เนื้อหาวันที่ : 2016-01-12 11:06:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1826 views

ธงชัย วัฒนโสภณวงศ์

ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน

บริษัท แอ็กซิส คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด

 

 

 

 

เมื่อนึกถึงการรักษาความปลอดภัย ระบบวิดีโอตรวจการณ์-เฝ้าระวัง ยังคงเป็นพระเอกอยู่ อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าและความสำเร็จทางเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังนำมาซึ่งความเข้าใจและความคาดหวังที่คลาดเคลื่อน นักประพันธ์ซีรีส์หนังอาชญากรรมนับไม่ถ้วน สร้างเนื้อเรื่องให้เห็นถึงปาฏิหาริย์ที่เกิดจากเทคโนโลยีวิดีโอ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรเป็นจริงได้ และอะไรเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เรามาไขปริศนาเรื่องราว 7 ประการที่น่าสนใจที่สุดของเทคโนโลยีวิดีโอกัน”

 

 

  

คุณ ธงชัย วัฒนโสภณวงศ์

ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน

บริษัท แอ็กซิส คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด

 

 

1. ดิจิทัลซูม: เรื่องที่แสนจะคลาสสิก

 

          ซีรีส์: การซูมภาพด้วยระบบดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์หนังอาชญากรรมหลาย ๆ เรื่อง นักสืบนำภาพวิดีโอจากกล้องตรวจการณ์-เฝ้าระวังมาขยายจุดที่ต้องการจะเห็น เช่น ภาพที่สะท้อนอยู่ในกระจกหน้าต่าง ซึ่งขั้นตอนในช่วงแรก ๆ มักดูเหมือนจริงและเป็นไปได้ คือเมื่อซูมเข้ามาพิกเซลก็ขยายและไม่สามารถจำแนกอะไรออกมาได้ แต่เมื่อเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา ในหลาย ๆ ตอนของหนังมีการใช้โปรแกรมทางเทคนิคช่วยทำให้ภาพที่ได้จากวิดีโอชัดขึ้น และสามารถทำให้ภาพที่ขยายนั้นเป็นภาพที่มีความละเอียดสูง ดูแล้วเป็นเรื่องสุดยอดจริง ๆ ที่เมื่อเหล่านักสืบต้องการแค่จะรู้สีตาของผู้ต้องสงสัยแต่กลับได้เห็นละเอียดถึงม่านตาด้วยภาพที่คมชัด

 

          เรื่องจริง: ซีรีส์ทางโทรทัศน์จินตนาการเรื่องดิจิทัลซูมที่ระดับเมกะพิกเซลด้วยตัวเลขสูงสองหลักหรือสามหลัก ความคมชัดระดับนั้นอาจจะเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ถ้าพูดถึงข้อจำกัดมากมายของเทคโนโลยีตรวจการณ์ที่แท้จริง กล้องที่ติดตั้งใช้งานส่วนมากยังคงเป็นระบบอะนาลอก ในขณะที่กล้องไอพีระดับมืออาชีพซึ่งมีความละเอียดระดับ 1080p HDTV ก็ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกล้องมาตรฐานที่ใช้งานทั่ว ๆ ไป กล้องที่มีความละเอียดระดับ 4K Ultra-high HD เพิ่งออกสู่ตลาดเมื่อปี พ.ศ.2557 และคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าที่จะมีการนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย

           

 

2. ภาพในความมืดคือความมืด

 

          ซีรีส์: ฉากหนังอาชญากรรมจำนวนมากเกิดขึ้นในความมืด แต่พอถึงขั้นตอนการสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์ กลับได้ภาพที่คมชัด

 

          เรื่องจริง: ภาพถ่ายตอนกลางคืนในพื้นที่ที่มีสภาพแสงไม่ดีโดยปกติภาพจะมัว การเคลื่อนไหวจะพร่ามากขึ้น ในสภาวการณ์เช่นนี้ช่างภาพใช้ความเร็วชัตเตอร์เข้ามาช่วย แต่วิธีนี้นำไปใช้ในงานรักษาความปลอดภัยไม่ได้ ภาพถ่ายกลางคืนที่มีการเสริมแต่งแสงจะถูกนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ในการระบุตัวตนได้น้อยมาก จะระบุตัวตนยานพาหนะต่าง ๆ ได้ก็เมื่อตอนที่พวกมันจอดอยู่นิ่ง ๆ หรือเคลื่อนที่ช้ามาก ๆ

 

 

 

          ตัวอย่าง: ภาพแสดงให้เห็นภาพจากเหตุการณ์เดียวกันที่ถ่ายโดยกล้อง 4 ตัว

 

          ซ้ายบน - กล้องตรวจจับความร้อน: มองเห็นบุคคลในเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน

 

          ขวาบน - กล้องที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์คงที่ที่ 1/6 Second: ได้ภาพที่ค่อนข้างพร่ามัว แทบมองไม่เห็นบุคคลในเหตุการณ์

 

          ซ้ายล่าง - กล้องที่ใช้ความเร็วซัตเตอร์ที่ 1/30 (การตั้งค่าเริ่มต้นที่สั้นที่สุดเท่าที่ทำได้): มองเห็นภาพบุคคลได้ชัดเจน แต่ภาพยังคงมืด

 

          ขวาล่าง - กล้องที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/2 Second: ภาพสว่างและเป็นภาพสี แต่เกือบจะมองไม่เห็นบุคคลในเหตุการณ์เลย ภาพลักษณะนี้ไม่สามารถนำมาใช้ในงานรักษาความปลอดภัยได้

 

 

3. มองจากที่สูง

 

          ซีรีส์: พนักงานสืบสวนนำภาพด้านหน้าของผู้ต้องสงสัยที่ได้จากกล้องตรวจการณ์ไปใช้ และพวกเขาสามารถใช้ภาพนี้ในการสอบสวนด้านอื่น ๆ เช่น นำภาพผู้ต้องสงสัยไปถามผู้คนที่อยู่ละแวกนั้น

 

          เรื่องจริง: โดยปกติกล้องมักจะติดตั้งอยู่สูงมากหรือที่ที่เอื้อมไม่ถึงเพื่อปกป้องตัวกล้องจากการที่จะโดนปัดให้กล้องหันเหไปทางอื่นและจากการโดนทุบทำลาย นั่นหมายความว่า กล้องจะมีมุมมองจากข้างบนลงมาด้วยมุมที่สูงชันมาก หากจะจับภาพใบหน้าของคนได้ดังที่ปรากฏในซีรีส์ คนคนนั้นจะต้องแหงนหน้าขึ้นมองตรงไปที่กล้องเท่านั้น ภาพที่จะเล็งไปที่ด้านหน้าของผู้ต้องสงสัยเหมือนที่อยู่ในหนังได้นั้นหมายความว่ากล้องจะต้องติดตั้งอยู่บนขาตั้งสูง 1.70 เมตร ในแนวเดียวกับด้านหน้าผู้ต้องสงสัย ซึ่งในระบบตรวจการณ์-เฝ้าระวังมีความแตกต่างกันเล็กน้อย

 

 

4. ความจริงที่บิดเบือน

 

          ซีรีส์: ในละครทีวีเกี่ยวกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ การระบุตัวตนผู้คนทำได้อย่างง่ายดายแม้ว่าคนคนนั้นจะอยู่ด้านหน้าของอาคารใหญ่ ๆ โดยไม่สนใจว่าบุคคลนั้นอยู่ตรงไหน ในซีรีส์ใช้กล้องเพียงตัวเดียวที่มีรูรับแสงกว้างเพื่อบันทึกภาพทั่วทั้งอาคารและผลที่ออกมาตามในหนังคือสามารถมองเห็นหน้าต่างและทางเข้าออกต่าง ๆ ได้ชัดเจน

 

          เรื่องจริง: มุมมองรูรับแสงยิ่งกว้างมากเท่าไร ความชัดเจนของพิกเซลตรงบริเวณขอบของภาพก็จะลดลงมากเท่านั้น การระบุตัวตนได้ดีมักจะอยู่ที่ระดับกลางภาพประมาณ 45 องศา หากใช้กล้องที่มีรูรับแสงกว้างกับพื้นที่รอบนอกอาคารสถานที่อาจได้ความละเอียดพิกเซลต่ำเกินไป หรือถ้าไม่เช่นนั้นแกนของมุมมองที่ใช้จับตามองผู้กระทำผิดก็จะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ทั้งนี้สรุปภาพรวมคร่าว ๆ ได้ว่ารูรับแสงกว้างใช้ได้จริงแต่การระบุตัวตนเป็นไปไม่ได้เสมอไป

 

 

5. ทุกอย่างทำงานร่วมกันได้ทั้งหมด

 

          ซีรีส์: เจ้าหน้าที่สืบสวนสามารถสลับไปดูวิดีโอจากที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายระหว่างกล้องที่ติดตั้งอยู่ที่ตู้เอทีเอ็ม กล้องที่ติดตั้งเพื่อการจราจร และกล้องตรวจการณ์รถไฟใต้ดิน ดูเหมือนรัฐบาลมีกล้องเป็นหูเป็นตาอยู่ทุกแห่งหน

 

          เรื่องจริง: ในสถานการณ์จริงพนักงานสืบสวนต้องเผชิญกับปัญหาที่ต่างจากในภาพยนต์ เนื่องจากกล้องไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ทั้งหมด แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าหากวิดีโอที่ติดอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนที่อยู่ในสถานการณ์ที่โหดร้ายต่าง ๆ ได้ก็ตาม สาเหตุเกิดจากการใช้ระบบวิดีโอตรวจการณ์-เฝ้าระวังที่มีระบบแตกต่างกันมากมาย แต่ไม่มีอินเตอร์เฟสที่เป็นมาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้นระบบส่วนใหญ่ทำงานแบบออฟไลน์ ซึ่งเมื่อเราต้องการจะนำภาพวิดีโอที่กล้องบันทึกไว้ไปใช้งานจริงเราต้องใช้เวลาเข้าไปยังสถานที่ที่จัดเก็บภาพวิดีโอนั้น ๆ

 

 

6. ใช้กล้องจำลอง

 

           ซีรีส์: ปัจจุบัน กล้องได้รับการติดตั้งอยู่เกือบจะทุกที่ในที่ที่เห็นได้ชัด เช่น ร้านขายยา ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ ดังนั้นลูกค้าและผู้มาใช้บริการทุกคนรู้ว่าเขาถูกจับตามองอยู่ เหตุผลของการติดตั้งกล้อง "หลอก" ก็เพื่อยับยั้งการลักทรัพย์

 

          เรื่องจริง: แม้แต่มือสมัครเล่นที่ไม่มีความชำนาญยังบอกได้อย่างง่ายดายว่ากล้องเป็นของปลอมหรือไม่ ซึ่งหมายความว่าการพยายามที่จะป้องปรามอาจกลับตาลปัตร มันอาจกลายเป็นการบอกหัวขโมยว่า "ลงมือได้เลย! ไม่มีใครคอยจับตาดู!"

 

 

7. กล้องสมบูรณ์แบบตลอดเวลา

 

          ซีรีส์: กล้องในหนังไม่เคยมีฝุ่นจับ ไม่มีหยากไย่ใยแมงมุมเกาะ และกระจกกล้องก็ไม่เคยสกปรก มุมมองกล้องก็ชัดเจนและไม่ถูกบดบังด้วยกิ่งไม้หรือวัตถุอื่นใด

 

          เรื่องจริง: ลูกค้าน้อยรายที่จะให้ความสนใจทำความสะอาดและรักษาระบบกล้องของพวกเขา และแทบจะไม่เซ็นสัญญาการใช้บริการ บ่อยครั้งที่เจ้าของระบบวิดีโอไม่ตระหนักเลยว่ากล้องได้รับการบำรุงรักษาไม่เพียงพอจนกระทั่งเมื่อถึงเวลาเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้น และต้องการจะใช้ภาพจากกล้องแต่ภาพใช้ไม่ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็สายไปเสียแล้ว

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด