พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล
ในการทำงานที่น่าเบื่อ หรือบางคนมีความรู้สึกว่า ทำงานกันอย่างทุ่มเทและหนักหน่วงแล้ว ความก้าวหน้าในงานก็ยังไปไม่ถึงไหนสักที หลายคนยอมรับว่าท้อและอยากจะลาออก หรือทนทำไปแบบให้หมดไปวัน ๆ แต่ในชีวิตจริงหากลองมองให้รอบด้าน จะเห็นว่าการทำงานยังมีอะไรที่สนุกอีกมากมาย และมีความท้าทายรอเราอยู่
ในชีวิตการทำงานของคนเรา หลายคนประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างมาก มีชื่อเสียงมีความน่าเชื่อถือ และหลายคนเช่นกันที่ทำงานแบบขอให้หมดไปวัน ๆ เพราะรู้สึกท้อแท้เบื่อหน่ายไม่รู้จะทำงานไปทำไมหรือขยันไปก็เท่านั้น ในทางทฤษฎีเรามักจะบอกให้พนักงานทุกคนคิดในทางบวกเสมอ คิดให้กำลังใจตัวเอง และคิดทำในสิ่งที่ช่วยให้องค์กรเติบโตเข้มแข็ง แต่เมื่อไรที่พนักงานเกิดความท้อเกาะกินใจ จะทำอย่างไรให้พวกเขากลับมาเป็นคนที่เข้มแข็งและมีแรงใจที่เปี่ยมล้น
เมื่อไรก็ตามที่เรามองไม่เห็นปัญหา เราก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เพราะมีอุปสรรคที่มองไม่เห็น เกิดความล่าช้า งานผิดมาตรฐาน ทีมงานทะเลาะกัน ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอหากไม่มีการวางแผนงานและสร้างความสัมพันธ์ในทีมงาน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นไม่ว่าจะกับงานหรือกับทีมงาน อย่างแรกที่ควรทำคือนำปัญหามาวิเคราะห์หาต้นเหตุ ทุกคนต้องหันหน้าเข้าหากัน เปิดใจให้กว้างรับฟังความคิดเห็นของทีมงาน หากมีความรุนแรงเกินกว่าจะประชุมหารือกันได้ ก็ควรมีคนกลางเช่นประธานบริษัทหรือหัวหน้างานมาร่วมรับฟัง
ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ เพียงแต่ปัญหาที่เกิดมักจะถูกปล่อยปละละเลยหรือมองว่าเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข สิ่งสำคัญมาก ๆ ที่ทุกคนต้องยึดเป็นหลักไว้ก็คือให้มองประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก เพราะทุกคนคือส่วนหนึ่งขององค์กร การร่วมมือกันแก้ไขปัญหาก็เท่ากับว่าทุกคนกำลังช่วยกันลดข้อบกพร่องและเสริมความมั่นคงในการทำงานขององค์กร แต่หากทีมงานมีปัญหาในเรื่องความประพฤติ การขาดความรับผิดชอบของพนักงานบางคน นั่นก็เป็นปัญหาที่มองเห็นค่อนข้างชัดเจนส่งผลเสียอย่างไรก็สามารถชี้แจงคาดโทษและปรับปรุงแก้ไขกันได้
การมองให้เห็นปัญหามิได้หมายความว่าต้องหาคนผิดให้เจอ แต่เป็นการตรวจสอบกระบวนการทำงานว่าองค์กรมีจุดบกพร่องตรงไหน อะไรที่มันมาเป็นตัวฉุดไม่ให้กระบวนการทำงานเดินหน้าหรือทำให้ช้ากว่าองค์กรอื่น บางครั้งทีมงานบางแผนกหรือบางตำแหน่งอาจถูกจัดวางไว้ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพของเขา หรือมีการทำงานแบบก้าวก่ายงานกันเองโดยไม่รู้ตัว เช่น งานที่รับมาแล้วส่งต่อกระบวนการที่ไม่ชัดเจนไม่ระบุว่าใครทำอะไรแล้วส่งต่อไปไหน ใครช่วยตรวจสอบได้ก่อนส่งต่อ ลูกค้าสามารถตรวจสอบงานได้ที่จุดไหน ใครแก้ไขให้ คนที่ทำงานแบบเต็มที่แต่มาเจอปัญหางานที่ผิดพลาดแบบที่ตัวเองไม่ได้ทำหรือต้องมารับงานแก้ไขแทนตลอดก็เป็นอีกความน่าเบื่อและสร้างปัญหาท้อแท้หมดกำลังใจในการทำงานของพนักงานในองค์กร
เมื่อไรที่เรามองเห็นปัญหา เมื่อนั้นทางออกของการแก้ไขก็เริ่มชัดเจนขึ้น ทว่าหลายองค์กรมองเห็นปัญหาแต่แก้ไขไม่ตรงจุดก็มี เช่น บางองค์กรมีปัญหางานล่าช้าจึงแก้ไขด้วยการตรวจสอบเวลาการเข้างานของพนักงานพบว่ามีการมาสายมาก จึงมีคำสั่งปรับเวลาทำงานให้พนักงานมาเร็วขึ้น แต่ปัญหาจริง ๆ คือกระบวนการทำงานที่ยังขาดคุณภาพหรือเทคนิคในการทำงานให้เสร็จเร็วขึ้น นี่ก็เป็นอีกกรณีของการแก้ไขปัญหาแต่แก้ไม่ตรงจุด
การแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงแบบที่ช่วยให้กระบวนการทำงานสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างถาวรและส่งเสริมให้การเรียนรู้กระบวนการทำงานมีความก้าวหน้าชัดเจนมากขึ้นก็คือ มองให้เห็นปัญหาที่แท้จริง แก้ให้ตรงจุด เท่ากับว่าปัญหาในกระบวนการผลิตช่วงหนึ่งได้รับการแก้ไขแล้ว ส่วนรับช่วงต่อไปควรทำงานได้อย่างเต็มที่และต้องพัฒนาให้ปัญหาในการทำงานมีน้อยที่สุดหรือหมดไป พนักงานก็มีความสุขกับการทำงานไม่ต้องมาคอยแก้ไขปัญหาบ่อย ๆ ไม่เบื่อไม่ท้อ
ผลิตช่วงหนึ่งได้รับการแก้ไขแล้ว ส่วนรับช่วงต่อไปควรทำงานได้อย่างเต็มที่และต้องพัฒนาให้ปัญหาในการทำงานมีน้อยที่สุดหรือหมดไป พนักงานก็มีความสุขกับการทำงานไม่ต้องมาคอยแก้ไขปัญหาบ่อย ๆ ไม่เบื่อไม่ท้อ
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด