เนื้อหาวันที่ : 2016-02-05 18:53:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1919 views

กองบรรณาธิการ

 

 

นายฮาราลด์ ไพรซ์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเน็ตเวิร์ก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของโนเกีย เน็ตเวิร์คส์

 

 

          โนเกีย เน็ตเวิร์คส์ เปิดตัวสถาปัตยกรรมโครงข่ายสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 (5G) นำเสนอการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายตามความต้องการของบริการที่หลากหลาย โดยลูกค้าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น และผู้ให้บริการเองก็จะสามารถนำเสนอฟังก์ชั่นการทำงานของเครือข่ายให้แก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายใต้รูปแบบการให้บริการเครือข่ายเสมือน (Network-as-a-Service) และแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย 5G ไว้อย่างชัดเจน แต่โนเกีย เน็ตเวิร์คส์ เชื่อว่าจะเริ่มมีการทดลองใช้งานจริงได้ภายในปี 2018

          โนเกีย เน็ตเวิร์คส์ เปิดตัวสถาปัตยกรรมโครงข่ายสื่อสารไร้สาย ยุคที่ 5 (5G) ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพื่อก้าวผ่านข้อจำกัดของเครือข่ายแบบเดิมที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที ตามความต้องการ สถาปัตยกรรมแบบใหม่นี้สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและอัตโนมัติ ตามความต้องการบริการที่หลากหลาย, ตามปริมาณข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตามเวลา สถานที่ และลักษณะการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ในเครือข่าย ซึ่งรวมถึงเครือข่ายขนส่งข้อมูล โดยลูกค้าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเนื่องมาจากการปรับปรุงการเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ซึ่งจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบกระบวนการทางธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต ไปจนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ และการดูแลสุขภาพ โดยผู้ให้บริการสามารถนำเสนอฟังก์ชั่นการทำงานของเครือข่ายให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายใต้รูปแบบธุรกิจการให้บริการเครือข่ายเสมือน (Network-as-a-Service)

 

 

5G จะเป็นเทคโนโลยีที่มากกว่าระบบคลื่นวิทยุแบบใหม่

 

          การสร้างระบบแบบใหม่ที่โดดเด่นเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคตและการใช้งานแบบเฉพาะราย ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของทางเลือก หากแต่โอกาสที่แท้จริงคือการพัฒนา 5G ให้เป็นระบบเหนือระบบ สามารถตอบทุกโจทย์ความต้องการ และจัดหาบริการแบบไร้รอยต่อจากมุมมองของผู้ใช้งานสถาปัตยกรรมของโนเกียใช้แนวทางการพัฒนา “ระบบเหนือระบบ” เพื่อบูรณาการและสร้างความสอดคล้องของอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในเครือข่ายที่มีความแตกต่างและเป็นอิสระต่อกัน เพื่อความสำเร็จในการเพิ่มความสามารถของเครือข่ายและเพิ่มคุณสมบัติในการทำงานให้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเครือข่ายในปัจจุบัน โดยแทบทุกฟังก์ชั่นการทำงานของเครือข่ายจะถูกกำหนดด้วยซอฟต์แวร์ ทั้งนี้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาด (Cognitive Technologies) นี้จะควบคุมและส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็สามารถส่งเนื้อหาและกระจายการประมวลผลให้ครอบคลุมทั้งเครือข่าย โดยจะคำนึงถึงจุดที่ผู้ใช้งานมีความต้องการมากที่สุด

          แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย 5G ไว้อย่างชัดเจนก็ตาม แต่แนวคิดแบบองค์รวมข้างต้นก็ให้ภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มสถาปัตยกรรม 5G ในอนาคต ทั้งนี้องค์ประกอบหลายองค์ประกอบที่กล่าวข้างต้นได้มีการพัฒนาสำเร็จและใช้งานจริงแล้ว

 

 

การทำงานหลัก ๆ ของสถาปัตยกรรม

 

  • เครือข่ายแยกส่วน (Network Slicing) เป็นการสร้างเครือข่ายย่อยเสมือนอิสระหลาย ๆ ส่วนภายในโครงสร้างเดียวกัน (หน่วยของเครือข่าย) โดยแต่ละหน่วยจะทำงานเฉพาะเจาะจงตามการทำงานที่หลากหลาย ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย และอย่างเป็นอิสระต่อกัน เพื่อให้บริการตามโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้อย่างไม่ติดขัด, เพื่อให้ระบบมีความเชื่อถือได้ และเพื่อรองรับปริมาณข้อมูลมหาศาลและการติดต่อสื่อสารแบบเคลื่อนที่
  • หน่วยจัดการประสบการณ์แบบพลวัต (Dynamic Experience Management-DEM) แต่ละกระบวนการย่อยใน DEM สามารถปรับปรุงคุณภาพการบริการลูกค้าได้แม้ในขณะที่โครงข่ายมีความหนาแน่นมาก โดยใช้ทรัพยากรน้อยลงกว่าเดิมถึง 30% หรือน้อยกว่า ทั้งนี้ในเครือข่ายปัจจุบันได้มีการใช้งาน DEM แล้ว
  • การเชื่อมต่อที่กำหนดโดยบริการ (Service-determined Connectivity) การเชื่อมต่อในเครือข่ายปัจจุบันจะกำหนดว่าบริการใดที่มีความเป็นไปได้ ขณะที่อุปกรณ์และบริการที่อยู่บนเทคโนโลยีโครงข่าย 5G จะไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะการเชื่อมต่อไอพีแบบจุดต่อจุดอีกต่อไป โดยลูกค้าสามารถเลือกเส้นทางการเชื่อมต่อได้อย่างอิสระตามความต้องการของบริการจริง การเพิ่มความสามารถของบริการให้กำหนดการเชื่อมต่อได้นี้ จะช่วยให้เครือข่ายสามารถสร้างความมั่นใจในเรื่องระยะเวลาการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างไม่ติดขัด และรับประกันความเชื่อถือได้ของระบบ
  • การส่งต่อทราฟิกอย่างรวดเร็ว (Fast Traffic Forwarding) โซลูชั่น Nokia AirFrame Data Center Solution* ของโนเกีย เป็นโซลูชั่นที่ช่วยสร้างความสามารถด้านโครงสร้างคลาวด์แบบกระจายของโทรคมนาคม ซึ่งจะสนับสนุนให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม สามารถสร้างบริการใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญยิ่ง
  • โมบิลิตี้ ออน ดีมานด์ (Mobility on Demand) ตอบสนองความต้องการการใช้งานแบบเคลื่อนที่ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากมาตรวัดแบบอยู่กับที่ของบริษัทสาธารณูปโภค หรือจะเป็นรถไฟความเร็วสูง โดยทั่วไปกลุ่มผู้ใช้งานแบบเคลื่อนที่ที่อยู่กับที่ ไม่ได้เคลื่อนไหวไปมามีเพียง 30% ของผู้ใช้บริการทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นระบบนี้จึงสร้างโอกาสให้สามารถใช้ทรัพยากรของเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้

 

 

แนวคิดสถาปัตยกรรมโครงข่ายสื่อสารยุคใหม่ 5G

 

          จากการพิสูจน์แนวคิดในหลาย ๆ ด้าน ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของสถาปัตยกรรมใหม่นี้ ดังนี้

 

  • หนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดของแนวคิดด้านเครือข่ายแยกส่วนของโนเกีย คือซอฟต์แวร์สามารถตระหนักรู้เอง (Self Aware Software) โดยสามารถกำหนดการขนส่งบนเครือข่ายได้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ปรับเปลี่ยนตัวเองตามความต้องการของบริการที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนความต้องการในส่วนของเครือข่ายที่แตกต่างกัน และตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า
  • แนวคิดนี้บรรลุผลสำเร็จได้ด้วยเทคโนโลยีด้านเครือข่ายการจัดการตนเองหรือ Self-Organizing Networks (SON) สำหรับโซลูชั่นเครือข่ายขนส่งที่มีการผสมผสานกับเทคโนโลยีเครือข่ายที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์ (SDN) จากผู้ค้าหลากหลายรายซึ่งจะทำงานครอบคลุมทั่วทั้ง SDN Domains โดยที่การควบคุมเครือข่ายไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับอุปกรณ์ควบคุม SDN ทุกตัว เนื่องจากจะมีการใช้การเชื่อมต่อเครือข่าย (API) จากจุดเดียว
  • โนเกีย เน็ตเวิร์คส์ เปิดตัว API ที่ปรับเปลี่ยนได้เพื่อใช้งานกับส่วนย่อยในเครือข่ายชุมสายเสมือน เพื่อสร้างความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเครือข่ายชุมสายในช่วงเวลาที่คอมพิวเตอร์กำลังทำงาน ซึ่งนับเป็นการก้าวล้ำหน้าอย่างเห็นได้ชัดในยุคที่องค์ประกอบของเครือข่ายทุกวันนี้ต้องการเวลาหลาย ๆ ชั่วโมงหรืออาจหลายวันในการปรับเปลี่ยนค่าการทำงานใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้คือ เครือข่ายชุมสายสามารถปรับตัวรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ เช่น การสร้างการแยกส่วนใหม่ ๆ ของเครือข่าย หรือรูปแบบข้อมูลแบบเคลื่อนที่ไม่ว่าจะในทันทีหรือตามต้องการ

 

            นายฮาราลด์ ไพรซ์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเน็ตเวิร์ก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของโนเกีย เน็ตเวิร์คส์ กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการทำตลาดของกลุ่มธุรกิจนี้ ตามเทรนด์การใช้งานโมบายล์เน็ตเวิร์กที่เติบโตขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โนเกีย เน็ตเวิร์คส์จะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาตอบสนองตลาดที่กำลังเติบโต ซึ่งปัจจุบันไทยมียอดผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือมากกว่า 100 ล้านเลขหมาย มีการใช้บริการโมบาย เซอร์วิสเพิ่มขึ้นถึง 139% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2015 และคาดว่าจะมีผู้ใช้งานดาต้าสูงถึง 165% ในปี 2020 และมีการเชื่อมต่อบรอดแบนด์สูงถึง 133% ในปี 2020 เช่นกันและสำหรับการให้บริการบนเครือข่ายระบบ 5G ในเมืองไทยนั้น คงต้องดูความพร้อมหลังจากการเริ่มขยายเครือข่าย 4G ก่อน ว่าจะมีความต้องการของผู้บริโภคในด้านนี้อย่างไร รวมไปถึงค่าไลเซนส์ที่จะกำหนดขึ้นด้วย ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากที่มีการลงทุนการพัฒนาโมบายล์บรอดแบนด์อย่างต่อเนื่องนั้น จะก่อให้เกิดเงินสะพัดในตลาดเพิ่มขึ้นอีก 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020"

 

 

 

 

ทราบหรือไม่ ?

 

          โนเกีย เน็ตเวิร์คส์ ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน เพื่อสร้างให้เทคโนโลยี 5G มีความสามารถรองรับความต้องการสูงสุดในอนาคตเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการเชิงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ 5G อีกมากมาย สำหรับในยุโรป โนเกียเป็นประธานสมาพันธ์ความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G (5G-PPP Association) และจัดทำโครงการนวัตกรรมเกี่ยวกับ 5G หลายโครงการ ร่วมกับผู้ให้บริการรายใหญ่ ๆ ได้แก่ ไชน่า โมบาย, เอ็นทีที โดโคโม, โคเรีย เทเลคอม, เอสเค เทเลคอม และดอยช์ เทเลคอม

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด