เนื้อหาวันที่ : 2015-12-24 15:42:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2039 views

ศิริพร วันฟั่น

 

 

 

 

“ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “CSR” กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งหากจะมองโดยเผิน ๆ ก็จะเป็นแค่เรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาและความจำเป็นของซีเอสอาร์แล้ว คงต้องกลับไปดูกันตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”

 

 

          ในตอนที่ 9–12 เราได้กล่าวถึงหัวข้อที่ (3) การดำเนินการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Implementing Responsible Production) ในหัวข้อย่อย (3.1) กรอบการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Framework) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ที่ให้แนวทางที่เป็นระบบเพื่อจัดการความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย และ (3.2) แนวปฏิบัติและชุดเครื่องมือ (Guidance and Toolkit) ที่เกี่ยวกับกิจกรรม (Activities) และเครื่องมือ (Tools) ที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนของกรอบการผลิตด้วยความรับผิดชอบ และยังได้กล่าวถึง ชุดของตัวชี้วัด (Set of Indicators) ที่ประกอบไปด้วยตัวชี้วัดหลัก (Main Indicators) และตัวชี้วัดแสดงรายละเอียด (Detailed Indicators) ที่จะช่วยประเมินการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนของกรอบการผลิตด้วยความรับผิดชอบ ส่วนในตอนที่ 13 นี้ จะขอกล่าวต่อถึงหัวข้อย่อย (3.3) ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) ตามเนื้อหาด้านล่างนี้

          3.3 ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) วัตถุประสงค์ก็เพื่อใช้เป็นแนวทางพื้นฐานในการเพิ่มความตระหนักถึงอันตรายและความเสี่ยงของสารเคมี ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนากระบวนการวางแผนและตัดสินใจ เกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยสารเคมี (Chemical Safety Management) รวมทั้งการสื่อสารความเสี่ยง (Risk Communication) ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ชุดฝึกอบรมนี้ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายหรือเป็นสูตรสำเร็จตายตัว แต่เป็นเพียงแนวทางในการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถจะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของตนเอง เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมดังที่กล่าวมาข้างต้นให้ได้มากที่สุด

          โดยการฝึกอบรมใด ๆ จะประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ วิทยากรฝึกอบรม (Trainners) ที่อาจจะเป็นบุคลากรภายในองค์กรเอง หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกองค์กร ที่มีทักษะ ความรู้ และชำนาญอย่างแท้จริงในเรื่องที่จะทำการฝึกอบรม ทั้งทางด้านเทคนิค (Technical Skills) เช่น การทำงานของเครื่องมือ เครื่องจักร อันตรายหรือความเสี่ยงเป็นการเฉพาะ หรือระบบการผลิต ฯลฯ ด้านการสื่อสาร (Communication Skills) เช่น การสร้างแรงบันดาลใจ การถ่ายทอด การนำเสนอ ฯลฯ หรือด้านการจัดระบบ (Organizational Skills) เช่น การจัดลำดับความสำคัญ การจัดระบบความคิด การวางแผน การบริหารจัดการเวลา การจัดเตรียมการ การประสานงาน ฯลฯ ดังนั้น เพื่อความมั่นใจในความสำเร็จของการฝึกอบรม ทักษะของวิทยากรฝึกอบรมจึงมีความสำคัญและจำเป็นในฐานะที่เป็น “วัสดุฝึกอบรม (Training Material)”

           สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับวิทยากรฝึกอบรม ก็คือ ควรมีประสบการณ์ตรงในงานด้านนั้น ๆ และสามารถนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการลงภาคสนามหรือฝึกปฏิบัติ เพราะปัญหาที่พบเจอในสถานการณ์จริง ต้องมีการตัดสินใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการ ที่มากกว่าแค่ค้นหาคำตอบตามทฤษฎี เพราะต้องมองอย่างรอบด้าน ตามสถานการณ์ของปัญหาและข้อจำกัดที่มีอยู่

          สำหรับการฝึกอบรมในหัวข้อการผลิตด้วยความรับผิดชอบนั้น วิทยากรฝึกอบรมควรมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องของการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production) การผลิตที่ปลอดภัย (Safer Production) การวางแผนรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Planning) และความปลอดภัยของสารเคมี (Chemical Safety)   

          วิทยากรฝึกอบรมมีความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่งในบทบาทที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) โดยตรงกับผู้เข้าฝึกอบรม จึงควรมีทักษะทั้งศาสตร์และศิลป์ในการฝึกอบรม และมีวัสดุฝึกอบรมที่เอื้ออำนวยต่อการฝึกอบรมได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถจัดหลักสูตรฝึกอบรมที่สามารถทำให้เรื่องที่น่าเบื่อหรือเป็นยาขมสำหรับผู้เข้าฝึกอบรม (โดยเฉพาะกับผู้ที่ถูกเคี่ยวเข็ญแกมบังคับให้มาเข้าร่วมฝึกอบรม) กลายมาเป็นเรื่องที่น่าสนใจได้ (แต่ไม่ถึงกับเอาเฮฮาอย่างเดียว สาระไม่มี) นอกจากนี้ วิทยากรฝึกอบรมจำเป็นต้องมีการสื่อสาร (Communication) ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในช่วงของขั้นตอนการเตรียมการทั้งหมด (Preparation Steps) และในระหว่างการฝึกอบรม เช่น สื่อสารให้ตรงกับความต้องการเป็นการเฉพาะขององค์กร คำนึงถึงความเหมาะสมของระยะเวลาในการฝึกอบรม และใส่ใจในวัฒนธรรมและบริบทของชุมชนที่องค์กรดำเนินธุรกิจอยู่ สื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดฝึกอบรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและเกิดความต่อเนื่อง ไม่สะดุดตลอดช่วงของการฝึกอบรม ตลอดจนสื่อสารกับผู้เข้าอบรมฝึกอบรมให้ได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์และเนื้อหาของการฝึกอบรม เป็นต้น

          ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งของการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ ก็คือ ระดับความพร้อมของการเตรียมการจัดฝึกอบรมไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็น ความสะดวกของการเดินทาง (ระบบขนส่ง) สำหรับผู้เข้าอบรมฝึกอบรม ความเพียงพอของวัสดุฝึกอบรม ความเหมาะสมของวิธีการมีส่วนร่วม และการเข้าถึงผู้เข้าอบรมฝึกอบรม ฯลฯ ทั้งนี้ สำหรับวัสดุฝึกอบรม (Training Material) นั้น ควรพิจารณาจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าตามความจำเป็น สำหรับใช้ประกอบการฝึกอบรมในแต่ละหัวข้อ ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้เข้าอบรม หัวข้อฝึกอบรม และระยะเวลา รวมทั้งจัดเตรียมเอกสารประกอบการฝึกอบรมที่ครอบคลุมเนื้อหาพร้อมกับระบุแหล่งอ้างอิงสำหรับค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมไว้ด้วย เช่น  

  • แผนที่เชิงแผนผัง (Layout Maps) และแผนภาพกระบวนการผลิต (Process Diagrams) แผนที่เชิงพื้นที่ (Area Maps) และข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางที่ใช้สำหรับการขนส่งวัตถุดิบสารเคมี ผลิตภัณฑ์ ผลิตผลพลอยได้ และของเสีย
  • รายการวัตถุดิบสารเคมี ผลิตภัณฑ์ ผลิตผลพลอยได้ และของเสีย และการจำแนกประเภทความเป็นอันตรายที่เกี่ยวข้องที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และประมาณการปริมาณของสารเคมีที่มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรืออยู่ในแต่ละกิจกรรม (เช่น การขนถ่าย จัดเก็บ กระบวนการผลิต ขนส่ง)
  • รายชื่อของซัพพลายเออร์ ผู้รับเหมา ผู้ขนส่ง และลูกค้า
  • ข้อมูลการจัดซื้อ, สินค้าคงคลัง (รวมถึง ชื่อทางเคมี ชื่อทางการค้า/CAS Numbers), ระเบียนการควบคุมสต็อก (ที่รวมถึง ยอดการใช้ สถานที่ที่จัดเก็บ หรือใช้), บันทึกเกี่ยวกับการจัดการสารเคมี ใช้ จัดเก็บ และเงื่อนไขในการกำจัด ฯลฯ และปลายทางสุดท้ายของของเสียสารเคมี
  • เอกสารข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์ (MSDS) และข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของสารเคมีอันตรายในสถานประกอบการ
  • ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงก่อนหน้า และข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินที่ผ่านมา และจำนวนแรงงานที่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย (วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ของเสีย)
  • ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน/พื้นที่เขตเมืองที่อยู่แวดล้อมสถานประกอบการขององค์กร และตามเส้นทางที่ใช้ในการขนส่งวัตถุดิบสารเคมี ผลิตภัณฑ์ ผลิตผลพลอยได้ และของเสีย
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของกิจกรรมที่เป็นอันตรายอื่น ๆ (เช่น บริษัทเคมีอื่น ๆ หรือสถานที่จัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ) ที่อยู่แวดล้อมสถานประกอบการขององค์กร และตามเส้นทางที่ใช้ในการขนส่งวัตถุดิบสารเคมี ผลิตภัณฑ์ ผลิตผลพลอยได้ และของเสีย
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม (Social Infrastructures) ที่อยู่แวดล้อมสถานประกอบการขององค์กร (เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ตลาด หรือแหล่งช็อปปิ้ง ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง) และตามเส้นทางที่ใช้ในการขนส่งวัตถุดิบสารเคมี ผลิตภัณฑ์ ผลิตผลพลอยได้ และของเสีย
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของพื้นที่ทางธรรมชาติและทรัพยากร ที่อยู่แวดล้อมสถานประกอบการขององค์กร (เช่น พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่แหล่งน้ำดื่มตามธรรมชาติ พื้นที่แหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตรหรือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ หรือพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติ ฯลฯ) และตามเส้นทางที่ใช้ในการขนส่งวัตถุดิบสารเคมี ผลิตภัณฑ์ ผลิตผลพลอยได้ และของเสีย
  • แผนฉุกเฉินขององค์กร แผนควบคุมและติดตามอันตรายจากสารเคมี แผนที่ความเสี่ยงและอันตราย แผนภูมิองค์กรและคำบรรยายลักษณะงานที่เกี่ยวข้อง

         

          นอกจากนี้ ยังอาจจะต้องจัดเตรียมกรณีศึกษา หรือแบบจำลองสถานการณ์เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มพูนทักษะของผู้เข้าอบรมให้มากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความจำเป็น ความพร้อม และความซับซ้อนของเนื้อหา

 

  • กลุ่มเป้าหมายในการฝึกอบรม จะเป็นบุคลากรจากบริษัทเคมี อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Safety Officers) และบุคลากรที่รับผิดชอบด้านเหล่านี้ เช่น ความปลอดภัยในการผลิต (Production Safety) การสื่อสารความเสี่ยง (Risk Communication) การประชาสัมพันธ์ (Public Relations) การจัดซื้อ (Procurement) และการจัดเก็บสารเคมีอันตราย (Storage of Hazardous Chemicals)
  • วัตถุประสงค์หลักของการฝึกอบรม (Main Objectives) ก็คือ 1.เพิ่มความตระหนักถึงอันตรายและความเสี่ยงของสารเคมีที่อาจจะพบในการปฏิบัติงาน ตลอดจนอุบัติเหตุที่จะนำไปสู่การสัมผัสกับสารเคมีอันตรายอย่างไม่ปลอดภัย และ 2.เป็นแนวทางสำหรับผู้เข้าอบรมฝึกอบรม ด้วยการเรียนรู้ 5 ขั้นตอนของวิธีการผลิตด้วยความรับผิดชอบและเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการส่งเสริมความปลอดภัยของสารเคมีไปตามห่วงโซ่คุณค่า และเสริมสร้างความสามารถในการนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติกับงานที่ตนเองรับผิดชอบ
  • ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง โดยหลังจากผ่านการฝึกอบรมและทำแบบฝึกหัดตามคำแนะนำแล้ว ผู้เข้าอบรมฝึกอบรมควรมีผลสัมฤทธ์ในสิ่งเหล่านี้ ได้แก่

          - เข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับสารเคมีอันตรายในการทำงาน

          - เข้าใจถึงวิธีการ 5 ขั้นตอนของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Approach) และวิธีที่จะใช้แนวทางนี้เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยสารเคมี (Chemical Safety) และการบริหารจัดการข้อมูลความเสี่ยง (Risk Information Management) ในการดำเนินงานขององค์กร

          - เข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดทำแผนที่การไหลของการดำเนินงานขององค์กร (Operations Flow Map) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาระบุความเสี่ยงและอันตรายจากสารเคมี ที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนภาพการไหลของกระบวนการผลิต (Process Flow Diagram)

          - ได้พัฒนาแผนที่จุดอันตราย (Hazard Hotspots Map) และสารบบสารเคมี (Chemical Inventory) โดยขึ้นอยู่กับอันตรายของสารเคมีและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของแต่ละบริษัท

          - ได้จัดเตรียมรายการกฎหมายพื้นฐานที่ขึ้นทะเบียน ที่ระบุถึงข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบที่สำคัญเกี่ยวกับการควบคุมอันตรายจากสารเคมีและการป้องกันอุบัติเหตุ ที่บังคับใช้กับการดำเนินงานองค์กร เพื่อที่องค์กรจะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและให้การส่งเสริม สนับสนุนในการปฏิบัติตามได้ดียิ่งขึ้น

          - สามารถระบุและทำแผนที่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรไปตามห่วงโซ่คุณค่า และตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีที่สุดที่จะใช้ในการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงความปลอดภัยของสารเคมีให้ดียิ่งขึ้น

          - จัดทำรายชื่อหรือกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับอันตรายและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานขององค์กร

          - ได้ระบุการดำเนินการขั้นพื้นฐานสำหรับการลดความเสี่ยง และพัฒนาร่างแผนปฏิบัติการควบคุมทางเคมี (Draft Chemical Control Action Plan)

          - มีความเข้าใจพื้นฐานในเครื่องมือ (Tools) ที่ใช้สำหรับการระบุและประเมินความต้องการฝึกอบรมในด้านความปลอดภัยสารเคมี (Chemical Safety) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร

          - สามารถที่จะเข้าใจองค์ประกอบพื้นฐานของแผนฉุกเฉิน (Emergency Plan)

          - มีความเข้าใจพื้นฐานถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices Procedures)

          - สามารถระบุวิธีการที่จะปรับปรุงกระบวนการสื่อสารความเสี่ยง

          - ได้พัฒนาทักษะการประเมินขั้นพื้นฐานสำหรับผลการดำเนินงานขององค์กรในส่วนของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ ไปจนถึงการจัดการความปลอดภัยสารเคมี โดยการประยุกต์ใช้รายการตรวจประเมินผลการดำเนินงาน (Performance Assessment Checklists) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นระหว่างการฝึกอบรม

 

ตารางที่ 21 แสดงโมดูลของชุดฝึกอบรม และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

ชุดฝึกอบรม (Training Package)

 

          โมดูลที่ 1 บทนำ (Introduction) วัตถุประสงค์ก็เพื่ออธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการอันตรายจากสารเคมีที่มีอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน และบริบทที่สามารถนำแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบไปใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการอารัมภบทให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบคำชี้แจงถึงเหตุผล วัตถุประสงค์ เนื้อหา และกำหนดการของหลักสูตรฝึกอบรม (Training Course) โดยคำชี้แจงเหล่านี้สามารถใช้โปรแกรม Powerpoint ในการนำเสนอ รวมทั้งแสดงแผนภาพแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Approach Diagram) ไปในคราวเดียวกันนี้เลย นอกจากนี้ ก็ยังมีการแนะนำโดยย่อพร้อมกับแจกเอกสารประกอบคำบรรยายที่เป็นผังงาน 5 ขั้นตอนของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Approach Flowchart) และเอกสารระบุกำหนดการของหลักสูตรฝึกอบรม

          ปัจจัยสำคัญที่วิทยากรไม่ควรมองข้าม ก็คือ การมีส่วนร่วมหรือการมีปฏิสัมพันธ์ (โต้ตอบ) ระหว่างผู้เข้าอบรมกับวิทยากร โดยการสร้างความเป็นกันเอง ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าอบรมไม่ประหม่า กล้าถาม- ตอบ และเป็นการตรวจสอบอากัปกิริยาในเบื้องต้นได้ว่า สนใจหรือได้เข้าใจในสิ่งที่วิทยากรนำเสนอออกไปหรือไม่ และวิทยากรควรสอบถามผู้เข้าอบรมถึงความคาดหวังเบื้องต้นของพวกเขาว่าอยากจะได้อะไรจากการฝึกอบรม นอกจากนี้ การร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในช่วงสั้น ๆ ระหว่างผู้เข้าอบรมก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะพบเจอปัญหาร่วมที่เหมือน คล้ายคลึง หรือแตกต่างกันก็ได้ ตรงจุดนี้นั้นจะเป็นการเปิดโอกาสอันดีให้วิทยากรสามารถสร้างแรงจูงใจเชื่อมโยงไปยังเหตุผลและวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมได้ง่ายขึ้น

 

          โมดูลที่ 2 การผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production) วัตถุประสงค์ก็เพื่อแนะนำ 5 ขั้นตอนของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ และแสดงรายการเครื่องมือที่มีอยู่ในชุดเครื่องมือของการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit) ตลอดจนแนะนำแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา (Mock Case-study) ที่จะถูกนำมาใช้ในช่วงระหว่างทำแบบฝึกหัด โดยวิทยากรสามารถใช้โปรแกรม Powerpoint ในการนำเสนอพร้อมกับแจกเอกสารประกอบคำบรรยายแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษาด้วย และวิทยากรฝึกอบรมยังสามารถดำเนินการเพิ่มเติมในสิ่งเหล่านี้

  • แนะนำคำจำกัดความของการผลิตด้วยความรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นแนวทางที่เป็นระบบและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องที่จะช่วยในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น ความปลอดภัยของสารเคมีตามห่วงโซ่คุณค่า ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอันตราย การควบคุมการสัมผัสสารเคมี ลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ การมีส่วนร่วมกับที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่งเสริมการดูแลเคมีภัณฑ์แบบครบวงจร (Chemical Product Stewardship – วิธีปฏิบัติที่ทำให้ประเด็นด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมถูกบรูณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตของเคมีภัณฑ์) ผ่านการสื่อสารความเสี่ยงที่มีเป้าหมายอยู่ที่การป้องกันการสัมผัสกับสารอันตรายตลอดห่วงโซ่คุณค่า
  • กล่าวถึงจุดมุ่งหมายหลักและเหตุผลของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ โดยเน้นไปที่ 1.ความจำเป็นในการส่งเสริมการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย และข้อมูลด้านความปลอดภัยสารเคมี ตามห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งไม่เพียงแค่ผู้ผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงซัพพลายเออร์ ผู้ขนส่ง ลูกค้า และหุ้นส่วนทางธุรกิจอื่น ๆ ขององค์กรอีกด้วย 2.การบูรณาการความปลอดภัยสารเคมีและการดูแลเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรนั้น จะไม่สามารถดำเนินการได้ ถ้าปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งนี้จะนำพาองค์กรเข้าสู่เขตความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ในที่ซึ่งการสร้างและการขยายความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
  • เน้นย้ำกับผู้เข้าอบรมฝึกอบรมในข้อเท็จจริงที่ว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของประเทศกำลังพัฒนาในหลาย ๆ ประเทศ ถือเป็นแกนหลักของภาคอุตสาหกรรมที่มีการดำเนินการกับสารเคมีอันตราย (เช่น ผลิต ขนส่ง บรรจุ และใช้) ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องคิดหาแนวทางที่เรียบง่ายแต่มีการบูรณาการของการผลิตที่ปลอดภัยและการจัดการสารเคมีที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ระบุไว้ใช้กับ SMEs และหุ้นส่วนทางธุรกิจของตนเองตามห่วงโซ่คุณค่า รวมไปจนถึงลูกค้าและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
  • อธิบาย 5 ขั้นตอนของการผลิตด้วยความรับผิดชอบและแนวทางในการจัดการความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับอันตรายของสารเคมี โดยต้องทำให้ผู้เข้าอบรมได้เข้าใจในประเด็นเหล่านี้ ได้แก่ วัตถุประสงค์ และการไหล กิจกรรม และเครื่องมือที่มีอยู่ในแต่ละขั้นตอนของการผลิตด้วยความรับผิดชอบ, การใช้แนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้เป็นระบบการจัดการเพียงลำพังอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะเป็นการบูรณาการแนวทางนี้ให้เข้ากับวิธีการจัดการและขั้นตอนของการดำเนินงานที่มีอยู่แล้วในองค์กรตนเอง, แนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้แทนที่วิธีปฏิบัติที่มีอยู่เดิม แต่จะเป็นการให้วิธีการเพิ่มเติมในการจัดการอันตรายและความเสี่ยง ที่อยู่ภายในแนวคิดที่กว้างขึ้นของคำว่า “วัตถุเสี่ยง (Risk Objects)” ซึ่งหมายรวมถึง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ นอกเหนือไปจากพนักงานขององค์กร เช่น หุ้นส่วนทางธุรกิจ ลูกค้า และผู้ใช้เป็นลำดับสุดท้าย, หน่วยงานและชุมชนที่อาจจะมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอันตรายที่มาจากการดำเนินงานขององค์กร
  • พยายามกระตุ้นผู้เข้าอบรมให้แสดงความคิดเห็น โดยอาจจะเป็นการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองในการดำเนินระบบการจัดการ (เช่น ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม คุณภาพ ฯลฯ) ที่ใช้ในองค์กรของตนเอง
  • ในแต่ละขั้นตอนของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ ก็จะมีชุดเครื่องมือ (Responsible Production Toolkit) ที่ถูกระบุไว้ แต่ในส่วนนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องลงลึกในรายละเอียด เพราะจะมีการขยายความอยู่แล้วในโมดูลอื่นที่เกี่ยวข้อง การนำเสนอในส่วนนี้ จึงเป็นการให้ภาพรวมพร้อมกับตั้งคำถามกับเครื่องมือเหล่านั้น ได้แก่ อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ ทำไมถึงต้องทำ เมื่อไหร่ที่ควรจะทำ และทำอย่างไร อย่างไรก็ดี ควรใช้แผนภาพแสดงลำดับขั้นตอนเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
  • ภายหลังจากแนะนำทั้ง 5 ขั้นตอนของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบเสร็จสิ้นแล้ว ก็ควรทบทวนความเข้าใจอีกครั้งอย่างเร็ว ๆ รวมทั้งสรุปขอบเขตและวัตถุประสงค์ในแต่ละขั้นตอน ดังนี้

 

          ขั้นตอนแรก ชี้บ่งประเด็นต่าง ๆ ของการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Identify Responsible Production Issues) โดยจะเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจในสิ่งที่องค์กรต้องจัดการ ซึ่งหมายความถึงว่าองค์กรจะต้องระบุประเด็น (ปัญหา) ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญมากที่สุด หรือเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานและความสำเร็จขององค์กร และสิ่งเหล่านี้นี่เองที่องค์กรต้องทำความเข้าใจอย่างเต็มที่หรือสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้

          ขั้นตอนที่สอง การได้มาซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างถูกคน (Get the Right People Involved) ซึ่งสาระสำคัญของเรื่องนี้ ก็คือ เน้นย้ำว่า องค์กรจะไม่สามารถเข้าใจถึงปัญหา (ที่ระบุไว้ในขั้นแรก) ที่มีอย่างถ่องแท้ได้เลย ถ้าปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริงขององค์กร ดังนั้นองค์กรจึงควรดำเนินการอย่างครอบคลุม โดยต้องเข้าใจถึงปัญหาและความกังวลของพวกเขาเหล่านั้น ที่มีต่อผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ การดำเนินการ และการตัดสินใจขององค์กร ในขณะเดียวกันการดำเนินการ และการตัดสินใจของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อองค์กรได้ด้วยเช่นกัน

          ขั้นตอนที่สาม พัฒนาแผนงานของตนเอง (Develop Your Plan) ซึ่งจะเกี่ยวกับการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ถูกระบุ

          ขั้นตอนที่สี่ นำแผนลงสู่การปฏิบัติ ฝึกอบรม และสื่อสาร (Put the Plan into Practice, Train and Communicate) ซึ่งจะเกี่ยวกับการนำไปปฏิบัติจริงตามแผนและตอบสนองต่ออันตรายและความเสี่ยงที่ได้ระบุไว้

          ขั้นตอนที่ห้า ประเมินในสิ่งที่ได้ดำเนินการว่าสัมฤทธ์ผลแค่ไหน (Evaluate How Well You Did) โดยจะเกี่ยวข้องกับการวัดผล การปรับปรุง และความโปร่งใส นอกจากนี้ก็ยังจะเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วม ระหว่างองค์กรกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีส่วนช่วยในการระบุปัญหา และวางแผนการตอบสนอง และตัวองค์กรเองก็ถูกคาดหวังว่าจะมีการแจ้งกลับไปยังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ถึงสิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการไปแล้วด้วยเช่นกัน

 

  • แจกเอกสารประกอบคำบรรยายแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษาให้กับผู้เข้าอบรม โดยใช้โปรแกรม Powerpoint นำเสนอและแนะแนวทางแก่ผู้เข้าอบรมผ่านกรณีศึกษานี้
  • การใช้แบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา (Mock Case-Study) มีข้อควรพิจารณาดังนี้ คือ

 

          1. วัตถุประสงค์ของกรณีศึกษาก็คือ ใช้เป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้กับแบบฝึกหัดเพียงบางส่วนที่ถูกนำเสนอไป เพราะไม่จำเป็นที่แบบฝึกหัดทั้งหมดจะต้องใช้หรืออ้างอิงถึงแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษาเสมอไป

          2. ส่วนแบบฝึกหัดอื่น ๆ สามารถเป็นได้ทั้งถูกนำไปประยุกต์ใช้กับแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา หรือไม่ก็ให้ผู้เข้าอบรมอ้างอิงจากสถานการณ์ในองค์กรของตนเอง วิทยากรควรตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการใช้กรณีศึกษา ที่จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการฝึกอบรม โดยคำนึงถึงศักยภาพและความรู้ของผู้เข้าร่วมประกอบกันด้วย

          3. กรณีศึกษา สามารถจะนำมาใช้เป็นสิ่งสนับสนุนการบรรยายให้ครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย และเพื่อเน้นในบางจุดเป็นการเฉพาะหรือในบางสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดแล้ว วิทยากรฝึกอบรมควรมีการปรับกรณีศึกษาและแบบฝึกหัด เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาแบบฝึกหัดเพิ่มเติมเพื่อที่จะเป็นการขยายประสบการณ์การเรียนรู้

 

การประเมินผู้เข้าอบรมฝึกอบรม (Assessment of Participants) สำหรับโมดูลที่ 2 สามารถดำเนินการได้ดังนี้ คือ

 

  • ในระหว่างฝึกอบรม วิทยากรสามารถให้ผู้เข้าอบรมได้อธิบาย 5 ขั้นตอนของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบตามความเข้าใจหรือในแบบคำพูดง่าย ๆ ของพวกเขา
  • ภายหลังจากที่ได้อธิบาย 5 ขั้นตอนของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบแล้ว สามารถขอให้ผู้เข้าอบรมได้ระบุขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือต่าง ๆ ที่อยู่ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Tookit) ดังต่อไปนี้ แผนภาพการไหลของกระบวนการผลิต (Process Flow Diagram)–[ขั้นตอนที่ 1], สารบบสารเคมี (Chemical Inventory) และแผนที่จุดเสี่ยงอันตราย (Hazard Hotspots Map)–[ขั้นตอนที่ 1], รายชื่อ/แผนที่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder List/Map)–[ขั้นตอนที่ 2], แผนปฏิบัติการควบคุมทางเคมี (Chemical Control Action Plan)–[ขั้นตอนที่ 3], ขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice Procedures)–[ขั้นตอนที่ 4], การสื่อสารความเสี่ยง (Risk Communication)–[ขั้นตอนที่ 4], การประเมินผลการดำเนินงาน (Performance Assessment)–[ขั้นตอนที่ 5]
  • ภายหลังเสร็จสิ้นการอบรมในโมดูลที่ 2 สามารถสอบถามผู้เข้าอบรมในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น ข้อเด่นและข้อด้อยของการดำเนินการในแต่ละส่วนของเครื่องมือ, อุปสรรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นในการใช้เครื่องมือเป็นการเฉพาะในองค์กรตนเอง, ความพร้อมสำหรับการใช้ชุดเครื่องมือในแต่ละขั้นตอน และการดำเนินการที่มีความเป็นระบบมากขึ้น, เครื่องมือ (หรือชุดเครื่องมือ) ใดที่คิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรที่จะใช้ในปัจจุบัน เป็นต้น

 

          ข้อเสนอแนะ โมดูลนี้จะช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้มีความเข้าใจที่ชัดเจน เกี่ยวกับแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบทั้ง 5 ขั้นตอน โดยผู้เข้าอบรมควรได้รับการส่งเสริมให้มีการพูดคุย หารือ และมีปฏิสัมพันธ์กับวิทยากรเพื่อให้รู้ซึ้งถึงเหตุผล และความจำเป็นที่แท้จริงของแนวทางนี้ รวมทั้งควรได้รับการสนับสนุนให้คิดไปตามลำดับขั้นตอน พร้อมกับสามารถตั้งคำถามในข้อสงสัยได้อย่างพอเหมาะพอควรแก่เวลา การหารือเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบจะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ถ้าสอบถามผู้เข้าอบรมในประเด็นเหล่านี้ เช่น กิจกรรมใดบ้างที่พึงดำเนินการก่อนที่จะถึงช่วงของการวางแผน (Planning Phase), ความสำคัญของการได้รู้ว่าใครคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการวางแผน, ลำดับขั้นตอนได้รองรับการพิจารณาและการดำเนินการของมาตรการเร่งด่วนสำหรับการลดความเสี่ยงก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการวางแผน อย่างไรบ้าง เป็นต้น

 

          โมดูลที่ 3 อันตรายของสารเคมีในการทำงาน (Chemical Hazards at Work)-วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความเข้าใจพื้นฐานในแนวคิดของ “อันตราย (Hazard)” และ “ความเสี่ยง (Risk)” ได้มีความรู้ในสมบัติ (Properties) ของสารอันตราย และวิธีที่สารเหล่านี้สามารถเข้ามาสัมผัสกับร่างกาย และก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นโรคขึ้นมาได้ หรืออาจทำให้เกิดเพลิงไหม้หรือการระเบิดในสถานที่ปฏิบัติงาน และการหกหรือรั่วไหลที่อาจก่อให้เกิดการคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อมูลพื้นฐานบางส่วนเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีอันตรายอย่างปลอดภัย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุสารเคมีอันตรายภายนอกพื้นที่สถานประกอบการ ทั้งนี้ การทำความเข้าใจถึงอันตรายจากสารเคมีในการทำงานถือเป็นขั้นตอนแรกที่นำไปสู่การจัดการความปลอดภัยสารเคมีที่มีความรับผิดชอบ

          วิทยากรสามารถใช้โปรแกรม Powerpoint ในการนำเสนอในเรื่องเหล่านี้ ได้แก่ คำจำกัดความของอันตราย ความเสี่ยง และแนวคิดที่เกี่ยวข้อง, อันตรายของสารเคมี, ความเสี่ยงด้านสุขภาพ อันเนื่องมาจากการสัมผัสที่ไม่ปลอดภัยและไม่ได้ตั้งใจกับสารเคมีอันตรายในการทำงาน, สารเคมีอันตรายที่เกี่ยวข้องและสมบัติทางเคมีของสารเหล่านี้, สารเคมีที่เข้ากันไม่ได้ การควบคุมอันตรายที่เป็นความปลอดภัยในตัวเอง (Inherent Safety) และมาตรการพื้นฐานสำหรับการจัดการสารเคมีที่ปลอดภัย, ผลกระทบต่อชุมชนเนื่องจากอุบัติเหตุสารเคมีอันตราย

         

          นอกจากนี้วิทยากรฝึกอบรมยังสามารถดำเนินการเพิ่มเติมในสิ่งเหล่านี้

 

  • การนำให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้หมวดหมู่/ประเภทของสารเคมีอันตราย และลักษณะทางกายภาพที่วัตถุอันตรายสามารถแสดงให้เห็นในที่ทำงาน
  • แนะนำผู้เข้าอบรมได้ทราบถึงแนวคิดของ “อันตราย (Hazard)” และ “ความเสี่ยง (Risk)” จากนั้นก็ขอให้พวกเขาได้อธิบายถึงความแตกต่างของแนวคิดทั้งสองนี้ในรูปแบบคำพูดของตัวเอง
  • เพิ่มเติมรายละเอียดของความเสี่ยงด้านสุขภาพ อันเนื่องมาจากการสัมผัสที่ไม่ปลอดภัยและไม่ได้ตั้งใจกับสารเคมีอันตรายในการทำงาน อาทิ ช่องทางการสัมผัส (สูดดม กิน ดูดซึม การฉีด) และอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสในปริมาณที่มากเกิน (ระคายเคืองดวงตา หรือผิวหนังบริเวณสัมผัส หายใจลำบาก วิงเวียน ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน)
  • แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายบางอย่างที่เกี่ยวข้องและสมบัติทางเคมี เช่น LPG, Ammonia, Chlorine, Acrylonitrile, Dimethyl Sulphate (DMS), Toluene Diisocyanate (TDI) และตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvents) ทั่วไปที่ใช้ใน SME รวมทั้งหารือเกี่ยวกับสมบัติ (Properties) และวิธีปฏิบัติที่ดีทั่วไปในการจัดการสารเหล่านี้ ส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองในการจัดการสารเหล่านี้ในองค์กรของตน
  • แนะนำแนวคิดของสารเคมีที่เข้ากันไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่าง เช่น สารไวไฟกับสารออกซิไดส์ สารไวไฟกับแหล่งจุดติดไฟ กรดกับสารไซยาไนด์ กรดแก่และด่างแก่ กรดเข้มข้นกับน้ำ ตัวทำละลายอินทรีย์กับสารกัดกร่อน สารกัดกร่อนกับสารที่ไวต่อปฏิกิริยา เป็นต้น ทั้งนี้ ควรเน้นไปที่ชนิดของกระบวนการและสารเคมีที่ใช้ในองค์กรของผู้เข้าอบรมเป็นหลัก
  • เพิ่มความใส่ใจไปยังปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจที่อาจผลิตก๊าซพิษขึ้นมาได้ เช่น ไซยาไนด์กับกรดผลิตไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN), ไฮโปคลอไรท์กับกรดผลิตคลอรีน, ไบฟลูออไรด์กับกรดผลิตไฮโดรเจนฟลูออไรด์ (HF) เป็นต้น
  • กระตุ้นการมีส่วนร่วมในมาตรการที่จะถูกนำไปใช้ดำเนินการที่บริษัทของผู้เข้าอบรม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและมั่นใจในการจัดการสารเคมีขององค์กรได้อย่างปลอดภัย และนำเสนอโดยตรงไปยังสองหัวข้อถัดไป นั่นคือ การควบคุมอันตรายที่เป็นความปลอดภัยในตัวเอง (Inherent Safety) และมาตรการพื้นฐานสำหรับการจัดการสารเคมีอันตรายได้อย่างปลอดภัย
  • สำหรับการแนะนำแนวทางความปลอดภัยในตัวเอง (Inherent Safety Approach) ที่เป็นรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมอันตรายนั้น วิทยากรสามารถให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้การใช้แบบรายการตรวจสอบการผลิตที่เป็นความปลอดภัยในตัวเอง (Inherent Safety Production: ISP) ที่จะช่วยองค์กรให้สามารถระบุถึงโอกาสในการลดอันตรายจากสารเคมี หรืออันตรายในระหว่างการผลิต รวมถึงการขนส่ง และยังอาจจะช่วยลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการเกิดเพลิงไหม้ การระเบิด และการรั่วไหลของสารเคมี (เป็นพิษ) ทั้งแบบฉับพลัน และโดยอุบัติเหตุ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุสารเคมี ได้ด้วยเช่นกัน โดยมีแนวทางดำเนินการตรวจสอบ ดังนี้

 

          การลด (Minimise) มีปริมาณที่เฉพาะเจาะจงของเคมีภัณฑ์อันตราย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับที่เป็นพิษ ระเบิด ไวไฟ ทำปฏิกิริยา) ในสถานที่จัดเก็บหรือในกระบวนการที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงระดับอุบัติภัย บ้างหรือไม่, มีทางเลือกในการลดปริมาณที่ว่านี้หรือไม่ เช่น โดยการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดซื้อ จัดเก็บในหน่วยที่เล็กลง โดยการรวมปริมาณที่ใช้ในการผลิตและใช้ในพื้นที่งาน หรือโดยการรวมกระบวนการผลิต (Process Intensification)

          การทดแทน (Substitute) มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะแทนที่เคมีภัณฑ์ที่มีอันตรายมากที่สุดด้วยวัสดุที่มีอันตรายน้อยลง, ซัพพลายเออร์สามารถให้ทางเลือกที่มีอันตรายน้อยลง ได้หรือไม่, ยังมีทางเลือกอื่นสำหรับกระบวนการผลิตที่มีอันตรายมากที่สุด หรือไม่

          ทำให้ง่ายขึ้น (Simplify) มีความเป็นไปได้หรือไม่ ในการออกแบบใหม่สำหรับกระบวนการ การจัดการ หรือการขนส่งวัสดุสารเคมี เพื่อลดความซับซ้อนและสร้างความเรียบง่าย

          ทำให้บรรเทาลง (Moderate) มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเปลี่ยนกระบวนการหรือรูปแบบของเคมีภัณฑ์เพื่อให้มีอันตรายน้อยลง (เช่น ความเข้มข้นลดลง หรือใช้เป็นแบบเม็ดแทนผง), ตัวเร่งปฏิกิริยา (ทางชีวภาพ) สามารถช่วยให้กระบวนการทางเคมีดำเนินการได้ที่อุณหภูมิและความดันที่ต่ำกว่า หรือเข้าใกล้สภาวะแวดล้อม (Ambient Conditionds) ได้หรือไม่, ยังมีกิจกรรมที่สามารถใช้เคมีภัณฑ์ในที่เปิดโล่ง บ้างหรือไม่, สามารถเปลี่ยนแปลงกิจกรรมเหล่านี้เพื่อให้สารเคมีได้รับการควบคุม

          ปรับปรุงโลจิสติกส์และการวางผังโรงงาน (Improve Logistics & Layout) สามารถเปลี่ยนแปลงการวางผังโรงงานเพื่อที่จะทำให้การขนส่งเคมีภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นและมีความเสี่ยงน้อยลง หรือไม่ (เช่น ในช่วงระหว่างการเคลื่อนย้าย ขนส่งเคมีภัณฑ์ หรือการกำจัดของเสีย), จุดเสี่ยงอันตราย (Hot Spots) ของสารเคมีสามารถถูกแยกออกมาให้มีระยะห่างเพียงพอจากตัวอาคารหรือสถานที่อื่น ๆ ที่มีหลาย ๆ คนเดินไปมา

 

  • นำเสนอมาตรการขั้นพื้นฐานสำหรับการจัดการสารเคมีที่ปลอดภัย และส่งเสริมผู้เข้าอบรมให้พูดคุยเกี่ยวกับข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยสารเคมีในองค์กรตนเอง เช่น ห้ามกิน ดื่ม หรือสูบบุหรี่ ในขณะที่ใช้สารเคมีอันตราย, ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสมเสมอ, การติดฉลากและชี้บ่งสารเคมีอันตราย, หลีกเลี่ยงการระบุชนิดสารเคมีด้วยการสูดดม หรือชิมสารเคมี, รูปแบบการจัดเก็บสารเคมีอันตราย, ความพร้อมใช้งานของเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) และข้อมูลความเสี่ยงของสารเคมีในการทำงาน, ปิดภาชนะบรรจุสารเคมีเมื่อไม่ได้ใช้งาน, เก็บสารเคมีไวไฟให้อยู่ห่างจากแหล่งจุดติดไฟ, หลีกเลี่ยงการสัมผัสกันระหว่างวัสดุที่เข้ากันไม่ได้, ไม่ใช้ภาชนะชั่วคราวที่ไม่ถูกต้องในการถ่ายโอนสารเคมีอันตราย, ชำระล้างสารเคมีที่หกรั่วไหลให้สะอาดและกำจัดของเสียอย่างถูกต้อง
  • ควรจดบันทึกประเด็น (ปัญหา) ที่หยิบยกขึ้นมาในระหว่างการสนทนาและอาจจะเชื่อมโยงได้กับขั้นตอน กิจกรรม และเครื่องมืออื่นๆ ในแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ เมื่อวิทยากรคิดว่าอาจจะต้องการย้อนกลับมาพูดคุยในประเด็น (ปัญหา) ที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้อีกครั้งในหัวข้ออื่น ๆ เช่น ในช่วงของการฝึกอบรมในหัวข้อที่ 2.5 การชี้บ่งและการจำแนกอันตราย (Hazard Identification and Classification), 8 การวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis), 2.9 การจัดทำแผนที่อันตราย (Hazard Mapping), 2.12 การฝึกอบรม (Training), 2.15 ขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices Procedures) เป็นต้น
  • สรุปการนำเสนอโดยใช้แผ่นสไลด์ ที่อธิบายถึงผลกระทบต่อชุมชนอันเนื่องมาจากอุบัติภัยสารเคมีภายนอกสถานประกอบการอันเป็นที่รู้จักกันดี สนทนากับผู้เข้าอบรมถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายอย่างไม่ตั้งใจ เช่น เพลิงไหม้ การระเบิด กลุ่มหมอกสารพิษ การปนเปื้อนในดินหรือแหล่งน้ำดื่ม เป็นต้น

 

การประเมินผู้เข้าอบรมฝึกอบรม (Assessment of Participants) สำหรับโมดูลที่ 3 สามารถดำเนินการได้ดังนี้ คือ

 

  • ในระหว่างช่วงของการฝึกอบรม ควรสอบถามผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับความรู้ของพวกเขาในเรื่องของสมบัติ (Properties) ของสารเคมีที่มีการจัดการในองค์กรตนเอง วิทยากรสามารถกระตุ้นการสนทนาโดยอาศัยการตั้งคำถามกับผู้เข้าอบรม เช่น สารเคมีขององค์กรเป็นชนิดใดบ้าง เช่น วัตถุระเบิด (Explosives) ก๊าซอัด (Compressed Gas) ก๊าซเหลว (Liquefied Gas) สารไวไฟ (Flammable) สารออกซิไดส์ (Oxidizing Substances) สารที่ทำปฏิกิริยาได้เอง (Self–reactive Substances) สารไพโรโฟริค (Pyrophoric Substances – ลุกติดไฟได้เอง) สารที่เกิดความร้อนได้เอง (Self–heating Substances) ฯลฯ แล้วมีวิธีการจัดการอย่างไรกับสารเหล่านี้ เช่น ในช่วงของการจัดเก็บหรือใช้งาน เป็นต้น
  • สอบถามผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับความรู้ในเรื่องของอันตรายต่อสุขภาพ ที่เกิดจากสารเคมีที่ได้รับการจัดการในองค์กรตนเอง, ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องสารเคมีอันตรายในชุมชน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับการดำเนินงานขององค์กร, การรับรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับความรู้ของพนักงานคนอื่น ๆ ในองค์กรเกี่ยวกับสมบัติ (Properties) ของสารเคมีที่พวกเขาได้จัดการ      
  • ภายหลังจากได้เรียนรู้ถึงสมบัติ (Properties) ของสารเคมีและความเสี่ยงเสร็จสิ้นแล้ว วิทยากรควรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้แสดงความคิดเห็นของตนเอง เกี่ยวกับสิ่งแรกที่พวกเขาควรดำเนินการเพื่อที่จะนำไปสู่การลดความเสี่ยงในการดำเนินงานขององค์กร
  • ในโมดูลนี้ อาจจะไม่มีแบบฝึกหัด แต่สามารถใช้แบบทดสอบโดยการตั้งคำถามสั้น ๆ เพื่อเน้นจุดที่เฉพาะเจาะจง เช่น ช่องทางการสัมผัสกับสารเคมีอันตรายมีกี่ช่องทาง, ตัวอย่างอาการของผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีอันตรายที่มากเกินขนาด, ช่องทางการสัมผัสที่มีแนวโน้มมากที่สุดเมื่อเกิดการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย, สถานะของวัตถุอันตรายมีกี่สถานะ, สารไวไฟควรเก็บรวมไว้กับสารออกซิไดส์หรือไม่, ยกตัวอย่างสารหรือวัสดุที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatible) เป็นต้น โดยควรตั้งคำถามที่เน้นไปที่ชนิดของกระบวนการและวัสดุที่มีการดำเนินการในองค์กรของผู้เข้าอบรมเป็นสำคัญ

 

ข้อเสนอแนะ

 

  • โมดูลนี้ ควรจะเป็นการเพิ่มการสนทนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้เข้าอบรม ในเรื่องของการจัดการสารเคมีในการทำงาน และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย ทั้งที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกสถานประกอบการขององค์กร ตลอดจนควรเพิ่มการสนทนาความสำคัญของการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมบัติ (Properties) ของสารเคมีอันตราย และการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ที่จำเป็น
  • ผู้เข้าอบรมควรได้รับการสนับสนุนให้มีการสำรวจ และหารือเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น จากการสัมผัสกับสารเคมีอันตรายในองค์กรของพวกเขา รวมทั้งประเด็นต่าง ๆ ดังเช่น การป้องกันอัคคีภัย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากอุบัติเหตุของสารเคมีอันตราย
  • วิธีหนึ่งในการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ในการแบ่งปันและความโปร่งใสของข้อมูลประเภทนี้ ก็คือ การขอให้ผู้เข้าอบรมได้หารือประเด็นข้างต้นด้วยมุมมองด้านบวก เน้นไปที่เหตุการณ์เกือบจะเกิดอุบัติเหตุ (Near Miss) หรือกึ่งจะเป็นอุบัติเหตุ (Quasi–Accidents) และเรื่องราวของการตอบสนองต่ออุบัติเหตุที่ประสบผลสำเร็จ มากกว่าจะเป็นการขอให้ผู้เข้าอบรมแบ่งปันประสบการณ์ด้านลบขององค์กรที่พวกเขาส่วนใหญ่อาจจะไม่สะดวกใจที่จะพูดถึงเท่าใดนัก
  • วิทยากรอาจจะรู้สึกได้ว่า ผู้เข้าอบรมยังคงที่จะสะดวกใจมากกว่า ที่จะพูดถึงสถานการณ์อุบัติเหตุสารเคมีอันเป็นที่รู้จักกันอย่างดีที่เกิดขึ้นกับบริษัทอื่น มากกว่าจะเป็นขององค์กรตนเอง และนี่ยังเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นการสนทนากันเกี่ยวกับอันตรายและความเสี่ยงของสารเคมีในการทำงาน และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในชุมชนใกล้เคียง
  • ท้ายสุดแล้ว วิทยากรควรส่งเสริมการสนทนา หารือ และร่วมแบ่งปันเรื่องราวของอุบัติเหตุที่รู้จักกันเป็นอย่างดีที่ได้เกิดขึ้นภายนอกสถานประกอบการ และ/หรือ ในช่วงระหว่างการขนส่งสารเคมี และถ้ามีโอกาสในการแนะนำมุมมองของ “ห่วงโซ่คุณค่า (Value–chain) หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจ (Business Partner)” ก็ควรคว้าโอกาสนี้ไว้ และเชื่อมโยงสิ่งนี้เข้ากับเหตุผลสำหรับขั้นที่สองของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ “การได้มาซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างถูกคน (Get the Right People Involved)” และ/หรือ เข้ากับประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ การเพิ่มความตระหนักและการฝึกอบรมที่จำเป็นของซัพพลายเออร์ ผู้ขนส่ง ลูกค้า ผู้ใช้ ฯลฯ ในเรื่องที่เกี่ยวกับอันตรายและความเสี่ยงของสารเคมี, การสื่อสารความเสี่ยงและข้อมูลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ วิทยากรอาจจะไม่ต้องลงรายละเอียด ในเมื่อประเด็นเหล่านี้จะมีการพูดถึงอยู่แล้วในโมดูลถัดไปของชุดฝึกอบรมนี้ แต่วิทยากรควรจะเพิ่มความใส่ใจไปที่การเชื่อมโยงอย่างมีเหตุผลของการบรรจุผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกเข้าไว้ในแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ

 

 ***** ติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า *****

 

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • Responsible Production for Chemical Hazard Management, Lessons Learned from Implementation, UNEP 2013.
  • Responsible Production Handbook, Introduction to the Responsible Production Guidance and Toolkit, UNEP 2010.
  • Responsible Production Framework, UNEP 2009.  
  • UNEPs Handbook for Responsible Production (UNEP &AccountAbility 2009).
  • Corporate Social Responsibility and Safety and Health at Work: Global Perpectives, Local Practices, Working on Safety Conference, Roros, Norway, 7–10 September,  2010.

 

  

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด