เนื้อหาวันที่ : 2016-08-10 11:08:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3295 views

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

 

การขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ เป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าด้วยวิธีการผสมผสานการขนส่งหลายรูปแบบจากสถานที่หนึ่ง หรือจากผู้ส่งสินค้าต้นทางไปสู่สถานหนึ่ง หรือต่อเนื่องไปจนถึงสถานที่ หรือผู้รับสินค้าปลายทาง โดยการส่งมอบนั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการขนส่งรายเดียว หรือภายใต้สัญญาขนส่งเพียงฉบับเดียว เป็นลักษณะการขนส่งซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค หรือการขนส่งระหว่างประเทศ

 

          จากบทความฉบับที่แล้วได้กล่าวถึง การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) อันเป็นการผสมผสานการขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งที่ใด (One Point) หรือจากประเทศหนึ่งประเทศใดไปสู่อีกที่หนึ่งหรืออีกประเทศหนึ่งซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่เป็นจุดพบสุดท้าย (Interface Final Point) โดยใช้รูปแบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป ภายใต้การบริหารจัดการของผู้ขนส่งรายเดียว และมีสัญญาขนส่งฉบับเดียวหรือเป็นวิธีการขนส่งสินค้าแบบเบ็ดเสร็จที่ครอบคลุมการขนส่งทุกประเภท โดยมีผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการสนองความต้องการของกระบวนการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์

 

          Multimodal Transport เป็นการผสมผสานการขนส่งสินค้า เช่น ทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ ฯลฯ โดยแนวคิด และเป้าหมายในการใช้การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ มุ่งเน้นไปที่การทดแทนการขนส่งทางถนนเพียงอย่างเดียว

 

 

(http://image.slidesharecdn.com/mmtfarhan-150219001227-conversion-gate01/95/multimodal-transport-in-an-indian-perspective-3-638.jpg?cb=1424386201)

 

รูปแบบของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ใช้และเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้

 

  1. ประเภท Sea-Air ซึ่งเป็นการใช้วิธีการขนส่งทางทะเลเชื่อมต่อกับวิธีการขนส่งทางอากาศ
  2. ประเภท Rail/Road/Inland หรือ Waterway-Sea-Rail/Road/Inland
  3. ประเภท Air-Truck ซึ่งเป็นการใช้การขนส่งทางรถบรรทุกสนับสนุนการขนส่งทางอากาศ
  4. ประเภท Land Bridge ซึ่งเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างประเทศที่ใช้รูปแบบการขนส่งทางบกเชื่อมกับการขนส่งทางทะเลเข้าด้วยกัน ในลักษณะ Sea-Land-Sea โดยนิยมใช้ตู้สินค้าบรรทุกของขนส่งต่อเนื่องข้ามทวีป โดยเชื่อมทะเลสองฟากแผ่นดินเข้าด้วยกันลักษณะคล้ายสะพานบก
  5. ประเภท Mini Bridge ซึ่งการขนส่งลักษณะนี้คล้ายกับ Land Bridge แต่เป็นการเชื่อมการขนส่งแบบ Sea-Land เท่านั้น และโดยมากเป็นการเชื่อมระหว่างการขนส่งทางทะเลกับทางรถไฟ

 

การพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในประเทศไทยก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ดังต่อไปนี้

 

  1. การมีผู้ประกอบการการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operators: MTOs) ตั้งอยู่ในประเทศไทย จะทำให้ค่าระวางส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ และลดดุลการค้าของประเทศ
  2. การคำนวณเวลาและต้นทุนขนส่งทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถควบคุมการขนส่งทั้งวงจรได้
  3. การพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าเนื่องจากขั้นตอนทางพิธีการศุลกากรจะลดน้อยลง และรัฐบาลยังสามารถใช้ประโยชน์จากการมีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
  4. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจะก่อให้เกิดการพัฒนาความรู้และประสบการณ์ให้กับบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น
  5. สามารถใช้ระบบการขนส่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ โดยเฉพาะการขนส่งทางรถไฟ
  6. เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการขนส่งสินค้า 

 

          การขนส่งสินค้าในระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยจะพึ่งพาระบบการขนส่งทางถนนมากที่สุด ของประมาณการขนส่งทั้งหมดของประเทศไทย รองลงมา คือ การขนส่งทางชายฝั่งทะเล และทางราง และสุดท้ายทางอากาศ นั่นเป็นเพราะโครงสร้างการขนส่งทางถนนมีความก้าวหน้า และมีเส้นทางเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้เอื้อต่อการใช้มากกว่าการขนส่งทางอื่น ๆ แต่ในปัจจุบันการขนส่งทางถนนได้พบข้อจำกัดที่เห็นชัดขึ้นนั่นก็คือ ต้นทุนค่าน้ำมัน เป็นตัวผลักดันให้ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินงานอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและมีต้นทุนต่ำที่สุดภายใต้สภาวะของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การขนส่งสินค้าภายในประเทศไทย 2549-2553

 

 

กราฟแสดงการขนส่งสินค้าภายในประเทศไทย 2549-2553

 

 

 

(วารสารการอาชีวะและเทคนิคศึกษา ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 มกราคม - มิถุนายน 2556)

 

          การลดต้นทุนค่าขนส่งในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ นับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งมอบสินค้าภายใต้หลักการจัดการโลจิสติกส์ ที่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการของการส่งมอบ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะการผสมผสานการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบมากกว่า 1 แบบ จะช่วยประหยัดต้นทุนได้ เช่น การขนส่งโดยรถ ต่อด้วยเรือ หรือขนส่งทางรางซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้น้อยมาก จะสามารถประหยัดต้นทุนค่าน้ำมันได้มากกว่า 50-60% เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งทางถนนเพียงอย่างเดียว ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องต่างจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการขนส่งแบบ Multimodal Transport เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กร และประเทศ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐาน โดยการก่อสร้างถนนและสะพานเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนทำให้บทบาทของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจะเป็นกลไกผลักดันให้มีการกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งรูปแบบการขนส่งแบบ Multimodal Transport ในการขนส่งข้ามแดนอาจจะไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนโหมดประเภทขนส่ง เช่น จากรถบรรทุกไปสู่รถไฟ แต่อาจเป็นการขนส่งจากรถบรรทุกของประเทศไทยไปเป็นรถบรรทุกของประเทศเพื่อนบ้าน หรือเป็นการเปลี่ยนหัวลากที่ชายแดน ซึ่งยังคงผลให้ผู้ประกอบการรายแรกหรือที่เป็นคู่สัญญายังจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหลาย จนสินค้าได้ส่งมอบไปยังผู้รับ ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วย

 

 

(วารสารการอาชีวะและเทคนิคศึกษา ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 มกราคม - มิถุนายน 2556)

 

ปัญหาและอุปสรรค ต่อการพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของประเทศไทย

 

          1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งทางถนน รถไฟ อากาศ เรือลำเลียง เส้นทางการขนส่งทางบกชำรุดทรุดโทรมควรมีการพัฒนาจุดเชื่อมของการขนส่ง ซึ่งได้แก่ท่าเรือ และ ICD ให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ การสื่อสารและโทรคมนาคม ระบบรางรถไฟไม่ตอบสนองต่อความต้องการ ปัญหาการเชื่อมโยงเส้นทาง ที่ส่วนใหญ่จะต้องลำเลียงเข้าสู่กรุงเทพก่อน ปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพและปริมณฑล เวลาในการเดินรถไม่สัมพันธ์กับการขนส่งทางอากาศ

 

          2. กฎหมาย และระเบียบ กฎหมายหลายฉบับยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือการขนย้ายคอนเทนเนอร์ รวมถึงการกำหนดน้ำหนักบรรทุก

 

          3. การสนับสนุนผู้ดำเนินการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการขนส่งสินค้ายังมีความยุ่งยาก ผู้ดำเนินการขนส่งของไทยยังไม่มีเรือเป็นของตนเอง ยังขาดแคลนอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) และเครือข่ายการบริการ ภาระทางภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าระวาง การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้านขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

 

          4. การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ การปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้การใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange: EDI) ในทางการค้า การขนส่งและการเงินให้เป็นที่ยอมรับของทางผู้ดำเนินการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การท่าเรือแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ กฎเกณฑ์ในการลงลายมือชื่อเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการใช้งานระบบ EDI การพัฒนาระบบ EDI ให้สามารถเชื่อมต่อได้กับหน่วยงานของประเทศคู่ค้า ยังไม่เป็นระบบ Single Window

 

 

(https://bu2010mba.files.wordpress.com/2010/09/1.jpg)

 

          การส่งออกสินค้าของประเทศไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม ไปขายยังต่างประเทศนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะ GDP ของประเทศ 80% มาจากการส่งออกสินค้าและเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะว่าไม่เพียงแต่สร้างรายได้และนำเงินตราเข้าสู่ประเทศแล้ว แต่สินค้าส่งออกยังเป็นตัวแทนในการประกาศให้ชาวโลกได้รู้จักชื่อเสียงของประเทศไทยอีกด้วย เพราะถึงแม้จะมีเรื่องของค่าเงินบาทและค่าน้ำมันเข้ามาเป็นตัวแปรในเรื่องการแบกรับต้นทุน แต่จากตัวเลขการส่งออกของในปี 2554 สามารถส่งออกเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 6,896,541.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.7 ลดลงจากปี 2553 ร้อยละ 7.2

 

 

(http://www.ops3.moc.go.th/infor/db_sql/gp_main_trade.asp)

 

          ในกระบวนการค้าระหว่างประเทศนั้น มีเส้นทางการค้าที่ไกล ซึ่งการขนส่งเพียงรูปแบบเดียวไม่เหมาะสม และไม่ทำให้การขนส่งเกิดประสิทธิภาพได้ และปัจจัยสำคัญของการขนส่งสินค้าในระยะทางที่ไกล คือ สินค้าถึงที่ ทันเวลา ปริมาณที่ถูกต้อง คุณภาพที่ถูกต้อง ถูกสถานที่ และถึงมือผู้รับอย่างปลอดภัย อีกทั้งปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศมีสูง ซึ่งปัจจุบันเป็นแบบ Globalization หรือการค้าเสรีแบบไร้พรมแดน (Free Trade & Borderless) หรือข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคไม่ว่าจะเป็น AFTA, NAFTA, FTA มากมายอย่างนี้ การขนส่งในปัจจุบันจึงไม่สามารถแยกออกเป็นส่วน ๆ ได้ แต่การขนส่งควรจะเป็น Transport Network Facilities และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การขนส่งแบบ Multimodal Transport จะมีส่วนในการช่วยลดต้นทุนและเอื้ออำนวยต่อกระบวนการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ และทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ Multimodal Transport เป็นวิธีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองจะตอบโจทย์การส่งมอบสินค้าภายใต้หลักการจัดการโลจิสติกส์ได้ดีที่สุดในตอนนี้ ขณะนี้ประเทศไทยและสมาชิกอาเซียน จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ประเทศ จะกลายเป็นตลาดเดียวกัน (Single Market) เป็นเขตการค้าเสรีที่ภาษีเป็น 0% ในปี 2558 จะมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเสรี (Free Flow) ซึ่งประเทศไทยอาจเป็น HUB ศูนย์กลางกระจายสินค้าของภูมิภาคนี้ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุน และเร่งพัฒนารูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ Multimodal Transport ภายในประเทศเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดยมี AFTA จะเป็นตัวกระตุ้นต่อการกระจายสินค้า ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าประเทศไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของภูมิภาคในอาเซียน

 

 

(http://nexus.umn.edu/Posters/TransportationNetworksD.jpg)

 

          การที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จและเป็นผู้นำในเรื่องของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในภูมิภาคอาเซียน ทั้งระบบราง ถนน น้ำ และอากาศ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศไทยนั้น หน่วยงานภาครัฐ จะต้องมีการให้การสนับสนุนและให้การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรม ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการขนส่ง โดยเฉพาะ SMEs ได้มีความเข้าใจถึงผลกระทบ และการเตรียมตัวในเรื่องการปรับตัวขององค์กร ในแง่ของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ โดยเฉพาะกรมศุลกากร จะต้องมีความสอดคล้องที่จะรองรับ พรบ. ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และภาครัฐจะต้องให้การส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และส่งเสริมวิสาหกิจของคนไทยให้มีขีดความสามารถเพื่อที่จะสามารถแข่งขันในทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป 

 

 

(http://www.thaifranchisecenter.com/document/sme/picture/aec0-0.jpg)

 

          สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ โครงการเชื่อมต่อประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียนของเราได้ไปถึงไหนแล้ว หรือต้องชงักรอการเชื่อมต่อเหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูนกับบางซื่อ

 

 

(http://image.slidesharecdn.com/2billion-assocprofdrchutchatpresentation20130914-131204214946-phpapp02/95/2billion-assoc-profdrchutchatpresentation20130914-13-638.jpg?cb=1386193930)

  

 

(http://www.prachachat.net/online/2015/09/14435985351443598561l.jpg)

 

เอกสารอ้างอิง
• ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ข้อมูลการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร(2553). (ออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.mot.go.th/
• สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกระทรวงคมนาคม ข้อมูลระบบโครงสร้างต้นทุนการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ (2550). (ออนไลน์) สืบค้นจาก www.otp.go.th/
• การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ Multimodal Transport. (ออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.logisticafe.com/
• ฝ่ายวิจัยธุรกิจ (2555) ไทยกับ AEC ในยุคสมัยแห่งเอเชีย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนาเข้าแห่งประเทศไทย. (ออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.dip.go.th/
• นพัส อภิเจริญทรัพย์ (2553) เสียงจากผู้ประกอบการขนส่งไทยต้องการอะไรจากภาครัฐบาล. บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.
• ธนิต โสรัตน์ (2552) รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประธานกรรมการ V-SERVE GROUP23 Multimodal Transport การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
• นพนันต์ เมืองเหนือ, วารสารการอาชีวะและเทคนิคศึกษา ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 มกราคม-มิถุนายน 2556
https://bu2010mba.files.wordpress.com/2010/09/1.jpg
http://image.slidesharecdn.com/mmtfarhan-150219001227-conversion-gate01/95/multimodal-transport-in-an-indian-perspective-3-638.jpg?cb=1424386201
http://image.slidesharecdn.com/2billion-assocprofdrchutchatpresentation20130914-131204214946-phpapp02/95/2billion-assoc-profdrchutchatpresentation20130914-13-638.jpg?cb=1386193930
http://nexus.umn.edu/Posters/TransportationNetworksD.jpg
http://www.ops3.moc.go.th/infor/db_sql/gp_main_trade.asp
http://www.prachachat.net/online/2015/09/14435985351443598561l.jpg
http://www.thaifranchisecenter.com/document/sme/picture/aec0-0.jpg
http://2.bp.blogspot.com/-_H8wBwuAui8/VMIees5UsMI/AAAAAAAAAO4/EphrB-qGHU0/s1600/3.jpg

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด