เนื้อหาวันที่ : 2016-11-17 11:40:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2015 views

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEM ครั้งที่ 48 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้หารือร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับจากรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อวางกรอบความร่วมมือและผลักดันประเด็นความสำคัญที่อยู่ภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง

 

     ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2559 ได้จัดทำเอกสารเพื่อผลักดันประเด็นสำคัญที่อยู่ภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน โดยที่ประชุมให้การรับรองเอกสารดังกล่าวในระหว่างการประชุมแล้วได้แก่

 

  1. กรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นแนวทางพื้นฐานในการเสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมเรื่องพิธีการศุลกากร การขนส่ง มาตรฐาน การจัดทำกฎระเบียบที่โปร่งใส เป็นต้น โดยเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
  2. กรอบการดำเนินงานกำกับดูแลความปลอดภัยอาหาร ซึ่งจะเป็นการนำนโยบายความปลอดภัยอาหารที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้การรับรองเมื่อปีที่แล้วมาสู่การปฏิบัติ โดยอาจมีการจัดทำความตกลงระหว่างอาเซียนเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
  3. กรอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) เป็นแนวทางการขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนว่า ภาครัฐควรมีมาตรการและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอะไร
  4. แผนงานสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจเป็นแนวทางเพื่อการลดระยะเวลาและขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจ เช่น การให้บริการแบบ One-stop การรับจดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ และ
  5. แนวทางการพัฒนาและความร่วมมือสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ขณะนี้กำลังทวีความสำคัญ และมีการจัดตั้งขึ้นหลายแห่งในอาเซียน โดยจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศสมาชิก ส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และการเป็นฐานการผลิตเดียวของอาเซียน

 

          ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองแผนงาน/กิจกรรมในช่วง 10 ปีข้างหน้า ใน 9 สาขาสำคัญภายใต้ AEC Blueprint 2025 เช่น แผนงานด้านการค้าสินค้า ซึ่งจะมีการปรับปรุงความตกลงการค้าและการสร้างกลไกลดผลกระทบจากมาตรการที่มิใช่ภาษี แผนงานด้านบริการ จะมีการพิจารณาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อการเปิดเสรีการค้าบริการที่ลึกขึ้น แผนงานด้านการลงทุน ซึ่งครอบคลุมการประเมินผล การเปิดเสรีการลงทุน การทบทวนข้อจำกัดต่าง ๆ การคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพ แผนงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะมีการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภครวมถึงให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อให้มีความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจข้ามพรมแดน

 

          นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาเซียนยังได้หารือการเปิดตลาดการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอาเซียนแต่ละประเทศสามารถเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจในอีกประเทศโดยถือหุ้นข้างมากได้ โดยธุรกิจ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นเปิดตลาดให้ไทยเข้าไปลงทุนมีหลายสาขาที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะในตลาด ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สถานพยาบาล ธุรกิจบันเทิง การจัดงานแสดงสินค้า และได้เร่งรัดให้อาเซียนเปิดตลาดบริการเพิ่มเติมให้ได้ตามที่ตกลงกันภายในปี 2560 อันจะส่งเสริมให้เกิดการรวมตัว ของภาคบริการในภูมิภาค เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และยกระดับภาคบริการของอาเซียนซึ่งจะเสริมสร้างความพร้อมของอาเซียนที่จะรวมเป็นส่วนหนึ่งของโลกได้

 

          นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหารือกับประเทศคู่เจรจา รวม 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และจะมีการร่วมรับรองเอกสารกับญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ เอกสารแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่น อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนา SMEs การพัฒนาอุตสาหกรรมลุ่มแม่น้ำโขง การปรับปรุงนวัตกรรม เป็นต้น

 

นักวิชาการกังวลเปิดเออีซี 7 เดือน การเชื่อมโยงการค้าไม่ขยายตัว

 

          ด้าน นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า 7 เดือนหลังเปิดเออีซีถือว่าอืดและฝืด จาก 2 ปัจจัย คือภาวะการค้าและเศรษฐกิจโลกซบเซา กระทบต่อการค้าและการส่งออกระหว่างกันไม่ขยายตัวมากนัก การเชื่อมโยงการค้าระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกจึงไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

 

          อีกปัจจัย คือ กฎ ระเบียบ กติกา ในกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่และเก่ายังไม่ถูกแก้ไขสมบูรณ์ 100% อย่างที่ได้ตกลงกันไว้ เช่น บางแขวงในลาวยังเก็บค่าธรรมเนียมการค้าอย่างอิสระและอัตราที่ไม่เท่ากัน ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้การขนส่งอาเซียนกับลาวไม่ราบรื่น หรือการออกเอกสารการใช้สิทธิในอาเซียน (ฟอร์มดี) บางประเทศยังไม่ใช้ เช่น รัฐฉาน พม่า หรือจุดตรวจสอบสินค้ายังไม่เป็นซิงเกิลวินโดว์ที่มีเป้าหมายให้ตรวจสอบจากจุดเดียว แล้วขนย้ายผ่านแดนได้เลยโดยไม่ต้องตรวจสอบที่ด่านชายแดนอีก ทำให้ยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายและเสียเวลามาก

 

          เมื่อข้อตกลงด้านขนส่งยังไม่สมบูรณ์ มีขีดจำกัดแค่ชายแดนติดกัน ยังไม่ทะลุไปถึงประเทศที่ 3 เช่น ไทยเชื่อมจีน ต้องทะลุถึงจีนแบบ 2 ทางไป-กลับ จึงจะเป็นประโยชน์ ดังนั้นอาเซียนต้องหารือเรื่องการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ด้วย หากถามตอนนี้เออีซีอืดฝืดเพราะอะไร ก็ต้องให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจโลก เพราะเรื่องกฎระเบียบเป็นเรื่องเดิม ๆ แต่ในอนาคตหากปลดล็อกไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์มากเท่าที่ควร ดังนั้น รัฐบาลต้องโฟกัสค้าชายแดนและสินค้าผ่านแดน ไม่ใช่แค่เชื่อมประเทศติดไทยเท่านั้น นอกจากนั้น ช่องว่างอาเซียนเก่ากับอาเซียนใหม่ยังมากอยู่ อาเซียนเก่าก็จะเน้นในเรื่องมาตรฐานสินค้า ตรวจสอบเข้มงวด แต่ระบบขนส่งและค่าธรรมเนียมจะน้อยกว่าประเทศอาเซียนใหม่จัดเก็บ ผมเชื่อว่าปี 2560 เออีซีก็ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างนี้ ยังไม่โดดเด่น หากยังแก้ตรงจุดอุปสรรคไม่ได้

 

          ด้าน นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ทรรศนะว่า กำลังสำรวจภาคเอกชนต่อการใช้ประโยชน์เออีซี ซึ่งจะได้ข้อสรุปปลายเดือนสิงหาคมนี้ เบื้องต้นผู้ประกอบการยังไม่เปลี่ยนแปลงรับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น แต่เชื่อว่า 2 ปีจากนี้จะเห็นภาพชัดเจน ที่กังวลคือการปรับตัวของเอสเอ็มอีแม้จะโฟกัสในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม แต่ก็เจอประเทศอาเซียนอื่นและกลุ่มความร่วมมือออสเตรเลียแข่งเจาะซีแอลเอ็มวีด้วย

 

          “กังวลว่าจะปรับตัวรับการแข่งขันจากกลุ่มนอกอาเซียนเข้ามาชิงตลาดอย่างไร อาเซียนกันเอง ไทยแข่งขันได้ แต่หากนอกอาเซียน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังไม่พัฒนาหรือนำเทคโนโลยีมาใช้ เชื่อว่าไทยยังสู้ไม่ได้”

อย่างไรก็ดีความเห็นข้างต้นดูเหมือนจะสอดคล้องกับข้อมูลการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีของไทยในกรอบอาเซียน ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่าช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ แม้สัดส่วนการใช้สิทธิจะขยับเป็น 59.19% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปี 2559 ที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 56.86% ทั้งที่เปิดเสรีลดภาษีเป็นศูนย์ ในรายการสินค้าส่วนใหญ่กว่า 90% แล้ว

 

จุดเด่น 8 ประเทศในอาเซียน

 

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอเปิดเผยว่าในปี 2560 บีโอไอจะเปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม 2 แห่ง ที่นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุน โดยทั้งสองประเทศมีนักลงทุนไทยสนใจเข้าไปลงทุนจำนวนมาก และในปี 2561 บีโอไอ จะเปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนอีกแห่งที่เมืองจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซียเพื่อรองรับการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนไทยในอนาคต

               

          สำหรับจุดเด่นของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียนที่บีโอไอส่งเสริมให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนมี 8 ประเทศ ได้แก่  

 

  1. อินโดนีเซีย โดยรัฐบาลกำลังเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป โดยนักลงทุนไทยควรใช้ความได้เปรียบในเรื่องเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญในการผลิต ขณะที่อินโดนีเซียมีแรงงานราคาถูกจำนวนมากและมีทักษะปานกลาง
  2. เมียนมา ยังมีโอกาสที่สามารถเข้าไปทำธุรกิจอีกมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร หรือเกษตรแปรรูปเพื่อจำหน่าย ในประเทศหรือส่งออก เช่น ปลาหรือกุ้งแช่แข็ง
  3. กัมพูชา มีสินค้าสำคัญคือเครื่องนุ่งห่ม โอกาสของไทยคือการเข้าไปลงทุนตั้งบริษัทนำเข้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มและตั้งโรงงานผลิตรองเท้า
  4. เวียดนาม โอกาสของนักลงทุนไทยสามารถไปตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าโดยรับคำสั่งจากลูกค้าในไทย หรือจากต่างประเทศเพื่อส่งออก รวมทั้งจัดตั้งบริษัทนำเข้าเสื้อผ้าจากไทยเพื่อไปจำหน่ายยังเวียดนาม
  5. บรูไน มีนโยบายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยต้องการให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมีต้นทุนทางธุรกิจค่อนข้างต่ำทั้งค่าสาธารณูปโภค ภาษี โดยไทยมีโอกาสเข้าไปทำอุตสาหกรรมประมง และอาหารทะเลแปรรูปได้
  6. ฟิลิปปินส์ ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยมีผู้บริโภคมากเป็นอันดับสองของอาเซียน โดยมีความต้องการสินค้าประเภทอาหารแปรรูป และอะไหล่ยานยนต์
  7. มาเลเซีย เหมาะที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศมุสลิมทั่วโลกได้ และ 8.ส.ป.ป.ลาว เป็นประเทศที่มีโอกาสในการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

 

ผุดแพคเกจเช่าที่ดินสระแก้ว หวังจูงใจนักลงทุนไทย-เทศ

 

          สำหรับความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพที่รัฐบาลมุ่งใช้เป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศอินโดจีน ล่าสุด นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า มีความคืบหน้าไปมาก และมีนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาเจรจาสอบถาม เพื่อเช่าที่ดินในการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแล้วกว่า 20% ด้วยปัจจัยสนับสนุนการให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลที่พร้อมรองรับผู้ประกอบการ อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ รวมทั้งสิทธิพิเศษด้านอัตราค่าเช่า ที่ กนอ. ได้กำหนด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนและให้การลงทุนขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง

 

          ทั้งนี้ สิทธิพิเศษด้านอัตราค่าเช่าที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว กนอ. ได้กำหนดไว้ กรณีที่เช่าที่ดินตั้งแต่ 30 ไร่ ขึ้นไป (ซึ่งจะต้องเป็นแปลงที่ดินผืนติดกันเท่านั้น) ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ได้แก่ เขตพาณิชย์และบริการ (โซน เอ) เขตอุตสาหกรรมทั่วไป (โซน ซี, ดี, อี) เขตประกอบการเสรี (โซน เอฟ) และเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (โซน จี) จะได้รับสิทธิ์การยกเว้นค่าเช่าที่ดินระยะเวลา 3 ปีแรก นอกจากนั้นยังมีในกรณีที่เช่าที่ดินน้อยกว่า 30 ไร่  โดยอัตราค่าเช่าดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเช่าที่ดิน ตามที่ กนอ.กำหนด ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2561

ปัจจุบันพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ถือเป็นพื้นที่ศักยภาพที่นักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ซึ่งขณะนี้พบว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาเจรจาขอเช่าพื้นที่ เพื่อจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแล้วประมาณ 20 % เนื่องจากจังหวัดสระแก้วนับเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ ที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อรองรับเออีซี เชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยคาดว่าการออกแคมเปญกระตุ้นการเช่าที่ดินในระยะแรกนี้จะส่งผลให้เกิดการลงทุนให้กับพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างแท้จริง

 

          สำหรับพื้นที่โครงการนิคมฯ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว บนพื้นที่รวม 660 ไร่ มีพื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ ราว 433 ไร่ แบ่งเป็น เขตประกอบการทั่วไป 242 ไร่ เขตประกอบการโลจิสติกส์ 89 ไร่ เขตประกอบการเสรี 60 ไร่ เขตพาณิชย์ 37 ไร่ เขตสถานีไฟฟ้าย่อย 5 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่รัฐบาลจะใช้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตที่จะใช้รองรับอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม พลาสติก เป็นต้น ที่คาดว่าหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นได้จำนวนมาก

 

ญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นไทยวอนรัฐบาล เพิ่มแรงจูงใจเพื่อขยายการลงทุน

 

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการหารือกับ นายชินโกะ ซาโตะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JCC) และคณะผู้บริหารชุดใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยการหารือได้พูดคุยถึงประเด็นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และทาง JCC ได้รายงานถึงผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ว่าบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยมีแนวโน้มเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นจากครึ่งหลังของปี 2558 อีกทั้งมองว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยในครึ่งปีหลังของปี 2559 จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งบริษัทญี่ปุ่น 33% ที่อยู่ในไทยมีแผนจะขยายการลงทุนในประเทศ และบริษัทญี่ปุ่นอีก 50% จะไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกจากประเทศไทย

 

          ขณะเดียวกันประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวนสมาชิกผู้ประกอบการ SME ของญี่ปุ่น มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลไทยออกมาตรการส่งเสริมแรงจูงใจในการลงทุนให้มากกว่าปัจจุบัน ซึ่งทางไทยก็ยินดีที่จะต้อนรับผู้ประกอบการ SME และนักลงทุนของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงกระทรวง จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนชาวญี่ปุ่น และจะประสานหน่วยงานอื่นเพื่อพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและประเด็นปัญหาต่าง ๆ ทางพิธีการศุลกากรของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย

 

          นอกจากนี้ยังได้หารือกัน เกี่ยวกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า ต้องการให้การเจรจาความตกลงดังกล่าวบรรลุผลได้ภายในปลายปี 2559 ตามที่ได้ตกลงไว้ เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) ของประเทศสมาชิก

 

          นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการที่ญี่ปุ่นประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีบริโภคจาก 8% เป็น 10% เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นมีความระมัดระวังและไตร่ตรองในการจับจ่ายเพิ่มขึ้นทำให้การบริโภคในประเทศยังไม่กระเตื้อง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจ กับประเทศญี่ปุ่นจะต้องระวังถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นการบริโภคในประเทศที่ยังไม่เพิ่มขึ้น และเน้นการจำหน่ายสินค้าญี่ปุ่นในต่างประเทศเพื่อลดการขาดดุลการค้า ซึ่งสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ ในญี่ปุ่นนั้นจะต้องมีคุณภาพสูงและราคาที่แข่งขันได้ และมองว่าการร่วมลงทุนกับประเทศญี่ปุ่นโดยใช้เทคโนโลยีที่ดีของทั้งสองประเทศ และร่วมกันขายในประเทศอาเซียน อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำธุรกิจกับประเทศญี่ปุ่น

 

          สำหรับญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2ของไทย รองจากจีน โดยในปี 2558 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 51,311.75 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 10.37% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีมูลค่า 57,247.38 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 62,031.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในช่วง ม.ค.-พ.ค.2559 มีมูลค่าการค้ารวม 20,889.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจการค้า 7 เมืองหลักในจังหวัดชายแดนใต้

 

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า  ในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ มีแผนดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในเขตเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7 เมืองหลัก ประกอบด้วย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, อ.เมือง จ.ปัตตานี, อ.เมือง อ.ตากใบ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส  และ อ.เมือง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รองรับนโยบายเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของรัฐบาล

               

          ซึ่งรัฐบาลต้องการผลักดันให้จังหวัดชายแดนใต้ เป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการผลิตการเกษตร  ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารฮาลาล โดยดำเนินการอย่างครบวงจร มีระบบขนส่งที่เชื่อมโยง  รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักที่ก่อให้เกิดผลเชื่อมโยงมากที่สุด

               

          สำหรับกิจกรรมที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ 7 เมืองหลัก ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ไปหารือและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ในนามประชารัฐ เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดเทศกาลอาหาร การจัดงานถนนคนเดิน การเปิดร้านค้าขายสินค้าราคาประหยัดในเขตเมืองหลักในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และ การจัดงานแสดงสินค้านอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

               

          ส่วนผลการดำเนินกิจกรรมของปี 2559 เพื่อส่งเสริมตลาดสินค้าและบริการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเมืองต้นแบบนำร่อง 3 เมือง คือ เมืองสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมืองเบตง จังหวัดยะลา และเมืองหนองจิก จังหวัดปัตตานีนั้น ได้ดำเนินโครงการเสร็จแล้วประมาณ 80% สามารถสร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้ ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 30 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการและเครือข่ายได้กว่า 1,000 ราย

 

เอกชนเมินลงทุนเขต ศก.พิเศษ ติงค่าเช่าพื้นที่ตั้งนิคมฯ แพง

 

          ตามที่มีการเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาล ทั้งหมด 3 พื้นที่ ได้แก่ จ.ตราด จ.มุกดาหาร และ จ.หนองคาย นั้น นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า

 

          มีนักลงทุน ยื่นซองประมูลเพื่อบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพียงรายเดียว และเพียงพื้นที่เดียวที่ จ.ตราด หลังจากนี้ กรมธนารักษ์จะพิจารณาข้อเสนอในการยื่นพัฒนาของเอกชนดังกล่าวให้ได้ภายใน 30 วัน โดยขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ ก่อนส่งต่อให้คณะกรรมการจัดหาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พิจารณาเห็นชอบต่อไป

               

          สาเหตุที่นักลงทุนยังไม่สนใจเข้ามาประมูลเพื่อบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจาก นักลงทุนเห็นว่าเงื่อนไขและข้อกฎหมายยังไม่มีความชัดเจน เช่น การให้ทำการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภายใน 60 วันนั้นนักลงทุนเห็นว่ายังน้อยเกินไป

               

          นอกจากนี้นักลงทุนยังมีความกังวลเรื่อง ความไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกฎหมาย โดยเฉพาะ กฎหมายเกี่ยวกับการให้เช่าพื้นที่ เพราะว่าตามปกติการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นเรื่องของ การนิคมอุตสาหกรรม หรือ กนอ.ที่พัฒนาที่ดินก่อนจะให้เอกชนเช่าต่อ แต่การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเรื่องที่เอกชนรายใหม่จะต้องเข้ามาพัฒนาพื้นที่ จึงเกิดความกังวลว่าจะสามารถนำพื้นที่ไปให้เอกชนรายอื่นเช่าต่อได้หรือไม่ นอกจากนี้ เอกชนเห็นว่าราคาเช่าในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังสูงเกินไป รัฐบาลควรปรับลดลงกว่านี้ โดย ข้อเสนอต่าง ๆ จะต้องมีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขต่อไป

               

          รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการสนับสนุนการ ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้ง เมืองการค้าปลอดภาษี (Border Town) ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ ภายในปีนี้ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา จ.หนองคาย จ.สระแก้ว และ จ.ตาก โดยจะเปิดกว้างให้เอกชนทั้งรายเล็ก และรายใหญ่เข้ามาค้าขายในเขตปลอดภาษีดังกล่าวได้อย่างเสรีด้วย

 

เผยยอดของตั้งโรงงานลดลง เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

 

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) และขยายกิจ การช่วง 7 เดือนปี 59 (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 2,805 โรงงาน ลดลง 5.39% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการลงทุน อยู่ที่ 2.57 แสนล้านบาท ลดลง 13.75% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ความมั่นใจของนักลงทุน โดยเฉพาะต่างชาติที่ส่วนใหญ่ลงทุน เป็นจำนวนมากลดลงตามเช่นกัน แต่เชื่อว่า ปลายปีจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากภาครัฐมีมาตรการ และนโยบายต่าง ๆ ที่คอยสนับสนุนให้นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

               

          ทั้งนี้ยอดขอใบอนุญาต รง.4 แบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่ 2,393 โรงงาน ลดลง 3.74% ขณะที่มูลค่าการลงทุน 1.59 แสนล้านบาท ลดลง 26.38% ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 412 โรงงาน ลดลง 13.98% ขณะที่มูลค่าการลงทุน 9.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% โดยอุตฯ ที่เปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 6 เดือนปี 59 คือ การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 47,400 ล้านบาท อุตฯ อาหาร 25,800 ล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 19,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะขั้นมูลฐาน 14,300 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์จากพืช 12,600 ล้านบาท

               

          "การปรับแก้ พ.ร.บ.โรงงานฯ รวมทั้งประกาศต่าง ๆ ถือเป็นเครื่องมือในการลดขั้นตอนการออกใบอนุญาต โดยที่ผ่านมา กรอ. ได้มีการลดขั้นตอนการพิจารณาอนุญาต รง.4 ให้เหลือ 30 วันซึ่งถือเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนในการดำเนินกิจการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอีกทาง ทั้งนี้หาก พ.ร.บ.โรงงานฯ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดทำรายละเอียดก่อนที่จะนำส่ง รมว.อุตฯ พิจารณานั้น มั่นใจว่าหาก พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้จะสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนในประเทศให้กลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน"

               

          ส่วนการประกอบและขยายกิจการโรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน พบว่า ภาพรวม 7 เดือน มีบางอุตสาหกรรมทยอยลงทุนต่อเนื่อง ซึ่ง กรอ. ได้รับรายงานว่าอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีการประกอบและขยายกิจการโรงงานรวม 16 โรง เกิดการจ้างงาน 343 คน คิดเป็นมูลค่าลงทุน 5,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% มีการจ้างงาน 303 คน ขณะที่อุตฯยานยนต์มีการประกอบและขยายกิจการโรงงานรวม 45 โรงงาน มีการจ้างงาน 9,749 คน คิดเป็นมูลค่าลงทุน 36,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.03% เกิดการจ้างงาน 7,534 คน

               

          ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีการประกอบและขยายกิจการโรงงานรวม 56 โรงงาน มีการจ้างงาน 9,433 คน มูลค่าลงทุน 13,300 ล้านบาท ลดลง 18.7% มีการจ้างงาน 18,779 คน และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีการประกอบและขยายกิจการรวม 369 โรงงาน มีการจ้างงาน 23,785 คน คิดเป็นมูลค่า 27,800 ล้านบาท ลดลง 25.52% มีการจ้างงาน 16,910 คน

 

          "ขณะนี้การประกอบและขยายกิจการโรงงานยังมีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ แปรรูปอาหาร เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เพราะไทยมีฐานการผลิตอยู่แล้ว แต่บางอุตสาหกรรมต้อง ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และ แขนกล คงต้องใช้เวลาในการวิจัยพัฒนาสักระยะหนึ่งจึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเริ่มมีภาคเอกชนบางรายให้ความสนใจสอบถามเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการส่งเสริมจากรัฐบาล เพื่อเตรียมแผนลงทุน คาดจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้"

               

          นอกจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับแจ้งจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ให้เฝ้าระวังและตรวจสอบสินค้าที่จะมีการนำเข้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าที่เข้าข่ายการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดน จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังกรมศุลกากรเพื่อเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวเข้ามายังประเทศ ไทย โดยเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 57 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เข้าตรวจ สอบตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 8 ตู้ ที่ท่าเรือ แหลมฉบัง โดยมีต้นทางจากประเทศ ญี่ปุ่น  ซึ่งสินค้าสำแดงเป็นเศษโลหะ เศษทองแดง และเศษอะลูมิเนียม จากการตรวจสอบสินค้าจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ถูกต้องตรงตามสำแดง แต่ตู้คอนเทนเนอร์ อีกจำนวน 7 ตู้ที่เหลือ ตรวจพบเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว ซึ่งมีปริมาณรวม 196.11 ตัน

 

เร่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

 

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้หารือกับหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยในภาพรวมของการจัดทำรายละเอียดโครงการนั้น มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนโครงการ ทั้งระบบขนส่งทางราง ท่าเรือ และสนามบิน คาดว่า ภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค.นี้ จะรวบรวมรายละเอียดเสนอให้กับที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป

               

          ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมมากที่สุด มีทั้งหมด 3 โครงการ เริ่มจากระบบราง คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร ซึ่งตอนนี้กระทรวงคมนาคมได้จัดทำรายละเอียดเสร็จแล้ว และภายในเดือน ส.ค.นี้ จะเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือพีพีพี เห็นชอบก่อนเข้าสู่กระบวนการ พีพีพีฟาสต์แทร็ค เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เกิดความรวดเร็ว และสามารถรองรับการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี โดยคาดว่า อย่างเร็วที่สุดภายในปีหน้าจะสามารถเปิดประกวดราคาโครงการได้

               

          ต่อมาเป็นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 รองลงมาจากสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง เพื่อเตรียมพร้อมรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก และรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้า สุดท้ายเป็นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด ให้เป็นจุดจอดเรือยอชท์ เรือสำราญ และเรือข้ามฟาก (เฟอรี่) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทย คือ พัทยา-ชะอำ โดยท่าเรือฝั่งทะเลชะอำที่ตอนนี้มีความพร้อมคือ ท่าเรือปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้นหากพัฒนาสำเร็จจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือได้เพิ่มมากขึ้น เพราะการเดินทางไปยังพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งนั้นใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

               

          สำหรับโครงการอีอีซีที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นโครงการใหญ่ที่ต่อยอดอุตสาหกรรมในพื้นที่เดิมของไทยที่มีศักยภาพบริเวณภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นแหล่งลงทุนหลักของประเทศในอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต และการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม ก่อนไปเชื่อมต่อในระเบียงเศรษฐกิจระหว่างตะวันออก-ตะวันตก คาดว่า จะใช้เงินลงทุน 300,000 ล้านบาท และคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนจากเอกชนได้มากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยจะดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งที่ผ่านมาที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบแล้ว

 

หนุนตั้งชุมนุมสหกรณ์ขับเคลื่อน เขตเศรษฐกิจพิเศษด่านสะเดา

 

          ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่าขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมผลักดันให้สหกรณ์ในจังหวัดสงขลาขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ในอำเภอสะเดา เพื่อรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ผลไม้ตามฤดูกาลและยางพารา ส่งออกไปประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เนื่องจากได้มีการประเมินศักยภาพของการค้าผ่านด่านสะเดาแล้วพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางการค้าชายแดนสูงสุดของไทย มีความพร้อมในด้านระบบการขนส่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับท่าเรือปีนังและท่าเรือกลางของประเทศมาเลเซีย และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นศูนย์กลางในการส่งออกอาหารทะเล รวมถึงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและสินค้ายางพารา ครบวงจรด้วย

               

          ดร.วิณะโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 8 ล้านบาท สำหรับจัดสร้างศูนย์รวบรวมและกระจายผลผลิตทางการเกษตร โดยให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรสงขลา จำกัด ร่วมกับสหกรณ์การเกษตร ด่านสะเดา จำกัด ทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากสหกรณ์ต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา โดยจะเชื่อมโยงกันในรูปของเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ โดยร่วมมือกันพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าการเกษตร และเปิดโอกาสชุมชนให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตร ตั้งแต่เริ่มวางแผนการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการแปรรูป วางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการจนไปถึงเรื่องการขนส่ง และจัดจัดหน่ายสินค้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีหอการค้าจังหวัดสงขลาเข้ามาช่วยสนับสนุนการเปิดตลาดต่างประเทศ ประสานกับศูนย์การค้าเมืองปีนัง พ่อค้านำเข้าสินค้าเกษตรและบริษัทนำเข้าข้าวตามโควตาของรัฐบาลมาเลเซีย มาร่วมเป็นคู่ค้าและเพิ่มช่องทางในการรองรับสินค้าการเกษตรของสหกรณ์สำหรับกระบวนการด้านศุลกากร

 

          ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมของสหกรณ์ในการประกอบธุรกิจกับต่างประเทศ และประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมเอกสาร การนำเข้าส่งออกสินค้า และปรับระบบพิธีการนำเข้าส่งออกสินค้าให้มีความรวดเร็ว เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกเรื่องการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

               

          ดร.วิณะโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์ชาวสวนยางในจังหวัดสงขลาจำนวน 5 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรนาหม่อม จำกัด สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด สหกรณ์การเกษตรบางกล่ำ จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส. สงขลา จำกัด และสหกรณ์น้ำยางไทย จำกัด จะร่วมกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์แปรรูปยางพาราสงขลา จำกัด ในเขตอุตสาหกรรมเมืองยาง หรือ Rubber City เพื่อเป็นฐานการผลิตและแปรรูปยางพาราของจังหวัดสงขลา โดยได้รับความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายางพารา และได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเตรียมความพร้อมของสหกรณ์ก่อนที่จะก้าวสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราครบวงจรในอนาคตต่อไป

 

ตั้งเมืองการค้าปลอดภาษี ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเห็นชอบการจัดตั้งเมืองการค้าปลอดภาษี (Border Town) ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน โดยเบื้องต้นจะเสนอให้มีการตั้งให้ครบในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา หนองคาย สระแก้ว และตาก

               

          ทั้งนี้ จะเปิดกว้างให้เอกชนทั้งรายเล็กและรายใหญ่เข้ามาค้าขายในเขตปลอดภาษีดังกล่าวได้อย่างเสรี โดยเป้าหมายของเมืองการค้าปลอดภาษีดังกล่าวต้องการให้ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการซื้อสินค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าในเขตปลอดภาษีได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการประหยัดเวลาและจะได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูก

               

          ขณะเดียวกัน จะเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าไปซื้อสินค้าในเขตปลอดภาษีดังกล่าวด้วย โดยจะมีการกำหนดให้สามารถซื้อได้รายละไม่เกิน 2 หมื่นบาท/คน/เดือน ซึ่งจะต้องซื้อบัตรแสดงตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้เปิดกว้างเหมือนที่ผู้ประกอบการมาซื้อสินค้าเพื่อไปขาย ในส่วนนี้จะทำให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้เร็วขึ้น เพราะจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น

               

          สำหรับเขตปลอดภาษี ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากการเว้นภาษีนำเข้าสินค้าภาษีของกรมสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต รวมถึงจะพิจารณาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการที่เข้ามาค้าขายในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เช่น อาจจะลดภาษีให้ 0% เป็นเวลา 8 ปี เหมือนบีโอไอ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า

 

บีโอไอ เปิดบริการ e-Service อีก 3 ระบบเพิ่มสะดวกผู้ประกอบการ

 

          น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ล่าสุด บีโอไอได้พัฒนารูปแบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) แบบออนไลน์ขึ้นใหม่อีก 3 ระบบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ประกอบด้วย

 

  1. ระบบสนับสนุนงานส่งเสริมการลงทุน (e-Investment) เป็นระบบยื่นคำขอแบบออนไลน์ โดยจะช่วยเรื่องความสะดวกและรวดเร็วในการปฏิบัติงานเพื่อลดภาระงานด้านเอกสาร และการขอเอกสารซ้ำซ้อนของสำนักงานฯ และผู้ประกอบการ โดยจะเริ่มทดลองใช้ระบบดังกล่าวตั้งแต่ตุลาคม 2559 และจะใช้เป็นการทั่วไปตั้งแต่มกราคม 2560
  2. ระบบการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี (e-Tax) เป็นระบบการยื่นขอใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบออนไลน์ โดยบริษัทฯ จะต้องดำเนินการกรอก ตรวจสอบ และปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องด้วยตนเอง จนกระทั่งถึงการรับรองของผู้ตรวจสอบบัญชีผ่านทางระบบโดยตรง ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้งานตั้งแต่กันยายน 2559 และใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่กันยายน 2561
  3. ระบบรายงานผลประกอบการและรายงานความคืบหน้าโครงการ (e-Monitor) ซึ่งเป็นระบบรายงานความคืบหน้าในการลงทุน และระบบรายงานผลประกอบการ หลังจากออกบัตรส่งเสริมฯ แล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560

               

          “ที่ผ่านมาการให้บริการออนไลน์ของบีโอไอ ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ก่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน ซึ่งการเพิ่มบริการใหม่ทั้ง 3 ระบบ จะช่วยให้การทำงานด้านบริการของบีโอไอครอบคลุม มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใสในทุกขั้นตอน โดยบีโอไอตระหนักดีว่าหากผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศ ก็จะส่งผลดีต่อบรรยากาศในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยต่อไป" น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว

               

          ทั้งนี้บีโอไอ ได้นำบริการออนไลน์มาใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการนักลงทุนและผู้ประกอบการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ปี 2554 ครอบคลุมการให้บริการระบบงานต่าง ๆ ได้แก่ ระบบสั่งปล่อยเครื่องจักร และอุปกรณ์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ (eMT Online) ระบบงานช่างฝีมือ (e-Expert) ที่เปิดให้มีการยื่นคำร้องขอช่างฝีมือต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบออนไลน์ โดยสามารถยื่นคำขอได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

               

          น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวว่า บีโอไอ ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและหลากหลายมาใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการนักลงทุนและผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล หรือ ดิจิทัล ไทยแลนด์ (Digital Thailand) ของรัฐบาล และเป้าหมายของการส่งเสริมให้หน่วยงานราชการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการของภาครัฐ เพื่อสร้างความพร้อมของผู้ประกอบการในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่แข่งขันได้ในเวทีโลก

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด