เนื้อหาวันที่ : 2016-08-24 18:53:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3290 views

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

การขยายตัวของประชากรและชุมชนเมือง มักตามมาด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายให้ต้องแก้ไขในภายหลัง ซึ่งปัญหาที่พบได้โดยทั่วไป ได้แก่ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าธรรมชาติเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นพื้นที่เพาะปลูกการเกษตร ความแออัดคับคั่งของสภาพการจราจร ปัญหาเรื่องของขยะ ปัญหามลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำหรือน้ำเสีย เป็นต้น

 

     เช่นเดียวกับในพื้นที่เทศบาลเมืองเพชรบุรี แม้ไม่ใช่ชุมชนเมืองขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หรือหาดใหญ่ แต่มีปัญหาให้ต้องแก้ไขเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องแม่น้ำเพชรบุรี แหล่งน้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชุมชนเมืองกลายสภาพเป็นน้ำเสีย ไม่สามารถบริโภคอุปโภคได้ ส่งผลเสียต่อพืชตามแนวชายฝั่งและส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดว่าปัญหาเหล่านี้จะผ่อนคลายลงไปได้ ผลจากโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี ซึ่งค้นพบว่า เทคโนโลยีหลายอย่างที่นำมาใช้สามารถบำบัดน้ำเสีย จัดการขยะให้เป็นปุ๋ยและฟื้นฟูสภาพธรรมชาติอย่างได้ผล ซึ่งจะเป็นต้นแบบนำไปใช้ในการปรับปรุงพื้นที่เสื่อมสภาพในชุมชนอื่น ๆ ได้ด้วย

 

ชุมชนขยายตัวกระทบสายน้ำเพชรบุรี – สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม

 

          ทั้งนี้ “จังหวัดเพชรบุรี” เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางตอนล่างของประเทศและเป็นประตูสู่ภาคใต้ เทศบาลเมืองเพชรบุรีมีพื้นที่ 5.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,375 ไร่ มีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำและที่ราบเชิงเขา โดยมีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านกลางเขตเทศบาลฯ จากแนวเขตเทศบาลฯ ด้านทิศใต้ไปจรดแนวเขตเทศบาลฯ ด้านทิศเหนือ รวมเป็นระยะทางประมาณ 3.7 กิโลเมตร ความกว้างของแม่น้ำเพชรบุรีช่วงที่ไหลผ่านในเขตเทศบาลฯ โดยเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร คิดเป็นพื้นที่ของแม่น้ำเพชรบุรีในส่วนที่ไหลผ่านเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีประมาณ 0.185 ตารางกิโลเมตร

 

          กล่าวได้ว่า แม่น้ำเพชรบุรี ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญของชุมชนเทศบาลเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยประมาณ 45,000 คน เดิมประชาชนใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำทั้งเพื่ออุปโภค บริโภค เกษตรกรรม และการคมนาคม นอกจากนี้ได้มีการนำน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีไปใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย

 

          แต่ต่อมามนต์ขลังของแม่น้ำเพชรเสื่อมคลายลง แม่น้ำเพชรบุรีจึงถูกทอดทิ้งปล่อยให้รกร้างปกคลุมไปด้วยวัชพืชและผักตบชวา กิจกรรมของมนุษย์ในสังคมเมืองที่ปรับเปลี่ยนการใช้การคมนาคมสัญจรจากทางน้ำมาเป็นการจราจรทางบก การปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำและการทิ้งสารเคมีจากภาคการเกษตร ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมก็มีการลักลอบทิ้งน้ำเสียและสารเคมีลงสู่แม่น้ำเช่นกัน โดยในแต่ละวันจะมีน้ำเสียถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีประมาณ 3,500-4,500 ลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำในแม่น้ำเกิดการเน่าเสีย จนไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้ รวมถึงกิจกรรมในการใช้น้ำในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

 

          นอกจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในเขตเทศบาลฯ และการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของประชากรในพื้นที่จะส่งผลกระทบถึงปัญหาน้ำเสียชุมชนแล้ว ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยในแต่ละวัน ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณขยะมากถึง 40 ตันและยังมีวิธีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง บางส่วนถูกกองทิ้งไว้กลางแจ้ง และบางแห่งยังมีการทิ้งลงสู่แม่น้ำ ก่อให้เกิดปัญหามลพิษเพิ่มขึ้นทั้งทางน้ำ ทางดินและน้ำใต้ดิน ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคและปัญหาการส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำเพชรบุรีเริ่มประสบวิกฤตปัญหาสิ่งแวดล้อม 

 

แปลงทดลองบำบัดน้ำเสีย-ฟื้นป่าชายเลนด้วยธรรมชาติ

 

          สืบเนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีพระราชดำริด้านปัญหาขยะและน้ำเสียในชุมชนและเมืองขนาดใหญ่ สร้างความเดือดร้อนต่อสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ทรงห่วงใยในปัญหาดังกล่าว และเล็งเห็นว่า การบำบัดน้ำเสียและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น หากนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพียงอย่างเดียวก็จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น กิจกรรมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในการย่อยสลายสิ่งสกปรกย่อมมีมากและรวดเร็ว จึงมีพระราชดำริเรื่องการบำบัดของเสีย ด้านขยะและน้ำเสีย โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ง่ายราคาถูก ทุกคนสามารถทำได้ ไม่สลับซับซ้อน ค่าใช้จ่ายต่ำ และเป็นการให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ซึ่งได้กลายเป็นที่มาของโครงการต้นแบบการบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีธรรมชาติที่มีชื่อว่า "โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"

 

          โครงการดังกล่าว เป็นพื้นที่แปลงทดลองของโครงการตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลน และสถานีบำบัดน้ำเสียชุมชน โดยยึดหลักการ "ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ" ซึ่งเป็นความคิดที่ฉลาดหลักแหลมมาก ไม่ต้องลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายสูงมาก ก็สามารถบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดีได้

 

          นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้เป็นแหล่งประกอบอาชีพอื่น ๆ จากผลผลิตจากสภาพธรรมชาติที่ดีขึ้นผลจากโครงการฯ ได้อีกด้วย เช่น ใช้พืชที่ปลูกไว้ใช้ในการกรองน้ำเสีย อย่างกกธูป เพื่อทำจักสาน, การทำประมงและจับสัตว์น้ำในพื้นที่ป่าชายเลนที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นต้น

 

          ทั้งนี้โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และกรมชลประทาน มีพื้นที่รวม 1,135 ไร่ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1 ใน 5 ของเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ที่มีประชากรประมาณ 45,000 คน โดยน้ำเสียจะถูกส่งมาตามท่อด้วยความยาวกว่า 18 กิโลเมตรตามจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูงและยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

          ระยะเวลาดำเนินการ 4 ระยะคือ

 

          ระยะที่ 1 ปี พ.ศ.2533-2536 การทดลองศึกษาความเป็นไปได้ในการกำจัดขยะ

 

          ระยะที่ 2 ปี พ.ศ.2537-2539 การหารูปแบบการทดลองภาคปฏิบัติ ทดลองในภาคปฏิบัติ

 

          ระยะที่ 3 ปี พ.ศ.2540-2542 การหาประสิทธิภาพและสร้างแบบจำลองระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะ

 

          ระยะที่ 4 ปี พ.ศ.2543 ถึงปัจจุบัน การส่งเสริมเผยแพร่เทคโนโลยีของโครงการฯ

 

 

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย

 

 

แผนผังที่ตั้งโครงการ

 

 

 

แบบจำลองศึกษาประสิทธิภาพระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย

 

 

 

ระบบกำจัดขยะในกล่องคอนกรีต

 

 

 

ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพืช

 

องค์ความรู้ที่ได้-เทคโนโลยีกำจัดขยะ-บำบัดน้ำเสีย-แผ่นดินงอก

 

          โครงการฯ นี้ช่วยให้ได้องค์ความรู้หลายอย่าง จากการศึกษาวิจัยรูปแบบของเทคโนโลยีการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านการกำจัดขยะ และการบำบัดน้ำเสีย โดยอาศัยวิธีธรรมชาติช่วยเหลือธรรมชาติ ที่แสดงให้เห็นว่า ใช้ได้ผลดีและสามารถเป็นต้นแบบเพื่อนำไปปรับใช้แก้ปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ ได้ด้วย เทคโนโลยีดังกล่าวได้แก่

 

          1. เทคโนโลยีการทำปุ๋ยหมักจากขยะ โดยการฝังกลบในกล่องคอนกรีต ซึ่งเป็นการกำจัดขยะชุมชนด้วยวิธีการทำปุ๋ยหมัก เป็นวิธีที่ประหยัดพื้นที่ ประหยัดค่าใช้จ่าย และสะดวกในการนำปุ๋ยมาใช้ประโยชน์ เจ้าหน้าที่โครงการฯ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนและผสมผสานกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กระบวนการกำจัดและบำบัดและการนำไปใช้ประโยชน์ เป็นสหวิทยาการรวมศาสตร์ทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคม การประชาสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อมศึกษา

 

          ทั้งนี้ร้อยละ 50 ของขยะชุมชนโดยทั่วไปจะเป็นขยะอินทรีย์ (ขยะเน่าเสีย) ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ส่วนที่เหลือเป็นพวกที่ไม่ย่อยสลาย จึงสามารถนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับใช้ประโยชน์ได้ใหม่ และส่วนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้จะถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

 

          เทคโนโลยีนี้ใช้ขยะอินทรีย์ใส่ในกล่องคอนกรีตเป็นชั้น ๆ ระหว่างชั้นจะใส่ดินแดงหรือดินนาลงไป เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์และมีการรดน้ำเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิในกระบวนการหมัก ซึ่งใช้ระยะเวลาในการทำปุ๋ยหมักจากขยะเพียง 90 วัน โดยมีขนาดกล่องคอนกรีตและจำนวนปุ๋ยที่ได้ 2 ขนาดคือ

 

          1) กล่องคอนกรีตขนาดกว้าง 2.00 เมตร ยาว 3.00 เมตร สูง 1.50 เมตร สามารถหมักปุ๋ยจากขยะได้สูงสุดเท่ากับ 6 ลูกบาศก์เมตร หรือ 2,000 กิโลกรัม (2 ตัน)

 

          2) บ่อคอนกรีตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.00 เมตร สูง 1.50 เมตร สามารถหมักปุ๋ยจากขยะ ได้สูงสุด 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 330 กิโลกรัม

 

          2. เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย ทั้งนี้ในการบำบัดน้ำเสียชุมชน โครงการฯ ได้จัดการรวบรวมน้ำเสียและลำเลียงจากเทศบาลเมืองเพชรบุรีไปตามท่อยาวประมาณ 18.5 กิโลเมตร เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติบำบัดน้ำเสียประกอบด้วย 4 ระบบดังนี้คือ

 

          2.1 ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย (Lagoon Treatment) เป็นระบบที่อาศัยการกักพักน้ำเสียไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสมกับปริมาณความสกปรกของน้ำ มีการเติมออกซิเจนด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอน และสาหร่าย พร้อมทั้งอาศัยแรงลมช่วยในการพลิกน้ำเติมอากาศ การย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ และใช้ระยะเวลากักพักน้ำเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค

ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ ประกอบด้วย บ่อตกตะกอน 1 บ่อ บ่อผึ่ง 3 บ่อ และบ่อปรับสภาพ 1 บ่อ โดยเชื่อมต่ออย่างเป็นอนุกรม สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียสูงสุดได้ถึง 10,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน โดยน้ำเสียจะถูกลำเลียงจากเทศบาลเมืองเพชรบุรีเข้าสู่บ่อตกตะกอน แล้วผ่านไปยังบ่อผึ่ง 1, 2 และ 3 ตามลำดับ จากนั้นเข้าสู่บ่อปรับสภาพคุณภาพน้ำเป็นขั้นสุดท้าย น้ำเสียแต่ละบ่อ จะไหลล้นผ่านอาคารระบายน้ำด้านบนและเชื่อมต่อกันทางตอนล่างของบ่อถัดไปเป็นลำดับ นับว่าระบบนี้มีประสิทธิภาพการบำบัดความสกปรกในรูปของบีโอดีได้ถึงร้อยละ 85-90 คุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัด อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งชุมชน

 

          2.2 เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย (Plant and Grass Filtration) เป็นระบบที่ให้พืชช่วยดูดซับธาตุอาหารจากการย่อยสลายสารอินทรีย์เป็นสารอนินทรีย์ที่พืชต้องการของจุลินทรีย์ในดิน การปลดปล่อยออกซิเจนจากกระบวนการสังเคราะห์แสงจากระบบราก สาหร่าย และแพลงก์ตอน โดยการปล่อยให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงพืชหรือหญ้า โดยน้ำเสียจะไหลผ่านผิวดินและต้นพืชหรือหญ้าเป็นระยะทางอย่างน้อย 50 เมตร ระดับความสูงของน้ำเสียที่กักขังบริเวณท้ายแปลงเท่ากับ 30 เซนติเมตร สำหรับระยะเวลาเก็บกักที่เหมาะสม คือ ขังน้ำเสียไว้ 5 วัน แล้วปล่อยให้แห้ง 2 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ได้พักตัว น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วถูกระบายออกจากระบบโดยปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้

 

          ส่วนพืชและหญ้าที่ใช้ในการบำบัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ หญ้าอาหารสัตว์ ได้แก่ หญ้าคาลลา (Letpochloa Fusca) หญ้าโคสครอส (Sporobolus Virginicus) และหญ้าสตาร์ (Cynodon Plectostachyus) พืชทั่วไป ได้แก่ ธูปฤาษี (Typha Angustifolia Linn) กกกลมหรือกกจันทบูร (Cyperus Corymbosus Rottb) และหญ้าแฝกพันธุ์อินโดนีเซีย เมื่อครบระยะเวลา 45 วัน (ยกเว้นธูปฤาษี 90 วัน) จะตัดพืชและหญ้าเหล่านั้นออก เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ซึ่งหญ้าเหล่านี้นำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากการปนเปื้อนของมลสารไม่เกินมาตรฐานสำหรับสัตว์ ส่วนพืชทั่วไปนำไปใช้ในการจักสานเพื่อเพิ่มประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านได้

 

          2.3 เทคโนโลยีระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม (Constructed Wetland) เป็นระบบที่ใช้หลักการและกลไกในการบำบัดน้ำเสียเช่นเดียวกับระบบพืชและหญ้ากรอง แต่แตกต่างกันที่วิธีการ โดยการดำเนินการใช้วิธีปล่อยให้น้ำเสียขังในแปลงพืชน้ำ ที่ระดับความสูง 30 เซนติเมตรจากพื้นแปลง โดยให้น้ำเสียมีระยะเวลากักพักอย่างน้อย 1 วัน ใช้การเติมน้ำเสียใหม่ลงสู่ระบบให้ได้ระดับ 30 เซนติเมตร ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำเสียที่สูญหายไปโดยกระบวนการระเหยในแต่ละวัน

 

          อีกวิธีการหนึ่งคือ การเติมน้ำเสียใหม่ลงสู่ระบบอย่างต่อเนื่องตลอดวัน โดยที่อัตราความเร็วของน้ำเสียเท่ากับปริมาณน้ำเสียใหม่ที่สามารถผลักดันไล่น้ำเสียเก่าออกจากระบบหมดในเวลา 1 วัน สำหรับพืชที่ใช้ในการบำบัดคือ ธูปฤาษี และกกกลม (กกจันทบูร) เมื่อครบระยะเวลาจะตัดพืชเหล่านั้นออก เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ 90 วันสำหรับธูปฤาษี และ 45 วันสำหรับกกกลม (กกจันทบูร) พืชเหล่านี้นำไปใช้ในการจักสาน เยื่อกระดาษ และใช้ทำเชื้อเพลิงชีวมวลได้

 

          2.4 การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบแปลงพืชป่าชายเลน (Mangrove Forest Filtration) เป็นการบำบัดน้ำเสียโดยใช้แปลงพืชป่าชายเลนซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายพืชน้ำคือ สามารถดำรงชีพอยู่ในสภาวะน้ำท่วมขังได้ โดยมีการปรับตัวทางสรีระ เพื่อดึงออกซิเจนจากบรรยากาศ ส่งผ่านระบบลำต้นสู่ราก ปลูกป่าชายเลนด้วยพันธุ์ไม้ 2 ชนิด คือ ต้นโกงกางและ ต้นแสม

 

          การบำบัดใช้หลักการเจือจางระหว่างน้ำเสียกับน้ำทะเล และกักพักน้ำเสียกับน้ำทะเลที่ผสมกันแล้วไว้ระยะเวลาหนึ่งโดยการเลียนแบบธรรมชาติตามระยะเวลาการขึ้น-ลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดการตกตะกอนของสารอินทรีย์ในน้ำเสีย อาศัยระบบรากของพืชป่าชายเลนช่วยในการปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดิน เพื่อให้กลไกการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ในดินในการบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับสัดส่วนในการผสมระหว่างน้ำเสียและน้ำทะเลจะมีสัดส่วนมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยความสกปรกของน้ำเสียในรูปบีโอดีที่ตรวจวัดได้ ชาวบ้านจะไม่เข้ามายุ่ง เพราะเป็นพื้นที่ของงานวิจัย

 

          ในเวลาเดียวกันคณะทำงานยังได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกลไกการเกิดแผ่นดินงอกจากตะกอนน้ำพัด รวมถึงศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศน์ ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการดำเนินงานโครงการฯ ด้วย โดยพบว่า พื้นที่โครงการมีแผ่นดินงอกเพิ่มเป็นพื้นที่ประมาณ 356 ไร่ จึงมีการก่อสร้างศาลาและลานที่พัก เป็นระยะทาง 1,100 เมตร เพื่อใช้สำหรับเป็นที่พักในการเก็บข้อมูลในพื้นที่ รวมทั้งใช้สำหรับการเข้าทัศนศึกษาภายในบริเวณป่าชายเลน

 

 

การบำบัดน้ำเสียด้วยป่าชายเลน

 

 

มีปลามาอาศัยมากขึ้นเมื่อบำบัดน้ำเสียด้วยป่าชายเลน

 

โครงการดีมีแต่ได้-สิ่งแวดล้อมดี-สิ่งมีชีวิตสมบูรณ์

 

          โครงการนี้นับว่า ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยน้ำดีที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถปล่อยลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี และปล่อยลงสู่ป่าชายเลนบริเวณนั้นได้ ทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีคุณภาพดีขึ้นไม่เน่าเสีย ส่วนป่าชายเลนก็มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น สัตว์น้ำมีการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดี มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีเหล่าสัตว์น้ำที่สำคัญทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากทั้งชนิดและปริมาณ ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบโครงการฯ โดยเฉพาะสัตว์หอยแครง และหอยเสียบ

 

          ทั้งนี้ชาวบ้านหมู่บ้านพะเนิน ต.แหลมผักเบี้ย สามารถเก็บหอยจากริมหาดหน้าป่าชายเลนได้มากถึงวันละ 3 ตัน ทำให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ด้วยอาชีพเก็บหอยด้วยมือเปล่า นอกจากนี้ชาวประมงจากต่างถิ่นที่เข้ามาทำประมงในบริเวณแหลมผักเบี้ยยังยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

          สำหรับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่สามารถพบเห็นได้ในบริเวณรอบ ๆ โครงการฯ เช่น ปลาตีน ปูแสม ปูก้ามดาบและตัวเงินตัวทอง อีกทั้งยังมีนกมาอาศัยอยู่กว่า 200 ชนิด เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพมาอยู่อาศัย รวมทั้งจับคู่ผสมพันธุ์ เพราะระบบนิเวศที่ได้รับการฟื้นฟูดูแลให้กลับคืนจากป่าชายเลนที่เคยเสื่อมโทรม ไม่ว่าจะเป็นนกเด้าดิน นกเด้าลม นกยางเปีย นกหายากอย่างนกพงปากยาว และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่นี่ยังได้รับการขนานนามว่าเป็น 1 ใน 10 แหล่งดูนกที่ดีที่สุดของประเทศอีกด้วย

 

          ในส่วนที่เกี่ยวกับพืชที่เก็บเกี่ยวจากแปลงพืชบำบัดน้ำเสียนำมาทำเครื่องจักสาน ผลิตสินค้าหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่และใช้ทำเยื่อกระดาษได้

 

          ส่วนที่บ่อบำบัดน้ำเสียเอง ยังสามารถเลี้ยงปลาได้โดยไม่ต้องให้อาหาร เพราะที่บ่อบำบัดน้ำเสียจะมีสาหร่ายอยู่ในบ่อจำนวนมาก จึงนำปลาลงไปเลี้ยงในบ่อได้ โดยปลาจะกัดกินสาหร่ายแทนการให้อาหาร นับเป็นการช่วยบำบัดน้ำเสียอีกหนึ่งวิธี และไม่ต้องเสียเงินค่าอาหารปลาด้วย น้ำเสียที่บำบัดแล้วยังสามารถนำมาใช้ปลูกพืชเกษตรบริเวณโครงการได้อีกทางหนึ่ง

 

          สำหรับการกำจัดขยะของโครงการยังแสดงให้เห็นว่า เป็นวิธีที่ดีมาก เพราะการกำจัดขยะโดยการหมักกับดิน สิ่งที่ได้มาคือ ปุ๋ย ซึ่งสามารถนำปุ๋ยที่ได้มาปลูกพืชเกษตรในโครงการได้ ชุมชนสามารถนำวิธีการกำจัดขยะด้วยวิธีนี้ไปใช้ได้โดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อปุ๋ยมาปลูกพืชเกษตรของตนเอง ช่วยลดต้นทุนทำการเกษตร และยังสามารถทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ครัวเรือนและชุมชน

 

ตั้งศูนย์เผยแพร่เทคโนโลยี-บริการวิชาการ

 

          ความสำเร็จของโครงการฯ แน่นอนว่า หากจะเก็บไว้ใช้เฉพาะเมืองเพชรบุรีเพียงแห่งเดียวก็คงจะไม่มีประโยชน์ ที่ผ่านมาได้กลายเป็นต้นแบบแห่งการเยียวยาป่า น้ำ ดินและกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานด้านการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของคนไทยทั่วประเทศ

 

          โดยทางคณะทำงานได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในส่วนภูมิภาคด้วย เพื่อส่งเสริมเผยแพร่เทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ โดยเฉพาะด้านการบำบัดน้ำเสีย และการกำจัดขยะ โดยตั้งขึ้นจำนวน 7 ศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดจันทบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดตรัง เพื่อศึกษา ทดลอง และวิจัย เทคโนโลยีด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และสภาพภูมิประเทศ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ และการบริการวิชาการแก่ผู้สนใจในพื้นที่ศูนย์ฝึกอบรม

 

          นอกจากนี้คณะทำงานยังก่อสร้างศูนย์บริการวิชาการ ในพื้นที่โครงการฯ เพื่อใช้เป็นสถานที่ขยายผลการศึกษาทดลองและงานวิจัยแก่ราษฎรและผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ ต่อไป อีกทั้งมีการส่งเสริมเผยแพร่เทคโนโลยีสู่สาธารณชน การประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ การฝึกอบรมให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้บริหารท้องถิ่น กลุ่มสตรีแม่บ้าน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ฯลฯ การจัดประชุมสัมมนา/การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมวิชาการ การบริการวิชาการ โดยให้คำปรึกษาในการวางแผนและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

 

          พื้นที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ให้ความสนใจเข้าชมและศึกษาวิธีการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยปีหนึ่ง ๆ มีจำนวนผู้เข้าชมกว่า 60,000-70,000 คน โดยผ่านการนำชมในรูปแบบการนั่งรถชมตามเส้นทางที่กำหนดในระยะเวลาสั้น ๆ

 

          สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำไปปรับใช้จริง จำเป็นต้องใช้เวลาที่มากกว่าที่เป็นอยู่ เวลานี้ทางศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนาโครงการแหลมผักเบี้ยได้จัดสร้างที่พักขึ้นมาเพื่อรองรับแล้ว เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้เต็มเวลา พร้อมดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างเต็มที่

 

          นับว่าเป็นอีกโครงการดี ๆ ที่สามารถเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่อื่น ๆได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://sites.google.com/site/prachidtinnabutr/khachen-ungpanitk.
http://www.chaipat.or.th/.
www.ท่องทั่วไทย.com.
www.rdi.ku.ac.th/.
www2.rdi.ku.ac.th/.
www2.krobkruakao.com/.
www.painaidii.com/.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด