ศิริพร วันฟั่น
ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “CSR” กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งหากจะมองโดยเผิน ๆ ก็จะเป็นแค่เรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาและความจำเป็นของซีเอสอาร์แล้ว คงต้องกลับไปดูกันตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
สำหรับหัวข้อย่อย (3.3) ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) ที่ประกอบไปด้วย 18 โมดูลพร้อมกับเครื่องมือที่เกี่ยวข้องนั้น ในบทความที่ผ่านมาเราได้กล่าวจนจบเนื้อหาในโมดูลที่ 6 “การไหลของกระบวนการผลิตและการดำเนินการกับสารเคมี (Process and Chemicals Flow)” กันไปแล้ว ดังนั้นบทความนี้ ก็จะขอว่ากันต่อไปในโมดูลที่ 7 ดังนี้
วัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างเสริมศักยภาพของผู้เข้าอบรมในการพัฒนาสารบบสารเคมี (Chemical Inventory) สำหรับการบ่งชี้อย่างเป็นระบบของสารเคมีทั้งหมดที่ได้มีการจัดเก็บ จัดการ และใช้ในสถานประกอบกิจการของตนเอง รวมทั้งเป็นการบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ ประเภทของการจัดเก็บ และการจำแนกความเป็นอันตราย การจัดทำสารบบสารเคมีอันตรายจะช่วยทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ว่ามีสารเคมีอันตรายตั้งอยู่ที่ใดบ้าง และยังเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้กำหนดมาตรการลดความเสี่ยงด้วยการควบคุมสต็อกและกำหนดวิธีปฏิบัติในการจัดเก็บอย่างถูกต้องและปลอดภัยวิทยากรสามารถใช้โปรแกรม Powerpoint นำเสนอในเรื่องของการจัดทำสารบบสารเคมี (Chemical Inventory) ที่ประกอบไปด้วย ประโยชน์ของการจัดทำสารบบสารเคมี, การทบทวนแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ ลักษณะ ตำแหน่งที่ตั้งของสารเคมีที่จัดเก็บไว้ และการใช้สารเคมีในสถานประกอบกิจการ, ข้อมูลขั้นต่ำที่ควรถูกรวมไว้ในสารบบสารเคมี ตลอดจนรูปแบบและการออกแบบสารบบสารเคมีที่ใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้ วิทยากรก็ต้องมีการจัดเตรียมเอกสารประกอบการบรรยายไว้ด้วย เพื่อแจกจ่ายให้ผู้เข้าอบรมในระหว่างการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการจัดเตรียมสารบบสารเคมี
รายละเอียดของการฝึกอบรมโมดูลที่ 7 มีดังนี้
• นำเสนอผู้เข้าอบรมให้ทราบถึงประโยชน์ของการมีสารบบสารเคมีที่ปรับปรุงให้ทันสมัย และเน้นว่าการจัดทำสารบบสารเคมีที่เป็นระบบจะช่วยให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ที่ซ้ำซ้อน, บ่งชี้สารที่ไม่รู้จักหรืหลงลืม ซึ่งสามารถนำมาใช้ก่อนที่จะหมดอายุ หรือสามารถกำจัดได้อย่างเหมาะสม, ลดความสูญเสียเนื่องจากการหมดอายุของสารที่เก็บไว้, ตรวจสอบสถานะปัจจุบันของบรรจุภัณฑ์สารเคมี (อยู่ในสภาพดี เสื่อมสภาพ เปียก รั่วไหล ฯลฯ), เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยตระหนักถึงการห้ามหรือจำกัดการใช้สารเคมีที่ลูกค้าในตลาดต่างประเทศจะไม่ยอมรับ, หลีกเลี่ยงความล้มเหลวจากการถูกปฏิเสธผลิตภัณฑ์ เนื่องจากไม่ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ (ที่มักจะถูกระบุว่าเป็นสารเคมีที่ไม่สามารถใช้ได้), บ่งชี้ความเป็นไปได้อื่น ๆ ของการจัดหาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่มีอันตรายน้อยกว่า (เช่น รูปแบบเม็ดจะอันตรายน้อยกว่าอยู่ในรูปผงแป้ง), บ่งชี้ความเป็นไปได้อื่น ๆ ของการจัดหาสารเคมีหรือสูตรผสมที่มีจุดเดือดสูงกว่า (สารที่มีจุดเดือดสูงกว่าจะมีการระเหยที่น้อยกว่าสารที่มีจุดเดือดต่ำกว่า แต่หลีกเลี่ยงสารที่นำมาทดแทน ที่แม้จะมีการระเหยที่น้อยกว่าแต่กลับมีอัตราความเป็นอันตรายที่สูงกว่า), โอกาสที่จะได้ตรวจสอบชนิดของสารทดแทนที่ใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสารอันตราย, หลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เพลิงไหม้ การระเบิด ที่มีสาเหตุจากการจัดเก็บวัสดุที่เข้ากันไม่ได้ไว้ด้วยกัน หรือผสมอย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น
• ตามด้วยการให้ผู้เข้าอบรมมีส่วนร่วมในการระดมสมอง ในการระบุแหล่งข้อมูลที่มีศักยภาพเกี่ยวกับปริมาณ ลักษณะ และตำแหน่งของสารเคมีที่เก็บไว้และใช้ในพื้นที่งาน เพื่อนำไปใช้พัฒนาสารบบสารเคมีในสถานประกอบกิจการของตนเอง
อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ‘ฟลิปชาร์ต (Flip-chart)’ เพื่อเขียนบันทึกรายการแสดงข้อคิดเห็นของผู้เข้าอบรม รายการที่ว่านี้ ควรจะครอบคลุมให้ได้อย่างน้อย ๆ ถึงแหล่งข้อมูลที่จะนำไปจัดทำสารบบสารเคมี เช่น บันทึกข้อมูลการจัดซื้อ บันทึกข้อมูลการควบคุมสต็อก สินค้าคงคลัง ข้อมูลผลิตภัณฑ์ของซัพพลายเออร์ ประวัติการขาย เป็นต้น
โดยมากแล้ว การระดมความคิดเห็นในการทำแบบฝึกหัด มักจะนำไปสู่ข้อสรุปหนึ่งที่ว่า บันทึกรายการต่าง ๆ ข้างต้น อาจจะไม่ถูกต้องแม่นยำเพียงพอ หรืออาจไม่ครอบคลุมประเภทและปริมาณของสารเคมีที่จัดเก็บไว้ที่สถานประกอบกิจการ
• อธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบถึง คุณประโยชน์ของการเติมเต็มข้อมูลที่ได้จากบันทึกรายการต่าง ๆ ข้างต้น โดยการเดินตรวจทั่วพื้นที่สถานประกอบกิจการ เพื่อระบุพื้นที่ที่มีการใช้และจัดเก็บสารเคมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามแผนภาพการไหลของกระบวนการ (Process Flow Diagram) ที่ถูกจัดทำขึ้นมา โดยวิธีการตามที่ระบุไว้ในโมดูลที่ 6 “การไหลของกระบวนการผลิตและการดำเนินการกับสารเคมี (Process and Chemicals Flow)” และเป็นประโยชน์ต่อการทำเครื่องหมายลงบนผังที่ตั้งหรือผังสังเขป (Site plan) และจะส่งผ่านข้อมูลลงในแผนที่แสดงจุดอันตราย (Hazard Hotspots Map) ที่จะได้รับการพัฒนาโดยใช้เครื่องมือ (Tools) ที่อยู่ในหัวข้อการจัดทำแผนที่อันตราย (Hazard Mapping)
• อธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบว่า อย่างน้อย ๆ ควรมีข้อมูลอะไรบ้าง ที่ควรรวมเข้าไว้ในสารบบสารเคมี ซึ่งสารบบสารเคมีจำเป็นที่ต้องระบุถึงรายละเอียดของสารเคมีแต่ละตัว ดังนี้ ชื่อทางเคมี ชื่อทางการค้า หมายเลข CAS, พื้นที่ ๆ มีการใช้งานหรือจัดเก็บ, ปริมาณในการใช้, ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (R–Phrases)/การจำแนกประเภทตามระบบ GHS, เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี ที่ตีพิมพ์ในภาษาที่พนักงานสามารถอ่านออกและเข้าใจได้, ข้อกำหนดอื่น ๆ เกี่ยวกับการขนถ่าย เคลื่อนย้าย ถ่ายเท การใช้ จัดเก็บ เงื่อนไขในการกำจัด ฯลฯ, ประเภทของสารเคมี (สารเดี่ยวหรือสารผสม), ในช่วงของการดำเนินการกับสารผสมหรือเคมีภัณฑ์ได้มีการปล่อยไอระเหยออกมาบ้างหรือไม่, กิจกรรมดำเนินงานได้ก่อให้เกิดสิ่งใด ๆ ขึ้นมาหรือไม่ (เช่น ฝุ่น หรือฟูมจากการเชื่อม), มีสิ่งใดที่ถูกใช้เป็นสารเสริม (เช่น ไขมัน สีย้อม สี กาว), มีสิ่งใดที่ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ที่นอกเหนือไปจากกระบวนการผลิตหรือไม่ เช่น ในการทำความสะอาดสถานประกอบกิจการและบำรุงรักษาเครื่องจักร (เช่น สารชะล้าง น้ำยาฆ่าเชื้อ ตัวทำละลาย จาระบี เชื้อเพลิง), สิ่งใดที่พบในผลิตภัณฑ์ขั้นตอนสุดท้าย โดยอาจจะจบการนำเสนอด้วยการแสดงรูปแบบตารางสารบบสารเคมี
ข้อเสนอแนะสำหรับการทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม (Group Exercise) ทบทวนสิ่งที่ช่วยสนับสนุน หรือเอื้ออำนวยต่อการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัด ในเรื่องของการจัดเตรียมสารบบสารเคมี (Chemical Inventory) โดยแบบฝึกหัดนี้ไม่จำเป็นต้องมีแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา (Mock Case–Study) อย่างไรก็ดี ถ้าแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา มีข้อมูลเพียงพอก็สามารถนำมาใช้ได้ (ถ้าพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งจำเป็น) แต่ทางที่ดี ควรให้ผู้เข้าอบรมได้มีการนำข้อมูลจากสถานประกอบกิจการของตนเองมาใช้ในการทำแบบฝึกหัดจะดีกว่า เพราะจะช่วยให้พวกเขาได้เข้าใจการดำเนินงานภายในขององค์กรของตัวเองได้ดีขึ้น
• จุดมุ่งหมายของการทำแบบฝึกหัดนี้ ก็คือ การทำให้ผู้เข้าอบรมมีความคุ้นเคยกับขั้นตอนที่จำเป็นต่อการจัดเตรียมสารบบสารเคมี (Chemical Inventory) ซึ่งเป็นไปตามเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ดังที่ให้ไว้ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit)
• จัดแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดตามความเหมาะสมของจำนวนผู้เข้าอบรม
• อธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบว่า วัตถุประสงค์ก็คือ พัฒนาสารบบสารเคมีที่จะส่งผลให้การดำเนินงานของสถานประกอบกิจการตนเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพิจารณาข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากสารเคมีที่ถูกจัดการ จัดเก็บ และใช้ในสถานประกอบกิจการของตนเอง (ชื่อ ปริมาณ การจำแนกความเป็นอันตราย ฯลฯ) นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อมูลอ้างอิงจากแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา (ถ้าข้อมูลนั้นเชื่อถือได้ และสอดคล้องกับลักษณะของสถานประกอบกิจการของผู้เข้าอบรม)
• ในการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัด อาจจะพิจารณาจากความคล้ายคลึงกันของกระบวนการหรือกิจกรรมระหว่างสถานประกอบกิจการของผู้เข้าอบรม แต่ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ถ้าผู้เข้าอบรมในกลุ่มเดียวกันจะมาจากองค์กรที่มีความแตกต่างกันของกิจกรรมดำเนินงาน เพราะโดยมากแล้วสถานประกอบกิจการหลาย ๆ แห่งที่เข้าอบรม ก็มักจะมีภารกิจหน้าที่ของแต่ละส่วนงานที่คล้ายหรือเหมือน ๆ กันอยู่แล้ว นอกจากนี้ความแตกต่างของแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practise) ของแต่ละสถานประกอบการ ก็จะทำให้ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์กันด้วย
• ให้ผู้เข้าอบรมได้ทบทวนกิจกรรมต่าง ๆ ของการทำแบบฝึกหัด (ประมาณ 20 นาที) ดังนี้ 1) ตามข้อมูลที่มีอยู่ในโมดูลนี้ ให้ผู้เข้าร่วมอบรม ได้แสดงรายการข้อมูลที่สามารถเก็บรวบรวมได้ก่อนที่จะเข้ามาอบรม โดยข้อมูลนี้อาจจะได้มาจากบันทึกข้อมูลการจัดซื้อ บันทึกข้อมูลการควบคุมสต็อก สินค้าคงคลัง ข้อมูลผลิตภัณฑ์ของซัพพลายเออร์ ประวัติการขาย ฯลฯ 2) ให้ผู้เข้าอบรมแสดงรายการสารเคมีทั้งหมดของสินค้าคงคลัง โดยดำเนินการตามแผนภาพการไหลของกระบวนการ (Process Flow Diagram) ที่พวกเขาได้จัดเตรียมไว้แล้วจากโมดูลที่ 6 โดยให้เริ่มต้นจากแผนก ๆ หนึ่ง หรือขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการ แล้วดำเนินการไปทีละขั้นจนกว่าจะได้รายการสินค้าคงคลังในการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการครบทั้งหมด และ 3) ผู้เข้าอบรมควรใช้ตารางในรูปแบบเดียวกันหรือคล้ายกับที่วิทยากรนำเสนอ โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบพิเศษ แต่ต้องมั่นใจว่าได้รวมรวมเอารายละเอียดทั้งหมดตามรายการที่ระบุไว้ มาใส่ไว้ในตารางและเน้นจุดสำคัญเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
• การทำแบบฝึกหัดนี้ ควรเพิ่มการสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่มของผู้เข้าอบรม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนบุคคล ในการค้นหาข้อมูลภายในองค์กรเกี่ยวกับปริมาณและสภาวะการจัดเก็บสารเคมีอันตราย
• ให้แต่ละกลุ่มเลือกตัวแทนของกลุ่มมา 1 คน เพื่ออธิบายโดยย่อถึงประสบการณ์ของเขาเกี่ยวกับอุปสรรคและโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสารบบสารเคมี
• ในระหว่างการอบรม ควรมีการสอบถามผู้เข้าอบรมในประเด็นเหล่านี้ คือ ปริมาณสารเคมีอันตรายที่มีการจัดซื้อ จัดหา จัดเก็บ ใช้/จัดการ รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งและสภาพการจัดเก็บโดยทั่วไปของสารเคมีอันตราย ในสถานประกอบกิจการของพวกเขา
• ในระหว่างการทำแบบฝึกหัด ให้ผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มระบุในประเด็นเหล่านี้ คือ ชนิดของสารเคมีที่ถูกจัดหาเข้ามายังสถานประกอบกิจการ, สถานที่/ขั้นตอนกระบวนการที่สารเคมีอันตรายมักจะถูกพบในสถานประกอบกิจการ (พิจารณาจากแผนภาพการไหลของกระบวนการที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้นมาในโมดูลที่ 6), สถานที่/ขั้นตอนกระบวนการที่สารเคมีอันตรายมักจะถูกพบในสถานประกอบกิจการ (แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องใช้อย่างแท้จริง), หน้าที่การทำงานที่มีความเกี่ยวข้องมากที่สุดในองค์กรของพวกเขา (ตัวอย่างเช่น ห้องปฏิบัติการ การจัดการ การจัดหา คลังสินค้า ซ่อมบำรุง ผลิต สำรวจ การขาย ลูกค้าสัมพันธ์ ฯลฯ) ซึ่งเป็นสถานที่ที่สามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและลักษณะของสารเคมีอันตรายที่ใช้ในสถานประกอบกิจการ
• ผู้เข้าอบรมทุกคน ควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับงานที่แต่ละคนทำในสถานประกอบการของตนเอง เพื่อมุมมองที่กว้างขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสารบบสารเคมี โดยผู้เข้าอบรมควรได้รับการส่งเสริมให้ค้นหาและพูดคุยกันเกี่ยวกับอุปสรรคและโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาสารบบสารเคมี จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะกล่าวได้ว่าโมดูลฝึกอบรมที่ 7 นี้ เกี่ยวข้องกับ Tool 2 การจัดทำสารบบสารเคมี (Chemical Inventory) และการจำแนกประเภทอันตราย (Hazard Classification)
โมดูลที่ 8: การวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis) การจัดลำดับความสำคัญของอันตราย (Hazard Prioritization) และการระบุการดำเนินการลดความเสี่ยง (Identification of Risk Reduction Actions)
• วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น ภายใต้การผลิตด้วยความรับผิดชอบ และเสริมสร้างความสามารถในการบ่งชี้การดำเนินการลดความเสี่ยง การวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นกระบวนการสำคัญในการปกป้องผู้ปฏิบัติงานและทรัพย์สินของสถานประกอบกิจการ ช่วยให้สามารถจัดสรรทรัพยากร เพื่อมุ่งเน้นไปยังความเสี่ยงที่สำคัญ ๆ ได้อย่างแท้จริง การวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นเพียงการตรวจระวังในสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถชั่งน้ำหนักได้ว่า มีการเฝ้าระวังอย่างเพียงพอหรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่ควรดำเนินการเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายให้กับพนักงานและชุมชน ผลของการวิเคราะห์ความเสี่ยง ควรช่วยจัดลำดับความสำคัญของความเป็นอันตราย ที่จะนำไปสู่การบ่งชี้เบื้องต้นสำหรับการดำเนินการลดความเสี่ยง
การอบรมสำหรับโมดูลนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ การนำเสนอในเรื่องของการวิเคราะห์ความเสี่ยง การบ่งชี้การดำเนินการที่เป็นไปได้เพื่อลดความเสี่ยง และการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดในเรื่องของการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการจัดลำดับความสำคัญของความเป็นอันตราย
โดยวิทยากรสามารถใช้โปรแกรม Powerpoint นำเสนอในเรื่องของการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis) ที่ประกอบไปด้วย ทบทวนแนวคิดของ ‘ความเป็นอันตราย (Hazard)’ และ ‘ความเสี่ยง (Risks)’, การวิเคราะห์ความเสี่ยง คืออะไร และใช้เพื่อการใด, การสร้างทีมวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis Team), การวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น (Priliminary Risk Analysis) ที่รวมถึง คำนิยามของแนวคิดเหล่านี้ด้วย เช่น ปัจจัยเสี่ยง ความเป็นอันตราย สิ่งที่ถูกคุกคาม ความน่าจะเป็น ผลกระทบและความเสี่ยง, การจัดลำดับความสำคัญของความเป็นอันตรายและความเสี่ยง โดยใช้ตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Matrix) และการบ่งชี้การดำเนินการลดความเสี่ยง นอกจากนี้ วิทยากรก็ต้องมีการเตรียมเอกสารประกอบการบรรยายไว้ด้วย เพื่อแจกจ่ายให้ผู้เข้าอบรมในระหว่างการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น และการจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการลดความเสี่ยง
• ทบทวนคำนิยามของความเป็นอันตรายและความเสี่ยงตามที่แสดงไว้ในหัวข้อ 2.3 ความเป็นอันตรายของสารเคมีในที่ทำงาน (Chemical Hazards at Work) โดยที่การวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis) ‘เป็นการใช้ประโยชน์หรือประมวลผลข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อระบุปรากฎการณ์ที่เป็นอันตรายหรือความเป็นอันตราย และเพื่อประเมินความเสี่ยง’ หรือ ‘เป็นการบ่งชี้และประเมินอย่างเป็นระบบสำหรับปัจจัยเสี่ยงและความเป็นอันตราย’
• ผู้เข้าอบรมควรมีส่วนร่วมโดยการระดมความคิดเห็นเพื่อหาเหตุผลว่า ทำไมสถานประกอบกิจการจึงควรทำการวิเคราะห์ความเสี่ยง
• สำหรับการอธิบายตามเนื้อหาข้างต้น อาจมีความจำเป็นต้องใช้ ‘ฟลิปชาร์ต (Flip-chart)’ เพื่อเขียนบันทึกรายการแสดงข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะของผู้เข้าอบรมให้ได้มากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยง ที่อย่างน้อย ๆ ก็จะทำให้ผู้เข้าอบรมได้มีความเข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้ เช่น ความเสี่ยงที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเผชิญ ภายใต้สถานการณ์ของการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย เช่น สารเคมีรั่วไหล เพลิงไหม้ การระเบิด ฯลฯ, ความเสี่ยงต่อสังคมและชุมชน อันเป็นผลมาจากการดำเนินการกับสารเคมีอันตรายของสถานประกอบกิจการ เช่น ความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อชุมชน สังคม และโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวข้องสารเคมีอันตราย, ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเชื่อมโยงได้กับการเกิดอุบัติเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายที่ถูกดำเนินการโดยสถานประกอบกิจการ เช่น สารเคมีรั่วไหล เพลิงไหม้ การระเบิด ฯลฯ, ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเชื่อมโยงได้กับการเกิดอุบัติเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายที่ถูกดำเนินการโดยสถานประกอบกิจการ (เช่น สารเคมีรั่วไหล เพลิงไหม้ การระเบิด ฯลฯ) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ แหล่งน้ำดื่ม แหล่งน้ำใช้เพื่อการการเกษตรและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การประมง พื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติ ฯลฯ, ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมจากความผิดพลาดทางการจัดการ (ไม่จำเป็นต้องเกิดจากอุบัติเหตุ) ของสารเคมีอันตราย เช่น พิษของน้ำผิวดินและน้ำบาดาล การปนเปื้อนในดิน ฯลฯ
• แนะนำให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบถึงคุณประโยชน์ของการมีทีมงานหรือกลุ่มงานวิเคราะห์ความเสี่ยง
• อธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบว่า การบ่งชี้และทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นอันตรายจากสารเคมีและผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้นของอุบัติเหตุในพื้นที่ ชุมชน หุ้นส่วนทางธุรกิจ ลูกค้า และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ภาระหน้าที่งานของคนหนึ่งคนใดแต่เพียงผู้เดียว
• การวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลนั้น ต้องดำเนินการโดยผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถ่องแท้ ถึงความเป็นอันตรายหรืออุบัติเหตุที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในอุตสาหกรรมประเภทนั้น ๆ ซึ่งในบางครั้งอาจจะจำเป็นที่จะต้องได้รับคำแนะนำ หรือกำกับดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอิสระ
• การแบ่งกลุ่มวิเคราะห์ความเสี่ยง จะช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจในกระบวนการ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ทำงาน และหากมีตัวแทนที่มาจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลด้วย ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการวิเคราะห์ซ้ำในภายหลัง
• แนะนำให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบถึง วิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยงในเบื้องต้น (Priliminary Risk Analysis Methodology) ซึ่งเป็นวิธีที่มักจะใช้เพื่อบ่งชี้ความเสี่ยงในระยะแรก (เช่น ในขั้นตอนออกแบบ) ของการดำเนินงาน รวมทั้งยังสามารถใช้ในกรณีของระบบอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน โดยจะให้วิธีการในขั้นต้น แล้วค่อยเพิ่มเติมในรายละเอียด ด้วยวิธีการหรือเครื่องมืออื่น ๆ การวิเคราะห์ความเสี่ยงในเบื้องต้นนี้ ต้องการความรู้ที่แน่ชัด เฉพาะเจาะจงในระบบอุตสาหกรรมและผลสืบเนื่อง ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรู้อย่างกว้างขวางในอุปกรณ์หรือการติดตั้ง
• การวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น (Priliminary Risk Analysis: PRA) ในขั้นแรกนั้นต้องการการบ่งชี้องค์ประกอบที่เป็นแหล่งกำเนิดที่เป็นไปได้ของภัยคุกคาม ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงจุดอันตรายหลัก (Main Hazard Hotspots) โดยการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น (PRA) นี้ พยายามที่จะบ่งชี้สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเป็นอันตราย หรือเป็นภัยคุกคามต่อทรัพย์สิน
• ขั้นตอนของการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น (PRA) มีดังนี้ 1) การบ่งชี้สถานการณ์อันตรายบนพื้นฐานของความรู้ที่มีอยู่เกี่ยวกับความเป็นอันตรายทางอุตสาหกรรม สมบัติของสารเคมีที่ใช้งาน คำบรรยายลักษณะหน้าที่ในแต่ละส่วนงานของระบบอุตสาหกรรม และอุบัติเหตุที่ผ่านมา ฯลฯ และ 2) การระบุสาเหตุและผลกระทบของแต่ละสถานการณ์ที่อันตราย 3) การประเมินความเป็นอันตรายและความเสี่ยงในแง่มุมของความรุนแรงและความถี่ และ 4) การระบุมาตรการด้านความปลอดภัย ทั้งที่มีอยู่แล้วและสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม
• นำเสนอและพูดคุยกับผู้เข้าอบรมถึงข้อเด่นและข้อด้อย ในการประยุกต์ใช้วิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น (PRA) ตามนี้ คือ ข้อเด่น ได้แก่ การบ่งชี้ความเสี่ยงสำคัญ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นการดำเนินการในระยะเบื้องต้น (Priliminary Phase) ก่อนที่จะใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ละเอียดมากขึ้น ส่วนข้อด้อย ก็คือ เป็นการยากที่จะให้คำจำกัดความได้อย่างแน่ชัดสำหรับสถานการณ์ที่เป็นอันตราย และเป็นเรื่องยากที่จะควบรวมข้อบกพร่องของระบบอุตสาหกรรมไว้ได้ทั้งหมด ขนาดของการวิเคราะห์และระดับของรายละเอียดที่กว้างเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการวิเคราะห์ปัจจัยหรือสาเหตุของอุบัติเหตุ
• การวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น (PRA) เหมาะกับระบบอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนต่ำหรือการวิเคราะห์ในวงกว้าง โดยก่อนที่จะยกตัวอย่างการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้นให้กับผู้เข้าอบรม ก็ควรทบทวนคำนิยามเหล่านี้เสียก่อน ได้แก่ วัตถุเสี่ยง (Risk object)–วัตถุหรือสถานที่ที่แฝงไว้ด้วยความเป็นอันตราย 1 อย่างหรือมากกว่านั้น, ความเป็นอันตราย (Hazard)–การคุกคามที่สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้, วัตถุที่ถูกคุกคาม (Threatened Object)–ผู้คน สิ่งแวดล้อม หรือทรัพย์สิน ที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากอุบัติเหตุเนื่องจากมีวัตถุเสี่ยงอยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียง, ความน่าจะเป็น (Probability)–ขนาดของเหตุการณ์ (อุบัติเหตุ) ที่คาดไว้ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ภายในช่วงระยะหนึ่ง ๆ, ผลลัพธ์ (Consequences)–ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ แสดงออกมาในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ (ความรุนแรง/ความเข้มข้น), ความเสี่ยง (Risk)– ความน่าจะเป็นของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ร่วมกับผลกระทบที่มีต่อผู้คน ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม
• อธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้รู้ถึงวิธีที่ความเป็นอันตรายและความเสี่ยงสามารถจะจัดลำดับความสำคัญโดยใช้ตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Matrix) พร้อมยกตัวอย่างการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น (PRA) สุดท้ายก็ไปจบที่ส่วนสุดท้ายของการนำเสนอเนื้อหาของโมดูลนี้ ซึ่งจะเป็นการระบุมาตรการลดความเสี่ยง (Risk Reduction Actions) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่เกิดจากความเป็นอันตราย ตามที่ได้จัดลำดับความสำคัญแล้ว โดยใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น (PRA) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น
• อธิบายผู้เข้าอบรมได้รับรู้ถึง 3 ลำดับขั้นตอนที่อยู่ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Productiion Toolkit) เพื่อบ่งชี้มาตรการลดความเสี่ยง ดังนี้ คือ ขั้นตอนที่ 1–ทบทวนรายการอันตรายและจุดอันตราย (Hazard Hotspots) ที่บ่งชี้ไว้แล้ว และความเสี่ยงที่จัดลำดับความสำคัญไว้แล้ว ขั้นตอนที่ 2–ระบุมาตรการเชิงป้องกัน (Preventative Measures) โดยหารือกับคนงาน หัวหน้างาน หุ้นส่วนทางธุรกิจ และผู้ที่มีส่วนได้เสียภายนอกอื่น ๆ (ถ้าเป็นไปได้) เพื่อระบุมาตรการเชิงป้องกันที่เป็นไปได้ ขั้นตอนที่ 3–ตรวจสอบโอกาสในการดำเนินการลดความเสี่ยงในทันที โดยทบทวนผังการไหลของกระบวนการ (Process Flow Chart) เพื่อระบุว่ามีขั้นตอนใดของกระบวนการที่สามารถดำเนินการลดความเสี่ยงได้
• สรุปการนำเสนอโดยหารือกับผู้เข้าอบรม สำหรับโอกาสในการลดความเสี่ยง ดังนี้
1.การขจัดอันตราย-โดยการลดหรือหลีกเลี่ยงสารพิษ สารไวไฟ และสารระเบิด โดยการขจัดหรือเปลี่ยนเป็นสารเคมีที่มีอันตรายน้อยลง ฯลฯ
2.ปิดครอบหรือกั้นแยกอันตราย–ปิดครอบอุปกรณ์และใช้ภาชนะรองรับ (Secondary Containment), กั้นแยกกระบวนการที่อันตราย และมีจุดเสี่ยงให้ห่างจากกระบวนการ พื้นที่และแหล่งจุดติดไฟอื่น ๆ, จับแยกหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ออกจากพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการจุดติดไฟขึ้นมา โดยให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในการแยกส่วนอันตรายที่ใช้บังคับอยู่ ทั้งในการจัดเก็บและการขนส่ง, ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการจัดเก็บสารเคมีอันตรายที่เพียงพอและปลอดภัย, ลดการสูญเสียของสารเคมีระหว่างการดำเนินงาน, จำกัดปริมาณสารเคมีที่จัดเก็บไว้ในบางพื้นที่
3.ถ้าเป็นไปได้ ใช้การระบายอากาศในพื้นที่ที่มีอันตรายอยู่ (ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของการระบายอากาศเฉพาะที่และทั่วไป เพื่อระบายออกหรือลดความเข้มข้นของฟูม ก๊าซ ไอระเหย และละออง ที่เป็นอันตราย)
4.ปรับปรุงมาตรการการจัดการดูแลสถานที่ (Housekeeping Measures) และการกำจัด เป็นประจำ
5.ส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE)
6.เพิ่มความตระหนักรู้ถึงอันตรายและความเสี่ยงต่าง ๆ มีการแจ้งเตือนผู้ปฏิบัติงาน เกี่ยวกับอันตรายและสมบัติของสารเคมีอันตราย เช่น จัดเตรียมเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) ขั้นตอนการปฐมพยาบาล และสื่อสารสนเทศอื่น ๆ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยสารเคมีในภาษาที่เข้าใจได้ง่าย
7.ให้ความใส่ใจกับโอกาสในการหลีกเลี่ยงการคุกคามจากอันตรายของผู้คน สิ่งแวดล้อม และทรัพย์สิน (จากการใช้ Tool 3 บ่งชี้ความเสี่ยงด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ)
8.ระมัดระวัง ป้องกันผู้ที่ไม่รับอนุญาตให้ออกห่างจากจุดอันตราย โดยการปรับปรุงความตระหนักรู้ถึงอันตราย ใช้สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย ฉลากและป้ายเตือนอันตราย รวมถึงการจำกัดพื้นที่ในการเข้าถึง
9.ป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงพื้นที่จัดเก็บสารเคมีอันตราย เช่น มีรั้วกั้น/ปิดล็อกพื้นที่จัดเก็บ, มอบหมายผู้รับผิดชอบในการตรวจตราอาคารจัดเก็บอย่างสม่ำเสมอ, ทำให้แน่ใจว่าจะมีเพียงผู้ที่ได้รับอนูญาตเท่านั้น ที่สามารถผ่านเข้าสู่พื้นที่จัดเก็บได้
10.ป้องกันการบุกรุก (เช่น เครื่องกั้นและอุปกรณ์ล็อก) และการใช้ระบบสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉิน
11.ประเมินเส้นทางที่ใช้สำหรับการขนส่งสารเคมีอันตราย (เปลี่ยนเส้นทางเมื่อใดก็ตามที่สามารถกระทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงการขับผ่านชุมชน หรือบริเวณที่มีประชากรอยู่หนาแน่น โรงเรียน โรงพยาบาล และพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติ ฯลฯ)
12.เมื่อมีความจำเป็น ต้องทำการขนส่งสารเคมีอันตรายผ่านชุมชนหรือพื้นที่ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงสูง ต้องให้ตำรวจและ/หรือทีมฉุกเฉินติดตามคุ้มกัน
13.หลีกเลี่ยงการขนส่งสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อลดความน่าจะเป็นที่จะเกิดอุบัติเหตุ และลดจำนวนคนที่เผชิญกับความเสี่ยง
14.พิจารณาข้อจำกัดเกี่ยวกับการจราจร ในการขนส่งสินค้าอันตรายในช่วงสภาพอากาศที่เลวร้าย เช่น วิสัยทัศน์ในการมองเห็นต่ำในช่วงฝนตกหนัก ลมแรง หรือถนนลื่น
ข้อเสนอแนะสำหรับการทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม (Group Exercise) ทบทวนสิ่งที่ช่วยสนับสนุนหรือเอื้ออำนวยต่อการทำแบบฝึกหัด โดยการทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่มนี้ จะเป็นในเรื่องของการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการจัดลำดับความสำคัญของจุดอันตราย สำหรับแบบฝึกหัดนี้ไม่จำเป็นต้องมีแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา (Mock Case–Study) แต่อย่างไรก็ตาม แบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษาที่มีข้อมูลเพียงพอก็สามารถนำมาใช้ได้ ถ้าพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งจำเป็น แบบฝึกหัดนี้จะช่วยอธิบายสถานการณ์ให้ผู้เข้าอบรมได้รับทราบข้อมูลที่เพียงพอ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการของพวกเขาเอง หรืออีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการที่พวกเขาได้นำข้อมูลที่เพียงพอจากสถานประกอบกิจการของพวกเขาเอง มาใช้ในการทำแบบฝึกหัด
• จุดมุ่งหมายของการทำแบบฝึกหัดนี้ ก็คือ การทำให้ผู้เข้าอบรมมีความคุ้นเคยกับขั้นตอนที่จำเป็นต่อการบ่งชี้ความเสี่ยงด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ดังที่ระบุไว้ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit)
• จัดแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดตามความเหมาะสมของจำนวนผู้เข้าอบรม
• อธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบว่า วัตถุประสงค์ก็คือ การประยุกต์ใช้วิธีการที่คล้ายกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น (PRA) เพื่อบ่งชี้ความเสี่ยงด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการตนเอง นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาข้อมูลที่พวกเขาได้เก็บรวบรวมเกี่ยวกับสารเคมีที่ได้จัดการ จัดเก็บ และใช้ในสถานประกอบกิจการตนเอง แผนภาพการไหลของกระบวนการ (Process Flow Diagrams) ที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้นมาระหว่างการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดในหัวข้อที่ 2.6 รวมถึงแผนที่แสดงผังโรงงาน แผนที่แสดงพื้นที่ ฯลฯ ตลอดจนข้อมูลที่อ้างอิงมาจากแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา (Mock Case–Study)
• ในการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัด อาจจะพิจารณาจากความคล้ายคลึงกันของกระบวนการหรือกิจกรรมระหว่างสถานประกอบกิจการของผู้เข้าอบรม แต่ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ถ้าผู้เข้าอบรมในกลุ่มเดียวกันจะมาจากองค์กรที่มีความแตกต่างกันของกิจกรรมดำเนินงาน เพราะโดยมากแล้วสถานประกอบกิจการหลาย ๆ แห่งที่เข้าอบรม ก็มักจะมีภารกิจหน้าที่ของแต่ละส่วนงานที่คล้ายหรือเหมือน ๆ กันอยู่แล้ว นอกจากนี้หากสถานประกอบกิจการของผู้เข้าอบรมตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน พวกเขาก็ยังจะสามารถร่วมแบ่งปันภัยคุกคามและความเสี่ยงที่คล้ายคลึงกันได้อีกด้วย
• ให้ผู้เข้าอบรมได้ทบทวนกิจกรรมต่าง ๆ ของการทำแบบฝึกหัด (ประมาณ 20 นาที) ตามนี้ คือ
1) จากข้อมูลที่มีอยู่ในโมดูลนี้ ให้ผู้เข้าอบรมย้อนกลับไปพิจารณาแผนภาพการไหลของกระบวนการ (Process Flow Diagrams) และจุดอันตราย (Hazard Hotspots) ที่พวกเขาต่างก็ได้ระบุกันไว้เป็นเบื้องต้นแล้ว
2) ให้ผู้เข้าอบรมใส่ใจเป็นพิเศษกับพื้นที่ หรือขั้นตอน หรือกระบวนการ ซึ่งมีการจัดเก็บหรือจัดการกับสารเคมีอันตรายในปริมาณที่มาก และตอบคำถามเหล่านี้ ได้แก่ มีสารเคมีที่เป็นพิษอย่างมากปรากฏอยู่หรือไม่, มีการจัดเก็บและจัดการปุ๋ย สารเคมีกำจัดวัชพืช และสารกำจัดศัตรูพืชหรือไม่, มีสถานที่จัดเก็บของเสียสารละลายเคมีหรือไม่, มีขั้นตอนหรือพื้นที่ใดที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บหรือจัดการสารที่เป็น บิวเทน โพรเพน แอมโมเนีย หรือคลอรีนหรือไม่, มีสารเคมีอันตรายที่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่นที่อยู่ใกล้เคียง หรือกับน้ำในบรรยากาศ แล้วทำให้เกิดเป็นสารเคมีอันตรายชนิดอื่นขึ้นมาหรือไม่
3) ให้ผู้เข้าอบรมทบทวนจุดอันตรายที่พวกเขาได้ระบุเบื้องต้นไว้แล้วในแผนภาพการไหลของกระบวนการ
4) ให้ผู้เข้าอบรมได้บ่งชี้กลุ่มพนักงานที่เสี่ยง พื้นที่เสี่ยง รวมถึงทรัพย์สินที่อาจเสียหาย หรือได้รับผลกระทบ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ที่ถูกเก็บหรือใช้ในสถานประกอบกิจการของพวกเขา
5) อธิบายให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจว่า ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับวัตถุที่ถูกคุกคาม (Threatened Object–ผู้คน สิ่งแวดล้อม หรือทรัพย์สิน) ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยให้ผู้เข้าอบรมได้คิดและหารือกันระหว่างกลุ่ม แล้วหาคำตอบให้คำถามเหล่านี้ ได้แก่ มีจำนวนคนงานกี่คน ที่ดำเนินงานในที่ ๆ มีสารเคมีอันตราย (วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ของเสีย) เข้ามาเกี่ยวข้อง หรืออยู่ใกล้พื้นที่ที่มีการจัดการหรือจัดเก็บสารเคมีอันตราย มีกิจกรรมใดที่ดำเนินการในพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีโรงพยาบาล โรงเรียน ตลาด หรือแหล่งช้อปปิ้งตั้งอยู่ใกล้เคียงหรือไม่ และมีสารเคมีอันตรายถูกจัดการ จัดเก็บ ผลิต หรือใช้ในหรือใกล้เคียงกับพื้นที่เหล่านี้ หรือไม่ (พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่การเกษตร พื้นที่แหล่งน้ำดื่ม พื้นที่น้ำใช้เพื่อการเกษตร หรือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติ)
6) ภายหลังที่ได้บ่งชี้วัตถุที่ถูกคุกคามที่เป็นไปได้แล้ว ให้ผู้เข้าอบรมได้เปลี่ยนไปบ่งชี้อุบัติเหตุที่มีโอกาสเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับจุดอันตราย (Hazard Hotspots) และวัตถุที่ถูกคุกคามที่ถูกระบุไว้แล้ว
7) ยกตัวอย่างอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคอื่น ๆ โดยเน้นย้ำให้ผู้เข้าอบรมได้ให้ความใส่ใจในอุบัติเหตุที่ผ่านมา ซึ่งเคยเกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการของพวกเขาเองและสถานที่ใกล้เคียง
8) พิจารณาชนิดและปริมาณของสารเคมีที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน บนแผนภาพการไหลของกระบวนการของสถานประกอบกิจการตนเอง ผู้เข้าอบรมแสดงรายการอุบัติเหตุที่มีโอกาสเกิดขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับจุดอันตรายและวัตถุที่ถูกคุกคามที่ได้บ่งชี้แล้ว
9) ให้ผู้เข้าอบรมได้พิจารณาชนิดของอุบัติเหตุ และตรวจสอบว่าอันตรายใดที่พวกเขาได้บ่งชี้แล้วว่า อาจจะมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิด หรือมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์เหล่านี้ เช่น การเสื่อมสภาพของวัสดุกักเก็บเนื่องจากถูกกัดกร่อน ความล้าของโลหะ ครีพ (Creep) ความเปราะ หรือการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดี, การปล่อยก๊าซหรือฟูมที่เป็นพิษหรือระคายเคือง, การปล่อยกลุ่มไอระเหยที่กัดกร่อนและก๊าซพิษเนื่องจากการขยายตัว, การระเบิดเนื่องจากการขยายตัวของไอระเบิด การระเบิดของสารเคมี การระเบิดของกลุ่มหมอกฝุ่น, การระเบิดหรืออัคคีภัยจากการจัดการก๊าซไวไฟในรูปของเหลว, อัคคีภัยที่เกิดขึ้นจากสารเคมีแล้วผลิตก๊าซที่เป็นอันตรายออกมา, อัคคีภัยที่เกิดจากสารเคมีแล้วทำให้น้ำเสียจากการดับไฟไหลออกนอกพื้นที่, การรั่วไหลของสารเคมีอันตรายออกจากพื้นที่จัดเก็บและส่วนการผลิต หรือในช่วงระหว่างการขนส่ง
10) เมื่อผู้เข้าอบรมได้จัดทำรายการอุบัติเหตุที่มีโอกาสเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับจุดอันตราย และวัตถุที่ถูกคุกคามก็ได้ถูกบ่งชี้แล้ว ให้พวกเขาประมาณการณ์ความรุนแรงของผลกระทบที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
11) ให้ผู้เข้าอบรมคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ ปริมาณและลักษณะของสารเคมีอันตรายที่เกี่ยวข้องในการไหลของกระบวนการ, วัตถุที่ถูกคุกคามในกรณีที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ, และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น และพยายามให้ระบุสิ่งที่อาจจะเกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ทั้งภายในและภายนอกสถานประกอบกิจการตนเอง
12) ให้ผู้เข้าอบรมกำหนดปัจจัย ‘ความรุนแรง (Severity)’ โดยคำนึงถึงมาตรวัด (Scales) ที่พิจารณาอยู่บนลักษณะของสถานประกอบกิจการที่เข้าอบรมและบริบทท้องถิ่นของกลุ่มทำแบบฝึกหัด (ดังตารางที่ 49)
ตารางที่ 49 แสดงผลกระทบด้านต่าง ๆ และระดับความรุนแรง
13) ให้ผู้เข้าอบรมประมาณการณ์ความเป็นไปได้ (Likelihood) ของแต่ละอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง (ที่ได้บ่งชี้ไว้แล้ว) สำหรับในขั้นตอนนี้ของการทำแบบฝึกหัด ผู้เข้าอบรมก็จะได้ประมาณการณ์ความน่าจะเป็น (Probability) ของการเกิดอุบัติเหตุแต่ละอย่าง โดยพิจารณามาตรวัดเหล่านี้ประกอบไปด้วย 1) เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ (Practically Impossible)–ไม่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในช่วงอายุขัยของการดำเนินงาน 2) ไม่น่าจะเกิดขึ้น (Unlikely)–ไม่เคยเกิดขึ้น แต่อาจเกิดขึ้นได้ บางทีอาจจะเป็นในช่วงอายุขัยของการดำเนินงาน 3) นาน ๆ ครั้ง (Rarely)–คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุก ๆ 10 ปี 4) เป็นประจำ (Regularly) - คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี 5) บ่อยครั้ง (Frequency)–เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี
14) สรุปแบบฝึกหัด โดยผู้เข้าอบรมควรกำหนดปัจจัยเสี่ยง (Risk Factor) ให้กับแต่ละจุดอันตราย (Hazard Hotspots) และเพื่อความสะดวกก็ควรจะใช้ตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Matrix) (ดูตารางที่ 50 ประกอบ) ที่มีขั้นตอนดำเนินการดังนี้ คือ 1) กำหนดปัจจัยเสี่ยงให้กับแต่ละจุดอันตราย ไล่เรียงตั้งแต่ 1/1 (ต่ำสุด–Lowest) จนถึง 5/5 (สูงสุด-Highest) ลงในตารางประเมินความเสี่ยง
2) ทำซ้ำแบบนี้ในแต่ละกิจกรรมของกระบวนการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการ 3) ทำเครื่องหมายปัจจัยเสี่ยงลงบนแผนภาพการไหลของกระบวนการ (Process Flow Diagrams)
15) ในท้ายที่สุด ผู้เข้าอบรมควรจัดลำดับความสำคัญของจุดอันตราย (Hazard Hotspots) ที่ตนเองได้บ่งชี้ไว้ในเบื้องต้น โดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงที่ได้กำหนดไว้แล้ว
• แบบฝึกหัดนี้ ควรเพิ่มการสนทนากันระหว่างกลุ่มในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้เข้าอบรม ในการค้นหาข้อมูลภายในองค์กรสำหรับการดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงชนิดนี้ พร้อมกับมีเวลาอีก 10 นาทีสำหรับการให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทน 1 คน ออกมาอธิบายโดยย่อถึงประสบการณ์ของตนเองเกี่ยวกับอุปสรรคและโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาการวิเคราะห์ความเสี่ยงชนิดนี้
ตารางที่ 50 ตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Matrix)
• ในระหว่างการอบรม สอบถามผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับความเข้าใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในสถานประกอบกิจการของพวกเขา โดยคำนึงถึงวัตถุที่ถูกคุกคาม (Threatened Object–ผู้คน สิ่งแวดล้อม หรือทรัพย์สิน) ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และกระตุ้นเตือนผู้เข้าอบรมให้ใส่ใจเป็นพิเศษหากสถานประกอบกิจการของตนเองมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น หรือมีโรงพยาบาล โรงเรียน ตลาด หรือแหล่งช็อปปิ้งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ก็ควรสอบถามเพื่อหยั่งความรู้สึกของผู้เข้าอบรมว่า พวกเขาคิดว่าพนักงานของสถานประกอบกิจการตนเองได้มีการรับรู้อย่างเพียงพอแล้วหรือไม่ ถึงความเสี่ยงที่แฝงอยู่ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของสถานประกอบกิจการตนเอง
• โมดูลฝึกอบรมนี้ ควรส่งเสริมการหารือเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของการดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยง และความเพียงพอ/อัตถประโยชน์/ความครอบคลุม ของคำแนะนำที่ให้ไว้ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit) เพื่อไว้ดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ ได้แก่ 1) บ่งชี้กลุ่มพนักงานที่เสี่ยง พื้นที่เสี่ยง รวมถึงทรัพย์สินที่อาจเสียหาย หรือได้รับผลกระทบ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ 2) บ่งชี้ชนิดของอุบัติเหตุที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 3) บ่งชี้/ประมาณการความรุนแรงของผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ในสถานการณ์ที่เกิดอุบัติเหตุ 4) ประมาณการความเป็นไปได้ (Likelihood) ของแต่ละสถานการณ์อุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ ควรเพิ่มการสนทนาเกี่ยวกับขีดความสามารถของสถานประกอบกิจการและหน่วยบริการฉุกเฉินในการรับมือสถานการณ์
หมายเหตุ: โมดูลฝึกอบรมนี้จะเกี่ยวข้องกับ Tool 1.3 ชี้บ่งความเสี่ยงด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ และ
Tool 3.1 ระบุการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit)
***** ติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า *****
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• Responsible Production Training Package, UNEP, 2009.
• Responsible Production Framework, UNEP, 2009.
• Responsible Production Brochure, UNEP, 2010.
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด