จุรีรัตน์ ทิมากูร
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินการส่งออกของไทยในปี 2559 จะขยายตัวในกรอบ 0.1-4.1% มูลค่า 2.14-2.22 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับ 2% มูลค่า 2.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นการส่งออกที่กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากที่การส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง 3 ปี
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกไทยที่จะขยายตัวได้ 2% นั้นมาจากการฟื้นตัวของตลาดสหรัฐฯ ที่จะช่วยผลักดันการส่งออกของไทย รวมถึงตลาดในกลุ่ม CLMV อินเดีย และรัสเซีย ที่จะมีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีการจัดทำกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาดเหล่านี้ให้มากขึ้น ส่วนตลาดจีนจะเป็นตลาดที่ฉุดการส่งออกไทย อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ มาจากศักยภาพการแข่งขันด้านส่งออกของประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง สหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืออุตสาหกรรมประมงไทย และความเสี่ยงจากการก่อการร้ายระหว่างประเทศ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า การส่งออกปี 2559 ที่จะโต 2% มีความเป็นไปได้ 60-70% แต่ต้องขึ้นกับปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจจีน เพราะมีสัดส่วนถึง 11% ของการส่งออกของไทยทั้งหมด หากจีดีพีจีนโตได้แค่ 6.3% ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินไว้ จะกระทบต่อการส่งออกไทยไปจีนลดลง 1.1%
แต่ส่งออกภาพรวมยังโตได้ 2% หากจีดีพีจีนโตเหลือแค่ 6% จะกระทบต่อการส่งออกลดลง 2.2% ทำให้ส่งออกภาพรวมลดลงเหลือ 0.4% แต่สุดท้าย หากจีดีพีจีนโตเกิน 6.3% ก็จะทำให้ส่งออกไทยโตได้เกิน 2% แต่ยอดทั้งปีการส่งออกไทยไปจีนยังจะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และปัจจัยที่เป็นโอกาสต่อการส่งออกไทย เช่น เศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัว โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2559 จะขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ขยายตัว 3.1% เงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยต้องติดตามการอ่อนค่าของสกุลเงินประเทศคู่แข่งด้วยว่าไทยอ่อนค่าใกล้เคียงกันหรือไม่ และราคาน้ำมันดิบตลาดโลกแม้จะทรงตัวต่ำในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ทางด้านกลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เช่น อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์และปลา อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ แต่สินค้าที่จะส่งออกได้ลดลง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน ได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และยางพารา
นางสาวชลลดา อารีรัชชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงเสนอผลการศึกษา "โอกาสการลงทุนไทยในประเทศตลาดใหม่: ไนจีเรีย คีร์กิซสถาน บังกลาเทศ และปากีสถาน" ว่า บีโอไอให้ความสำคัญกับการศึกษาศักยภาพ และโอกาสของการลงทุนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในกลุ่มของตลาดใหม่ อาทิ กลุ่มประเทศแอฟริกา เอเชียกลาง เอเชียใต้ และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแรงงาน รวมถึงเป็นกลุ่มตลาดที่กำลังขยายตัว มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยในปี 2557-2558 พบว่า คีร์กีซสถาน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.1 ขณะที่อีก 3 ประเทศ มีขนาดตลาดภายในประเทศขยายตัวสูงจากจำนวนประชากรที่มีรวมกันมากกว่า 500 ล้านคน ได้แก่ ประเทศบังกลาเทศ มีประชากร 168 ล้านคน ไนจีเรีย จำนวน 181 ล้านคน และปากีสถาน มีจำนวนมากกว่า 199 ล้านคน
ทั้งนี้ การนำเสนอข้อมูลศักยภาพทางด้านการลงทุนของทั้ง 4 ประเทศ เป็นการมุ่งเน้นในส่วนของข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องทุกด้านของแต่ละประเทศ อาทิ ศักยภาพในการรองรับการลงทุน สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงการนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการเข้าไปลงทุนจริงจากนักลงทุนไทยที่ได้เข้าไปลงทุนจนประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์และช่วยให้นักลงทุนไทยได้รับทราบข้อมูลสำคัญ และจำเป็นต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศที่สนใจในอนาคต
"การลงทุนในต่างประเทศ เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันจะช่วยให้การขยายตลาดสินค้าได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้การลงทุนจะมีทั้งโอกาส และอุปสรรคในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังนั้นข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือเสียโอกาสในการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น" นางสาวชลลดา กล่าว
สำหรับผลการศึกษาของทั้ง 4 ประเทศนั้น คีร์กีซสถาน เป็นประเทศในเอเชียกลางที่มีความน่าสนใจ เพราะมีความใกล้ชิดกับรัสเซีย มีข้อตกลงทางการค้ากับกลุ่มประเทศที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียต (Commonwealth of Independent States: CIS) อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการท่องเที่ยวและการโรงแรม ทั้งนี้อุปสรรคในการลงทุนที่สำคัญมาจากข้อจำกัดในด้านภาษา เนื่องจากชาวคีร์กีซใช้ภาษาคีร์กีซและรัสเซียเป็นหลัก รวมถึงปัจจุบันมีการลงทุนในคีร์กีซแล้วจำนวนมาก จากหลากหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย คาซัคสถาน และจีน
ขณะที่ ไนจีเรีย มีศักยภาพในด้านของการเป็นประเทศ ผู้นำในแอฟริกาตะวันตก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา รายได้หลักจากน้ำมัน ปิโตรเลียม มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป รวมถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในประเทศยังจำกัดอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก
ปากีสถาน เป็นประเทศที่มีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ ระหว่างตะวันออกกลางและเอเชีย มีขนาดเศรษฐกิจ และการพัฒนาในเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซอฟต์แวร์ ด้านอุตสาหกรรมที่มีความน่าสนใจสำหรับนักธุรกิจไทย เช่น อุตสาหกรรมเพาะปลูก อุตสาหกรรมการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร อุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งนี้ยังมีจุดอ่อนโดยเฉพาะด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
สำหรับ บังกลาเทศ เป็นประเทศที่มีการผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มอันดับ 2 ของโลก มีความโดดเด่นเรื่องแรงงานจำนวนมาก มีความน่าสนใจสำหรับนักธุรกิจไทย ในด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน อุตสาหกรรมการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดในด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า และการคมนาคมขนส่ง
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผยบทความหัวข้อ "EU เป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมอาหารไทย" โดยระบุว่า ท่ามกลางหลากปัจจัยที่กดดันการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป (EU) ทั้งการถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยทุกรายการ ในปี 2558 รวมถึงกฎระเบียบด้านการค้าที่เข้มงวดขึ้นทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานการผลิต ล้วนเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยในภาวะที่เงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก
ทั้งนี้หากมองในอีกด้านหนึ่งก็อาจเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าไปแสวงหาช่องทางลงทุนในยุโรป ทั้งการเข้าซื้อกิจการ หรือร่วมทุนในกิจการที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง หรือการมีเครือข่ายฐานการตลาดขนาดใหญ่ ตลอดจนการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศยุโรปตะวันออกเพื่อลดต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้าภายในภูมิภาคยุโรป ขณะที่มาตรฐานการผลิตที่สูงของยุโรปจะเป็นใบเบิกทางในการส่งออกสินค้าต่อไปยังประเทศที่สามได้ด้วย
อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการผลิตสินค้าอาหารเป็นอุตสาหกรรมเด่นที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและมีโอกาสขยายการลงทุนไปยังสหภาพยุโรป สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการคงส่วนแบ่งในตลาดยุโรป ตลอดจนผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ขณะที่ยุโรปก็มีความหลากหลายของมิติการลงทุน
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาเลือกพื้นที่ลงทุนตามวัตถุประสงค์และตลาดผู้ซื้อเป็นสำคัญ โดยหากเน้นการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่อาศัยเทคโนโลยีและเน้นสินค้าอาหารพรีเมี่ยม การตัดสินใจลงทุนในยุโรปตะวันตกจะเอื้อประโยชน์ในการทำตลาดยุโรปตะวันตกที่มีกำลังซื้อสูง และยังได้อานิสงส์จากการเป็นศูนย์กลางการขนส่งช่วยกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี หากต้องการลงทุนในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อาทิ อาหารสัตว์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก ควรเลือกลงทุนในยุโรปกลางและตะวันออกที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงต่ำกว่ายุโรปตะวันตก
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าต้นทุนค่าจ้างแรงงานในสหภาพยุโรปโดยเฉลี่ยอาจสูงกว่าค่าจ้างแรงงานในไทย แต่สหภาพยุโรปมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง และภาษีศุลกากร รวมไปถึงข้อได้เปรียบจากแรงงานที่มีคุณภาพและระบบโลจิสติกส์ที่ได้มาตรฐานของสหภาพยุโรป ยังจะช่วยผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนทางอ้อม
สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในสหภาพยุโรปยังมีประเด็นความแตกต่างในรายละเอียดที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ อาทิ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่นอกจากจะแยกไปตามประเทศแล้ว ยังมีความแตกต่างกันไปในตามเขตการปกครองแต่ละประเทศ ในด้านภาษาท้องถิ่นที่แม้ว่าประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ หากแต่ในขั้นตอนในการทำธุรกรรมกับประเทศนั้น ๆ การใช้ภาษาท้องถิ่นอาจได้รับความสะดวกมากกว่า รวมไปถึงนโยบายการเงินของแต่ละประเทศ เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากจะส่งผลถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและกระทบต่อกลยุทธ์การตั้งราคาขายของสินค้าที่ผลิตในแต่ละประเทศ
นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเวียดนามมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากบทบาทที่สำคัญของภาครัฐในการเร่งพัฒนาและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนและใช้แรงงานเข้มข้น เช่นสิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
และปัจจุบันทางการเวียดนามกำลังพยายามที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยการผลักดันโครงการพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจร ซึ่งแม้อาจต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอีกสักระยะหนึ่ง แต่หากเวียดนามสามารถพัฒนาได้สำเร็จลุล่วง ก็คงจะนำไปสู่การยกระดับภาคการผลิตภายในประเทศไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่เข้มข้นขึ้น อันเป็นตัวแปรสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเวียดนามในระยะข้างหน้าการเร่งพัฒนาโรงงานกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร ปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับภาคการผลิตของเวียดนาม
ทางการเวียดนามกำลังเร่งส่งเสริมการลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจร ผ่านการลงทุนร่วมระหว่างรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันดิบให้ได้ถึง 25-30 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2563 ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานแห่งชาติปี 2563 (National Energy Development Strategy 2020) เพื่อใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรน้ำมันดิบในประเทศที่เวียดนามมีปริมาณสำรองมากเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือราว 4.4 พันล้านบาร์เรล (ประมาณ 600 ล้านตัน) โดยปัจจุบันมีโครงการที่ได้เริ่มก่อสร้างแล้วทั้งสิ้น 3 โครงการ 1 โดยแม้จะคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายเดิมตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานแห่งชาติปี 2563 ไปบ้าง และในปี 2564 กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของเวียดนามคงจะพุ่งสูงไปถึง 27 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของประมาณการปริมาณความต้องการภายในประเทศทั้งหมด จากปัจจุบันที่สามารถกลั่นน้ำมันดิบได้เพียง 6.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ภายในประเทศที่ราว 21.8 ล้านตัน/ปี ในปี 2557
นอกจากนี้ โครงการโรงกลั่นฯ นี้ยังจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนาม อันจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของภาคการผลิตและความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามในอนาคต โดยโรงกลั่นฯ ดังกล่าวจะทำการผลิตสารตั้งต้นสำคัญในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตสารโอเลฟินส์ (Olefins) และอะโรเมติกส์ (Aromatics) อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเม็ดพลาสติกและวัสดุสังเคราะห์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ยานยนต์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่หลั่งไหลเข้ามาใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตข้างหน้าจากการที่เวียดนามเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) และยังได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้มองว่า การเกิดขึ้นของโครงการโรงกลั่นฯ ในเวียดนามนี้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคการผลิตภายในประเทศ จากการใช้แรงงานเข้มข้นสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น กล่าวคือ ปัจจุบันภาคการผลิตของเวียดนามยังกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นขั้นปลายน้ำ จึงทำให้ภาคการผลิตภายในประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูงได้
ดังนั้นการพัฒนาโรงกลั่นฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอื่น ๆ คงจะช่วยผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมขั้นกลางน้ำ อันจะช่วยเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตในเวียดนามให้มีรูปแบบการผลิตที่ครบวงจรมากขึ้น และนำไปสู่การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันตลอดจนศักยภาพของแรงงานภายในประเทศ ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและเมียนมาร์ ซึ่งมีความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน ได้เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเบาหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเช่นเดียวกัน
หากกลับมามองผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย จากการพัฒนาโรงกลั่นฯ ของเวียดนาม ในระยะใกล้ยังคงค่อนข้างจำกัดเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจรนี้ ถือเป็นอุตสาหกรรมหนักและต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีในการพัฒนาโครงการ ดังนั้น การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังเวียดนาม (สัดส่วนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 22 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังเวียดนามในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558) น่าจะยังคงเติบโตได้ดีจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในเวียดนาม
ในขณะที่การส่งออกเม็ดพลาสติกไทยไปเวียดนามนั้น คงจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใดนักเนื่องจากปัจจุบันเวียดนามยังไม่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกได้เองอีกทั้งกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นค่อนข้างมีความซับซ้อน จึงทำให้การพัฒนาสายการผลิตเชิงพาณิชย์ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ประกอบกับการนำเข้าเม็ดพลาสติกของเวียดนามส่วนใหญ่นั้น นำมาเป็นทั้งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกอีกทั้งเวียดนามเองยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังตลาดต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน
โดยในช่วงปี 2553-2557 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์และเม็ดพลาสติกขยายตัวในกรอบร้อยละ 10-30 ซึ่งกว่าร้อยละ 82 ของสินค้าส่งออกในกลุ่มดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก ดังนั้น ความต้องการเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของเวียดนามน่าจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของภาคการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์พลาสติก
ทั้งนี้ ในระยะยาว เมื่อประเด็นเรื่องของราคาน้ำมันโลกกลับมาสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพและภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็คงจะทำให้โครงการโรงกลั่นฯของเวียดนามที่ได้มีการวางแผนไว้เริ่มทยอยก่อสร้างทั้งหมด และเวียดนามก็คงจะกลายเป็นหนึ่งในคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกสินค้าจำพวกน้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
ดังนั้นการปรับตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันสำเร็จรูปและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยนั้น ภาครัฐและเอกชนควรที่จะร่วมมือกันพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่ยังเน้นการแข่งขันทางด้านราคาเป็นหลัก อาทิ พลาสติกในงานวิศวกรรม พลาสติกคุณสมบัติพิเศษที่สามารถทนความร้อนและสารเคมี ตลอดจนพลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของเม็ดพลาสติกไทย และรองรับความต้องการของภาคธุรกิจที่กำลังขยายตัวภายในประเทศ เช่น ธุรกิจที่อยู่อาศัยและธุรกิจสุขภาพ จากการเร่งลงทุนของโครงการภาครัฐ รวมไปถึงการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นอกจากนี้การพัฒนาเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากปัจจุบันทางการไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยธุรกิจที่จัดตั้งในคลัสเตอร์ปิโตรเคมีดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนสูงที่สุด อีกทั้ง เม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ ยังที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคตจากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ อีกด้วย
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แผนงานสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2559 จะมุ่งส่งเสริม และพัฒนาเอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น โดยจะสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการใหม่ พร้อมกับการพัฒนาผู้ประกอบการเดิม และฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจพร้อมกับการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ การขับเคลื่อนแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยในเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมประสิทธิภาพแรงงาน และพัฒนาปัจจัยแวดล้อมสนับสนุน เพื่อเร่งสร้างความสามารถทางการแข่งขันและก้าวข้ามการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
ทั้งนี้ 5 อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเป็นดาวเด่นในปีหน้านั้น ประกอบด้วย
1. อุตสาหกรรมยานยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17
2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.81 โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป
3. อุตสาหกรรมอาหาร จากระดับการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น
4. อุตสาหกรรมเซรามิก คาดว่าจะขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ
5. อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยภายใน 5 ปีข้างหน้า พื้นที่ปลูกอ้อยจะเพิ่มขึ้น จาก 10.53 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ จะเพิ่มผลผลิตอ้อย จาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน น้ำตาลทราย จาก 11.34 ล้านตัน เป็น 20.36 ล้านตัน เอทานอล จาก 2.5 ล้านลิตร/วัน เป็น 5.38 ล้านตัน/วัน สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 1,542 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ สร้างรายได้เพิ่มให้กับเศรษฐกิจเป็น 450,000 ล้านบาท จากเดิม 200,000 ล้านบาท
ด้าน นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2559 จะมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ การทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2559 จะขยายตัว 3.6% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.1% รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับคาดการณ์อุตสาหกรรมเด่นในปี 2559 ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ จะมียอดรวมการผลิตรถยนต์ ประมาณ 2.15 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 10.26% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 9 แสนคัน เพิ่มขึ้น 6.67% และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1.25 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.17%
ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 ของปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.55% โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไอซี ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป
ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมมีการขยายตัว เนื่องจากแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยยกระดับการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น
ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่าย เซรามิกในปี 2559 คาดว่า จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงเติบโตตามไปด้วย
ขณะที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมที่ยังจะเป็นดาวเด่นในปี 2559 จะอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญโดยจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็ยังให้ระวังความเสี่ยงถึงการฟื้นตัวที่ยังเปราะบาง ที่จะดับฝันในการขยายตัวของแต่ละสาขาอุตสาหกรรมได้
ทั้งนี้ ส.อ.ท. เห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ น่าจะเป็นดาวเด่นสำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมาก จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2.15 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 10.26% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 9 แสนคัน เพิ่มขึ้น 6.67% และผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 1.25 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.17% ซึ่งเป็นผลจากการอัดฉีดเงินกองทุนหมู่บ้านฯ การลงทุนภาครัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น และการลงทุนของภาคเอกชน จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง จากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือน และสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ฉุดยอดการเติบโตได้
ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยอดขายจะดีขึ้น จากการขยายตัวของคอนโดมิเนียม และที่อยู่อาศัยตามมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ทำให้มียอดการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และทีวีดิจิตอลเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งออกจะเติบโตตามภาวการณ์ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดการณ์ว่าตัวเลขส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 จะกลับมาเป็นบวกอยู่ที่ 1-2% เมื่อเทียบกับปีก่อนติดลบ 3 % โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่มาจากผลกระทบจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะตลาดส่งออกอย่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำกระทบกำลังซื้อภายในประเทศ
ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร แนวโน้มการส่งออก จะขยายตัวประมาณ 5% มีมูลค่าส่งออกประมาณ 9.5 แสนล้านบาท จากปี 2558 มีมูลค่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวไปผลิตสินค้าแปรรูปที่มีมูลค่าสูงขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ซื้อบางประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง จะนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงของผู้ผลิตขนาดใหญ่ สถานการณ์ภัยแล้ง การขาดแคลนวัตถุดิบ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และกรณีที่อียูให้ใบเหลืองสินค้าประมงของไทย ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญ
สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยโครงการลงทุนขนาดเล็กของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ งบลงทุนของงบประมาณปี 2559 ที่มีสัดส่วนสูงถึง 20% ของรายจ่ายทั้งหมด การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่อาจล่าช้ากว่ากำหนด และหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจจะกระทบต่อความต้องการในภาคที่อยู่อาศัย
อีกทั้ง อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การส่งออกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยไทยจะส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านในรูปของวัตถุดิบ เพื่อผลิตส่งไปขายต่ำในตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนตลาดในประเทศ จะได้รับผลดีจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านมาตรการต่าง ๆ โดยมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศแต่อาจต้องเจอกับอุปสรรคกรณีที่จีนและไต้หวัน ได้เข้าไปลงทุนในสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนาม อาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าเส้นดาย ผ้าผืน
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มีปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่าลงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 1 แสนล้านบาท
รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีรายได้เหลือ 10% เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความต้องการของสินค้าเฟอร์นิเจอร์ให้มากขึ้น
ขณะที่การส่งออกนั้น น่าจะขยายตัวจากความต้องการของตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียนและจีน ที่มาจากการขยายตัวของความเป็นเมืองมากขึ้น ประกอบกับหลังเปิดเออีซีแล้ว ไทยจะได้เปรียบจากการเป็นผู้นำระดับโลกทั้งในเรื่องของการออกแบบและผลิตโดยจะมีปัจจัยเสี่ยงมาจากความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งด้านต้นทุนแรงงาน ราคา วัตถุดิบ
อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง คาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากความต้องการหนังดิบ และหนังฟอก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งในส่วนของผลิตภัณฑ์รองเท้าน่าจะมีแนวโน้มที่ทรงตัว เนื่องจากได้รับการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพี จากสหรัฐอเมริกา ด้านสินค้ากระเป๋าเดินทาง คาดว่า จะขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2558 เนื่องจากผู้ผลิตมีการปรับกลยุทธ์โดยให้ความสำคัญกับงานฝีมือและการออกแบบมากยิ่งขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ตลาดยังมีทิศทางเติบโตของธุรกิจในช่วงขาขึ้น ขณะที่มีสต๊อกน้ำมันต้นทุนที่ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงที่ผ่านมา โดยที่ทิศทางของราคาเม็ดพลาสติกยังมีส่วนต่างอยู่มากเมื่อเทียบกับราคาแนฟทา โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 เป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและเป็นช่วงฤดูกาลผลิตสินค้า จะทำให้มีปริมาณความต้องการพลาสติกเข้ามาในช่วงต้นปีมากขึ้น โดยมีตลาดหลักจากจีน ทำให้ราคาซื้อขายเม็ดพลาสติกในแถบภูมิภาคเอเชียมีการปรับราคาที่สูงขึ้นได้
สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก คาดว่าจะขยายตัวได้ จากความต้องการภายในประเทศ ที่มาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงการขยายตัวของตลาดอาเซียนและการค้าชายแดน จะทำให้มีความต้องการในสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังสหรัฐอเมริกา น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่จะมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ทิศทางการฟื้นตัวที่ยังไม่แน่นอน สถานการณ์ราคาน้ำมันที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงกลางปี 2559
รวมทั้ง อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ คาดว่าจะขยายตัวตามการใช้จ่าย และโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ ก่อสร้าง และเครื่องสำอาง แต่ก็ต้องระวังภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัว เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปจีนถึง 26%
อย่างไรก็ตาม ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่กล่าวมานี้ แม้จะมีการคาดฝันให้เป็นดาวรุ่งในช่วงปี 2559 ก็ตาม แต่การเติบโตของภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ยังมีความเปราะบางอยู่ อาจจะส่งผลให้ดาวรุ่งเป็นดาวร่วงก็ได้ ซึ่งก็คงจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด