด้วย นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริหาร บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย เป็นประธาน นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์  ประธานกรรมการ บริษัท ไออาร์พีซี นายคนิศ แสงสุพรรณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท การบินไทย และ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเป็นกรรมการ โดยมีส่วนราชการ เช่น บีโอไอ เข้าร่วมด้วย

 

          นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ กนอ.เตรียมความพร้อมของพื้นที่ลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจังหวัดที่เป็น ซูเปอร์คลัสเตอร์ทั้ง 3 ที่ปัจจุบันมีความพร้อมในเรื่องสาธารณูปโภค ทั้งท่าเรือ สนามบิน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นวัตถุดิบรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อยู่แล้ว แต่ต้องมีที่ให้กับนักลงทุน ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่า มีที่ดินของราชการที่มีความพร้อมนำมาใช้ได้อยู่แล้วประมาณ 1,000 ไร่

 

 

เร่งแจงสิทธิประโยชน์ “คลัสเตอร์” กระตุ้นลงทุนเมืองนวัตกรรมอาหาร

 

          นายเจษฎา ศรศึก ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอได้สัมมนาในหัวข้อ “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปสู่อนาคต” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการถึงสิทธิประโยชน์และบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

 

          โดยบรรยายพิเศษแบบเจาะลึกยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป รวมถึงการบรรยายเรื่องนโยบาย “Super Cluster: เมืองนวัตกรรมอาหาร” จากผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน “เมืองนวัตกรรมอาหาร” หลังจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้เห็นชอบให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบซูเปอร์คลัสเตอร์

 

          สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุน “เมืองนวัตกรรมอาหาร” ประกอบด้วย กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้น ขณะที่กิจการเป้าหมายที่ตั้งใน Food Innopolis จะได้รับสิทธิประโยชน์ คือ 1.สิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ทั่วไป อาทิ ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานอีก 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เป็นต้น 2.สิทธิประโยชน์ในรูปแบบซูเปอร์คลัสเตอร์ หากลงทุนภายใต้เงื่อนไขของการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบซูเปอร์คลัสเตอร์ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยการกำหนดวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นให้เป็นไปตามสิทธิพื้นฐานของประเภทกิจการนั้น ๆ และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี

 

          ส่วนกิจการเป้าหมาย เช่น กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ (ที่ไม่เข้าข่ายกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ) กิจการบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น

 

 

หนุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่นการลงทุน

 

          นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ได้มีการหารือกัน เพื่อกำหนดแนวทางการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศ ซึ่งข้อมูลจากสถาบัน IMD ปัจจุบันผลิตภาพการผลิตของไทยอยู่ที่ 25,508 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี ยังคงต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ มาเลเซียที่มีผลิตภาพการผลิต 54,150 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี สูงกว่าแรงงานประเทศไทยถึง 2 เท่า โดยเฉพาะในภาคเกษตร ผลิตภาพการผลิตของประเทศมาเลเซีย สูงกว่าประเทศไทยถึง 5 เท่า ขณะที่ผลิตภาพภาคการผลิตและภาคบริการ สูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า

 

          ทั้งนี้หอการค้าไทยได้ให้ความสำคัญกับ 5 กระบวนงานในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ (Ease of Doing Business) ได้แก่ 1.การจัดตั้งธุรกิจ 2.การขออนุญาตก่อสร้าง 3.การชำระภาษี 4.การนำเข้า-ส่งออกและ 5.VISA & Work Permit พร้อมทั้ง สนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพในทุกกระบวนการของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นทางการจัดการวัตถุดิบ กลางทาง กระบวนการผลิตและโลจิสติกส์ รวมทั้งการบรรจุหีบห่อ การขนส่งการบริหารสินค้าคงคลัง เป็นต้น และปลายทาง การพัฒนาด้านการตลาด ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนโดยรวมของธุรกิจ (Overall Cost) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคการผลิต สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพของเครื่องจักร

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 64.7% เท่านั้น ซึ่งหากภาคธุรกิจสามารถเดินเครื่องทำการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 80-100% ก็จะสามารถยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ และช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้

 

          "หอการค้าไทยสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการปฏิรูปการศึกษา การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต และการพัฒนาคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยให้แรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง" นายอิสระ กล่าว

 

 

 

 

กนอ. เผยนักลงทุนไทย-นอก สนใจนิคมอุตสาหกรรมยาง

 

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการ 17 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่จากไทย จีน และญี่ปุ่น รวม 5 ราย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเครือข่ายสหกรณ์ รวม 12 ราย สนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปยางในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือรับเบอร์ซิตี้ ที่ จ.สงขลา อาทิ โรงงานผลิตกาวยาง มูลค่าลงทุน 300-500 ล้านบาทและโรงงานแปรรูปยางคอมพาวด์ มูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาท

 

          ทั้งนี้ เบื้องต้น กนอ.จัดแบ่งพื้นที่ นิคมฯ เป็น 50 แปลง แปลงละ 6-8 ไร่ และด้วยปริมาณพื้นที่ที่มีอยู่ในขณะนี้จะสามารถรองรับนักลงทุนได้ประมาณ 50 ราย ซึ่ง กรอ.คาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้หรือภายในปี 2561 จะมีการลงทุนเต็มพื้นที่ เพราะที่ผ่านมานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสนใจและติดต่อขอข้อมูลเป็นจำนวนมาก

 

          นายวีรพงศ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและกลุ่มสหกรณ์บางส่วน ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มสิทธิประโยชน์และช่วยเหลือเรื่องราคาที่ดินเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ภาครัฐกำหนดราคาขายที่ดินไว้ที่ 2.7-3.5 ล้านบาท/ไร่ หรือเช่าในราคา 1.7-2.2 แสนบาท/ปี ให้สิทธิยกเว้นค่าเช่าฟรี 3-5 ปี ฟรีค่าจดทะเบียนการเช่า และยกเว้นค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก 3-5 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องทำสัญญาเช่าภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้

 

          นายวีรพงศ์ ระบุว่า กนอ.อยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่ในเขตพัฒนาบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ประมาณ 500-1,000 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรม ซูเปอร์คลัสเตอร์และอุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี จากนั้นจะสรุปพื้นที่และเสนอให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาภายใน 2 สัปดาห์

 

          ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กบพ.) มอบหมายให้ กนอ.จัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยพื้นที่ดังกล่าวต้องมีความพร้อมในเรื่องสาธารณูปโภคทั้งท่าเรือ สนามบิน และต้องมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นวัตถุดิบรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ

 

 

เดินหน้าคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป ดัน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ดูดนักลงทุน

 

          นายอาทิตย์ วุฒิคโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป ได้เห็นชอบที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์เป้าหมายหลักใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.สารสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ 2.สารออกฤทธิ์ จากวัตถุดิบธรรมชาติ 3.อาหารทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ 4.ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และยางแบริ่ง

 

          จากการหารือกับผู้ประกอบการภายในประเทศ หลายรายสนใจขยายการลงทุนในกลุ่มอาหารทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพราะสามารถต่อยอดจากสายการผลิตเดิมได้ และเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ขณะที่สินค้าในกลุ่มสารสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ และสารออกฤทธิ์ ยังมีผู้สนใจน้อย เพราะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ต้องเน้นการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเป็นหลักทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบรายละเอียดโรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่ม ว่ามีการขอตั้งโรงงาน และขยายโรงงานมากน้อยเพียงไร เพื่อให้มีข้อมูลในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งเข้าไปสำรวจความคิดเห็นว่าผู้ประกอบการต้องการให้รัฐสนับสนุนในเรื่องใด เพื่อที่ได้ให้การส่งเสริมได้อย่างตรงจุด

 

 

ส.อ.ท. จับมือ มจธ. ตั้งหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

 

          คลัสเตอร์ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดทำหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ในด้านบุคลากร รวมถึงยังจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกต่อไปได้อีกด้วย

 

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า หากพูดถึงอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย หนึ่งในนั้นจะต้องมีอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เสมอ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีสัดส่วน GDP ประมาณร้อยละ 10 ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต มีการจ้างงานมากกว่า 850,000 คน และมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงจำนวนการผลิตและการส่งออก

 

          โดยจากข้อมูลสถิติ ในปี 2558 พบว่า มีจำนวนการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 1,913,002 คัน มีการส่งออกจำนวน 1,204,895 คัน และยอดขายภายในประเทศกว่า 799,592 คัน รวมถึงมีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 16,259 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ยังมีการประเมินว่า ในปี 2559 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยังคงจะมีแนวโน้มการส่งออกปรับตัวสูงขึ้น

 

          แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ยังต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ อาทิ ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกในปัจจุบัน ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องการลดมลพิษทางอากาศ การประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้สามารถจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่มีค่านิยมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในต่างประเทศที่มีการออกกฎระเบียบและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น

 

          รวมถึงความท้าทายของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมีมาตรการทางภาษีและนโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ในการรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก

 

          นอกเหนือจากการที่ภาครัฐมีนโยบายด้านการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างและพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาระบบการขนส่ง การสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์เพื่อผลักดันให้เกิด Auto City ในประเทศไทย และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกแล้ว

 

          ในส่วนของภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชนก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนหนึ่งที่สำคัญ ที่จะต้องสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบการศึกษา เพื่อให้บุคลากรในสถานศึกษา ทั้งอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะที่สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยี และสภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก โดยการลงนามความร่วมมือ เรื่อง "การจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์" ระหว่าง คลัสเตอร์ยานยนต์ ส.อ.ท. และ มจธ. ในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เกิดความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษา อันจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ในด้านบุคลากร และให้ประเทศไทยสามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกได้ต่อไป

 

          สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อตัวเลขการผลิตรถยนต์ให้ขยับสูงขึ้น รวมทั้งภาครัฐได้มีการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ (Super Cluster) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) และอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น

 

          โดยใน ปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน ซึ่งประเทศไทย มีกำลังคนอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ประมาณ 850,000 คน และพบว่าในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 มีความต้องการแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ จำนวน 63,000 คน ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 200,000 คน

 

          ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการยกระดับแรงงานไทยให้มีทักษะกำลังแรงงานอย่างมีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการ และสามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน

 

          ทั้งนี้การจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จะเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีความสามารถและผลิตภาพ รวมทั้ง มีองค์ความรู้ในระดับสูงขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ครอบคลุมทั่วทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียน นักศึกษาที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมเป็นบุคลกรที่มีศักยภาพ มีมาตรฐาน และสมรรถนะในระดับสากล ซึ่งการดำเนินโครงการในรูปแบบดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

          รศ.ดิลก ศรีประไพ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือโครงการข้างต้นในการจัดตั้งหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ นั้น ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีทีมอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการดำเนินงานวิชาการ และมีผู้แทนจากคลัสเตอร์ยานยนต์ที่มีความเข้าใจในกระบวนการผลิต และแนวโน้ม ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมมาร่วมคิดและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษา โดยทางมหาวิทยาลัย และคลัสเตอร์ยานยนต์ได้วางแผนร่วมกันว่า จะดำเนินการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์ 40 คนต่อปีการศึกษา โดยจะจัดหลักสูตรให้มีโครงงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม Work Integrated Learning ระยะเวลา 6 เดือน มีการฝึกงานทุกปีการศึกษา หลักสูตรละ 2 เดือน โดยการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว จะมีการดำเนินงานให้ครบถ้วนตามเกณฑ์การรับรองการประกอบวิชาชีพ โดยสภาวิศวกร กว.วิศวกรรมอุตสาหการ (กลุ่มการผลิต) ด้วย

 

 

สจล. ของบ 4 พันล้านบาท ดึงมหาวิทยาลัยดังปั้นนักวิจัย

 

          นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า เตรียมหารือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการดึงมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐ มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการจัดการวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากการจัดอันดับของยูเอส นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ท มาตั้งสาขาในไทย เพื่อผลิตบุคลากร ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และนักวิจัย เพื่อรองรับการขยายอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ด้านความน่าเชื่อถือจากบริษัทที่เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีของโลกสนใจเข้ามาลงทุนในไทยง่ายขึ้น และมีผลงานวิจัย เชิงนวัตกรรมระดับโลกต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อีกจำนวนมาก

 

          ทั้งนี้ ขั้นตอนปัจจุบันระหว่างการเจรจากับมหาวิทยาลัยดังกล่าวให้มาตั้งสาขาในไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นสาขาแรกในอาเซียน และเป็นแห่งที่ 2 ในเอเชีย รองจากประเทศจีน โดยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนกำลังตัดสินใจว่าจะเลือกมาเปิดสาขาในไทย หรือสิงคโปร์ แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเลือกมาตั้งที่ประเทศไทย เพราะชื่นชอบนักเรียนไทยที่ได้เข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ในสหรัฐ ขณะที่สิงคโปร์มีมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งเข้าไปตั้งอยู่ก่อนแล้ว

 

          “ภายใน 3 เดือนนี้จะต้องหางบประมาณ 3-4 พันล้านบาท ในการดำเนินการ หากทำได้จริง ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะต่อไปเวลาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีจะเข้ามาลงทุนในไทย เพราะเห็นว่ามีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกขนาดนี้มีสาขาในไทย จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติอย่างแน่นอน และยังมีผลงานวิจัยคุณภาพระดับโลกในเชิงนวัตกรรมเป็นจำนวนมากเข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจในไทย สร้างมูลค่าได้กว่าหมื่นล้านบาท” นายสุชัชวีร์ กล่าว

 

          สำหรับโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายการผลิตนักศึกษาปริญญาโท 200 ราย ปริญญาเอก 80 ราย นักวิจัยผลงานนวัตกรรมระดับโลก 50 ราย ในระยะเวลา 10 ปี โดยจะตั้งสาขาในพื้นที่ของ สจล. และเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนได้ โดยหลักสูตรที่จะเปิดการเรียนการสอนจะเป็นสาขาที่ประเทศไทยมีความต้องการมาก เช่น หลักสูตรทวิปริญญาโท-เอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ จะมีความร่วมมืองานวิจัยนวัตกรรมเฉพาะทาง ซึ่งจะเน้นที่สอดคล้องการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริม 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายเป้าหมาย

 

          นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า หากไทยสามารถดึงให้มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนเข้ามาตั้งสาขาในไทยได้ ก็จะเป็นสปริงบอร์ดให้ภาคธุรกิจไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะบุคลกรที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสูงเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด