เนื้อหาวันที่ : 2016-02-05 17:32:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2674 views

กองบรรณาธิการ

 

 

 

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

 

          การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 นี้เป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยในการขยายการลงทุนเข้าไปยังประเทศสมาชิก AEC โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและมาตรฐานมลพิษอุตสาหกรรมที่หน่วยงานกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศกำหนดไว้ ซึ่งในปัจจุบันมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของข้อกำหนดตามการพัฒนาอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศ

 

 

          ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการช่วยเหลือและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถเข้าไปดำเนินการจัดตั้งโรงงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน และสามารถควบคุมดูแลมลพิษอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ของแต่ละประเทศอย่างเคร่งครัด จึงได้ดำเนิน “โครงการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ กฎ ระเบียบ ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย วัตถุอันตรายและสารเคมี ที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยปัจจุบันได้ทำการศึกษาแล้วเสร็จ 5 ประเทศคือ สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ จนได้ ผลการเปรียบเทียบกฎระเบียบข้อบังคับ 4 ด้านสำคัญ ดังนี้

          1. ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ทุกประเทศที่ศึกษารวมถึงประเทศไทยด้วย มีกระทรวงสิ่งแวดล้อมหรืออาจเรียกชื่อต่างกันในแต่ละประเทศเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบสูงสุด ซึ่งในส่วนของประเทศไทยยังมีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมอีกหน่วยงานหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่าบางประเทศมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยหน่วยงานท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายของตนเองได้ เช่น อินโดนีเซีย ท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายท้องถิ่นบังคับใช้ได้เอง สปป.ลาว มีการมอบอำนาจให้ท้องถิ่นอนุมัติและอนุญาตโครงการด้านสิ่งแวดล้อมบางประเภทได้ เวียดนาม คณะกรรมการสภาประชาชน จังหวัด สามารถอนุมัติโครงการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดของตนได้

          2. ด้านความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อนำกฎหมายแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน พบว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คน ต้องจัดให้มีบุคลากรด้านความปลอดภัยประจำที่โรงงาน และ เวียดนามได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คน ต้องจัดให้มีบุคลากรด้านความปลอดภัยประจำที่โรงงาน นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีกฎหมายอาชีวอนามัยเฉพาะด้าน และกฎหมายลำดับรอง ด้านความปลอดภัยในแต่ละด้านมากที่สุด เช่น ความปลอดภัยในสภาวะการทำงาน การทำงานกับเครื่องจักร หม้อไอน้ำ ระบบไฟฟ้า และการป้องกันอัคคีภัย เป็นต้น

          3. ด้านวัตถุอันตรายและสารเคมี พบว่าแต่ละประเทศมีระบบบริหารจัดการด้านนี้คล้ายคลึงกัน โดยพิจารณาจากปริมาณการผลิต การใช้และนำเข้าสารเคมี รวมถึงความเป็นอันตรายของสารนั้น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวทางการบริหาร ซึ่งสารเคมีชนิดเดียวกันอาจมีการควบคุมไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ปัจจุบัน กัมพูชาและเมียนมาร์ มีเพียงกฎหมายควบคุมสารเคมีสำหรับเกษตรกรรมแต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ส่วน สปป.ลาว อยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายวัตถุอันตรายและสารเคมี สำหรับ ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายและสารเคมีด้วยระบบ GHS หรือ Globally Harmonized System of Classification and Labeling of Chemicals คือระบบสากลการจัดกลุ่มความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก

          4. กฎระเบียบข้อบังคับด้านการลงทุน เมื่อพิจารณาการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับการประกอบกิจการของชาวต่างชาติในประเทศที่ได้ทำการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่นักลงทุนชาวต่างชาติไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ แต่สามารถเช่าระยะยาวได้ ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและมิใช่ภาษีอากร ตลอดจนหลักประกันและความคุ้มครองมีรูปแบบคล้ายกัน คือ ต้องยื่นขอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง

          จากการเปรียบเทียบกฎระเบียบข้อบังคับทั้ง 4 ด้านดังกล่าว กรอ.แนะนำว่า ผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในแต่ละประเทศที่มีการปรับปรุงอยู่เสมอ ส่วนในการลงทุนจริงผู้ประกอบการอาจใช้บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายช่วยดำเนินการในรายละเอียด เนื่องจากแต่ละประเทศมีขั้นตอนและการตีความบังคับใช้กฎหมายแตกต่างกัน และในปีงบประมาณ 2559 กรมโรงานอุตสาหกรรมจะทำการศึกษาเพิ่มเติมอีก 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน รวมทั้งจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ภายใต้ “โครงการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ กฎ ระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย วัตถุอันตรายและสารเคมีที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยในการลงทุนและแข่งขันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้อยู่ในระดับเดียวกัน เกิดการแข่งขันและพัฒนาอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของอุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างยั่งยืน ดร.พสุ กล่าวสรุป

 

 

สถิติการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และจดจำนองเครื่องจักร รอบ 10 เดือน (ม.ค.- 20 ต.ค. 58)

  

              สำหรับโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน ที่ผู้ประกอบการสามารถนำเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนแล้วไปจำนองได้จะช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการเพิ่มมากขึ้นนั้น จากสถิติวันที่ 1 มกราคม–20 ตุลาคม 2558 มีโรงงานจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 954 ราย จำนวนเครื่องจักร 4,755 เครื่อง และโรงงานจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร 715 ราย จำนวนเครื่องจักร 10,721 เครื่อง มีมูลค่าวงเงินจำนองเครื่องจักรกว่า 3.2 แสนล้านบาท เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับวงเงินจำนองเครื่องจักรปี 2557 (ในช่วงเวลาเดียวกัน) มูลค่า 3.01 แสนล้านบาท พบว่าวงเงินจำนองปี 2558 สูงขึ้น 8.91% ในขณะที่โรงงานและเครื่องจักรมีจำนวนการจดทะเบียนลดลงกว่าปีที่แล้ว

 

ตาราง เปรียบเทียบปี 2557 และ 2558 ในช่วงเวลาเดียวกัน (1 ม.ค.- 20 ต.ค.) ได้ดังนี้

  

 

 

          ทั้งนี้ สถิติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. ปี 2557 มีโรงงานจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 1,446 ราย จำนวนเครื่องจักร 6,755 เครื่อง และโรงงานจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร  908 ราย จำนวนเครื่องจักร 13,811 เครื่อง มีมูลค่าวงเงินจำนองเครื่องจักรกว่า 3.25 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับวงเงินจำนองเครื่องจักรปี 2558 ณ วันที่ 20 ตุลาคม 3.27 แสนล้านบาท พบว่า วงเงินจำนองเครื่องจักรซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในประเทศจนถึงสิ้นปี 2558 จะมีมูลค่าสูงกว่าปีที่แล้วแน่นอน

 

  

สถิติการประกอบและขยายกิจการโรงงานในรอบ 10 เดือน (ม.ค.- 20 ต.ค. 58)

 

               สถิติการประกอบและขยายกิจการโรงงาน 1 ม.ค.- 20 ต.ค. 58 จำนวน 4,401 โรง เกิดการจ้างคนงาน 178,928 คน และเงินทุนประมาณ 4.77 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณามาเปรียบเทียบกับวงเงินทุนปี 2557 ในช่วงเวลาเดียวกันมูลค่า 4.74 แสนล้านบาท พบว่ามูลค่าเงินทุนปี 2558 สูงขึ้น 0.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่โรงงานประกอบและขยายกิจการรวมถึงการจ้างคนงานมีจำนวนลดลงกว่าปีที่แล้ว (สถิติการประกอบและขยายกิจการโรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. ปี 2557 จำนวน 5,664 โรง เกิดการจ้างคนงาน 203,564 คน และเงินทุนประมาณ 6.03 แสนล้านบาท)

 

 

ตาราง 2 เปรียบเทียบปี 2557 และ 2558 ในช่วงเวลาเดียวกัน (1 ม.ค.-20 ต.ค.) ได้ดังนี้

 

 

 

ประเภทอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการลงทุนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่

  

  1. อุตสาหกรรมอาหาร เงินลงทุน 5.6 หมื่นล้านบาท
  2. ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เงินลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท
  3. ยานพาหนะ การซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ เงินลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาท
  4. ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เงินลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท
  5. ผลิตภัณฑ์โลหะ เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท

 

ข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานปี 2557 ถึง 20 ต.ค. 2558 (หน่วย คือ โรงงาน)

 

 

 

 

          สำหรับกรณีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ร.ง. 4 ไปแล้ว แต่ยังไม่แจ้งเริ่มประกอบกิจการ จำนวน 3,268 โรงงานนั้น เป็นโรงงานในนิคม 294 โรง (กนอ.ดูแล) และเป็นโรงงานนอกนิคมที่อยู่ในการดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จำนวน  2,974 โรง จ้างคนงาน 79,649 คน เงินทุนรวม 3.2 แสนล้านบาท เงินทุนเครื่องจักร 1.7 แสนล้านบาท ซึ่ง 2,974 โรงนี้ประกอบด้วยโรงงาน 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นโรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักร และทดสอบการเดินเครื่องที่ใช้เวลาพอสมควรอาจใช้เวลาตั้งแต่ 60 วัน ถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของประเภทโรงงาน ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นโรงงานที่ติดปัญหาอื่น ๆ ทำให้ไม่สามารถแจ้งเริ่มประกอบกิจการได้ อาจติดค้างมานานแล้วหลายปี ซึ่ง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ได้เร่งดำเนินการโดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจหาสาเหตุ ให้คำปรึกษาพร้อมช่วยเหลือในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแจ้งเริ่มประกอบกิจการได้อย่างรวดเร็ว

          สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-202-4108 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด