ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์
การขนส่งสินค้าโดยทางอากาศ (Air Transportation) เป็นการขนส่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ประเทศต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาสนามบินพาณิชย์ให้ทันสมัย เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้มาใช้บริการ บริษัทสร้างเครื่องบินไม่ว่าจะเป็น A-Bus หรือ Boeing ก็มีการสร้างเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และสมรรถภาพในการบินสูง สามารถบรรจุสินค้าและบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น มีเครื่องมือในการขนส่งอันทันสมัยครบครัน นอกจากนี้ยังมีการขยายและปรับปรุงบริเวณคลังสินค้าที่ท่าอากาศยานให้กว้างขวางทันสมัย เพื่อให้การขนส่งสินค้าดำเนินไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว จากผู้ส่งที่เมืองต้นทาง ไปยังเมืองผู้รับปลายทาง
สมาคมการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Cargo Association: TIACA) ได้ประมาณการณ์ไว้ว่า ในปัจจุบันกว่าร้อยละ 34 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ต้องอาศัยการขนส่งสินค้าทางอากาศ ยิ่งไปกว่านั้นการขนส่งสินค้าทางอากาศยังมีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่ปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศได้ขยายเกือบเท่าตัวในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะประสบกับภาวะตกต่ำในบางช่วงก็ตาม แต่ธุรกิจการบินที่บริการขนส่งสินค้าทางอากาศสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
จะเห็นได้ว่าการขนส่งทางอากาศ (Air Transportation) เป็นอุตสาหกรรมที่มีโซ่อุปทานเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันกับหลายธุรกิจ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry) อันเป็นภาพใหญ่
อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry) เป็นอุตสาหกรรมการบริการประเภทหนึ่ง ที่แสดงถึงศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศชาติในหลากหลายมิติของธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน เช่น อุตสาหกรรมสายการบิน (Airline Business) อุตสาหกรรมการท่าอากาศยาน (Airport Management Service) อุตสาหกรรมการบริการ จราจรทางอากาศ (Air Traffic Control Service) อุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงเครื่องบิน อุตสาหกรรมโภชนาการสายการบิน (Catering Services) และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Industry) ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่อาศัยการคมนาคมทางอากาศ โดยรวมธุรกิจการบินต่าง ๆ ในบริบทการบินเป็นองค์ประกอบหนึ่งของอุตสาหกรรมแห่งชาติที่ทำรายได้ GDP ปีละหลายแสนล้านบาท
รูปที่ 1 ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
(Source: IATA, Oxford Economics/www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)
อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ (Air Transportation) เป็นอุตสาหกรรมที่มีโซ่อุปทานเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันกับหลายธุรกิจ ที่ส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ดังสามารถแสดงได้ในรูปที่ 2
รูปที่ 2 โซ่อุปทาน และผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมการบิน การขนส่งทางอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคม
(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)
ในการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ ใช่ว่าจะไม่มีคู่แข่งขัน อุปสรรคและความท้าทายของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ เกิดขึ้นจากทั้ง Internal Factors และ External Factors โดยเฉพาะ External Factors ที่เกิดจากการเปิดเสรีทางการบิน (Open Sky) การเปิดเสรีการค้าการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ โลจิสติกส์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง การขยายส่วนแบ่งตลาด การแข่งขัน และอำนาจต่อรองของธุรกิจในอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศในภูมิภาคอาเซียน
รูปที่ 3 ความท้าทายต่ออุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคอาเซียน
(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)
โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำทั้งขนาดขนาดกลางและใหญ่ (Low Cost Carrier: LCC) จากประเทศในกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในปี 2555 ซึ่งยังไม่รวมถึงสายการบินต้นทุ่นต่ำจากยุโรปและอเมริกา ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นผลมาจากนโยบายการเปิดเสรีทางการบิน (Open Sky)
รูปที่ 4 การเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุ่นต่ำ
(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)
รูปที่ 5 การขยายตัวของเส้นทางบินในภูมิภาคอาเซียน
แม้ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน การขนส่งทางอากาศ จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่อุตสาหกรรมนี้ก็มีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวในอนาคตที่มีตัวเลขสูงขึ้น รวมทั้งสัดส่วนปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศทั้งในภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และอเมริกา
รูปที่ 6 แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวในอนาคต
(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)
รูปที่ 7 สัดส่วนปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้น
(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)
จากข้อมูลดังกล่าว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศให้มีความหลากหลาย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นโจทย์ที่ท้าท้ายสำหรับภาครัฐและเอกชนที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เพราะโอกาสในการขยายตลาดการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเป็นลำดับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยาน (Airport) และพัฒนาคุณภาพบริการของท่าอากาศยาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศให้ทันสมัย เป็นระบบ Real Time เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยสำหรับผู้มาใช้บริการ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินเป็น Aerotropolis หรือ Airport City เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจที่รองรับการเดินทางและการท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น Medical Hub การมีระบบเชื่อมโยงคมนาคมที่ทันสมัย สะดวกสบาย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ เพื่อดึงดูดนักลงทุน และนักท่องเที่ยว ล้วนเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันในโซ่อุปทานการขนส่งทางอากาศทั้งสิ้น ซึ่งจะขอบรรยายและขยายความในบทความฉบับหน้า โดยจะขอฝากแผนภาพความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันของธุรกิจในโซ่อุปทานการขนส่งทางอากาศไว้เป็นแนวคิด
(ที่มา: http://www.sealandlogistic.com/wp-content/uploads/2013/10/Supply-Chain-Experts.jpg)
เอกสารอ้างอิง
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด