มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) เป็นศาสตร์การรักษาใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน โดยการนำเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่มีประสิทธิภาพมาซ่อมแซมอวัยวะที่เสียหายจากโรคภัยหรือสภาวะเสื่อมสภาพตามอายุ เพื่อให้อวัยวะนั้นสามารถทำงานได้เหมือนเดิม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ให้นิยามว่าเป็น “วิทยาการทางการแพทย์แห่งอนาคต” โดยวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การใช้เซลล์ของผู้ป่วยมาฉีด สร้างเนื้อเยื่อ หรือปลูกถ่ายกลับสู่ผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อกระตุ้น เสริมสร้างและฟื้นฟูร่างกายด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ
กลุ่มวิจัยหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
ทั้งนี้ กลุ่มวิจัยหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้เห็นความสำคัญนี้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้การวิจัยเพื่อการรักษาทางด้านนี้ในประเทศไทยพัฒนามากขึ้น รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เปิดเผยว่า องค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้การรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมประสบความสำเร็จคือ คุณภาพและปริมาณของเซลล์ที่จะนำไปรักษา
“เรานำสิ่งที่เราถนัดอย่างเรื่องวิศวกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้การผลิตเซลล์ง่ายขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้นและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ แต่การแยกและเลี้ยงเซลล์เพื่อการรักษานั้นต้องผลิตเซลล์ให้ได้ปริมาณมาก ขณะที่การแยกและเลี้ยงเซลล์ด้วยฝีมือคนนั้นถึงแม้จะเป็นนักเทคนิคที่มีประสบการณ์สูงก็สามารถควบคุมคุณภาพได้ยาก อีกทั้งในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถแยกและเลี้ยงเซลล์สำหรับปลูกถ่ายอีกทั้งยังเป็นระดับเพื่อการวิจัยเท่านั้น เราจึงเริ่มที่จะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาช่วยในการแยกและเลี้ยงเซลล์ ซึ่งในเยอรมันและญี่ปุ่นกำลังให้ความสำคัญมากในเรื่องนี้”
รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.
รศ.ดร.ขวัญชนก กล่าวอีกว่า กลุ่มวิจัยหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ มจธ. จัดตั้ง โครงการงานวิจัยการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์โดยใช้ระบบอัตโนมัติในการเลี้ยงเซลล์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางด้านครุภัณฑ์สำหรับเครื่องเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติมูลค่ากว่า 44 ล้านบาท จาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยและธุรกิจทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในประเทศไทย พร้อมทั้งกำหนดและจัดทำมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพและการผลิตให้ได้ GMP ตามมาตรฐานของญี่ปุ่นเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และโครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัท Shibuya Kogyo จากญี่ปุ่นในการเป็นที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ใช้กับเครื่องเลี้ยงเซลล์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Osaka University ในการร่วมวิจัย
“ความพิเศษของเครื่องคือ เราสามารถเขียนโปรแกรมให้ทำการเลี้ยงเซลล์ได้หลายตัวอย่างพร้อมกันโดยไม่มีการปนเปื้อน จากเดิมที่ทำการเลี้ยงเซลล์ด้วยนักเทคนิคสามารถทำได้เพียงครั้งละ 1 ตัวอย่างจากคนไข้ 1 คนเท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งเซลล์คนไข้หนึ่งคนใช้เวลาเลี้ยงเกือบเดือนเท่ากับว่า ใน 1 ปีจะเลี้ยงเซลล์เพื่อรักษาคนไข้ได้เพียง 12 คนเท่านั้น แต่เครื่องเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติเครื่องนี้เป็นหุ่นยนต์จึงสามารถทนทานต่อการฆ่าเชื้อด้วยก๊าซไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ทำให้สะอาดและป้องกันแบคทีเรียได้ดีสามารถเพาะเลี้ยงเซลล์ได้ครั้งละหลายตัวอย่าง ทำงานได้มากเป็น 3-4 เท่าของเครื่องเดิม เพราะหุ่นยนต์ใช้พื้นที่น้อยลงทำงานได้ตลอดเวลาทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถทำเป็น Mass Production ได้ ทั้งนี้ มจธ.ต้องเขียนซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมการทำงานให้จำเพาะกับความต้องการเครื่องเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ ส่วนตัวเครื่องจะถูกนำไปติดตั้งที่ตึก Bio Process Research and Innovation ที่ มจธ. บางขุนเทียน”
เครื่องเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ
รศ.ดร.ขวัญชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากหนึ่งปีที่ระบบของเครื่องเสร็จสมบูรณ์จะเริ่มผลิตเซลล์ออกมาเพื่องานวิจัยทางคลินิกก่อนโดยเริ่มจากความรู้ที่มีคือการรักษาโรคเกี่ยวกับเข่า หรืองานทางด้านทันตแพทย์ เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ โดยการนำเซลล์มาทำเป็นกระดูกอ่อนใส่กลับเข้าไปให้คนไข้ และเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จักและสร้างเครือข่ายหน่วยงาน จึงได้มีการจัดเสวนา เรื่อง KMUTT Special Seminar on “Regenerative Medicine Opportunities in Thailand and Japan” ขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมชาเทรียม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทราบถึงสภาวะปัจจุบันของการนำเซลล์ไปใช้ในการรักษา สำหรับผู้สนใจภายในงานจะมีการบรรยายในเรื่อง ความต้องการงานวิจัยที่เกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในประเทศไทย การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตและควบคุมมาตรฐานของเซลล์สำหรับการรักษา ความก้าวหน้าและโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในประเทศไทย และมาตรฐานการควบคุมการผลิตเซลล์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับประเทศ
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด