สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ ก่อนอื่นก็ต้องขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ด้วยการวางระเบิด ที่สนามบินซาเวนเทม และสถานีรถไฟมาลบีก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 35 คน บาดเจ็บอีกกว่า 200 คน สร้างความสะเทือนขวัญไปทั่วยุโรป และเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากตำรวจเบลเยียมสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยหลักของเหตุวินาศกรรมกรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีก่อน
เนื่องจากกรุงบรัสเซลส์เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของอียู และสำนักงานองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น ส่วนเบลเยียมเพิ่มระดับการเตือนภัยขั้นสูงสุด หรือระดับ 4 ระงับการเดินทางโดยรถไฟ รถราง และรถเมล์ทั้งหมดในเมืองหลวง ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของเบลเยียมที่รวมถึงเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ต่างยกระดับมาตรการเฝ้าระวังการก่อการร้ายและเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยที่สนามบินนานาชาติเป็นขึ้นสูงสุด ส่วนในนิวยอร์กและวอชิงตันก็ได้ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยมีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ต่อต้านก่อการร้ายและกองกำลังป้องกันมาตุภูมิตามสนามบินและสถานีต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนทางด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต พร้อมประกาศเตือนขอให้ประชาชนไทยที่อยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ หากไม่มีความจำเป็นควรอยู่แต่ในที่พำนัก ส่วนคนที่อาศัยอยู่นอกกรุงบรัสเซลส์ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าเมือง ส่วนในประเทศไทย ทางสนามบินสุวรรณภูมิ ยังไม่เพิ่มมาตรการจากระดับ 3 ซึ่งเป็นมาตรการที่ตั้งขึ้นนับแต่เหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์
กลับมาอัพเดทสถานการณ์ในบ้านเรากันบ้างครับ ฉบับที่แล้วผมได้เขียนถึงสถานการณ์ภัยแล้งในภาพรวมกันไปแล้ว ฉบับนี้ยังขออนุญาตเกาะติดสถานการณ์ภัยแล้งอีกครั้ง ในประเด็นของความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรครับ ซึ่งแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะประสบปัญหาจากภัยแล้ง แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของภาคเกษตรกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมเป็นกลุ่มที่ใช้น้ำมากที่สุด มากกว่าร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ทั้งหมด หรือประมาณ 114,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในการทำการเกษตร โดยเบื้องต้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เดินหน้าช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งชาวเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล บรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยกรมโรงงานฯ ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ.2559 ในช่วงเวลาเฉพาะกิจ อนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช ผัก ผลไม้ นม สัตว์ สัตว์น้ำ น้ำมันพืช อาหารจากแป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ โกโก้ ขนมหวาน เครื่องปรุง เป็นต้น จำนวน 2,300 โรงงานที่มีเงื่อนไขห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงานและคุณลักษณะเป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งโรงงานแล้วนำน้ำทิ้งโรงงานเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการทำเกษตรสู้ภัยแล้ง ซึ่งประกาศฯ ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 คาดว่าจะสามารถช่วยปันน้ำให้ภาคการเกษตรเกือบ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน นอกจากนี้ ยังเตือนโรงงานที่ใช้น้ำมากจำนวน 3,616 โรงงาน ที่ตั้งอยู่ใน 24 จังหวัดรับมือภัยแล้ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, กำแพงเพชร, ตาก, พิษณุโลก, นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี, ชัยภูมิ, อุบลราชธานี, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ และนครปฐม
และสำหรับผู้ประกอบการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง หลักเกณฑ์อนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ.2559 ได้ที่ ส่วนมลพิษน้ำ สำนักเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมโรงงาน โทรศัพท์ 0-2202-4169 หรือสอบถามข้อมูล โครงการส่งเสริมใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2202-4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด