มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
นักวิจัย มจธ. ส่งเสริมการยกระดับผลิตภัณฑ์จากพืชพื้นบ้านไทย พัฒนา "กรรมวิธีการผลิตสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสจากใบบัวบกเพื่อใช้ในเครื่องสำอาง" ตัวการก่อเม็ดสีเมลานินในผิว เพื่อให้ได้สารสกัดธรรมชาติแท้ที่มีประสิทธิภาพนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค หวังผลักดันผลิตภัณฑ์ไทยสู่ตลาดสากล |
ปัจจุบันแนวโน้มและความต้องการใช้สมุนไพรมีมากขึ้น ผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ ประกอบกับประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านทรัพยากรสมุนไพรหลายชนิด โดยเฉพาะสมุนไพรพื้นบ้าน มีการนำสมุนไพรมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกำลังเติบโตและขยายตัว แต่คนไทยยังนิยมใช้สินค้าจากต่างประเทศรวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากต่างประเทศ ทำให้มีมูลค่าการนำเข้าสมุนไพรของไทยสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่มีการผลิตใช้เองในประเทศไทยเพียง 1.3 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
ทั้งนี้การศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยได้ รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ และ รศ.ดร.อรพิน เกิดชูชื่น อาจารย์จากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พัฒนา กรรมวิธีการสกัดสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสจากใบบัวบกเพื่อใช้ในเครื่องสำอาง ขึ้นมาโดย รศ.ดร.ณัฎฐา กล่าวว่า เลือกศึกษา “ใบบัวบก” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชพื้นบ้านของไทย
“ประเทศไทยมีแดดแรง และอันตรายจากรังสียูวีก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดความบกพร่องบนผิวของคนไทย เนื่องจากเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวเกิดริ้วรอย เป็นฝ้า กระ และจุดด่างดำ ที่มีผลมาจากเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทมากที่สุดในการเร่งการสังเคราะห์เมลานินในเมลาโนไซต์ซึ่งมีผลต่อกระบวนการสร้างเม็ดสี ดังนั้นนอกจากการปกป้องผิวจากรังสียูวีแล้ว เราจึงต้องยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสด้วย และจากการศึกษาพืชจำนวน 13 ชนิด อาทิ ใบบัวบก ขมิ้นชัน ไพล ทานาคา ปอสา ถั่วเหลือง แตงกวา ขิง ว่านหางจระเข้ ฯลฯ พบว่า สารสกัดจากใบบัวบกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีที่สุด เราจึงพัฒนากรรมวิธีสกัดสารจากใบบัวบกให้ได้สารที่บริสุทธิ์ มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ใช้มากที่สุด”
รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์
อาจารย์จากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
รศ.ดร.ณัฎฐา เปิดเผยว่า กรรมวิธีการสกัดสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสจากใบบัวบกเพื่อใช้ในเครื่องสำอางนั้นได้รับการอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนในการสกัดนั้นมีการใช้ใบบัวบกสดและแห้ง โดยการศึกษาใช้ตัวทำละลาย 2 ชนิดคือ เอทานอล และปิโตรเลียมอีเทอร์ พบว่า ตัวทำละลาย 99% เอทานอลมีประสิทธิภาพในการสกัดสารจากใบบัวบกได้ดีกว่า และถือเป็นตัวทำละลายที่ปลอดภัยตามหลักของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งในกรรมวิธีที่ได้รับอนุสิทธิบัตรนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ได้สารสกัดจากธรรมชาติแท้ที่มีความบริสุทธิ์ มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง
โดยจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า สารสกัดจากใบบัวบกสดมีฤทธิ์ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและสาร ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีกว่าใบบัวบกแห้ง โดยการทดลองนำสารสกัดจากใบบัวบกความเข้มข้นต่ำสุดที่ให้ค่า การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสร้อยละ 50 (IC50) หรือเท่ากับ 446 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ผสมเข้ากับเบสครีม พบว่าสารสกัดใบบัวบกสดจากเอทานอลมีรูปแบบการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสแบบผสม เนื่องจากมีสารสำคัญอย่าง อาร์บูติน และกรดมาดีแคชโซไซด์ ซึ่งเป็นสารที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดี และจากการทดลองบนผิวหน้าของอาสาสมัครจำนวน 5 คน ที่มีรอยกระฝ้า และจุดด่างดำที่เกิดจากแสงแดด โดยการทาครีมที่ผสมสารสกัดใบบัวบกวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 8 วัน พบว่า ไม่มีอาการแพ้ หรือแสบแดง และสามารถลดปัญหารอยหมองคล้ำบนผิวได้อย่างชัดเจน โดยการวัดค่าความสว่างของผิวด้วยเครื่องวัดสีในห้องปฏิบัติการทุก ๆ 2 วัน สภาพผิวของอาสาสมัครมีความสว่างเพิ่มขึ้น (วัดเป็นค่าเดลต้า L) และมีค่าสีเหลืองเพิ่มขึ้น (วัดเป็นค่าเดลต้า B)
“อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นเพียงองค์ความรู้ในเรื่องกรรมวิธีการสกัดสารจากใบบัวบกด้วยเอทานอล เพื่อส่งเสริมการยกระดับคุณภาพพืชพื้นบ้านของไทยให้เป็นสารสกัดจากธรรมชาติแท้ที่บริสุทธิ์ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง เป็นการพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย แต่การต่อยอดจากกรรมวิธีสกัดสู่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นยังจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องของอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ต่อไปเมื่อนำมาผสมในเบสครีมแล้ว เนื่องจากเป็นสารสกัดจากสมุนไพรบริสุทธิ์ที่ไม่มีสารสังเคราะห์มาเจือปน จึงอาจทำให้อายุในการเก็บรักษาสั้นกว่าปกติ”
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด