เนื้อหาวันที่ : 2016-11-17 14:38:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2389 views

ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษ

สำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

 

นับตั้งแต่จีนปฏิรูประบบประเทศภายใต้ นโยบายสี่ทันสมัย ตามแนวคิดของ เติ้ง เสี่ยว ผิง เศรษฐกิจจีนในช่วงทศวรรษที่ 80-90 เริ่มพัฒนาแบบก้าวกระโดด เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษและมีเมืองใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

 

 

     หลังจากนั้น จีนได้สมัครเข้าเป็น สมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตขึ้นอย่าง “มหัศจรรย์” ด้วยความได้เปรียบทางการผลิต เพราะมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ต้นทุนการผลิตถูก ทำให้สินค้าจีนสามารถตีตลาดโลกได้ไม่ยาก หนำซ้ำจำนวนประชากรมหาศาลยิ่งเพิ่มกำลังซื้อการบริโภคภายในประเทศอีกทางหนึ่ง ปัจจัยดังกล่าว “กระตุ้น” ให้เกิดการขยายตัวทางการผลิตสินค้าและบริการ จนทำให้เศรษฐกิจจีนโตวันโตคืน

 

 

ภาพวาด อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ นายเติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตด้วยนโยบายสี่ทันสมัย

(ภาพจาก https://media.licdn.com)

 

          ในทำนองเดียวกัน จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของหลายประเทศ สินค้าจีนมีราคาถูกเมื่อเทียบกับสินค้าที่ผลิตจากประเทศอื่น ความสามารถทางการค้า ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนก้าวแซงประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและ “ผงาด” ขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ “เบอร์สอง” ของโลก และกำลังต่อสู้ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและยุทธศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกาเพื่อยึดครองความเป็น เบอร์หนึ่งของโลก

 

          ผู้เขียน “โหมโรง” เพื่อเริ่มต้นให้เห็นภาพการเติบโตของจีนในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ หลายท่านเคยมีโอกาสไปเยือนมหานครปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ ท่านคงได้ถึงเห็นภาพความเจริญของเมืองทั้งสองนี้ที่กลายเป็นสัญลักษณ์เชิง “อำนาจ” และ “เศรษฐกิจ” จีนยุคใหม่ ที่แสดงศักยภาพการพัฒนาไม่น้อยหน้ากว่าโลกประชาธิปไตยแต่อย่างใด

 

          66 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การปกครองคนจำนวนพันกว่าล้านคนให้มองเห็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกันนั้น ควรทำอย่างไร

 

 

มหานครปักกิ่ง อีกหนึ่งในยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ
(ภาพจาก http://global.ctbuh.org/)

 

 

นครเซี่ยงไฮ้ ตัวแทนความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน

 

          ซีรีส์ชุดนี้ ผู้เขียนตั้งชื่อว่า เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt One Road (OBOR) ยุทธศาสตร์ OBOR เป็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จีนพยายามยกระดับการพัฒนาให้ครอบคลุมไม่เฉพาะแค่ภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ OBOR ยังส่งผลต่อผู้คนกว่า 60 ประเทศ ที่อยู่บนแนวเส้นทางสายไหมสายนี้ 

 

รู้จักยุทธศาสตร์ One Belt One Road

 

          ก่อนจะเข้าเรื่อง One Belt One Road ผู้เขียนขอเกริ่นถึงการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในยุคของ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ที่ขึ้นมากุมบังเหียนตั้งแต่ปี 2012

               

          ประธานาธิบดีสี นับเป็นผู้นำที่มีความสุขุมคัมภีรภาพ มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล ที่สำคัญความเยือกเย็นของเขานั้นกลับแฝงไปด้วยความเด็ดขาดอยู่ในที นี่เองที่ทำให้ท่วงท่าของสี จิ้นผิง มีลักษณะความเป็นผู้นำประเภท “อ่อนนอก แต่แข็งใน” รวมถึง “อ่อนโยน แต่ไม่แข็งกระด้าง”

 

 

วาทะของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรื่อง One Belt One Road

ซึ่งเขาเลือกใช้คำได้ดีมาก นั่นคือ เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางสายมิตรภาพที่เชื้อเชิญประเทศที่อยู่บนเส้นทางสายไหม เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนกัน

(ภาพจาก http://news.xinhuanet.com/)

 

          ในเอกสารการบรรยายของ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาสน์ กูรูผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน กล่าวถึง Chinese Dream ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไว้ว่า ในปี 2021 ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะครบรอบ 100 ปีนั้น พรรคจะทำให้สังคมจีนบรรลุสู่การเป็นสังคม “เสี่ยวคัง” หรือสังคมที่อยู่ดีกินดีกันถ้วนหน้าและมีความเจริญรอบด้าน (Moderately well off society) ขณะที่เป้าหมายสูงสุดในปี 2049 จีนจะต้องยกระดับกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแท้จริง (A fully developed nation)

               

          ขณะที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีนใช้เวทีต่างประเทศ เพื่อสร้างการยอมรับและขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยมีเงื่อนไขมาจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่ทำให้จีนต้องแสดงบทบาทในเวทีต่างประเทศมากขึ้น กล่าวคือ

               

          ปัจจัยภายในเกิดจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง จนเมื่อถึงจุดอิ่มตัว รัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจชะลอตัวแบบปกติ มีเสถียรภาพซึ่งเรียกว่า New Normal หรือ Economic growth rate decreasing นอกจากนี้ การพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความต้องการภายในที่จะปฏิรูปเรื่องต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลนายสี จริงจังกับการปราบปรามคอร์รัปชันมากที่สุด ชนิดปราบกันแบบถึงรากถึงโคนเลยทีเดียว

               

          ส่วนปัจจัยภายนอกเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การเข้ามาปักหมุดเอเชียอีกครั้งของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการเกิดข้อพิพาททางทะเลจีนใต้กับประเทศในแถบอาเซียน

               

          ปัจจัยทั้งสองนี้ ทำให้รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง ต้องปรับตัวและเสนอชุดยุทธศาสตร์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

               

          One Belt One Road เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2013 เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนกลุ่ม ประเทศเอเชียกลาง (Central Asia) 4 ประเทศ โดยระหว่างที่เยือน ประเทศคาซัคสถาน เขาได้กล่าวถึงโครงการ Silk Road Economic Belt หรือแนวเขตเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหม ที่ใช้ถนนเป็นทางเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก

 

 

สี จิ้นผิง และ นูร์สุลตาน นาซาบาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) ประธานาธิบดีคาซัคสถาน

คาซัคสถาน คือ สถานที่ที่สี จิ้น ผิง ประกาศยุทธศาสตร์ OBOR

(ภาพจาก http://www.jamestown.org/)

 

          คำว่า Silk Road เป็นการรื้อฟื้นตำนานเส้นทางสายไหมในอดีตตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นที่เชื่อมจีนกับทวีปยุโรป โดยผ่านเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก โดยเส้นทางนี้ “มาร์โคโปโล” เคยใช้เดินทางจากอิตาลีมายังราชสำนักกุบไลข่านแห่งราชวงศ์หยวน

               

          ต่อมาในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ประธานาธิบดีสี เดินทางเยือนอินโดนีเซีย และกล่าวถึงการสร้าง Maritime Silk Road in 21st Century หรือ เส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมจีนผ่านช่องแคบมะละกา อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา 

 

 

สี จิ้นผิง กับ อดีตประธานาธิบดี บัมบัง (Susilo Bambang Yudhoyono) แห่งอินโดนีเซีย

โดยอินโดนีเซียถูกวางเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ Maritime Silk Road หรือ เส้นทางสายไหมทางทะเล

(ภาพจาก http://www.bbc.com/news/world-asia)

 

          ยุทธศาสตร์ OBOR นี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดย Keyword ที่รัฐบาลปักกิ่งใช้เสมอ คือคำว่า Connectivity และ Win-Win Solution โดยจีนเลือกที่จะใช้เส้นทางการการค้าทั้งทางบกและทางทะเลเปิดตลาดสินค้าจีน กระจายการลงทุน และเผยแพร่ความเป็นจีน “จีนาภิวัฒน์” ในศตวรรษที่ 21

               

          นอกจาก OBOR แล้ว สิ่งที่ตามมา คือ การตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) หรือ AIIB เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนให้กับประเทศในเอเชียเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเข้ามารองรับ OBOR นี้ และ New Silk Road Fund (NSRF) ที่เป็นเครื่องมือทางการเงินในการดำเนินยุทธศาสตร์นี้ของจีน

 

 

สัญลักษณ์ AIIB ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย อีกหนึ่งเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมารองรับยุทธศาสตร์ OBOR

(ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

          ยุทธศาสตร์ OBOR หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “อิไต้ อิลู่” นั้น เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปบนแผนที่ภูมิศาสตร์การเมือง เราจะเห็นได้ว่า รัฐบาลปักกิ่งสร้าง Silk Road Economic Belt ให้เป็นเส้นทางขนส่งทางบกที่จะเชื่อมจีนและยุโรปเข้าด้วยกันโดยใช้เส้นทางสายไหมในยุคโบราณเป็นเกณฑ์ เส้นทางนี้ถูกเชื่อมโดยโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีน (High Speed Railway) เข้าไปยังภายในพื้นที่เอเชียกลาง ผ่านต่อไปยังตะวันออกกลาง โดยมีประเทศสำคัญที่เป็นตลาดสินค้าจีน เช่น คาซัคสถาน อิหร่าน ข้ามต่อไปยังตุรกีเข้าสู่ยุโรปผ่านเมืองสำคัญในยุโรป เช่น แฟรงเฟิร์ต เวนิซ อัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นเมืองการค้าและอุตสาหกรรมมาตั้งแต่อดีต รวมทั้งเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลกทั้งสิ้น

               

          ขณะที่ Maritime Silk Road เป็นเส้นทางขนส่งทางทะเล ที่เริ่มจากเมืองท่าสำคัญของจีนอย่าง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ฟุโจว เซี้ยเหมิน ลงมาทะเลจีนใต้ ผ่านมาทางกลุ่มประเทศอาเซียน ข้ามช่องแคบมะละกาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย ต่อขึ้นไปยังตะวันออกกลางโดยเส้นทางบางส่วนจะเข้ายังแอฟริกาตะวันตก ผ่านอ่าวเปอร์เซียเข้าสู่คลองสุเอซเพื่อเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมุ่งหน้ายังยุโรป เป็นการร้อยเส้นทางการค้ายุคโบราณของจีนให้มีความสำคัญมากขึ้น

 

 

เส้นทางสายไหมทางบก ถูกเชื่อมโดยการสร้างถนนและรถไฟความเร็วสูง
(ภาพจาก http://www.ptp.or.th/news/469)

 

 

เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ถูกเชื่อมโดยการสร้างท่าเรือตามยุทธศาสตร์การร้อยไข่มุกทางทะเลของจีน
(ภาพจาก http://www.ptp.or.th/news/469)

 

          OBOR เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่แสดงถึง Connectivity ได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าประเทศที่อยู่บนเส้นทางสายไหมล้วนตอบรับวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยมองว่า การเป็นพันธมิตรกับจีนในยุคนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจีนมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่มาก การเป็นมิตรกับจีนเท่ากับเป็นการเปิดตลาดการส่งออกให้ประเทศตัวเองได้ทางหนึ่ง

               

          หลังจากที่ สี จิ้นผิง ประกาศยุทธศาสตร์ OBOR ออกไป ความร่วมมือต่าง ๆ เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยใน เดือนกุมภาพันธ์ 2014 ประธานาธิบดีสีและ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำรัสเซีย ได้ลงนามใน การสร้างทางรถไฟเชื่อมยูโร-เอเชีย หรือ Russia’s Euro-Asia Railways 

 

 

เส้นทางรถไฟความเร็วสูง จากปักกิ่งถึงมอสโคว์ ผ่านเอเชียกลาง

(ภาพจาก http://www.zerohedge.com/)

 

          เดือนพฤษภาคม 2014 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) โปรโมตการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ที่เชื่อมตั้งแต่ บังคลาเทศ- จีน- อินเดีย และเมียนมาร์ (Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor) ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor)

               

          ตุลาคม 2014 จีนชักชวนประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกันลงขันก่อตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB โดยมีสมาชิกที่สนใจเข้าร่วม 21 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) โดยแนวคิดการก่อตั้ง AIIB คล้ายกับการก่อตั้ง ADB ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อระดมเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

               

          โครงการแรกที่ AIIB สนับสนุนให้เงินลงทุน คือ Karot Hydropower Station ในปากีสถาน เป็นโครงการภายใต้เงินลงทุน The Silk Road Fund ที่สอดคล้องกับแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน

 

 

Karot Hydropower โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปากีสถาน โครงการนี้นับเป็นโครงการแรกที่ AIIB ให้กู้เงินเพื่อพัฒนา

(ภาพจาก http://en.people.cn/)

 

          เมื่อมองในแง่ผลประโยชน์ของ OBOR แล้ว นับว่าวิสัยทัศน์ของสี จิ้นผิง นั้นยาวไกลมาก เพราะประเทศตามแนว OBOR มีมากกว่า 60 ประเทศ มีประชากรรวมกัน 4.4 พันล้านคน คิดเป็น 63% ของประชากรทั้งโลก เมื่อคิดเป็น GDP แล้ว ปรากฏว่า ร่วม 30% ของ GDP โลกเลยทีเดียว

               

          OBOR ประกอบด้วย ระเบียงทางเศรษฐกิจ 6 ระเบียง แบ่งเป็น ทางบก 4 ระเบียง ได้แก่ (1) New Eurasian Land Bridge (2) China-Mongolia-Russia Corridor (3) China-Central Asia-West Corridor และ (4) China-Indochina Peninsula Economic Corridor

               

          ส่วนระเบียงทางทะเลมี 2 ระเบียง ได้แก่ China-Pakistan Economic Corridor และ Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor

               

 

ในตอนหน้า เราจะมาดูกันว่า การเปิดเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 นั้น จีนใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือเชื่อมโลกนั้น คือ รถไฟความเร็วสูง ครับ

 

...พบกันใหม่ ฉบับหน้าครับ

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด