เนื้อหาวันที่ : 2016-11-24 13:09:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3280 views

ศิริพร วันฟั่น

 

 

ในตอนแรกของบทความนี้ ได้กล่าวถึง งานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานทั้งในระดับชาติและสากล ที่จัดกันเป็นประจำทุก ๆ ปีในประเทศไทยจำนวน 3 งาน และในปี 2559 นี้ ก็ได้มีการจัดงานที่ว่านี้ลุล่วงไปแล้วตามลำดับ ได้แก่ วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ส่วนในตอนจบเราก็จะมารับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่สำคัญ ๆ ในช่วงรอยต่องานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (Safety Week) ครั้งที่ 29 และครั้งที่ 30 ดังเนื้อหาด้านล่างนี้

 

     ข่าวสาร กิจกรรมเด่นๆ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระหว่างช่วงรอยต่องานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (Safety Week) ครั้งที่ 29 และครั้งที่ 30

 

 

          โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ภายในประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และความร่วมมือในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน

 

ส่วนที่ 1 ระดับภายในประเทศ

 

          ตัวอย่าง เช่น

 

          • บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) (26 ก.ค.59)

 

          สืบเนื่องจากครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2557 ความว่า “การสร้างความปลอดภัยในสถานประกอบการ เพื่อผู้ใช้แรงงานจะไม่ต้องบาดเจ็บทุพพลภาพ” กอปรกับในช่วงเวลาต่อมารัฐบาลได้ประกาศนโยบายประชารัฐ เพื่อให้ประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทันต่อบริบทของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้งการที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ.2559 กระทรวงแรงงานจึงได้มีการประชุมหารือร่วมกับ 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นกับคนงานและประชาชนในทุกภาคส่วน ภายใต้โครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) ถือเป็นส่วนหนึ่งของวาระการขับเคลื่อนประเทศไทย (Startup Thailand) และได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อบูรณาการความร่วมมือและกำหนดยุทธศาสตร์งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ก.ค.59 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและสักขีพยานในพิธี

               

          แนวทางดำเนินการความร่วมมือโดยสรุปแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 1.การดำเนินการระยะสั้น กำหนดให้จัดทำแผนบูรณาการความร่วมมือภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับอัคคีภัย และด้านความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี แต่ละด้านจะดำเนินการใน 3 มิติ คือ มิติการส่งเสริมสนับสนุนในการดำเนินการ (การสร้างการรับรู้และการสร้างจิตสำนึก) มิติการกำกับดูแล และมิติการมีส่วนร่วมของประชาชน (ประชารัฐ) โดยมีช่วงระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน (มิ.ย.–พ.ย.59) และ 2.การดำเนินการระยะยาวเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทยร่วมกัน เพื่อลดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคจากการทำงาน อันจะสร้างเสริมความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนงานให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ มีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานตามโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) อยู่ด้วยกัน 2 ตัว คือ อัตราการประสบอันตรายจากการทำงานลดลง และการสัมผัสอันตรายของกลุ่มเป้าหมายตามที่บูรณาการลดลง

 

 

 

 

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand)” ระหว่างกระทรวงแรงงานกับอีก 5 กระทรวง เพื่อบูรณาการความร่วมมือและกำหนดยุทธศาสตร์งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 59 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและสักขีพยานในพิธี 

 

          นอกจากนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เตรียมนำเรื่องความปลอดภัย หรือ Safety Thailand เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติและส่งเสริมทศวรรษแห่งความปลอดภัยในระยะที่ 2 โดยเรียนเชิญ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและสักขีพยาน เบื้องต้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กำลังจัดทำร่างหลักสูตรเพื่ออบรมด้านความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะ เพื่อให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการให้บริการ ซึ่งทางคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ก็ได้ให้การขานรับนโยบาย Safety Thailand เป็นอย่างดีจากการประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ครั้งที่ 5/2559 (28 มิ.ย.59) ที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 64 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะหลายแห่ง เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทขนส่งจำกัด การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทรถไฟฟ้า รฟท. จำกัด เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ โดยจะมีการอบรมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ด้านความปลอดภัยแก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะ จะได้เกิดความตระหนักรู้ในหน้าที่ความรับผิดชอบ และให้ประชาชนที่ใช้บริการเกิดความปลอดภัยและมั่นใจในการใช้บริการ ทั้งนี้ จะมีการใช้กลไก “ประชารัฐ” เป็นส่วนประสานในการดำเนินงานโดยพื้นฐาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงานเอง ภายใต้แนวคิด “การปลูกจิตสำนึก ร่วมใจป้องกัน สร้างสรรค์ความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี”

 

 

          • “กิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2559 (Zero Accident Campaign 2016)”

 

          โดยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) (สสปท.) ได้รับการส่งมอบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อดำเนินการตามบทบาทหน้าที่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีความมุ่งมั่นในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่าอุบัติเหตุที่มีสาเหตุเกี่ยวกับการทำงานสามารถป้องกันได้ โดยการลดสถิติการประสบอันตรายในสถานประกอบกิจการให้เป็นศูนย์ ผ่านการวางแผนและบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อแรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดีที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ดังนั้น กิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2559 (Zero Accident Campaign 2016) จึงมุ่งเน้นให้สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการดำเนินการตามหลักการ 3 ข้อ คือ

 

          1. ผู้บริหารมีความมุ่งมั่น สถานประกอบกิจการต้องมีนโยบายด้านความปลอดภัยที่ระบุถึงการลดอัตราการประสบอันตรายให้เป็นศูนย์ที่ชัดเจน เพื่อเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดสถิติการประสบอันตรายให้เป็นศูนย์

 

          2. มีการบริหารจัดการ สถานประกอบกิจการมีระบบการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมุ่งเน้นให้มีการตระหนักถึงอันตรายจากการทำงาน มีการประเมินอันตราย ประเมินความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ มีการนำกิจกรรมด้านความปลอดภัยไปใช้ในทุกขั้นตอนการทำงาน

 

          3. การมีส่วนร่วม สถานประกอบกิจการจัดให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการลดอันตราย การประสบอันตรายของสถานประกอบกิจการให้เป็นศูนย์ โดยจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น การจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานประกอบกิจการ การจัดกิจกรรม 5 ส. กิจกรรม KYT กิจกรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบกิจการ รวมทั้ง การอบรมให้ความรู้กับพนักงานทุกระดับตามความเหมาะสมกับลักษณะงานและความเสี่ยงในการทำงาน

               

          สถานประกอบกิจการที่สมัครเข้าร่วมโครงการ (สถานประกอบกิจการทุกประเภทสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้) เมื่อผ่านเกณฑ์การพิจารณาในการดำเนินกิจกรรม Zero Accident Campaign ตามหลักการพื้นฐาน 3 ข้อข้างต้นแล้ว ก็จะได้รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณที่แบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น ระดับทองแดง ระดับเงิน ระดับทอง และระดับ Platinum โดยแต่ละระดับจะถูกจำแนกนับตาม จำนวนระยะเวลาสะสมชั่วโมงทำงานของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมาแบบต่อเนื่อง และจำนวนชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมา ที่สถานประกอบกิจการนั้น ๆ ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียการทำงาน นอกจากนี้ สถานประกอบกิจการที่ดำเนินกิจกรรม Zero Accident Campaign อย่างต่อเนื่อง ก็ยังสามารถที่จะขอเลื่อนระดับการประกาศเกียรติคุณได้ ใน 2 กรณีด้วยกัน คือ เมื่อสถานประกอบกิจการนั้น ๆ สามารถสะสมชั่วโมงการทำงานเข้าตามหลักเกณฑ์ของแต่ละระดับที่เพิ่มสูงขึ้นได้ และการที่สถานประกอบกิจการนั้น ๆ ได้รับประกาศเกียรติคุณในระดับเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี และในปีที่ 5 จะได้รับการเลื่อนระดับให้สูงขึ้น 1 ระดับ

               

          ในปี 2559 นี้ มีสถานประกอบกิจการสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 455 แห่ง สามารถผ่านเกณฑ์การพิจารณาให้ได้รับการประกาศเกียรติคุณ 371 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 81.54 ของสถานประกอบกิจการที่สมัครเข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็น ระดับทองแดงถึงแพลตินั่ม 227 แห่ง และระดับต้น 144 แห่ง โดยทางสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กำหนดจัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานประกอบกิจการจากการดำเนินกิจกรรม การรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2559 (Zero Accident Campaign 2016) โดยได้เรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล) เป็นประธานในพิธีและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ในวันที่ 31 ส.ค.2559 เวลา 11.30–15.00 น. ณ ห้องประชุม จอมพล ป พิบูลย์สงคราม กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ (ยกเว้นระดับต้นจะรับใบประกาศเกียรติคุณในงานสัปดาห์ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยส่วนภูมิภาค)

               

          พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign) โดยมีใจความว่า “การมอบรางวัลในครั้งนี้เป็นการประกาศเกียรติคุณสถานประกอบกิจการที่ช่วยกันลดอุบัติเหตุในการทำงานให้เป็นศูนย์ รวมทั้งรณรงค์ให้สถานประกอบกิจการได้มีการวางแผนในการลดอุบัติเหตุในการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยผู้บริหารระดับสูงของสถานประกอบกิจการแต่ละแห่งต้องประกาศอย่างชัดเจนว่า อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ โดยทำให้เกิดการซึมซับเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนในสถานประกอบกิจการ อาทิ ลูกจ้าง นายจ้างผู้ประกอบการ”

 

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “นโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) ซึ่งในปี 2559 ได้ร่วมมือกัน 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข โดยในปี 2560 ตั้งเป้าหมายร่วมดำเนินการเพิ่มเป็น 10 กระทรวง เพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้างและพนักงานในสถานประกอบกิจการทุกประเภทและบริการสาธารณะ และจะดำเนินการต่อเนื่องระยะยาวเพื่อเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคจากการทำงาน อันจะนำไปสู่การสร้างเสริมความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนทำงานอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานไม่ได้ตั้งเป้าหมายแค่ ‘Zero Accident’ แต่ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติมองไปข้างหน้าให้เป็น ‘Vision Zero’ เพื่อก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมและประชาชนทั่วไป ซึ่งขณะนี้หลายๆ ประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดในการกำหนดเป็นเป้าหมายใหม่ และดำเนินการเพื่อให้บรรลุสู่ Vision Zero กระทรวงแรงงานจึงมีนโยบายที่จะลดอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานลงอย่างต่อเนื่องเป็นระบบด้วยการมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์กรและขับเคลื่อนไปสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และเกิดจิตสำนึกความปลอดภัยในทุกคน อันจะนำไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคม”

 

          ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการใดที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign) สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) เลขที่ 18 ถนนบรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โทร. 0-2448-9111 หรือ http://www.tosh.or.th/

 

 

 

สถานประกอบกิจการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2559 (Zero Accident Campaign 2016) ที่ผ่านเกณฑ์การดำเนินกิจกรรม Zero Accident Campaign ตามหลักการพื้นฐาน 3 ข้อ ในแต่ละระดับ (ยกเว้นระดับต้น) ได้เข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559 ณ ห้องประชุม จอมพล ป พิบูลย์สงคราม กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ 

 

          • “กสร. อนุมัติเงินกู้กว่า 4 ล้านบาท ให้นายจ้างนำไปแก้ไขสภาพความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน” (26 พ.ค. 59)

 

          โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้จัดประชุมครั้งที่ 5 พิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมให้นายจ้าง จำนวน 3 ราย ในวงเงินรวม 4.5 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ไขสภาพความไม่ปลอดภัย ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคอันเกิดจากการทำงานในสถานประกอบกิจการ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการขอกู้ยืม การลดเงื่อนไขที่เป็นปัญหาอุปสรรค ความยุ่งยากและภาระในการจัดทำเอกสารด้านกู้ยืม จึงทำให้นายจ้างสามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้นายจ้างมีระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จึงเชิญชวนให้นายจ้างที่มีความประสงค์จะกู้ยืมเงินจากกองทุนความปลอดภัยฯ ศึกษารายละเอียดและดาวน์โหลดเอกสารการขอยื่นกู้ได้ที่ http://oshfund.labour.go.th หรือโทรศัพท์ 0-2448-9128–39 ต่อ 831–833

 

          • กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ (11 พ.ค. 59)

 

          โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานร่วมซ้อมอย่างพร้อมเพรียง มุ่งรณรงค์ให้สถานประกอบกิจการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานราชการ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานประกอบกิจการที่มีอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่และมีคนทำงานจำนวนมาก หรือแม้แต่ในสถานที่ราชการก็มีความเสี่ยงต่อเหตุเพลิงไหม้ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงได้จัดให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ โดยการจำลองสถานการณ์จริงเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดับเพลิงด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีอยู่ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการฝึกซ้อมหนีไฟ เพื่อเตรียมพร้อม หากเกิดเหตุเพลิงไหม้และทดสอบประสิทธิภาพของแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย ตามพ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ที่กำหนดให้มีการฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้กับทุกหน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานราชการด้วย จึงขอให้สถานประกอบกิจการและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ถือปฏิบัติฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ แต่หากหน่วยงานใดยังไม่มีความพร้อม สามารถติดต่อกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีเจ้าหน้าที่และวิทยากรที่พร้อมให้ความร่วมมือและให้คำแนะนำกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจจัดทำแผนซ้อมหนีไฟ โดยสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ หรือสำนักความปลอดภัยแรงงาน ตลิ่งชัน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดินแดง

               

          จากสถิติการเกิดอัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2557 พบว่ามีเหตุเพลิงไหม้เฉลี่ย 6 ครั้งต่อเดือน แต่ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 9 ครั้งต่อเดือน และที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุอัคคีภัยในสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้าหลาย ๆ แห่ง นำมาซึ่งความเสียหายอย่างมหาศาล และหลาย ๆ ครั้งก็ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้ เพราะทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินทั้งผู้มาใช้บริการ ลูกจ้าง ตลอดจนผู้บริหารก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ การป้องกันอัคคีภัยสามารถทำได้แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อันได้แก่ เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร พนักงาน รวมไปถึงผู้มาใช้บริการ ทางกระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2555 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2556) ซึ่งเป็นกฎกระทรวงฉบับแรกภายใต้มาตรา 8 ของ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ที่กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยที่มีมาตรฐาน เช่น เส้นทางหนีไฟ มีแสงสว่างที่เพียงพอ มีการควบคุมกำกับดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีแผนการป้องกัน ระงับอัคคีภัย มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และมีการฝึกอบรมให้พนักงานได้มีความรู้ที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถ Download file “แนวทางการจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 ข้อ 4” ได้ที่ http://www.oshthai.org/attachments/article/114/114-1.pdf

 

          และจากเหตุเพลิงไหม้อาคารเอสซีบีปาร์ค ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียกับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับระบบดับเพลิงอัตโนมัติไพโรเจน ส่งผลให้มีผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้เชิญผู้แทนสถานประกอบกิจการที่มีการจำหน่ายและติดตั้งระบบดับเพลิงเพื่อการป้องกันและระงับอัคคีภัยในหน่วยงาน และนายจ้างผู้ประกอบการจำหน่ายและติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติไพโรเจน และระบบดับเพลิงชนิดต่าง ๆ เพื่อหารือร่วมกันในการกำหนดมาตรการป้องกันและคุ้มครองลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึง มีมาตรการความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการที่มีการใช้ระบบดับเพลิงเพื่อการป้องกันและระงับอัคคีภัยให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับผู้ประกอบการจำหน่ายและติดตั้งระบบดับเพลิงชนิดต่าง ๆ ก็ต้องจัดให้มีข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานและฝึกอบรมให้ลูกจ้างเข้าใจ เพื่อปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ซึ่ง พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบัน กำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานและมีคู่มือการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย แจกให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่จะทำงาน โดยนายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ไม่ทำให้ลูกจ้างประสบอันตรายและต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษสูงสุด ปรับไม่เกินสี่แสนบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ อนึ่ง จากการหารือร่วมกัน ทางกระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักความปลอดภัยแรงงานจึงได้ออก “คู่มือและมาตรการความปลอดภัยและใช้งานระบบดับเพลิงอัตโนมัติภายในอาคาร” เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ผู้ที่สนใจสามารถ Download file ได้ที่ http://www.oshthai.org 

 

 

 

 

 

 

 

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ (11 พ.ค. 59) โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานร่วมซ้อมอย่างพร้อมเรียง มุ่งรณรงค์ให้สถานประกอบกิจการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานราชการ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 

 

          • กิจกรรม “สถานศึกษา และสุขภาพอนามัยดี” (23 มี.ค.2559)  

 

          เกิดจากความร่วมมือของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เกิดขึ้นภายในสถานศึกษา สร้างความร่วมมือและเครือข่ายของการพัฒนาและรณรงค์ความปลอดภัยในสถานศึกษา รวมทั้งสร้างต้นแบบการดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนตามระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ให้บรรลุผลสำเร็จต่อไป มุ่งประโยชน์ไปยังเยาวชนให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัย จนสามารถปลูกฝังเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยได้ในอนาคต

 

          กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่แข่งขันภายในสถานศึกษาเอง โดยสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาที่สนใจร่วมกิจกรรม ต้องสมัครเข้าแข่งขันเพื่อให้คณะกรรรมการได้พิจารณาว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งถ้าผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินกิจกรรมก็จะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติของแต่ละปีที่ประเมิน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานเครือข่ายความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0-2448-9128–39 ต่อ 710–717 ทั้งนี้ ในปี 2559 มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 478 แห่ง และผ่านการตรวจประเมินกิจกรรมได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 254 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 246 แห่ง ได้รับถ้วยรางวัล จำนวน 126 แห่ง และประกาศนียบัตร จำนวน 60 แห่ง

 

 

 

สถานศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม “สถานศึกษา และสุขภาพอนามัยดี” ปี 2559 และผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินในการสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เกิดขึ้นภายในสถานศึกษา ได้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 254 แห่ง ในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 วันที่ 2 ก.ค.2559

 

          • 14 องค์กรลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ” เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2559  

 

          ที่โรงแรมปริ๊นพาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ โดยมี นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธานในพิธีลงนาม MOU 14 องค์กร ประกอบไปด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรค

 

          กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพจากระบบประกันสังคม โดยจากประชากรที่มีงานทำ 38.4 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบ 22.1 ล้านคน คิดเป็น 57.6% (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557) ซึ่งพบว่าแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาเกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีฝุ่น ควัน และเสี่ยงต่อสารเคมีและเครื่องจักรที่เป็นอันตราย รวมทั้งการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายแรงงานต่าง ๆ ร่วมจัดทำโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบและองค์ความรู้การดูแลสุขภาพจากการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับกระทรวง และเขตสุขภาพ/ เขต สปสช. และเชื่อมโยงการจัดบริการอาชีวอนามัยในระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ให้ได้ตามมาตรฐานกำหนด สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และมีระบบข้อมูลในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพ ที่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ รวมทั้งสามารถนำมาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาและขยายระบบการจัดบริการอาชีวอนามัยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

               

          โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใน 5 กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตรกรประเภทเพาะปลูก ที่เสี่ยงต่อโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช 2.กลุ่มสลักหิน ที่เสี่ยงต่อโรคปอดฝุ่นหิน 3.กลุ่มคนเก็บและคัดแยกขยะ ทั้งขยะทั่วไปที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4.กลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคและไข้หวัดใหญ่ และ 5.กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า ที่เสี่ยงโรคปอดฝุ่นฝ้าย ภูมิแพ้ ของมีคมบาดทิ่มแทง โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานในระยะแรกนี้ จำนวน 6.2 แสนราย และขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ จำนวนประมาณ 10.5 ล้านคน ภายในปี 2563 และครอบคลุมทุกกลุ่มคน (ประมาณ 22.1 ล้านคน) ภายในปี 2564 เป็นต้นไป ตามแผนงานจะมีการดำเนินงานทั้งหมดใน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมกันนี้ก็จะมีการจัดบริการอาชีวอนามัย เพื่อส่งเสริมและป้องกันโรคและภัยสุขภาพให้กับแรงงานนอกระบบด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

4 องค์กรจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ” เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2559 ที่โรงแรมปริ๊นพาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ

 

          • ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างระเบียบวาระแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2560–2569) และร่างแผนแม่บทความปลอดภัยฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560–2564)

 

          เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2559 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สืบเนื่องจากทั้งระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ที่อนุมัติโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 11 ธ.ค.2550 และ “แผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ” อนุมัติโดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2554 ต่างก็มีกรอบระยะเวลาดำเนินการสิ้นสุดในปี 2559 นี้ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการด้านความปลอดภัยฯ ภายใต้ทั้งสองส่วนนี้มีความต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบวาระแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2560–2569) และร่างแผนแม่บทความปลอดภัยฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560–2564) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ หน่วยงานต้นสังกัดกรุงเทพมหานคร สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 80 คน ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างทั้งสอง

 

ส่วนที่ 2 ระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

          ตัวอย่าง เช่น

 

          • “ไทยยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันสารอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187”  

 

          หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ.2549 (ILO Convention No. 187 Re: Promotional Framework for Occupational Safety and Health, 2006) ต่อ Mr.Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2559 โดยถือเป็นอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 16 ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 12 เดือนถัดไปนับจากวันที่ให้สัตยาบัน สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ก็คือ เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศฉบับพื้นฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งประเทศที่รับอนุสัญญาดังกล่าวจะต้องมีนโยบายระดับชาติเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มีระบบการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีบุคลากร กฎหมาย ข้อบังคับ กลไกการบังคับใช้ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนงานความปลอดภัยฯ ของประเทศ มีแผนงาน โครงการระดับชาติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเชิงป้องกัน การคุ้มครองลูกจ้าง การขจัดหรือลดความเสี่ยงและอันตรายจากการทำงานให้น้อยที่สุด รวมถึงการจัดทำรายงานข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระดับชาติ (National OSH Profile) เพื่อสรุปสถานการณ์สถิติการประสบอันตรายจากการทำงาน นโยบาย แผนงาน ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวด้วย

 

 

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) ต่อ Mr.Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2559

 

          การยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ในครั้งนี้ มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการยืนยันว่าการปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทยอยู่ในระดับมาตรฐานสากล ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้น เนื่องจากเป็นการยกระดับการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยให้สอดคล้องหรือเทียบเคียงกับหลักการดำเนินงานระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นการแสดงให้นานาชาติเห็นถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่ให้ความสำคัญของการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ตลอดจนเป็นการวางรากฐานในการพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านดังกล่าวของประเทศไทยให้บรรลุผลยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การลดการประสบอันตรายจากทำงาน รวมถึงลดความสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ใช้แรงงาน

 

          ปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซียได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ไปก่อนหน้านี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในการประชุมเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN–OSHNET) ในเดือนเมษายน 2559 ณ ประเทศเวียดนาม ก็ได้มีการแจ้งเรื่องการให้สัตยาบันของประเทศไทย ในวาระเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ของประเทศสมาชิก เพื่อประชาสัมพันธ์และหารือแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันด้วย 

 

ส่วนที่ 3 ระดับความร่วมมือในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน

 

          ตัวอย่าง เช่น

 

          • สำนักความปลอดภัยแรงงานเข้าร่วมประชุมเจรจาเชิงนโยบายด้านความปลอดภัยฯ อาเซียน ที่ประเทศสิงคโปร์

 

          กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานผู้แทนของประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN Occupational Safety and Health Network; ASEAN–OSHNET) ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 เพื่อพัฒนาความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของภูมิภาค ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ (Coordinating Board Meeting: CBM) ครั้งที่ 16 เมื่อเดือน เม.ย.2558 ณ กรุงเทพฯ โดยในการประชุมดังกล่าว ได้มีวาระหารือเกี่ยวกับแผนงานของเครือข่ายฯ ซึ่งกำลังสิ้นสุดลง และจะต้องมีการประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำกรอบแผนงานรอบใหม่ ระยะ 5 ปี (ปี 2559–2563)

               

          ประเทศสิงคโปร์ โดยกรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย กระทรวงกำลังแรงงาน ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นเลขานุการเครือข่ายฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจาเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) เพื่อจัดทำแผนงานรอบใหม่ ระยะ 5 ปี ของเครือข่าย ASEAN–OSHNET ภายใต้กรอบ “Futurising ASEAN–OSHNET” ระหว่างวันที่ 18–19 ก.พ.2559 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยเชิญผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกและหน่วยงานสนับสนุนอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยแรงงาน (นายอำนวย ภู่ระหงษ์) ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ และมีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (ยกเว้นบรูไน) โดยมีผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์กรความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KOSHA) และสมาคมประกันสังคมนานาชาติ (ISSA) เข้าร่วมนำเสนอข้อมูล / สังเกตการณ์การประชุม รวมผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน

               

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกำลังแรงงานสิงคโปร์ (Mr.Sam Tan) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดประชุม หลังจากนั้นได้มีการปาฐกถาพิเศษโดยผู้แทน ILO (Ms.Nancy Leppink) ซึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับบทบาทของ ILO ในการสนับสนุนเพื่อพัฒนาการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศสมาชิก โดยมุ่งเน้นการสร้างเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย (Safety Culture) ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน อีกทั้งได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับต่าง ๆ โดยเฉพาะอนุสัญญาฉบับที่ 187 เพื่อพัฒนาการดำเนินงานให้สอดคล้องตามหลักการและองค์ประกอบพื้นฐานในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ

               

          หัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศไทย (นายอำนวย ภู่ระหงษ์) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ ปี 2558–2559 ได้เป็นประธานการประชุมจัดทำแผนงาน ASEAN–OSHNET ร่วมกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสิงคโปร์ (Er.Ho Siong Hin) ในฐานะประเทศเจ้าภาพ สรุปกรอบแผนงานที่ยกร่างขึ้นได้ มีดังนี้ คือ แผนงาน ASEAN–OSHNET รอบใหม่ มีระยะ 5 ปี (ปี 2559–2563) จะมุ่งเน้นขับเคลื่อนการพัฒนางานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของภูมิภาค และยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีลำดับความสำคัญของงานที่มุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้านมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของภูมิภาค 2.สร้างเสริมวัฒนธรรมเชิงป้องกันด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และ 3.การยกระดับภาพลักษณ์การดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของภูมิภาค ทั้งนี้ ร่างแผนงานดังกล่าว ฝ่ายเลขานุการจะสรุปและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26–28 เม.ย. 2559 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เพื่อให้การรับรอง (Endorsement) ก่อนขับเคลื่อนลงสู่การปฏิบัติของประเทศสมาชิกเครือข่ายฯ ต่อไป

 

 

 

การประชุมเจรจาเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) เพื่อจัดทำกรอบแผนงานรอบใหม่ ระยะ 5 ปี (ปี 2559–2563) ของเครือข่าย ASEAN–OSHNET ภายใต้กรอบ “Futurising ASEAN – OSHNET” ระหว่างวันที่ 18–19 ก.พ.2559 ณ ประเทศสิงคโปร์

 

          • การประชุมเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN–OSHNET) ครั้งที่ 17

 

          โดยมีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบงานด้านความปลอดภัยฯ ของแต่ละประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียนที่ถือเป็นคณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ เข้าร่วมประชุมเพื่อประสานการดำเนินงานของเครือข่ายเป็นประจำทุกปี สำหรับปี 2559 นี้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 26–28 เม.ย.2559 ณ เมืองดานัง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานผู้แทนของประเทศไทยได้ส่งผู้บริหารกรมและผู้แทนสำนักความปลอดภัยแรงงาน เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายปฐม เพชรมณี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางสาวสุวดี ทวีสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์ความปลอดภัยแรงงาน นายวิสันติ เลาหอุดมโชค นักวิชาการแรงงานชำนาญการ และ นางอติกานต์ ซื่อสัตย์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ

 

 

          การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ

 

          กิจกรรมที่ 1 การประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (Coordinating Board Meeting) หรือ CBM ครั้งที่ 17 ในวันที่ 26–27 เม.ย.2559 ซึ่งมีการหารือในวาระต่าง ๆ รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของประเทศสมาชิก สรุปได้ ดังนี้

     

          1. การนำเสนอข้อมูลสำคัญจากการประชุมเจ้าหน้าที่แรงงานอาวุโสอาเซียน (Senior Labor Officials Meeting) หรือ SLOM ครั้งที่ 11 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยฝ่ายเลขานุการอาเซียน

         

          2. การรับรองแผนงานเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน 5 ปี โดยมีลำดับความสำคัญของงานที่มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้านมาตรฐานความปลอดภัยฯ ของภูมิภาค สร้างเสริมวัฒนธรรมเชิงป้องกันด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และ การยกระดับภาพลักษณ์การดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของภูมิภาค

         

          3. การนำเสนอข้อมูลโดยผู้แทนหน่วยงานสนับสนุนภายนอกอาเซียน ได้แก่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์กร สมาคมการตรวจแรงงานนานาชาติ (IALI) สมาคมประกันสังคมนานาชาติ (ISSA) กระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการแห่งประเทศญี่ปุ่น (MHLW) และองค์กรภาครัฐว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน สาธารณรัฐประชาชนจีน (SAWS) เพื่อให้คณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ ได้พิจารณาถึงแนวทางความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน

         

          4. การนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาของประเทศสมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนหลักในด้านต่าง ๆ รวม 7 ด้าน โดยประเทศไทยรับผิดชอบด้านสารสนเทศ ได้นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาเว็บไซต์ ASEAN–OSHNET รวมถึงการออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลตัวชี้วัดและการดำเนินงานด้านความปลอดภัย ให้สอดคล้องตามองค์ประกอบของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ของอาเซียนที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้

               

          นอกจากนี้ ผู้แทนไทยยังได้นำเสนอเกี่ยวกับการดำเนินโครงการระดับชาติ กิจกรรมที่สำคัญในปี 2558–2559 เช่น โครงการสถานประกอบกิจการปลอดภัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ 90 วัน ยุทธการลดอันตรายจากการทำงาน โครงการ Safety Thailand การจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินงานของประเทศไทย

 

          5. การพิจารณาแผนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกภายใต้แผนงานเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน 5 ปี ซึ่งประเทศไทยต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาตัวชี้วัดการดำเนินงานความปลอดภัยฯ ของอาเซียน ในปี 2560 หรือต้นปี 2561 ด้วย

 

 

 

การประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน หรือ CBM ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 26–27 เม.ย.2559 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 

 

          กิจกรรมที่ 2 การจัดพิธีมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN–OSHNET Awards) ครั้งที่ 1 ในวันที่ 28 เม.ย.2559 เพื่อส่งเสริมสถานประกอบกิจการที่มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ที่ดีสามารถเป็นแบบอย่างหรือต้นแบบได้ โดยเริ่มแรกจะมีการให้รางวัลทุก 2 ปี แบ่งออกเป็น 2 ประเภทรางวัล คือ

 

          1. สถานประกอบกิจการที่มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยดีเด่นอาเซียน หรือ ASEAN–OSHNET Excellence Award มีจำนวนทั้งสิ้น 8 บริษัท จาก 8 ประเทศสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (โรงงานบ้านพรุ) จังหวัดสงขลา เป็นสถานประกอบกิจการของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้

 

          2. สถานประกอบกิจการที่มีการปฏิบัติที่ดีด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยดีเด่นอาเซียน หรือ ASEAN–OSHNET Best Practice Award มีจำนวนทั้งสิ้น 6 บริษัท จาก 6 ประเทศสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งบริษัท ไมเนอร์ชิส จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานประกอบกิจการของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้

 

 

 

          พิธีมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN – OSHNET Awards) ในวันที่ 28 เม.ย.2559 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการมอบรางวัล โดยมีสถานประกอบกิจการจากประเทศไทย จำนวน 2 แห่ง ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย

 

          กิจกรรมที่ 3 การจัดประชุมวิชาการเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN–OSHNET Conference) หรือ AOC ครั้งที่ 3 ในวันที่ 28 เม.ย.2559 ซึ่งประเด็นหัวข้อที่สำคัญที่มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เช่น ข้อแนะนำของ ILO เพื่อการปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ รายงานสถิติด้านความปลอดภัยฯ แนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์อุบัติเหตุจากการทำงาน ยุทธศาสตร์โลกเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน (No Accident Vision) เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้แทนประเทศไทย ยังได้มีการเจรจานอกรอบกับผู้แทนจากกระทรวงกำลังแรงงานแห่งสิงคโปร์ ผู้แทนจากองค์กรภาครัฐว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้แทนจากกระทรวงสุขภาพแรงงานและสวัสดิการประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานความปลอดภัยฯ ของประเทศไทย

 

 

การประชุมวิชาการเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน หรือ AOC ครั้งที่ 3 ในวันที่ 28 เม.ย.2559 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

 

          และแล้ว งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (Safety Week) ครั้งที่ 30 นี้ ก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วที่นอกจากจะมีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ แล้ว ก็ยังมีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ ส่วนภูมิภาคอีกด้วย แต่ปีนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยภาค” ปี 2559 ที่ถูกจัดขึ้นแยกเป็นรายภาค เรียกได้ว่าใครใกล้ที่ไหนก็ไปที่นั่นตามแต่สะดวก ภายในงานยังได้มีการมอบใบประกาศเกียรติคุณระดับต้นของสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2559 (Zero Accident Campaign 2016) อีกด้วย ดังนั้น ก็ขอทิ้งท้ายบทความ ด้วยการเชิญชวนร่วมงานตามตารางกำหนดการ ดังนี้

 

ตารางกำหนดการจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยภาค ปี 2559

 

 

อย่าลืม พบกันใหม่ในปีหน้า กับ “งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (Safety Week)” ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “งานสัปดาห์ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (Occupational Safety and Health Week)”

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
ขอขอบคุณ ข่าวประชาสัมพันธ์และภาพประกอบจากหน่วยงานด้านล่างนี้
• กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
• สำนักความปลอดภัยแรงงาน
• สำนักงานประกันสังคม
• สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
• สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) (สสปท–TOSH)

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด