เนื้อหาวันที่ : 2015-10-21 16:42:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4294 views

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

ayasanond@hotmail.com

 

 

 

ปัจจุบันการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญและเติบโตยิ่งขึ้นในแทบทุกภูมิภาคส่วนของโลก เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ในจำนวนเงินหลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเลยก็ว่าได้ มีหลายประเทศได้นำมาเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อนำเงินตราเข้าสู่ประเทศของตน

 

 

                  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นับเป็นธุรกิจการบริการที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและกระจายเข้าไปในท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มเศรษฐกิจของท้องถิ่น ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ประเทศไทยก็เคยอาศัยการท่องเที่ยวมาเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างงดงาม จนเป็นที่รู้จักในฐานะ “สยามเมืองยิ้ม” และประเทศไทยได้กลายมาเป็นสถานพักผ่อนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก

 

                        เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์ท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ

                  1. จำนวนนักท่องเที่ยววันที่ 1-25 พฤษภาคม 2558 มีจำนวน 1,790,958 คน ขยายตัวร้อยละ 28.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยนักท่องเที่ยว 2 อันดับแรก คือ จีนและมาเลเซีย และคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเดือนถัดไป และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน (25 พ.ค. 58) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 19,417,520 คน ขยายตัวร้อยละ 16.42 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

                  2. รายได้จากการท่องเที่ยว นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน (25 พ.ค. 58) มีรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว 9.44 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.83 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

                  3. สถานการณ์ท่องเที่ยวเมืองหลัก ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 เติบโตในทุกพื้นที่ โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 7.68 และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว 349,004.07 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.42 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

                  4. สถานการณ์ท่องเที่ยวใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 เติบโตในทุกพื้นที่ โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 8.49 และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว 16,217.03 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.84 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

(Tourism 2020, http://www.amadeus.com)

 

 

(12 เมืองต้องห้ามพลาด, http://img.kapook.com/u/panadda/12Cities.jpg)

 

 

               อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีองค์ประกอบมากมาย โดยมีความเกี่ยวข้องกับหลายธุรกิจ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งสามารถอธิบายได้ตามแผนภาพที่ 1 ซึ่งเป็นการอธิบายถึงขอบเขตของอุตสาหกรรมและความเกี่ยวข้องกับธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน และในส่วนของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตามแผนภาพที่ 2

 

แผนภาพที่ 1 ขอบเขตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความเกี่ยวข้องกับธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ

The relationship between the tourism, hospitality and travel industries,

Source: Adapted from Pizam (2009).

 

 

แผนภาพที่ 2 ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

https://piboonrungroj.files.wordpress.com/2011/07/slide03.jpg

 

 

               หากเปรียบไปแล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเสมือนเป็นครอบครัวใหญ่ ที่ทำธุรกิจสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีคุณพ่อเป็นบริษัทสายการบิน แต่งงานกับธุรกิจทัวร์ บริษัทจำหน่ายตั๋วเครื่องบินหรือการเดินทาง แตกลูก แตกหลานออกมาเป็น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร กิจกรรมการขนส่งภายในประเทศรูปแบบต่าง ๆ ธุรกิจการบริการ ร้านค้าขายของที่ระลึก ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการเปิดหลักสูตรธุรกิจการบิน หลักสูตรการท่องเที่ยวและโรงแรม หลักสูตรการจัดการภาคธุรกิจบริการ ฯลฯ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สามารถสร้างเม็ดเงินในการประกอบการ อันส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลขทางการเงินที่หมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจของประเทศหลักหลายร้อยล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

               ในมิติของเรื่องโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว (Tourism Logistics) ก็จะคล้ายคลึงกับเรื่องของการขนส่งสำหรับการท่องเที่ยว (Tourism and Transport) แต่ครอบคลุมกว้างกว่า โดยโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยวจะครอบคลุมสามเรื่องใหญ่ คือ การขนส่งนักท่องเที่ยวและวัตถุสิ่งของ (Physical Flow) การให้และรับข้อมูลข่าวสาร (Information Flow) และการรับจ่ายเงิน (Financial Flow) ในขณะที่เรื่องการขนส่งสำหรับการท่องเที่ยวจะครอบคลุมเฉพาะเรื่องการขนส่งนักท่องเที่ยวและวัตถุสิ่งของเท่านั้น การขนส่งนักท่องเที่ยวเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งในโลจิสติกส์ท่องเที่ยว การขนส่งจะเกิดขึ้น ณ ช่วงหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตลอดทั้งเส้นทาง เช่น กิจกรรมการขนส่งด้วยรถบัส กิจกรรมการขนส่งด้วยเรือ แต่ไม่มีกิจกรรมการขนส่งอีกเมื่ออยู่ในที่พัก แต่โลจิสติกส์ท่องเที่ยวเป็นตัวประสานกิจกรรมการขนส่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน และยังจัดการ ณ จุดที่ไม่มีการขนส่งด้วย         

               กรอบแนวคิดของนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับมาก มาจากชาวยุโรปสองท่าน คือ Lumsdon and Page (2004) โดยวิเคราะห์เรื่อง Physical Flow และ Information Flow เป็นหลัก และได้มีการวิเคราะห์ทางโลจิสติกส์ที่รวมเอา Financial flow ซึ่งหมายถึง การอำนวยความสะดวกเรื่องการจ่ายชำระค่าสินค้าหรือบริการท่องเที่ยว และการซื้อตั๋วเดินทางต่าง ๆ รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกื้อกูลต่อการขนส่งนักท่องเที่ยวเข้ามาไว้ด้วยอย่างบูรณาการ

               กรอบแนวคิดในการวิเคราะห์เรื่องโลจิสติกส์สำหรับการขนส่งนักท่องเที่ยว (Conceptual Framework of Tourism Logistics) จะให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอันได้มาจากประสบการณ์ในการเดินทางของนักท่องเที่ยว 12 ข้อ คือ

  1. สิ่งที่มีให้บริการ (Avalilability) หมายถึง ประเภทของยานพาหนะที่มีให้บริการ เส้นทางที่เปิดให้บริการ ระดับชั้นของคุณภาพของบริการที่มีให้บริการ เช่น ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง รวมทั้งบริการเสริม เป็นต้น
  2. การเข้าถึง (Accessability) หมายถึง ความสามารถของผู้คนที่จะสามารถใช้บริการได้ การอำนวยความสะดวกให้ผู้คนมาใช้บริการได้ เช่น เวลาและสถานที่จำหน่ายตั๋ว ที่ตั้งของสถานีรถไฟ ที่ตั้งของป้ายรถเมล์ เป็นต้น
  3. ข้อมูลข่าวสาร (Information) หมายถึง การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว เพื่อให้ผู้โดยสารไม่เกิดความสับสนในการเดินทางและสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ รวมถึงสถานที่ที่ให้ข้อมูลข่าวสารนั้นต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถติดตามข่าวสารได้โดยง่าย ไม่ติดประกาศไว้ในที่ลึกลับเกินไป
  4. เวลา (Time) หมายถึง การจัดตารางเวลาในการเดินรถหรือการให้บริการที่เหมาะสม ไม่ทิ้งช่วงนานเกินไปจนทำให้ผู้โดยสารรอนานมากเกินไปหรือบ่อยเกินไปจนไม่มีผู้โดยสาร ความรวดเร็วในการเดินทาง รวมทั้งความสามารถในการรักษาเวลา ความตรงต่อเวลา
  5. การเอาใจใส่นักท่องเที่ยว (Customer Care) หมายถึง ความคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้โดยสาร เช่น ความสะอาดและถูกสุขลักษณะของที่นั่ง ห้องน้ำ พื้น และที่เก็บสัมภาระ การบริการอาหารและเครื่องดื่มบนยานพาหนะ การมีสถานที่แยกกันต่างหากระหว่างผู้สูบบุหรี่และไม่สูบ และการมีเจ้าหน้าที่ตรวจตราความสงบเรียบร้อยและรับเรื่องราวร้องทุกข์บนยานพาหนะ รวมทั้งการให้ส่วนลดสำหรับผู้ที่เดินทางเป็นประจำ เป็นต้น
  6. ความสะดวกสบาย (Comfort) หมายถึง ความเอาใจใส่ในการจัดให้บริการอันสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร ทั้งด้านกายภาพ เช่น เบาะนั่ง ช่องว่างสำหรับการเหยียดเท้า การออกแบบห้องโดยสารให้เหมาะสำหรับสรีระของมนุษย์ การปรับอุณหภูมิและความชื้นในห้องโดยสารให้พอเหมาะ และความเงียบสงบในการเดินทาง เป็นต้น
  7. ความปลอดภัย (Safety) หมายถึง การปราศจากอุบัติเหตุในการแล่นไปของยานพาหนะ รวมถึงไม่มีอุบัติเหตุในห้องโดยสาร ไม่มีการร่วงหล่นของสิ่งของสัมภาระมาโดนผู้โดยสาร การเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยในห้องโดยสาร และการมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
  8. ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendliness) หมายถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอน็อกไซด์ การไม่ใช้ก๊าซคลอรีนอันจะทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ การไม่ปล่อยขยะและของเสียออกไปจากยานพาหนะโดยไม่ผ่านการบำบัด การใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งการไม่ก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้คนที่อาศัยอยู่ระหว่างเส้นทางที่ยานพาหนะแล่นผ่านไป
  9. แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว หมายถึง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ งานเทศกาล หรือสิ่งสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องไม่พลาดที่จะมาเยี่ยมชม ซึ่งสิ่งเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองท่องเที่ยวนั้น หากปราศจากแม่เหล็กดังกล่าวก็อาจจะไม่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากนัก แม่เหล็กนี้ทำหน้าที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่ของสรรพสิ่งเข้ามายังแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เข้ามาเพื่อบริการนักท่องเที่ยว
  10. ถนนคนเดิน หมายถึง ย่านหรือถนนที่ปิดการจราจรไม่ให้มียานพาหนะผ่านสัญจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนเดินเท้าได้ท่องเที่ยวรอบบริเวณสำคัญของเมืองและซื้อสินค้า

 

 

ถนนคนเดินสีลม                                                   ถนนคนเดินพัทยา

http://www.posttoday.com/media/content/2015/01/11/4F77F7C93DC94510BF7DC64B34E94457.jpg

http://images.trvl-media.com/media/content/shared/images/travelguides/destination/6056227/Walking-Street-109717.jpg

 

 

     11. จุดทำเงิน หมายถึง สถานที่ บริการ หรือย่านที่จัดไว้สำหรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ด้วยการคาดการณ์แล้วว่านักท่องเที่ยวจะมีอารมณ์อย่างไรเมื่อมาถึงจุดนั้น เช่น ตื่นเต้น เมื่อยล้า หิวกระหาย หรือต้องการรีบแสวงหาสิ่งของเพื่อไปเป็นของฝากก่อนที่จะจากเมืองนั้นไป เป็นต้น

     12. การสร้างความเพลินเพลินระหว่างการเดินทาง หมายถึง การทำให้การท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเพียงแต่การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างความเพลิดเพลินใจ เช่น การจัดเส้นทางผ่านสถานที่อันสวยงาม การจัดกิจกรรมบนยานพาหนะ การเสิร์ฟอาหารชั้นเลิศบนยานพาหนะ เป็นต้น

 

               จาก 12 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น ก็ต้องยอมรับว่าบ้านเราไม่น้อยหน้าใครเหมือนกันในภูมิภาคนี้ และหากพูดถึงแหล่งท่องเที่ยว (Core Attractive) อันเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็น Product ที่สำคัญเราเองก็มีความหลากหลาย และก็ยังเป็นที่ Attractive ของชาวไทยและชาวต่างชาติอยู่ไม่น้อย โดยเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะสามารถสร้างให้เกิด The Tourism Network ที่มีประสิทธิภาพ Network หนึ่ง

 

 

 

(The Tourism Network, http://thumbnails.visually.netdna-cdn.com)

http://thumbnails.visually.netdna-cdn.com 

 

 

               สำหรับเจ้าภาพที่จะต้องผลักดันให้เกิดความสำเร็จของ The Tourism Network นั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีกระทรวงคมนาคม ผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา และ ททท. ที่จะต้องทำงานร่วมกันอย่างมีกลยุทธ์ทางการตลาด (Joint Marketing Plan Community Participation) เป็นสำคัญ

 

 

เอกสารอ้างอิง

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด