ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์
ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ผลพวงจากกระแสการปลุกระดมแนวคิดในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ค่านิยมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระจายตัวไปสู่ประชากรในแทบทุกชุมชน มุมมองของมนุษย์จะต้องถูกเปิดกว้างยอมรับความจริงในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องฝึกหัดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายหรือมีประชาธิปไตยอยู่ในสมองตลอดเวลา การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้นได้
ความเจ็บปวดที่เกิดจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมได้สั่งสมและพอกพูนเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ กระแสความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมมีส่วนช่วยผลักดันให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงสนองผลกลับคืนต่อสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในแทบทุกภูมิภาคของโลก นอกจากนั้นอัตราเร่งยังเกิดจากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของโลกอันได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงโลกตามกระแสโลกาภิวัตน์ 2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก 3.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเกิดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ ขึ้น 4.ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 5.แนวโน้มการวางระเบียบกฎเกณฑ์และการเรียกร้องเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละชาติ ยิ่งทำให้ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมแพร่กระจายขยายวงจนมนุษย์ในปัจจุบันตั้งรับไม่ทัน
การที่แต่ละประเทศมุ่งพัฒนาให้ตนเองเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยหลงลืมการบูรณะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนับเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ในอดีตที่ฝากบทเรียนไว้ให้อนาคตชนในรุ่นหลังได้นำมาศึกษา เพราะทุกครั้งที่มีการตอบสนองความต้องการของคนยุคปัจจุบัน มักต้องมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่อคนในอนาคต แนวคิดในการแก้ปัญหานี้เราต้องพยายามอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ในลักษณะที่เป็นส่วนรวมหรือมหภาค คือหากมีความจำเป็นที่จะดำเนินการให้กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่ใดที่หนึ่ง ก็จะต้องเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่อื่น ๆ เป็นการชดเชยเพื่อให้ในแง่มหภาคของคุณภาพสิ่งแวดล้อมคงอยู่ได้ดังเดิม
ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติยกระดับสูงขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรได้รับการส่งเสริม แต่แนวทางดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่เรียกว่า “ความยุติธรรมระหว่างคน 2 ยุค” นั่นคือคนในยุคปัจจุบันจะต้องไม่ทำลายโอกาสของคนในยุคอนาคตในการสนองความต้องการของพวกเขาและในการที่พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี
ผลพวงจากกระแสการปลุกระดมแนวคิดในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้ค่านิยมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระจายตัวไปสู่ประชากรในแทบทุกชุมชน มุมมองของมนุษย์จะต้องถูกเปิดกว้างยอมรับความจริงในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องฝึกหัดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายหรือมีประชาธิปไตยอยู่ในสมองตลอดเวลา การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้นได้
ก่อนเริ่มลงรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องทำความเข้าใจพื้นฐานเรื่องของนิเวศวิทยา (Ecology) และระบบนิเวศ (Ecosystem) เป็นลำดับแรก เนื่องจากสรรพวิชาทั้งหมดทางด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และจริยศาสตร์ จะต้องอ้างอิงความรู้ในเรื่องของนิเวศวิทยาและระบบนิเวศเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ โดยพื้นฐานแล้วคำทั้งสองมีความสัมพันธ์กันทางนัยความหมาย การแปลความและอธิบายความของคำทั้งสองสามารถกล่าวโดยรวมคือ นิเวศวิทยาคือวิชาที่ศึกษาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมวลหมู่สิ่งมีชีวิตด้วยกันเองและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อม ศึกษาถึงบทบาทหน้าที่ ความสัมพันธ์ หรือการประสานงานขององค์ประกอบแต่ละชนิด ซึ่งต่างก็มีหน้าที่และทำงานประสานกันอย่างมีระเบียบแบบแผนมีผลลัพธ์ทำให้โครงสร้างของกลุ่มสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมดำรงคงอยู่ได้ ส่วนระบบนิเวศก็คือกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายที่อาศัยอยู่ร่วมกันในแหล่งที่อยู่หนึ่ง และบังเกิดปฏิสัมพันธ์ในระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง รวมถึงปฏิสัมพันธ์กับองค์ประกอบทางเคมีและฟิสิกส์ที่ประกอบขึ้นเป็นสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับวิธีคิด ค่านิยมโลกทัศน์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อธรรมชาติ การแก้ไขให้มีประสิทธิภาพที่สุดคือต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีทางแห่งการดำรงชีวิตของเราอย่างเปลี่ยนรูปแปลงร่าง เริ่มจากการเรียนรู้ธรรมชาติเพราะธรรมชาติจะให้บทเรียนเกี่ยวกับหลักการของความยั่งยืนได้อย่างชัดแจ้ง รวมถึงแนวคิดพื้นฐานทางด้านนิเวศวิทยา และป้องกันวิธีคิดบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเช่น 1.โลกมีทรัพยากรอย่างไม่จำกัดเพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ 2.มนุษย์ดำรงอยู่อย่างแยกตัวออกจากธรรมชาติไม่อยู่ใต้กฎของธรรมชาติ และ 3.ความเจริญเกิดขึ้นได้จากการควบคุมและครอบงำธรรมชาติเป็นต้น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้จะนำไปสู่การดำรงชีวิตที่ค่อนข้างทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติหรือที่เรียกว่า Frontier Mentality วิธีคิดดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นสภาพจิตที่ปรากฏเด่นเป็นพิเศษในสังคมสหรัฐอเมริกา ซึ่งชาวอเมริกันภูมิใจและถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวหน้าพัฒนา
นอกจากนั้นมนุษย์จะต้องตีราคาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมด คือมีการใช้หลักการ Polluter Pays Principle หรือ User Pays Principle อย่างจริงจังและเข้มงวด การอนุรักษ์จึงจะสามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นจะต้องมีการผสมผสานมาตรการแบบควบคุม (Command and Control) กับมาตรการจูงใจด้านราคาและภาษีเข้าร่วมด้วย
หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งนิยามโดย Brundtland Commission เมื่อปี พ.ศ.2530 ระบุว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sustainable Development หมายถึง “รูปแบบของการพัฒนาที่สนองความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต ต้องประนีประนอมยอมลดทอนความสามารถในการที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง"
ถ้าจะพิจารณาถึงองค์ประกอบของสังคมที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจพิจารณาได้จาก
1. ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ทรัพยากร เช่น ปริมาณแหล่งน้ำและความเพียงพอของน้ำ การใช้พลังงานทดแทนทั้งจากธรรมชาติและจากการประดิษฐ์ขึ้น เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานแก๊สชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
2. เศรษฐกิจที่มั่นคงของชุมชน คือ มีการพัฒนาที่ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจดีอย่างต่อเนื่องและควบวงจร
3. คุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรในชุมชน เช่น มีการอยู่ดีกินดี อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศดี ปราศจากมลพิษ มีการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างถูกต้องตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ มีการให้การศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เป็นต้น
สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาจะต้องดำเนินไปด้วยกันอย่างสอดคล้องกัน ถ้าปราศจากการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาจะเต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม ในขณะเดียวกันถ้าปราศจากการพัฒนานโยบายสิ่งแวดล้อมก็จะล้มเหลว
การพัฒนาที่ยั่งยืนมีการผสมผสานแนวคิด 3 แนวทาง คือ เศรษฐศาสตร์ นิเวศวิทยา และสังคมวิทยาเข้าด้วยกันและเราอาจกล่าวได้ว่า แนวคิด 3 มิตินี้กำลังเป็นแนวคิดกระแสหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน การมองใน 3 มิติจะสามารถทำให้มองเห็นวัตถุประสงค์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างชัดเจนคำอธิบายรายละเอียดในมิติต่าง ๆ โดยสรุปมีดังนี้คือ
1. มิติทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดต่อเมื่อมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงพอ สามารถขจัดความยากจน ลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ประเทศอุตสาหกรรมจะต้องช่วยประเทศยากจนในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพราะประเทศที่ยากจนจำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาความอยู่รอดของประเทศก่อนคำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมของโลก ในทางเศรษฐศาสตร์ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องรวมเอาค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ในต้นทุนการผลิต เช่น ถ้ามีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำมันหรือถ่านหิน เราจะต้องรวมค่าใช้จ่ายในการกำจัดอากาศเสียและการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่จะเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงไว้ด้วย
2. มิติทางสังคม การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมประชากรให้มีมาตรฐานการบริโภคที่ดีอยู่ในระดับความสามารถแบกรับตามธรรมชาติ มีการส่งเสริมและพัฒนารูปแบบในการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ให้เหมาะสมกับความต้องการของสังคมและศักยภาพการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมและถ้าจะกล่าวลึกลงไปประชากรในแต่ละกลุ่มจะต้องร่วมกันสร้างฐานความสัมพันธ์ที่ดีในหน่วยการผลิตแต่ละหน่วยเพื่อก่อให้เกิดการกระจายผลผลิตอย่างเป็นธรรม นำไปสู่การผลิตสินค้าที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
3. มิติทางด้านนิเวศวิทยา การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องมีรูปแบบการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับที่จะสามารถพลิกฟื้นให้กลับคืนสู่สภาพใกล้เคียงกับสภาพเดิมให้มากที่สุดเพราะดุลยภาพของสสารหรือวัฎจักรของสสารอาจถูกทำลายลงมนุษย์ในรุ่นหลังก็จะขาดโอกาสและขาดปัจจัยในการดำรงชีพได้ มิติทางนิเวศวิทยามีประเด็นหลักที่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพเพราะสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนั้นไม่ใช่มนุษย์เพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้นที่จะสามารถดำรงอยู่และควบคุมวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอื่นตามความต้องการของตนเองได้ แต่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุก ๆ สายพันธุ์จะต้องอยู่ร่วมกันในลำดับขั้นตอนของวิวัฒนาการ
ในส่วนของประเทศไทยมีการกล่าวถึงความหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งจะประกอบด้วยแนวคิดอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้ 1.ความต้องการของมนุษย์ การพัฒนาอย่างยั่งยืนคำนึงถึงแนวคิดเกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต และความต้องการที่จะมีมาตรฐานที่ดีกว่าเดิม 2.ขีดจำกัดของสิ่งแวดล้อม ระบบสภาพแวดล้อมมีขีดจำกัดในการให้ทรัพยากร และมีขีดจำกัดในการรองรับของเสีย และ 3.ความยุติธรรมในสังคมทั้งระหว่างชนรุ่นเดียวกันกับชนรุ่นต่อ ๆ ไป โดยความยั่งยืนนั้นไม่อาจมั่นคงอยู่ได้หากปราศจากนโยบายการพัฒนาที่คำนึงถึงปัจจัยทางสังคมและทางวัฒนธรรมเข้ามาพิจารณาด้วย จึงต้องคำนึงถึงหลักการความยุติธรรมระหว่างชนรุ่นปัจจุบันกับชนรุ่นต่อ ๆ ไปและหลักการความยุติธรรมระหว่างชนรุ่นเดียวกัน
การใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึงการนำทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมนั้นด้อยประสิทธิภาพลง หรือกระทบกระเทือนต่อคนรุ่นหลัง ตัวอย่างเช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีหลักการที่สำคัญ การกำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางการจัดการและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ของประเทศในระยะยาว เช่น กำหนดจำนวนพื้นที่ปลูกป่าในแต่ละปี โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนหรือกำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ สำหรับการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ของประเทศ ต้องมีการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐประสานความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ ให้ราษฎรมีส่วนร่วมรักษาผืนป่าในท้องถิ่นของตน ทั้งการปลูกป่าเพิ่มเติม การบำรุงรักษาและการป้องกันการลักลอบตัดทำลายเป็นต้น
การพัฒนาที่ยั่งยืน…เป็นการประสานงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มีลักษณะบูรณาการ มีดุลยภาพ ส่วนการจะพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จได้นั้นจะต้องเริ่มจากการพัฒนาคน ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ใช้ชีวิตตามคุณธรรมตามคำสอนในแต่ละศาสนา ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยมีจริยธรรมเป็นตัวกำกับ และที่สำคัญที่สุดจะต้องไม่ทำลายชีวิตและโอกาสของอนาคตชน การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงจะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้ในที่สุด
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด