จุรีรัตน์ ทิมากูร
กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายคุมเข้มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็กที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภค และกำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมออกมาตรการเพิ่มโทษผลิตภัณฑ์เหล็กไร้มาตรฐาน พร้อมเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) เพื่อเป็นช่องทางการรวบรวมปัญหาและฟื้นฟูให้ผู้ประกอบการ SMEs พัฒนาความสามารถให้แข่งขันได้ภาคอุตสาหกรรม
หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายคุมเข้มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็กที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภค และกำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จากการลงพื้นที่ตรวจผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายอย่างเข้มงวด ล่าสุด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เปิดเผยว่าในเดือนตุลาคม 2558 ถึง กรกฎาคม 2559 พบมีผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิด พ.ร.บ. มาตรฐานฯ และได้ดำเนินการยึดอายัดเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และเหล็กแผ่นที่ไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว ปริมาณมากกว่าสามหมื่นตัน มูลค่าประมาณ 610 ล้านบาท และได้ดำเนินการ แก้ไขกฎหมาย โดยเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับ ผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดให้มีอัตราโทษสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
ส่วนกรณีการนำเข้าเหล็กแผ่นที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต จากซาอุดิอาระเบีย ที่ สมอ. ยึดอายัดไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และต่อมา สมอ. ตรวจพบว่าเหล็กที่อายัดไว้สูญหายไปจากโกดังของผู้นำเข้าจำนวนหนึ่ง ประมาณ 3,538 ตัน (ร้อยละ 41% ของจำนวนที่อายัดไว้)
ปัจจุบัน สมอ. ได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวน คดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้มีส่วน เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว โดยผู้นำเข้ามีฐานความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 141 และ 142 มีบทลงโทษสูงสุดจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรา 48 มีบทลงโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องที่นำเหล็กแผ่นที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต ดังกล่าวไปจำหน่ายหรือใช้ มีฐานความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรา 55 มีบทลงโทษสูงสุดจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน ห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังได้เร่งดำเนินการในเชิงรุกกับ ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย โดยจัดพิธีลงนามสัตยาบันไม่ผลิตเหล็กเบา ระหว่าง สมอ. ผู้ผลิตเหล็ก และ 8 สมาคมเหล็ก เมื่อ วันที่ 3 มิถุนายน 2559 เพื่อควบคุมให้มีการผลิตเฉพาะเหล็ก ที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และจัดให้มีโครงการร้าน มอก. เพื่อควบคุมผู้จำหน่ายให้จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ ที่เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น ในส่วนของผู้นำเข้า สมอ. ได้เพิ่มความเข้มงวดโดยมีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ เฉพาะในการตรวจสอบเพื่อการอนุญาตเหล็กแผ่น กรณีนำเข้า เฉพาะครั้ง โดยอนุญาตให้นำเข้าได้ไม่เกิน 100 ตัน ต่อแบบ ขนาด (จากเดิม 1,000 ตัน) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2559
และก่อนหน้านี้ สมอ.ได้จัดงานสัมมนาผู้ประกอบการ เพื่อชี้แจงกระบวนการอนุญาตของ สมอ. ยุคใหม่ และแจ้ง หลักเกณฑ์การนำเข้าเฉพาะครั้ง ดังนั้นในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ผู้นำเข้า ต้องแจ้งการนำเหล็กจากต่างประเทศผ่านระบบ National Single Windows (NSW) เพื่อให้การควบคุมการนำเข้า และการดำเนินการตามกฎหมายรวดเร็วมากขึ้น
ขณะเดียวกัน นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สมอ.กล่าวว่า ขณะนี้ สมอ. ลดเวลาการอนุญาตให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเหลือเพียง 15 วัน เพื่อรองรับ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาตของทางราชการ ซึ่ง สมอ.มีพันธกิจการออกใบอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานแก่ผู้ทำ ผู้นำเข้า ได้พิจารณาทบทวนกระบวนการออกใบอนุญาตให้รวดเร็วยิ่งขึ้นตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล
ทั้งนี้ การพิจารณาปรับปรุงกระบวนการออกใบอนุญาตของ สมอ.มีประเด็นหลักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ 2 ประการ ได้แก่ การถ่ายโอนงานด้านการตรวจประเมินโรงงานให้ผู้ตรวจสอบการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ Inspection Body (IB) โดย สมอ. จะถ่ายโอนการตรวจประเมินโรงงาน ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์มี IB ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ปัจจุบันมี IB จำนวน 14 หน่วยงานที่ สมอ.ถ่ายโอนงานให้แล้ว เช่น สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันรับรองไอเอสโอ สถานบันยานยนต์ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งเริ่มถ่ายโอนงาน ในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ ในส่วนที่ 2 ปรับปรุงขั้นตอนการอนุญาต
อย่างไรก็ตาม IB ที่พร้อมรับมอบงานจาก สมอ.สามารถดำเนินการครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานบังคับและมาตรฐานทั่วไป จำนวน 173 มอก.คิดเป็นร้อยละ 40 ของคำขอทั้งหมด ที่จะให้ IB ดำเนินการ และจะทยอยถ่ายโอนให้ IB เมื่อมาตรฐานใด มี IB มากกว่า 5 ขึ้นไป การถ่ายโอนงานนั้น จะส่งผลให้เกิดความรวดเร็วของการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตตามมาตรฐานทั่วไป 5,447 ราย จากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ประกาศใช้แล้ว 3,114 มาตรฐาน
ทั้งนี้ในรอบ 6 เดือนของปี 2559 สมอ. กำหนดมาตรฐานและประกาศไปแล้วจำนวน 98 เรื่อง และอยู่ระหว่างรอประกาศอีก 20 เรื่อง ส่วนที่กำลังดำเนินการอยู่ ขณะนี้ได้ถึงขั้นตอนที่คณะกรรมกำลังการกลั่นกรองอีกจำนวน 122 มอก. คาดการณ์ว่าปี 2559 นี้ สมอ. จะประกาศมาตรฐานได้ถึง 300 มอก. รวมทั้งมาตรฐานเร่งด่วน ได้แก่ มาตรฐานกลุ่มยางพารา มาตรฐานนวัตกรรม ยานยนต์ ไฟฟ้าและระบบราง ทั้งหมดนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 พบว่า สมอ. สามารถกำหนดมาตรฐานได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าแล้ว
นอกจากจะเร่งกำหนดมาตรฐานแล้ว ในด้านการกำกับดูแล สมอ. ได้จัดทีมตรวจร้านจำหน่ายออกไปตรวจทั่วราชอาณาจักรโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค เช่น เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เครื่องใช้ไฟฟ้า และในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2559 สมอ. จับกุมผู้กระทำความผิดและดำเนินคดีไปแล้วจำนวน 163 ราย รวมถึงยึดอายัดเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่น ๆ มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านบาท พร้อมยืนยันว่า สมอ. จะไม่หยุดดำเนินการกับเรื่องดังกล่าวโดยจะพัฒนาและปรับปรุงระบบการกำหนดมาตรฐาน และปรับปรุงรูปแบบการกำกับดูแล หามาตรการ ดั่งการทำสัตยาบรรณกับผู้ผลิตเหล็กและร้านจำหน่ายให้มีการผลิต จำหน่ายสินค้า ที่เป็นไปตามมาตรฐาน ตามเจตนารมณ์ สมอ. ต่อไป
นอกจากนี้ เลขาธิการ สมอ. ยังได้กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ภาคบังคับ (มอก. ภาคบังคับ) ในท้องตลาด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวตาม โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง หรือต่อเติมที่อยู่อาศัยของประชาชนมีมากขึ้น ซึ่งอาจมีผู้รับเหมาบางรายฉวยโอกาสใช้เหล็กไม่ได้มาตรฐานมาก่อสร้าง เพื่อลดต้นทุน เพราะราคาถูกกว่าเหล็กมาตรฐานประมาณ 30-40% มีอายุการใช้งานต่ำกว่าประชาชนอาจได้รับอันตรายได้
สำหรับ สินค้าก่อสร้าง เช่น เหล็ก ปูน ถือเป็นสินค้าที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ จึงอยากเตือนประชาชนที่จะสร้างบ้าน ต้องตรวจสอบเหล็กที่ช่างรับเหมานำมาสร้างบ้านด้วยว่ามีเครื่องหมาย มอก. หรือไม่ โดยจะพิมพ์ตัวนูนบริเวณเหล็กอย่างเห็นได้ชัด หรืออีกวิธีให้สอบถามช่างรับเหมาว่าซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านใด ไว้ใจได้หรือไม่ เพราะหากเป็นเหล็กไม่ได้มาตรฐาน อาจอันตรายต่อชีวิตได้ จึงอยากให้ใส่ใจในอุปกรณ์ที่ผู้รับเหมานำมาก่อสร้างให้มากขึ้น
นอกจากนี้ต้องการเตือนผู้ผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำและปรับ หากเป็นผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หากประชาชนพบว่า ได้รับเหล็กไม่ได้มาตรฐาน หรือมีการเลียนแบบตราเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งมายัง สมอ. ได้
ที่ผ่านมา สมอ.ได้ตรวจยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย รวมมูลค่ากว่า 3,085 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าก่อนได้รับอนุญาตจาก สมอ. ซึ่งส่วนนี้ต้องนำไปตรวจสอบอีกครั้งว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานหรือไม่ หรือเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้นำเข้า ที่นำเข้ามาก่อนได้รับอนุญาต
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกอายัด ส่วนใหญ่อยู่ในผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นหนา สำหรับโครงสร้างทั่วไป เหล็กข้ออ้อย เหล็กเส้นกลม มูลค่า 865 ล้านบาท รองลงมาทองแดง และทองแดงเจือสำหรับจุดประสงค์ทั่วไปทางไฟฟ้า มูลค่า 39 ล้านบาท, มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ 10 ล้านบาท, เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ 7 ล้านบาท, เครื่องรับโทรทัศน์ 2.5 ล้านบาท ของเล่น 2.2 ล้านบาท
และขณะนี้ สมอ.ได้ขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) 26 บริษัทผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศ ซึ่งไม่เข้าร่วมการลงนามสัตยาบันไม่ผลิตเหล็กเบาเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นบริษัทเหล่านี้แจ้งว่า ไม่มีการผลิตเหล็กแล้ว บางรายได้แจ้งปิดกิจการ ดังนั้น สมอ.จะส่งหน่วยงานลงไปตรวจสอบทั้ง 26 บริษัทนี้ว่า ปิดกิจการแล้วจริงหรือไม่ หากปิดกิจการแล้วจะยึดใบอนุญาตคืน แต่หากยังผลิตเหล็กอยู่ถือว่าเข้าข่ายหลบเลี่ยง จงใจกระทำผิดกฎหมาย ส่อว่าตั้งใจผลิตเหล็กที่ไม่มีคุณภาพจำหน่ายในท้องตลาด สำหรับผู้ผลิตที่ทำผิดกฎหมายจะลงโทษปรับสูงสุด (นิติบุคคล) 1 ล้านบาท (กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจลงนาม) รายละ 1 ล้านบาท จำคุก 2 ปี สำหรับผู้จำหน่ายปรับ 5,000-50,000 บาท จำคุก 1 เดือน และขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มโทษปรับสูงสุดเป็น 5 แสนบาท
ทั้งนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปิดโรงงาน รอขายกิจการรวมทั้งใบอนุญาตให้กับนักลงทุนรายใหม่ เพราะคิดว่าการขอใบอนุญาตจาก สมอ. ยากและใช้เวลานานจึงไม่ยอมคืน แต่จากนี้ไปหากพบว่าไม่ผลิตต่อแล้ว เราต้องขอยึดคืนใบอนุญาตทั้งหมด ส่วนรายที่จะผลิตใหม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตใหม่ เพื่อจะได้พิจารณาทุกกระบวนการผลิต คุณภาพเหล็กว่าถูกต้องหรือไม่
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำนั้น เมื่อเร็วนี้ สมาคมเหล็กลวด ได้ยื่นหนังสือต่อสมอ.ให้พิจารณาชะลอการดำเนินการประกาศยกเลิกมาตรฐานเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ มอก.348-2540 ไว้ก่อน และทำการทบทวนร่าง มอก.348 -พ.ศ..... อีกครั้ง
เนื่องจากเห็นว่า การจัดทำร่างปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าวที่ผ่านมา ไม่มีสมาชิกของสมาคมเหล็กลวด อยู่ในคณะกรรมการวิชาการรายสาขาคณะที่ 2 ซึ่งผิดจากหลักการของการจัดทำมาตรฐาน ที่ต้องมีตัวแทนนักวิชาการ ผู้ผลิต และผู้ใช้ที่มีสัดส่วนถ่วงดุล กันมาร่วมกับพิจารณารายละเอียดในการปรับปรุงมาตรฐาน อีกทั้ง สมาคมเหล็กลวด เห็นว่า การใช้เหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่เป็นไปตาม มอก.348-2540 ที่ใช้ติดต่อกันมากว่า 15 ปี มีความเหมาะสมแล้ว
และการปรับปรุงมาตรฐานใหม่ อาจส่งผลให้ผู้ใช้เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ต้องปิดกิจการลง โดยอ้างว่า จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการผลิตของผู้ประกอบการที่ต้องใช้เหล็กลวดเป็นวัตถุดิบรวมกันมากกว่าปีละ 5 แสนตัน
ด้านเลขาธิการ สมอ.กล่าวว่า สมอ.สั่งให้สมาคมเหล็กลวดไปจัดทำ ข้อมูลผลกระทบให้ชัดเจน เช่น จำนวนผู้ใช้ เหล็กลวดกระทบกี่ราย และมีกิจการประเภทใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงจะมีผลกระทบ ในรูปแบบใด และให้นำข้อมูลด้านวิชาการมาชี้แจงเพิ่มเติม ไม่ใช่เป็นการชี้แจงผลกระทบ ด้านการค้า-ขาย ซึ่งหากมีข้อมูลผลผลกระทบ ที่เป็นประโยชน์ สมอ.ก็พร้อมจะพิจารณาการปรับปรุงมาตรฐานต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า สมอ.จำเป็นต้อง ปรับปรุงร่างมาตรฐาน มอก.348 -พ.ศ....เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยมองว่าประเด็นที่สมาคมเหล็กลวดคัดค้านคือ การเพิ่มธาตุบางชนิดลงไปในองค์ประกอบเหล็ก ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค และอาจส่งผลให้ผู้ใช้เหล็กบางกลุ่ม ที่ต้องนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ทำได้ยากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนในอนาคต
โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตเหล็กลวดในประเทศ ประมาณ 10 ราย และผู้ใช้เหล็กลวดกลางน้ำและปลายน้ำ ที่เป็นเอสเอ็มอี อีกประมาณ 100 ราย ซึ่งส่วนนี้มีผู้นำเข้าไม่ถึง 30 ราย
ด้าน นายทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ รักษาการ ผู้อำนวยการ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าฯ ว่า ขณะนี้สถาบันฯ ได้ปรับโครงสร้างการทำงานจากเดิม มุ่งเน้นแต่การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ไปเป็นสถาบันที่ช่วยในการพัฒนาโลหะในทุก ๆ ด้าน เพื่อรองรับนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล (S-curve)
สำหรับหนึ่งในแผนงานที่สำคัญ ก็คือการเข้าไปช่วยส่งเสริมการผลิตโลหะผสมเพื่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งล่าสุดมีผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานระดับเทียร์ 1 (First Tier) หรือผู้ที่ส่งชิ้นส่วนตรงเข้าโรงงานประกอบเครื่องบิน และเทียร์ 2 ผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนผู้ผลิตในเทียร์ 1 มีจำนวน 2-3 ราย สนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานประกอบในประเทศไทย ซึ่งเป็นการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีความซับซ้อน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่อยู่ในเทียร์ 3 และ 4 หรือชิ้นส่วนต้นน้ำที่ผลิตจากโลหะผสมที่ใช้เทคโนโลยีในระดับสูง ซึ่งล่าสุดได้มีบริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในเทียร์ 3 และ 4 จำนวน 30-40 ราย สนใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะย้ายฐานการผลิตจากประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทย เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ชั้นนำของเอเชีย มีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศที่หลากหลาย และมีความ ชำนาญในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มานาน เหมาะที่จะต่อยอดไปผลิตเป็นชิ้นส่วนอากาศยาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการ พิจารณาสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ดีสถาบันเหล็กฯ ได้รับเป้าหมายในการสนับสนุนด้านวัสดุสำหรับ 10 อุตสาหกรรม S-curve โดยในส่วนของอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนอากาศยาน สถาบันฯ จะมุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่ม เทียร์ 4 ที่ใช้วัสดุโลหะผสมชนิดพิเศษ ในการผลิตเป็นชิ้นส่วนตั้งต้นในอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งสถาบันฯมีความพร้อม ในการรองรับภารกิจนี้ เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านโลหะผสม และมีความพร้อมด้านเครื่องไม้เครื่องมือ และห้องแล็บในการทดสอบด้านต่าง ๆ ซึ่งอาจจะต้องลงทุนซื้อเครื่องมือบางชนิด เพื่อรองรับภารกิจต่าง ๆ ได้มากขึ้น" นายทรงวุฒิ กล่าว สถาบันเหล็กฯ ได้ขยายขอบข่ายไปสู่การพัฒนาวัสดุโลหะทุกชนิด ก็ทำให้สามารถเพิ่มบทบาทเข้าไปช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรม S-curve ได้หลากหลาย เช่น การใช้ฐาน ความรู้ด้านโลหะไปส่งเสริมการผลิต โบกี้รถไฟฟ้า หุ่นยนต์ เป็นต้น
รวมทั้ง การเข้าไปสนับสนุนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานในอุตสาหกรรมเหล็ก อลูมิเนียม และโลหะต่าง ๆ และการเข้าไปตรวจสอบ ระบบมาตรฐานการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลหะแทน สมอ. ซึ่งจะช่วย ให้งานการปรับปรุงมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมไทยเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว และจะทำให้สถาบันเหล็กฯ มีรายได้ในการนำไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมโลหะต่าง ๆ ได้ในอนาคต
ด้าน นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 2 ล้านคัน โดยส่งออกจำนวน 1.2 ล้านคัน และภายในประเทศ 7.8 แสนคัน โดยในปีที่แล้วยอดการผลิตไม่ค่อยดีนัก แต่ในปีนี้คาดว่าจะหนักกว่าปีที่ผ่านมา เพราะเกิดสภาวะภัยแล้ง และพืชผลทางการเกษตรไม่ได้ราคาตามที่คาดหวังไว้ แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีภาครัฐเองได้พยายามที่จะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเป็นจำนวนมากก็ตาม ซึ่งทางกลุ่มยานยนต์เองคาดหวังว่าการที่ภาครัฐได้เร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจตรงนี้ โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้ประชาชนที่อยู่รอบนอกมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ซึ่งจะทำให้หลายค่ายมีการปรับราคารถยนต์เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นช่วงปลายปีที่แล้วคนจึงได้แห่ซื้อรถยนต์กันไปเป็นจำนวนมาก
สำหรับปี 2559 สถาบันยานยนต์ เองมองว่าจากสภาวะภัยแล้ง และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังปรับตัวได้ไม่ดีนัก จึงทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทยคาดการณ์ยอดขายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 7.5 แสนคันเท่านั้น ขณะที่กลุ่มภาคเอกชนเองได้มีความพยายามที่จะช่วยกันผลักดันให้เกิดการส่งออกมากขึ้น เพื่อชดเชยตลาดในประเทศที่ลดลงไป โดยยอดการส่งออกปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.25 ล้านคัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะไม่ดีมากนัก แต่ถ้าเจาะลึกเข้าไปในตลาดที่มีความต้องการซื้อรถยนต์อย่างประเทศไทย มองว่ายังคงจะมีการกระเตื้องขึ้นบ้างในหลายจุด อย่างเดือดเมษายนที่ผ่านตัวรถยนต์ในกลุ่มของ PPV SUV ยังมีการขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกอาทิ ตลาดในกลุ่มเอเชีย โอเชียเนีย และออสเตรเลีย โดยขณะนี้ออสเตรเลียได้ปิดโรงงานประรถยนต์ทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถยนต์หลายรายมีคำสั่งซื้อรถยนต์จากประเทศไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศแม้จะไม่ดีแต่ยังมีตลาดส่งออกสามารถที่ยังสามารถไปได้
ขณะที่ เรื่องศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งชาติ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ทางสถาบันเองได้อยู่ในส่วนของการสนับสนุนเรื่องของเทคนิคและเรื่องของฝ่ายปฏิบัติงาน โดยตอนนี้เองสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้ามาดำเนินการเรื่องของบประมาณจัดสร้าง ซึ่งเริ่มโครงการมาได้ 2 ปีแล้ว และทางสภาอุตสาหกรรมได้พยายามผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้นจริง
สำหรับ สนามทดสอบจะเปิดที่ละเฟสซึ่งภายใน 3 ปี น่าจะเริ่มเห็นสนามทดสอบยางในเฟสแรก แต่ทั้งนี้ต้องไปสอบถามกับที่ปรึกษาก่อนเพื่อให้เกิดมาตรฐานระดับสากล ซึ่งภายใน 2-3 เดือนจะได้เริ่มดำเนินการ ขณะที่แผนก่อสร้างเริ่มปีหน้า และในเฟสแรกจะเป็นเรื่องของการทดสอบยางกับช่วงล่าง โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ ไม่ใช่เพียงกลุ่มค่ายรถยนต์ทดสอบใช้เท่านั้น เพราะกลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไม่มีสนามทดสอบ เมื่อทำการผลิตเสร็จเรียบร้อย ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำไปทดสอบที่ต่างประเทศ ซึ่งเรามองว่าการมีสนามทดสอบขึ้นมา จะทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำของอาเซียน เพราะว่า เป็นสนามแรกของรัฐบาลให้การบริการกับภาคเอกชน โดยจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กเป็นหลัก
ขณะที่ นโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ทางอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก เหตุนี้การพัฒนายานยนต์ต่อไปจะเน้นไปที่เรื่องนวัตกรรมใหม่ โดยประเทศไทยจะไม่เป็นเพียงผู้รับจ้างการผลิตอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะฉะนั้นการมีนวัตกรรมใหม่ การใช้อินโนเวชั่น จะเป็นตัวที่เข้ามาขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมนำเสนอกรอบแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ก.ค.นี้ รับทราบความคืบหน้า และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไป ดำเนินการต่อ เพื่อให้สามารถนำรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ได้จริงภายในเดือน พ.ย.นี้
สำหรับแนวทางการส่งเสริมให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ คือ กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องกำหนดเรื่องนโยบายภาษี และแนวทางส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% ซึ่งส่วนนี้ผู้ประกอบการ ค่ายรถยนต์ต้องการมากที่สุด แต่บีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขให้ค่ายรถยนต์ต้องยื่นแผนการลงทุนประกอบหรือผลิตชิ้นส่วนในไทยด้วย
ทั้งนี้แผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายรอบแล้ว ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง คงจะต้องไปพิจารณาการยกเว้นภาษีนำเข้าเหลือ 0% หรือไม่ บีโอไอก็ต้องไปกำหนดมาตรการ ส่งเสริมการลงทุนแลกกับแพ็คเกจที่ค่ายรถยนต์เสนอ ส่วนกระทรวงพลังงาน ต้องไปเตรียมความพร้อมสถานีชาร์จและ สมอ. ต้องดูเรื่องมาตรฐานอุปกรณ์ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นกรอบการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนภายในเดือน ก.ย. นี้"
หากมีการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% คาดว่าจะเห็นการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น นิสสัน ลีฟ ที่เริ่มนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว และอาจเห็นการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพราะจะทำให้ราคารถยนต์ถูกลง 5-6 แสนบาท ต่อคัน จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 1.8-1.9 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ จดทะเบียนกับการขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยจำนวน 50 คัน
นอกจากค่ายรถนิสสันที่สนใจนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีจีน ที่แสดงความสนใจและอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดการลงทุนอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ก็สนใจทำแผนส่งเสริมยนต์ไฟฟ้าในประเทศเช่นกัน แสดงให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก และไทยต้องเปลี่ยนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ยานยนต์ในอนาคต
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้กล่าวถึงโครงการอบรมหลักสูตร เอสเอ็มอี สปริงอัพ (SMEs Spring Up) ว่า เป็นความมุ่งมั่นของภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาธุรกิจ SMEs ให้เจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยรวบรวมผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของประเทศ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย จำกัด และบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ มาร่วมถ่ายทอดบทเรียนความสำเร็จในการบริหารธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งด้านการบริหาร การจัดการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเป็นเจ้าของสถานประกอบการหรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารเท่านั้น ขณะที่ข้อเสนอแนะและผลจากการอบรมจะนำมาผนวกเป็นแผนการพัฒนาและส่งเสริม SMEs ไทยได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิผลต่อไป
ด้าน นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวเสริมว่า หลักสูตรการอบรมแบ่งออกเป็น 4 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรนโยบายของรัฐกับการส่งเสริม SMEs 2.หลักสูตร SMEs กับการต่อยอดมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม 3.หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ 4.หลักสูตรการเสริมสร้างประสบการณ์ผู้ประกอบการเชิงประจักษ์ โดยทำการอบรมทั้งหมด 7 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม-9 กรกฎาคม 2559 มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 107 ท่าน ประกอบด้วยผู้ประกอบการ SMEs จากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหการ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้จากความสำเร็จของโครงการ กสอ. จึงมีได้จัดอบรม Spring Up ต่อเนื่องอีก 2 รุ่นในเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2559
นายพรชัย รัตนตรัยภพ กรรมการผู้จัดการบริษัทอินเตอร์โปรไฟล์ จำกัด หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า บริษัทอินเตอร์โปรไฟล์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตชิ้นงานพลาสติกในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประสบปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และปัญหาในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต หรือการพัฒนาด้านนวัตกรรม จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ SMEs Spring Up
ทั้งนี้ผลจากการเข้าโครงการทำให้ตนได้เรียนรู้ถึงการพัฒนาการผลิต และนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำต่าง ๆ สามารถนำมาต่อยอดในการบริหารจัดการ และพัฒนาธุรกิจของตนให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยตลอดระยะเวลา 7 สัปดาห์ที่เข้าอบรมร่วมกัน คาดว่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจในรุ่นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท รวมถึงมีโอกาสเกิดนวัตกรรมใหม่ร่วมกันอีกจำนวนมากในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งโรงงานผลิตและบรรจุสุราในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศ ได้กำหนดบทนิยามคำว่า "สุรากลั่น" และ "สุราแช่" โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ตั้งโรงงานสุรากลั่น โดยโรงงานที่ตั้งต้องมีขนาดกำลังการผลิตตามที่กำหนด ผลิตสุรากลั่นที่มีคุณภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้งมีเครื่องมือตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำสุราตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสุราประจำโรงงาน
การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ตั้งโรงงานสุราแช่ โดยโรงงานที่ตั้งต้องผลิตสุรากลั่นที่มีคุณภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และมีเครื่องมือตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำสุราตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสุราประจำโรงงาน กำหนดให้การตั้งโรงงานบรรจุสุรา ให้สุราที่บรรจุต้องมีคุณภาพเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้วย
การกำหนดให้คำขอตั้งโรงงานสุรากลั่น โรงงานสุราแช่ หรือโรงงานบรรจุสุราได้ยื่นก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับให้นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ไปใช้บังคับกับการพิจารณาต่อไปด้วย
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) ว่า ภาครัฐมีนโยบายให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ของไทยให้มีขีดความสามารถการแข่งขันที่ดีพร้อมปรับโครงสร้างกลไกสนับสนุนและการขับเคลื่อน SMEs ให้เป็นระบบ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาในการทำธุรกิจและการเข้าถึงบริการของภาครัฐทำให้การดำเนินธุรกิจประสบปัญหา จึงได้มอบนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการ SMEs ไทย ที่ประสบปัญหาด้านต่าง ๆ เช่น การขาดโอกาสทางการตลาด ด้านการจัดการและนวัตกรรม ปัญหาทางด้านการเงิน เพื่อให้กลับมาเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพขีดความสามารถจะแข่งขันในตลาดได้และก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ หรือ SMEs 4.0 ที่มีความเข้าใจด้านเศรษฐกิจและการตลาด รวมถึงใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจและช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของไทย
ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) เพื่อเป็นช่องทางการรวบรวมปัญหาและแนวทางการฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาเข้มแข็งและธุรกิจเดินหน้าต่อได้อีกครั้ง โดยใช้การบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการจากหน่วยงานเครือข่ายโดยมี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานและมีตัวแทนจากหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ เข้าร่วมการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวด้านการบริหารจัดการและบูรณาการแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็ว โดยในช่วงแรกจะมีที่ทำการให้บริการที่ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BSC) ที่อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นการชั่วคราวไปก่อน หลังจากนั้นจะย้ายมาตั้งที่กระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป
สำหรับช่องทางการให้บริการของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) มีจุดให้บริการกว่า 3,800 แห่งทั่วประเทศ และมีหน่วยคัดกรองวิเคราะห์ปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงของคำร้องที่ส่งผ่านหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ ประมาณ300 แห่งทั่วประเทศ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงินของภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมบังคับคดี ศูนย์ดำรงชัยธรรม ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEsประสบปัญหาส่งเรื่องร้องขอความช่วยเหลือ แล้วทางศูนย์ฯ จะนำข้อมูลวิเคราะห์และจัดชั้นแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อจัดลำดับและแนวทางแก้ไขปัญหาพร้อมส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทางศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้จัดแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพแต่มีปัญหาด้านการเงิน เช่น ขาดสภาพคล่องหรือมีมูลหนี้มาก ภาครัฐก็จะสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพลิกฟื้น SMEs เข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนหรือติดต่อสถาบันการเงินเข้ามาเจรจาประนอมหนี้เพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการและเกิดการจ้างงานต่อ ส่วนกลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีศักยภาพแต่มีปัญหาด้านการจัดการ จะส่งเรื่องให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาช่วยวางแผนบริหารจัดการทางด้านการตลาดเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้ดีขึ้น และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ยังมีศักยภาพในการฟื้นฟูไม่มากจะมีหน่วยงานเข้าไปช่วยแนะนำการปรับโครงสร้างธุรกิจให้กลับมาดำเนินการได้ หรือหากจำเป็นต้องเลิกกิจการ จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเหล่านี้ให้ไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสทางการตลาดที่ดีกว่าหรือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต
"เบื้องต้น ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนเงินทุนจากแก่ผู้ประกอบการที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูและกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) จากกองทุนพลิกฟื้น SMEs ซึ่งมีวงเงินเริ่มต้นที่ 1,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขออนุมัติเงินงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อนำมาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจากสถาบันการเงินให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ปลอดอัตราดอกเบี้ยโดยมีระยะเวลาให้กู้ 5-7 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป" นายสนธิรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) ยังทำหน้าที่ในการบริหารจัดการข้อมูลที่จะนำไปทำการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่เหมาะ สมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและมีความสามารถในการแข่งขันและก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs 4.0 ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ตามเจตนารมณ์ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) พร้อมให้ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร หรือศูนย์ OSS สสว. ซึ่งมี 11 ศูนย์ทั่วประเทศในขณะนี้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการที่ผู้ประกอบการจะติดต่อขอรับการช่วยเหลือ เพื่อเป็นสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME RESCUE Center) ของกระทรวงอุตสาหกรรม
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด