เนื้อหาวันที่ : 2016-08-23 17:21:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4720 views

ดร.วิทยา อินทร์สอน

สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

 

 

ท่ามกลางความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต ประเด็นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากด้วยเช่นกัน เพราะการดำเนินงานของสถานประกอบการ ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงมีการนำเอาหลักธรรมาภิบาลมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการป้องกันปัญหามลพิษและความปลอดภัย สร้างความตระหนักในการรับผิดชอบต่อสังคม สร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถานประกอบการและชุมชน เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างยั่งยืน

 

     ธรรมาภิบาล (Good Governance) นับเป็นกระแสที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ให้ความสนใจ และนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานขององค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล ซึ่งประกอบด้วยหลักสำคัญ 6 ประการคือหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักสำนึกรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า เป็นความสอดคล้องกับความรู้สึกและความต้องการของสาธารณะชน และสาธารณะชนก็มีความคาดหวังให้ทุกภาคส่วนมีการปฏิบัติอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงแต่กระแสนิยมเท่านั้น ด้วยผลลัพธ์ของการดำเนินงานด้วยหลักธรรมาภิบาล จะนำมาซึ่งสันติสุขแห่งมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน

 

 

รูปที่ 1 หลักการพื้นฐานของธรรมาภิบาล

 

          หลักธรรมาภิบาลหรือหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หมายความว่า หลักการบริหารงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

 

          การใช้หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางในการประกอบกิจการหรือโรงงานอุตสาหกรรม จะช่วยให้สถานประกอบการมีความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และมีการจัดการมลพิษที่เกิดจากการประกอบการให้เป็นไปตามเงื่อนไขในการอนุญาต มีการให้ความรู้แก่ชุมชน และชุมชนมีส่วนร่วมกับสถานประกอบการ มีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้ชุมชนทราบในกรณีที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และชุมชนเป็นเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นตัวชี้วัดระดับความร่วมมือและช่องว่างของปัญหาการขาดข้อมูลข่าวสาร 

 

 

รูปที่ 2 รูปแบบความสัมพันธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

 

          ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอยางยั่งยืน จะต้องประกอบไปด้วยความสัมพันธ์ของ 3 ฝ่ายหลัก ประกอบดวย ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่มีความรวมแรงรวมใจกันอยางโปรงใส และเปนธรรม เพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงคแหงความยั่งยืน ทั้ง 3 ดาน ประกอบดวย

 

          1. ด้านเศรษฐกิจ สถานประกอบการอุตสาหกรรมสามารถประกอบกิจการได้ สามารถสร้างสรรค์ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และนำมาซึ่งรายได้ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจได้

 

          2. ด้านสังคม สถานประกอบการอุตสาหกรรมสามารถได้รับการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ชุมชน เนื่องจากสถานประกอบการอุตสาหกรรมให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วม โปร่งใส เป็นธรรม คืนประโยชน์ให้สังคม ไม่เอารัดเอาเปรียบ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และชุมชนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

          3. ด้านสิ่งแวดล้อม สถานประกอบการอุตสาหกรรมประกอบกิจการด้วยการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงคุณค่าของพลังงานและทรัพยากร รวมถึงความพยายามในการประกอบกิจการที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

เครือขายธรรมาภิบาลสิ่งแวดลอมสากล

 

          เครือขายองคกรภาคประชาสังคมระดับโลกกอตั้งขึ้น เพื่อสงเสริมการเขาถึงขอมูลขาวสาร การมีสวนรวมของประชาชน และการเขาถึงความยุติธรรมในการตัดสินใจที่เกี่ยวของกับสิ่งแวดลอมหรือที่มีผลกระทบตอสิ่งแวดลอม ปจจุบันมี 6 องคกรภาคประชาสังคมที่เปนองคกรแกนนําของเครือขาย

 

 

          ปัจจุบัน มีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่ได้มีการวางแผน หรือได้ทำการประเมินผลธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในประเทศตนเอง

 

วัตถุประสงค์ของธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

 

          ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นการบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส ยุติธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดกระบวนการตัดสินใจที่เหมาะสม ทั้งในระดับนโยบาย และการปฏิบัติที่ดีในการแก้ปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ

  1. เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน
  2. เพื่อให้สถานประกอบการดำเนินการในเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  3. เพื่อสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างสถานประกอบการกับชุมชน
  4. เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานประกอบการ และเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น
  5. เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างชุมชนกับสถานประกอบการ
  6. เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม

 

ความหมายธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อม

 

          ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (Environmental Good Governance) คือการบริหารจัดการที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของสถานประกอบการที่มุ่งมั่นจะประกอบกิจการที่คำนึงถึงการจัดการด้านมลภาวะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถเปิดเผยข้อมูลการจัดการมลภาวะอย่างโปร่งใส โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอแนะในการแก้ปัญหาได้ มีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์พลังงาน และจัดสรรการใช้ทรัพยากรร่วมกับชุมชนอย่างเหมาะสม มีช่องทางรับฟังข้อคิดเห็น และตอบสนองข้อร้องเรียน รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นธรรม

 

ประโยชน์ของธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

 

          ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหลักพื้นฐานที่ผู้ประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรมไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมา ใช้ในการบริหารจัดการ เพราะจะช่วยให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำให้พนักงานทุกคนมีความสุขในการทำงาน และยังช่วยสร้างขวัญและกำลังใจที่ดี พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตนได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งจะส่งผลดีโดยรวมกับการดำเนินงานให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ในอนาคต โดยประโยชน์ที่บริษัท หรือสถานประกอบการจะได้รับจากการใช้ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรมมีดังต่อไปนี้

 

          1. หลักธรรมาภิบาลสร้างระบบการปกครองที่ดี สามารถช่วยสร้างระบบการปกครองที่ดีได้ เพราะเนื้อแท้ของหลักการเป็นเรื่องการใช้หลักคุณธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียมเป็นตัวตั้ง ซึ่งหลักธรรมภิบาลจะช่วยทำให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น มีสิทธิ และเสรีภาพโดยเท่าเทียมกันจากผู้บังคับบัญชาโดยยึดหลักคุณธรรมทางสายกลางเป็นกรอบในการทำงาน อีกทั้งผู้บังคับบัญชายังยึดหลักคิดในเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกน้องได้เป็นอย่างดี นำมาซึ่งความเคารพนับถือที่ลูกน้องควรมีต่อผู้บังคับบัญชาโดยที่เราไม่ต้องออกแรงใช้พระเดชบังคับแต่อย่างใด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำงานร่วมกันของพนักงานทุกคนของบริษัท

 

          2. หลักธรรมาภิบาลมีความโปร่งใส เป็นหัวใจสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของหลักธรรมาภิบาล เพราะช่วยให้บุคคลทั้งภายในและภายนอกบริษัทสามารถตรวจสอบกันและกันได้ โดยวิธีการที่ช่วยให้บริษัทมีความโปร่งใส คือเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับรู้วัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของบริษัทอย่างตรงไปตรงมา การเปิดเผยข้อมูลที่ว่านี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นและนำพาให้บริษัทก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อีกยาวไกล

 

          3. หลักธรรมาภิบาลสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาผู้อื่น การนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ปกครองบริษัทได้นั้นจะต้องปฏิบัติตามรายละเอียดเรื่องต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด และหลักธรรมาภิบาลขึ้นชื่อเรื่องประสิทธิภาพในการควบคุมและบริหารการทำงานในระดับโลกอยู่แล้ว ดังนั้นบุคคลภายนอกก็อาจเลื่อมใสและเชื่อถือในการบริหารงานของบริษัทและองค์กรที่ใช้หลักการธรรมาภิบาลบริหารงานเพราะมีมาตรฐานการทำงานสูง และอาจทำให้พวกเขาอยากติดต่อทำธุรกิจด้วยก็เป็นได้

 

          4. หลักธรรมาภิบาลสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน บริษัทที่บริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัดจะทำให้บุคลากรภายในบริษัททุกคนมีความสุขจากการทำงาน เนื่องจากผู้บังคับบัญชาเข้าใจ และให้ความเป็นธรรมเท่าเทียมกันทุกคน และอาจส่งผลให้งานออกมามีคุณภาพสูงตามไปด้วย เนื่องด้วยความสุขที่ได้จากการทำงานนั่นเอง

 

 

รูปที่ 3 ตัวอย่างโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสถานประกอบการ

 

องค์ประกอบหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

 

          ธรรมาภิบาลนับเป็นกระแสที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ให้ความสนใจ และนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานขององค์กร หลักการมีธรรมาภิบาลของสถานประกอบการอุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย 7 หลัก ดังนี้

 

  1. ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
  2. ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
  3. ความโปร่งใส
  4. ความรับผิดชอบต่อสังคม
  5. นิติธรรม
  6. ความยุติธรรม
  7. ความยั่งยืน

          ดังนั้นเพื่อให้สถานประกอบการ ภาครัฐและชุมชน ได้ปรับความเข้าใจ เกิดการยอมรับ ซึ่งนำไปสู่ความผาสุกและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับแนวทางการนำไปประยุกต์และปฏิบัติใช้ในสถานประกอบการ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 7 ประการ

 

หลักเกณฑ์การประเมินการใช้ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการอุตสาหกรรม

 

          การดำเนินตามหลักเกณฑ์การประเมินการใช้ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ โดยมีหลักการ แนวทาง และการปฏิบัติ ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

          สถานประกอบการ ภาครัฐและชุมชน ได้ปรับความเข้าใจ เกิดการยอมรับ ซึ่งนำไปสู่ความผาสุกและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับแนวทางการนำไปปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์การประเมินธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 7 ประการข้างต้น มีรายละเอียดดังนี้

 

หลักการที่ 1 ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

 

          แนวทางที่ 1.1 ข้อมูลการจัดการมลภาวะที่ถูกต้อง

 

          การปฏิบัติที่ 1.1.1 มีข้อมูลการจัดการมลภาวะน้ำ อากาศ กาก เสียง สารเคมี กลิ่น (ระบุประเภท วิธีการ หรือระบบการจัดการมลภาวะต่าง ๆ ที่ใช้งานอยู่จริง ตามชนิดของมลภาวะที่เกิดขึ้น)

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมต้องระบุประเภท วิธีการ หรือระบบการจัดการมลภาวะต่าง ๆ ที่ใช้งานอยู่จริงตามชนิดของมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมถึงมลภาวะทางน้ำ อากาศ เสียง กลิ่น และสารเคมีอันตรายที่ใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

 

          แนวทางที่ 1.2 ช่องทางในการเปิดเผยข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูล

 

          การปฏิบัติที่ 1.2.1 เปิดเผยข้อมูล ณ สถานประกอบการ พื้นที่ ชุมชน วัด โรงเรียน สถานีอนามัย และองค์กรปกครองท้องถิ่น

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูล การจัดการมลภาวะที่ถูกต้องของตนเอง ณ สถานประกอบการอุตสาหกรรม หรือสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย เช่น พื้นที่ชุมชน วัด โรงเรียน สถานีอนามัย และองค์กรปกครองท้องถิ่น หรือผ่านทางเว็บไซต์ในกรณีที่มีกระบวนการ หรือขั้นตอนในการเข้าถึงข้อมูล สถานประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องระบุวิธีการและผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง

 

          ช่องทางการเปิดเผยข้อมูล คือสถานที่ หรือพื้นที่ที่สามารถนำข้อมูลข่าวสารด้านการจัดการมลภาวะที่ถูกต้องของสถานประกอบการอุตสาหกรรมมาแสดงให้ชุมชนได้รับทราบ โดยควรคำนึงถึงความเหมาะสมของช่องทางเหล่านั้น

 

          การเข้าถึงข้อมูล คือวิธีการที่จะพบ อ่าน ศึกษา ติดตามข้อ มูลข่าวสาร ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ติดประกาศ/ประชาสัมพันธ์ ณ สถานที่สาธารณะ ชื่อเว็บไซด์ รหัสผ่าน (Password) ผู้รับผิดชอบ ขั้นตอนปฏิบัติ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสะดวก และง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ใช้งานด้วย

 

หลักการที่ 2 ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

 

          แนวทางที่ 2.1 แจ้งข้อมูลเพื่อการประกอบการอาจก่อผลกระทบ

 

          การปฏิบัติที่ 2.1.1 แจ้งหน่วยงานราชการ สถานประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

          ขยายความ ชุมนุมสามารถแจ้งข้อมูลประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น และอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนได้อย่างอิสระ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย เพื่อให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมได้ดำเนินการแก้ไข โดยสามารถแจ้งผ่านหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานประกอบการอุตสาหกรรมโดยตรง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่กำหนดไว้

 

          แนวทางที่ 2.2 ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

 

          การปฏิบัติที่ 2.2.1 ชุมชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาสถานประกอบการ

 

          ขยายความ ชุมชนสามารถร่วมตรวจสอบ และเสนอแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอย่างเปิดเผยโดยกระบวนการต่าง ๆ เช่น หารือร่วมกับผู้นำชุมชน การขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก และการเป็นคณะกรรมการร่วม เป็นต้น ทั้งนี้ในกระบวนการ ขั้นตอน การแก้ไข ต้องได้รับการยอมรับจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วย

 

หลักการที่ 3 ความโปรงใส

 

          แนวทางที่ 3.1 มีข้อมูลมลภาวะ (ข้อมูลการตรวจวัด)

 

          การปฏิบัติที่ 3.1.1 มีข้อมูลการจัดการมลภาวะทางน้ำ อากาศ เสียง สารเคมี (ผลการดำเนินงาน/ผลการตรวจวัดระดับมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม)

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องมีข้อมูลผลการดำเนินงาน/ผลการตรวจวัดระดับมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญของสถานประกอบการอุตสาหกรรม ที่อาจครอบคลุมถึงมลภาวะทางน้ำ อากาศ สิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เสียง สารเคมีอันตรายที่ใช้ในการผลิต โดยต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งในด้านกำลังการผลิตตามปกติ ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจริง และวิธีการตรวจวัดที่เป็นไปตามมาตรฐาน

 

          แนวทางที่ 3.2 เปิดเผยข้อมูล

 

          การปฏิบัติที่ 3.2.1 เปิดเผยข้อมูล ณ สถานประกอบการ พื้นที่ชุมชน

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลผลการตรวจวัดระดับมลภาวะ หรือผลการดำเนินการจัดการควบคุมมลภาวะที่ถูกต้องทั้งทางด้านบวกและด้านลบของตนเอง ณ สถานประกอบการอุตสาหกรรม หรือสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย เช่น พื้นที่ชุมชน วัด สถานีอนามัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผ่านทางเว็บไซต์ ในกรณีที่มีกระบวนการหรือขั้นตอนในการเข้าถึงข้อมูล สถานประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องระบุวิธีการ และผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน

 

หลักการที่ 4 ความรับผิดชอบตอสังคม

 

          แนวทางที่ 4.1 แสดงความรับผิดชอบเมื่อกิจการก่อผล กระทบต่อสังคม

 

          การปฏิบัติที่ 4.1.1 ปรับปรุงแก้ไขและรับผิดชอบตามกฎหมาย

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบและแก้ไข เมื่อเกิดข้อผิดพลาด และรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนตามกฎหมาย

 

          แนวทางที่ 4.2 มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นและมีขบวนการในการตอบสนองข้อร้องเรียน

 

          การปฏิบัติที่ 4.2.1 มีช่องทางรับฟังข้อร้องเรียนที่สถานประกอบการ

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมต้องจัดให้มีช่องทางรับข้อร้องเรียน และรับฟังข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะ ในกรณีการประกอบกิจการ อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ช่องทางรับฟังข้อร้องเรียนที่จัดเตรียมไว้ ควรเหมาะสมกับรูปแบบสถานประกอบการอุตสาหกรรม และชุมชนรอบข้าง เช่น ตู้รับข้อร้อง เรียนหน้าสถานประกอบการอุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อผู้รับผิดชอบ/ประสานงาน หรือติดต่อเจ้าของสถานประกอบการอุตสาหกรรมโดยตรง โดยอาจไม่ต้องมีเอกสารขั้นตอนก็ได้

 

          การปฏิบัติที่ 4.2.2 มีการนำเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการแก้ไขป้องกัน

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมนำเรื่องร้องเรียนที่ได้รับจากช่องทางต่าง ๆ จัดทำเป็นข้อมูล เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขและวางมาตรการป้องกันการเกิดซ้ำอย่างมีรูปแบบ และได้รับการยอมรับจากชุมชน โดยข้อมูลข้อร้องเรียนจากชุมชนนี้จะต้องจัดเก็บเป็นบันทึกอย่างน้อย 1 ปี

 

          การปฏิบัติที่ 4.2.3 ผู้ร้องเรียนได้รับข้อชี้แจง

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมต้องสรุปผลการดำเนินงานแก้ไขและป้องกันข้อร้องเรียน และชี้แจงผลการดำเนินงานแก้ไขและป้องกัน ในประเด็นการร้องเรียนนั้น ๆ ให้ผู้ร้องเรียน และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ

 

หลักการที่ 5 นิติธรรม

 

          แนวทางที่ 5.1 มีการจัดการด้านมลภาวะเป็นไปตามกฎหมาย

 

          การปฏิบัติที่ 5.1.1 มีข้อมูลการตรวจวัดมลภาวะที่เป็นไปตามกฎหมาย

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรม ต้องมีการจัดการมลภาวะให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจวัดมลภาวะที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของชุมชน

 

          แนวทางที่ 5.2 มีการจัดการด้านความปลอดภัยเป็นไปตามกฎหมาย

 

          การปฏิบัติที่ 5.2.1 มีเอกสารในการรองรับความปลอดภัย

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรม ต้องจัดให้มีการตรวจรับรองความปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรม กระบวนการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยครอบคลุมถึง เช่น ระบบไฟฟ้า หม้อไอน้ำ อุปกรณ์และถังรับแรงดัน เป็นต้น ทั้งนี้ต้องแสดงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เช่น เลขที่ใบอนุญาตของผู้ดูแลระบบ วันที่ตรวจสอบความปลอดภัย และการบำรุงรักษา เป็นต้น

 

หลักการที่ 6 ความยุติธรรม

 

          แนวทางที่ 6.1 การจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม

 

          การปฏิบัติที่ 6.1.1 การอนุรักษ์พลังงาน และประหยัดทรัพยากร

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมมีมาตรการในการอนุรักษ์พลังงาน และประหยัดทรัพยากรในการดำเนินการโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า น้ำ และเชื้อเพลิง มีการจัดสรรการใช้ทรัพยากรที่ต้องใช้ร่วมกับชุมชนอย่างเหมาะสม ไม่เอารัดเอาเปรียบชุมชนท้องถิ่นในการใช้ทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน เช่น เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดสรรและดูแลการใช้แหล่งน้ำที่ใช้ร่วมกับชุมชน เป็นต้น

 

          แนวทางที่ 6.2 คืนประโยชน์ให้สังคม

 

          การปฏิบัติที่ 6.2.1 มีการตอบสนองทางด้านที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น จัดนิทรรศการ สาธารณประโยชน์ต่าง ๆ โดยเน้นชุมชนที่สถานประกอบการตั้งอยู่

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพิจารณาดำเนินการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อคืนประโยชน์ให้สังคม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความต้องการ มุ่งเน้นชุมชนที่สถานประกอบการอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นอันดับแรก โดยการคืนประโยชน์ให้กับสังคม สามารถทำได้หลายแนวทางตามความต้องการและความเหมาะสม เช่น การสนับสนุนการศึกษา การร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และการส่งเสริมการมีสุขภาพี่ดี เป็นต้น

 

หลักการที่ 7 ความยั่งยืน

 

          แนวทางที่ 7.1 ผู้ประกอบการ ประกอบกิจการอย่างมีจิตสำนึก และไม่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

          การปฏิบัติที่ 7.1.1 ผู้ประกอบการ ประกอบกิจการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมมีการจัดการด้านมลภาวะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถเปิดเผยข้อมูลการจัดการมลภาวะของตนอย่างโปร่งใส โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอแนะในการแก้ปัญหาได้ มีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์พลังงาน และจัดสรรการใช้ทรัพยากรร่วมกับชุมชนอย่างเหมาะสม มีช่องทางรับฟังข้อคิดเห็นและตอบสนองข้อร้องเรียน รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นธรรม

 

          แนวทางที่ 7.2 ลดปัญหาการร้องเรียน

 

          การปฏิบัติที่ 7.2.1 การร้องเรียนน้อยลงหรือไม่มี

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมดำเนินการแก้ไขปรับปรุงข้อร้องเรียนด้วยความรับผิดชอบ ชุมชนให้การยอมรับ และมีการร้องเรียนจากชุมชนน้อยลง

 

          แนวทางที่ 7.3 ผู้ประกอบการและชุมชนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

 

          การปฏิบัติที่ 7.3.1 ผู้ประกอบการและชุมชนร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมและสังคมอย่างยั่งยืน

 

          ขยายความ สถานประกอบการอุตสาหกรรมมีแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายปฏิบัติการร่วมกันของหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในรูปแบบของความร่วมมือในระดับต่าง ๆ แบ่งได้ 3 ระดับคือ

  1. เครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการอุตสาหกรรมและชุมชน โดยรอบสถานประกอบการอุตสาหกรรม
  2. เครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการอุตสาหกรรม และสถานประกอบการอุตสาหกรรมในกรณีที่อยู่ใกล้เคียงกัน
  3. เครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการอุตสาหกรรม ภาครัฐ และชุมชน

 

ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวกับการนำธรรมาภิบาลมาพัฒนาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

 

          สุกัญญา บรรณเภสัช ได้ทำการศึกษาเรื่อง ธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม กรณีศึกษา: การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดในอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมพบว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณท์นม โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นการดำเนินอันเป็นการสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลทั้ง 6 หลัก ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักสำนึกรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า โดยหลักธรรมาภิบาลที่จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด ไปสู่การปฏิบัติใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมคือ หลักสำนึกรับผิดชอบ ด้วยภาครัฐมีแผนนโยบายด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด อันเป็นแผนปฏิบัติงานในการส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดไปสู่การปฏิบัติใช้ของภาคอุตสาหกรรมและมีกลไกการดำเนินการร่วมกัน อันเป็นการสอดคล้องตามหลักการความมีส่วนร่วมเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ที่นำไปสู่ผลสำเร็จของการดำเนินงาน อันจะส่งผลต่อการลดต้นทุนการผลิต การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทำให้อุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพในการผลิต และมีความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นธรรมาภิบาลตามหลักความคุ้มค่า

 

          กลุ่มกำกับและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2 สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม ได้ทำการศึกษาเรื่อง ธรรมาภิบาลสิ่งแวด ล้อมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน พบว่า หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มีหลักพื้นฐาน 6 ประการดังนี้ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักสำนึกความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า การนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการจะช่วยสนับสนุนให้สถานประกอบการมีการดูแลสิ่งแวดล้อมสังคมและชุมชนดีขึ้น มีการให้ความรู้แก่ชุมชน และชุมชนมีส่วนร่วม กับสถานประกอบการ มีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้ชุมชนทราบ ในกรณีที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และชุมชนเป็นเครือ ข่ายในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานได้อย่างต่อเนื่อง

 

แนวทางปฏิบัติสำหรับองค์กรธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

 

          ธรรมาภิบาลมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างชัดเจน เพราะสามารถนำมาเป็นวิธีปฏิบัติสำหรับองค์กร การนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการจะช่วยสนับสนุนให้สถานประกอบการมีการดูแลสิ่งแวดล้อมสังคมและชุมชนดีขึ้น และได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้านคือ

 

          1. การปฏิบัติต่อพนักงาน องค์กรควรปฏิบัติต่อพนักงานในด้านต่าง ๆ ดังนี้ จ่ายค่าจ้างเงินเดือนและ ค่าตอบแทนตามกฎหมาย มีระบบการเพิ่มค่าจ้างและให้ผลประโยชน์เพิ่มเติมแก่พนักงานตามผลงานอย่างเหมาะสม สถานที่ทำงานและที่พักถูกสุขอนามัย มีสวัสดิการช่วยเหลือเรื่องการรักษาพยาบาล การบรรเทาทุกข์แก่พนักงาน มีระบบพัฒนาพนักงาน ให้ความรู้แก่พนักงาน และสนองตอบต่อข้อเสนอหรือข้อคิดเห็นของพนักงาน เป็นต้น

 

          2. การปฏิบัติต่อผู้บริโภค องค์กรควรปฏิบัติต่อผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ ดังนี้ สินค้าให้ถูกสุขอนามัย มีระบบการควบคุมการผลิตให้ได้สินค้าตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และคุณภาพมาตรฐานนั้นให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภค ชี้หน่วยวัดแจ้งลักษณะสินค้าและราคาที่ชัดเจนเข้าใจง่าย แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า นอกจากนี้องค์กรควรดูแลและรับผิดชอบต่อผลที่เกิดกับลูกค้า เป็นต้น

 

          3. การปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม องค์กรควรปฏิบัติต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้ มีการดูแล และขจัดของเสียที่เกิดจากกิจการ มีระบบทำน้ำเสียให้สะอาด ทำลายเชื้อโรคเบื้องต้นของเสียที่จะทิ้ง ควรปฏิบัติต่อชุมชนด้วยความจริงใจ ให้ความช่วยเหลือและคืนกำไรให้ชุมชนตามเหมาะสม ไม่เบียดเบียนและเอาเปรียบสังคม มีระบบการทำบัญชีรายงานผลที่ถูกต้องเป็นจริง รวมถึงเสียภาษีในอัตราที่ถูกต้อง เป็นต้น

 

สรุป

 

          ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นการบริหารจัดการที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของสถานประกอบการที่มุ่งมั่นจะประกอบกิจการที่คำนึงถึงการจัดการด้านมลภาวะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถเปิดเผยข้อมูลการจัดการมลภาวะอย่างโปร่งใส โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอแนะในการแก้ปัญหาได้ มีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์พลังงาน และจัดสรรการใช้ทรัพยากรร่วมกับชุมชนอย่างเหมาะสม มีช่องทางรับฟังข้อคิดเห็น และตอบสนองข้อร้องเรียน รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นธรรม ดังนั้นการนําหลักเกณฑธรรมาภิบาลสิ่งแวดลอมมาปรับใชในปจจุบันมีวัตถุประสงคสําคัญ เพื่อที่จะทําใหเกิดความสมดุลระหวางความตองการของทั้ง 3 ฝาย คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน (สถานประกอบการอุตสาหกรรม) และประชาชน และเพื่อให้ทุกฝ่ายไดปรับตัวเขาหากัน และสรางการยอมรับ อันจะนําไปสูความผาสุกและการพัฒนาอยางยั่งยืนของอุตสาหกรรมควบคูกับสังคมและสิ่งแวดลอมไดนั่นเอง

 

          ข้อมูลอ้างอิง
1. กรมโรงงานอุตสาหกรรม. หลักปฏิบัติเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการป้องกันมลพิษ) อุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นม. พฤษภาคม 2550.
2. สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม. คูมือการดําเนินงานตามหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดลอม. กรุงเทพฯ. 2553.
3. สถาบันพระปกเกล้า. ธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม กรณีศึกษา: การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด. 2550.
4. สุกัญญา บรรณเภสัช. ธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม กรณีศึกษา: การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดในอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นม. กลุ่มเทคโนโลยีการป้องกันมลพิษ สำนักเทคโนโลยีน้ำและการจัดการมลพิษโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม.
5. สวีณา เกตุสุวรรณ. โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม: ตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชน. http://www.npc-se.co.th/news_safety/npcse_03evi.asp?news_id=2644.
6. http://www.tungnuisilathong.co.th/content/policy_law/1.
7. http://www.trangpalmoil.com/index.phpoption=com_content&view=article&id=27&Itemid=164.
8. http://www.sahacogen.com/menu4page2c2/page-46.
9. http://www.tei.or.th/tai/.
10. http://incquity.com/articles/office-operation/good-governance-workplace.
 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด