เนื้อหาวันที่ : 2016-04-20 15:41:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3444 views

ผศ.ธงชัย คล้ายคลึง

สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์

ศูนย์กลางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา

thongchai.ky@rmuti.ac.th

 

 

 

 

บ่อยครั้งในอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร หรือแม้กระทั้งบริเวณใด ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางผ่านหลักของกระแสไฟฟ้า แต่ทว่าสามารถเกิดการดิสชาร์จของประจุไฟฟ้าสถิตและนำมาซึ่งความเสียหายต่อทรัพย์สินหรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ อีกทั้งข้อมูลจากสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโครงงานอุตสาหกรรม กล่าวไว้ว่า “ไฟฟ้าสถิต (Electro Static)” เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้และหรือการระเบิดได้ ซึ่งประจุไฟฟ้าสถิตนั้น สามารถเกิดขึ้นบนวัตถุหรือของเหลวก็ได้

 

 

          การเกิดประจุไฟฟ้าสถิตบนวัตถุ มีสาเหตุมาจากหลายประการดังแสดงในรูปที่ 1 ซึ่งประกอบไปด้วยกรณีเกิดจากการเสียดสีกันระหว่างวัตถุ เช่น การเดินบนพื้นเรียบ เกิดจากการทำให้วัตถุเคลื่อนที่ไปตามพื้นราบหรือบนโต๊ะ เป็นต้น เกิดจากการแยกวัตถุออกจากกัน เช่น การลอกเทปกาวออกจากชิ้นงาน เป็นต้น ตลอดจนเกิดจากการเหนี่ยวนำ เช่น นำดินสอถูกับเส้นผมแล้วนำมาสัมผัสกับชิ้นกระดาษ เป็นต้น ส่วนกรณีการเกิดประจุไฟฟ้าสถิตในของเหลวนั้น ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายกรณีเช่นกัน ตัวอย่างเช่นเกิดขึ้นในสารตัวทำละลาย ปิโตรเลียม เชื้อเพลิง เมื่อของเหลวเหล่านี้เกิดการเคลื่อนที่แล้วสัมผัสกับวัสดุอื่น ๆ เช่น สัมผัสกับถังหรือสัมผัสกับท่อ การถ่ายเทของเหลวหรือการไหลผ่าน ตลอดจนการเขย่าของเหลว ก็สามารถเกิดประจุไฟฟ้าสถิตได้ ส่วนจะมีปริมาณของประจุไฟฟ้าสถิตมากน้อยเพียงใดนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเหลวและความเร็วในการเคลื่อนที่ของของเหลว (ความเร็วในการไหล การกวน หรือการเขย่า)

 

 

 

ก. การเสียดสีของวัตถุ 2 ชนิด

 

 

ข. การหมุนสายพาย

 

 

 

ค. การหมุนของใบพัดลม หรือการกวน

 

 

ง. การตกกระทบพื้นของของเหลว

 

 รูปที่ 1 ตัวอย่างแหล่งกำเนิดประจุไฟฟ้าสถิต

 

 

          ในเบื้องต้นนี้ ผู้เขียนยังขาดข้อมูลด้านข้อกำหนดหรือมาตรฐานประเทศไทยเรา ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าสถิต ดังนั้นจึงขออธิบายตามมาตรฐาน IEEE 142 -2007, IEEE Recommended Practice for Grounding of Industrial and Commercial Power Systems (Green Book) ที่ได้กล่าวถึงโอกาสและปริมาณค่าแรงดันไฟฟ้าจากประจุไฟฟ้าสถิตที่เกิดจากเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตต่าง ๆ ดังแสดงในตารางที่ 1 ซึ่งจะพบว่าการขับเคลื่อนสายพานลำเลียง (Belted Drivers) จะมีโอกาสทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าสถิตสูงถึง 60-100 กิโลโวลต์ เช่นเดียวกับเครื่องจักรผลิตกระดาษ ส่วนการขนถ่ายเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สายพานลำเลียงและรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีปริมาณแรงดันไฟฟ้าสถิตลดลงตามลำดับ

 

ตารางที่ 1 เครื่องจักรหรือกระบวนการที่ก่อให้เกิดแรงดันไฟฟ้าสถิต

 

 

 

          นอกจากนั้นแล้วในมาตรฐานนี้ยังกล่าวถึงการทดสอบเปรียบเทียบการดิสชาร์จของแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงที่ระดับแรงดันค่าต่าง ๆ กับแท่งตัวนำ (Conductor Point) และตัวนำแบบพื้นราบ (Conductor Plane) ดังตารางที่ 2 ซึ่งผลการทดสอบนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงการป้องกันหรือการแก้ปัญหา ซึ่งประจุไฟฟ้าสถิตจะดิสชาร์จลงจุดแท่งตัวนำได้ง่ายกว่าการดิสชาร์จลงตัวนำแบบพื้นราบ ดังนั้นเมื่อต้องการถ่ายเทประจุไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ จะต้องออกแบบจุดถ่ายเทประจุไฟฟ้าสถิตนั้น ๆ ด้วยการสร้างแบบแท่งตัวนำ เช่น การสร้างแปรงหวีโลหะหรือการทำพื้นตัวนำแบบผิวขรุขระ (ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดในหัวข้อ แนวทางในการควบคุมและการป้องกันประจุไฟฟ้าสถิต) จะเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายเทประจุไฟฟ้าสถิตได้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบค่าแรงดันเบรกดาวน์ไฟฟ้ากระแสตรงที่เกิดกับแท่งตัวนำและพื้นราบ

 

 

 

ผลกระทบจากการเกิดประจุไฟฟ้าสถิต

  

          เมื่อเกิดการสะสมประจุไฟฟ้าสถิตขึ้นที่จุดใด ๆ ก็ตาม จากนั้นหากมีการดิสชาร์จผ่านอุปกรณ์หรือผ่านร่างกายมนุษย์ย่อมสร้างความเสียหายและเกิดอันตรายได้ ดังต่อไปนี้

 

  • เป็นสาเหตุเริ่มต้นและนำไปสู่การระเบิดได้
  • ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชำรุดเสียหาย
  • เป็นอันตรายต่อชีวิตเมื่อเกิดการคายประจุไฟฟ้าสถิตผ่านร่างกายมนุษย์
  • สร้างความชำรุดเสียหายกับเครื่องจักรกลทางไฟฟ้า เช่นเกิดการดิสชาร์จผ่านชุดแบริ่ง

               

          เมื่อถามว่าความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินหรืออันตรายต่อมนุษย์มากน้อยแค่ไหน เมื่อเกิดการดิสชาร์จประจุไฟฟ้าสถิตนั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินนั้นผู้เขียนประเมินว่าเป็นประเด็นที่คาดเดาได้ยากและขึ้นอยู่กับมูลค่าของงานนั้น ๆ เป็นรายกรณีไป ซึ่งอาจจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ไปจนถึงการนำไปสู่การระเบิดหรือเกิดเพลิงไหม้ได้ ส่วนประเด็นอันตรายต่อชีวิตเมื่อเกิดการดิสชาร์จประจุไฟฟ้าสถิตผ่านร่างกายมนุษย์นั้นสามารถประเมินได้จากจำนวนประจุหรือค่าแรงดันไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างแรงดันไฟฟ้าสถิตกับผลที่เกิดกับร่างกายมนุษย์ ที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมอุตสาหกรรมความปลอดภัยนานาชาติ โดยใช้ดัชนี Human Body Model (HBM) รายละเอียดดังตารางที่ 3 [1]

 

ตารางที่ 3 ความสัมพันธ์ของแรงดันไฟฟ้าสถิต HBM กับผลกระทบที่เกิดกับมนุษย์

 

 

 

การควบคุมและการป้องกันประจุไฟฟ้าสถิต

 

          ข้อมูลในตารางที่ 3 ทำให้เราทราบถึงระดับอันตรายของการเกิดไฟฟ้าสถิตต่อร่างกายของมนุษย์ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงต้นเหตุของการเกิด พื้นที่เสี่ยง ตลอดจนแนวทางในการควบคุมและการป้องกันประจุไฟฟ้าสถิต เช่น การทำกราวด์และการเชื่อมต่อฝาก การควบคุมความชื้น การทำไอออนไนเซชั่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันประจุไฟฟ้าสถิต มีรายละเอียด ดังนี้

 

1. การทำกราวด์และการเชื่อมต่อฝาก (Grounding and Bonding)

 

          การประสานผิววัสดุตัวนำทั้งสองเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า การเชื่อมต่อฝาก (Bonding) เพื่อให้สามารถรองรับการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าสถิตผ่านได้อย่างสะดวก ซึ่งการเชื่อมฝากต่อนั้นอาจจะใช้บัสบาร์ที่เป็นทองแดงหรืออะลูมิเนียมเปลือย รวมทั้งการใช้สายตัวนำหุ้มฉนวน ที่สามารถทนแรงดึงได้ ขนาดพื้นที่หน้าตัดของบัสบาร์หรือสายตัวนำหุ้มฉนวนนั้น ย่อมมีผลต่อการเคลื่อนที่ผ่านของประจุไฟฟ้าสถิต ดังนั้นควรเลือกสายตัวนำที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดที่เหมาะสม สะดวกต่อการเคลื่อนที่ผ่านของประจุไฟฟ้าสถิต กรณีที่เกิดการสะสมประจุในวัตถุหรือเครื่องจักรที่มีการเคลื่อนที่ เช่น สายพานลำเลียง ซึ่งมีโอกาสสูงในการเกิดการสะสมของประจุ จึงต้องออกแบบป้องกันด้วยการใช้แปรงกราวด์ (Ground Bush) กรณีที่ต้องการป้องกันการเกิดประจุไฟฟ้าสถิตที่แกนโรเตอร์จะต้องใช้ชุดแปรงถ่านเพื่อเป็นการเชื่อมต่อฝากจากแกนโรเตอร์มายังจุดกราวด์ ดังแสดงในรูปที่ 1 ซึ่งวิธีการนี้ยังใช้ได้กับเครื่องจักรกลที่มีแกนเพลาหมุนในเวลาทำงาน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดประจุไฟฟ้าสถิตและนำไปสู่การดิสชาร์จ ก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้ ส่วนกรณีโครงสร้างเครื่องจักรกลทางไฟฟ้าที่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่เชื่อมต่อกับกราวด์อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อฝากเพิ่มอีก

 

          อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อฝากในโครงสร้างที่เป็นโลหะดังที่กล่าวมา ไม่สามารถรองรับหรือป้องกันได้ทุกเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเกิดประจุไฟฟ้าสถิตในบริเวณที่ไม่เป็นตัวนำ (Non-conducting Material) ประจุที่เกิดในกรณีนี้จะถูกสะสมเพื่อรอการดิสชาร์จ เมื่อมีปริมาณมากพอหรือมีการเคลื่อนที่เข้าใกล้หรือมีการสัมผัสจะทำให้เกิดการดิสชาร์จได้ และจะก่อให้เกิดอันตรายหรือสร้างความเสียหายกับวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรต่าง ๆ ได้

 

 


 

รูปที่ 2 การป้องกันประจุไฟฟ้าสถิตด้วยวิธีการทำกราวด์ที่แปรงถ่าน (Grounding Brush) [2]

 

 

2. การควบคุมความชื้น (Control by Humility)

 

          ระดับความชื้นของอากาศ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิต และส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรืออุตสาหกรรมผลิตกระดาษ เมื่อความชื้นของอากาศในระบบการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้น มีค่าน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จะมีคุณลักษณะเป็นอากาศแห้ง จึงมักจะเกิดการดิสชาร์จของประจุไฟฟ้าสถิตได้ง่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมความชื้นให้เหมาะสมที่ระดับความชื้นระหว่าง 60-70 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ในทางปฏิบัตินั้น การแก้ปัญหาด้วยวิธีการควบคุมความชื้นนี้ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ในทุกกรณีของพื้นที่หรือทุกระบบงานอุตสาหกรรม เนื่องจากผลของความชื้นที่เพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ เครื่องจักร หรือกระบวนการผลิต เช่น ส่งผลกระทบการผุกร่อนของวัสดุที่เป็นไม้ หรือทำให้การทำงานของเครื่องปรับอากาศที่ต้องกินพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หรือทำงานหนักขึ้น หรือแม้กระทั้งความชื้นที่เพิ่มจะส่งผลต่อชิ้นงานในกระบวนการผลิตเอง

 

3. การทำไอออนไนเซชั่น (Ionization)

 

          ก่อนที่จะกล่าวถึงการแก้ปัญหาประจุไฟฟ้าสถิตด้วยวิธีนี้ อยากจะขออธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับคำจำกัดความของคำว่า “ไอออน” และ “ไอออนไนเซชั่น” ดังนี้

               

          ไอออน (Ion) หมายถึง อะตอมที่มีสถานะประจุเป็นบวกจะเรียกว่าไอออนบวก หรือเป็นประจุลบจะเรียกว่าไอออนลบ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่อะตอมได้รับหรือการสูญเสียอิเล็กตรอนไป ส่วนไอออนไนเซชั่น (Ionization) หมายถึงการสร้างไอออนบวก ด้วยวิธีการนำเอาอิเล็กตรอนออกจากอะตอมที่เป็นกลาง ซึ่งการจะนำเอาอิเล็กตรอนออกจากอะตอมที่เป็นกลางนั้น จะต้องใส่พลังงานลงไป เช่น พลังงานกล หรือพลังงานความร้อน ทั้งนี้เพื่อให้อะตอมที่เป็นกลางสูญเสียอิเล็กตรอนไป

 

          การควบคุมประจุไฟฟ้าสถิตด้วยวิธีการนี้ จะใช้หลักการแยกอิเล็กตรอนที่เป็นตัวก่อให้เกิดไฟฟ้าสถิตออกจากกลุ่มอะตอมของอากาศ ด้วยวิธีการทำทางเดินให้กับอิเล็กตรอนเหล่านั้นสามารถถ่ายเทลงกราวด์ได้ ซึ่งวิธีการทำไอออนไนเซชั่นนี้มักจะใช้ในกรณีการเกิดประจุไฟฟ้าสถิตในบริเวณพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแรงดันสูง (High Voltage Electricity) เช่นในเครื่องจักรที่มีระบบกำเนิดแสงอัลตร้าไวโอเลต หรือในระบบไฟฟ้าแรงดันสูงที่ขาดระบบการกำบัง ตลอดจนในอุปกรณ์ที่มีการเปลี่ยนระดับแรงดัน เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วก็ยังสามารถเกิดขึ้นในงานอุตสาหกรรมและสร้างความเสียหายได้เสมอ เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ หรืออุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการใช้สารเคมีจำพวกติดไฟได้จะยิ่งเสียงต่อการเกิดระเบิด การเกิดไฟไหม้สร้างความเสียมากมายตามมา

 

          การควบคุมและป้องกันประจุไฟฟ้าสถิตด้วยวิธีการทำไอออนไนเซชั่นในระบบงานอุตสาหกรรมจะขออธิบายในกรณีที่เกิดประจุไฟฟ้าสถิตบนสายพานลำเลียง ดังรูปที่ 2 ซึ่งมีมอเตอร์ขับสายพานลำเลียงด้วยพูเลย์ขับ (Drive Pulley) และพูเลย์ตาม (Driven Pulley) มักจะเกิดประจุไฟฟ้าสถิตสะสมบนสายพาน ดังนั้นเมื่อประยุกต์ใช้หลักการทำไอออนไนเซชั่น ด้วยการทำแปรงโลหะรูปทรงหวี (Static Comb) ติดตั้งที่จุด A และ B โดยให้ยึดด้านที่เป็นแปรงโลหะให้ชิดกับสายพาน (แต่ไม่ควรให้สัมผัสแน่นกับสายพานเพราะจะทำให้สายพานชำรุด) และอีกด้านให้ต่อเชื่อมฝากลงกราวด์

 

 

 

รูปที่ 3 การทำไอออนไนเซชั่นด้วยแปรงโลหะรูปทรงหวี ป้องกันประจุไฟฟ้าสถิต [2]

 

 

4. การใช้อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าสถิต (Use of Anti-static Conductive Material)

 

          ถึงแม้ได้มีการจัดการ ออกแบบควบคุมและแก้ปัญหาเกี่ยวกับประจุไฟฟ้าสถิตด้วยวิธีทั้ง 3 ข้อที่นำเสนอมาแล้วนั้น ในบางกรณี หรือบางอุตสาหกรรมที่มีความไวต่อปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำพวกวงจรรวม (Integrated Circuit IC) จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันประจุไฟฟ้าสถิตสำหรับผู้ปฏิบัติงาน โต๊ะปฏิบัติงาน พื้น หรืออื่น ๆ ที่จำเป็น (ทั้งนี้ถึงแม้ว่า เครื่องจักรต่าง ๆ ความชื้นในห้อง ได้มีการออกแบบควบคุมและมีระบบป้องกันประจุไฟฟ้าสถิตที่ดีแล้วก็ตาม)

 

          อุปกรณ์ป้องกันประจุไฟฟ้าสถิตของผู้ปฏิบัติงาน จะประกอบไปด้วยหมวก ชุดทำงาน ถุงมือ รองเท้า และสายรัดข้อมือ ดังรูปที่ 4 และที่สำคัญอีกประการได้แก่พื้นปฏิบัติงานจะต้องเป็นแบบพื้นที่มีคุณสมบัติเป็นตัวนำ (Conductive Flooring) ที่ผิวขรุขระ การตรวจสอบเบื้องต้นของพื้นตัวนำดังกล่าวสามารถกระทำได้ง่ายด้วยเครื่องวัดค่าความต้านทาน (Ohm Meter) วัดค่าความต้านทานพื้นที่ระยะห่าง 1 เมตร จะต้องมีค่าความต้านทานน้อยกว่า 1 เมกะโอห์ม (ผลการวัดได้ค่าความต้านทานยิ่งน้อย ยิ่งเป็นผลดี) ในทางตรงกันข้ามหากผลการตรวจวัดค่าความต้านทานพื้นได้มากกว่า 2.5 เมกะโอห์ม จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดดิสชาร์จและเกิดอันตรายจากประจุไฟฟ้าสถิต

 

 

 

(ก) วงแหวนป้องกันไฟฟ้าสถิต [6]

 

 

(ข) รองเท้าป้องกันไฟฟ้าสถิต [3]

 

 

ค. แผ่นพื้นแบบตัวนำ[5] 

 

รูปที่ 4 อุปกรณ์ป้องกันประจุไฟฟ้าสถิต

 

 

          การสะสมประจุและการดิสชาร์จจากประจุไฟฟ้าสถิตย่อมสร้างความเสียหายต่อเราเองและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอุปกรณ์หรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กล่าวมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษา ออกแบบส่วนที่เป็นจุดเสี่ยงต่าง ๆ ให้สามารถรองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางปฏิบัตินั้นจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ การป้องกันและการแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่พื้นปฏิบัติงาน (Floor) การเชื่อมต่อฝาก (Bonding) การทำระบบไอออนไนเซชั่น (Ionization) และการใช้อุปกรณ์ป้องกันประจุไฟฟ้าสถิต (Anti-Static Material) ในรายที่เกิดการสะสมประจุตามผิวอุปกรณ์ ตามชุดทำงาน หรือตามผิวผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้ประจุไฟฟ้าสถิตที่สะสมขึ้นนั้น สามารถเคลื่อนที่ลงกราวด์ได้อย่างสะดวกดังรูปที่ 4

 

 

 

(ก) ส่วนประกอบระบบการป้องกัน [4]

 

 

(ข) ผังวงจรการป้องกัน [3]

 

รูปที่ 5 การป้องกันประจุไฟฟ้าสถิตโต๊ะปฏิบัติงาน

 

 

สรุป

 

          จากที่ได้กล่าวมา จะเห็นว่าประจุไฟฟ้าสถิตนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายและสามารถเกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเราได้เสมอ จึงเปรียบเหมือนกับภัยร้ายใกล้ตัวอีกประการหนึ่ง ที่สามรถสร้างอันตรายต่อคนเรา หรือสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรม อุปกรณ์เล็ก ๆ ไปจนถึงการเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่การระเบิดที่รุนแรงได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและการควบคุมปัญหาการดิสชาร์จของประจุไฟฟ้าสถิตดังกล่าว ในเบื้องต้นนี้สามารถปฏิบัติตามวิธีการตามที่ได้นำเสนอไว้ ตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี ย่อมนำไปสู่ความปลอดภัยและแก้ปัญหาได้ ซึ่งผู้เขียนเคยประสบปัญหาการดิสชาร์จประจุไฟฟ้าสถิตเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งในขณะที่กำลังเข็นรถเข็นเพื่อซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง เมื่อเข็นรถเข็นไปได้ประมาณ 5 นาทีแล้วเผลอเอามือไปสัมผัสรถเข็นส่วนที่ไม่ได้หุ้มฉนวนไว้ ทำเอาแขนชา ตกใจ กล้ามเนื้อแขนหมดแรงไปชั่วขณะ พอตั้งสติได้ก็เข้าใจว่าโดนไฟฟ้าสถิตแน่นอน จากนั้นได้สอบถามพนักงานขายในห้างสรรพสินค้าแห่งนั้นแล้วได้คำตอบว่ามีลูกค้าหรือแม้กระทั้งพนักงานเองก็เจอปัญหาดังกล่าวนี้หลายราย ในใจตอนนั้นนึกถึงภาพที่พบเห็นได้บ่อย ๆ คือกรณีที่พ่อแม่มักจะนำลูกในวัยไม่กี่ขวบนั่งหรือยืนในรถเข็น แล้วเข็นอย่างสนุกสนานในการเลือกซื้อสินค้า หากโชคร้ายเกิดการดิสชาร์จประจุไฟฟ้าสถิตเช่นเดียวกับที่ผู้เขียนประสบมา คงสร้างความเจ็บปวดและอันตรายกับเด็ก ๆ เหล่านั้น

 

          จากนั้นผู้เขียนจึงได้เสนอให้ทางห้างแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ไปหลายแนวทาง แต่สุดท้ายก็มาสรุปการแก้ปัญหาที่มีค่าใช้จ่ายถูกแต่มีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการใช้ “โซ่วิเศษ” ดังรูปที่ 6 หลังจากนั้นผู้เขียนได้ค้นคว้าเพิ่มเติม เรียบเรียงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องจึงกลายมาเป็นบทความดังกล่าวนี้

 

 

 

รูปที่ 6 ติดตั้งระบบกราวด์ที่รถเข็นเพื่อแก้ไขปัญหาประจุไฟฟ้าสถิต

 

 

          เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ให้ผู้ที่สนใจและเป็นแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์ดังกล่าว ผู้เขียนมีความยินดีรับฟังข้อแนะนำหรือการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในประเด็นปัญหาไฟฟ้าสถิตนี้ และในโอกาสต่อไปผู้เขียนจะนำเสนอมาตรฐานความปลอดภัย หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าสถิต เพื่อการเป็นข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ และเป็นแนวปฏิบัติที่ถูกต้องและครอบคลุมในการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ที่สนใจต่อไป

 

 

เอกสารอ้างอิง
1. สุรเศรษฐ์ ศรีรอด และปานจิต ดำรงกุลกำจร, การลดอันตรายของไฟฟ้าสถิตในโรงงานอบผ้า, วิศวกรรมสาร มก., ฉบับที่ 69 ปีที่ 22 สิงหาคม-ตุลาคม 2552, หน้า 1-11.
2. IEEE std. 142-2007, IEEE Recommended Practice for Grounding of Industrial and Commercial Power Systems (Green book), 2007.
3. Matthew N. O.Sadiku and Cajetan M.Akujuobi, IEEE Potentials, Electrostatic discharge, 2004. Page 39-41
4. Laser Focus World, Laser diode operation 101; a user’s guide, 2014, สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2559; เข้าถึงได้จาก http://www.laserfocusworld.com/articles/print/volume-50/issue-03/features/laser-diodes-laser-diode-operation-101-a-user-s-guide.html.
5. Eagle Mat, Conductive diamond plate anti-fatigue mat, สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2559; เข้าถึงได้จาก http://www.eaglemat.com/conductive-diamond-plate-anti-fatigue-mat.html.
6. ESD Anti Static Wrist Strap, สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2559; เข้าถึงได้จาก http://www.thebgastore.com/ ESD-Anti-Static-Wrist-Strap.
7. G.Vijayaraghavan, Mark Brown and Malcolm Barnes, Practical Grounding, Bonding, Shielding, and Surge Protection, 2004.

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด