เนื้อหาวันที่ : 2016-01-20 15:47:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2552 views

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

 

          พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก มีผลบังคับใช้ มุ่งให้ความสะดวกแก่ประชาชน หลังจากต้องเจอกับความล่าช้าลำบากมายาวนาน นี่คือนิมิตใหม่ของระบบราชการ ทุกคนต้องรู้แล้วว่าต้องบริการอำนวยความสะดวก เพราะในอดีตใช้กันหลายมาตรฐานตามอำเภอใจ ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว ต้องเป็นไปตามคู่มือประชาชน นอกจากจะอำนวยความสะดวกแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ตามมา เชื่อว่าเป็นผลพลอยได้อันสำคัญยิ่งคือการลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานประกาศใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ตลอดจนเปิดตัวคู่มือสำหรับประชาชน และเว็บไซต์ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ

          สำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 นั้นขณะนี้ได้มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558

 

 

          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า หลังจากนี้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ จะต้องให้ความสะดวกกับประชาชนในการติดต่อราชการ โดยจะต้องทำคู่มือประชาชนในการติดต่อกับทางราชการว่า จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ต้องใช้เวลาเท่าไร และเสียค่าใช้จ่ายอย่างไร ทั้งนี้หากราชการไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นหนังสือภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นความผิดความบกพร่อง

          อย่างไรก็ตาม ผลจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นการปลดล็อกงานบริการไปสู่มิติใหม่ และลดการทุจริต ลดความไม่สะดวก ทำให้ประชาชนมีความพอใจในระบบราชการยิ่งขึ้น และจากนี้ไปจะมีการตั้งศูนย์บริการอำนวยความสะดวก และศูนย์บริการร่วมเชื่อมโยงกับ 20 กระทรวง 148 กรมของประเทศอย่างรวดเร็ว

 

          หลักการของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีดังนี้ 
 
          1. ได้มีการบังคับให้ทุกส่วนราชการ ทำคู่มือประชาชนในการติดต่อราชการ และเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ
          2. กรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องการขอเอกสารเพิ่มเติมจากประชานชน สามารถขอได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น
          3. การขอพิจารณาอนุญาตต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
          4. ส่งเสริมทุกกระทรวงจัดตั้งศูนย์ One Stop Service Center หรือ ศูนย์บริการร่วม และศูนย์รับคำขออนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

 

 

มั่นใจกฎหมายอำนวยความสะดวก หนุนยอดเปิดขยายโรงงานเติบโตตามเป้า

 

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวถึงยอดการตั้งโรงงานใหม่ในช่วง 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2558) ว่า มีจำนวน 2,065 โรงงาน ลดลง 2.73% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ยอดเงินลงทุนรวม 171,336 ล้านบาท ลดลง 0.53% ส่วนการขยายกิจการช่วง 6 เดือน มีจำนวน 386 โรงงาน เพิ่มขึ้น 9.9% ขณะที่ยอดเงินลงทุนรวม 63,264 ล้านบาท ลดลง 18.97% โดยอุตสาหกรรมที่ลงทุนมากที่สุดในช่วง 6 เดือน คือ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากยางพารา, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม

          นายพสุ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังเกตจากเดือนกรกฎาคม มีจำนวนโรงงานเปิดใหม่ 324 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 25,279 ล้านบาท และมีโรงงานขยายกิจการ 58 โรงงาน มูลค่าลงทุน 16,277 ล้านบาท สูงกว่าเดือนมิถุนายนที่มียอดการตั้งโรงงานใหม่จำนวน 337 โรงงาน มูลค่า 24,493 ล้านบาท ขยายกิจการจำนวน 90 โรงงาน ยอดเงินลงทุน 12,622 ล้านบาท

          จากแนวโน้มเดือนกรกฎาคม ทำให้คาดหวังว่าทั้งปีน่าจะเห็นยอดลงทุนโรงงานเติบโตประมาณ 10-15% ตามเป้าหมาย แม้ครึ่งปีแรกจะลดลงเล็กน้อย

          ขณะเดียวกันผลจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558 จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับการพิจารณาใบอนุญาตรวดเร็ว สร้างความมั่นใจมากขึ้น ประกอบกับมีโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐบางส่วนจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศมีความมั่นใจและมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรก

 

 

สิ้นปี 2558 ติดต่อราชการ ไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน

 

          ด้าน ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ EGA (อีจีเอ) กล่าวว่า จากการสำรวจความพร้อมการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ในโครงการลดสำเนากระดาษเพื่อบริการประชาชน (สมาร์ท เซอร์วิส) พบว่าหน่วยงานภาครัฐมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด ส่วนรัฐวิสาหกิจมีความพร้อมในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ซึ่งภาพรวมการให้บริการหน่วยงานภาครัฐปัจจุบันก็ให้บริการเนื้อหาผ่านเว็บไซต์มากด้วยเช่นกัน

          ทั้งนี้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ได้มีผลบังคับใช้วันที่ 21 ก.ค.2558 ซึ่งอีจีเอ รับผิดชอบทำ โครงการ สมาร์ท เซอร์วิส ในวงเงิน 95 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการกับหน่วยงานนำร่อง 7 กระทรวง เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงไอซีที, กระทรวงการคลัง, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม 

          สำหรับแนวทางในการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.หน่วยงานผู้ให้บริการดำเนินการปรับขั้นตอน ระบบบริการของราชการให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นทาง อาทิ ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร เพื่อลดการขอสำเนาเอกสารราชการจากผู้ขอรับบริการ โดยดำเนินการร่วมกับการปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2.หน่วยงานผู้ให้บริการเริ่มนำร่องการให้บริการแบบสมาร์ทเซอร์วิสแก่ประชาชน ณ จุดให้บริการของแต่ละหน่วยงาน และ 3.หน่วยงานผู้ให้บริการเริ่มนำร่องการให้บริการแบบสมาร์ทเซอร์วิสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการบางเรื่องได้ด้วยตนเอง โดยผ่านตู้อเนกประสงค์หรือคีออส และพัฒนาต่อยอดผ่านช่องทางอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

          ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูล 7 กระทรวงนำร่อง พบว่ามีบริการรวมทั้งสิ้นจำนวน 394 บริการ โดยสามารถแบ่งกลุ่มบริการของแต่ละหน่วยงานเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

          กลุ่มที่ 1 บริการที่หน่วยงานมีระบบสารสนเทศรองรับและประชาชนต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง 2 อย่างในการขอรับบริการ จำนวน 33 หน่วยงาน รวม 121 บริการ

          กลุ่มที่ 2 บริการที่หน่วยงานไม่มีระบบสารสนเทศรองรับและประชาชนต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง 2 อย่างในการขอรับบริการ จำนวน 38 หน่วยงาน รวม 256 บริการ

          กลุ่มที่ 3 บริการที่หน่วยงานมีระบบสารสนเทศรองรับและประชาชนไม่ต้องใช้ทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านในการขอรับบริการ จำนวน 7 หน่วยงาน รวม 10 บริการ

          กลุ่มที่ 4 บริการภายในของหน่วยงานเอง ซึ่งต้องมีการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 3 หน่วยงาน รวม 7 บริการ

          เป้าหมายสำคัญของโครงการดังกล่าว คือการปรับปรุงบริการภาครัฐไปสู่สมาร์ทเซอร์วิสที่ประชาชนสามารถขอรับบริการโดยไม่จำเป็นต้องยื่นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือบัตรสมาร์ทการ์ด ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการขอรับบริการและลดค่าใช้จ่ายในการทำสำเนา ส่วนภาครัฐจะเป็นการลดการบันทึกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ข้อมูลมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของภาครัฐในการให้บริการประชาชน

          "การเชื่อมโยงระบบจะต้องทำควบคู่กับการออกกฎหมายลูก ที่ต้องดูว่ามีบริการไหนเขียนระเบียบไว้ว่าต้องใช้สำเนา เพื่อให้หน่วยงานทำงานได้โดยไม่ผิดกฎระเบียบ ส่วนกระทรวงอื่น ๆ อยู่ระหว่างศึกษาบริการว่าจะมีบริการอะไรบ้าง โดยคาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการได้ในต้นปีหน้ารับนโยบายดิจิตอล อีโคโนมี" ดร.ศักดิ์ กล่าว

 

 

หนุนแก้กฎหมายศุลกากร เอื้อไทยศูนย์กลางโลจิสติกส์

  

          ขณะที่ นางจีรนันท์ วงษ์มงคล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา บอกว่า ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ และไทยมีความได้เปรียบในด้านนี้มาก แต่หากต้องการพัฒนาประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านโลจิสติกส์ จะต้องแก้กฎหมายศุลกากรเพื่อให้เอื้อต่อการขนส่งมากกว่าปัจจุบัน

          ด้าน น.ส.นงลักษณ์ วงศ์สุขสิริเดชา ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การแก้กฎหมายศุลกากรนั้น เป็นเรื่องที่ทางกรมศุลกากรจะต้องไปหารือกันภายในก่อน เพราะหากเปิดให้รถวิ่งเข้าอีกด่านแล้วออกอีกด่าน ก็อาจทำให้ยากต่อการควบคุมดูแลทั้งในด้านของความปลอดภัยและความมั่นคง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาดูให้รอบคอบ อย่างไรก็ดี ในส่วนของทางกัมพูชาเอง ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเปิดให้รถบรรทุกจากไทยเข้าออกได้ทุกจุดอย่างแท้จริง ขณะที่ผ่านมาไทยมีการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน พ.ศ.... ซึ่งกำหนดให้มีจุดตรวจร่วมกันในฝั่งไทย เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาในการตรวจซ้ำกันสองรอบ

          สำหรับรถโดยสารและรถบัสจากกัมพูชาเข้าออกจุดผ่านแดนถาวรทั้ง 6 จุดได้อยู่แล้ว มีเพียงรถบรรทุกเท่านั้นที่กรมศุลกากรยังไม่อนุญาต

 

 

อย. ทำคู่มือประชาชน ตรวจสอบ จนท. ทุกขั้นตอนลดปัญหาทุจริต

 

          ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่อขจัดความล่าช้าสิ้นเปลืองและยุ่งยากในกระบวนการต่าง ๆ ที่ประชาชนต้องมาติดต่อส่วนราชการ พร้อมกับป้องกันการคอรัปชั่นด้วยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการกับ อย. อย่างเต็มที่

          โดย อย. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการให้บริการกับประชาชนเกี่ยวกับงานอนุญาตด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งในเรื่องการอนุญาตสถานที่ผลิตภัณฑ์ การโฆษณา การนำเข้า จนถึงการออกหนังสือรับรองต่าง ๆ ซึ่งได้จัดทำคู่มือประชาชน รวม 237 คู่มือ เป็นคู่มือที่อ่านเข้าใจง่าย ปฏิบัติตามได้ไม่ซับซ้อน และไม่ยุ่งยาก สามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ทุกขั้นตอน แบ่งเป็น

          คู่มือด้านอาหาร จำนวน 31 คู่มือ, ด้านยา จำนวน 54 คู่มือ, ด้านเครื่องมือแพทย์ จำนวน 40 คู่มือ, ด้านวัตถุเสพติด จำนวน 51 คู่มือ, ด้านงานด้านอาหารและยา จำนวน 15 คู่มือ, ด้านเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย จำนวน 46 คู่มือ ทั้งนี้ อย. จะเริ่มเผยแพร่คู่มือเหล่านี้ให้กับประชาชนที่มารับบริการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป

          ทั้งนี้ อย. ยังได้ตั้งทีมแก้ไขปัญหาแบบเคลื่อนที่เร็ว สำหรับให้คำปรึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ทันที สำหรับผู้รับบริการที่อยู่ต่างจังหวัด อย. ได้นำคู่มือ ที่จัดทำเกี่ยวกับงานอนุญาตต่าง ๆ ตามข้างต้น มอบให้จังหวัดด้วยเพื่อให้จังหวัดนำไปใช้เป็นต้นแบบในการปรับให้เหมาะสมกับจังหวัดต่อไป

          อย่างไรก็ตาม การอำนวยความสะดวกด้านการอนุญาตของ อย. ส่วนใหญ่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ อยู่แล้ว แต่มีบางกระบวนงานที่ อย. ได้ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ได้แก่ การทำแบบฟอร์มการตรวจรับเอกสาร ซึ่งทั้งผู้ยื่นและเจ้าหน้าที่ จะใช้ตรวจสอบเอกสารว่าครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง จะมีการบันทึกและกำหนดวันที่ต้องนำเอกสารมาเพิ่มหรือแก้ไข พร้อมลงนามทั้ง 2 ฝ่ายโดยผู้ยื่นขออนุญาตจะเก็บสำเนาไว้

          เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า คู่มือประชาชนที่จัดทำ ขึ้นจะเผยแพร่ทางเว็บไซต์ อย. (www.fda.moph.go.th) ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถศึกษาขั้นตอน วิธีการ เอกสาร และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ละเอียดก่อนที่จะมายื่นขออนุญาตได้ เพื่อช่วยลดข้อผิดพลาด และช่วยให้การอนุญาตรวดเร็วขึ้น โดยประชาชนสามารถติดต่อรับบริการด้านการขออนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้ที่ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ อย. (One Stop Service Center: OSSC) ชั้น 1 อาคาร 5 ตึก อย. ซึ่งศูนย์ OSSC นี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2547 ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ดังกล่าว

          สามารถรองรับผู้จะมาใช้บริการเฉลี่ยถึง 400 คนต่อวัน ที่สำคัญ ศูนย์ OSSC ของ อย. ได้รับการประเมิน ISO9001:2008 Quality Management Systems-Requirements เมื่อปี 2557 ด้านการบริหารจัดการระบบการยื่นขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ คำแนะนำ ส่วนรับคำขอและส่วนอำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นการรับรองด้านมาตรฐานการให้บริการของศูนย์แห่งนี้

          อย่างไรก็ตาม อย. จะดำเนินการทุกวิถีทางในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ ซึ่งการจัดทำคู่มือประชาชนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ นี้ จะช่วยขจัดความล่าช้าทำให้งานรวดเร็วขึ้น ประชาชนจะไม่ลำบากเวลาไปติดต่อราชการ ลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ส่งผลดีต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป หากประชาชนท่านใดต้องการร้องเรียนหรือมีข้อแนะนำ ติชม เกี่ยวกับงานของ อย. สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน อย. 1556

 

 

เอซีที ระบุกฎหมายแก้คอร์รัปชันอีก 4 ฉบับ ยังไม่คืบหน้า

 

          ขณะที่ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (เอซีที) เผยว่า สำหรับกฎหมายแก้คอร์รัปชั่นอีก 4 ฉบับที่ยังไม่มีความคืบหน้า ได้แก่

          1. พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ เพื่อคุมกลไกการจัดซื้อจัดจ้างไม่ให้รั่วไหล และภาคประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ

          2. พ.ร.บ.สำนักงบประมาณประจำรัฐสภา เพื่อแก้ปัญหานักการเมืองเล่นแร่แปรธาตุกับงบประมาณ และวิเคราะห์ตรวจสอบการใช้งบในโครงการประชานิยมว่าใช้เงินแค่ไหน นำเงินมาจากไหน เพดานงบที่จะใช้คือเท่าไร ถ้าไม่สำเร็จใครคือผู้รับผิดชอบ

          3. พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฉบับใหม่ เพื่อปรับปรุงช่องโหว่ช่องว่างของฉบับปี 2540 ที่ไม่เอื้อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อตรวจสอบทุจริตของหน่วยงานอย่างแท้จริง การแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกสร้างความโปร่งใสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การจัดทำนโยบายสาธารณะ และการใช้เงินแผ่นดิน และ

          4. พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เพื่อทำให้สื่อเป็นอิสระจากอิทธิพลของผู้มีอำนาจที่ใช้งบประมาณของรัฐเข้าไปซื้อสื่อ

          นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นกำลังดำเนินการ คือ รณรงค์และปลูกฝังเด็กและเยาวชนไม่ให้ยอมรับการโกง โดยผลักดันให้บรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตอนนี้เริ่มแล้วที่นิด้า หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถือเป็นพลวัตแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องมีความเป็นเอกภาพ รณรงค์ต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่องและมียุทธศาสตร์ หากทำได้ก็จะบรรเทาปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

 

 

อุตสาหกรรมเร่ง 6 ด้าน สนองนโยบายรัฐบาล

 

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินงานตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการกำกับดูแลสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นหน่วยงานนำร่องตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558

 

โดยได้กำชับให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเร่งดำเนินการ ใน 6 เรื่อง คือ

 

          1. การกำกับดูแลโรงงานและเหมืองแร่ จากผลการเปรียบเทียบประเด็นสิ่งแวดล้อมจากสถานประกอบการโรงงาน ที่กระทรวงฯ เก็บข้อมูลไว้ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2558 พบว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นปัญหาที่พบมากอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ปัญหาเสียงดัง, มลภาวะทางอากาศ, ปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งปัจจุบันการร้องเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะประชาชนตื่นตัวในการรักษาสิทธิ์และห่วงใยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ทรัพยากรต้องมีความคุ้มค่า จึงได้ร่วมสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ

          2. การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ที่กระทรวงฯ ได้วางแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยมีเป้าหมายนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบ 1.2-1.5 ล้านตันต่อปี ในปีนี้ โดยโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียมีมาตรการให้ 90% ของโรงงานที่เข้าข่ายเข้าสู่ระบบ (52,000 ราย) ด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ การกำหนดบทลงโทษโรงงานที่ไม่ได้นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ ด้านผู้รับกำจัดและบำบัด มีมาตรการหาพื้นที่รองรับการขยายตัวของโรงงานในระยะ 20 ปี จำนวน 6 พื้นที่ และนำร่องสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม มูลค่า 1,800 ล้านบาท ที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น และการขึ้นทะเบียนจับคู่ระหว่างโรงงานผู้ก่อกำเนิดและผู้บำบัด ส่วนผู้ขนส่งกากฯ มีมาตรการติดตั้งระบบ GPS รถขนส่งกาก และกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมหากมีการลักลอบทิ้ง โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

          3. มาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยจากการประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากสถิติการเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม ประสานงานกับ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

          สำหรับประเภทโรงงานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มากที่สุด คือ 1.โรงงานผลิตและประกอบอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2.โรงงานประเภทรีไซเคิล 3.โรงงานทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งจากไม้, ยาง, อโลหะ, พลาสติก โดยสาเหตุเกิดจาก ไฟฟ้าลัดวงจร, เครื่องจักร/อุปกรณ์ชำรุด และอื่น ๆ เช่น ปฏิกิริยาเคมี, ความร้อน, การวางเพลิง ตลอดจนความประมาทของบุคคล ตามลำดับ

          ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการทบทวนปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552 เพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติให้เหมาะสมกับประเภท ขนาด และชนิดของโรงงานมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันในช่วงที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงก็ขอให้ สอจ. ทุกจังหวัด ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิมไปก่อน รวมถึงการกำหนดให้สถานประกอบกิจการโรงงานตรวจประเมินตนเองและจัดส่งรายงานให้กระทรวงในทุก 2 ปี สำหรับโรงงานประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง และโรงงานที่มีอายุเกินกว่า 10 ปี และในทุก 5 ปี สำหรับโรงงานประเภทอื่น หากไม่มีการรายงานจะไม่มีการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต”นายจักรมณฑ์ กล่าว

          4. การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน 219 กระบวนงาน สิ่งที่สำคัญคือการชี้แจง แนะนำผู้ประกอบการถึงสิ่งที่ต้องปฏิบัติ เพื่อป้องกันมิให้มีการขอเอกสารเพิ่มเติม อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจ และป้องกันความผิดพลาด เพื่อให้ทำงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

          5. การปรับปรุงฐานข้อมูล Thailand Digital Gateway เพื่อรองรับระบบการอนุมัติผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-license) มากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ สอจ. จำเป็นต้องลงข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานต่าง ๆ จากรูปแบบเอกสารนำเข้าระบบดิจิตัลมากขึ้น เช่น การยื่นขอ รง.4 ข้อมูลโรงงานการร้องเรียน เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตได้ด้วย

          6. การปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ไม่เรียกรับผลประโยชน์ใด มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่อาจได้รับโทษทั้งทางวินัย และอาญาได้

 

 

ดัน อีบิสซิเนส สนับสนุน การค้าออนไลน์หมื่นล้าน

 

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีได้ร่วมกับ ส.อ.ท. จัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อผลักดัน วางกรอบยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 4 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1 ส่งเสริม E-business สู่ภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มช่องทาง การทำธุรกิจโดยใช้ Online ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

          นอกจากนี้ ส.อ.ท. จะ ทำโครงการ E-business โดยได้มีการจัดทำเว็บไซต์ www.fitebusiness.com เพื่อให้สมาชิก ส.อ.ท. สามารถทำธุรกิจ E-commerce โดยมีหน้าร้านและรายการสินค้าออนไลน์ เบื้องต้นเว็บไซต์ดังกล่าวจะทำในรูปแบบภาษาท้องถิ่น 10 ประเทศ ให้แล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย รองรับการเปิดเออีซี โดยคาดว่าจะสามารถช่วยให้เกิดการซื้อขายผ่านโครงการมีมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ภายในปี 2558 และจะเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี 

          ส่วน โครงการที่ 2 ปรับเปลี่ยนมาตรฐานการซื้อขายสินค้าให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำธุรกรรมการซื้อขายสินค้า จากรูปแบบปัจจุบันไปสู่การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการทำธุรกรรมชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเชื่อมโยงการค้ากับผู้ประกอบการต่างชาติ เพื่อให้สามารถค้าขายได้ทั่วโลก

          โครงการที่ 3 ศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นโครงการหลักที่สำคัญเนื่องจากจะมีการรวบรวมข้อมูลโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรมแต่ละแขนง โดยในเบื้องต้นจะนำร่อง 43 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายใน 3 ปี จากนั้นจะกระจายไปทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในการสนับสนุนซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรม และจะเป็นกลไกในการเตือนภัยทางธุรกิจในทุก ๆ ด้าน โดยจะเริ่มนำร่องในการเตือนภัยปกป้องการทุ่มตลาดของสินค้าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากพัฒนาระบบนี้ได้จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อปกป้องระบบการทุ่มตลาดได้

          สำหรับศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมไทยจะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลเครือข่ายระหว่างหน่วยงานราชการและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจเข้าด้วยกัน เช่น กรมศุลกากร, กระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม

          ทั้งนี้เพื่อให้สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ได้แบบวันต่อวัน หากพบตัวเลขที่ผิดปกติ หรือมีสัญญาณเตือนภัยการทุ่มตลาด ก็สามารถวางมาตรการป้องกันแก้ไขได้ทันท่วงที" นายสุพันธุ์ กล่าว 

          สำหรับ โครงการที่ 4 การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล จะร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 พัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัลแบบมืออาชีพ ขยายโอกาสทางการค้าไปสู่สากลไม่น้อยกว่า 1 พันกิจการ ภายใน 3 ปี และกลุ่มที่ 2 ผู้พัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไม่น้อยกว่าปีละ 200 ราย

          นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า จากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล กระทรวงได้ส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เนื่องจากการเข้าถึงระบบดิจิทัลจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและเพิ่มช่องทางการตลาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

          นอกจากนี้เมื่อการจัดทำคู่มือประชาชนสำหรับประกอบ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการแล้วเสร็จ ก็จะทำให้การประสานงานของทุกหน่วยงานมีความสะดวกขึ้น และช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาติดต่อได้รับข้อมูลเร็วขึ้น และสามารถดำเนินธุรกิจได้เร็วขึ้นด้วย

          กระทรวงได้กำหนดทิศทางการส่งเสริม ไว้ 4 ประการ ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมผู้ประกอบการค้ารุ่นใหม่ 2.ส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม 3.ปรับรูปแบบการค้าการลงทุนในเชิงธุรกิจดิจิทัล 4.ส่งเสริมให้เกิดตลาดใหม่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์

 

 

กระทรวงการคลัง ชู 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ลงทุนของประเทศ

 

          นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการดำเนินการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็น 6 เรื่อง โดยเบื้องต้นคาดว่าหากดำเนินการได้ตามเป้าหมายทั้งหมดจะกระตุ้นให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีปี 58 โตได้ 3.2%

          สำหรับ 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางราง, ถนน, น้ำ, สนามบิน รวมงบกรมทางหลวง และทางหลวงชนบท 6.5 หมื่นล้านบาท  2.การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยจะส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ที่มีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่ การส่งเสริมผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการลงทุนในเศรษฐกิจเฉพาะทาง เช่น อุตสาหกรรมยาง 3.การกระตุ้นโดยใช้นโยบายการเงินการคลัง ซึ่งในส่วนนี้จะแบ่งเป็น 6 หัวข้อ คือ 3.1 การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 3.2 การกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่น 3.3 การให้สินเชื่อและการค้ำประกัน SMEs  3.4 การกระตุ้นผ่านมาตรการภาษี 3.5 การกระตุ้นผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และ 3.6 การกระตุ้นผ่านมาตรการอื่น ๆ เช่น นาโนไฟแนนซ์ เป็นต้น 4.การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการที่บรรจุในงบประมาณประจำปี ซึ่งในปี 58 มีโครงการลงทุนทั้งหมด 1.57 แสนล้านบาท โดยจะเร่งติดตามให้เกิดการใช้จ่ายเร็วขึ้น 5.การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมุนเวียน เช่น การขยายเวลาการชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผ่านการดำเนินงานของ 10 กองทุน เช่น กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร, กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เป็นต้น และ 6. การปรับปรุงการบริหารสหกรณ์ที่มีอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการปรับปรุงจุดอ่อนให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อรองรับนโยบายจากรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร

 

 

ครม. รับข้อตกลง มาร์ราเกช จัดตั้งองค์การการค้าโลก

 

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกช จัดตั้งองค์การการค้าโลก เพื่อผนวกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลก

          ทั้งนี้เพื่อให้ไทยผูกพันตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า หรือความตกลง TFA ขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับไทย ทั้งช่วยลดต้นทุนการเงิน ระยะเวลา และปัญหาความไม่แน่นอนในการขนย้ายสินค้าข้ามพรมแดน เป็นต้น

          โดยปัจจุบันมีประเทศที่ให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกชแล้ว 8 ประเทศ ซึ่งไทยและอีกหลายประเทศก็อยู่ระหว่างเร่งให้การยอมรับพิธีสารให้แล้วเสร็จ ก่อนการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 10 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2558 ที่ประเทศเคนยา

          “ธนาคารโลก และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ประมาณการว่าการปฏิบัติตามเนื้อหาของความตกลงมาร์ราเกชอย่างครบถ้วน จะเป็นการเพิ่มการค้าโลก ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกประมาณ 30,000-100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และไทยก็จะได้ประโยชน์ในการลดต้นทุนการค้าได้ประมาณ 12.9% รวมถึงยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อไทยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีด้านธุรกิจและการลงทุน การเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค และสนับสนุนการค้าเสรีภายใต้ระบบพหุภาคี” นางอภิรดี กล่าว

          นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน และไทย-ตุรกี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีทั้ง 2 ฉบับ และให้ รมว.พาณิชย์ เปิดการเจรจา FTA ซึ่งระหว่างวันที่ 12-13 สิงหาคม 2558 นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 3 ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน ส่วนการเจรจา FTA ไทย-ตุรกีนั้น ตุรกีจะจัดการประชุมการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 1 ในเดือนกันยายน 2558

 

 

พาณิชย์ทบทวนตัวเลขส่งออกใหม่

 

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขการส่งออกในปี 2558 ใหม่ จากที่เคยประเมินว่าน่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าประมาณ 1.2% แต่จากการติดตามตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีหลายปัจจัยที่ยังไม่ดีตามที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัวลง รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่ติดลบ แต่ก็มีความระมัดระวัง จึงมีปัจจัยลบหลายด้านที่จะทำให้การส่งออกของไทยต่ำกว่าที่คาดการณ์ แต่จะถึงขั้นติดลบมากถึงประมาณ 2.5% ตามที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้หรือไม่

          ทั้งนี้ แม้ตัวเลขการส่งออกจะเป็นอัตราใดขอให้ดูและเทียบกับประเทศต่าง ๆ ด้วย เพราะหลายประเทศการส่งออกก็ประสบปัญหาชะลอตัวลงตามความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการทุกด้านเพื่อให้การส่งออกของไทยไม่ลดลงไปมากได้

          นางอภิรดี กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไปจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับภาคธุรกิจบริการของไทยทั้งระบบที่ให้บริการในประเทศและต่างประเทศว่ามีมูลค่าทางธุรกิจมากน้อยแค่ไหน เพราะหากประเมินยอดรวมธุรกิจบริการของไทยน่าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าประมาณ 50% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมถือเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย

          แต่ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้จะใช้ฐานข้อมูลจากตัวเลขการส่งออกด้วยสินค้าเป็นหลักโดยไม่ได้นำตัวเลขด้านบริการที่สามารถทำรายได้กลับเข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาทมารวมอยู่ในตัวเลขภาคการส่งออก

          อย่างไรก็ตาม ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำฐานข้อมูลด้านธุรกิจบริการของไทยที่มีศักยภาพสูง เช่น ธุรกิจสปา, ธุรกิจภาพยนตร์, ธุรกิจรักษาพยาบาล, ธุรกิจสถานศึกษาต่างประเทศ และอีกหลายธุรกิจบริการของไทยที่สามารถทำรายได้สร้างมูลค่าเพิ่มที่จะนำรายได้มารวมอยู่ในภาคการส่งออกได้ และที่น่าแปลกใจธุรกิจบริการ เช่น คณะแสดงงิ้วของคนไทยเริ่มเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศทั้งฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น สามารถเพิ่มรายได้กลับประเทศได้ไม่น้อย

          หากทุกฝ่ายหันมาส่งเสริมอย่างจริงจังก็เชื่อว่าน่าจะชดเชยรายได้จากการส่งออกได้อย่างมาก และหากสามารถจัดทำฐานข้อมูลธุรกิจบริการเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น ก็น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะให้ตัวเลขการส่งออกทั้งสินค้าและบริการของไทยมีความเป็นจริงมากขึ้น

          นางอภิรดี กล่าวยอมรับว่า การเก็บข้อมูลธุรกิจบริการของไทยทั้งระบบไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจบริการของไทยกระจัดกระจาย บางธุรกิจจะอยู่ในข้อมูลของการท่องเที่ยว แต่หากสามารถแยกออกมาได้ในแง่ของมูลค่า หรือการสร้างรายได้ของธุรกิจนั้น ๆ จะเป็นส่วนสำคัญของฐานข้อมูลที่จะเห็นว่า รายได้ภาคการส่งออกของธุรกิจบริการของไทยมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจของไทยได้ และที่สำคัญต้นทุนธุรกิจบริการของไทยมีสัดส่วนที่น้อยกว่าผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก แต่สามารถทำรายได้ค่อนข้างสูงมากทีเดียว" นางอภิรดี กล่าว

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด