เนื้อหาวันที่ : 2016-04-05 19:07:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2725 views

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

 

 

ท่ามกลางการรณรงค์เกี่ยวกับ “ภาวะโลกร้อน” มานานหลายปี ซึ่งเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในระยะที่ผ่านมา ทั้งปัญหาฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ปัญหาน้ำท่วม โคลนถล่ม แผ่นดินไหวและภาวะแห้งแล้งยาวนาน ทำให้ชาวโลกเริ่มหันมาใส่ใจรักโลกเพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

 

 

          ในที่นี้รวมถึง การให้ความสำคัญกับการไม่ตัดไม้ทำลายป่าและปลูก “ต้นไม้” หรือปลูกป่าเพิ่มขึ้น ในประเทศไทยมีหน่วยงานจำนวนไม่น้อยที่หันมาทำกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อปกป้องโลกให้น่าอยู่ขึ้น ความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นและน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างหนึ่งได้แก่ “โครงการธนาคารต้นไม้” ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ได้ประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ควบคู่ไปกับการเพิ่มทรัพย์ในดิน สร้างความมั่นคงในอาชีพ รายได้หรือแม้แต่ใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อให้แก่ประชาชน

 

 

 

 

โลกสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่ม ไทยป่าถูกทำลาย 26 สนามฟุตบอล/ชั่วโมง

 

 

          ทั้งนี้ “ภาวะโลกร้อน” มีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์เผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมออกสู่บรรยากาศ อย่างไรก็ตามการตัดไม้ทำลายป่ามีส่วนซ้ำเติมความร้อนให้แก่โลกใบนี้ด้วยเช่นกัน  โดยจากข้อมูล Greenpeace Thailand แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 30% ที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศโลกเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งการทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของป่าทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเพราะก๊าซเรือนกระจกชนิดต่าง ๆ จะถูกปล่อยออกมา ในกรณีที่เกิดไฟป่าหรือการตัดต้นไม้ไปเป็นฟืน ในขณะที่จำนวนต้นไม้ที่จะเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง  

 

          ในรายงาน “การประเมินทรัพยากรป่าไม้โลกปี 2015” (The Global Forest Resources Assessment 2015) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า 93% ของป่าโลกยังเป็นป่าธรรมชาติ ซึ่งเป็นป่าดั้งเดิมที่ถูกมนุษย์รบกวนน้อยมากและป่ารุ่นที่ 2 ที่เกิดขึ้นใหม่ตามธรรมชาติ และพื้นที่ป่าโลกยังคงลดลง จากที่เคยครอบคลุมพื้นที่ 31.6% ของโลก หรือราว 4,128 ล้านเฮกเตอร์ในปี 1990 มาเป็น 30.6% ในปี 2015 มีพื้นที่ป่า 3,999 ล้านเฮกเตอร์ แต่อัตราการสูญเสียชะลอตัวลงไปแล้วจาก 0.18% ในทศวรรษ 1990 เหลือเพียง 0.08% ในช่วงปี 2010-2015 ซึ่งสะท้อนว่า มีการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องผืนป่าเพิ่มขึ้น

 

          สำหรับสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย พื้นที่ป่าไม้ของไทยมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2504 ที่เริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในขณะนั้นพื้นที่ป่าไม้ของไทยเหลืออยู่ราว 171 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 53.33% ของพื้นที่ประเทศ แต่จากข้อมูล สถานการณ์ป่าไม้ไทยปี 2558 จากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่า ณ ปี 2558 ไทยมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่ทั้งสิ้นเพียง 31.62% หรือ 163,656.64 ตร.กม. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 มาเล็กน้อย ที่มีอยู่ 31.57% หรือ 163,391.26 ตร.กม.

 

          ภาคเหนือมีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดคิดเป็น 52.21% ของพื้นที่ภาค รองลงมาคือ ภาคกลางและภาคตะวันตกที่มี 32.86% ภาคใต้ 23.97% ภาคตะวันออก 22.18% และภาคที่มีป่าน้อยที่สุดได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15.02% ของพื้นที่ภาค ภาคที่มีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้รุนแรงที่สุด คือ ภาคตะวันออก รองลงมาได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ 35.8% และ 26.97% ของพื้นที่ป่าที่เคยมีในภาคเมื่อปี 2504

 

          แม้ในปี 2557 จะพบว่ามีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นจากปี 2556 อัตรา 0.05% หรือ 265.8 ตร.กม. แต่สถานการณ์ป่าไม้ถูกคุกคามยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยทุก ๆ 1 ชั่วโมง ป่ายังคงถูกทำลาย 26 สนามฟุตบอลทำให้เชื่อว่าอีกราว 100 ปี ไทยจะไม่เหลือผืนป่าอยู่เลย หากอัตราการทำลายป่าไม้ยังคงที่

 

 

 

 

ป่าไม้ถูกทำลายส่งผลสภาพอากาศแปรปรวน-กระทบสิ่งมีชีวิต-คน

 

 

          การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรอื่น ๆ ทั้งดิน น้ำ อากาศ สัตว์ป่าและรวมถึงมนุษย์และปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดิน เพราะไม่มีต้นไม้ช่วยสกัดการไหลบ่าของน้ำ ทำให้น้ำท่วมในฤดูฝน ผลจากการตัดไม้ทำลายป่า การชักลากไม้ทำให้ผิวดินแน่น จำนวนรูพรุนขนาดใหญ่ลดลง ทำให้การดูดซึมน้ำผ่านผิวดินได้ลดลง จึงเกิดน้ำไหล่บ่าบนหน้าดินเพิ่มขึ้นจนระบายน้ำไม่ทัน  นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งในฤดูแล้ง เพราะนอกจากน้ำจะซึมผ่านผิวดินได้ต่ำ ยังเกิดการระเหยของน้ำจากผิวดินสูงด้วย จึงมีการเก็บน้ำภายในดินลดลง  

 

          ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างดินของป่าชนิดต่าง ๆ ที่ทางส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำการเก็บตัวอย่างมากว่า 200 ตัวอย่างทั่วประเทศพบว่า ป่าดิบเขาสามารถเก็บกักน้ำได้มากที่สุด 1,516.08 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ (ลบ.ม./ไร่) รองลงมาคือ ป่าดิบชื้น 850.45 ลบ.ม./ไร่ ป่าดิบแล้ง 630.08 ลบ.ม./ไร่ ป่าเบญจพรรณ 420.31 ลบ.ม./ไร่ และป่าเต็งรัง 230.64 ลบ.ม./ไร่

 

          น้ำในดินที่น้อยลงทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงแหล่งน้ำตามลำธารน้อยลง แห้งขอด เกิดปัญหาน้ำเสียกระจายได้ผลจากทำให้มีความเข้มข้นของสิ่งเจือปนสูง และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำและสัตว์ได้อีก หลังจากต้องเดือดร้อนอยู่แล้วจากการไร้ที่อยู่อาศัย การทำลายแหล่งอาหาร และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า น้ำที่น้อยยังทำให้ไม่มีน้ำทำชลประทาน เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ กระทบต่อเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำเพาะปลูกพืชผลต่าง ๆ

 

          ที่สำคัญยังทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” หรือเกิด “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” (Greenhouse Effect) เนื่องจากโดยปกติแก๊สต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศอยู่เหนือพื้นผิวโลกขึ้นไป 25 กิโลเมตร ได้รวมตัวกันเข้าเป็นเกราะกำบังพื้นผิวโลกของเราให้มีความอบอุ่นพอเหมาะกับการดำรงชีวิต ทำหน้าที่คล้ายกระจกในเรือนกระจกหรือกรีนเฮาส์ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรักษาอุณหภูมิให้ต้นไม้ภายในเรือนกระจกมีชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากแก๊สพวกนี้ยอมให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ผ่านลงมายังพื้นโลกได้และกักเก็บความร้อนบางส่วนเอาไว้ไม่ให้สะท้อนกลับออกไปสู่บรรยากาศ ทำให้โลกมีอุณหภูมิพอเหมาะ ปัจจุบันเกราะกำบังนี้มีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้เก็บความร้อนจากการดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ไว้มากขึ้น โลกจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้พื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์จะเกิดการแห้งแล้งและสลับกับการเกิดน้ำท่วม ซึ่งไทยประสบปัญหาทั้ง 2 อย่าง

 

          สำหรับกลุ่มแก๊สที่รวมตัวกันเป็นเกราะกำบัง ได้แก่ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน คาร์บอนเตตระคลอไรด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ โดยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีมากที่สุด การเผาป่าเป็นตัวการทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25%

 

 

 

 

“การจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน” คือ ทางออก “ธนาคารต้นไม้ ธกส.” เพิ่มทรัพย์ในดิน-สกัดวิกฤตธรรมชาติ

 

 

          ดังนั้น การลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดการตัดไม้ทำลายป่า หรือนำวิธีการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืนและเหมาะสมมาใช้จึงมีความสำคัญ เพื่อช่วยควบคุมไม่ให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในบรรยากาศโลก เช่น การปลูกต้นไม้ใหม่ขึ้นทดแทนต้นไม้ที่โดนตัดไป การปกป้องป่าดั้งเดิมหรือป่าโบราณไว้ไม่ให้ถูกทำลายเพราะเป็นป่าธรรมชาติที่ยังไม่ถูกมนุษย์รบกวน จึงมีการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มหาศาล เช่น ป่าสนแถบหนาวในแคนาดาและรัสเซีย ที่มีการประเมินว่า กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากถึง 40% ของโลก (ข้อมูลจาก Greenpeace Thailand)

 

          ในประเทศไทยมีองค์กรและหน่วยงานธุรกิจมากมายจัดกิจกรรมเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนผ่านการปลูกต้นไม้ ปลูกป่าจนดูเหมือนเป็นแฟชั่น ซึ่งเป็นที่น่ายินดี สำหรับโครงการที่โดดเด่น และน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ “โครงการธนาคารต้นไม้” ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่นอกจากจะมุ่งช่วยเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากวิกฤตธรรมชาติต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นการช่วยประชาชน เกษตรกรหรือชุมชนในด้านเศรษฐกิจ สร้างทรัพย์ในดินบนพื้นที่ทำกิน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ช่วยปลดภาระหนี้สินและแม้แต่ใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์หรือหลักประกันในการขอสินเชื่อได้

 

          ทั้งนี้เกษตรกรไทยจำนวนมากทำมาหากินโดยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการโค่นต้นไม้ใหญ่เพื่อทำสวนทำไร่พืชเพียงชนิดเดียวเพื่อส่งต่อพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมทั้งจากเคมีที่ใช้ ความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ และภัยธรรมชาติ ต่าง ๆ ฝนแล้ง ท่วม ที่ส่งผลต่อการเพาะปลูก ทำการเกษตรไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้เกิดวงจรหนี้สินที่ไม่จบสิ้นและสุดท้ายลงเอยด้วยการขายที่ดินทำกิน ต้องอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ ไปขายแรงงาน กลายเป็นสังคมที่แออัด ต้องแย่งกันใช้ทรัพยากรทั้งอาหาร พลังงาน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมวนเวียนเป็นวัฏจักร

 

          ธกส.พบว่า เกษตรกรมีหนี้สินต่อครัวเรือน เฉลี่ย 167,579 บาท มีค่าใช้จ่ายในภาคการเกษตรเฉลี่ย 75,043 บาท ค่าใช้จ่ายนอกภาคการเกษตรเฉลี่ย 121,030 บาท แต่มีรายได้การเกษตรเฉลี่ยเพียง 140,076 บาทเท่านั้น

 

          จากการเล็งเห็นวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ธกส.จึงได้ร่วมกับคณะกรรมกรผู้นำชุมชนแห่งชาติ ริเริ่มแนวคิดการส่งเสริมปลูกต้นไม้ใช้หนี้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดย ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ตามแนวทางพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยลดพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยวลง แต่ยังคงรายได้เท่าเดิมและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการปลูกพืช 7 กลุ่ม ประกอบด้วย พืชน้ำ พืชใต้ดิน พืชเรี่ยดิน พืชชั้นล่าง พืชชั้นกลาง พืชชั้นบน และพืชเถา ในที่ดินของตนเอง ทำให้ลดรายจ่ายภายในครัวเรือน สร้างรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี จากการจำหน่ายผลผลิตที่ได้ อีกสร้างระบบการจัดการทรัพยากรชุมชนร่วมกัน จนเกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ซึ่งมีการใช้ชื่อว่า “ธนาคารต้นไม้” ในวันที่ 9 ธันวาคม 2549 เนื่องจากมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์และหลักประกันได้ เพราะต้นไม้มีการเจริญเติบโตและมีการเพิ่มปริมาณของเนื้อไม้ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหากถูกตัดไปขาย เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ โดยธ.ก.ส.ได้สนับสนุนเกษตรกรสมาชิกโครงการธนาคารต้นไม้สามารถใช้บริการสินเชื่อของธนาคารที่เรียกว่า สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือเงินลงทุนประกอบอาชีพได้ โดยนำมูลค่าต้นไม้มากำหนดวงเงินสินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าต้นไม้ นอกจากนี้ต้นไม้ยังมีคุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศโดยรวมของประเทศไปพร้อมกัน

 

          ต่อมาโครงการนี้ยังได้รับการยกระดับและผลักดันขึ้นเป็นวาระแห่งชาติที่ว่าด้วยการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองและความมั่นคงด้านที่อยู่อาหาร พลังงาน อาหารและยา ในปี 2550  

 

 

 

 

ใช้ “ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” ปี 58 มีเข้าร่วม 5,608 ชุมชน สมาชิกกว่า 9หมื่นราย ปลูกต้นไม้กว่า 9 ล้านต้น

 

 

          การดำเนินงานธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส. ได้ใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางและมีองค์กรภาครับเป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยมีขั้นตอนหลายอย่างดังนี้คือ

 

  • การจัดเวทีเรียนรู้เรื่องธนาคารต้นไม้ เพื่อ “ปลูกต้นไม้ในใจคน” สร้างจิตสำนึกในการปลูกต้นไม้เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
  • จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการปลูกต้นไม้ ตั้งแต่การเพาะกล้าพันธุ์ การเตรียมการปลูก การดูแลรักษา
  • จัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกต้นไม้ โดยการรับสมัครสมาชิก (เกษตรกร 9 รายขึ้นไป) และเลือกตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้ได้ดียิ่งขึ้น
  • กำหนดพื้นที่ปลูกต้นไม้ ของเกษตรกร ประชาชน ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเอง ชุมชน ป่าเสื่อมโทรม และจัดทำฐานข้อมูลทั้งตัวสมาชิกและต้นไม้ที่ปลูกให้ครบถ้วน รวมถึงเพาะชำกล้าไม้และจัดหากล้าไม้
  • ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ โดยส่งเสริมให้เกษตรกร ประชาชน ที่เข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ทำกินเดิม ปลูกต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนา หรือแบ่งที่ดินทำกินปลูกต้นไม้แบบวนเกษตร เพื่อให้มีรายได้ยังชีพ ระหว่างรอต้นไม้เติบโต
  • บันทึกรายการและมูลค่าของต้นไม้ โดยสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดทำสมุดธนาคารต้นไม้ เพื่อให้ทราบชนิด จำนวน อายุ และมูลค่าต้นไม้ที่ปลูก รวมทั้งแผนที่แปลงปลูก อย่างครบถ้วนชัดเจน รวมทั้งต้องมีการรายงานและติดตามการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระยะ ๆ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
  • การเชื่อมโยงชุมชนเป็นเครือข่ายกลุ่มคนปลูกต้นไม้ ให้เกิดเป็นภาคีเครือข่ายคนปลูกต้นไม้ขึ้นตามสภาพแวดล้อมของชุมชนและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

 

          การขับเคลื่อนธนาคารต้นไม้ยึดแนวทาง “บันได 5 ขั้น สู่ความพอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยให้บทบาทกับ “ภาคประชาชน” เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อน ภายใต้แนวทาง “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ ร่วมรับผิดชอบและร่วมรับผลประโยชน์” โดยมีองค์กรภาครัฐสนับสนุนเพื่อให้เกดการปลูกต้นไม้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดแนวคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอย่างยั่งยืน

 

          ในการดำเนินงาน ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนโครงการธนาคารต้นไม้ในทุกขั้นตอน รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบดูแลโครงการธนาคารต้นไม้ โดยฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชนบท เพื่อให้กระบวนการขับเคลื่อนธนาคารต้นไม้ของชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับความสนใจจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

          ทั้งนี้ ธ.ก.ส.กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานไว้ว่า ปี 2552 สนับสนุนชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จัดตั้งเป็นธนาคารต้นไม้ต้นแบบ 84 ชุมชน จากนั้นปี 2553 จัดตั้งธนาคารต้นไม้ต้นแบบ 84 ชุมชน แล้วขยายผลไปสู่ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนอื่น ๆ จำนวน 889 ชุมชน หลังจากนั้นได้มีการขยายผลเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดย ธ.ก.ส. ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2563 จะขยายให้ได้ 20,000 ชุมชน โดยมีสมาชิก 1 ล้านครัวเรือน ปลูกต้นไม้ 1,000 ล้านต้น มีมูลค่าต้นไม้ 1 ล้านล้านบาท (1,000 บาท/ต้น) และต้นไม้ที่ปลูกยังสามารถสร้างหลักประกันหนี้เงินกู้ถึง 5 แสนล้านบาท (50%ของมูลค่าต้นไม้)

 

          ผลปรากฏว่า การดำเนินงานโครงการธนาคารต้นไม้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 พบว่า สมาชิกในโครงการธนาคารต้นไม้ได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศจำนวน 5,608 ชุมชน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 90,188 ราย และได้ดำเนินการปลูกต้นไม้นำมาฝากธนาคารต้นไม้แล้ว 9,271,625 ต้นด้วยกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินมูลค่าต้นไม้ จับพิกัด GPS และจัดทำแผนที่ GIS (โฉนดต้นไม้) 

 

          นอกเหนือจากเหล่าเกษตรกร ธ.ก.ส. ยังขยายผล ชักชวนประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ด้วย ผ่านทาง  “โครงการเงินออมธนาคารต้นไม้” ซึ่งเพิ่มผลประโยชน์พิเศษให้กับผู้ฝากเงินในโครงการในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์บวกอัตราร้อยละ 0.25 ไปมอบให้กับ “กองทุนธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส.” เพื่อนำไปจัดโครงการเกี่ยวกับการปลูกป่าและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ผู้ฝากเงินในโครงการสามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับธนาคารได้ ในขณะที่ยังได้รับมูลค่าเงินฝากและดอกเบี้ยตามปกติ เพื่อช่วยสร้างความภูมิใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ

 

 

 

 

สร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน

 

 

          โครงการธนาคารต้นไม้ ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของภาคีเครือข่ายภาคประชาชนนับว่า มีประโยชน์อย่างมากในภาพรวม โดยช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการปลูกต้นไม้ที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ให้กับเหล่าเกษตรกรแล้ว ยังช่วย สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เกิดการร่วมมือกันปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยมี “กองทุนธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส.” เป็นตัวกลางเชื่อมโยงที่สำคัญ ต้องทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรและประชาชนในชุมชน เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารต้นไม้ของชุมชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การศึกษาดูงาน เชื่อมโยงเครือข่ายคนปลูกต้นไม้และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน สร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจก แลก ขายและเป็นทุนหมุนเวียนในชุมชน อีกทั้งยังช่วยเหลือสมาชิกจากความเสียหายจากภัยพิบัติและภัยอื่น ๆ

 

          โครงการธนาคารต้นไม้ยังช่วยสร้างอาชีพ ให้กับเหล่าสมาชิกในชุมชน ด้วยธนาคารต้นไม้ระดับชุมชนเกิดจากเกษตรกรรวมตัวกันตั้งแต่ 9 คนขึ้นไปและจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเพื่อแบ่งหน้าที่ดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ของธนาคารต้นไม้ เช่น การเพาะชำกล้าไม้ การตัดแต่งกิ่ง การตัดสางขยายระยะหรือตัดต้นไม้ที่มีลักษณะไม่ดีออกแล้วนำไม้มาทำฟืน เผาถ่าน กิจกรรมเหล่านี้พัฒนาต่อยอดเป็น “วิสาหกิจชุมชน” สร้างอาชีพให้กับสมาชิกชุมชน ที่เป็นผลมาจากการปลูกต้นไม้ได้ เช่น “วิสาหกิจชุมชนการผลิตถ่านและน้ำส้มควันไม้”   

 

          เกิดเป็น “วิสาหกิจชุมชนด้านการเพาะชำกล้าไม้” จากการที่ธนาคารต้นไม้มีแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพาะชำต้นกล้าไม้ พันธุ์ไม้ท้องถิ่น ไม้ยืนต้น ไม้ผล สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับและอื่น ๆ เพื่อแจก แลกและขาย ช่วยสร้างอาชีพให้กับผู้ว่างงาน ผู้หญิง เด็ก ผู้ยากไร้หรือผู้พิการให้มีงานทำ โดยรายได้จากการจำหน่ายกล้าไม้สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเพาะชำหรือเป็นค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานได้

 

          ส่วนการปลูกต้นไม้ที่หลากหลายของธนาคารต้นไม้ รวมถึงไม้ผลและพืชเกษตรอื่น ๆ สามารถนำผลผลิตมาขายตลาดและนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ โดยการรวมกลุ่มเป็น “วิสาหกิจชุมชนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร”  เช่น ทำไวน์ผลไม้ กล้วยอบ ทุเรียนกวน ผลิตยาสมุนไพรและอื่น ๆ หรือเกิดเป็น  “วิสาหกิจชุมชนด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้” ที่นำไม้จากต้นที่เติบโตเต็มที่ถึงเวลาต้องตัดขายมาใช้ โดยรวมกลุ่มกันทำผ่านโรงเลื่อยชุมชนเพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็กหรือบ้านสำเร็จรูป เป็นต้น

 

          หรือแม้แต่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เกิดเป็น “วิสาหกิจชุมชนด้านการท่องเที่ยวและโฮมสเตย์” สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมป่าของชุมชนที่ช่วยคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศ มีภูมิทัศน์สวยงาม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์หรือเพื่อศึกษาดูงาน พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

 

 

อนาคตต่อยอดสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขายคาร์บอน เครดิต กักก๊าซช่วยลดโลกร้อน

 

 

          สำหรับประโยชน์อื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืนด้วยการสร้าง “โรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล” โดยใช้วัตถุดิบจากเศษกิ่งไม้ ใบหญ้าและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง

 

          รายได้อีกทางหนึ่งอาจมาจากการที่ “ธนาคารต้นไม้” มีส่วนร่วมช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดวิกฤติให้กับโลก โดยพัฒนาเป็น “แหล่งคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” (Carbon Offset) และการขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ที่องค์การเอกชนต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

          เพราะต้นไม้ทุกต้นไม่ว่าจะเป็นชนิดพันธุ์ใดล้วนมีส่วนช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้นโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงและเก็บไว้ในรูปของเนื้อไม้ ซึ่งความสามารถในการกักเก็บก๊าซแตกต่างกันไป ดังข้อมูลของสำนักวิเคราะห์และติดตามประเมินผล องค์การริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พบว่า ต้นสัก สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.1.6 ตัน/ต้น/ปี, ยูคาลิปตัส 6.09 ตัน/ปี,กระถินเทพา 6.09 ตัน/ปี, กระถินณรงค์ 4.40 ตัน/ปี, กระถินยักษ์ 6.49 ตัน/ปี, โกงกาง 2.75 ตัน/ไร่, ยางพารา 4.22 ตัน/ไร่ และปาล์มน้ำมัน 2.9 ตัน/ไร่

 

ดังนั้น “ธนาคารต้นไม้” ที่ขณะนี้มีต้นไม้อยู่ในบัญชีแล้วอย่างน้อยกว่า 9.27 ล้านต้นคงจะมีส่วนช่วยโลกได้ไม่น้อย

 

          "ธนาคารต้นไม้"  ธกส. โมเดล วิถีที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มทรัพย์ในดิน-สกัดวิกฤตธรรมชาติ นี้ จึงน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี ให้หน่วยงานอื่น ๆ เจริญรอยตามหรือนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมไทยโดยรวม และยังมีส่วนช่วยโลกไปด้วยพร้อมกัน

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลภาพ

• “ธนาคารต้นไม้ พอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (www.baac.or.th), สำนักวิเคราะห์และติดตามประเมินผล องค์การริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน), Greenpeace Thailand >

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด