เนื้อหาวันที่ : 2015-11-16 15:18:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2984 views

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

ayasanond@hotmail.com

 

 

 

"การดำเนินชีวิตประจำวันของเราในแต่ละวัน ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของการขนส่ง (Physical Flow) ในมิติของ Logistics และ Supply Chain ในเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร (Information Flow) แทบทั้งสิ้น เครื่องมือที่นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและเป็นสิ่งที่เราสัมผัสกันอยู่แทบทุกวันก็คือ ระบบสารสนเทศเทคโนโลยี ซึ่งล้วนอยู่ในศาสตร์ของ Logistics and Supply Chain Management ที่น่าศึกษาและเรียนรู้"

 

 

               จากก้าวแรก ที่เราต้องแสดงตนว่าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติ ถิ่นฐานที่แน่นอน และถูกต้อง หลักฐานที่ทุกคนต้องมี คือ “บัตรประจำตัวประชาชน” ในสมัยก่อนนั้น ขั้นตอนการทำบัตรประจำตัวประชาชนของบ้านเรา ก็ต้องยอมรับครับว่า มีหลายขั้นตอน ล่าช้า มีเอกสารมากมายที่ต้องใช้ประกอบแสดงความเป็นตัวตนของเรา และต้องเซ็นกำกับในทุกเอกสาร ในส่วนของสถานที่ที่รับทำบัตรนั้น ก็ต้องไปที่เดียว คือ สำนักงานเขต หรือ อำเภอ แต่ในปัจจุบันมีการนำระบบ IT เข้ามาพัฒนาประยุกต์ใช้ ทำให้สะดวก รวดเร็ว ง่าย ทันอกทันใจมากขึ้น (Real Time) เป็นการตอบโจทย์ของลูกค้า/ประชาชน ที่ต้องการมาทำบัตรประจำตัวประชาชน ที่มีทั้ง Speed, Flexibility และ Quality อันเป็น Core ของการบริหารจัดการ Supply Chain ที่เป็น Best Practices และสถานที่ที่เปิดให้บริการก็มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ BMA Express Service หรือ จุดบริการด่วนมหานคร

 

 

Supply Chain Management Best Practices

(http://www.procurementprofessionals.org/what-are-supply-chain-management-best-practices/)

 

 

               BMA Express Service ย่อมาจากคำว่า Bangkok Metropolitan Administration หรือเรียกย่อ ๆ ว่า จุดบริการด่วนมหานคร คือ จุดให้บริการนอกสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร บริการของ BMA Express Service ให้บริการด้านต่าง ๆ แก่ประชาชน บริการหลัก ๆ มีดังนี้ คือ บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน กรณีขอมีบัตรครั้งแรก และต่ออายุบัตร (กรณีบัตรหายต้องติดต่อที่สำนักงานเขตเท่านั้น) บริการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล บริการเปลี่ยนที่อยู่ บริการให้คัดสำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนราษฎร์ และบัตรประจำตัวประชาชน บริการ Pre-service เตรียมข้อมูลเอกสารก่อนไปใช้บริการที่สำนักงานเขตฯ บริการ ด้านข้อมูลท่องเที่ยว และกิจกรรมต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร

                ที่ตั้งของจุดบริการด่วนมหานคร BMA Express Service ในเขตกรุงเทพมหานครก็มีบริการบนสถานีรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต สถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม สถานีรถไฟฟ้า BTS พร้อมพงษ์ เวลาให้บริการ คือ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00น.-20.00น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 10.00น.-18.00น. และหยุดพักกลางวันเวลา 12.00น.–13.00น. ในส่วนของขั้นตอนการทำบัตรประจำตัวประชาชนก็ไม่ยุ่งยาก คือ 1) นำบัตรเก่าให้เจ้าหน้าที่ 2) เข้าไปพิมพ์ลายนิ้วมือ 3) ถ่ายรูป 4) รับบัตรใหม่ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดประมาณ 10 นาที ที่สำคัญ ฟรี ครับ เรียกว่า เป็นบริการของหน่วยงานราชการ ที่ Speed Up มากเลยทีเดียว

 

 

BMA Express Service จุดบริการด่วนมหานคร

(http://www.entertraining.in.th/enterTalk/bma-express/bma04.jpg)

 

 

               เอกสารแสดงตัวตนที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งก็คือ หนังสือเดินทาง (Passport) ซึ่งแต่ก่อนก็มีหลายขั้นตอน และใช้เอกสารประกอบยิ่งกว่าการทำบัตรประจำตัวประชาชนเสียอีก สถานที่ที่รับทำก็มีเพียงที่เดียว คือ กระทรวงต่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน ประชาชนมีทางเลือก สถานที่ก็มีเพิ่มขึ้น เวลาเปิดให้บริการก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถไปใช้บริการได้ในวันเสาร์ อาทิตย์ และที่สำคัญขั้นตอนในการทำ การรับเล่มก็มีความรวดเร็วขึ้นมาก โดยการเชื่อมโยงข้อมูล (Information Flow) จากฐานข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนของเราซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Distributor ที่เชื่อมโยงข้อมูลของตัวเราให้ฝ่ายตรวจสอบประวัติ (Point of Sale) เพื่อส่งต่อให้หน่วยผลิตทำการออกหนังสือเดินทางให้เรา (Manufacturer)

 

 

Information Flow Model ใน Supply Chain ของการทำหนังสือเดินทาง

(http://ibcaweb.org/guide/guide_wd/ch1.ht2.gif)

 

 

 

ขั้นตอนการทำหนังสือเดินทางที่ Speed Up และสถานที่บริการที่หลากหลายมากขึ้น

(http://f.ptcdn.info/036/028/000/1422845648-process-o.jpg)

(http://f.ptcdn.info/940/007/000/1375441355-passport-o.jpg)

 

 

               เอกสารแสดงตัวตนของเราอีกประเภทหนึ่งก็คือใบขับขี่รถยนต์ ซึ่งขั้นตอนการทำก็สะดวก รวดเร็ว กระชับขึ้นมาก โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวไปยื่นก็สามารถดำเนินการได้แล้ว ซึ่งในการทำเอกสารประจำตัวทางราชการดังกล่าวข้างต้น ล้วนอาศัยฐานข้อมูลของตัวเรามาจากบัตรประจำตัวประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลตาม Information Flow Model ใน Supply Chain

 

 

(http://i284.photobucket.com/albums/ll21/nhuysptum/DriverLicense-1.png)

 

 

                ปัจจุบันแทบทุกหน่วยงานทางธุรกิจไม่เว้นแม้แต่ของรัฐ ล้วนใช้ IT เพื่อเป็นฐานในการเก็บข้อมูลลูกค้า และส่งต่อข้อมูลเพื่อการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง/ลูกค้า ธุรกรรมทางการเงิน การติดต่อประกอบการธุรกิจการขนส่ง ซึ่งในยุคก่อน ๆ ก็ต้องใช้วิธีการจดบันทึกเอาไว้ ระบบ IT ที่นำมาใช้เป็นฐานเพื่อการจัดเก็บ แลกเปลี่ยน ส่งต่อข้อมูลที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ EDI

 

                 Electronic Data Interchange (EDI) คือ การติดต่อสื่อสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ กับ คอมพิวเตอร์ ที่ช่วยผู้ที่กระทำการค้าในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารโดยต้องมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานEDI ได้พัฒนาขึ้น และ ได้รับความนิยมในหมู่ผู้นำด้านธุรกิจทุกวันนี้ เนื่องมาจากรูปแบบ และ การยอมรับอย่างกว้างขวาง EDI ช่วยในการเปลี่ยนจากการใช้แรงงาน และ รายการค้าที่ต้องใช้กระดาษ เพื่อให้มีต้นทุนต่ำ

 

                EDI  หรือ ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์เริ่มมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 แต่ในช่วงแรกนั้นการใช้งานจะจำกัดอยู่เพียงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของตนเองเท่านั้น เนื่องจากมีราคาสูงมาก ในระบบส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อระหว่างคู่การค้า บริษัทในเครือ หรือ ผู้ผลิตกับผู้ขายวัตถุดิบ โดยมีการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เครือข่ายที่ว่านี้เราจะเรียกว่า VAN(Value Added Network) หรือ เครือข่ายเสริมคุณค่าทางธุรกิจ เครือข่าย VAN ที่สร้างขึ้นมาเองนี้จะมีรูปแบบการส่งข้อมูลที่แน่นอน มีความเชื่อถือได้ และ มีความซับซ้อนของการส่งข้อมูลมากกว่าระบบที่ใช้บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน

 

                ระบบ EDI จะติดตั้ง หรือให้บริการโดยบริษัทที่ให้บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าผู้ให้บริการระบบ EDI (EDI Service Provider) โดยจะให้บริการดูแลรักษาเครือข่าย VAN พร้อมทั้งจัดตั้งกล่องรับอีเมล์สำหรับบริษัทแต่ละราย ซึ่งกล่องรับอีเมล์นี้จะเป็นจุดที่บริษัทส่งผ่านข้อมูลถึงกันในรูปแบบข้อความ EDI โดยแต่ละบริษัทต้องตกลงกันไว้ก่อนถึงรายละเอียดของข้อมูล หรือ แบบฟอร์มที่จัดส่ง ซึ่งข้อมูล หรือแบบฟอร์มจะส่งผ่านเครือข่าย VAN ในรูปของอีเมล์ โดยแต่ละบริษัทจะต้องมีซอฟต์แวร์ที่คอยจัดการแปลงอีเมล์ให้เป็นข้อมูลในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อนำไปประมวลผล และ จัดเก็บลงในระบบฐานข้อมูลของแต่ละบริษัทอีกทีหนึ่ง

 

                ในอดีต การติดตั้ง EDI จะต้องมีการเจรจาทำสัญญาระหว่างกัน โดยใช้สัญญาระหว่างคู่การค้า หรือ TPA (Training Partner Agreement) ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าจะมีการส่งผ่านข้อมูลรูปแบบใดระหว่างกัน โดยจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท ซึ่งการทำสัญญา และ ตกลงรายละเอียดของระบบ EDI แต่ละครั้งนั้นใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก EDI ในอดีตมีข้อจำกัดอยู่ที่ขั้นตอนที่ใช้เวลานานมากกว่าจะตกลงกันได้ถึงรูปแบบของข้อมูลรายการว่าจะมีข้อมูลอะไร และรูปแบบใด ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลานานมากกว่าจะตกลงกันได้ถึงรูปแบบของข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับทั้งสองฝ่าย ทำให้ระบบ EDI แบบเดิมนั้นไม่เหมาะกับสภาพของธุรกิจในปัจจุบัน

 

                ธุรกิจในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงคู่การค้าอยู่ตลอดเวลา เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ถูกนำมาใช้ในการส่งผ่านข้อมูลของระบบ EDI แทนการสร้างเครือข่ายส่วนตัวเหมือนแต่ก่อน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง และ บำรุงรักษาระบบถูกมากเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้น บริษัทขนาดกลาง และ ขนาดเล็กจึงสามารถติดตั้งระบบ EDI ในบริษัทได้ ระบบ EDI ในปัจจุบันได้พัฒนาให้ติดตั้งได้ง่ายขึ้น และ สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น สามารถรับส่งแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างบริษัทจากโปรแกรมเว็บบราวเซอร์โดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้

 

 

Supply Chain, Electronic Data Interchange EDI and B2B Integration Software Blog (http://2.bp.blogspot.com/_R0B9u8ZkaTE/TS2wSjOEFrI/AAAAAAAAAC4/TTScvyq-qcE/s1600/Perceptant+-+CPFR.gif)

 

 

               ปัจจุบันได้มีการนำระบบ EDI มาใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นระบบที่สามารถให้ประโยชน์สูงในการแข่งขันทางธุรกิจ ประโยชน์โดยทั่วไปของ EDI สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ

 

  1. ประโยชน์ทางตรง เพื่อลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับจัดการเอกสาร EDI ทำให้ธุรกิจสามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการเอกสาร ซึ่งเกิดขึ้นในระบบการค้าแบบเดิมที่ ทำการติดต่อกันด้วยเอกสารได้ ค่าใช้จ่ายส่วนที่ลดได้ เช่น
  • ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารโดยตรง เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับเอกสาร และพนักงานในกระบวนการรับเอกสาร การจับคู่เอกสาร การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในเอกสาร การคัดลอกเอกสาร การประมวลผล การออกเอกสารต่อเนื่อง การจัดเก็บเอกสาร และการส่งเอกสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับความผิดพาดที่เกิดขึ้นในระบบเอกสาร เช่น ค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากก ารสูญหายของเอกสารระหว่างการเดินทาง และจากความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลจากเอกสารต้นฉบับ
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับเวลาที่ใช้ในกระบวนการส่งข้อมูลด้วยเอกสาร เช่น เวลาที่ต้องรอในแต่ละขั้นของการทำงาน ในขบวนการจัดการเอกสาร และเวลาที่ใช้ในการส่งเอกสารระหว่างองค์กร
  1. ประโยชน์ทางอ้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทางธุรกิจ อันเกิดจากความถูกต้องของข้อมูลจากการใช้ EDI รวมทั้งวงจรธุรกิจที่สั้นลง สำหรับทุกขบวนการทางธุรกิจตั้งแต่การซื้อ การขาย จนกระทั่งถึงการรับเงินและจ่ายเงิน จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทางธุรกิจ ในส่วนต่าง ๆ เช่น ลดจำนวนสินค้าคงคลัง กระชับความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจ และสนับสนุนการใช้ระบบ JUST IN TIME พัฒนาบริการลูกค้า พัฒนาการใช้เงินทุนหมุนเวียน พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการบริหาร และเพิ่มประโยชน์จากการใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เป็นต้น
  2. ประโยชน์ทางกลยุทธ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการบรรลุถึงเป้าหมายองค์กร

 

                ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการทางธุรกิจ จากการใช้ EDI สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้เกิดผลตามเป้าหมายขององค์กร ที่วางไว้ได้ เช่น การสร้างพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ การเข้าสู่ตลาดใหม่ การออกผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ การเป็นผู้นำในตลาด และความอยู่รอดขององค์กร

 

                ซึ่งทั้งการทำบัตรประจำตัวประชาชน การทำหนังสือเดินทาง และการทำใบขับขี่ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำระบบ EDI มาเป็นฐานข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันและกัน นอกจากจะทำให้เกิด Paperless, Cost Saving แล้ว สิ่งที่ได้คือ Speed Up ที่ Real Time
          

 

เอกสารอ้างอิง

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด