เนื้อหาวันที่ : 2016-02-23 11:11:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9493 views

ดร.วิทยา อินทร์สอน

สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงนคร

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ปัทมาพร ท่อชู

 

 

 

          การเพิ่มผลผลิตขององค์กรก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลก โดยผลที่ได้รับจากการเพิ่มผลผลิต เช่น ด้านกำไรแก่องค์กร ด้านความมั่นคงในการทำงานและค่าจ้างพนักงาน ด้านคุณภาพสินค้าและบริการที่ดีให้กับลูกค้า ด้านภาษีและรายรับอื่น ๆ แก่รัฐ ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการ พนักงาน ลูกค้า สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติมีความเป็นอยู่ที่ดี

          การเพิ่มผลผลิต เป็นความรับผิดชอบของทุกคน ในแง่ของบริษัทหรือโรงงาน ผู้บริหารต้องมีความเข้าใจในเรื่องการเพิ่มผลผลิตและให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายพนักงานต้องให้ความร่วมมือ โดยการทำงานอย่างเต็มความสามารถและเพิ่มทักษะการทำงานให้สูงขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มผลผลิตยังต้องอาศัยความร่วมมือจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ บุคลากร และหน่วยงานอื่นทั่ว ๆ ไป ในการร่วมกันปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตในทุกสถานที่ ทั้งที่ทำงาน และสถานประกอบการด้วยการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งส่งผลให้การเพิ่มผลผลิตโดยรวมของประเทศเพิ่มสูงขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในประเทศ ซึ่งก็คือเป้าหมายสำคัญสูงสุดของการเพิ่มผลผลิต

 

          "ดังนั้น สถานประกอบการหรือองค์กรต่าง ๆ จะต้องพยายามหาวิธีการเพิ่มผลผลิต เพื่อที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการที่จะทำให้การผลิตสินค้าเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า และทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด"

 

 

ความเป็นมาของการเพิ่มผลผลิต

 

          อุตสาหกรรมการผลิตในยุคแรกจะเน้นใช้แรงงานของคนเป็นหลัก โดยเริ่มต้นจากครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ ซึ่งยังไม่มีแผนการเพิ่มผลผลิตแต่อย่างใด ทำให้คนงานทำงานโดยไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะ และไม่มีความถนัดหรือความสามารถเฉพาะทางในงานที่ทำ ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำ หรือมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงต้องมีการพัฒนากระบวนการผลิตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

          ความเป็นมาและแนวคิดเรื่องการเพิ่มผลผลิตนั้น เริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2454 โดย เฟรดเดอริค ดับบลิว เทเลอร์ (Federick W.Taylor) ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ ได้ทําการศึกษาเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความสิ้นเปลืองวัตถุดิบและพลังงานในกระบวนการผลิตที่มีสาเหตุมาจากการที่คนงานปฏิบัติงานไม่ตรงกับความรู้ความสามารถและความถนัด ตลอดจนขาดขวัญกําลังใจในการทํางาน รวมถึงการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพ ทําให้ผลผลิตตกต่ำ Federick W.Taylor เน้นหลักการบริหารแบบวิทยาศาสตร์ ต้องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพนักงานและฝ่ายบริหาร ให้มองเห็นความจำเป็นในการนําหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการบริหารงาน ได้ทําการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเวลาและการเคลื่อนไหวในการทํางานของคนงาน และได้ประกาศแนวทางการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ในหนังสือชื่อ Principles of Scientific Management สรุปเป็นหลักการทํางานได้ 4 ประการ คือ

          1. พัฒนาระบบการผลิตด้วยการหาวิธีที่ดีที่สุด

          2. คัดเลือกและจัดคนเข้าทํางานให้เหมาะสมกับงาน

          3. จัดหาสิ่งจูงใจในการทำงาน

          4. เน้นความชำนาญเฉพาะอย่างและแบ่งงานกันทำ

          ดังนั้น Federick W.Taylor ได้ให้แนวคิดด้านปริมาณงานเอาไว้ว่า ถ้ากําหนดปริมาณงานที่เหมาะสมกับระยะเวลาที่มอบหมายก็จะส่งผลให้คนงานปฏิบัติงานได้เต็มความสามารถ ฝ่ายบริหารก็ไม่ต้องมีปัญหา เรื่องการทํางานของคนงานอีก ผลการศึกษาของ Taylor นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มผลผลิต

 

 

ความหมายของการเพิ่มผลผลิต

 

          การเพิ่มผลผลิต (Productivity) ได้มีผู้ให้ความหมายแตกต่างกันไป เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การเพิ่มปริมาณผลผลิต เป็นต้น ความหมายการเพิ่มผลผลิต สามารถแบ่งออกเป็น 2 แนวคิด คือ

 

1. การเพิ่มผลผลิตตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์

 

          หมายถึงอัตราส่วนระหว่างปัจจัยการผลิตที่ใช้ไป (Input) (แรงงาน เครื่องมือ วัตถุดิบ เครื่องจักร พลังงาน และอื่น ๆ) กับผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิต (Output) (ตู้เย็น รถยนต์ การขนส่ง) คำนวณได้จาก

 

 

 

2. การเพิ่มผลผลิตตามแนวคิดทางเศรษฐกิจและสังคม

 

          หมายถึง การที่จะหาทางปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ โดยมีความเชื่อว่าเราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ในวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานนี้และวันพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ ซึ่งเป็นความสำนึกในจิตใจ (Consciousness of Mind) เป็นความสามารถ หรือพลังความก้าวหน้าของมนุษย์ที่จะแสวงหาทางปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเสมอ ทั้งเรื่องของการประหยัดทรัพยากร พลังงาน และเงินตรา ที่ต้องร่วมมือปรับปรุงเร่งรัดการเพิ่มผลผลิตในทุกระดับ เพื่อหาความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยโดยรวม

          สรุปว่าการเพิ่มผลผลิต (Productivity) หมายถึง กระบวนการในการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้สินค้า บริการ หรืองานที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ด้วยวิธีการในการลดต้นทุน ลดการสูญเสียทุกรูปแบบ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานในองค์กร และการใช้เทคนิคการทำงานต่าง ๆ เข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 

 

วัตถุประสงค์ของการเพิ่มผลผลิต

 

          อุตสาหกรรมผลิตไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือใหญ่ก็ตามจะพบว่า “วัตถุประสงค์การผลิต คือ การทำกำไรให้มากที่สุดโดยการยึดครองตลาดส่วนใหญ่ให้ได้ และสามารถจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นให้ได้มากที่สุด” แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว วัตถุประสงค์ของการผลิตองค์กรผู้ผลิตต่าง ๆ ควรยึดถือแนวทางจากที่ เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ได้เขียนหนังสือไว้ในปี ค.ศ.1962 ที่ชื่อ Today and Tomorrow หลักการคือ

          1. เพื่อสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้า

          2. เพื่อทำให้มีกำไรที่เหมาะสม

          3. เพื่อการใช้เงินทุนในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

          4. เพื่อการสร้างความพอใจให้แก่ผู้ถือหุ้น

          5. เพื่อการให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค

          6. เพื่อการปฏิบัติต่อผู้ส่งมอบและลูกค้าอย่างยุติธรรม

          7. เพื่อการเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

 

ความสำคัญของการเพิ่มผลผลิต

 

          การเพิ่มผลผลิตเป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์กรต้องพยายามทำให้การผลิตขององค์กรดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทรัพยากรต่าง ๆ นับวันจะขาดแคลนลง หรือลดน้อยลงไปทุกวัน ดังนั้นองค์กรจึงต้องพยายามหาวิธีการเพิ่มผลผลิตในทุกวิถีทาง เพื่อที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการที่จะทำให้การผลิตสินค้าเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า โดยพยายามให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด หรือไม่มีการสูญเสียใด ๆ เลยในกระบวนการผลิต ซึ่งก็จะเป็นการประหยัดทรัพยากรที่มีให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่า ดังนั้นความสำคัญของการเพิ่มผลผลิต มีดังนี้คือ

          1. ช่วยให้คนงานได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงวิธีการทำงานของตนเองหรือของหน่วยงานของตน

          2. ช่วยให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสู่กระบวนการผลิต

          3. ช่วยให้มีการพัฒนาและทักษะในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น

          4. ช่วยให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพและราคาถูก

          5. ช่วยทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          6. ช่วยให้องค์กรสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในด้านคุณภาพและบริการ

          7. ช่วยทำให้ลดต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการ

          ดังนั้นการเพิ่มผลผลิตจึงมีความสำคัญต่อองค์กรในการช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้าที่ผลิตได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสียต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต อีกทั้งช่วยให้คนงานมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน เป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจในการทำงาน เพราะคนงานได้มีส่วนร่วมในการทำงาน มีการเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มทักษะในการทำงาน และยังเป็นการพัฒนาให้คนงานมีความรู้ความสามารถความชำนาญในหน้าที่ของเขา ซึ่งผลดีก็จะตกอยู่กับองค์กรนั่นเอง

 

 

 

รูปที่ 1 ประโยชน์ที่ได้รับจากการเพิ่มผลผลิต

 

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเพิ่มผลผลิต

 

          การเพิ่มผลผลิตขององค์กรก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทางตรงและทางอ้อม การเพิ่มผลผลิตโดยรวมขององค์กร ด้วยการพัฒนาคนและพัฒนางาน เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญเติบโตทางธุรกิจอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลก

          1. ด้านผู้บริโภค คือจะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง มีความหลากหลายมากขึ้น ราคาถูกลง มีให้เลือกหลากหลายตามความต้องการมากขึ้น ผู้บริโภคอาจจะได้รับประโยชน์ในด้านการบริการในรูปแบบต่าง ๆ การปรับปรุงและการเพิ่มการบริการนั้น ๆ จะสะดวกสบายในการหาซื้อ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยในการใช้สินค้าและบริการ

          2. ด้านพนักงาน คือพนักงานถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มผลผลิต สิ่งที่จะได้รับจากองค์กรก็คือ ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น สวัสดิการเพิ่มขึ้น มีความมั่นคงในการทำงานและในชีวิต ได้เรียนรู้ พัฒนาความสามารถในการทำงานในส่วนต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง สร้างความปลอดภัยกับพนักงานขณะทำงาน และมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น

          3. ด้านผู้ประกอบการหรือองค์กร คือในองค์กรนั้นต้องการผลตอบแทนคือ กำไร เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ช่วยให้องค์กร สามารถผลิตและทำงานในปริมาณที่สูงขึ้น ขยายธุรกิจ สร้างความมั่นคงให้กับองค์กรนั้น ๆ การผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้ลดความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและสามารถเป็นที่ยอมรับในสากลได้ ยกระดับคุณภาพสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการอนุรักษ์พลังงาน รู้จักใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และนำเทคโนโลยีด้านพลังงานเข้ามามีบทบาทในองค์กร ส่งผลให้องค์กรดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีแบบแผน รวดเร็ว และปลอดภัย

          4. ด้านรัฐบาลและประเทศชาติ เมื่อองค์กรและประชาชนที่เป็นพนักงานได้รับประโยชน์ จึงทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น โครงการต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศชาติก็ดีขึ้นตามลำดับ สามารถพัฒนาประเทศชาติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อัตราการจ้างงาน สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ในสังคม

 

 

ความจำเป็นในการเพิ่มผลผลิต

 

          สภาพสังคมและเศรษฐกิจของไทยปัจจุบัน เป็นสภาพที่อยู่ในภาวะวิกฤตทั้งในด้านทรัพยากรที่ลดลงอย่างมาก จากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมามุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมใหม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผลผลิตด้อยคุณภาพ ไม่เป็นที่พอใจของผู้บริโภค ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต้องนำการเพิ่มผลผลิตมาแก้ปัญหาและสร้างคุณภาพของผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

          1. ทรัพยากรจำกัด การเพิ่มผลผลิตเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและนับวันจะน้อยลงให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสูญเสียน้อยที่สุด

          2. การเพิ่มผลผลิตเป็นเครื่องช่วยในการวางแผนทั้งในปัจจุบันในอนาคต เช่น การกำหนดผลิตผลในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดส่วนเกิน ซึ่งถือเป็นความสูญเปล่าของทรัพยากร

          3. การแข่งขันสูงขึ้น หน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ จะอยู่รอดได้ต้องมีการปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ การเพิ่มผลผลิตก็เป็นแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพ คุณภาพ ลดต้นทุน ทำให้เราสู้กับคู่แข่งขันได้

          สรุปได้ว่า การเพิ่มผลผลิตเป็นจิตสำนึก หรือเจตคติที่จะแสวงหาปรับปรุง และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ด้วยความเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวันนี้ และสามารถทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ การเพิ่มผลผลิตจึงเป็นความเพียรพยายามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่จะปรับปรุงงาน หรือกิจกรรมที่ทำให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยการใช้เทคนิควิธีการใหม่ ๆ

 

 

 

รูปที่ 2 องค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิตและการสนองตอบต่อผู้เกี่ยวข้อง

 

 

องค์ประกอบในการเพิ่มผลผลิต

 

          องค์ประกอบในการเพิ่มผลผลิต เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากซึ่งผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงเพราะจะส่งผลถึงภาพลักษณ์ขององค์กรและเป็นการทำกำไรที่ยั่งยืน ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะคำนึงถึงแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว มุ่งแต่จะลดต้นทุนทำให้มีการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณต่าง ๆ ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ปฏิบัติงานในองค์กรผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อให้มีการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติโดยส่วนรวม จึงควรปฏิบัติตามองค์ประกอบทั้ง 7 ประการ คือ QCDSMEE ดังนี้คือ

 

1. คุณภาพ (Quality)

          คือสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ เพราะความพึงพอใจเป็นเหตุผลสำคัญที่ช่วยในการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องคำนึงถึงคุณภาพมาก่อน

          1.1 ประเภทคุณภาพ

          • คุณภาพด้านเทคนิค ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพและความสามารถในการใช้งานที่ส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ เช่น ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ระบบป้องกันความปลอดภัย ฯลฯ

          • คุณภาพด้านจิตวิทยา ได้แก่ คุณลักษณะที่มีผลต่อจิตใจของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เช่น ความสวยงามการออกแบบผลิตภัณฑ์ ภาพลักษณ์ของสินค้า ฯลฯ

          • คุณภาพด้านความผูกพันต่อเนื่องหลังการขาย เช่น การให้บริการหลังการขาย การรับประกันสินค้า ฯลฯ

          • คุณภาพด้านเวลา เช่น อายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ความยากง่ายในการบำรุงรักษา ความรวดเร็วในการให้บริการ ฯลฯ

          • คุณภาพด้านจริยธรรม เช่น ความถูกต้องตรงตามมาตรฐานการผลิต ความจริงใจในการให้บริการ ฯลฯ

          1.2 ความสำคัญของคุณภาพ ได้แก่ สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ช่วยในการลดต้นทุน ยกระดับความต้องการของลูกค้า ส่งมอบได้ตามเวลากำหนด และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นต้น

 

2. ต้นทุน (Cost)

          หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปเพื่อดำเนินการผลิตหรือบริการ เริ่มตั้งแต่การออกแบบการผลิต การตรวจสอบ การจัดเก็บ การขนส่ง และการส่งมอบลูกค้าเรียกว่า เป็นต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย

          2.1 ต้นทุนวัตถุดิบ (Material Cost) เป็นค่าวัตถุดิบที่ซื้อมาจากหน่วยงานภายนอก เพื่อนำไปผลิตสินค้าหรือบริการ ตลอดจนค่าวัสดุต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น ค่าอุปกรณ์สำนักงาน ค่าถ่ายเอกสาร และค่าโทรศัพท์ต่าง ๆ เป็นต้น

          2.2 ต้นทุนด้านแรงงาน (Labor Cost) คือค่าจ้างพนักงาน เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ในกระบวนการทำงานขององค์กร

          2.3 ต้นทุนการทำงานของเครื่องจักร (Machine Operating Cost) คือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้า โดยไม่คำนึงว่าเครื่องจักรนั้นกำลังทำงานอยู่หรือไม่ เช่น ค่าเชื้อเพลิง หรือพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องจักร ค่าซ่อมบำรุงรักษา ค่าชิ้นส่วนและอะไหล่ต่าง ๆ ของเครื่องจักร เป็นต้น

          ในการเพิ่มผลผลิตนั้นจะต้องลดต้นทุนในการผลิตให้ต่ำลง ซึ่งต้องควบคุมไปกับการบริหารคุณภาพด้วย โดยการพยายามลดความสูญเสีย และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจไม่จำเป็นออกไป ขณะเดียวกันก็ประหยัดพลังงาน แรงงาน และทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด พนักงานต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจะทำให้งานที่ทำมีคุณภาพดีขึ้นและลดการสูญเสีย

 

3. การส่งมอบ (Delivery)

          หมายถึง การส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับหน่วยงานถัดไป ซึ่งถือว่าเป็นลูกค้าของเราได้อย่างตรงเวลา มีจำนวนครบถ้วน และมีคุณสมบัติตรงตามที่ลูกค้ากำหนด เป็นการช่วยให้หน่วยงานได้เปรียบในการแข่งขัน การที่จะบรรลุผลสำเร็จได้นั้นหน่วยงานจะต้องมีระบบการส่งมอบภายในที่ดีเสียก่อน

 

          อุปสรรคของการส่งมอบ อุปสรรคที่สำคัญ คือความสูญเสียต่าง ๆ มีผล กระทบต่อการส่งมอบสินค้า เช่น

          • วัตถุดิบขาด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของฝ่ายผลิต

          • เสียเวลารอคอยข้อมูล เพื่อใช้ในการออกแบบ

          • กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อการผลิต

          • เครื่องจักรเสีย

          • ผลิตชิ้นงานแต่ละชิ้นเสียเวลานานเกินไป

          • พนักงานมีวิธีการทำงานไม่เหมาะสม

 

          จากตัวอย่างเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการสูญเสีย ซึ่งส่งผลต่อการส่งมอบสินค้าทั้งสิ้น ทุกคนในหน่วยงานจึงควรร่วมมือกัน ช่วยกันลดความสูญเสียทุกขั้นตอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น คุณภาพเพิ่มขึ้น การเพิ่มผลผลิตสูงขึ้น และลูกค้าพอใจมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้นการส่งมอบจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเพิ่มผลผลิต

 

4. ความปลอดภัย (Safety)

          หมายถึง การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายกับพนักงาน ซึ่งส่งผลให้มีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน หรือหมายถึงการป้องกันการสูญเสียจากอุบัติเหตุ คือการบาดเจ็บ เจ็บป่วย ทรัพย์สินเสียหายและความสูญเสียเนื่องจากกระบวนการผลิต

 

          ประโยชน์ของความปลอดภัย

          ในปัจจุบันองค์กรหรือหน่วยงานมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัย และพนักงานทุกคนทำงานด้วยความปลอดภัย จะเกิดประโยชน์ดังนี้คือ

          • ผลผลิตเพิ่มขึ้น คือพนักงานจะมีความรู้สึกไม่หวาดกลัว หรือวิตกกังวล เมื่อมีสุขภาพแวดล้อมที่ดี มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ทำงานได้เต็มที่ ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือดีขึ้น

          • ต้นทุนการผลิตลดลง คือต้นทุนการผลิตเนื่องจากความสูญเสียต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินทดแทน ค่าบาดเจ็บไม่มี ต้นทุนการผลิตจึงลดลง

          • ทำให้องค์กรเกิดผลกำไรมากขึ้น ทำงานอย่างปลอดภัย ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ส่งผลให้องค์กรมีกำไรมากขึ้น

          • สงวนทรัพยากรมนุษย์ให้แก่ประเทศชาติ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะทำให้พนักงานบาดเจ็บ พิการ ทุพลภาพ หรือเสียชีวิตลงได้ ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญไปแต่ถ้าสภาพการทำงานมีความปลอดภัย จะเป็นการสงวนทรัพยากรไว้

          • เป็นปัจจัยในการจูงใจในการทำงาน การจัดสภาพการทำงานให้ปลอดภัย จะทำให้เป็นแรงจูงใจให้พนักงานเกิดความต้องการ และรู้สึกสนใจในงานมากขึ้น

 

5. ขวัญและกำลังใจในการทำงาน (Morale)

          หมายถึง สภาพจิตใจของพนักงาน ความรู้สึกที่มีต่อองค์กรที่ปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งวัดระดับความรู้สึกของพนักงานทำได้ยาก แต่สามารถสังเกตดูพฤติกรรม ความสำคัญของขวัญและกำลังใจ สามารถทำให้พนักงานมีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อองค์กร มีความสามัคคี มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ นำไปสู่จุดมุ่งหมายที่องค์กรกำหนดไว้

 

          ปัจจัยที่ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของพนักงาน

          • คุณสมบัติและลักษณะของผู้บังคับบัญชาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา

          • ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ความรู้สึกโดยรวมในการปฏิบัติงาน รายได้ที่ได้รับ เพื่อนร่วมงาน

          • รางวัลผลตอบแทน ผลประโยชน์จากกำไร

          • แผนและนโยบายขององค์กร

          • สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานและบรรยากาศในการทำงาน

          • สุขภาพกายสุขภาพจิตของผู้ปฏิบัติงาน

 

          ดังนั้นการจัดระดับขวัญและกำลังใจ สามารถจัดได้เป็นรายบุคคลว่ามีระดับขวัญและกำลังใจมากน้อยเพียงใด โดยใช้แบบทดสอบ แบบอัตนัย และแบบปรนัย การตรวจสอบขวัญและกำลังใจที่ใช้การสังเกตการณ์ สัมภาษณ์ เก็บประวัติและออกแบบสอบถาม

 

6. สิ่งแวดล้อม (Environment)

          หมายถึง สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา มีทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น อากาศ น้ำ ดิน ต้นไม้ สัตว์ ฯลฯ ซึ่งในการดำเนินธุรกิจโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และชุมชน

          ดังนั้นการเพิ่มผลผลิตกับสิ่งแวดล้อม คือการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้เทคโนโลยีที่สะอาดในการผลิต และการจัดการระบบสิ่งแวดล้อม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต จะช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการบำบัดของเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต รวมทั้งใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า ว่าจะให้ต้นทุนลดลง และมีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มผลผลิตของธุรกิจ สังคม และประเทศชาติ

 

7. จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Ethics)

          หมายถึง การดำเนินธุรกิจโดยไม่เอาเปรียบทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ ลูกค้า ผู้จัดหาสินค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่แข่ง ภาครัฐ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ

 

การไม่เอาเปรียบผู้อื่นมี 9 แนวทาง ดังนี้

 

          1. จรรยาบรรณต่อลูกค้า (Customer) กำหนดราคา และคุณภาพสินค้า หรือบริการอย่างเหมาะสมไม่กักตุนสินค้า

          2. จรรยาบรรณต่อผลิตภัณฑ์ (Product) สินค้ามีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

          3. จรรยาบรรณต่อผู้จัดหาวัตถุดิบ (Supplier) การยืดระยะเวลาในการชำระบิล การกดราคา วัตถุดิบ ปิดบังข้อมูล

          4. จรรยาบรรณต่อคู่แข่ง (Competitor) ไม่กลั่นแกล้งหรือให้ร้ายคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม

          5. จรรยาบรรณต่อพนักงาน (Employer) จ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ให้สวัสดิการที่ดี และให้ความเท่าเทียมกันกับพนักงานทุกคน สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี

          6. จรรยาบรรณต่อผู้ประกอบธุรกิจ (Owner) มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ขัดต่อผลประโยชน์นายจ้าง มีการแบ่งเงินปันผลให้เหมาะสม และถูกต้อง

          7. จรรยาบรรณต่อหน่วยงานราชการ (Government) ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ความร่วมมือ และสนับสนุน มีทัศนคติที่ดีต่อหน่วยงานราชการ

          8. จรรยาบรรณต่อสังคม (Society) ไม่โฆษณา เพื่อหลอกลวงขายสินค้า และบริการในราคาที่ไม่เหมาะสม ไม่ขนส่งเกินน้ำหนัก

          9. จรรยาบรรณต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) ไม่ปล่อยของเสียต่าง ๆ สู่สิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เกิดมลภาวะและทำลายสิ่งแวดล้อม

 

 

ความสูญเสียในการเพิ่มผลผลิต

 

          การเพิ่มผลผลิตได้สูงสุดนั้นจำเป็นต้องลดความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ

 

ซึ่งลักษณะความสูญเสียสามารถแบ่งได้เป็น 7 ประเภทดังนี้คือ

 

          1. ความสูญเสียจากการผลิตมากเกินไป (Over Production) การผลิตที่มากเกินไปจึงต้องมีการเพิ่มต้นทุน วัตถุดิบ และคลังเก็บ จนเกิดปัญหาเงินทุนจม เสียเวลาในการผลิต เพราะฉะนั้นการผลิตต้องพอดีและเหมาะสมกับความต้องการของตลาด

          2. ความสูญเสียกระบวนการผลิตขาดประสิทธิผล (Non-Effective Process) ไม่จัดลำดับกระบวนการผลิตที่เหมาะสม การทำงานซ้ำซ้อนและไม่เกิดมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ก่อให้เกิดการผลิตที่เปล่าประโยชน์เกินต้นทุนในการผลิต ควรที่จะปรับปรุงลำดับขั้นตอนการทำงานให้มีความจำเป็นในแต่ละขั้นตอน

          3. ความสูญเสียจากการผลิตที่เสียหรือแก้ไขงาน (Defect/Rework) ผลผลิตที่มีข้อบกพร่องไม่ตรงตามกำหนด ส่งผลให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ เกิดความล่าช้าในกระบวนการผลิต เสียเวลา สิ้นเปลืองวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต จึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตและนำมาปรับปรุงแก้ไขว่าเกิดจากสาเหตุใดหรือจะเริ่มต้นการตรวจเช็คตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ตลอดจนการส่งมอบว่าเกิดข้อบกพร่องตรงขั้นตอนใด และหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป

          4. ความสูญเสียจากการเคลื่อนไหว (Motion) เกิดจากสถานที่ทำงาน ท่าทางการจัดวางอุปกรณ์ ตำแหน่งระยะทางในการเคลื่อนไหว ทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น เกิดความเหนื่อยล้า และอุบัติเหตุขณะทำงานได้ รวมทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วย ควรที่จะจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม การจัดตำแหน่ง วัสดุอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบง่ายต่อการใช้งาน

          5. ความสูญเสียจากการรอคอยหรือความล่าช้า (Delay/Idle Time) การรอวัตถุดิบ เครื่องจักร หรือวัสดุดุอุปกรณ์ แม้กระทั่งคำสั่งการผลิต รวมทั้งความ สมดุลระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่ประสานงานเข้าด้วยกัน ทำให้เสียเวลาส่งมอบงานไม่ทันตาม กำหนด ดังนั้นควรวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับการบำรุงรักษาเครื่องจักร จัดสมดุลการผลิต จัดแผนงาน การหาวัตถุดิบ การลำดับงานจัดอบรม หรือฝึกทักษะให้พนักงานสามารถทำงานได้หลากหลาย (Multi Skill)

          6. ความสูญเสียการเก็บวัตถุดิบคงคลังที่ไม่จำป็น (Unnecessary Stock) เป็นการเก็บวัสดุหรือวัตถุดิบมากเกินไปทำให้เสียพื้นที่จัดเก็บ และดูแลรักษา ส่งผลให้ต้องเพิ่มต้นทุนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรจะควบคุมการจัดเก็บให้พอดีกับการผลิต และผลิตให้พอดีกับตลาด กำหนดมาตรฐานในการจัดเก็บ

          7. ความสูญเสียจากการขนส่งหรือขนย้าย (Transportation/Conveyance) เป็นกระบวนการที่ไม่เกิดมูลค่า เป็นภาระที่ต้องขนส่งหรือขนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ทำให้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย อาจเกิดความเสียหายแก่วัสดุได้ ควรมีการออกแบบผังโรงงานให้สัมพันธ์กัน เพื่อที่จะดำเนินงานได้สะดวกและรวดเร็วในการขนย้าย มีการวางแผนเส้นทางการขนส่ง การ เลือกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสม

 

 

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

          การเพิ่มผลผลิตนั้นเราสามารถที่จะทำการเพิ่มผลผลิตไดหลายรูปแบบ เชน การลดเวลาในการผลิต (Cycle Time) การลดตนทุนของวัตถุดิบ (Material Cost) การลดจํานวนของเสีย (Defect Reduction) และอื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างเทคนิคในการเพิ่มผลผลิตพอสังเขป มีดังนี้คือ

 

ตัวอย่างเทคนิคในการเพิ่มผลผลิตพอสังเขป

 

          1. เทคนิคการเพิ่มผลผลิตโดยพิจารณาจากการทํางานเกี่ยวของกับการใชวิธีการ การศึกษาการทํางาน มาทําการวิเคราะหการทํางาน และหลักการทางการยศาสตร

          2. เทคนิคการเพิ่มผลผลิต โดยนําเทคโนโลยีเขามาชวยในการทํางานเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เชน CAD มา ชวยในการออกแบบ CAM มาชวยในการออกแบบวางแผน และควบคุมกระบวนการผลิต Simulation Program มาวิเคราะหการทํางานของผลิตภัณฑ และหุนยนตเขามาชวยในการผลิต

          3. เทคนิคการเพิ่มผลผลิตโดยพิจารณารูปแบบการทํางานของพนักงานเกี่ยวกับการใชกิจกรรมกลุม เชน กลุมควบคุมคุณภาพ (QCC) เขามาชวยลดจํานวนของเสีย และการใชระบบคาแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิต

          4. เทคนิคการเพิ่มผลผลิตโดยพิจารณาคุณคาและรูปแบบของผลิตภัณฑเกี่ยวกับการใชเรื่องวิศวกรรมคุณคา (Value Engineering) การใชทรัพยากรใหคุมคาที่สุด และการใชผลิตภัณฑมาตรฐานในการผลิต

          5. เทคนิคการเพิ่มผลผลิตโดยพิจารณาระบบการจัดการของวัสดุเกี่ยวกับการจัดการวัสดุ ระบบวางแผนความตองการวัสดุ (Material Requirement Planning: MRP) และระบบทันเวลาพอดี (Just in Time: JIT)

 

 

ตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิต

 

ประเทศไทยมีองคกรและนักวิจัยได้ใหความสําคัญกับการเพิ่มผลผลิตมากขึ้น โดยมีนักวิชาการและนักวิจัยได้ทำการศึกษา มีดังนี้

 

          ผ่องใส เพ็ชรรักษ์ และศิรัตน์ แจ้งรักษ์สกุล (2554) ได้ทำการศึกษาเรื่อง ความพึงพอใจของพนักงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ต่อระบบการผลิตแบบโตโยต้า ในด้านองค์ประกอบการเพิ่มผลผลิต กรณีศึกษากรุงเทพและปริมณฑล พบว่า ระดับความพึงพอใจโดยเฉลี่ยของพนักงานระดับหัวหน้างาน/ผู้ควบคุมงานและพนักงานระดับปฏิบัติการหลังจากนำระบบการผลิตแบบโตโยต้ามาใช้ในแต่ละด้านขององค์ประกอบการเพิ่มผลผลิตในภาพรวมอยู่ในระดับค่อนข้างสูงโดยเรียงลำดับตาม ความพึงพอใจของพนักงาน ลำดับที่ 1 คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ลำดับที่ 2 คือ ด้านความปลอดภัย ลำดับที่ 3 คือ ด้านการส่งมอบ ลำดับที่ 4 คือ ด้านต้นทุนและด้านคุณภาพ ลำดับที่ 6 คือ ด้านขวัญและกำลังใจ ลำดับที่ 7 คือ ด้านจริยธรรม ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบการเพิ่มผลผลิตที่ตอบสนองต่อผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ พบว่า ความพึงพอใจของพนักงานในองค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิตที่ตอบสนองต่อผู้เกี่ยวข้อง พนักงานให้ความพึงพอใจกับองค์ประกอบเพื่อพนักงานเป็นลำดับที่ 1 รองลงมาลำดับที่ 2 คือองค์ประกอบเพื่อผู้บริโภคและลำดับที่ 3 คือ เพื่อสังคม ระดับของพนักงานที่แตกต่างกันความพึงพอใจของพนักงานระดับหัวหน้างาน/ผู้ควบคุมงานและพนักงานระดับปฏิบัติการหลังจากนำระบบการผลิตแบบโตโยต้ามาใช้ในแต่ละด้านขององค์ประกอบการเพิ่มผลผลิตแตกต่างกัน ในขณะที่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ ขนาดกิจการและประเภทของสถานประกอบการความพึงพอใจของพนักงานหลังจากนำระบบการผลิตแบบโตโยต้ามาใช้ในแต่ละด้านขององค์ประกอบการเพิ่มผลผลิตไม่ต่างกัน ลักษณะทางประชากร ได้แก่ ระดับของพนักงาน เพศ อายุ การศึกษา ประสบการณ์ และขนาดกิจการไม่มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจของพนักงานหลังจากนำระบบการผลิตแบบโตโยต้ามาใช้ และผู้บริหารสถานประกอบการ มีความพึงพอใจจากการนำระบบการผลิตแบบโตโยต้ามาใช้ในแต่ละด้านขององค์ประกอบ การเพิ่มผลผลิต เรียงตามลำดับความพึงพอใจ ลำดับที่ 1 คือ การส่งมอบ ลำดับที่ 2 คือ ต้นทุน ลำดับที่ 3 คือ คุณภาพ ลำดับที่ 4 คือ ความปลอดภัย ลำดับที่ 5 คือ ขวัญและกำลังใจ ลำดับที่ 6 คือ สิ่งแวดล้อม และลำดับที่ 7 คือ จริยธรรม พิจารณาความพึงพอใจของผู้บริหารในองค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิตที่ตอบสนองต่อผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ พบว่า ให้ความพึงพอใจกับองค์ประกอบเพื่อผู้บริโภค เป็นลำดับที่ 1 รองลงมาลำดับที่ 2 คือ เพื่อพนักงานและเพื่อสังคม

          สุรเชษฐ์ มีลาภ (2542) ได้ทำการศึกษาเรื่อง การเพิ่มผลผลิตในกระบวนการผลิตตู้แผงสวิตช์ไฟฟ้าหลัก กรณีศึกษาการไฟฟ้านครหลวง พบว่า สามารถลดเวลาเฉลี่ยรวมดำเนินการผลิตตู้แผงสวิตช์ไฟฟ้าหลักทุกประเภทลงได้ ร้อยละ 72 ลดพนักงานปฏิบัติหน้าที่จากจำนวน 11 คน เหลือเพียง 5 คน และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงานลง ร้อยละ 62 ต่อปี โดยได้รับผลผลิตเท่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับระบบจริงในปัจจุบัน

 

 

บทสรุป

 

          การเพิ่มผลผลิต (Productivity) เปนเครื่องมือสําคัญในการใชประโยชนจากทรัพยากรที่มีอยูอยางจํากัดใหเกิดประโยชน์สูงสุด การปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตที่มีประสิทธิภาพจะทำใหบรรลุเปาหมายของการเพิ่มผลผลิต นั่นคือ มาตรฐานการครองชีพของประชาชนคนในชาติดีขึ้น ประชาชนคนในชาติอยู่ดี กินดี มีความสุข ผลที่ไดรับจากการเพิ่มผลผลิตตกอยูกับทุก ๆ คนในชาติ ดังนั้นทุก ๆ คนในชาติ หน่วยงานและสถานประกอบการจึงมีหนาที่ที่จะตองใหความรวมมือในการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต

          องค์ประกอบการเพิ่มผลผลิตที่ดีนั้น มีอยู่ 7 ประการ คือ QCDSMEE ซึ่งส่งผลให้เกิดการเพิ่มผลผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณธรรม เพราะองค์ประกอบเหล่านี้ได้สนองตอบต่อลูกค้า ต่อพนักงานและสนองตอบต่อสังคม ดังนี้คือ

          1. สนองตอบลูกค้าที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ คือ ด้านคุณภาพ ด้านต้นทุน และการส่งมอบ เป็นต้น

          2. สนองตอบต่อพนักงานที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ คือ ด้านความปลอดภัย และขวัญกำลังใจในการทำงานเป็นองค์ประกอบ

          3. สนองตอบต่อสังคมที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ คือ ด้านสภาพแวดล้อม และจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจเป็นองค์ประกอบ

 

 

เอกสารอ้างอิง

1. กรณพิรา แกวฉิมพลี. การประยุกตแนวทางการลดการใชพลังงานในโรงงานผลิตเฟอรนิเจอร. สาขาวิชาวิศวกรรมการจัด การอุตสาหกรรม ภาควิชาวศิวกรรมอุตสาหการ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยพีระจอมเกลาพระนครเหนือ. 2554.

2. ผ่องใส เพ็ชรรักษ์ และศิรัตน์ แจ้งรักษ์สกุล. ความพึงพอใจของพนักงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ต่อระบบการผลิตแบบโตโยต้าในด้านองค์ประกอบการเพิ่มผลผลิต กรณีศึกษากรุงเทพและปริมณฑล. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต. 2554.

3. ภวิต ยอดเพชร. การเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรม. การจัด การเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม. 2557.

4. วรัญญา งามขำ. การเพิ่มผลผลิต. สุรินทร์: วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์. 2558.

5. สุรเชษฐ์ มีลาภ. การเพิ่มผลผลิตในกระบวนการผลิตตู้แผงสวิตช์ไฟฟ้าหลัก กรณีศึกษาการไฟฟ้านครหลวง. สาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการอุตสาหกรรม ภาควิชาวศิวกรรมอุตสาหการ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยพีระจอมเกลาพระนครเหนือ. 2542.

6. สถาบันการเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ. การเพิ่มผลผลิต. เอกสารแผ่นพับประชาสัมพันธ์ของ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ. ม.ป.ป..

7. http://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?bookID=1549&read=true&count=true#sthash.YNeM91EF.dpuf.

8. http://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?bookID=1549&read=true&count=true.

9. http://www.uttvc.ac.th/uttvc/wbi2553/ productivity1.html.

10. https://sites.google.com/site/phathnangan30000101/hnwy-kar-reiyn-ru/bth-thi-4.

11. http://intimeproduct19.tripod.com/about/ Untitled-1.html.

12. http://intimeproduct19.tripod.com/about/Untitled-2.html.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด