สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ ปัจจุบันเศรษฐกิจบ้านเรารวมถึงทั่วโลกมีการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด พ้อค้าแม่ขายบ้านเราก็มีเสียงบ่นกันเป็นระยะ เนื่องจากไม่มีลูกค้า ค้าขายไม่ดีเหมือนแต่ก่อน การที่ประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดก็ค่อนข้างต้องคิดแล้วคิดอีก เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลง ยิ่งเป็นในภาคการเกษตรยิ่งเห็นได้ชัด เนื่องจากผลผลิตทางด้านการเกษตรมีราคาตกต่ำลง รายได้ในส่วนนี้จึงหายไป ทำให้ประชาชนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอยอู้ฟู่เหมือนแต่ก่อน กระทบต่อการค้าขายสินค้าอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมยังเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย แต่เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัวลงเช่นนี้ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในหลาย ๆ ด้านก็ดูเป็นเรื่องที่จำเป็นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ทางด้านการตลาด เทคโนโลยีการผลิต การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน แม้ว่าที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา โดยปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลายด้านยังอยู่ในระดับต่ำ อาทิ การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ผลิตภาพและประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทำให้เงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆ ที่เคยเกื้อกูลและสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบที่ประเทศเคยมิได้เปลี่ยนไป เช่น ปัจจัยแรงงานที่เคยเป็นข้อได้เปรียบของไทยเริ่มมีข้อจำกัดจากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าบางรายการเริ่มประสบปัญหาการแข่งขันและสูญเสียตลาดบางส่วน
นอกจากนั้น ยังพบว่าแนวโน้มของระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน กำลังจะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม เป็นระบบที่มีการผลิตและให้บริการที่เน้นการคิดค้นสินค้าและบริการใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับโลก การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีความจำเป็นต้องมีแนวทางในการรองรับแนวโน้มดังกล่าว และการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ ยังคงเป็นทางออกที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต
โดยเบื้องต้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยปี 2559-2564 ต่อคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) พิจารณา เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต สอดคล้องแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและศักยภาพของประเทศในระยะยาว โดยมี แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ด้วยกันคือ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่ต้องเน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงกับภาคบริการ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบสนองกระแสโลก อาทิ กลุ่มพลังงานทดแทน กลุ่มวัสดุสีเขียว กลุ่มสุขภาพและอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร 3.กลุ่มอุตสาหกรรมรองรับดิจิทัลอิโคโนมี อาทิ กลุ่มหลอมรวมเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัจฉริยะ นาโนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานพาหนะ ต้องมีการทำ R&D มีศูนย์ทดสอบและศูนย์บ่มเพาะรองรับ 4.กลุ่มอุตสาหกรรมฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ เช่น อุตสาหกรรมแฟชั่น มัลติมีเดีย ฯลฯ ซึ่งต้องมุ่งเน้นการพัฒนาศูนย์ออกแบบ สร้างนักออกแบบ สร้างภาพลักษณ์และตราสินค้าให้เกิดขึ้น และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายภูมิภาค ที่ใช้ประโยชน์ด้านวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยทิศทางการพัฒนาจะมุ่งเน้นการให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน และการพัฒนาเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ
จากทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น นำมาสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยใน 3 ประเด็นหลักคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตหรือห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และมีการกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันครับ
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด