เนื้อหาวันที่ : 2016-12-08 12:13:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2230 views

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

แผนที่จะออกมาทั้งสามนั้น สอดคล้องกับแนวคิดการขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปีจากนี้ และตอบโจทย์หลัก 3 ด้าน คือ 1.การเติบโตของผลิตภาพ (Productivity Growth) 2.การลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Growth) และ 3.การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth)

 

     นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงแผนงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำลังเร่งปรับปรุงเนื้อหาของ 3 แผนงานใหญ่ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปี พ.ศ.2560-2564 และ แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแผนดังกล่าวจะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคต

 

          นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงตลอดจนสถาบันฯ ภายใต้การกำกับดูแล เพื่อให้สามารถบริการแก่ SMEs กลุ่มต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในระดับจังหวัดทั้งรายเดิมและรายใหม่ และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงฯ ให้สามารถทำงานเชิงรุก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและนักลงทุน รวมถึงการประยุกต์ใช้เครื่องมือไอที เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

               

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ระยะ 20 ปี เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้น เพื่อยกระดับและสร้างผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ให้เป็นกลไกหลักทางเศรษฐกิจ ปรับระบบนิเวศอุตสาหกรรมเพื่อเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม และการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยให้เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยมีเป้าหมายในการเพิ่ม GDP ภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 4.5% ต่อปี และผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity: TFP) เติบโตไม่น้อยกว่า 2.0% ต่อปี

               

          ส่วนแผนแม่บท Productivity จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้อุตสาหกรรมไทย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและบริการของไทย การพัฒนาดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม SMEs เป็นการพัฒนาทั้งบุคลากร กระบวนการผลิต และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในที่สุด

 

          สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เกิดขึ้นหลังจากการที่คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้มีการขับเคลื่อนต่อโดยให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้วย ทั้งนี้แผนดังกล่าวจะมุ่งเน้นที่การทำความสะอาดเมือง (Cleaning) การฟื้นฟูเมือง (Recovering) และการพัฒนาเมือง (Developing) โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างความสุขให้กับประชาชน และการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม

 

เดินหน้าผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผลักดัน 4 ยุทธศาสตร์พัฒนา

 

          ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) นั้น นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังเร่งผลักดันแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะของ "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" (Special Economic Zone) ของรัฐบาล มุ่งสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 สร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาชน สังคม และผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค รองรับการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0

 

          ทั้งนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้มอบหมายให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น และทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นครหลวงเวียงจันทน์ ศึกษาโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพสูงตามนโยบายของรัฐบาล จังหวัดเชียงราย และนครพนม เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมมียุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม และแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย และนครพนมที่สอดคล้องกับศักยภาพด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่และทิศทางการพัฒนาประเทศในภาพรวม รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้าน

               

          จากการศึกษาวิจัยได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ด้านสำคัญ คือ 1.ส่งเสริมการพัฒนา และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุค 4.0 เพื่อยกระดับภาคการผลิตสู่การใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาด้านการค้า และการลงทุนภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 3.การพัฒนา และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเครือข่าย (Cluster) ภายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมสนับสนุนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน และ 4.การสร้างความเข้มแข็ง และสมดุลของภาคอุตสาหกรรมกับวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการรักษ์สิ่งแวดล้อมในการพัฒนาอุตสาหกรรม

 

          สำหรับยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ประเด็นจะถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดนครพนม สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มาลงทุนในพื้นที่ อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของพื้นที่ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอนาคตต่อไป

 

เล็งตั้งโรงงานตะวันออก รองรับโครงการอีอีซี

 

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่าสำหรับโครงการลงทุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อพัฒนาเมืองใหม่ทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้า และบริการใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจำนวนมากแสดงความสนใจตั้งพื้นที่อุตสาหกรรมใน 3 จังหวัด นอกจากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รับผิดชอบ

               

          ทั้งนี้เพื่อรองรับการลงทุนที่จะขยายตัวมากขึ้นตามโครงการอีอีซี โดยพื้นที่อุตสาหกรรมที่ กรอ. รับผิดชอบ ออกใบอนุญาตให้ประกอบการจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ เขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม และเขตชุมชน ล่าสุดผู้ประกอบการไทยและจีน แสดงความสนใจตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมฟอกย้อม เพื่อให้โรงงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกิจการคล้ายรูปแบบกลุ่มอุตสาหกรรมหรือ คลัสเตอร์ ในเบื้องต้น กรอ. ได้สำรวจความพร้อมพื้นที่อุตสาหกรรมใน 3 จังหวัด พบว่า มีโอกาสจัดตั้งได้อีกหลักหมื่นไร่ เพราะปัจจุบันมีการจัดตั้งพื้นที่อุตสาหกรรมแล้วเพียง 9 แห่ง และมีพื้นที่เหลืออีกจำนวนหนึ่ง

               

          ด้าน นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการนำเสนอแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ต่อ นายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นแผนการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กองทัพเรือ โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งทางเรือ ทางราง ทางบก และทางอากาศเพื่อรองรับการลงทุนจากทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับภาพรวมการลงทุนพบว่า มีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซีบ้างแล้ว โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ภาครัฐพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะ เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานจากนักลงทุนจากประเทศเดียวกัน

               

          อย่างไรก็ตามการลงทุนต่าง ๆ ภาครัฐจะเริ่มก่อนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชน อาทิ ท่าเรือ ศูนย์การท่องเที่ยวนานาชาติ สนามบิน ขณะเดียวกันจะเตรียมปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ตามความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีการรับฟังเมื่อวันที่ 13 กันยายน คาดว่าจะต้องเร่งประกาศให้ทันสิ้นปี 2559 เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนในปี 2560

 

ครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษี 2 เท่า ลงทุน-ขยายกิจการ ชายแดนใต้

 

          ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดดังกล่าว สามารถหักรายจ่ายการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น ทั้งในส่วนของทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้า หรือการให้บริการในจังหวัดดังกล่าว

               

          นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การหักภาษีดังกล่าวจะไม่รวมการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมได้ โดยการหักลดภาษีนั้นจะให้เป็น 2 เท่า โดยรายจ่ายดังกล่าวนั้นจะต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ ครม. อนุมัติถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เท่านั้น โดยต้องเป็นสินทรัพย์ดังนี้ เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะที่จดทะเบียนในท้องที่ซึ่งไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารนั่งไม่เกิน 10 คน และอาคารถาวร ซึ่งไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย

               

          ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ในท้องที่ จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในจังหวัดดังกล่าว เป็นระยะเวลา 5 รอบบัญชี นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีต่อไปนี้ คือ ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก ส่วนกรณีที่ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกแม้จะมีระยะเวลาน้อยกว่า 1 เดือน

               

          อย่างไรก็ตาม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของกรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท

               

          สำหรับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงที่ไปทำงานในท้องที่ดังกล่าว กำหนดให้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดดังกล่าว ในอัตรา 3% ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้พึงประเมินอื่น ๆ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ปรับปรุงนวัตกรรมยกระดับ SME สู่ยุคดิจิทัล และอุตสาหกรรม 4.0

 

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอสเอ็มอีถือเป็นหัวใจของประเทศและเป็นวาระแห่งชาติ โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยทอดทิ้งผู้ประกอบการ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เอสเอ็มอีเผชิญกับปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐได้ร่วมกับทุกหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือและดูแลผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เช่น การปรับลดหย่อนภาษีเงินได้เอสเอ็มอี สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กองทุนร่วมลงทุน รวมถึงศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs Rescue Center) เพื่อให้ประคับประคองให้ธุรกิจอยู่ได้

 

          สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการประสบความสำเร็จ จะต้องมุ่งมั่นพัฒนา และปรับปรุงนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับธุรกิจให้ทันกับการแข่งขันของโลกในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ทำให้สิ่งที่ผู้ประกอบการเคยทำในอดีตไม่สามารถนำมาใช้ในปัจจุบันและอนาคตได้อีก

 

          ทั้งนี้ เอสเอ็มอีจะต้องมีทัศนคติใจที่สู้ในการมุ่งยกระดับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สู่ยุคดิจิทัลและอุตสาหกรรม 4.0 โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้า มากกว่าขายสินค้าในปริมาณมาก สู่การเป็นสมาร์ท เอสเอ็มอี พร้อมทั้งผู้ประกอบการจะต้องกล้าออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยต้องการให้เริ่มต้นที่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาเวียดนาม) ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องนำเอสเอ็มอีออกไปโรดโชว์ยังต่างประเทศ เพิ่มโอกาสและช่องทางการค้า

 

          อย่างไรก็ดีในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  และกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้มแข็งและมีศักยภาพออกไปโรดโชว์จับคู่ธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการค้า โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้เข้าไปศึกษาการลงทุน และชักจูงไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลี เนื่องจากมีเอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง มีศักยภาพมีกำลังซื้อ นอกเหนือจากญี่ปุ่น และจีน พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการชักชวนเข้ามาลงทุนในไทย และแลกเปลี่ยนถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตให้กับเอสเอ็มอีไทย

 

          นอกจากนี้กระทรวงอุตสากรรมยังได้เร่งดำเนินการพัฒนาเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาควบคู่กันไป ผ่านโครงการ “SMEs Spring Up” เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ โดยจะสร้างความรู้ด้านนวัตกรรมและมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม หรือสปริงบอร์ดของกระทรวง ซึ่งถือเป็นโครงการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมแก่เอสเอ็มอีไทย เป็นหลักสูตรการอบรมระดับสูง ที่รวบรวมผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการให้แก่เอสเอ็มอี

 

ขีดเส้น 3 เดือนปรับโครงสร้างบีโอไอ ให้การทำงานทันสมัยรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

          นอกจากนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังได้มอบหมายให้บีโอไอปรับปรุงโครงสร้างกลุ่มงานต่าง ๆ ให้ทันสมัยรองรับอนาคตได้ รวมถึงสอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งให้นำรายละเอียดต่าง ๆ มานำเสนอในที่ประชุมอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงต้นปี 2560

               

          พร้อมทั้งยังได้มอบหมายให้บีโอไอเร่งศึกษาแนวทางใน 3 เดือนข้างหน้า เพื่อดึงนักลงทุนจาก 3 ประเทศ ได้ แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SME ที่มีความเข้มแข็งและมีการไปลงทุนยังต่างประเทศสูงมาก พร้อมสั่งการให้บีโอไอใช้ประโยชน์จากการที่ธนาคารไอซีบีซีของประเทศจีน นำนักลงทุนกว่า 200 คน เข้ามาในประเทศไทย

               

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนใหม่ฯ บีโอไอ เองต้องปรับโครงสร้างการทำงานตามระเบียบราชการ โดยมีเป้าหมายที่จะตั้งสำนักงานบริหารการลงทุนที่จะเข้ามาดูแลในกลุ่มการลงทุนที่เป็นเป้าหมายพิเศษเพิ่มเติม จากเดิมที่มีสำนักบริหารการลงทุน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมและยกระดับหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD) ขึ้นเป็นสำนักงานเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งภายในสิ้นปีนี้จะรายงานต่อรองนายกพิจารณาอีกครั้ง

 

หนุนภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 4.0

 

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันไทยเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ให้ความสำคัญกับการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง

 

          โดยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาหารเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพและเทคโนโลยีการแพทย์ 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4.กลุ่มดิจิทัลเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง

ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ดังกล่าวภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นส่วนที่สำคัญ รวมทั้งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนและทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งจะยิ่งทวีความสำคัญในด้านบทบาทและมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไปในอนาคต

 

          สำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่ยุทธศาสตร์ประเทศ จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หมายถึงการนำชิ้นส่วนหรือกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไปต่อยอดในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับการผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งอุตสาหกรรมขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ไมโครชิพเพื่อการควบคุมชุดคำสั่ง เป็นต้น 2.กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หมายถึงการนำชิ้นส่วน หรือกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เกิดระบบการควบคุมอัจฉริยะในขั้นตอนการผลิตของอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์จากโอกาสในการเพิ่มความคุ้มค่าต่อการลงทุน รวมไปถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อาทิ หุ่นยนต์ในระบบการผลิตอัตโนมัติ แขนกลประกอบเครื่องจักร เป็นต้น

 

          นายพสุกล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อให้เป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ ทั้งการผลักดันนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต รวมทั้งขยายฐานการลงทุนของบริษัทที่อยู่ในไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2558 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออกกว่า 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีการนำเข้าประมาณ 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9.45 แสนล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2559 จะมีการเติบโตมากกว่า 6.5% ต่อปี

 

          โดยในปี 2560 กสอ. มีแนวทางการดำเนินงานและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม โครงการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ การพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท และมีเป้าหมายพัฒนาสถานประกอบการให้ได้ประมาณ 200 กิจการ/2,000 คน

 

กนอ. จับมือ TPB ผลักดัน นิคมอุตสาหกรรมยางพารา

 

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ว่า กนอ. ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือกับบริษัท เทร์ดวินด์ แพลนเทชั่น เบอร์เฮด จำกัด (TPB) เพื่อผลักดันการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา (Rubber City) และโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพาราโคทา พูทาร์ (Kota Putra Rubber City) รัฐเคดาร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรี ของทั้ง 2 ประเทศ เป็นสักขีพยานลงนามความร่วมมือในครั้งนี้

 

          ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือกันระหว่าง กนอ. และ TPB สอดคล้องนโยบายการเชื่อมโยงความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปยางระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย โดยกรอบความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการส่งเสริมการลงทุน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมยาง การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมทั้งการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการของ กนอ. ในอนาคต และยังเป็นการสร้างความแข็งแรงด้านการผลิตและอุตสาหกรรมยางพาราในภูมิภาคอาเซียน โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลงทุนแต่อย่างใด

 

          “TPB เป็นผู้พัฒนาโครงการอุตสาหกรรมยางพาราของมาเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ปัจจุบันดำเนินโครงการยางพาราดุเรียน บุรัง (Durian Burung Rubber City) ในพื้นที่ของ TPB เอง โดยรัฐบาลมาเลเซียให้การสนับสนุนดำเนินการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราบนพื้นที่ 2,618.13 ไร่ ตั้งอยู่ที่ดุเรียน บุรัง รัฐเคดาร์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับด่านบ้านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา โครงการ Durian Burung Rubber City จะเน้นอุตสาหกรรมยางพาราขั้นต้นน้ำและกลางน้ำ” นายวีรพงศ์ กล่าว

 

จับมือพัฒนาระบบการขออนุญาตนำกากออกนอกโรงงานผ่านอินเตอร์เน็ต

 

          กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าพัฒนาระบบการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงาน (สก.2) เพื่อยกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลและพิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งสามารถแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการทราบได้ทันทีภายใน 3 นาที จากเดิมการพิจารณาอนุญาตใช้เวลา 10 – 30 วัน โดยร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือ "โครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Auto E-License" ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. เตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานบำบัดและกำจัดกากของเสียผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

 

          ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาระบบการอนุญาตกากอุตสาหกรรมจากระบบเอกสารเป็นระบบไร้กระดาษหรือการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-License) ช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการที่ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม และอำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยมีเจ้าหน้าที่พิจารณาอนุญาตและแจ้งผลการพิจารณาในระบบไร้กระดาษ ครั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม

 

          โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมขึ้นมาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent: AI) เป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลในคำขออนุญาตและแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการได้ทราบในเวลาไม่เกิน 3 นาที ซึ่งระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทดลองนำร่องนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับบำบัด/กำจัดที่ร่วมโครงการและเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่จะมาทำงานร่วมกัน ดำเนินการให้สมองกลสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและสามารถขยายผลไปยังผู้ประกอบกิจการรายอื่น ๆ เพื่อให้กากเข้าสู่ระบบตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.2558–2562 ที่จะต้องดำเนินการให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% ภายใน 5 ปี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสานงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะพัฒนาองค์กรเข้าสู่ Industry 4.0 และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะได้พัฒนาองค์กรเข้าสู่ DIW 4.0 เช่นเดียวกัน         

 

          ด้าน นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการดำเนินงานให้แพร่หลายมากขึ้นนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงพัฒนาระบบสารสนเทศการจัดการกากอุตสาหกรรม (E-license) เพื่อยกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมขึ้นมาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่และแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการได้ทราบทันทีในเวลานั้น เป็นช่องทางการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการบำบัดและกำจัดกากของเสียให้เข้าสู่มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานในการขออนุญาตนำของเสียออกนอกบริเวณโรงงานให้เกิดการเข้าถึงและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

          ที่ผ่านมาการยื่นขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) สามารถดำเนินการได้ 2 แบบคือ การยื่นขออนุญาตเป็นระบบเอกสาร และการยื่นขออนุญาตระบบไร้เอกสารหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อคำขอฯ ได้ยื่นเข้ามาที่กรมโรงงานฯ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางใดก็ตาม เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้พิจารณาการอนุญาต ซึ่งสถิติปี 2557-2558 การพิจารณาการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยเจ้าหน้าที่มีจำนวนคำขอรวมประมาณ 80,000 คำขอ มีรายการกากอุตสาหกรรมที่ต้องพิจารณารวมประมาณ 500,000 รายการ ในบางช่วงเวลาทำให้คำขอของโรงงานผู้ก่อกำเนิดหลายรายใช้เวลาพิจารณานานมากกว่า 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเป็นการรองรับปริมาณคำขอที่จะเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายเร่งรัดให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบบริหารจัดการฯ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้จับมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Auto E-License ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการพิจารณาอนุญาตโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล และตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 โดยทั่วไปมีระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตประมาณ 10–30 วัน ขึ้นกับจำนวนรายการในคำขอฯ ที่โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมแต่ละรายยื่นขออนุญาต เมื่อใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่ จะสามารถลดเวลาเหลือเพียงไม่เกิน 3 นาที ซึ่งระบบนี้จะรองรับเฉพาะการขออนุญาต สก.2 ที่ยื่นผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

 

          สำหรับรูปแบบการพิจารณาอนุญาต สก.2 โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

 

          ขั้นตอนที่ 1 โรงงานผู้ก่อกำเนิดยื่นขออนุญาต สก.2 ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Internet)

 

          ขั้นตอนที่ 2 ระบบฯ ตรวจสอบข้อมูลทุกรายการในคำขอที่ยื่นขออนุญาต กับสารสนเทศการรับบำบัด/กำจัดของเสียของโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัดแต่ละราย

 

          ขั้นตอนที่ 3 เฉพาะรายการที่ Matching ตรงกัน ระบบฯ จะพิจารณาอนุญาตตามเงื่อนไขโดยอัตโนมัติ ในขณะที่รายการที่ไม่สามารถ Matching ได้ จะเข้าสู่ระบบการพิจารณาอนุญาตปกติโดยเจ้าหน้าที่

 

          ทั้งนี้ การดำเนินงานพิจารณาอนุญาต สก.2 รูปแบบใหม่ถือเป็นการพิจารณาอนุญาตโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้การพิจารณาอนุญาต สก.2 เกิดความรวดเร็ว ชัดเจน เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียว และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอนุญาตและผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด

 

          ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในระยะแรกจะใช้เวลาดำเนินงาน 6 เดือน นับจากวันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานตามโครงการนำร่อง ดังนี้

 

          1.จัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน

          2.จัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อจัดทำเกณฑ์การอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบ

          3.ปรับปรุงระบบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ Auto E License ซึ่งเป็นระบบที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้ประกอบการบำบัดและกำจัดกากของเสียเข้าสู่ระบบมาตรฐาน

          4.ดำเนินการปฏิบัติงานในระยะเวลา 6 เดือน และการประเมิน

 

          อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการนำร่องนี้แล้วเสร็จ จะมีการนำระบบการพิจารณาอนุญาตกากอุตสาหกรรมโดยปัญญาประดิษฐ์ ไปขยายผลใช้กับกลุ่มผู้ประกอบการรับบำบัด/กำจัดของเสียได้ทั้งหมด ซึ่งทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอนุญาต โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม และโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด ต่างก็ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เป็นการสานงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้พัฒนาองค์กรเข้าสู่ Industry 4.0 และกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้พัฒนาองค์กรเข้าสู่ DIW 4.0 เช่นกัน

 

ไทย-จีน ต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี

 

          นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยการประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ไทย-จีน ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร โดยเป็นการต่อยอดผลการหารือระหว่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทย กับนายจาง เกาลี่ รองนายกรัฐมนตรีของจีน และนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ เมื่อเดือน มิ.ย.59

 

          โดยไทยและจีนตกลงที่จะต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปีฉบับเดิมที่จะหมดอายุในปี 2559 ออกไปอีก 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งมีสาระครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 14 สาขา โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยในระยะ 1-2 ปีแรกจะเน้นนวัตกรรมของความร่วมมือในสาขาที่สองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน และให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐาน 2.อุตสาหกรรม 3.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 5.พลังงาน และให้มีการหารือสาขาความร่วมมือด้านอื่น ๆ ในปีถัดไป ซึ่งแนวทางการจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจนี้ จะเน้นความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่จะสอดรับกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน และยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0" ของไทย

 

          ทั้งนี้ สองฝ่ายจะเร่งหารือรายละเอียดโครงการ และกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจไทย-จีน ภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5 (ระดับรองนายกรัฐมนตรี) ในเดือน ธ.ค.59 ต่อไป

 

          นายสุวิทย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้สองฝ่ายได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยขอให้จีนเร่งรัดการนำเข้าค้าสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว และยางพารา ภายใต้ MOU ความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งขอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งประสานการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถส่งออกรังนกไทยไปจีนได้โดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีการหารือเพื่อลดอุปสรรคของนักลงทุนไทยในจีน และอุปสรรคของนักลงทุนจีนในไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนให้กันและกันต่อไป นอกจากนี้ฝ่ายจีนได้แสดงความสนใจในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Special Economic Zone (SEZ) และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ของไทยอีกด้วย

 

          ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 13 ของจีนโดยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 12 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2558 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 65 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปี 2559 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับจีน 36 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด