ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
TPP เป็นความตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบพหุภาคีที่มีมาตรฐานสูง มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การบูรณาการทางเศรษฐกิจในด้านเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน การปฏิรูป รวมทั้งสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ ทรัพย์สินแห่งปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม
ภาพการประชุมผู้นำในการเจรจา TPP เมื่อปี ค.ศ.2010
หัวเรี่ยวหัวแรงของการเจรจา TPP คือ สหรัฐอเมริกาที่ต้องการใช้ข้อตกลงนี้ถ่วงดุลอำนาจการขยายอิทธิพลของจีน
ภาพจาก วีกิพีเดีย
จริง ๆ แล้ว แนวคิดการลงนามข้อตกลง TPP นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 แล้วนะครับ ช่วงเริ่มต้นเจรจา TPP มีประเทศเข้าร่วมเจรจา 4 ประเทศ ได้แก่ ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และบรูไน โดยทั้ง 4 เรียกตัวเองว่า The Pacific-4 (P4)
ล่าสุด TPP มีสมาชิกขอเข้ามาเจรจาเพิ่มอีก 5 ประทศ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เวียดนาม มาเลเซีย และเปรู ทำให้จำนวนสมาชิกกลุ่มประเทศ TPP มีทั้งหมด 9 ประเทศ
สำหรับประเทศไทยนั้น ดูเหมือนเราเองยังสงวนท่าทีการเข้าร่วมทำความตกลงดังกล่าว
นักเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศวิเคราะห์ว่า TPP เป็นเครื่องมือและกลไกของสหรัฐอเมริกาด้านกำหนดยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเน้นไปที่การถ่วงดุลอำนาจของจีนที่นับวันจะเติบโตและแผ่อิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในศตวรรษที่ 21 โลกตะวันออกเติบโตก้าวขึ้นมาแข่งกับโลกตะวันตก ชนิด “หายใจรดต้นคอ” แล้วนะครับ การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มกังวลแล้วว่าอิทธิพลของตนเองในภูมิภาคนี้จะลดน้อยถอยลงไป
การรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกในภูมิภาค ASEAN และก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัวนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ASEAN เป็นภูมิภาคที่มีเนื้อหอม มีเสน่ห์ดึงดูดเหล่าประเทศมหาอำนาจเข้ามาเจรจาการค้า การลงทุน ขยายตลาด รวมถึงดึงทรัพยากรไปใช้
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่า TPP อาจลดทอนบทบาทของ AEC ลงบ้าง เพราะประเทศใน ASEAN ถึง 4 ประเทศ รวมกลุ่มอยู่ใน TPP คือ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ส่วนประเทศใหญ่ ๆ ในภูมิภาค เช่น ไทยและอินโดนีเซียยังสงวนท่าทีเรื่องนี้อยู่
ย้อนกลับมาที่สิงคโปร์กันต่อครับ ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สิงคโปร์มีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 12 ผลการเลือกตั้งไม่มีอะไรที่พลิกความคาดหมาย โดย พรรคกิจประชาชน (People Action Party) หรือ PAP ยังคงผูกขาด ครองที่นั่งข้างมากในสภาได้เช่นเดิม
PAP ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาถึง 83 ที่นั่ง จากทั้งหมด 89 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 70 ซึ่งชัยชนะท่วมท้นครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นว่าคนสิงคโปร์ยังนิยมและไว้วางใจพรรคการเมืองที่ นายลี กวน ยิว ได้สร้างขึ้นมากับมือ
นายลี เซียน ลุง บุตรชาย ทายาทหัวแก้วหัวแหวนของนายลี กวน ยิว ยังครองอำนาจต่อไปได้อีก 5 ปี นับเป็นการสานต่อการบริหารประเทศสิงคโปร์ให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปอีก
สำหรับฉบับนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึง สิงคโปร์ในยุคของนายลี กวน ยิว ยุคที่เริ่มต้นสร้างชาติด้วยเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะหลังจากที่พวกเขาถูกขับออกจากประเทศมาเลเซียแล้ว นายลี กวน ยิว ต้องนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตและข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งวันนี้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่พัฒนาและเจริญที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
พลันที่ นายลี กวน ยิว นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ “แยกตัว” ออกจากมาเลเซีย สิ่งแรกที่เขามองเห็น คือ ข้อจำกัดสำคัญของสิงคโปร์ คือ มีจำนวนประชากรน้อยมากทำให้ประเทศมีขนาดตลาดภายในเล็ก กำลังซื้อมีจำกัด ประกอบกับพื้นที่เกาะมีขนาดเล็ก ทรัพยากรธรรมชาติมีน้อย แม้กระทั่งน้ำดื่มยังต้องนำเข้าจากมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของสิงคโปร์ คือ พวกเขาเชื่อในศักยภาพของประชากรว่ามีคุณภาพ อดทน มีวินัย ประหยัด อดออม ที่สำคัญพวกเขามีระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง เพราะได้อังกฤษมาวางรากฐานด้านการศึกษา การเมืองและการปกครองไว้ให้
ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงเป็นประเทศเกิดใหม่ ที่รัฐบาลต้องทุ่มเททรัพยากรที่มีจำกัด โดยใช้ประโยชน์ทุกอย่างด้วยความคุ้มค่า เพื่อให้ประเทศอยู่รอดและทำทุกทางเพื่อหารายได้มาจุนเจือพัฒนาประเทศ
นายลี กวน ยิว ผู้นำหนุ่มในวันนั้น พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการก้าวเดิน โดยวางยุทธศาสตร์ภายใต้จุดแข็งและความได้เปรียบของสิงคโปร์ 2 ประการ คือ
1. สิงคโปร์มีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบ เพราะอยู่ใต้สุดของแหลมมลายู ทำให้เหมาะต่อการเป็นเมืองท่าทำการขนส่งคมนาคมทางทะเลเชื่อมโยงระหว่างประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา
2. สิงคโปร์สามารถใช้ทักษะทางการค้าเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจการค้าเสรี โดยพวกเขาสร้างกลไกและโครงสร้างรัฐเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนของภูมิภาค
นายลี กวน ยิว
ผู้นำหนุ่มผู้มีความฝันและความทะเยอทะยานในการนำพาเกาะสิงคโปร์ให้ก้าวสู่การเป็นเมืองที่พัฒนาแล้ว
ภาพจาก http://www.straitstimes.com/
การดำเนินนโยบายศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 การค่อย ๆ เติบโตเช่นนี้ส่งผลดีในระยะยาว ซึ่งในทศวรรษที่ 80 สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนที่สำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ปัจจุบันสถาบันการเงินชั้นนำจากทั่วโลกต่างเปิดที่ทำการในสิงคโปร์ นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ดี กว่าที่สิงคโปร์จะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ รัฐบาลภายใต้การนำของพรรค PAP และ นายลี กวน ยิว ได้วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และที่สำคัญพวกเขาลงมือปฏิบัติจริง
แฟลตสำหรับที่พักอาศัยของชาวสิงคโปร์ในทศวรรษที่ 60
ที่พักเหล่านี้เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานลำดับต้น ๆ ที่รัฐบาล PAP ได้สร้างให้กับชาวสิงคโปร์
นโยบายสำคัญลำดับต้น ๆ ที่พรรค PAP ได้ลงมือปฏิบัติจริง คือ การจัดหาที่พักอาศัยในราคาไม่แพงให้กับชาวสิงคโปร์ ซึ่งชาวสิงคโปร์เรียกว่า Storey ซึ่งการก่อสร้างแฟลตที่พักอาศัยในราคาไม่แพงทำให้ชาวสิงคโปร์สามารถมีที่อยู่เป็นของตนเองซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่สำคัญและเป็นกำลังใจให้กับประชาชนในการทำงาน
ลี กวน ยิว ได้วางนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ในทุก ๆ 10 ปี โดยในช่วง 10 ปีแรก คือ หลังจากแยกตัวออกจากมาเลเซีย เมื่อปี ค.ศ. 1965 นั้น นโยบายเศรษฐกิจหลักของสิงคโปร์ คือ การวางสถานะของเมืองให้เป็น เมืองท่าและศูนย์กลางการค้า การเดินเรือ
นายลี กวน ยิว และสมาชิกพรรค PAP ผู้มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานพัฒนาประเทศให้ยิ่งใหญ่จนถึงทุกวันนี้
ภาพจาก http://www.straitstimes.com/
ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลของนายลีพัฒนาประเทศโดยเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก รัฐบาลประกาศนโยบายเปิดประตูประเทศ (Open Door Policy) และเสนอแรงจูงใจต่าง ๆ อย่างมากเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาก่อตั้งโรงงานเพื่อสร้างงาน
การดำเนินนโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เกิดการจ้างงานเต็มที่ จนกระทั่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 เกิดการขาดแคลนแรงงาน ทำให้สิงคโปร์ต้องว่าจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา
นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 70 นั้น ลี กวน ยิว เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีระดับสูงขึ้น พัฒนาธุรกิจภาคบริการที่ก่อให้เกิดมูลค่าระดับสูงเพื่อส่งออกไปทั่วโลก
สภาพบ้านเมืองสิงคโปร์ช่วงทศวรรษที่ 70
ความเจริญเริ่มเข้ามามากขึ้นพร้อม ๆ กับการเปิดประตูประเทศ
ในช่วงทศวรรษที่ 70 เศรษฐกิจโลกชะงักงันเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ Oil Shock แต่ ลี กวน ยิว และพรรค PAP ของเขาสามารถนำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤตดังกล่าวมาได้ นับได้ว่านายลี แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่พร้อมจะประคับประคองประเทศผ่านเรื่องร้ายแรงต่าง ๆ มาได้
วิสัยทัศน์ของ ลี กวน ยิว เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมในทศวรรษที่ 80 เมื่อสิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน และการลงทุน อย่างเต็มรูปแบบ นโยบายเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 80 นั้น รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนให้มีดำเนินกิจกรรมด้านบริการมากขึ้น เช่น การออกแบบ การปรับปรุงผลผลิต การให้บริการด้านเทคนิค การดำเนินการทางการตลาด เน้นธุรกิจภาคบริการ การจัดการด้านเงินทุนให้แก่ธุรกิจของตนเองที่ขยายไปสู่ระดับภูมิภาค
ในช่วงทศวรรษที่ 80 นี้ อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8.5 ต่อปีเลยทีเดียว
นายลี กวน ยิว และนางอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย
ภาพจาก http://www.thehindu.com/
ลี กวน ยิว มุ่งหน้าพาสิงคโปร์สู่เวทีโลก ด้วยการปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งไปการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านสารสนเทศ (Information Technology) โดยรัฐบาลส่งเสริมแนวคิดเรื่อง Technology Corridor Concept ที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย บริษัทอุตสาหกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีการศึกษา มีการสร้าง Science and Technology Parks หรือ สวนวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนตื่นตัวที่จะเรียนรู้วิทยาการ ความก้าวหน้าใหม่ ๆ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลนายลี มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมของประเทศให้ดีเลิศ โดยหวังว่าเกาะแห่งนี้จะกลายเป็น Intelligent Island หรือ เกาะแห่งข่าวสารข้อมูล ภายในปี ค.ศ.2000
ภาพการปราศรัยในเวทีหาเสียงของนาย ลี กวน ยิว ช่วงทศวรรษที่ 80
อาจกล่าวได้ว่า การเจริญเติบโตในช่วงทศวรรษที่ 80 คือ รากฐานสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นมายืนในแถวหน้าของเอเชียได้ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งสูงเป็นร้อยละ 9.2
ในช่วงทศวรรษที่ 90 รัฐบาล PAP ยังบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง โดย นายลี กวน ยิว ประกาศลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1990 และส่งไม้ต่อให้ นายโก จ๊ก ตง (Goh Chok Tong) ดาวรุ่งพุ่งแรงที่เข้ามาสานต่องานของลี
นายโก จ๊ก ตง ขณะนั้นมีอายุเพียง 49 ปี เขานับเป็นคนหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์ เก่งกาจเรื่องการบริหาร และมองภาพรวมเศรษฐกิจเก่งเช่นเดียวกับนายลี
โก จ๊ก ตง ผู้นำที่เป็นทายาทในการสานต่องานของลี กวน ยิว
ภาพจาก http://i.insing.com.sg/
โก จ๊ก ตง เป็นผู้นำสิงคโปร์ที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ เขาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990-2004 ตลอดระยะเวลา 14 ปี รัฐบาลภายใต้การนำของโกเน้นการพัฒนาการผลิตในภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งให้ความสำคัญควบคู่ไปกับภาคบริการ รัฐบาลส่งเสริมธุรกิจต่าง ๆ ในการผลิตที่หลากหลาย เน้นการส่งออก ยกระดับความเชี่ยวชาญของแรงงานให้เป็นแรงงานมีฝีมือ (Skilled Labor) พร้อมกันนั้น นักลงทุนสิงคโปร์มีความพร้อมเข้าไปแข่งขันในตลาดโลก
ในยุคของ นายโก จ๊ก ตง นับเป็นยุคที่เศรษฐกิจสิงคโปร์มีความรุ่งเรืองมาก รัฐบาลยังมุ่งเน้นให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าและการเงินเช่นนโยบายเดิมและเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แม้ว่าสิงคโปร์จะเผชิญผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียอยู่บ้างแต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้ เนื่องจากมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน
สิงคโปร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกาะแห่งนี้มีระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เช่นเดียวกัน สิงคโปร์ยังคงยึดจุดแข็งของตนเองในการเป็นประเทศที่มีการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก และครองความเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านการต่อเรือซ่อมแซมเรือ นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์กลางทางการบินที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะสนามบินชางงี (Singapore Changi Airport) เป็น Hub ที่ทุกสายการบินจากทั่วโลกต้องบินมาแวะ แต่ละปีสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 35 ล้านคน
ทั้งหมดล้วนเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของพรรค PAP และ ลี กวน ยิว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวสิงคโปร์ยังคงนิยมพรรค PAP เลือกตั้งกี่ครั้งก็ชนะทุกครั้ง
ในตอนหน้า จะเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์ชุดนี้แล้วนะครับ เราจะตามดูกันต่อว่ามรดกการบริหารประเทศที่ลี กวน ยิว ทิ้งไว้ให้กับลูกชายคนโต คือ นายลี เซียน ลุง นั้น นายลี ผู้ลูก จะสานต่องานของพ่อได้สำเร็จมากน้อยเพียงใด
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด