เนื้อหาวันที่ : 2016-04-07 12:27:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2930 views

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

 

 

 

          สกว. ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรและอุตสาหกรรมจากยางพาราในจังหวัดชายแดนใต้บนฐานงานวิจัย เทคโนโลยีไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน หวังให้เกิดการพึ่งพาตัวเองและลดปัญหาราคายางตกต่ำ

 

 

          จากวิกฤติราคายางพาราตกต่ำ รัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของยางพารา เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการใช้ประโยชน์จากยางพาราเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ และสามารถขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรม ฝ่ายสื่อสารสังคมและฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. เห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์ดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจร ผลิตภัณฑ์ยางพาราจากงานวิจัย สกว. เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยยางพาราทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจนรับทราบกระบวนการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และสถานการณ์ปัจจุบัน จากการถ่ายทอดของนักวิจัย ผู้ประกอบการ และเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย

 

          น้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท การผลิตน้ำยางข้นในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้กระบวนการปั่นแยกซึ่งต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ และเงินลงทุนหลายล้านบาท  สกว. จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับคณะนักวิจัยโดย รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา และ ผศ.ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำยางข้นชนิดครีม โดยใช้สารก่อครีมกลุ่มไฮดรอกซีเอทิลเซลลูโลสร่วมกับสบู่แอมโมเนียมลอเรต ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสมในการเตรียมน้ำยางครีม ตั้งทิ้งไว้ 1 วัน เกษตรกรจะได้น้ำยางข้นชนิดครีมที่พร้อมนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องจักรที่มีความซับซ้อน เงินลงทุนไม่มาก

 

          นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ทดลองขยายสเกลการผลิตน้ำยางข้นชนิดครีมในระดับอุตสาหกรรมที่ปริมาณ 4,000 ลิตร มีสมบัติใกล้เคียงกับน้ำยางข้นที่ได้จากกระบวนการปั่นแยก และทดลองประยุกต์ใช้น้ำยางข้นดังกล่าวในการทำน้ำยางเคลือบสระเพื่อกักเก็บน้ำ ด้วยการพ่นลงบนพื้นผิวที่เป็นผ้าเพื่อง่ายต่อการใช้งาน และถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับกลุ่มเกษตรกรทำผลิตภัณฑ์ง่าย ๆ เช่น บ่อเลี้ยงปลาดุก บ่อปลูกมะนาว หรือหมอนยางพารา เป็นต้น

 

 

 

พ่นยางคอมปาวด์บนบ่อปลูกมะนาว

 

 

อาจารย์อดิศัย กับบ่อปลูกมะนาว

 

 

 

บ่อปลูกมะนาว

 

 

เคลือบบ่อเลี้ยงปลาด้วยน้ำยาง

 

 

 

เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในบ่อยางที่สายบุรี

 

 

บ่อเลี้ยงปลาดุกที่สายบุรี

 

 

          “เป้าหมายของเราคือ ให้กลุ่มเกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้บนฐานกระบวนการวิจัยในการพัฒนาสูตรน้ำยางและเครื่องมือการผลิตอย่างง่าย ๆ และเหมาะสม แล้วนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ใช่ขายแต่น้ำยางสดเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์เองได้ รวมถึงการสร้างเครือข่ายชาวบ้านในลักษณะของเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังลดต้นทุนการผลิต สร้างเงินสร้างงานในพื้นที่โดยการสร้างโรงงานของตัวเอง ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เกิดการจ้างงาน ทำให้ชาวสวนและประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น มีโอกาสและทางเลือกมากขึ้น นอกเหนือจากการผลิตเองใช้เอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งเพียงการขายวัตถุดิบให้พ่อค้าในตลาดอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ปัญหาน้ำยางพาราล้นตลาดและการเรียกร้องราคาจากภาครัฐลดลง ทั้งนี้นักวิจัยยังได้พัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้บริโภค จึงรับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราว่าได้มาตรฐานเทียบเคียงระดับอุตสาหกรรม ซึ่งในอนาคตยังต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างอย่างต่อเนื่อง เช่น เสื่อโยคะ เบาะรองนั่ง ที่นอน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับฟองน้ำ” รศ.อาซีซัน กล่าว

 

          คุณัญญา แก้วหนู ผู้บริหาร บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด กล่าวเสริมว่า แรกเริ่มได้รวมกลุ่มชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์จากยางพาราในนามกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต่อมาได้จดทะเบียนตั้งบริษัทและพัฒนาสูตรน้ำยางพาราร่วมกับนักวิจัย สกว. และมีที่ปรึกษาด้านการออกแบบและการตลาด ปัจจุบันบริษัทรับจ้างผลิตหมอนยางพาราตามออเดอร์ซึ่งมีอยู่ 4 ราย เน้นการส่งขายในประเทศ และกำลังมีแผนส่งออกไปขายที่จีนอีก 2 ราย ซึ่งคาดว่าผลการเจรจาจะชัดเจนหลังตรุษจีนนี้ ทั้งนี้กำลังการผลิตของบริษัทอยู่ที่วันละ 50 ใบ ใช้น้ำยางข้น 500 กิโลกรัม โดยรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรในพื้นที่ราคาประมาณกิโลกรัมละ 38 บาท สูงกว่าหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 50 สตางค์ เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง นอกจากนี้ยังผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางสำหรับใช้ในการทำเกษตรกรรมด้วย

 

 

 

ผสมสารเคมีระหว่างปั่นตีฟอง

 

 

เทน้ำยางลงเบ้าพิมพ์หมอน

 

  

 

ผลิตภัณฑ์ที่นอนหมอนยางพารา

 

 

 

ผู้ประกอบการหมอนยางพาราที่จะนะ

 

 

โรงงานผลิตที่นอนยางพารา

 

  

          ด้าน ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะนักวิจัยและผู้บริหารบริษัท ปัตตานีอุตสาหกรรม (1971) จำกัด ผู้ผลิตที่นอนยางพารารายใหญ่ของไทย กล่าวว่า บริษัทเป็นโรงงานแรกของประเทศที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากโฟมยางธรรมชาติ เป็นผู้นำมากว่า 40 ปี ทั้งนี้อนาคตของบริษัทขึ้นอยู่กับงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม นอกเหนือจากงานด้านการตลาดและผลิต เพราะงานวิจัยและพัฒนาจะเป็นตัวกำหนดอนาคต ทิศทาง และความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งฝังอยู่ในวัฒนธรรมของบริษัทไม่แยกออกมาเป็นแผนกหรือหน่วยงาน และมีงานวิจัยร่วมกับ สกว. ในหลากหลายหัวข้อ รวมถึงรูปแบบงานวิจัยที่ไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล จนเกิดเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ สร้างแบรนด์ใหม่ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณปีละ 40 ล้านบาท และสร้างแบรนด์อื่น ๆ อีก ซึ่งล้วนเป็นผลกระทบทางตรงของงานวิจัย ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม สินค้าได้รับการยอมรับในตลาดโลกทั้งในเกาหลี รัสเซีย และจีนซึ่งเป็นลูกค้าหลักขณะนี้ มีแนวโน้มความต้องการสูง อีกทั้งถูกใช้เป็นเรือธงในธุรกิจท่องเที่ยวจนเกิดโรงงานใหม่ ๆ นับสิบแห่ง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดจำนวนมาก

 

 

 

ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

 

 

การผลิตถุงมือเคลือบยางพารา

 

 

เตรียมนำถุงมือเข้าตู้อบ

 

 

          งานวิจัยที่ทำทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัย การรับทุนจาก สกว. มีการสร้างนักวิจัยและนักศึกษา ทำให้เกิดฐานความรู้ด้านการทำฟองยางธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่ในวงกว้างผ่านรายงานวิจัยมากกว่า 10 เรื่อง ทำให้อุตสาหกรรมขยายตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่ตลาดโลกในระยะเวลาอันสั้น โดยบริษัทยังคงรักษาความเป็นผู้นำได้อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันบริษัทผลิตสินค้าแบรนด์ Original ซึ่งเป็นสินค้าโดยตรงจากห้องปฏิบัติการ เป้าหมายลูกค้าคือ ครอบครัวสร้างใหม่ ส่วนแบรนด์ Patex สำหรับตลาดทั่วไป และลูกค้ารุ่นสูงวัยภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแก่โรงแรมและสถานบริการด้านสุขภาพ ทำให้บริษัทต้องใช้น้ำยางข้นประมาณ 200 ตันต่อเดือน คิดเป็นน้ำยางสด 500 ตัน โดยรับซื้อในราคาสูงกว่าตลาด ซึ่งเมื่อความต้องการผลิตภัณฑ์ยางพาราในตลาดสูงขึ้น ก็จะส่งผลต่อเกษตรกรที่สามารถขายน้ำยางสดได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ตลาดที่นอนยางพาราในยุโรปจะเติบโต แต่ตลาดไทยน่าจะโตเต็มที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของตลาดที่นอนทั้งหมด “สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้สินค้ามีความพึ่งพิงกับวัตถุดิบไม่มากเกินไปนัก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และรับประกันความพึงพอใจของลูกค้า” ดร.ณัฐพงศ์ ระบุ

 

          ขณะที่ นายสุไลมาน ดือราโอ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสายบุรี จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทางกลุ่มได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก ผศ.ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์ ในการใช้น้ำยางข้นชนิดครีมมาพัฒนาสูตรน้ำยางคอมปาวด์ และผลิตเป็นสินค้าแปรรูปต่าง ๆ โดยเฉพาะบ่อเลี้ยงปลาดุก ซึ่งขอใช้สิทธิ์ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว ปัจจุบันสามารถทำวงบ่อปลูกมะนาวขายวงละ 300 บาท โดยใช้น้ำยางคอมปาวด์ 2.5 กิโลกรัม/วง ยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 1,000 วง ออเดอร์แต่ละเดือนไม่แน่นอนเพราะยังอ่อนเรื่องการประชาสัมพันธ์ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร โดยบ่อที่ผลิตขึ้นมีราคาถูกกว่าบ่อซีเมนต์ น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก อีกทั้งการเคลือบน้ำยางคอมปาวด์ที่มีสีดำ ช่วยดูดความร้อน ทำให้อุณหภูมิของน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาสูงขึ้น ปลาเติบโตเร็ว สามารถขายได้ในเวลาเพียง 2 เดือนครึ่ง ขณะที่การเลี้ยงด้วยบ่อซีเมนต์จะขายได้ในเดือนที่ 4-5 อีกทั้งกลิ่นคาวปลาลดลง ปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มซึ่งมีอยู่ 300 คน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นต้นแบบขยายผลไปยังวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดเลยและนครราชสีมา

 

 

 

นายสุไลมาน ดือราโอ

หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสายบุรี จังหวัดปัตตานี

 

  

          “เรารับซื้อน้ำยางสดจากชาวสวนมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้เทคโนโลยีของนักวิจัย สกว. โดยไม่กลัวความผันผวนของราคายาง เพราะสามารถกำหนดราคาของเราเองได้ และเผื่อราคายางก้าวกระโดดขึ้นสูงไว้แล้ว ทั้งนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราจะต้องเดินหน้าต่อไป ในอนาคตทางกลุ่มจะร่วมทำงานวิจัยกับ สกว. เพื่อลดข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การเพิ่มอายุการใช้งานน้ำยางคอมปาวด์ให้อยู่ได้นาน 3 เดือน จากปัจจุบันที่เก็บไว้ได้เพียง 2 สัปดาห์” นายสุไลมาน กล่าวสรุป

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด