เนื้อหาวันที่ : 2016-11-25 14:15:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3959 views

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

ประเทศไทย มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมาจากภาคเกษตรกรรมและอาหารเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่สนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ประกอบการปรับตัว ปรับเปลี่ยนนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่กระบวนการผลิต หลังเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ก้าวสู่ “Thailand 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาล

 

     อย่างไรก็ดียังมีอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศมายาวนานเช่นกัน ได้แก่ “อุตสาหกรรมเหมืองแร่” อันเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีความเชื่อมโยงกับอีกหลายอุตสาหกรรม โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาไทยสามารถสร้างมูลค่าผลผลิตแร่ได้มากกว่า 6.34 หมื่นล้านบาท จากข้อมูลล่าสุดกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าอุตสาหกรรมด้านนี้จำเป็นต้องมีความสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของ “โครงการเหมืองแร่สีเขียว” เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยในอนาคตเหมืองแร่ในไทยจะต้องได้รับมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวทั้งหมด

 

ไทยผลิตแร่ 40 ชนิด ราว 250 ล้านตัน/ปี

 

          ทั้งนี้ไทยเป็นแหล่งผลิตแร่ที่สำคัญประมาณ 40 ชนิดและสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดร.อรรณุวัฒน์ วัฒนวรรณ ผู้เชี่ยวชาญสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กพร. เปิดเผยว่า ปริมาณการผลิตแร่รวมของไทยอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านตันในปี 2558 ขณะที่การประกอบการปัจจุบันแบ่งเป็นเหมืองแร่และเหมืองหินจำนวน 1,169 แปลงประทานบัตร มีโรงแต่งแร่ 239 ราย โรงโม่หิน 315 ราย และโรงประกอบโลหกรรม 28 ราย ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นหินอุตสาหกรรมก่อสร้างประมาณ 80%  หินปูนผลิตซีเมนต์ราว 33% และลิกไนต์ราว 6%

 

          ด้าน นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดี กพร. เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เหมืองแร่ไทยที่เปิดทำเหมืองปัจจุบันจำนวน 585 เหมือง สามารถสร้างมูลค่าผลผลิตแร่ได้กว่า 63.4 หมื่นล้านบาทในปี 2558 ซึ่งแร่ที่มีมูลค่าการผลิตสูงที่สุดได้แก่ หินปูน ลิกไนต์ และยิปซัม โดยมีมูลค่า 2.19 หมื่นล้านบาท, 1.45 หมื่นล้านบาท และ 7.04 พันล้านบาท ตามลำดับ

 

          ขณะที่ผลผลิตแร่ที่สามารถส่งออกได้สูงสุด ได้แก่ ยิปซัม ดีบุกและทองคำ มีมูลค่าการส่งออก 5.01 พันล้านบาท 4.27 พันล้านบาท และ 4.21 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยไทยจัดเป็นผู้ส่งออกยิปซัมรายใหญ่ของโลก ตลาดส่งออกที่สําคัญของไทยได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน อินเดีย และญี่ปุ่น (ข้อมูล: กลุ่มวิเคราะห์สถิติแร่, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2551-2555) 

 

          ส่วนการนำเข้าแร่ของไทย ในปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 6.19 หมื่นล้านบาท ซึ่งหดตัวลงไปร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยแร่นำเข้าที่สำคัญได้แก่ ถ่านหินบิทูมินัส 2.59 หมื่นล้านบาท ถ่านหินชนิดอื่น 1.82 หมื่นล้านบาท สังกะสี 1.9 พันล้านบาท

 

          ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ยังเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งจากข้อมูล "อุตสาหกรรมเหมืองแร่กับระบบเศรษฐกิจไทย" (โดย จรินทร์ ชลไพศาล สำนักเหมืองแร่และสัมปทาน 13 ม.ค.2558 ที่คำนวณโดยใช้ตารางปัจจัยการผลิต-ผลผลิตสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2548) พบว่า อุตสาหกรรมที่ใช้แร่เป็นวัตถุดิบมีถึง 82 สาขาจากทั้งหมด 180 สาขา มูลค่าการใช้แร่เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศมีมูลค่าประมาณ 94,740 ล้านบาท โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการใช้แร่มากที่สุด คือ การก่อสร้างบริการสาธารณะที่ไม่เกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 22.1 ของมูลค่าการใช้แร่ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ การผลิตซีเมนต์ การผลิตไฟฟ้าและการผลิตคอนกรีต  

 

          ผลผลิตถ่านหินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการผลิตไฟฟ้า (ร้อยละ 81.4) ส่วนผลผลิตแร่โลหะส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก (ร้อยละ 58.3) ผลผลิตจากเหมืองหินส่วนใหญ่ถูกใช้ในงานก่อสร้างและซีเมนต์ และผลผลิตจากเหมืองแร่ชนิดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับและการก่อสร้าง

 

กพร. ตั้งเป้าทุกเหมืองในไทยก้าวสู่ “เหมืองแร่สีเขียว” ใน 10 ปี

 

          จะเห็นได้ว่า เหมืองแร่เป็นประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมากมายและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ อย่างไรก็ดี การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยากตั้งแต่เริ่มต้นขออนุญาตประทานบัตร การต้องทุ่มงบก้อนใหญ่ลงทุนกับกระบวนการผลิต ไปจนถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในสถานประกอบการและพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างยั่งยืน ไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสังคม 

 

          กพร. เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามากำกับดูแลในการอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการอุตสาหกรรมแร่และโลหการ ซึ่งมีการกำหนดมาตรการดูแลและตรวจสอบเหมืองแร่ไว้ตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ตลอดจนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ได้ โดยจะดูแลอย่างเข้มงวดทางด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย ด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงการตรวจสอบการทำเหมืองตามเงื่อนไขในประทานบัตร โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งคุณภาพอากาศ น้ำ เสียง และแรงสั่นสะเทือน  

 

          ซึ่งจะมีการประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบและติดตามผลการประกอบกิจการเหมืองแร่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการฯ ของสถานประกอบการ รวมถึงรับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนและเครือข่ายภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทั้งนี้หากพบว่า กิจการเหมืองแร่ปฏิบัติไม่สอดคล้องกับมาตรการฯ ที่กำหนด หรือส่งผลกระทบต่อชุมชน จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสั่งการให้ผู้ประกอบการปรับปรุงภายในระยะเวลาที่กำหนดและติดตามผลอย่างใกล้ชิด

 

          ความพยายามเพื่อผลักดันให้การทำเหมืองแร่มีความปลอดภัยต่อทุกคน ทั้งผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการและชุมชน สังคมข้างเคียง จึงเป็นที่มาของ “โครงการเหมืองแร่สีเขียว” (Green Mining)

 

          นายชาติ อธิบดี กพร. กล่าวว่า “นอกจากกิจการเหมืองแร่จะต้องได้รับใบอนุญาตสัมปทานอย่างเป็นทางการจากภาครัฐแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากภาคสังคม (Social License to Operate: SLO) ด้วย ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย การได้รับความเชื่อถือและความไว้วางใจจากชุมชน เครื่องมือสำคัญในการประกอบกิจการเหมืองแร่เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) หรือการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง อาทิ มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน กพร.ยังรณรงค์ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่บริหารจัดการและปฏิบัติงานเหมืองแร่ให้เป็น เหมืองแร่สีเขียวด้วย”

 

          ทั้งนี้  “เหมืองแร่สีเขียว” หมายถึง การพัฒนาทรัพยากรแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมโดยก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและเป็นการพัฒนาทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับทุก ๆ ด้านในการประกอบการเหมืองแร่และกิจกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดี มีความปลอดภัย มีพื้นที่สีเขียว มีความโปรงใสในการดำเนินธุรกิจ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าและประหยัด

 

          ในปี 2547 กพร. เริ่มมีแนวคิดเพื่อยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานของไทยให้สูงขึ้น โดยจำแนกเป็น 5 ประเภท ตามกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สถานประกอบการเหมืองแร่ โรงแต่งแร่ การประกอบโลหกรรม โรงงานโม่ บด และย่อยหิน และโรงงานผลิตเกลือสินเธาว์ มาตรฐานทุกประเภทจะครอบคลุมใน 4 ด้านหลักของการประกอบการ ได้แก่ 1.ด้านการจัดการและคุณภาพการประกอบการ 2.ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย 3.ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และ 4.ด้านการประสานความร่วมมือกับภาครัฐและชุมชน โดยทำการคัดเลือก ให้รางวัล และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ได้รับรางวัล นับตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา

 

          ต่อมาในปี 2552 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มีนโยบายที่จะยกระดับมาตรฐานของสถานประกอบการที่รับผิดชอบให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยเน้นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงได้ประกาศนโยบายเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Policy) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 เน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทั้งทางด้านการให้บริการแก่ผู้ ประกอบการ พร้อม ๆ กับการสนับสนุนและผลักดันให้สถานประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้การประกอบการเหมืองแร่เป็นไปอย่างยั่งยืน

 

          เพราะหากไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม ย่อมกระทบต่อธุรกิจเหมืองแร่ให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ดังกรณีการร้องเรียนเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากเหมืองแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีพื้นที่ประกอบกิจการ คาบเกี่ยว 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก รวมกว่า 3,000 ไร่ นำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีวันที่10 พฤษภาคม 2559 ที่ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำแก่เอกชนทุกราย รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดทั่วประเทศ  โดยขยายเวลาให้บริษัท อัคราสามารถประกอบกิจการเพียงสิ้นปี 2559 นี้ เพื่อนำแร่ที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ 

 

          นายชาติ กล่าวว่า กพร. รณรงค์ต่อเนื่องเพื่อให้สอดรับกับ “โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว” (Green Industry) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเหมืองแร่ที่ได้มาตรฐาน “เหมืองแร่สีเขียว” ประกอบด้วย การประกอบการเหมืองแร่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม การลด ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนตามมาตรฐาน ISO 9000 ISO 14000 มีการใช้เทคโนโลยีสะอาด (CT) มีระบบดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง มีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสามารถตรวจสอบได้ จนในปี 2558 ที่ผ่านมา มีเหมืองแร่ที่ได้มาตรฐาน “เหมืองแร่สีเขียว” เป็นจำนวน 85 ราย หรือประมาณร้อยละ 15 จากจำนวนเหมืองแร่ทั้งหมดในประเทศไทย และได้ตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เหมืองแร่ในประเทศไทยจะได้รับมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวทั้งหมด

 

 

 

 

 

“เหมืองศิลาสากลพัฒนา” ต้นแบบเหมืองแร่สีเขียว
โรงโม่บดย่อยหินปูนอยู่ร่วมกับชุมชนยั่งยืน

 

          สำหรับตัวอย่างเหมืองแร่สีเขียวแห่งหนึ่งได้แก่ “เหมืองศิลาสากลพัฒนา”  ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กพร.ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม โดยเหมืองแห่งนี้เป็นเหมืองผลิตและจำหน่ายหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และก่อสร้าง ได้รับอนุญาตประทานบัตรเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2548 ถึงปี 2573 เพื่อดำเนินการบนพื้นที่มากกว่า 257 ไร่ มูลค่าการลงทุน 60 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 1.5 ล้านตันต่อปีคิดเป็นมูลค่าราว 155 ล้านบาทต่อปี ปริมาณผลผลิตตลอดโครงการตั้งแต่ปี 2548 ประมาณการไว้ที่ 2,800 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณสำรองหินปูน ณ ปัจจุบันคาดว่ามีประมาณ 12 ล้านเมตริกตัน

 

          ผลจากการตรวจเยี่ยมบริษัทฯ ได้พบว่า บริษัทฯ มีการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณชุมชนโดยรอบพื้นที่ประทานบัตรตามข้อกำหนดของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งดำเนินกิจกรรมการฟื้นฟูพื้นที่โดยทำควบคู่กับกิจกรรมการเปิดหน้าเหมือง มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ผ่านการทำเหมือง มีการจัดสรรพื้นที่โดยรอบแปลงประทานบัตรทางด้านทิศตะวันตกสำหรับปลูกป่าเพื่อเป็นแนวกันฝุ่นและเสียง จำนวน 700 ไร่ มีการเว้นพื้นที่ประทานบัตรด้านทิศเหนือเป็นพื้นที่ Buffer Zone รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่เหมืองแร่และโรงโม่หิน ด้วยการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง

 

          นายทวี ทวีสุขเสถียร ผู้จัดการทั่วไปบริษัทศิลาสากลพัฒนา เปิดเผยว่า เหมืองแห่งนี้ถือเป็นสถานประกอบการระดับกลางที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ อยู่ร่วมกับชุมชน โดยมีสังคมเป็นผู้กำหนด จึงได้เป็นเหมืองต้นแบบมาตั้งแต่ปี 2552 ทั้งนี้โครงการความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง มีดังนี้คือ

  1. รับข้อร้องเรียนจากชุมชน มีตัวแทนจากบริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมการประชุมของชุมชนและหมู่บ้านเพื่อพูดคุยและรับรู้ปัญหา พร้อมมีกิจกรรมเพื่อสังคม แจกทุนการศึกษาแก่เด็ก ๆ ในชุมชน สร้างบ้านธารน้ำใจแก่ผู้ยากไร้และมีการทำบุญบ้านที่กลายเป็นประเพณีประจำปี ซึ่งเป็นโอกาสทำให้ผู้บริหารบริษัทได้พบปะกับชาวบ้าน
  2. มีมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองหินได้แก่ ฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน น้ำขุ่นข้น ทางบริษัทได้จ้างบริษัทภายนอกมาศึกษาผลกระทบ โดยทำปีละ 2 ครั้งในฤดูแล้งและฤดูฝนและได้แก้ไขหลายวิธี เช่น การฉีดสเปรย์น้ำเพื่อลดฝุ่นที่แหล่งกำเนิด ฉีดพรมน้ำทำความสะอาดทุก 1-2 สัปดาห์ และทำถนนลาดยาง
  3. การดูแลความปลอดภัยและสุขอนามัยของคนงาน อาทิ การตรวจวัดสภาพเครื่องจักรและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน การสวมหน้ากากปิดจมูก การปิดคลุมโรงโม่ ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจปอด ป้องกันฝุ่นหินในปอด เป็นการดูแลรักษาบุคลากรไม่ให้เจ็บป่วย และส่งข้อมูลไปยังกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบมากในโรงงานปรากฏว่า ไม่ใช่เป็นปัญหาด้านปอด แต่ทว่า 60% กลับเป็นโรคอ้วน ส่วนอื่น ๆ ได้แก่ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
  4. การสร้างพื้นที่สีเขียว 700 ไร่ ดำเนินการโดยนำผลกำไรมาซื้อพื้นที่รอบ ๆ เหมืองเพื่อปลูกป่า ทำให้ชาวบ้านมีการขยายชุมชนและมีผลทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นด้วย จากอดีตราคาเพียง 70,000-80,000 บาทต่อไร่ ปัจจุบันขยับขึ้นมาราคา 2-3 ล้านบาทต่อไร่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพื้นที่หลังทำเหมืองแล้วให้กลายเป็นแหล่งน้ำของชุมชน ได้มีน้ำใช้
  5. การทำธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
  6. มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยยึดหลัก 3R หินที่ขายไม่ได้หรือขายไม่ดีมีการนำไปโม่ซ้ำ เพื่อให้กลายเป็นหินขายดีที่มีขนาดเล็กลง การตัดกิ่งไม้ที่ปลูกไว้มาใช้ในโครงการฟื้นฟู โดยสับ-หมักทำปุ๋ย ซึ่งได้ตั้งโรงงานเพื่อผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้ภายในเหมือง แม้แต่ “ฝุ่นหิน” หรือ “หินฝุ่น” ยังสามารถนำไปบรรจุถุงขายได้ เป็นอาหารเสริมสำหรับต้นปลูกพืชเติบโตได้ดี

 

          “พื้นที่อนุญาตทำเหมือง 254 ไร่ เวลานี้เหลือพื้นที่ทำเหมืองเพียงประมาณ 170-180 ไร่ ซึ่งจะทำได้อีกไม่เกิน 10 ปี ส่วนแหล่งใหม่จะเป็นที่ใดนั้นยังบอกไม่ได้ เวลานี้ทางราชการกำลังกำหนดแหล่งหินของจังหวัดอยู่ ส่วนผลผลิตขายในประเทศทั้งหมด เพราะหินขาดแคลนมาหลายปีตั้งแต่ปี2535 ทั้งประเทศคาดว่า มีผลผลิตราว 250 ตันต่อปี นอกจากนี้ธุรกิจเหมืองหินยังถือเป็นธุรกิจที่ทำได้ยาก ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในโครงการก่อสร้าง ถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ บริษัทฯอยู่มายาวนานได้เพราะยึดหลัก อนุรักษ์คู่การพัฒนา”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผลงานเด็ด จับ "ฝุ่น" ใส่ถุงขายได้

 

          ทางด้าน นายจิรชน หงรัตนากร ผู้จัดการโรงงานได้เปิดเผยถึงแนวคิดนำฝุ่นหินมาขายว่า เริ่มมาจากในช่วงแรกบริษัทมีโครงการการกุศล บริจาคหินตามคำร้องขอ ต่อมามีอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมาขอหินฝุ่นไปวิจัย ซึ่งพบว่า มีแร่ธาตุที่เหมาะสำหรับปลูกมันสำปะหลัง ตนจึงมาทดลองใช้หินฝุ่นโรยปลูกต้นพืช ซึ่งได้พบว่า หินฝุ่นสามารถละลายซึมไปในดินได้ดี

 

          นอกจากนี้จากการสังเกตการณ์ยังพบว่า ต้นสัก มะค่า ในพื้นที่สามารถเติบโตได้ดีเมื่อมีหินปูนอยู่ตามร่อง จึงนำหินฝุ่นมาใช้ในการปลูกต้นไม้และได้นำแจกจ่ายแก่ชาวบ้านด้วย เพราะสามารถทดแทนปุ๋ยได้

 

          ต่อมามีบรรจุถุงขายแก่เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนและได้ผลผลิตมันสำปะหลังที่ดีกว่าด้วย  โดยใส่หินฝุ่นเพียง 30 กก.ต่อไร่ ได้ผลผลิต 7 ตันต่อไร่ จากเดิมได้เพียง 2.5-3 ตันต่อไร่ 

 

          เวลานี้นำขายผู้ผลิตปุ๋ยเม็ดอินทรีย์เป็นหลัก ขายตันละ 600 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาหินเสียอีก โดยราคาหินอยู่ที่ตันละ 400 บาท ทรายตันละ 200 บาทและปูนซีเมนต์ตันละ 100 บาท

 

เยี่ยม “เหมืองแร่โพแทช”
ช่วยลดนำเข้า-เกษตรกรใช้ปุ๋ยราคาถูกลง

 

          หลังจากไปเยือนต้นแบบเหมืองสีเขียวแล้ว คณะสื่อมวลชนยังมีโอกาสติดตามท่านรัฐมนตรี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดี กพร. ไปเยี่ยม “โครงการเหมืองแร่โพแทช” ในจังหวัดเดียวกันด้วย ซึ่งได้แก่ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เหมือนแห่งแรกที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มีกำลังการผลิตแร่โพแทช 1 แสนตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,100 ล้านบาทต่อปี ส่วนอีกโครงการที่ได้รับอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่คู่กันได้แก่ บริษัท อาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิมีกำลังการผลิตแร่โพแทช 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี ทั้ง 2 บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างเหมืองแร่โพแทชใต้ดิน ซึ่งทางบริษัทไทคาลิคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ในสิ้นปี 2560 นี้

 

          ทั้งนี้ไทยนับว่ามีแหล่งแร่โพแทชอยู่พอสมควร โดยจากการประเมินเชิงศักยภาพแหล่งแร่ พบว่า ไทยมีปริมาณสำรองประมาณ 407,000 ล้านตัน แบ่งเป็นแร่โพแทชคุณภาพดีหรือแร่โพแทชชนิดซิลไวท์ประมาณ 7,000 ล้านตัน และแร่โพแทชคุณภาพรองลงมาหรือแร่โพแทชชนิดคาร์นัลไลท์ประมาณ 400,000 ล้านตัน ทั้งนี้ปริมาณสำรองแร่ที่สำรวจพบดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยแบ่งเป็น 2 แอ่ง ได้แก่ แอ่งสกลนครครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 17,000 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม หนองคาย และอุดรธานี

 

          ส่วนแอ่งโคราช ครอบคลุมพื้นที่ 33,000 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ

 

          สำหรับ 2 โครงการเหมืองแร่โพแทชนี้คาดว่า จะสามารถผลิตปุ๋ยโพแทชได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ด้วยกำลังการผลิตแร่โพแทช 1.2 ล้านตันต่อปี โดยจะสามารถทดแทนการนำเข้าปุ๋ยโพแทชได้กว่า 700,000 ตันต่อปี ช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยถูกลงร้อยละ 20-25 ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรของไทย ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกและกำลังก้าวสู่การเป็นครัวของโลก โดยไทยมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรประมาณ 105 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.7 ของพื้นที่ทั้งหมด ไทยจึงมีการนำเข้าปุ๋ยปีละประมาณ 4 ล้านตัน มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโพแทชเซียมประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี

 

 

 

 

 

          นอกจากนี้แร่โพแทชส่วนที่เหลือยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นได้อีก เช่น อุตสาหกรรมสบู่ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นต้น  ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยได้อีกทางหนึ่ง และหากไทยเป็นแหล่งผลิตแร่โพแทชในภูมิภาคอาเซียน จะทำให้มีอำนาจต่อรองในการจัดหาปุ๋ยฟอสเฟต ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 

 

          นางอรรชกา กล่าวว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจากโครงการเหมืองแร่โพแทช นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ผู้รับประทานบัตรจะต้องจ่ายประมาณ 15,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีค่าภาคหลวงแร่เป็นเงินประมาณ16,600 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการโดยจะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน 6,640 ล้านบาท และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9,960 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะแบ่งให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโครงการ 3,320 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตามประทานบัตร 3,320 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลอื่นที่อยู่ภายในจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ประทานบัตร 1,660 ล้านบาท และองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดอื่น 1,660 ล้านบาท

 

          นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีรายได้จากเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐประมาณ 3,400 ล้านบาทและมีการจัดให้มีกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม 740 ล้านบาท กองทุนสุขภาพของประชาชน 57.5 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เหมือง 325 ล้านบาท

 

          ขณะเดียวกันทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนปุ๋ยโพแทชราคาถูกเพื่อเกษตรกรไทย ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพสูงราคาถูกตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาลด้วย  

 

          สำหรับผู้ประกอบการอีกรายที่ยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทชเพิ่ม คือ บริษัท เอเซีย แปซิฟิคโปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด จังหวัดอุดรธานี โดยยื่นคำขอประทานบัตรรวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 36,000 ล้านบาท มีแผนการผลิตปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี จากปริมาณสำรองแร่ที่สำรวจพบประมาณ 267 ล้านตัน กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาคำขอประทานบัตรดังกล่าว 

 

 

“ไทยคาลิ” ย้ำจะป้องกันให้ดีที่สุด

 

          ต้องถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่อุดมด้วยทรัพยากรมีค่า อย่างไรก็ดี เหมืองแร่โพแทช หนีไม่พ้นต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและตรวจสอบการประกอบการตามเงื่อนไขและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดเช่นกัน อีกทั้งยังต้องจัดทำประกันภัยเพื่อเป็นหลักประกันความเสียหายจากการทำเหมือง

 

          ในเรื่องนี้ นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยคาลิ ยืนยันว่า จะดูแลป้องกันให้ดีที่สุด โดยกล่าวว่า บริษัทได้รับประทานบัตรในปี 2558 เป็นโครงการทำเหมืองแร่โพแทชใต้ดินแบบห้องว่างสลับเสาค้ำยัน (Room and Pillar) วิธีการแต่งแร่แบบตกผลึกเย็น (Cold Crystallization) และการลอยแร่ (Flotation) ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างบนผิวเป็นโรงซ่อม โรงเก็บแร่ แต่งแร่ ส่วนใต้ดินเป็นอุโมงค์แนวลาดสำหรับใช้ในการลำเลียงแร่ที่ขณะนี้ขุดเจาะไปแล้วประมาณ 150 เมตร โดยมีเป้าหมายจะขุดไปที่ความลึก 1,250 เมตร ส่วนอุโมงค์แนวดิ่งใช้ในการระบายอากาศตั้งเป้าลึก 250 เมตรจากผิวดิน ซึ่งการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีเสาหินค้ำยันเพื่อป้องกันดินทรุดหรือถล่ม ซึ่งเป็นวิธีที่ทันสมัยใช้กันในต่างประเทศ คาดปีหน้าเสร็จตามเป้าหมาย

 

          ขณะเดียวกันทางบริษัทยังมุ่งสร้างเสริมความเข้าใจอันดีกับชุมชน มีผู้เชี่ยวชาญและมีเครื่องมือทันสมัยดูแล ป้องกันการปนเปื้อนและการแพร่กระจายในอากาศและแหล่งน้ำ โดยเกลือจะไม่มีการออกมากองข้างนอก ขนส่งเสร็จแล้วนำหางแร่กลับเข้าเหมือง ไม่มีน้ำเกลือออกมานอกพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีบ่อพักน้ำ คันดินและปลูกต้นไม้เพื่อทำให้เป็นเหมืองสีเขียวตามนโยบายของกระทรวงอุตฯ

 

          นอกจากนี้ยังมีการตรวจตราการทรุดตัวของพื้นดินและให้ความมั่นใจว่า จะดำเนินการตามเกณฑ์ที่กำหนดและให้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กพร. และตัวแทนภาคประชาชนอย่างเต็มที่

 

          “ยืนยันว่า จะป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ดีที่สุด” โดยภาพรวมแล้วอาจกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ไม่ว่าจะเป็นแร่ชนิดใด หรือเหมืองประเภทใดหากมีการดำเนินการภายใต้มาตรการคุมเข้มความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทุกภาคส่วนมีความมุ่งมั่นร่วมมือกันเพื่อทำให้ทุกอย่างออกมาดีแล้ว ก็จะมีแต่ได้กับได้เท่านั้น

 

          ช่วยสร้างเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศได้ รัฐได้ประโยชน์ ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจอย่างสบายใจและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด