HIOKI SINGAPORE PTE., LTD.
การต่อลงดินของระบบไฟฟ้ากำลัง เป็นข้อกำหนดทางมาตรฐานวิศวกรรมไฟฟ้า มีเหตุผลเพื่อการป้องกันระบบไฟฟ้าเมื่อเกิดข้อบกพร่องในการทำงานขึ้น สามารถลดหรือกำจัดผลกระทบนั้น ๆ ออกไปได้ทันเวลา ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้และไม่เกิดผลเสียหายต่อระบบไฟฟ้า โดยสามารถนำมาทำงานร่วมกับระบบและอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ ภายในระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
การต่อลงดินที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อาจเป็นสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ กรณีการต่อลงดินไม่ถูกต้องอาจส่งผลเสียอีกหลายด้าน เช่น ขาดคุณภาพไฟฟ้าโดยเกิดการรบกวนคลื่นสัญญาณไฟฟ้าอันเนื่องจากผลกระทบของกระแสและแรงดันเหนี่ยวนำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง สำหรับระบบไฟฟ้าที่มีต้องการความเชื่อถือสูง เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรทางการเงินการธนาคาร หรือการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ รวมถึงระบบที่มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไวต่อสัญญาณรบกวนและต้องการความแม่นยำสูง ดังนั้นการต่อลงดินที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
เลือกใช้แท่งหลักดินที่ได้มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย คือต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 16 มิลลิเมตร และความยาวไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร ดังรูปที่ 1 ตอกฝังลึกลงไปในดินในตำแหน่งที่ต้องการ การติดตั้งให้ตอกแนวดิ่งลงไปในดิน หากมีสิ่งกีดขวางที่แข็งและไม่สามารถตอกในแนวดิ่งได้สามารถติดตั้งเอียงได้ไม่เกิน 45 องศา หรืออาจขุดดินและใช้แท่งหลักดินฝังลึกในแนวราบไม่น้อยกว่า 0.75 เมตร ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 การติดตั้งแท่งหลักดิน
ถ้าตอกแท่งหลักดิน 1 แท่ง แล้ววัดความต้านทานหลักดินได้เกินค่าที่ต้องการ จะต้องตอกแท่งหลักดินขนานกับแท่งหลักดินเดิม และต่อฝากถึงกันดังรูปที่ 2 การตอกแท่งหลักดินเพิ่มถ้าตอกในแนวลึกจะต้องให้มีระยะห่างระหว่างแท่งหลักดินไม่น้อยกว่าความยาวของแท่งหลักดิน การตอกแท่งหลักดินเพิ่มแล้วต่อฝากถึงกัน
รูปที่ 2 การติดตั้งแท่งหลักดินขนานกัน
การวัดค่าความต้านทานของหลักดินมีหลายวิธี ซึ่งวิธีการใช้งานก็จะแตกต่างกันตามผู้ผลิตเครื่องวัด วิธีที่ใช้กันทั่วไปคือ วิธีวัดแบบ 3 จุด (The Three-point or Fall of Potential) ดังรูปที่ 3 โดยการปักแท่งที่ใช้ทดสอบจากเครื่องมือวัดให้อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกับแท่งหลักดินที่จะทดสอบ ซึ่งกระแสจะไหลผ่านจากแท่ง C1 ผ่านลงดินไปยังจุดที่แท่งหลักดินปักอยู่ และจะมีแท่ง P2 ปักอยู่ระหว่างสองแท่งนี้ ซึ่งโดยทั่วไปการปักแท่ง P2 จะปักห่างจากแท่งหลักดิน ประมาณ 62% ของระยะจาก C1 ถึง C2 สำหรับการวัดค่าความต้านทานของหลักดินแบบ 3 จุดจะต้องมีการปลดระบบการต่อลงดินออกจากระบบไฟฟ้าก่อนทำการวัด
รูปที่ 3 การวัดค่าความต้านทานของหลักดินแบบ 3 จุด
อีกวิธีการหนึ่งคือ วิธีแบบ 2 จุด โดยจะใช้โครงสร้างที่เป็นตัวนำช่วยในการวัดค่า ซึ่งมีความสะดวกในการทดสอบ แต่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างตัวนำอื่นที่อยู่ข้างเคียงบริเวณนั้นอาจทำให้ค่าการวัดผิดเพี้ยนได้ ดังรูปที่ 4
รูปที่ 4 การวัดความต้านทานดินแบบ 2 จุด
ซึ่งเราสามารถใช้เครื่องมือวัด Hioki รุ่น FT6031-03 เพื่อวัดค่าความต้านทานระหว่างหลักดินกับดินได้ทั้งแบบ 3 จุด และ 2 จุด ดังรูปที่ 5
รูปที่ 5 แสดงวิธีการวัดค่าความต้านทานระหว่างหลักดินกับดินโดยใช้เครื่องวัด Hioki รุ่น FT6031-03
การติดตั้งระบบการต่อลงดินเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย และหลังจากที่มีการติดตั้งระบบการต่อลงดินแล้วต้องมีการทดสอบทางไฟฟ้า โดยใช้เครื่องมือวัด การวัดค่าความต้านทานของหลักดินมีหลายวิธี ซึ่งวิธีการใช้งานก็จะแตกต่างกันตามผู้ผลิตเครื่องวัด และวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ วิธีวัดแบบ 3 จุด และ 2 จุด เนื่องจากมีความสะดวกในการทดสอบ
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่
HIOKI SINGAPORE PTE., LTD.
E-mail: info-thai@hioki.com.sg
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด