เนื้อหาวันที่ : 2016-03-10 16:27:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2361 views

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

 

          การปฏิรูปเศรษฐกิจต้องดำเนินการในหลาย ๆ ด้าน ต้องมีการลงทุนเพิ่ม ต้องโปร่งใส ที่สำคัญจะต้องสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้ คาดหวังว่า 5 ปีแรกจะทำให้เข้มแข็งขึ้นได้ ในระดับที่น่าพอใจ ให้สอดคล้องกับ ภูมิทัศน์เศรษฐกิจของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การเจริญเติบโตได้ย้ายมาสู่เอเชีย ในขณะที่ประเทศไทยเรามีที่ตั้ง ที่เรียกว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” ที่เป็นได้เพราะเราอยู่ในใจกลางของอาเซียน

 

 

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะต้องขับเคลื่อนการเจริญเติบโตภายในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนา เกื้อกูลซึ่งกันแล้วก็ประชาชนมีความสุข โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในลักษณะประชารัฐให้ได้โดยเร็ว

          และหากสามารถกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ในการที่จะให้เป็นศูนย์กลางการค้า-การลงทุน การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ การสร้างสรรค์ นวัตกรรมพึ่งพาตนเอง และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ถูกต้องแล้ว ก็จะสามารถรองรับการเจริญเติบโตของโลก ซึ่งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้เข้มแข็งด้วย

          ขณะเดียวกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 27 (ASEAN Summit 27th) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 นัดส่งท้ายก่อนที่ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ยังเป็นความหวังที่ทำให้ "ตลาดอาเซียน" ซึ่งเป็นตลาดส่งออกเบอร์ 1 ของไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

          ในการประชุมครั้งนี้ฝ่ายไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะเข้าร่วมให้การรับรองแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า (2559-2568) หรือ AEC Blueprint 2025 ร่วมกับสมาชิกอีก 9 ประเทศ ถือเป็นการดำเนินงานต่อยอดจากมาตรการเดิม เพิ่มประสิทธิภาพ และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงกว้าง และเชิงลึกยิ่งขึ้น ส่งเสริมความร่วมมือรายสาขา ให้ความสำคัญกับวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (SMEs) นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ

 

มิติใหม่ 5 ด้าน ก้าวสู่ AEC 2025

 

          เป้าหมาย "AEC Blueprint 2025" จะทำให้อาเซียนก้าวสู่มิติใหม่ 5 ด้าน คือ 1.เศรษฐกิจที่มีการรวมตัว และเชื่อมโยงในระดับสูง 2.มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีพลวัต 3.ส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ และการรวมตัวรายสาขา 4.ความสามารถในการปรับตัวครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ 5.การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก

          สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานอีก 10 ปีนั้น ไทยต้องดำเนินการ 1.ให้ความสำคัญกับภาคบริการเพิ่มขึ้น เช่น แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดเสรีภาคบริการ การพัฒนาบุคลากร การอำนวยความสะดวกในการเข้ามาทำงานของต่างชาติ ในสาขาที่ไทยต้องการพัฒนา เช่น โลจิสติกส์ การศึกษา การเงิน โทรคมนาคม ก่อสร้าง และคอมพิวเตอร์ 2.ความเชื่อมโยงภายในประเทศและภูมิภาค เนื่องจากไทยมียุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีศักยภาพด้านการขนส่ง ดังนั้น ไทยควรเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ด่านชายแดน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเร่งจัดทำระบบ Single Window ให้มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมโยง 3.พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามภาวะโลกในปัจจุบันที่หันเหไปสู่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งไทยควรขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ส่งเสริมการลงทุนด้าน Data Center และช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ 4.ปรับปรุงกฎระเบียบในประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดปัญหาอุปสรรคในการค้าและการลงทุน และ 5.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาสินค้าและบริการให้แข่งขันได้ในตลาดโลก

 

เปิดเสรีภาคบริการเร่งด่วนด้านโทรคมนาคม

 

          นางอภิรดี กล่าวว่า ขณะนี้อาเซียนลดภาษีส่วนใหญ่เป็น 0% แล้ว ยกเว้นรายการสินค้าอ่อนไหว แต่จะต้องเร่งแก้ไขมาตรการกีดกันทางการค้า (NTMs) ให้หมดไป เพื่อทำให้การค้าสินค้ามีความคล่องตัว นอกจากนี้เห็นว่าควรมีการผลักดันการสร้างความร่วมมือด้านมาตรฐานสินค้า (MRA) ร่วมกันภายในอาเซียน

          ที่สำคัญอาเซียนมีเป้าหมายจะเร่งเปิดเสรีภาคบริการให้มากกว่าปัจจุบันที่เปิดเสรีภาคบริการชุดที่ 10 และได้หารือประเด็นสำคัญในการเปิดเสรีภาคบริการเร่งด่วนด้านโทรคมนาคม โดยเฉพาะในเรื่องการคิดอัตราค่าโทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศในกลุ่มอาเซียน (โรมมิ่ง) ซึ่งในปัจจุบันแต่ละประเทศมีอัตราแตกต่างกันบางประเทศมีค่าโรมมิ่งสูง ดังนั้น สมาชิกจึงเห็นพ้องกันว่าควรปรับลดลงให้เป็นอัตราเดียวกันทั้งอาเซียน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางการค้า โดยจะเริ่มหารือกันตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป

          อย่างไรก็ตาม หลังจากรวมประชาคมอาเซียนแล้ว ความเป็นไปได้ที่อาเซียนจะปรับใช้สกุลเงินเดียวกันยังยากเพราะมีความแตกต่างของ "ระบบเศรษฐกิจ" ในแต่ละประเทศ และยังไม่มีการพิจารณาเปิดรับสมาชิกใหม่นอกอาเซียนและคู่เจรจาเดิม แม้ว่าก่อนหน้านี้ที่มีติมอร์และปาปัวนิวกินีแสดงความสนใจเข้าร่วม

  

ทุ่ม 133 ล้านบาทดัน 40 กลุ่ม พ่วงซูเปอร์คลัสเตอร์

 

          ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2559 กรมมีแผนที่จะผลักดันคลัสเตอร์ ใน 4 กลุ่มหลัก ๆ ที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับซูเปอร์คลัสเตอร์ของรัฐบาล ก็คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและสินค้าแปรรูปทางการเกษตร (และเครื่องสำอางจากสินค้าเกษตร) สิ่งทอ และกลุ่มวัสดุอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ (ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์) โดยมีงบประมาณในปี 2559 ในการพัฒนาคลัสเตอร์รวม 133 ล้าน กระจายใน 40 กลุ่มคลัสเตอร์ อาทิ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มอาหาร และสินค้าการเกษตร สิ่งทอ เฉลี่ยกลุ่มละ 2-3 ล้านบาท และในส่วนของการพัฒนาคลัสเตอร์อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ โดยสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 6 ล้านบาท

          ทั้งนี้ กรมจะให้การสนับสนุนเป็นรายโครงการไป เช่น การส่งผู้เชี่ยวชาญไปเป็นที่ปรึกษา พัฒนาแพ็กเกจจิ้ง เรื่องการผลิต การตลาด เป็นต้น

          ด้าน นางยุพรัตน์ ศตวิริยะ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม ซึ่งรับผิดชอบใน 40 คลัสเตอร์ กล่าวเสริมว่า สำนักมีกิจกรรมที่จะส่งเสริมในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์มาต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการพัฒนาด้านคุณภาพ และนวัตกรรม เช่น กลุ่มที่อยู่เทียร์ 2 ต้องการที่จะพัฒนาไปสู่เทียร์ 1 และกลุ่มที่อยู่เทียร์ 1 เองก็ต้องการที่จะออกไปขายในต่างประเทศด้วย

          "ในปี 2559 ทางสำนักจะเน้นในเรื่องของตลาด ที่ทางกลุ่มคลัสเตอร์ขอไว้ โดยจะให้การสนับสนุนในเรื่องการเปิดตลาดใหม่ เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งในเออีซี และประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม ในรูปแบบของการสนับสนุน อำนวยความสะดวกในเรื่องของการออกบูธในต่างประเทศ ส่วนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาจจะเป็นรูปแบบของการช่วยครึ่งหนึ่ง ผู้ประกอบการออกเองครึ่งหนึ่ง หรือผู้ประกอบการเป็นคนรับผิดชอบค่าเดินทางทั้งหมด"

          ในส่วนของอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป (และเครื่องสำอางที่มาจากเกษตรแปรรูป) เป็นกลุ่มที่เติบโตมา 10-20 ปีแล้ว เน้นพัฒนาเรื่องของคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถ เช่น เรื่องการผลิต ทำอาหารอร่อย มีคุณภาพ แต่ในปีนี้กรมจะเน้นในเรื่อง การออกตลาดอาหาร เน้นการหาตลาดใหม่ ๆ การไปดูงานแล้วนำมาพัฒนาระบบ การร่วมมือกันทำตลาดในอาเซียน CLMV อาเซียน +3, อาเซียน +6, และจีน ซึ่งกลุ่มที่คลัสเตอร์อาหารต้องการจะไปเปิดตลาดมากที่สุดในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ที่เชื่อกันว่าซันเซต ผู้ประกอบการสิ่งทอมีการรวมตัวกัน

          เป้าหมายในปี2559 ที่จะต้องพัฒนากันต่อเนื่องก็คือเรื่องของคุณภาพ การเพิ่มมูลค่าที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถแข่งขันได้ โดยการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ เช่น เสื้อนาโน เสื้อมีกลิ่นหอม เสื้อกันยุง แต่ละคนจะเด่นกันคนละเรื่อง บางโรงงานเด่นแพตเทิร์น บางโรงงานเด่นเรื่องการปัก ก็นำมาแชร์กัน นอกจากนี้ หากเกิดปัญหาสามารถที่จะตรวจย้อนกลับได้ว่าเกิดจากที่ใดในกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องมือแพทย์

          นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับในกลุ่มคลัสเตอร์ อุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ กลุ่มมีงบประมาณในปี 2559 จำนวน 6 ล้าน กระจายไปใน 4 กิจกรรม คือ 1.การพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี 2.การสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีผู้ประกอบการที่อยู่ในคลัสเตอร์ทั้งหมดราว 200 ราย และ 3.ผลักดันมาตรฐานด้านเทคโนโลยี คือ ISO 13485 และ 4.สร้างเครือข่ายการบริการด้านงานวิจัย การทดสอบ มาตรฐานต่าง ๆ

          ส่วนคลัสเตอร์อื่น ๆ ที่จะเชื่อมโยงกับซูเปอร์คลัสเตอร์ ในกลุ่มปิโตรเคมี และคมนาคม ซึ่งมีขนาดใหญ่ ไม่อยู่ในขอบข่ายที่ทางกรมจะสนับสนุนได้โดยตรง แต่ก็มีการคุยกันคร่าว ๆ กับศูนย์ภาค เช่น ปิโตรเคมี ก็อาจจะเข้าไปช่วยสนับสนุนบทบาทในเรื่องการรวมกลุ่มได้ เป็นต้น

 

กนอ. ผุดนิคมฯ กำจัดกาก ดึงลงทุนแบบคลัสเตอร์

 

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า หลังจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้กำหนดยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม ในระยะ 5 ปี ซึ่งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ถือเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญและได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วนั้น ผลการศึกษาพื้นที่จัดตั้งนิคมฯ พบว่าจังหวัดที่มีความเหมาะสมจะอยู่ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดนครราชสีมา ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ปราจีนบุรี และภาคกลาง ในจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง ขณะที่กากอุตสาหกรรมไม่อันตราย พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการตั้งนิคม จะอยู่ในจังหวัดลำปางและระยอง

          อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดตั้งนิคมฯ กำจัดกากอุตสาหกรรมมีความรวดเร็วขึ้น ทาง กรอ.จึงได้มอบหมายให้ กนอ. ซึ่งมีกฎหมายในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว รับไปดำเนินการ 3 พื้นที่ ในเขตภาคกลาง/ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับทางบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ซึ่งดำเนินธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อศึกษาและพัฒนานิคมกำจัดกากฯ แล้ว โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาในการไปรวบรวมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ และศึกษาถึงความเป็นไปได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่พื้นที่ที่เมติระบุออกมา แต่กนอ.จะใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบในการพิจารณาตัดสินใจเท่านั้น

          ทั้งนี้หลังจากศึกษาความเป็นไปได้และรวบรวมพื้นที่ตั้งนิคมได้แล้ว การดำเนินงานบริหาร ทาง กนอ. จะใช้บริษัทลูกเข้าร่วมถือหุ้นกับทาง BWG แต่ยังไม่ทราบว่าสัดส่วนจะเป็นเท่าใด ส่วนจะเริ่มพัฒนาพื้นที่ใดก่อนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมในการจัดหาพื้นที่ แต่วางเป้าหมายแห่งแรกว่าจะเริ่มพัฒนาได้ไม่เกินปี 2560 ซึ่งพื้นที่ตั้งนิคม ในแต่ละแห่งควรจะอยู่ในระยะไม่เกิน 100 กิโลเมตร จากกลุ่มที่ตั้งโรงงานที่หนาแน่น เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งในการนำกากไปกำจัด โดยมองพื้นที่ภาคกลางน่าจะอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ภาคตะวันออกจังหวัดระยอง และภาคตะวันตก เช่น ราชบุรีและกาญจนบุรี เป็นต้น

          สำหรับนิคมฯ กำจัดกากอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งนี้ ในแต่ละแห่งจะมีพื้นที่ตั้งแต่ 1 พันไร่ขึ้นไป โดยจะใช้เงินพัฒนาระบบสาธารณูปโภคแห่งละ 1 พันล้านบาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าจัดซื้อที่ดิน) โดยจะแบ่งขายให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ตามการส่งเสริมของรัฐบาล ที่จะมีโรงงานประเภทต่าง ๆ เข้ามาตั้ง ไม่ว่าจะเป็น โรงคัดแยกขยะหรือโรงงานรีไซเคิล โรงไฟฟ้าที่ใช้วัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือกากอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิง โรงผลิตไอน้ำ เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โรงหลอมโลหะและอโลหะ โรงหลอมพลาสติก โรงงานอัดแท่งเชื้อเพลิง เป็นต้น โดยประเมินว่าแต่ละแห่งจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป

          ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระยะที่ 1 กนอ. รับผิดชอบในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการจัดตั้งนิคมฯ เบื้องต้นพบว่า จ.สระแก้ว มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นลำดับหนึ่ง

          เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องที่ดิน อีกทั้งยังมีความชัดเจนในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และการเปิดด่านการค้าชายแดนระยะที่ 2 และ 3 ทำให้นักลงทุนมีความสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งระหว่างนี้ กนอ. จะประสานกับทาง จ.สระแก้ว ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ด้านการตลาด และชุมชนสัมพันธ์ในพื้นที่ให้ประชาชนเข้าใจ ถึงอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่เน้นการบริการโลจิสติกส์ ซึ่งปลายปี 2558 นี้ ได้เปิดสำนักงานประชาสัมพันธ์ขายโครงการพื้นที่นิคมฯที่ จ.สระแก้ว ได้โดย กนอ. จะเร่งพัฒนานโยบายก่อสร้างนิคมฯ ระยะที่ 1 ให้เร็วขึ้นภายในปี 2559-2560 ซึ่งเชื่อว่าโรงงานต่าง ๆ จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2560

 

อุตสาหกรรมชูโครงการชุบชีวิต เอสเอ็มอีทั่วประเทศ

 

           นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบก้าวหน้าโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ ผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย (เอสเอ็มอี) "เทิร์น อะราวด์: Turn Around" งบประมาณ 630 ล้านบาท เพื่อช่วยเอสเอ็มอีที่กำลังมีปัญหา 17,000 ราย ให้สามารถปรับตัวมาประกอบธุรกิจต่อไปได้ว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งรัดการดำเนินโครงการ

          ล่าสุดได้แต่งตั้งคณะทำงานย่อยระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต 7,000 กิจการจากทั่วประเทศ

          นอกจากนี้ให้ทุกจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงาน 1 ชุด เพราะนอกจากรู้และเข้าใจสภาพปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดีแล้ว ยังใกล้ชิดและสามารถเข้าถึงเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อคัดเลือกรายที่มีปัญหาจริงเข้ากระบวนการพลิกฟื้นธุรกิจผ่านโครงการ

          "กระทรวง ประชุมชี้แจงแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบโดยทั่วกันแล้ว โดยคณะทำงานย่อยระดับจังหวัด จะมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินหรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี แบงก์) รวมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมด้วย

          นายอาทิตย์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบกลุ่ม เป้าหมายภาคการผลิต 7,000 กิจการ ส่วนภาคการค้าและบริการ มีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดูแลโดยส่วนใหญ่เน้นกลุ่มลูกค้าธนาคารของรัฐ โดยในวันที่ 18 พ.ย.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานพิธีเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

          นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการด้วยแนวคิดหลักของโครงการ 2 ข้อ คือ 1.ช่วยเอสเอ็มอีที่มีปัญหาฝ่าวิกฤตไปได้ 2.การพลิกฟื้นไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน จากสภาพเศรษฐกิจ และการบริโภคที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีไม่มากก็น้อย

 

แนะเร่งปรับตัวเออีซีเปิด 36 กลุ่มสินค้าไทยน่าห่วง

 

          นายนิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เป็นที่แน่นอนว่าตลอดปี 2558 นี้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะไม่ถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่ขยายตัวเท่าที่ควร แม้บางประเทศจะมีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโต อาทิ พม่า แต่ก็เติบโตบางส่วน การค้าขายช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน 2558) จึงมีมูลค่าอยู่ที่ 71,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกสินค้าจากไทยไปกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 41,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 25% ของสินค้าที่ส่งออกทั้งหมด

          สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ช่วงปลายปีนี้ จากผลการศึกษาของภาครัฐและภาคเอกชน มีสินค้าอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 52 กลุ่ม จำนวนนี้มีถึง 14 กลุ่มสินค้าไทยที่เสียเปรียบแน่นอนหากไม่รีบปรับตัว อาทิ รองเท้า เครื่องดนตรี เชื้อเพลิงจากแร่ น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม ปุ๋ย เครื่องหนัง เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด

          และมี 9 กลุ่มสินค้าที่ไทยสูญเสียความได้เปรียบเช่นกัน และควรปรับตัว อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอจากพืช ร่ม นอกจากนี้มี 13 กลุ่มที่ได้เปรียบลดลง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางพารา กระดาษและกระดาษแข็ง เครื่องจักร อากาศยาน อาวุธและกระสุน และมี 16 กลุ่มสินค้าที่ได้เปรียบมากขึ้น อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ ผลิตภัณฑ์เหล็ก พรมและสิ่งทอปูพื้น

          การจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบจะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือการตลาดและวัตถุดิบที่มีสนับสนุนอยู่แล้ว และสินค้าไทยเป็นที่ต้องการ อีกประการคือการปรับตัว บางรายคิดว่าสินค้าขายดีอยู่แล้วแต่ไม่ปรับตัว บางทีการที่ล่าสุดสินค้าขายได้ลดลง อาจไม่ได้มาจากเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มาจากสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดี

 

สรท.หวั่นท่าเรือไทยตกมาตรฐาน ส่งออกเดือดร้อนแบกต้นทุนเพิ่ม

 

          นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากการที่ยอดส่งออกในเดือนตุลาคมลดลง 8.11% ซึ่งเป็นการติดลบสูงสุดในรอบปี ทำให้คาดว่าอีก 2 เดือนสุดท้ายจะมีมูลค่าการส่งออกเดือนละประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยอดส่งออกลดลงเดือนละ 3% ส่งผลให้ ทั้งปี 2558 ลดลง 5% เป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 6 ปี และติดลบต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3

          ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และสถานการณ์เศรษฐกิจขาลงของโลก ประกอบกับปัจจัยภายใน ได้แก่ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ได้รับการพัฒนาและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ซึ่งต้องอาศัยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติและมอบหมายให้มีหน่วยงานรับผิดชอบ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จ

          สำหรับในปี 2559 คาดว่าจะเติบโตไม่ถึง 2% ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำมาก คือติดลบต่อเนื่อง 3 ปี เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก ประเทศ 3 ประการ ได้แก่ 1.ปัญหาเศรษฐกิจและ การเงินโลก ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ยังอ่อนแอ ต้องเพิ่มมาตรการและใช้เวลาอีกพอสมควร ในการฟื้นตัว ความผันผวนของตลาดเงินจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมของอียูและญี่ปุ่น และอัตราแลกเปลี่ยน เงินหยวน 2.สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการก่อการร้าย เช่น เหตุการณ์ในกรุงปารีสส่งผลให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในยุโรปตกต่ำ ความตึงเครียดในซีเรีย ตุรกี ยูเครน ทะเลจีนใต้และอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั่วโลก และ 3.ภัยธรรมชาติ ซึ่งยาก จะคาดการณ์และนับวันจะทวีความรุนแรง ทำให้โซ่อุปทาน หยุดชะงัก ธุรกิจเสียหาย ผลผลิตลดลง เศรษฐกิจชะลอตัว

          นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศดังนี้

          1. การกำหนดและดำเนินแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการค้า โดยทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ เกษตรกร ผู้ประกอบการรายเล็ก-รายกลาง-รายใหญ่ ในอุตสาหกรรม ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ต้องเชื่อมโยงกันจนถึง ลูกค้าและผู้บริโภคในตลาดโลกอย่างมีเป้าหมายและทิศทางชัดเจน

          2. การดำเนินนโยบายการค้าและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับทุกหุ้นส่วนการค้าและ ทุกประเทศอย่างสมดุล เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยโดยรวม ไม่เน้นประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดย ชูเอกลักษณ์ความเป็นไทย ทำให้สินค้าไทย วิถีไทย คนไทย และชาติไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ไทยต้องเข้าร่วม ทั้งทีพีพีหรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้น แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) อาเซียนบวก 6 อียู และอื่น ๆ

          3. การยกระดับมาตรฐานของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการทำธุรกิจให้ได้มาตรฐานสากล

          4. การพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม โดยเฉพาะด้านสังคมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

          5. การปฏิรูปกฎหมาย ระบบราชการ และรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

          6. การรักษาความมั่นคงสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

          ความสำเร็จของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ในระยะสั้นและปฏิรูปประเทศในระยะยาวจึงเป็นความหวังสำคัญของภาคการส่งออกไทยในปี 2559 ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามทำอย่างจริงจัง คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นผลในปีหน้าขณะที่เศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นตามคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำให้เอกชนมีโอกาสที่จะแข่งขันในตลาดสำคัญเช่น สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี

          รวมไปถึงตลาดเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รัสเซีย และแข่งขันได้ในกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร ผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวซึ่งช่วยส่งเสริมการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม

          อย่างไรก็ตาม สรท. เป็นห่วงการเข้ามาตรวจสอบ มาตรฐานท่าเรือไทยของ US GUARD ในเร็ว ๆ นี้ ว่ามี มาตรฐานตรงตามที่กำหนดหรือไม่ เพื่อป้องกันการก่อการร้าย การลักลอบขนส่งสินค้าหนีภาษี หรือสินค้าผิดกฎหมายเข้าไปยังประเทศสหรัฐฯ หากไทยไม่ผ่านมาตรฐานและถูกขึ้นบัญชีประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง อาจทำให้เรือขนส่งสินค้าที่ผ่านท่าเรือของไทยจะถูกตรวจสอบเข้มงวด 100% จากเดิมที่เป็นการสุ่มตรวจ ทำให้เรือไทย ใช้เวลาอยู่ในท่านานขึ้น

          ส่งผลให้มีต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น หากประเทศอื่นมีความเป็นห่วงก็อาจจะตรวจสอบเรือจากไทยเข้มงวดแบบที่สหรัฐฯ ตรวจสอบ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยเดือดร้อนมากขึ้น เป็นการซ้ำเติมภาพพจน์ของประเทศไทยหลังจากถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยทางการบินจาก ไอเคโอ และถูกขึ้นบัญชีเทียร์ 3 ของประเทศที่มีการค้ามนุษย์

          นายนพพร กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ หากพลาดถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือถูกใบเหลือง ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในวงกว้าง ซ้ำเติมทำให้ต่างชาติขาดความมั่นใจไทย หลังจากที่ไม่ผ่านมาตรฐานของ ไอเคโอ ไม่ผ่าน มาตรฐานของ ไอยูยู ในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย และ มาตรฐานการค้ามนุษย์จากสหรัฐฯ มาแล้ว

 

เร่งดัน 3 ซูเปอร์คลัสเตอร์ เกิดช่วยผลักดันคลัสเตอร์ที่เหลือ

 

          นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เพิ่มมาตรการดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติม เช่น การขยายประเภทวีซ่าให้นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพิ่มเติม จากปัจจุบันประเภทวีซ่าไทยมีเพียง 3 ประเภทเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มศูนย์ทดสอบ และศูนย์การวิจัยในภูมิภาคต่าง ๆ, การจัดหาแรงงานให้เพียงพอ เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบรรยากาศในการลงทุนมากขึ้น

          ขณะนี้ต้องสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา หลังจากภาครัฐออกมาตรการที่เป็นสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงการคลังไปแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน นอกจากนี้ เรื่องประเภทวีซ่า ควรเพิ่มเติมจากปัจจุบันมีเพียง 3 ประเภทเท่านั้น ทั้งที่หลายประเทศมีประเภทวีซ่าหลากหลาย บางแห่งมีถึง 10 ประเภท เพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งศูนย์การวิจัย–ทดสอบต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ว่า เขาอยากทดสอบ แต่เราไม่มีให้ หรือมีแต่ก็อยู่ไกล เรื่องพวกนี้ถือเป็นเรื่องการสร้างบรรยากาศที่สำคัญ

          อย่างไรก็ดี สศอ. จะเสนอมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะหาช่องทางให้เอกชนไทยรับช่วงต่อการผลิตชิ้นส่วนให้กับอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว แต่อาจยังไม่มีโอกาสการผลิต เช่น ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ก็สามารถผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินได้

          ส่วนความคืบหน้าในการส่งเสริมคลัสเตอร์นั้น เชื่อว่า 3 ซูเปอร์คลัสเตอร์ คือ ยานยนต์, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี จะเกิดเป็นรูปธรรมก่อนคลัสเตอร์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และความพร้อมมากที่สุด และจะช่วยผลักดันให้คลัสเตอร์ที่เหลือ เช่น เกษตรแปรรูป, สิ่งทอ, ดิจิทัล เป็นรูปธรรมตามมา

 

ครม.เห็นชอบแก้กม.ผังเมือง เอื้ออุตสาหกรรมขยายโรงงาน

 

          คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการแก้ไขกฎหมายผังเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม สามารถขยายโรงงานต่อไปได้โดยเฉพาะพื้นที่มาบตาพุด โดยต้องการขยายพื้นที่การลงทุนให้เป็น 35,000 ไร่ จากปัจจุบันมีพื้นที่การลงทุน 25,000 ไร่

          นอกจากนี้ ยังต้องการให้มีการจัดโซนพื้นที่ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย เกษตรแปรรูป โรงงานขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้า พลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้ยังเป็นปัญหาสำหรับการลงทุน

          นางอรรชกา ศรีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากนี้กระทรวงมหาดไทยต้องกลับไปศึกษา เรื่องการแก้ไขกฎหมายผังเมือง โดยเฉพาะการยกเลิกบัญชีแนบท้าย เช่น เดิมอุตสาหกรรมที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือโครงการที่ไม่ผ่านการศึกษาทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ห้ามเข้ามาประกอบกิจการให้ยกเลิกบัญชีแนบท้ายในส่วนนี้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่มาบตาพุด ว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่ดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อกำหนดให้สอดคล้องตามประเภทอุตสาหกรรม

          อย่างไรก็ดีขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยภาคอุตสาหกรรมยืนยันว่าต้องการใช้พื้นที่มาบตาพุด 35,000 ไร่ แต่ขณะนี้บางพื้นที่ยังไม่อนุญาตให้เข้าไปก่อตั้งโรงงาน ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นการขัดขวางการลงทุน

 

กระทรวงพาณิชย์ปลด 4 ธุรกิจ ไม่ต้องผ่านบอร์ดต่างด้าว

 

          น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.... สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการ เป็นสำนักงานผู้แทนธนาคาร ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ได้ผ่านการอนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเมื่อวันที่ 12 พ.ค.58 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปลายปี 2558

          ทั้งนี้ การทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีแนบท้ายกฎหมายดังกล่าว เป็นการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการค้า การลงทุน และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ จะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการค้าการลงทุนในธุรกิจภาคบริการและลดความซ้ำซ้อนในกำกับดูแล เพราะธุรกิจที่กำหนดให้ไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอีก เพราะมีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่แล้ว การให้ขออนุญาตจะเป็นการซ้ำซ้อนและมีขั้นตอนยุ่งยาก

          ขณะเดียวกัน ในเดือน ต.ค.2558 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 27 ราย มีการนำเงินเข้ามาลงทุนในการประกอบธุรกิจ จำนวน 1,189 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทยจำนวน 287 คน และในช่วง 10 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 336 ราย ลดลง 5% มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 13,009 ล้านบาท ลดลง 78% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากในปี 2557 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจบริการทางการเงินอื่น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง

          สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในเดือน ต.ค.ได้แก่

          1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จำนวน 13 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 1,044 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการ บริการด้านการตลาด ให้กู้ยืมเงิน และให้เช่าพื้นที่อาคาร โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

          2. ธุรกิจสำนักงานภูมิภาค/ผู้แทน จำนวน 10 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 30 ล้านบาท เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนให้สำนักงานใหญ่ และเป็นการให้คำแนะนำ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือโดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

          3. ธุรกิจที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ จำนวน 3 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 76 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดหา ก่อสร้าง และติดตั้งสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้แก่ กฟผ. บริการเป็นที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้แก่ รฟม.และบริการออกแบบ และติดตั้งระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (ระบบตั๋วร่วม) ให้แก่ สนข. โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย

          4. ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 39 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องมือวิเคราะห์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศ สวิตเซอร์แลนด์

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด